แม้โดยธรรมชาติของห้องเรียนไทยจะเงียบกริบ แต่คลาสบรรยายของอาจารย์สมชัย ภัทรธนานันท์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในหลักสูตรเยาวชนก้าวหน้าครั้งที่ 4 กลับทำให้รู้สึกอยู่ในบรรยากาศเดียวกับการเข้าไปชมโชว์หมอลำ เปรียบแบบนี้อาจฟังเวอร์ไปก็จริง แต่ถ้าเทียบกับห้องเรียนทั่วๆ ไปแล้ว คลาสของอาจารย์สมชัยสนุกและน่าตื่นเต้นกว่ามาก ยิ่งพอมันเป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยภาษาอีสานทั้งอาจารย์และเยาวรุ่นอุดรฯ (และจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องลงทุนเดินทางมา) ยิ่งทำให้มันเป็นคลาสที่น่าติดตามขึ้นไปอีก

อาจารย์สมชัยพูดถึงหลายเรื่อง ลากตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การต่อสู้ทางการเมืองของคนอีสาน ไล่ตั้งแต่ กบฎผู้มีบุญในยุคที่อีสานตกอยู่ใต้ปกครองของรัฐกรุงเทพฯ จนถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เปิดทางให้สส. อีสาน ได้ฉายแสงสร้างบทบาทในรัฐสภา เช่น เตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร), ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี), จำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม), ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด), ไปจนถึงรุ่นต่อมาอย่างครูครอง จันดาวงศ์ (สกลนคร) การมีนักการเมืองอีสานที่โดดเด่น (จนต้องถูกเผด็จการทหารเก็บ) ยังมองเป็นภาพสะท้อนของความตื่นตัวทางการเมืองของ “คนไทบ้าน” ที่สูงมากได้ด้วย อาจารย์สมชัยอธิบายปรากฎการตื่นตัวทางการเมืองของคนอีสานว่า เป็นเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มอบความหวังและที่ทางให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องอะไรก็สามารถแสดงออกได้ จนสามารถพูดเต็มปากได้ว่า “สส. อีสานไม่โง่ คนอีสานไม่โง่”

พูดถึงเผด็จการทหารแล้ว หลักสูตรเยาวชนที่อุดรยังโชคดีที่ได้ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี มาพูดเรื่องกองทัพกับการเมืองไทย ทั้งในมุมประวัติศาสตร์กองทัพ รวมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อสถาบันสำคัญในไทย ซึ่งว่าไปแล้วคงเป็นหัวข้อที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับรู้ในรั้วโรงเรียน เอาเป็นว่าผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเขียนสรุปตอนท้ายว่าสิ่งที่ได้รู้เพิ่มขึ้นจากคลาสนี้คือ “กองทัพไทยสมัยใหม่เริ่มต้นจากทหารไล่กา” (ใครงงลองไปฟังที่สุภลักษณ์บรรยายได้ในตลาดวิชาอนาคตใหม่เรื่องลัทธิทหารเป็นใหญ่ในการเมืองไทย)

วันต่อมาครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล มาพูดในห้องเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สาระสำคัญอาจไม่ได้อยู่แค่การสอนประวัติศาสตร์แบบนอกขนบหลักสูตรกระทรวงศึกษาฯ เช่น พากลับไปดูตั้งแต่นิยามของคำว่า “ประวัติศาสตร์” “รัฐชาติ” หรือ “การเมือง” แต่ยังอยู่ที่การเรียนรู้บนฐานของอำนาจที่เท่าเทียมระหว่างครูและผู้เรียน ที่สำคัญคือคลาสนี้ยังมีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองผ่านกิจกรรมสืบค้นข้อมูลของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ จากนั้นจับคู่หาจุดร่วมของคนเหล่านั้น เพื่อให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีโครงเรื่องแค่หนึ่งเดียว แต่มีที่มาจากหลากหลายเรื่องเล่า หลากหลายแหล่งข้อมูล และทำให้เห็นว่าแม้บางคนจะมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่ยังมีบางอย่างที่ร่วมกันอยู่ เช่น เป็นผู้ชายเหมือนกัน เป็นนักพูดเหมือนกัน เป็นต้น

การสื่อสารแบบอนาคตใหม่ โดยพรรณิการ์ วานิช เป็นห้องเรียนปิดท้ายสัปดาห์ที่สองของหลักสูตร ห้องเรียนนี้นอกจากจะพูดถึงเรื่องการรณรงค์สื่อสารทางการเมือง ยังเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองสื่อสารปัญหาใกล้บ้านตัวเองอย่างมียุทธศาสตร์

การบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองนี้ยากมากที่จะเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่ถ้าจะมีอะไรที่พอใกล้เคียงกับกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ได้ คงเป็นคำพูดของผู้เข้าร่วมคนหนึ่ง มันเรียบง่าย กระชับ ได้ใจความ

“เราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ตอนนี้ได้รู้แล้ว”

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด