24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่ม “คณะราษฎร” ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางประเทศตั้งแต่การเมืองไปจนถึงศิลปวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะช่วงปี 2475-2490 หรือคือ 15 ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนที่สมาชิกในกลุ่มจะหมดบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิงนับแต่นั้นมา

แม้ภารกิจในการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยของคณะราษฎรอาจยังไม่ประสบผลตามควร แต่ก็มีมรดกหลายอย่างที่คณะราษฎรมอบทิ้งไว้ให้สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในช่วงที่คณะราษฎรมีบทบาท รวมถึงมีลักษณะแตกต่างไปจากศิลปะในยุคก่อนหน้าและยุคหลังอีกด้วย

หากว่ากันเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรม เราอาจเรียกสไตล์ที่ถูกปรับใช้อย่างแข็งขันในช่วงคณะราษฎรนี้ว่า Art Deco และ International Style แต่ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชา ศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอไว้ในหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ว่า “คำนิยามเหล่านั้นชี้นำให้เราละเลยเงื่อนไขภายใน ละเลยปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนในการเลือกรับปรับใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ละเลยลักษณะ “ลูกผสม” หรือ “ความเป็นท้องถิ่น” ทางวัฒนธรรมที่เป็นหัวใจสำคัญในการก่อรูปแนวคิดและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของสังคมไทยไป” 

ชาตรีเสนอให้เรียกศิลปะและสถาปัตยกรรมในช่วงนี้ว่า “ศิลปะคณะราษฎร” และ “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” โดยชี้ให้เห็นว่า รูปแบบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในความหมายเฉพาะของตัวเอง มีลักษณะรวมกันอย่างกว้าง ๆ คือ “ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแบบสมัยใหม่ รูปแบบภายนอกจะเรียบง่าย ออกแบบเป็นลักษณะกล่องสี่เหลี่ยม ไม่นิยมประดับตกแต่งอาคารด้วยศิลปกรรมและลวดลายใดๆ หากมีจะเน้นงานศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นจากเส้นลายและทรวดทรงทางเรขาคณิต โดยนิยมใช้การตกแต่งด้วยเส้นแนวตั้งหรือแนวนอนเป็นองค์ประกอบหลักของลวดลายประดับอาคาร ที่สำคัญคือไม่นิยมใช้ลวดลายไทยในการประดับตกแต่ง หากจะใช้ลายไทยก็จะเป็นลายไทยที่ถูกลดทอนรูปทรงจนกลายเป็นเพียงรูปทรงทางเรขาคณิตเช่นกัน … ส่วนหลังคาของอาคารนิยมออกแบบเป็นหลังคา “ทรงตัด” (หลังคาแบนแบบมีดาดฟ้า) หรือไม่ก็จะก่อเป็นแผงคอนกรีตขึ้นไปยังส่วนหลังคา (Parapet)”

อย่างไรก็ดี ด้วยอายุอันสั้นของยุคคณะราษฎร ตลอดจนการไล่รื้อถอนสถาปัตยกรรมคณะราษฎรเรื่อยมา ทำให้สถาปัตยกรรมคณะราษฎรในปัจจุบันเหลือน้อยลงทุกที ในวาระครบรอบ 92 ปี Common School ขอร่วมรำลึกถึงคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยการนำเสนอแลนมาร์กสำหรับใช้เป็นเส้นทางเดินเท้า เพื่อชมและดื่มดำประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยเส้นทางที่เราเลือก (และจะมี Walking Tour ในอนาคต) มีสถานที่สำคัญอยู่ 10 จุดด้วยกัน ระยะทางประมาณ 3.4 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งเดิน ทั้งแวะชมประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที แนะนำให้เดินช่วงเช้าตรู่หรือช่วง 5 โมงเย็นเป็นต้นไป จะไม่ร้อนมาก ตลอดรายทางมีร้านอาหาร กาแฟ ให้แวะเรื่อยๆ ไม่หิวโซแน่นอน 

interactive map ทั้ง 10 จุด = https://maps.app.goo.gl/TYkpCtm7WtoeAK2h7

ขอขอบคุณข้อมูลจากอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ แอบมาหยอดว่าเดือนหน้า เราจะมี Walking tour เซอร์ไพรส์ด้วย ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางต่างๆ ของ Common School ได้เลย 






1. สวนสราญรมย์ งานประกวดนางสาวไทยครั้งแรกจัดที่สวนนี้

สำหรับใครที่เป็นแฟนคลับเวทีประกวดนางงาม รู้หรือไม่ว่าสถานที่ซึ่งมีการจัดประกวด “นางสาวสยาม” หรือที่ต่อมาเราเรียกว่า “นางสาวไทย” เป็นครั้งแรก เกิดขึ้นที่ “สวนสราญรมย์” แห่งนี้

สวนสราญรมย์ หรือพระราชอุทยานสราญรมย์ เป็นสวนชุมชนซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนักออกแบบสวนชาวอังกฤษ “เฮนรี อาลาบาศเตอร์” เป็นผู้ออกแบบสวนให้ดูทันสมัยตามแบบตะวันตก ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคคณะราษฎร สวนแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลฉลองรัฐธรรมนูญและการประกวดนางสาวสยามประจำปี 

ภายในสวนมีสถาปัตยกรรมคณะราษฎรสำคัญคือ “สโมสรคณะราษฎร” สร้างราวต้นทศวรรษ 2480 เป็นอาคารขนาดเล็กสูงหนึ่งชั้น ด้านหน้าอาคารตั้งประติมากรรมรูปพานรัฐธรรมนูญประดับด้วยงานกระจกสี ตัวอาคารเดิมถูกสร้างเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับปรึกษาหารือทางการเมืองและให้ความรู้แก่สมาชิกสโมสรฯ จนอาจถือว่าเป็นอาคารที่ทำการของพรรคการเมืองแห่งแรกของไทยเลยทีเดียว

ภายหลังอาคารสโมสรคณะราษฎร กลายเป็น “สโมสรคณะราษฎร์สราญรมย์” ใช้สำหรับสังสรรค์กินดื่ม เล่นบิลเลียด หรือเป็นคลับของคนหนุ่ม จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์ในพระบรมราชูปถัมภ์” และยุบสลายลงช่วงกลางทศวรรษ 2520 ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

ปัจจุบันอาคารสโมสรคณะราษฎร กลายเป็นเพียงที่ทำการของสวนสราญรมย์ซึ่งมีไว้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในบริเวณสวนสราญรมย์ตอนเวลา 08.00 และ 18.00 น. ของทุกวัน

Location https://maps.app.goo.gl/KPkLzQ514uMQqo1q7

เปิดทุกวัน เวลา 05.00-21.00 น.



2. ระเบียงอาคารกระทรวงกลาโหม ระเบียงประวัติศาสตร์ยุคจอมพล ป.

อาคารกระทรวงกลาโหม สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2427 แล้วเสร็จและเปิดทำการในวันที่ 18 กรกฎาคม 2427 วัตถุประสงค์เดิมสร้างเพื่อเป็นที่ประจำการของ “ทหารวังหลวง” หรือ “โรงทหาร ของพระมหากษัตริย์” อาคารถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมโอคลาสิคแบบนีโอปัลลาเดียนโดย “โยคิม แกรซี” สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่รัชกาลที่ 5 จ้างมาทำงานเป็นคนแรกของประเทศ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร สั่งให้มีการต่อเติมมุขโถงด้านหน้าอาคาร พื้นที่ระเบียงชั้นสองของมุขโถงนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยในวันที่ 8 ตุลาคม 2483 มวลชนนิสิตนักศึกษาจากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ รวมตัวกันเดินมาหน้ากระทรวงกลาโหมเพื่อเรียกร้องให้จอมพล ป. เรียกร้องดินแดนไทยกลับคืนมาจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่นำไปสู่การทำสงครามอินโดจีนในเวลาต่อมา

Location https://maps.app.goo.gl/yv8JhbMdf8KinWMo9



3. ประตูสวัสดิโสภา มองใกล้ๆ จะเห็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในประตูวัง

ประตูสวัสดิโสภาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง ระหว่างป้อมเผด็จดัสกรและป้อมสัญจรใจวิง ตรงข้ามกระทรวงกลาโหม มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ประตูทอง” เพราะเป็นทางผ่านสำหรับประชาชนที่จะไปสักการะปิดทองคำเปลวบูชาพระแก้วมรกต

