วริษา สุขกำเนิด


“ผู้มีประจำเดือน” คือคำที่ใช้แทนผู้ที่มีประจำเดือน โดยไม่ระบุอัตลักษณ์ทางเพศใดๆ

แม้ไม่ใช่ทุกคน (และผู้หญิงทุกคน) บนโลกที่มีประจำเดือน แต่ประจำเดือนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เราอาจมีเพื่อนที่ตกใจกับประจำเดือนครั้งแรก แม่ที่ปวดหัวปวดท้องจนทำงานไม่ได้ หรือแฟนที่ฝากคุณไปซื้อผ้าอนามัยมีปีก 

ในทางกลับกัน ประจำเดือนกลับเป็นเรื่องที่ “พูดยาก” เพราะเป็นเรื่องที่น่าอาย ไปจนถึงเรื่องน่ารังเกียจ ทำให้ผู้มีประจำเดือนหลายคนไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเอง รวมถึงผู้ที่ไม่มีประจำเดือนก็ไม่สามารถเข้าใจพวกเขาได้

หนังสือ “คู่มือสามัญประจำเดือน” เขียนโดย ลูอิซเซอ ที. ซยอร์วัลด์ และ เยเต แซนด์เบค นักข่าวและคุณแม่ชาวเดนมาร์ก ให้ความเข้าใจประสบการณ์โชกเลือดนี้ ด้วยภาพการ์ตูนเด็กวัยรุ่นบนปกสีชมพู แนบความรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีประจำเดือน ตั้งแต่การใส่ผ้าอนามัย ไปจนถึงการเล่นกีฬา เพื่อให้รู้ว่า เรื่องเลือดๆ นี้ เป็นเรื่องที่ “พูดง่าย” และไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป

หนังสือคู่มือสามัญประจำเดือน credit: Barefoot Banana


มันเป็นเรื่องธรรมชาติ

ความตกใจ คือความรู้สึกเมื่อเลือดประจำเดือนหยดแรกเปื้อนชุดชั้นใน

คราบเลือดอาจแลดูน่ากลัว เธอไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย และต้องทำอย่างไรมัน สิ่งที่เธอหา ณ ตอนนั้นคือผู้มีประจำเดือนคนอื่นๆ ที่พอบอกได้บ้างว่าต้องรับมืออย่างไร

“หนังสือเล่มนี้เกิดจากที่ เรา (ผู้เขียน) สองคน ต่างเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นแม่ที่มีลูกสาว และเพื่อนสนิทกัน เราจึงอยากทำโปรเจกต์ในเรื่องที่เราต่างมองว่าสำคัญ นั่นคือเรื่องประจำเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอยากให้ลูกสาวได้รู้ในสิ่งที่ฉันตอนเริ่มมีประจำเดือนไม่รู้”

ลูอิซเซอ หนึ่งในผู้เขียนบอก

หนังสือเล่มนี้ ทำความเข้าใจกับเราว่า ประจำเดือนคือส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น “ตามธรรมชาติ” เริ่มตั้งแต่ หน้าตาของมดลูกและช่องคลอด กระบวนการก่อร่างและบุบสลายของผนังมดลูกซึ่งเป็นที่มาของเลือดประจำเดือน วัฏจักรรอบเดือน ไปจนถึงฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่สัมพันธ์กับรอบเดือน ความรู้เหล่านี้ถูกวาดเขียนในรูปแบบที่น่ารักสดใส และเข้าใจง่าย

ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมดา credit: Barefoot Banana

นอกจากความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์แล้ว คู่มือเล่มนี้ยังบอกวิธีการรับมือกับประจำเดือน ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ซึมซับประจำเดือนรูปแบบต่างๆ และการสวมใส่ การดูแลช่องคลอด การจัดการกับคราบเลือด การจดตารางรอบเดือน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงก่อนมีประจำเดือน เช่นน้ำหนักขึ้น อารมณ์แปรปรวน หรืออยากอาหาร 

ลูอิซเซอร์เล่าให้ฟังว่า สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ “เด็กผู้เริ่มมีประจำเดือนควรจะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองบ้าง การรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทำให้ผู้มีประจำเดือนครั้งแรกลดความตกใจ  และหากมีอาการผิดปกติก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้” 

ลูอิซเซอขยายความอีกว่า “การที่ผู้มีประจำเดือนขาดความเข้าใจในร่างกายตนเอง ทำให้เวลาที่เขาเจ็บป่วย เช่นปวดท้องหนักเกินไป เขาต้องทนกับความเจ็บปวดนั้น และไม่กล้าไปพบแพทย์ ซึ่งมันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของเขาในระยะยาว มันยิ่งเป็นปัญหาเมื่อเขาเป็นเด็ก เพราะเด็กควรมีชีวิตที่ดี แต่หากเขาต้องปวดท้องอยู่บ้าน และไม่มีเวลาไปใช้ชีวิต ก็อาจเกิดความไม่เท่าเทียมขึ้น เพราะเวลาที่มีประจำเดือนคือหนึ่งสัปดาห์ต่อหนึ่งเดือน ถือว่าเป็นส่วนที่ใหญ่ของชีวิตเหมือนกัน”

ลูอิซเซอ ที. ซยอร์วัลด์  หนึ่งในผู้เขียน คู่มือสามัญประจำเดือน credit: Barefoot Banana

ภาพวาดและคำบรรยายอาจอธิบายความเป็นธรรมชาติของประจำเดือนได้ไม่พอ ผู้เขียนจึงเลือกใส่ภาพ “ประจำเดือนจริงๆ” ที่เปียกโชกบนผ้าอนามัย ถ้วยอนามัย และแทมปอนลงในหนังสือเล่มนี้ด้วย แม้ภาพเลือดสดๆ เหล่านี้จะทำให้คนอ่านหลายคนประหลาดใจ แต่ลูอิซเซอร์ก็ยังยืนยันว่า ภาพประจำเดือนจริงนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เด็กเข้าใจหน้าตาของประจำเดือน และมองว่ามันคือเรื่องธรรมชาติ

“อย่าลืมว่า การมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติมาก จงทำใจให้สบาย และใช้ชีวิตในสัปดาห์นั้นให้สนุกตามปกตินะ”

ยามิลลา (อายุ 15 ปี)


ไม่แปลก แค่แตกต่าง

“เรามักคิดว่าประจำเดือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำหรับฉันมันไ่ม่ใช่เรื่องเล็กเลย…”

แนนนา (อายุ 17 ปี)

นอกจากข้อมูลเชิงวิชาการแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีถ้อยคำจากการสัมภาษณ์วัยรุ่นผู้เริ่มมีประจำเดือนมากมาย ลูอิซเซอเล่าว่า “ส่วนใหญ่เราจะคุยกันตัวต่อตัวทางโทรศัพท์ เราทั้งถามคำถาม พูดคุยกัน และฟังในสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าสำคัญที่สุด”

บทสนทนาของเด็กๆ มากมายทำให้เรารู้ว่า แม้หลายคนจะมีประจำเดือนเหมือนกัน แต่เขากลับมีประสบการณ์ ความรับรู้ และการรับมือต่อประจำเดือนที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ประจำเดือนที่คนส่วนหนึ่งมองเป็นเรื่องเล็กน้อย อาจเป็นเรื่องใหญ่ของใครหลายๆ คน

เริ่มต้นจากสิ่งที่จับต้องได้ที่สุด คือสีประจำเดือน เลือดประจำเดือนมีสีที่หลากหลาย ตั้งแต่แดงอ่อนไปจนถึงน้ำตาล บางครั้งอ่อนเป็นน้ำเลือด บางครั้งเกาะกันเป็นลิ่ม ซึ่งล้วนแต่ปกติทั้งสิ้น เช่นเดียวกับปริมาณและระยะเวลาของประจำเดือน บางคนมีประจำเดือนมาน้อย บางคนมามาก บางคนประจำเดือนมา 7 วัน บางคนมาแค่ 3 วัน ไม่ว่าประจำเดือนจะมาเท่าไหร่ มันก็ล้วนแต่ปกติทั้งสิ้น

เลือดประจำเดือนมีลักษณะและสีสันที่แตกต่างกัน credit: Barefoot Banana

เช่นเดียวกับประจำเดือน ผู้มีประจำเดือนแต่ละคนก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซึมซับและกักเก็บประเดือนที่แตกต่างกัน หนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ตั้งแต่ผ้าอนามัยแบบแผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด ถ้วยอนามัย ผ้าอนามัยซักได้ และกางเกงในอนามัย พร้อมทั้งคำพูดของเด็กๆ แต่ละคนที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน เช่น บางคนชอบผ้าอนามัยแบบสอดเพราะเคลื่อนไหวสะดวก แต่หลายคนรู้สึกว่าใส่ยากและยังไม่พร้อม

นอกจากประจำเดือนแล้ว ผู้มีประจำเดือนต่างมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในช่วงรอบเดือนที่ต่างกันไป อาการปวดท้องคือความเจ็บปวดที่ผู้มีประจำเดือนหลายคนต้องเจอ แต่ระยะเวลาและระดับความเจ็บปวดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ผู้มีประจำเดือนหลายคนถึงขั้นต้องลาป่วยเพราะทำงานไม่ไหว แต่บางคนยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ

การเรียนรู้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้เรารู้ว่าประสบการณ์ของเราที่ดูเหมือนแปลกต่างเป็นเรื่องที่ปกติ (หรือหากไม่ปกติ ก็สามารถพบแพทย์ได้ทันท่วงที) และทำให้เราเขาใจเพื่อนๆ ผู้มีประจำเดือน ที่ประสบพบเจอ และต้องการความช่วยเหลือที่ต่างจากเรา


คุยกันให้มากขึ้น

“พวกเราคุยเรื่องประจำเดือนอย่างเปิดเผย ฉันคิดว่าการได้คุยกับเพื่อนๆ ทำให้ชีวิตช่วงที่มีประจำเดือนง่ายขึ้นนะ เพราะไม่ต้องแอบซ่อนไม่ให้ใครรู้”

มาทิลด์ (อายุ 16 ปี)

นอกจากเสียงของวัยรุ่นผู้เริ่มมีประจำเดือนที่หลากหลาย หนังสือเล่มนี้ยังเผยให้เห็นถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างผู้มีประจำเดือนและคนรอบข้าง เด็กวัยเริ่มมีประจำเดือนหลายคนเริ่มต้นด้วยการปรึกษาคนใกล้ตัว หรือคนที่เคยมีประจำเดือนมาก่อน เช่นคุณแม่ หรือคนในครอบครัว เพื่อที่เธอจะได้รับมือ และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของเธอ แนนนา วัยรุ่นอายุ 17 ปี เล่าประสบการณ์การมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งทำให้เธอรู้สึกอับอาย เมื่อคุณย่ามารับพอดี คุณย่าจึงปลอบใจเธอว่า ความรู้สึกเศร้าเป็นเรื่องปกติ ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น

เพื่อนเป็นอีกที่พึ่งพิงหนึ่งที่ผู้มีประจำเดือนเข้าไปขอคำปรึกษา หลายคนขอยืมผ้าอนามัยจากเพื่อน ให้เพื่อนสอนใส่ผ้าอนามัยให้ หรือพกผ้าอนามัยไว้ให้เพื่อนๆ ใส่ ตัวอย่างหนึ่งคือ “คราบเลือด” ประจำเดือนที่เปื้อนกางเกง หรือเก้าอี้ผ้า ซึ่งเป็นหนึ่งปัญหาที่ใครหลายคนอับอาย แต่วัยรุ่นหลายคนก็เปลี่ยนวิกฤตนี้เป็นโอกาสในการช่วยเหลือผู้มีประจำดือนด้วยกัน 

ภาพวาดประจำเดือนครั้งแรก credit: Barefoot Banana

“ประจำเดือนเลอะเป็นเรื่องธรรมชาติ และเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงทุกคน ถ้าพวกเด็กผู้ชายมาล้อ เด็กผู้หญิงคนอื่นๆ จะช่วยยืนหยัดปกป้องเธอ แล้วพวกนั้นจะรามือไปเอง เพราะรู้แล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร” มุนเทอ มู (อายุ 14 ปี)

คู่มือสามัญประจำเดือนยังเพื่อนคู่ใจสำหรับเด็กและผู้ปกครองในเดนมาร์กหลายคน ลูอิซเซอเล่าผลตอบรับของหนังสือเล่มนี้กับเราว่า “ผู้ปกครองส่วนใหญ่ชอบหนังสือเล่มนี้มาก เพราะเขาสามารถเอาให้ลูกอ่านได้ และได้รู้ในสิ่งที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน แม่คนหนึ่งบอกว่า ลูกสาวของเธอซึ่งเป็นนักว่ายน้ำอ่านหนังสือเล่มนี้เป็น 10 กว่ารอบ และถึงขั้นพกไปค่ายฝึกว่ายน้ำด้วย ผู้ปกครองบางคนเล่าว่าลูกไม่อยากอ่าน แต่แกะห่อหนังสือมาอ่านในห้องนอนแล้ว”

ลูอิซเซอเล่าว่าผู้อ่านเรื่องราวส่วนตัวของผู้มีประจำเดือนในหนังสือ “ราวกับว่าผู้อ่านได้พูดคุยกับเด็กอีก 20-30 คนที่มีประเดือนเหมือนกับเขาโดยไม่ต้องเขินอาย ซึ่งเป็นบรรยากาศที่หาในห้องเรียนไม่ได้ แม้ในเดนมาร์กเองก็ตาม” ลูอิซเซอบอก

ลูอิซเซอ ที. ซยอร์วัลด์  หนึ่งในผู้เขียน คู่มือสามัญประจำเดือน credit: Barefoot Banana

บทสนทนาเรื่องประจำเดือนอย่างเข้าอกเข้าใจ ทำให้ผู้มีประจำเดือนไม่รู้สึกว่าเขาโดดเดี่ยว ในงาน Book Talk คุณแม่นิดนก พนิตชนก ดำเนินธรรม แลกเปลี่ยนว่า “เด็กหลายคนร้องไห้ เพราะเขาคิดว่าความรู้สึกเจ็บปวดนี้เกิดกับเขาคนเดียว ถ้าเด็กรู้ว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนี้ เขาก็จะรู้สึกปลดปล่อยขึ้น” 


ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่มีประจำเดือน

ผู้หญิงข้ามเพศมีประจำเดือนไหม คือคำถามที่ใครหลายคนสงสัย 

แม้ที่ผ่านมา เรามักผูกโยง “ประจำเดือน” ไว้กับ “ผู้หญิง” แต่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีประจำเดือน มีผู้หญิงหลายคน เช่นผู้หญิงข้ามเพศ ผู้หญิงที่มีโรคประจำตัว ที่ไม่มีประจำเดือน และผู้ที่ไม่ใช่เพศหญิง เช่น ผู้ชายข้ามเพศที่มีประจำเดือน ประจำเดือนจึงเป็นเรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เรื่องของเพศ

หนังสืออธิบายเพิ่มว่า “คนที่มีองคชาติมักจะไม่มีมดลูกอยู่ในร่างกาย และเราต้องมีมดลูกจึงจะมีประจำเดือนได้ ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงระบุไว้ว่า ‘ผู้มีมดลูกจึงมีโอกาสมีประจำเดือน’ แทนการระบุว่า ‘เด็กหญิงทุกคนมีประจำเดือน’” หนังสือยังกล่าวถึง แคส บลิส นักเคลื่อนไหวเรื่องประจำเดือนชาวอเมริกัน ที่แม้จะมีประจำเดือน แต่เขาก็ไม่ได้นิยามตนว่าเป็นหญิงหรือชาย และสร้างความเข้าใจว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่มีประจำเดือน

