เมื่อ “โธมัส มันน์” เลือกประพันธ์ “ความตายที่เวนิส” (Death in Venice) ผ่านการประณีตคำบรรยายความรู้สึกนึกคิดของนักเขียนใหญ่ผู้เป็นตัวละครเอก “กุสตาฟ อัชเชินบัค” แนวโน้มที่มันจะเป็นนวนิยายของคนที่มีชีวิตอยู่กับความคิดตัวเองจึงมีสูง กระทั่งอาจกลายเป็นนวนิยายของคนหลงตน แบบเดียวกับนาร์ซิสซัส ชายรูปงามผู้ต้องสาปให้หลงรักเงาสะท้อนของตัวเองในปกรณัมกรีก
แม้มันน์จะเลือกให้เด็กหนุ่มผู้เป็นความงามสำหรับอัชเชินบัค “ทาทจู” ตกเป็นเป้าอุปมาถึงนาร์ซิสซัส แต่เมื่อลองกลับมาอ่านทวนและถอยหลังออกมาจาก “โลกในหัว” ของอัชเชินบัค จะพบว่า ตัวละครนักเขียนใหญ่ของเราเองนี่แหละที่ตกหลุมรักความงามตามอุดมคติของตัวเองอย่างโงหัวไม่ขึ้น แม้รู้อยู่แล้วว่าความงามนี้อาจนำเขาไปสู่ความตายก็ตาม แต่ก็งมงายและหวงแหนในความงามอุดมคตินี้จนไม่อาจปล่อยให้ใครมา “มอง” ความงามนี้ นอกจากตัวเอง
“ห้ามยิ้มอย่างนี้อีก ห้ามยิ้มอย่างนี้กับใครอีก ได้ยินไหม” ไม่เชื่อก็ลองไปนั่งอ่านแล้วดูว่าคำพูดนี้มันโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร
อัชเชินบัคคือนาร์ซิสซัสที่พอใจกับการโดนสาปให้มองหน้าอันงดงามของตัวเองเพียงคนเดียวตลอดไป ส่วนความตายที่เวนิสก็เป็น “โนเวลเลอ” (Novelle) ของนักเขียนใหญ่ผู้ตกหลุมรักความงามที่มาในรูปเด็กหนุ่ม เป็นความรักที่ผู้ตกหลุมรักละเมอเพ้อฝัน “คิดต่างๆ นาๆ” ไปไกลข้างเดียวจนกู่ไม่กลับ ฟังดูอาจเป็นการรวบยอดที่ใจร้ายไปบ้าง แต่จำต้องยกย่องว่า ข้อมูลนี้จะไม่ได้มีผลต่ออรรถรสตอนอ่านเลย เนื่องจากมันน์โชว์ฝีไม้ลายมือในการสาธยายความรู้สึกได้อย่างแพรวพราวหมดจด จนกลบเกลื่อนและบิดเบือนโลกความจริงภายนอกอัชเชินบัคหมดสิ้น (แน่นอนว่าต้องชื่นชมความอุตสาหะของ นฤมล ง้าวสุวรรณ ผู้แปลด้วย)
ในสายตาของโธมัส มันน์ การทำเช่นนี้เป็นผลจากเสียงเย้ายวนที่นักเขียนต้องมองหา
“สิ่งที่นักเขียนปรารถนาก็คือความคิดที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ และอารมณ์สามารถเปลี่ยนเป็นความคิดได้”
ต้องขอบคุณคำกล่าวตามของ พรสรรค์ วัฒนางกูร บรรณาธิการของหนังสือแปลเล่มนี้ ที่เผยให้เห็นว่ามันน์ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นการวิพากษ์ปรัชญาและประชดประชันสังคมเช่นไรบ้าง (ข้อเขียนเชิงวิชาการอื่น นอกจากตัวบทวรรณกรรม เป็นความดีงามของหนังสือที่พิมพ์โดย อ่าน๑๐๑ สำนักพิมพ์) ใครสนใจ Freud, Nietzsche, Schopenhauer หรือ Goethe รับรองอ่านสนุก
“…ความงามจะพาพวกเรานักเขียนให้พินาศ เนื่องจากเราไม่เน้นการกระทำ แต่เรานักเขียนมีแต่จะพร่ำพูดไปเรื่อยๆ” เมื่อลองกลับไปอ่านด้วยน้ำเสียงประชดประชัน ยิ่งเข้าใจว่าทำไมโธมัส มันน์ ถึงได้รับการยกย่อง เพราะก่อนที่มันจะเดินทางมาถึงประโยคสรุปที่ยกมา เขาบรรยายเสียดสีศิลปินที่ไล่ล่าตาม “ความมัวเมาและราคะตัณหา” ไปแล้วเป็นหน้าๆ
อภิสิทธิ์ เรือนมูล เขียน