เป็นเป็ดธรรมดาไม่พอ ต้องเป็นเป็ดพรีเมี่ยม!

เป็ด คือคนที่มีความสามารถหลายอย่าง แต่ไม่ได้ลงทุนลงแรงพัฒนาความสามารถใดความสามารถหนึ่งให้โดดเด่น จนดูเหมือนว่าคนคนนั้น ‘ไปไม่สุดสักอย่าง’ แม้เดิมที การมีทักษะที่กระจัดกระจายมักถูกมองในเชิงลบ แต่ในปัจจุบัน การพัฒนาทักษะนานาชนิดเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม บทความหนึ่งเสนอว่า ในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง เราจะต้องไม่เป็นแค่เป็ดธรรมดา แต่เป็น เป็ดพรีเมี่ยม ที่พัฒนาทักษะให้โดดเด่นในทุกด้าน 

ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงง่าย เราก็ยิ่งมีอิสระในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากขึ้น แต่แม้เราตั้งต้นจากวลี ‘อย่าหยุดเรียนรู้’ เราก็อาจดำเนินไปจนเรา ‘ไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้’ เสียเอง กระแสคลั่งการพัฒนาทักษะที่ถูกมองในภาพที่สดใส กลับสะท้อนและสร้างแรงกดดันที่คนวัยทำงานต้องแบกรับ เป็ดพรีเมี่ยมไม่ใช่แค่คำแนะนำของการพัฒนาทักษะ แต่เป็นเครื่องมือของเสรีนิยมใหม่ที่ทำงานกับจิตใจผู้คนทั้งทางบวกและทางลบ 


ยุค 2000s คือช่วงเวลาที่เทคโนโลยีต่างๆเปลี่ยนจากระบบอนาล็อคเป็นระบบดิจิตัลอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์เครื่องหนาขว้างหัวหมาแตก กลายเป็นสมาร์ทโฟนบางๆ แต่ทำได้ทุกอย่างเพียงปลายนิ้ว คอมพิวเตอร์เครื่องโตที่ออฟฟิศ สู่โน๊ตบุ๊คที่พกงานกลับบ้านได้ อินเตอร์เน็ต ระบบออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย กลายเป็นปัจจัย 5 ของผู้คนทั่วโลก

วอลสตรีท (Wallstreet) ศูนย์กลางทุนนิยมเงินโลก ถูกแหล่งรวมเศรษฐีใหม่อย่าง ซิลิคอนวัลลีย์ (Silicon Valley) แซงหน้า ยุคของ ‘ทุนนิยมการสื่อสาร’ จึงถือกำเนิดขึ้น อำนาจของทุนนิยมการสื่อสารไม่ใช่เพียงการผลิต การบริโภค และผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่คืออิทธิพลขนานใหญ่ที่มีต่อคนทั้งโลก อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์กลายเป็นสิ่งตั้งต้นในการทำงาน ตั้งแต่การโต้ตอบอีเมลของพนักงานบริษัท ไปจนถึงการเผยแพร่เพลงของศิลปิน นวัตกรรมนี้จึงไม่ใช่หนุนเสริมชีวิตผู้คน แต่ยังมีอิทธิพลจนทุกคนต้องปรับตัวเข้าหามัน

เมื่อการทำงานผูกติดกับอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ ทักษะของแรงงานจึงผูกติดกับความสามารถในการใช้อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์นั้นด้วย แน่นอน บริษัทไม่ได้ต้องการแค่พนักงานที่ ‘ใช้คอมพิวเตอร์เป็น’ แต่ต้องเป็นพนักงานที่มีทักษะเฉพาะเกี่ยวกับอิเล็กโทรนิกส์ที่ตนเองใช้ บริษัทแฟชั่นต้องการคนทำกราฟิก ค่ายเพลงต้องการคนปรับแต่งเสียง หน่วยงานวิจัยต้องการคนวิเคราะห์ข้อมูล และบริษัทเทคโนโลยีต้องการคนสร้างโปรแกรม

 ณ ช่วงเวลานั้น ที่การเรียนรู้ทักษะทางเทคโนโลยียังไม่แพร่หลาย ผู้คนต่างกำเงินเพื่อเข้าศึกษาหรือสมัครเรียนในสาขาที่ตนสนใจ และผู้สอนมักให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมต่างๆ อย่างละเอียด การพัฒนาทางเทคโนโลยีในยุคหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญกับทักษะอันเฉพาะเจาะจง จึงให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพของทักษะที่ตนทำงาน เพื่อสร้างผลงานและรับหน้าที่ในตำแหน่งงานของตนให้ดีที่สุด การเป็นเป็ดจึงเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เมื่อเทียบกับการเป็นหัวกะทิที่เอาดีทางด้านที่ตนมีความสามารถ

ต่อมาไม่นาน เมื่อทักษะทางเทคโนโลยีไม่ความรู้ของคนเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกเข้าถึงมันได้ การจ้างงานก็เปลี่ยนไป จากแต่เดิมที่บริษัทต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ และมืออาชีพตามสายตนเองหลายตำแหน่ง หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ กลับลดขนาดองค์กร และตำแหน่งงาน และเคว้นหาพนักงานที่มีทักษะหลากหลายที่ทำงานตำแหน่งเดียว 

เช่นตำแหน่งคอลัมนิสต์ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ‘คอนเทนต์ ครีเอเตอร์’ หรือผู้ผลิตสื่อลงโซเชียลมีเดีย หลายบริษัทให้พวกเขาเสนอไอเดีย ถ่ายทำและตัดต่อวีดิโอ ทำภาพกราฟิก รวมถึงเขียนคำโปรยเอง แรงงานหัวกะทิที่ผู้คนเคยเชิดชู จึงไม่สู้แรงงานเป็ดที่ทำได้ทุกอย่าง และยิ่งคุณเป็นเป็ดพรีเมี่ยม คุณจะยิ่งเป็นที่ต้องการ 

ความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปสอดคล้องกับความไวของโลกอินเตอร์ที่เปลี่ยนให้ความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีที่จำกัดไว้เพียงในห้องเรียนกลายเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงได้ผ่านโซเชียลมีเดีย ผู้คนไม่จำเป็นต้องเรียนบัญชีเพื่อเปิดธุรกิจ แต่สามารถเปิดดูวีดิโอเรื่องการสร้างแบรนด์ การจัดการการเงิน หรือแม้แต่กฎหมาย ผ่านยูทูป สกิลแชร์ หรือแม้กระทั่งติ๊กตอก แถมยังมี ‘โค้ช’ ที่ไม่ได้ให้แค่ความรู้ แต่ยังให้แรงบันดาลใจกับพวกเรา ข้อมูลมากมายที่ไหลเวียนไม่ได้แค่ทำให้ทักษะเข้าถึงง่าย แต่ยังกระตุ้นให้ผู้ใช้งาน (ผู้เรียนรู้) อยากเรียนรู้ทักษะใหม่ที่เด้งขึ้นมาบนหน้าจออีกด้วย


กระแสการพัฒนาทักษะ ในด้านหนึ่งมีสาเหตุจากแรงขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มิได้รองรับว่าทุกคนจะมีงานทำ แถมยังจงใจรักษาสภาพการว่างงาน แรงงานจึงต้องพัฒนาทักษะหลายประการเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงไต่เต้าให้อยู่ตำแหน่งและความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น 

ในอีกแง่หนึ่ง การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ยังเป็นสัญลักษณ์ของความโปรดักทีฟ ซึ่งเป็นค่านิยมของเสรีนิยมใหม่ ผู้ที่ ‘ไม่หยุดเรียนรู้’ จะถูกเชิดชูว่าเป็นคนขยัน และพัฒนาตนเองตลอดเวลา การสร้างทักษะเฉพาะยังส่งเสริมภาพจำ หรือ ‘แบรนด์’ ของคนคนนั้น ที่เมื่อคนนึกถึงงานที่ใช้ทักษะสำคัญ เขาจะเป็นคนแลกที่ถูกเลือก

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาทักษะอาจถูกผลักดันด้วยความรู้สึกด้านลบ ซึ่งอาจเป็นความกดดันในระดับปัจเจก เช่นการถูกบังคับให้ทำงานในหน้าที่ที่ตนไม่มีความรู้ การเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนร่วมงาน หรือการกลัวว่าตนจะกลายเป็น ‘คนขี้เกียจ’ หรือความกลัวแบบรวมหมู่เช่น กลัวว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป หรือกลัวว่า AI จะแย่งงานมนุษย์ ความกลัวภาพใหญ่ส่งผลให้ภาครัฐและธุรกิจต่างเร่งปฏิกิริยาให้ผู้คนพัฒนาทักษะมากยิ่งขึ้น

วัฒนธรรม ‘เด็กอัจฉริยะ’ ในยุคก่อนหน้าอาจเป็นอีกตัวแปรหนึ่งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต้นยุค 2000 เด็กอัฉริยะกลายเป็นไอคอนดังในสื่อโทรทัศน์ เราต่างเห็นรายการโทรทัศน์ที่นำเด็กวัยอนุบาลหรือประถมมาแสดงความสามารถที่เกินวัย เช่นพูดได้ 5 ภาษา หรือแก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้ เราเห็นแบรนด์นมผงที่โฆษณาว่าจะเปลี่ยนให้ลูกกลายเป็นนักประดิษฐ์ 

สื่อเหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นแรงกดดันให้กับพ่อแม่หรือลูกเอง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมภาพจำของพ่อแม่ชาวเอเชียที่ส่งลูกเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ เทคควอนโด บัลเลย์ และดนตรี วัฒนธรรมการฝึกทักษะแบบ ‘หัวกระทิ’ ในวัยเด็กอาจปูทางสู่วัฒนธรรม ‘เป็ดพรีเมี่ยม’ ตอนโต

แม้ว่าวัฒนธรรมเป็ดพรีเมี่ยมจะได้รับอิทธิพลจากสาเหตุใด แต่ความคลั่งการพัฒนาทักษะก็เป็นสิ่งให้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทต่าง ๆ ได้ลดต้นทุนในการจ้างพนักงาน พวกเขาจะจ้างพนักงานที่มีทักษะเฉพาะด้านหลายคนให้กับงานหลายตำแหน่งทำไม หากเขาจ้างพนักงานหนึ่งที่ ‘พร้อมเรียนรู้’ และ ‘รับแรงกดดันได้’ ในการทำงานหลายตำแหน่ง และเมื่อธุรกิจหันมาจ้างงานเช่นนี้มากขึ้น คนทำงานจึงต้อง ‘ปรับตัว’ เข้ากับความต้องการของธุรกิจให้มากขึ้น ในโลกเสรีนิยมใหม่ การพัฒนาทักษะจึงไม่ใช่หน้าที่ที่บริษัทต้องสนับสนุนพนักงาน แต่เป็นหน้าที่ที่พนักงานต้องรับผิดชอบตนเอง ทั้งเพื่อให้ทำงาน (ของนายทุน) อย่างมีประสิทธิภาพ และล้ำหน้าคนอื่นในการแข่งขัน


แพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่ใครหลายคนมองว่าให้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เช่นการเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ ได้จากทุกหนแห่ง มันกลับส่งผลต่อรูปแบบการเรียนรู้ แพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่มีข้อมูลจำนวนมากไหลเวียน ทำให้ผู้เรียนรู้รับข้อมูลมากเกินไป (information overload) จนผู้เรียนอาจประสบปัญหาในการเลือกรับข้อมูล หรือเลือกนำข้อมูลที่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์มาปฏิบัติจริง มันยังนำมาสู่ปัญหาความถูกต้องของข้อมูล คอนเทนต์ครีเอเตอร์สายฟิตเนสคนหนึ่งเคยพูดถึงการให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายไว้ว่า “โลกออนไลน์มีข้อมูลจำนวนมาก แต่กลับดูยากว่าข้อมูลไหนถูกข้อมูลไหนผิด”

นอกจากนี้ แพล็ตฟอร์มออนไลน์ยังถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้เสพติดการเสพข้อมูล และใช้อัลกอริทึ่มเลือกสรรข้อมูลที่ทำให้ผู้ใช้เสพติดมากขึ้น ข้อมูลที่เป็นที่นิยมในโลกออนไลน์จึงมักเป็นสื่อขนาดย่อ เช่นวีดิโอสั้น หรือเป็นสื่อที่ให้ความสำคัญกับสีสันของการนำเสนอและเทคนิคระดับยาก มากกว่าการเริ่มต้นจากง่ายไปยาก ความหมกมุ่นในการเรียนรู้จึงอาจมาในรูปแบบของการเสพติดสื่อ และเมื่อผู้เรียนรู้ได้รับความรู้ที่มาพร้อมกับความรู้สึกโปรดักทีฟ สิ่งที่แลกมาอาจเป็นความเหนื่อยล้า และสมาธิที่สั้นลง

การเรียนรู้และพัฒนาทักษะไม่ใช่สิ่งที่เป็นพิษในตัวมันเอง เพราะการที่ผู้เรียนได้การเรียนรู้ในสิ่งที่มีความหมายต่อเขา อาจทำให้เขาเปิดมุมมองต่อตนเองและโลกใหม่ รวมถึงมีความสามารถที่แบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่วัฒนธรรมที่กระตุ้นให้ผู้คนฝึกฝนทักษะใหม่ๆ บนเงื่อนไขของความไม่มั่นคงทางการงานและการเงิน การแข่งขัน การพิสูจน์ตนเอง รวมถึงระบบทุนนิยมที่หากำไรจากการรับข้อมูล อาจมอบทั้งความเครียด ความกดดันให้กับผู้เรียนรู้และคนรอบข้าง 

นี่อาจเป็นโอกาสสำคัญที่เราต้องตั้งคำถามกับวัฒนธรรม เป็ดพรีเมี่ยม รวมถึงวัฒนธรรมการพัฒนาทักษะ ที่ไม่ปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ แต่ยังจองจำเขาในระบบและความกลัวเสียเอง



ที่มา:

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1053925

https://medium.com/mindsets/gifted-kid-burnout-breaking-free-of-smartness-2c29e71a6cd0

https://www.additudemag.com/too-much-information/

Ehrenreich, Barbara. (2018). Natural Causes: Am Epidemic of Wellness, the Certainty of Dying, and Killing Ourselves to Live Longer. Twelve.

Author

วริษา สุขกำเนิด
คนคนหนึ่งที่รักการเขียน การแปล และการ vlog เป็นชีวิตจิตใจ สนใจเรื่องการทำงาน ความสัมพันธ์ และสุขภาพกาย-ใจ ผ่านมุมมองสังคมวิทยา (สาขาที่เรียนจบมา) ผสมปนเปกับมุมมองอื่น ๆ