แคส บลิส credit: The Cheeky Blog

คู่มือสามัญประจำเดือน จึงมีหน้าที่สร้างเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อที่คนเพศใดก็ตามที่มีประจำเดือนจะสามารถจะรับรู้และรับมือกับประจำเดือนและอาการต่างๆ ในร่างกายของตน และปรับตัวเข้ากับเพศที่ตนนิยามได้อย่างสบายใจ เช่นเดียวกับผู้ไม่มีประจำเดือนที่สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อเข้าใจผู้มีประจำเดือนให้มากขึ้น


จากประจำเดือน สู่ความเท่าเทียม

แม้เดนมาร์กจะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางเพศ แต่ประจำเดือนยังถูกมองเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ถูกพูดถึงแม้ในโรงเรียนก็ตาม เธอจึงตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ และจุดบทสนทนา ทั้งในห้องเรียน และในครอบครัว

 “แม้ว่าคนที่ปวดท้องเมนส์มากๆ จะพบแพทย์และได้รับสวัสดิการการรักษา และพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหลายเรื่อง แต่ยังไม่มีการลงทุนเรื่องการให้ความรู้เท่าที่ควร แต่ ณ ตอนนี้มีคนพูดเรื่องประจำเดือนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก”

ลูอิซเซอบอก

แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว เดนมาร์กยังถือว่ามีสถานการณ์เรื่องประจำเดือนที่ดีกว่ามาก คู่มือสามัญประจำเดือนได้ใส่หัวข้อ “รู้ไหมว่า” ที่บอกเล่าสถานการณ์เรื่องประจำเดือนของประเทศอื่นๆ ทั้งตัวอย่างที่เป็นมิตรกับผู้มีประจำเดือน เช่น กฎหมายการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ซับประจำเดือนในที่สาธารณะในสกอตแลนด์ หรือกฎหมายลาหยุดช่วงมีประจำเดือน ของญี่ปุ่น และอินโดนิเซีย และตัวอย่างของประเทศยากจน ที่ผู้มีประจำเดือนไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย ต้องพักอยู่บ้าน และย้ายไปอยู่คนเดียวจากการมองว่าประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรก

credit: Barefoot Banana

“สิ่งที่เราฝัน คือการทำให้ประจำเดือนไม่เป็นเรื่องต้องห้าม และทำให้ผลิตภัณฑ์ซับประจำเดือนต่างๆ มีราคาที่ถูกลง หรือถ้าฟรีได้ก็ยิ่งดี”

ลูอิซเซอหวัง

การสร้างความเข้าใจประจำเดือนคือประตูบานแรกของความเท่าเทียม มันเกี่ยวโยงกับสุขภาพ การทำงาน เพศ หรือแม้แต่การศึกษาของเราทุกคน แม้ว่าทุกคนจะไม่ได้มีประจำเดือน แต่การที่เพื่อนผู้มีประจำเดือนที่รับรู้ความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของเขา ได้รับคำแนะนำจากคนรอบข้าง ไปจนกระทั่งการสนับสนุนแชะลดช่องว่างด้วยนโยบายจากภาครัฐ ก็ช่วยให้พวกเขาและคนรอบข้างมีชีวิตที่ดีและมีความสุข 

ประจำเดือนจึงเป็นเรื่องของทุกคน … พีเรียด.

สามารถกดยืมหนังสือห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลกได้ที่นี่>> https://pgmf.in.th/reading-revolution/ ห้องสมุดออนไลน์ ยืมฟรี ส่งฟรีถึงบ้าน และคืนฟรี!

Author

วริษา สุขกำเนิด
คนคนหนึ่งที่รักการเขียน การแปล และการ vlog เป็นชีวิตจิตใจ สนใจเรื่องการทำงาน ความสัมพันธ์ และสุขภาพกาย-ใจ ผ่านมุมมองสังคมวิทยา (สาขาที่เรียนจบมา) ผสมปนเปกับมุมมองอื่น ๆ