ประตูสวัสดิโสภาเป็นประตูพระบรมมหาราชวังเพียงแห่งเดียวที่ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2479 ออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร ซึ่งแม้รูปทรงประตูโดยภาพรวมจะยังเป็นประตูยอดปรางค์เหมือนประตูอื่น แต่เมื่อเข้าไปสังเกตใกล้ๆ จะพบว่าการออกแบบลวดลายไทยทั้งหมดมีความแตกต่างออกไป เนื่องจากมีการลดทอนรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไทยลงจนกลายเป็นเพียงลวดลายทางเรขาคณิต ที่เรียกว่า “สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต” ซึ่งลักษณะดังกล่าวสื่อนัยยะถึงการปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “ฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมไทย” ซึ่งเป็นระเบียบแบบแผนการก่อสร้างแบบโบราณ การสร้าง “สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต” ถือเป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่สะท้อนทั้งความทันสมัยและอุดมการณ์ประชาธิปไตย

Location https://maps.app.goo.gl/7r8TZyRUdrYHT5536 



4. อาคารศาลยุติธรรม ตึกสุดท้ายจากยุคคณะราษฎรในรั้วศาลฎีกา

กลุ่มอาคารศาลฎีกาเริ่มสร้างในปี 2482 เป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างมาก เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำริให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณสถานระลึกถึงการได้รับ “เอกราชทางการศาล” คืนอย่างสมบูรณ์ในปี 2481 หลังจากที่ไทยต้องเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ให้แก่นานาชาติ ตั้งแต่ตอนทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 

กลุ่มอาคารศาลฎีกาประกอบด้วยอาคารหลายหลัง แต่กลุ่มที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มอาคาร 3 หลังที่เชื่อมกันเป็นรูปตัววี (V) อันเป็นกลุ่มอาคารที่นอกจากจะเก่าแก่ที่สุดแล้วในพื้นที่ตรงนั้นแล้ว มันยังเป็นกลุ่มอาคารใหญ่ที่สุดอีกด้วย กลุ่มอาคารนี้ออกแบบโดย พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) พร้อมกับ หมิว อภัยวงศ์ หลวงบุรกรรมโกวิท นายเอฟ ปิโตโน

อาคารทั้ง 3 หลังไม่ได้สร้างพร้อมกันทั้งหมด โดยสองหลังแรกสร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรคือ อาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม (ระยะเวลาก่อสร้าง 2482-2484) และ อาคารศาลอาญากลุ่มเทพใต้ (2484-2486) ส่วนหลังที่สามคือ อาคารศาลฎีกา (2502-2506) สร้างในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

กลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ถูกรื้อถอน โดยในปี 2550 ศาลฎีกาให้เหตุผลว่าอาคารกำลังเสื่อมสภาพ มีความแตกร้าว และไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่ทำงาน (ชาตรี ประกิตนนทการ เขียนโต้เหตุผลข้างต้นไว้ค่อนข้างละเอียดในหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร”) จนปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนของอาคารที่เป็นด้านหน้าของที่ทำการศาลยุติธรรม (ซึ่งออกแบบให้มีเสา 6 ต้นเพื่อสื่อถึงหลักหกประการ) เท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่ 



5. โรงแรมรัตนโกสินทร์ ช่วงอภิวัฒน์สยาม โรงแรมนี้ทันสมัยที่สุดในประเทศ

โรงแรมรัตนโกสินทร์ หรือ รอยัลรัตนโกสินทร์ ออกแบบโดย “พระสาโรชรัตนนิมมานก์” เป็นโรงแรมที่ขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดในยุคคณะราษฎร ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน เริ่มก่อสร้างปี 2485 และเปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกวันที่ 24 มิถุนายน 2486 โดยมี “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็นประธาน 

เดิมทีแรกโรงแรมรัตนโกสินทร์จะตั้งชื่อว่า “โรงแรมสุริยสัตย์” ซึ่งมีที่มาจากพลตรีสันต์ สุริยสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น แต่พลตรีสันต์ปฏิเสธ จอมพล ป. ทำให้ท้ายที่สุดโรงแรมมีชื่อว่ารัตนโกสินทร์

