เปิดเทอมแรกของหลักสูตรเยาวก้าวหน้า ครั้งที่ 4 รอบนี้เราเวียนกลับมาภาคอีสานอีกครั้งที่จังหวัดอุดรธานี เมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย

สัปดาห์แรกของหลักสูตร เราชวนเยาวรุ่นอุดรฯ ออกแบบห้องเรียนปลอดอำนาจนิยม ชวนออกแบบห้องเรียนที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน กำหนดกติกาในการเรียนรู้ร่วมกันตลอด 6 สัปดาห์ คืนอำนาจให้กับผู้เรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตยและเท่าเทียม เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้คิดเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถาม มีส่วนร่วม และปลดปล่อยศักยภาพที่ตัวเองมีอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและเคารพในสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่นด้วย และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถถกเถียง แลกเปลี่ยน วิพากษ์ หรือกระทั่งไม่เห็นด้วยกับผู้บรรยายได้

นี่คือ หัวใจสำคัญที่หลักสูตรเยาวชนก้าวหน้าที่มีความสำคัญกับการเรียนรู้ของเยาวชน เราปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในห้องเรียนใหม่ เพราะห้องเรียนในระบบการศึกษาโดยทั่วไปแล้ว ผู้สอน ครู วิทยากรล้วนแล้วแต่เป็นผู้ผูกขาดอำนาจในการเรียนรู้และกดทับศักยภาพ จินตนาการของผู้เรียน

ในช่วงวันแรกของหลักสูตรเราชวนทุกคนกลับมาสร้างพื้นที่ปลอดภัย ฝึกฝนทักษะการฟังอย่างไม่ตัดสินซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด เพื่อทำให้เรามีความเข้าอกเข้าใจเพื่อนร่วมสังคมมากขึ้นและรับฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้ได้ยินเสียงที่อีกฝ่ายไม่ได้พูดให้เห็นชุดคุณค่า ความต้องการของผู้อื่นมากขึ้น

ในช่วงบ่ายเราชวนวัยรุ่นอุดรฯ ฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การตั้งคำถามต่อเรื่องไม่ปกติที่เราอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งปกติในสังคม เพื่อทำให้เราเห็นถึงอำนาจ เห็นถึงชุดคุณค่าที่อยู่ข้างหลังของวาทกรรม ชุดคำอธิบาย เรื่องเล่าต่างๆ ในสังคม และจบวันแรกของหลักสูตรฯ ด้วยกิจกรรมที่อกกแบบเป็นเพื่อเกมส์พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม

เช้าวันสองเราชวนทุกคนมาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติในมุมที่ต่างออกไปจากห้องเรียนทั่วไปที่เน้นอธิบายเรื่องเล่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เราชวนผู้เรียนทำความเข้าใจ ‘ประวัติศาสตร์’ ใหม่ ไม่ใช่แค่ความรู้หรือการศึกษาอดีต แต่มองประวัติศาสตร์ในฐานะความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่กำหนดการรับรู้ของคนในสังคม เรายังชวนไปดูเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของสกุลต่างๆ ที่อธิบายประวัติศาสตร์แตกต่างกันไปตามชุดอุดมการณ์ และในช่วงท้ายเราพาทุกคนลองเป็นนักประวัติศาสตร์ หาคำตอบจากหลักฐาน ผ่านการใช้ทักษะสำหรับการคิดเชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking)

ในช่วงบ่ายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานมูลนิธิคณะก้าวหน้าชวนทุกคนตั้งคำถาม ชวนคิดต่อความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับการเมืองไทย  การเกิดขึ้นของทุนนิยมไทยในหลายทศวรรษ ชวนสำรวจสายใยเครือข่ายทุนกับรัฐไทยซึ่งสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแยกไม่ออกจากกัน

เรียกได้ว่า สัปดาห์แรกของหลักสูตรเยาวชก้าวหน้าในครั้งนี้อัดเน้นไปด้วยสาระเนื้อหาที่ชวนกระตุกต่อมคิด กระตุ้นจินตนาการ ชวน Learn Unlearn Relearn และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของทุกคนไปพร้อมๆ กัน

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด