กษิดิศ อนันทนาธร
บ้านเลขที่ 173 ถนน Aristide Briand ในอดีต ซึ่งปัจจุบัน คือ เลขที่ 25 ถนน Raymond Aron บนขนาด 100 ตารางวา ติดถนนใหญ่ มองภายนอกก็ดูไม่ต่างอะไรนักจากบ้านพักอาศัยในเมืองอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส แต่สำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ย่อมทราบดีว่า บ้านซึ่งถูกขนานนามในความทรงจำของคนไทยว่า “บ้านอองโตนี” แห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่ง ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโสได้ใช้เวลา 13 ปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตราบจนสิ้นลม ณ บ้านหลังนี้
ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้พ่ายแพ้แต่ไม่สิ้นหวัง
แน่นอนว่า นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เคยเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และรัฐบุรุษอาวุโสของไทยนั้น ก็เป็นเพียงปุถุชนคนสามัญนายหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่มนุษย์วิเศษที่เป็นปาปมุติ อาจมีข้อบกพร่องผิดพลาดไปบ้างเป็นธรรมดา
ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมแล้ว ภายในเวลา 15 ปีของการทำงาน (2475-2490) จะหาชีวิตของคนไทยผู้ใดที่ทำงานอุทิศเพื่อบ้านเมือง เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และเพื่อประชาธิปไตยไทยเกินกว่าชีวิตของบุรุษผู้นี้แล้วนั้น นับว่ายากยิ่งนักในแง่นี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นแรงบันดาลใจผู้ฝันใฝ่จะเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นธรรมในสังคม
เมื่อเทียบเวลา 15 ปีของการทำงานในไทย กับ 34 ปีของการลี้ภัยในต่างแดน กล่าวคือ ในประเทศจีน 21 ปี (2492-2513) และฝรั่งเศส 13 ปี (2513-2526) ก็จะเห็นว่า ปรีดีอยู่อย่างผู้แพ้ นานกว่าอยู่อย่างผู้ชนะ
แต่ปรีดีก็ไม่เคยสิ้นหวัง ยังคงเชื่อมั่นในสัจจะของประวัติศาสตร์และพลังของคนรุ่นใหม่
13 ปีในฝรั่งเศส ซึ่งเขาใช้ชีวิตในบ้านอองโตนีนั้น ปรีดีผลิตผลงานจำนวนมากทั้งหนังสือ บทความ คำขวัญ บทสัมภาษณ์ และคำฟ้องคดีต่างๆ เพื่อยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ จนกระทั่งปรีดีถึงกับเขียนว่า มุ่งหวังจะให้หนังสือเหล่านี้เป็น “อนุสาวรีย์ที่มีค่า” แทนสภาพบุคคลของตนเองซึ่งจะต้องปลาสนาการไปในวันหนึ่ง เพราะปรีดีหวังว่า คนรุ่นหลังจะเข้าถึงสัจจะทางประวัติศาสตร์ได้ โดยใช้งานเขียนต่างๆ ของปรีดีเป็นฐานในการแสวงหาความจริงต่อไป
ความหมายของบ้านอองโตนี
การที่ผู้เขียนซึ่งนิยมชมชอบและเคารพนับถือ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้มานมนาม ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมบ้านอองโตนีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ย่อมเป็นความประทับใจอย่างไม่รู้ลืม
เป็นต้นว่า การได้เห็นห้องทำงานขนาดเล็กกะทัดรัด แต่เป็นสถานที่ซึ่งปรีดีใช้ผลิตงานออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นจุดสุดท้ายซึ่งปรีดีมีลมหายใจอยู่บนโลกใบนี้ จึงชวนให้อนุสรณ์คำนึงถึงท่านผู้เคยอยู่ ณ ที่แห่งนั้น นึกถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ที่นั่น ทำนองเดียวกับเวลาที่เราไปเยี่ยมชมโบราณสถานต่างๆ ก็ย่อมต้องคิดถึงบรรยากาศในครั้งเก่าก่อน
ณ ที่แห่งนั้น ได้ลองอยู่ในจุดที่เคยเป็นโต๊ะทำงาน มองออกไปทางซ้ายนอกหน้าต่างในมุมเดียวกับที่เป็นจุดพักสายตาในอดีต มองตรงออกไปนอกห้องซึ่งเป็นห้องรับแขกและห้องกินข้าว และมองไปทางขวาซึ่งเป็นห้องนอนเล็กๆ ที่เคยมีเตียงเล็กๆ สองเตียงของท่านผู้หญิงพูนศุขและนายปรีดีตั้งอยู่
