หากกล่าวเปรียบเปรยวงการภาพยนตร์ช่วงหลายสัปดาห์นี้ คงคล้ายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ระเบิดปรมาณูสองลูกถูกปล่อยพร้อมกัน เพียงแต่คราวนี้ไม่มีใครบาดเจ็บสูญเสีย เพราะปรมาณูลูกแรก (มีสีชมพู) ที่ชื่อ Barbie ของเกรต้า เกอร์วิค และอีกลูกหนึ่งชื่อ Oppenheimer ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ไม่ได้ล้างผลาญหรือตัดกำลังซึ่งกันและกัน แต่ต่างช่วยกันส่งเสียกเรียกให้คนมุ่งหน้ามาที่โรงภาพยนตร์

นับแต่วันที่ 21 กรกฏาคมที่ทั้งสองเรื่องเข้าฉาย Barbie ทำรายได้ไปแล้วกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน Oppenheimer ก็เก็บยอดไปถึงห้าร้อยกว่าล้านเหรียญ 

ด้วยรายได้และกระแสชื่นชมถล่มถลายของทั้งสองเรื่องเป็นชนวนซึ่งจุดให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนตั้งชื่อกันเล่นๆ ว่า ‘Barbenheimer’ (Barbie+Oppenheimer)

ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมในปีที่คำว่า flopbuster ถูกผลิตขึ้นมาเพื่ออธิบายความล้มเหลวทางรายได้ของภาพยนตร์ฮอลลีวูด และอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ที่ซบเซาไปตั้งแต่โควิด-19 กลับถูกปลุกชีพจากหนังฟอร์มยักษ์ที่หน้าตาต่างกันสุดขั้ว

เพื่อตอบคำถามและพูดคุยถึงหนังทั้งสองเรื่อง คณะก้าวหน้า Common School และ Sol Bar & Bistro จึงเลือกหัวข้อนี้ในกิจกรรม Sol bar Talk ครั้งที่ 6 และได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญสุดพิเศษ คุณพิมพ์ชนก พุกสุข แอดมินเพจ Man On Film ผู้ร่วมแปลหนังสือ ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน ความลับในภาพเคลื่อนไหว’ และอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์แถวหน้าของไทย 


เนื่องจากทอล์คครั้งนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาแน่นอน จึงจำเป็นต้องยกคำพูดของอาจารย์ประวิทย์มาขึ้นเตือนเสียก่อน

“ [ภาพยนตร์] ต่อให้คุณรู้ว่าเนื้อหามันเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วมันคือ appreciation มันคือประสบการณ์ที่คุณไปอยู่ในโรงภาพยนตร์นั้นๆ คุณค่ามันอยู่ตรงนั้นมากกว่า”


Barbie ปรมาณูสีชมพูถล่มชายแท้

Barbie ถูกขนานนามอย่างมากว่าเป็นหนังเฟมินิสต์ที่วิพากษ์ระบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงบางคนถึงขนาดเชิญชวนให้มีการตรวจคุณสมบัติคู่เดทด้วยการพาอีกฝ่ายเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้เลยทีเดียว

แต่ที่เป็นเช่นนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการกำกับทิศทางของ ‘เกรต้า เกอร์วิค’ ผู้กำกับซึ่งได้ชื่อว่าเล่นกับประเด็นทางเพศได้ดีเสมอมา อย่างไรก็ดี แม้หลายคนจะยกให้ Barbie เป็นภาพยนตร์วิพากษ์เรื่องเพศอย่างหนักหน่วง แต่สำหรับพิมพ์ชนก ท่าทีที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถือว่า “ใจดีเกินไป”

