นักปรัชญาสำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 Jacques Derrida กล่าวว่า ดินแดนของผีไม่ได้เลือนหายไปเพราะการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราอาจเข้าใจว่าความคิดวิทยาศาสตร์ทำให้ผีกลายเป็นเรื่องเหลวไหลงมงายที่ตกทอดมาจากยุคสมัยเก่า แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างหากที่ขยายอำนาจและความสามารถในการหลอกหลอนของผี
“ภาพยนตร์” คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่ Derrida พูดถึง
Derrida บอกว่า ภาพยนต์เป็นศิลปะของผี เป็นการประลองระหว่างภูต เพราะมันอนุญาตให้ผีได้มีโอกาสกลับมาปรากฏตัว การมีอยู่ของผีในภาพยนตร์นี้แยกขาดออกจากร่างต้นของมัน พูดง่ายๆ ต่อให้นักแสดงที่ปรากฏในภาพยนตร์จะหมดลมหายใจไปแล้ว แต่ผีของผู้วายชนม์คนนั้นยังคงอยู่ในโลกภาพยนตร์ตลอดเวลา ผีที่ว่านี้สามารถกลับมาแสดงตัวหลอกหลอนได้ครั้งแล้วครั้งเล่าเท่าที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ถูกเปิด ถูกฉาย หรือถูกรับชม
“Opus” ภาพยนตร์บันทึกการแสดงดนตรีครั้งสุดท้ายของ Ryuichi Sakamoto ถูกฉายเป็นภาพขาวดำทั้งหมด รายละเอียดในเชิงทัศนาถูกแสดงผ่านแก่นสำคัญที่สุดของการมอง (โคตร minimalism) นั่นคือ “แสงและเงา” การกำกับภาพสามารถเล่นได้อย่างมีเสน่ห์ หลายฉากสามารถเปลี่ยนห้องสตูดิโอให้เป็นสถานที่ซึ่งมีความนามธรรมบางอย่าง
“ภาพสะท้อน” กลายเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะจากบทพูดตลอดทั้งเรื่องที่มีเพียง 2-3 ประโยค มันจึงคล้ายวรรณกรรมของ Kafka ที่อธิบายเฉพาะเหตุการณ์และสถานการณ์ภายนอก โดยไม่แตะต้องความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ว่าแล้วก็ตรงกับที่ Derrida พูดไว้ในเชิงสมการคณิตศาสตร์ว่า ภาพยนตร์+จิตวิเคราะห์=ศาสตร์ของผี (เพราะจิตวิเคราะห์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการอ่าน/ตีความที่มาของพฤติกรรมลึกในระดับจิตใต้สำนึก)
ภาพสะท้อนที่ทาบลงไปยังเครื่องดนตรีและเลนส์แว่นตาของ Sakamoto มีบทบาทอย่างมากในการทำให้ผู้ชมเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นตรงหน้าของเขา ในหลายจังหวะมันยังเหมือนมีบทบาทมากกว่าร่างจริงของ Sakamoto ซึ่งเป็นที่มาของภาพสะท้อนพวกนั้นด้วยซ้ำ
ถ้าพูดแบบผิวเผิน ในภาพยนตร์ Opus เราจะได้เข้าไปเห็นมือที่เหี่ยวย่น ผิวหนังที่แห้งกรัง แต่หากพูดในเชิงสุนทรียศาสตร์เสียหน่อย เราจะได้ชมวิธีการรับมือกับความตายที่คลานเข้ามาหาทุกวินาทีของประพันธ์กรแห่งยุค การได้นั่งดูเขาเล่นดนตรีเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งจึงไม่ใช่เพียงแค่การฟังดนตรี แต่ยังทำให้เห็นว่าผลงานศิลปะที่เขาสร้างมาตลอดอายุขัยช่วยให้เขามีชีวิตต่อไป กระทั่งทำให้ความตายเป็นเรื่องเล็กน้อยได้อย่างไร (ลองไปดูจดหมายและสารคดี CODA ของ Sakamoto แล้วจะพบได้ไม่ยากว่าเขานิ่งต่อหน้าความตายแค่ไหน) จะว่าไปแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ให้ความรู้สึกเป็นการมรณานุสติอยู่เหมือนกัน
การที่หนังลบ Sakamoto ออกไปในช่วงท้าย และเลือกให้การเดินจากไปของเขาออกมาในรูปของเสียง นับเป็นการถ่ายทอดที่ให้เกียรตินักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่อย่างมาก ซ้ำยังย้ำเตือนถึงข้อเท็จจริงของภาพยนตร์ในฐานะศิลปะของผีไปในตัวด้วย เพราะ Sakamoto ที่เสียชีวิตไปปีกว่าแล้ว ยังมีชีวิต ยังเคลื่อนไหวอยู่ในภาพยนตร์ แต่ถ้าพูดให้ถูกต้องที่สุด ดนตรีของเขายังคงบรรเลงต่อไป
Johann Sebastian Bach ประพันธ์กรยุคบาโรกชาวเยอรมันเสียชีวิตเมื่ออายุ 65 ปี แต่ผลงานของเขามีคุณูปการต่อแวดวงดนตรีมา 300 ปีเป็นอย่างต่ำ หลังจากนี้ถึงคราวของ Sakamoto ว่าผลงานของเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ บทประพันธ์อันไพเราะในฐานะเงาสะท้อนของเขา หรือคือ ”ผี Sakamoto” คงหลอกหลอนหูของผู้ที่ได้สดับรับฟังไปอีกนาน
Sakamoto is Dead, Long Live Sakamoto
ป.ล. Ryuichi Sakamoto มีอัลบั้มชุดหนึ่งชื่อ Derrida เป็นงานที่ทำเพื่อประกอบสารคดีปี 2002 ของนักปรัชญาผู้นี้ แนะนำให้ลองไปฟังกันดู
อภิสิทธิ์ เรือนมูล เขียน