แม้บ้านอองโตนีที่ได้ไปเห็นมา จะเล็กกว่าที่เคยคิดไว้ แต่การได้เข้าไปสัมผัสและนึกถึงภาพจำจากในหนังสือที่เคยอ่านมานั้น ก็ให้ความรู้สึกถึงเชื่อมโยงกับอดีตได้เป็นอย่างดี
ความสำคัญของบ้านอองโตนี
บ้านอองโตนีจึงสำคัญในแง่ที่เป็นหมุดหมายว่า ณ ที่แห่งนี้ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส เคยใช้ชีวิตอยู่ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม เป็นที่พำนักของคนที่เมืองไทยไม่ต้องการ เป็นสัญลักษณ์ของบ้านแห่งผู้ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของชนชั้นนำในสังคมไทย และเป็นสถานที่ของการรำลึกนึกถึงอดีต เพื่อให้เราตระหนักถึงปัจจุบัน เพื่อแรงบันดาลใจหรือพลังในการใช้ชีวิตต่อไปสำหรับอนาคต
ถึงที่สุดแล้ว บ้านหลังนี้จึงไม่เพียงแต่สำคัญในแง่ที่สื่อสะท้อนถึง ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโสเท่านั้น แต่ยังชวนให้นึกถึงคนอีกหลายๆ คนที่เมืองไทยไม่ต้องการ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะไม่ต้องมีผู้ซึ่งถูกเบียดเบียนจากความเห็นต่างอีกต่อไป
พิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาธิปไตยไทย
การที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซื้อบ้านอองโตนีเพื่อปรับปรุงทำเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วงบั้นปลายของนายปรีดี พนมยงค์ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้น จึงนับว่าเป็นกรณียกิจอันน่าอนุโมทนา
เพราะในโลกตะวันตก มีพิพิธภัณฑ์อันเป็นนิวาสสถานเดิมของบุคคลสำคัญในด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก มีเรื่องให้เล่าขาน มีตำนานให้เป็นบทเรียนแก่ชีวิต แต่กรณีของคนไทยนั้นมีไม่มากนัก และถึงจะมี ก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้มีอะไร ‘ใหม่ๆ’ ติดตัวกลับไป
การทำบ้านอองโตนีเป็นพิพิธภัณฑสถานจึงนับเป็นโอกาสที่จะได้คืนชีวิตให้บ้านหลังนี้ กลับมาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้รับ “อะไรๆ” กลับไป เสมือนที่ในอดีตเคยได้รับจาก ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส เมื่อยังมีชนม์ชีพอยู่ที่นี่
ไม่เพียงเท่านั้น สถานที่แห่งนี้ยังได้เปรียบที่ตั้งอยู่ในดินแดนแห่งเสรีภาพ ซึ่งน่าจะทำให้เรื่องราวของบุคคลอื่น (นอกเหนือจาก ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส) อันไม่เป็นที่ปรารถนาในประเทศไทย หรือ “ผู้ไร้เสียง” ที่ถูกปิดกั้นกดทับ ได้มีที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์ของสามัญชน
ถ้าบ้านอองโตนี กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาธิปไตยไทยได้จริง นี่ก็นับเป็นการ ‘สืบสาน’ อุดมคติของ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ‘รักษา’ สถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์ไว้สำหรับให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้ ‘ต่อยอด’ พรมแดนแห่งความรู้จากแรงบันดาลใจที่ได้รับ
อ่านเรื่องราวของบ้านอองโตนีเพิ่มเติมได้จาก
· กษิดิศ อนันทนาธร, บ้านปรีดีไม่ได้มีแค่ที่อองโตนี ทำไมไม่ต่อยอดที่ทำเนียบท่าช้าง, the101.world, 11 มิถุนายน 2567
· กองบรรณาธิการสยามใหม่, “บันทึกชีวิตสมถะปัจฉิมวัยที่ชานกรุงปารีส” ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2560 (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), 34-47.
· นริศ จรัสจรรยาวงศ์, บ้านรัฐบุรุษอาวุโส ‘ปรีดี พนมยงค์’ ณ กรุงปารีส, the101.world, 19 เมษายน 2567
· มติชนออนไลน์, “ช่อ เล่ายิบ คืนชีพ ‘บ้านอองโตนี’ ประจักษ์พยานชะตากรรมผู้ลี้ภัย ‘คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ’”, https://www.matichon.co.th/politics/news_4642912, 22 มิถุนายน 2567