“หนังเกรต้า เกอร์วิคมีธีมนี้หมดเลย คือพูดเรื่องโลกของผู้หญิงที่อาจถูกกดทับในหลายมิติ ส่วนตัวชอบเรื่อง Lady Bird (2017) มาก มันคุยกับเรามากๆ เพราะว่ามาจากต่างจังหวัด จะรู้สึกว่า ไม่อยากอยู่ มันเล็กไปสำหรับเรา ไม่ชอบ และไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีอนาคต มันเหมือนตัวละครมาก แล้วเส้นทางการเติบโตของตัวละครในหนังก็เหมือนเรา ไม่ค่อยลงรอยกับแม่ แต่ก็ไม่ได้เกลียด ดูจบแล้วรู้เลยว่าผู้กำกับต้องกรีดเลือดตัวเองมาทำหนัง พอมากำกับ Little Women (2019) ซึ่งแม้จะ adapt มา แต่ก็ยังแม่นอยู่ แต่พอมันไม่ได้ส่วนตัวขนาดนั้นเลยทอนความชอบไปประมาณหนึ่ง พอมา Barbie ซึ่งก็ไม่ original เพราะมันต้องดัดแปลงมาจากความเป็นบาร์บี้ ก็เหมือนมีบางอย่างที่อยากให้มันไปให้เยอะกว่านี้ใน sense ของการทำหนัง เขาใจดีกับตัวละครกับเรื่องนี้มาก ทั้งๆ ที่จริงถ้าดุกว่านี้อีกนิดหนึ่ง มันจะได้ใจเราไป”

อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์หนัง


อาจารย์ประวิทย์ยังเสริมความใจดีที่ว่านี้ “มันมีอยู่ฉากหนึ่งที่นางเอกสามารถทวงคืน Barbie Land จาก Ken Land ได้ ถ้าเป็นหนังดุๆ อย่างที่บอกเนี่ย ผมว่าผู้ชายมันจะอาละวาด มันจะพังข้าวพังของ แต่สุดท้ายผู้ชายมันกลับไปร้องไห้ ซึ่งผมรู้ว่ามันเป็นการพูดถึงความเปราะบางของผู้ชาย” 

พูดถึงความเปราะบางของผู้ชาย อาจารย์ประวิทย์ก็เห็นว่า ไรอัน กอสลิง มีความกล้าหาญอย่างมากที่ยอมรับบทบาท ‘เคน’ เพราะด้วยภาพลักษณ์ตัวละครของเขาในเรื่องก่อนๆ ต่างมีความเป็นชายสูง (อาจจะยกเว้น La La Land) การมาเล่นเป็นเคน ตัวละครที่ไม่มีบุคลิก ต้องพึ่งพาผู้หญิง ก็ย่อมกระทบภาพลักษณ์ไปนั้นโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ กอสลิงภายใต้บทบาทของเคนก็ถ่ายถอดคุณลักษณะและความเปราะบางของ alpha male ได้เป็นอย่างดี

“ในโลกของเคน มันเป็นโลกที่ He’s just Ken ก็แปลว่าเขาเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีคาแรคเตอร์ในตัวเอง เขา define ตัวเองด้วยความเป็นคนที่อยู่คู่บาร์บี้ พอเขาตกกระไดพลอยโจนไปอยู่ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ที่ทุกอย่างมันผูกติดกับความเป็นผู้ชาย ความเชื่อมั่นอะไรมันก็กลับคืนมา … ความหลงผิดของชายเป็นใหญ่เราเห็นได้เยอะมากในโลกความเป็นจริง ซึ่งมันเป็นคาแรกเตอร์ของคนที่เป็น alpha male หรือคนที่อยู่ใน patriarchy society”

ส่วนพิมพ์ชนกเห็นว่า หากมองเคนในเรื่องเป็น alpha male ตัวละคร ‘อลัน’ ที่แสดงโดยไมเคิล เซร่า ก็เป็นตัวละครชายที่ยืนอยู่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง แต่หากถามว่าตัวละครใดที่เธอประทับใจที่สุด ก็ต้องเป็น ‘กลอเรีย’ ที่แสดงโดยอเมริกา เฟอร์เรรา เพราะสามารถฉายภาพปัญหาที่เกิดจากการถูกตีกรอบขังอยู่ในบทบาทของความเป็นผู้หญิงและความเป็นแม่ได้ชัดเจน ในแง่ว่าหากผู้หญิงไม่สามารถดำรงตนในครรลองที่ว่านั้นได้ ความบกพร่องทางสังคมที่ถาโถมมาจะถูกจำกัดให้เป็นแค่ความล้มเหลวส่วนตัวเท่านั้น 

“เราเพิ่งไถเจอทวีตอันหนึ่ง ไวรัลมาก เขาบอกว่า เพิ่งไปอ่านเจอใน tiktok มา มีคนเขียนว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ไม่อยากให้แม่เจอพ่อเลย ต่อให้เราไม่เกิดมาก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้แม่ไปมีชีวิตที่ดีกว่า อย่างน้อยก็ดีกว่าการเป็นแม่เรา อ่านแล้วเราก็นึกถึงตัวละครนี้ คือมันแฮปปี้กับการมีลูกแหละ แต่นอกจากการเป็นแม่ เป็นผู้หญิง เป็นผู้หญิงทำงานในออฟฟิศ มันเป็นอะไรได้อีก? ความ suffer บางอย่างก็พาให้กลับไปหาวันเวลาที่มันรู้สึกว่าดี อย่างการอยู่กับบาร์บี้แบบในเรื่อง”

พิมพ์ชนก พุกสุข (กลาง) คอลัมนิสต์และแอดมินเพจ Man On Film


เมื่อถามถึงกรณีคำวิจารณ์ของคนกลุ่มที่ถูกสื่ออเมริกันจัดให้เป็นฝ่ายขวา ซึ่งตั้งแง่ว่าหนังเรื่องนี้ยัดเยียดและหากินกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างน่าเกลียด อาจารย์ประวิทย์ก็ให้ความเห็นน่าคิดตามว่า “ฝ่ายขวาของทั่วโลกมันเหมือนกันหมด คือเป็นพวกที่พยายามจะหมุนนาฬิกากลับไปในช่วงเวลาเดิมของตัวเอง ซึ่งผมรู้สึกว่าคนพวกนี้นับวันมันจะลดลงไปเรื่อยๆ ผมคิดว่ามันเป็นวาระสุดท้าย เป็นโอกาสสุดท้ายของคนพวกนี้หรือเปล่า ที่เขาจะส่งเสียงเพื่อทวงวันเก่าๆ วันที่หนังฮอลลีวูดคือ ‘White Male’ ผู้หญิงจะต้องรอคอยความช่วยเหลือจากผู้ชายอะไรทำนองนี้ ผมรู้สึกว่าอันนี้มันเหมือนเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะเรียกร้องสิ่งนี้ เพราะผมว่าหลังจากนี้มันจะเปลี่ยนแปลง”

ไรอัน กอสลิง เกรตา เกอร์วิก หลิวซื่อมู่ และมาร์โกต์ ร็อบบี้ ในกองถ่าย Barbie (ภาพ: Jaap Buitendijk)


Oppenheimer ปรมาณูที่ยืนยันความเป็นสถานที่วิเศษของโรงภาพยนตร์

“ถ้าจะมีใครสักคนใน ค.ศ. นี้ ที่จะเป็นตุ๊กตาสำหรับการสำรวจในฐานะที่ filmmaker ของยุคสมัย ผมว่าโนแลนนี่แหละเป็นคนที่เราจะเรียนรู้ศาสตร์ภาพยนตร์ของศตวรรษที่ 21 ได้อย่างกว้างและลึก” อาจารย์ประวิทย์กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ เพราะนอกจากโนแลนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวบางอย่าง สิ่งหนึ่งที่พบได้เสมอในผลงานของเขาคือความพยายามฉีกออกไปจากขนบธรรมเนียมการทำหนัง “หนังของโนแลนทุกเรื่องมันจะเป็นแบบนี้ คือมันไม่เดินตามความคาดหวังของคนดู” เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งโนแลนเคยให้สัมภาษณ์ทำนองว่า เขาประสบความสำเร็จในการทำให้คนดูไม่พอใจในการทำอะไรตาม conventional

ตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์ประวิทย์ชี้ให้เห็นคือการไม่ใช้ CGI ในการถ่ายทำ แต่ใช้ระเบิดจริงเพื่อจับเอา authenticity หรือความรู้สึกร้อนแรงที่แผ่ออกมาจากจอซึ่ง CGI มอบให้ไม่ได้ การที่โนแลนต้องสร้างเทคนิคพิเศษบางอย่างขึ้นมาเองเพราะไม่มีเครื่องอำนวย หรือการต้องรอจังหวะบางอย่างนี้ คล้ายกับคนทำหนังที่อาจเป็น ‘คนบ้า’ เหมือนโนแลนอย่าง ‘อากิระ คุโรซาวะ’ ที่ระหว่างถ่ายทำก็รอให้ก้อนเมฆก่อตัวในแบบที่เขาต้องการ เพื่อถ่ายในสิ่งที่เขาอยากได้ 

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังยืนยันความเป็น ‘เสด็จพ่อ’ ของโนแลนเข้าไปอีก  คือ การถ่ายด้วยกล้อง IMAX ทั้งเรื่อง กล่าวคือ โนแลนเป็นคนที่มองว่าภาพยนตร์ต้องมีความตื่นตาตื่นใจ (spectacle) โดย IMAX ก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้ภาพยนตร์สื่อสารคุณค่านี้ได้อย่างเต็มที่ ความตื่นตาตื่นใจที่ว่ายังเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากการดูภาพยนตร์ผ่าน streaming จะมีได้เฉพาะการดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ทั้งนี้ อาจารย์ประวิทย์กล่าวติดตลกว่า ‘ความกวนตีน’ ที่สุดของโนแลน คือการถ่าย IMAX กับหน้าคน!

คริสโตเฟอร์ โนแลน ในกองถ่าย Oppenheimer กับคิลเลียน เมอร์ฟี (ภาพ: Universal Pictures)


“ผู้กำกับหลายคนพูดตรงกันว่า บรรดาสิ่งที่ถ่ายยากที่สุดในการถ่ายทำคือ ‘หน้าคน’ เพราะใบหน้ามันแสดงความรู้สึกต่างๆ นานา ถ้าใครดูหนังพอสมควรลองหลับตานึก memorable shot ของเรา หลายๆ ครั้งมันอาจจะเป็นใบหน้าคน คนทำหนังคนหนึ่งที่ใช้ใบหน้าได้โดดเด่นมากๆ คือ อิงมาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman) ถ้าใครได้ดูหนังของเขา ใบหน้าของตัวละครมันจะดูลึกลับหรือท้าทาย สิ่งที่ผมรู้สีกในเรื่อง Oppenheimer คือหน้าของคิลเลียน เมอร์ฟี มัน haunting มาก มันหลอกหลอนเรามาก แล้วพอมันจบลงด้วยใบหน้าแบบนั้น ก็ให้ความรู้สึกที่ตัวละครมีต่อตัวเองว่า “ตกลงกูทำอะไรลงไปวะ” เพราะกูกำลังทำให้โลกนี้ต้องเข้าสู่ Atomic Age”

“ผมว่า close up กับ IMAX มันทำงานได้สมบูรณ์แบบมากๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ดู IMAX ก็ไม่เป็นไร แต่หนังมันถูกสร้างมาให้เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ดูหนังเรื่อง Oppenheimer ในโรง ไม่ต้องไปดูหรอก ผมรู้สึกว่าหนังมันถูกออกแบบให้เราได้อรรถรสเต็มที่ การเข้าไปดูในสภาพ 50% ผมว่ามันเสียของ และมันทำให้คุณเสียความบริสุทธิ์กับหนังเรื่องนั้นในสภาพไม่เต็มอิ่มด้วย ผมรู้สึกว่าสุดท้ายแล้ว หนังของโนแลน โอกาสที่จะได้สภาพ perfect 100% คือในโรงภาพยนตร์” 

ว่าถึงเรื่องการดู IMAX แขกรับเชิญทั้งสองต่างเห็นตรงกันว่า โรงภาพยนตร์ควรมีการลดราคาตั๋วลงเพื่อสนับสนุนการดูหนังในโรงให้เป็นประสบการณ์เป็นมิตรและเข้าถึงได้กับทุกคน 

“โรงหนังมักจะบ่นว่าหลังๆ ไม่ค่อยมีคนเข้าโรง ต้องทำแคมเปญโน่นนั่นนี่ ลดราคา แคมเปญข้าวโพดคั่วอะไรแบบนี้ ถ้าคุณอยากให้คนเข้ามาดูหนังในโรง คุณก็ลดราคาตั๋วสิ … ถ้าอยากให้คนเข้าถึงการดูหนังในโรงจริงๆ การที่ราคามันดีดไปขนาดนั้นก็สะท้อนความไม่ปกติบางอย่างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว” พิมพ์ชนกแสดงความเห็น


Barbenheimer is saving Hollywood’s ass

ถ้าถามว่าปรากฏการณ์ Berbenheimer กำลังบอกอะไร ทำไมมันถึงสร้างรายได้ดีทั้งคู่แทนที่จะขัดขวางกันและกัน สำหรับพิมพ์ชนก Barbie กับ Oppenheimer ไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันแต่แรก เพราะแต่ละเรื่องต่างมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเองอยู่แล้ว หนำซ้ำยังต่างมี ‘การตลาด’ จูงมือคนเข้าโรงภาพยนตร์ที่ค่อนข้างดีอีกต่างหาก

“หนังแต่ละเรื่องมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเองชัดมากอยู่แล้ว Barbie คือคนที่โตมากับ culture ของบาร์บี้ซึ่งกินพื้นที่กว้างมาก ส่วนโนแลนก็มีฐานแฟนคลับที่แข็งแรงมากๆ อยู่แล้ว ประกอบกับคนดูก็สามารถดูควบทั้งสองเรื่องได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน อย่างมากก็แค่เลือกว่าจะดูอันไหนก่อนแค่นั้น … การตลาดของทั้งสองเรื่องก็ดี ตอน Oppenheimer โฆษณาเลยว่า สร้างระเบิดนิวเคลียส์จริง ของ Barbie ก็ปล่อยตัวอย่างให้เห็นว่าตัดต่อตามหนังของ Stanley Kubrick”

อาจารย์ประวิทย์เสริมว่า การที่หนังสองเรื่องนี้เข้าฉายพร้อมกันเป็นเหตุการณ์ที่ดี อย่าง Oppenheimer ก็มีคนตั้งความหวังแต่แรกว่าจะช่วยชีวิตของฮอลลีวูด เหมือนที่มาร์ติน สกอร์เซซี เดินไปบอกทอม ครูซ ว่า Top Gun: Maverick (2022) เป็นหนังที่ ‘saved Hollywood’s ass’ คือทำให้ฮอลลีวูดรอดพ้นจากความล้มเหลวทางรายได้ และยังสร้างศรัทธาให้คนกลับเข้ามาในโรงภาพยนตร์ ซึ่งจากกระแสที่เกิดขึ้นกับ Oppenheimer ก็พูดได้เลยว่า “มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ”


‘รายได้’ เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ทำให้เห็นกระแสลมบางประการของวงการฮอลลีวูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสที่แผ่วเบาลงไปมากของภาพยนตร์แฟรนไชส์ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ อย่างที่อาจารย์ประวิทย์ว่าไว้

“พอเถอะหนังซูเปอร์ฮีโร่ ตอนนี้มันขาลงสุดๆ แล้ว มันจะมีอะไรมากอบกู้ได้ โอเค ผมดู Guardians of the Galaxy Vol. 3 (2023) ใช้ได้เลยนะ แต่เรื่องนี้มันดีเพราะมันมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มันไม่พยายามเป็นส่วนหนึ่งของแฟรนไชส์ หรืออย่างน้อยตอนจบมันก็หาทางออกในแบบที่ไม่ต้องมาพึ่งพา Family Tree ของความเป็นหนังมาร์เวล”

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
อดีตนักเรียนนิติศาสตร์แต่สนใจปรัชญา สนใจเรื่องความคิดและศิลปะ ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