Location https://maps.app.goo.gl/UziCedVd78wdqWRW8



6. ตึกสองข้างทางถนนราชดำเนินกลาง ตั้งตระหง่านมาตั้งแต่ 2475 

อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่สำคัญจากยุคคณะราษฎรคือบรรดาตึกที่เรียงรายเป็นสไตล์เดียวกันอยู่สองข้างทางถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎรสองข้างทางถนนราชดำเนิน ตัวสถาปัตยกรรมเป็นอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ตามรูปแบบ Art Deco ซึ่งเป็นรูปแบบสำคัญของสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร หนึ่งในตัวอาคารที่เข้าไปเดินชมภายในได้ตอนนี้คือ Bangkok City library หรือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร จากการสอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ในอดีต ถนนเส้นนี้เป็นย่านคนเดินที่คึกคักเสมอ โดยเฉพาะในวันหยุดเฉลิมฉลองต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันถนนราชดำเนินกลางจะซบเซาไปมากก็ตาม  

Location https://maps.app.goo.gl/2sxUnb7yCN94dYej8



7. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถูกสร้างเมื่อปี 2482 ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออกแบบโดย หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล และมี ศิลป์ พีระศรี (ร่วมกับลูกศิษย์) เป็นศิลปินผู้ปั้นภาพประติมากรรมประดับฐานปีกทั้งสี่ข้างของอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์แฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไว้ด้วย ดังนี้

1. ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร รัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 มิถุนายน

2. ปืนใหญ่ 75 กระบอกโดยรอบ หมายถึงปี 2475 

3. ภาพประติมากรรมนูนต่ำที่ฐานปีก เป็นประวัติการดำเนินงานของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

4. พานรัฐธรรมนูญตั้งบนป้อมกลางสูง 3 เมตร หมายถึง เดือนที่ 3 หรือก็คือเดือนมิถุนายนตามปฏิทินเก่าที่เริ่มนับเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ 1

5. พระขรรค์ 6 เล่ม ประกอบบานประตูรอบป้อมกลาง ก็คล้ายกับสถาปัตยกรรมคณะราษฎรอื่นๆ เพราะใช้สื่อถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร (หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา)



8. ห้างไทยนิยม ห้างใหญ่ที่สุดจากยุคคณะราษฎร

ก่อนจะเป็นอาคารสำนักงานใหญ่บริษัท เทเวศประกันภัย จํากัด (มหาชน) อาคารดังกล่าวคือ “ห้างไทยนิยม” ห้างที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในยุคคณะราษฎร

ตึกไทยนิยมเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนพระสุเมรุตัดกับถนนราชดำเนินกลางก่อนขึ้นสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตัวอาคารมีหอสูงโปร่งทรงกลมอยู่ด้านบน ใช้สำหรับระบายอากาศและประดับตัวอาคาร เฉลิมชัย เชี่ยวสกุล อดีตประธานธนาคารนครหลวงไทย และอดีตหัวหน้าแผนกบัญชี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ข้อมูลว่า อาคารนี้ตั้งใจใช้เป็นที่ทำการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่แผนการก่อสร้างต้องหยุดลงจากการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ภายหลังจะปรับเป็นอะพาร์ตเมนต์ให้เช่าและเป็นที่ตั้งของห้างไทยนิยมผ่านฟ้า

Location https://maps.app.goo.gl/QZBnuo6cVPe3NpYj7 

ตอนนี้ปิดก่อสร้างอยู่



9. ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เมื่อก่อนเคยเป็นโรงหนัง 1,200 ที่นั่ง

ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เป็นลานสวนกลางแจ้งตั้งอยู่บริเวณมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชย ตั้งชื่อตามพระนามกรมของรัชกาลที่ 3 สมัยเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2532 

เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “ศาลาเฉลิมไทย” ที่ถูกรื้อถอนไปเพราะตำแหน่งที่ตั้งของศาลาเฉลิมไทยอยู่ด้านหน้าวัดราชนัดดารามและโลหะปราสาท ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าบดบังทัศนียภาพของวัดสำคัญ กระทั่งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2532 แม้จะมีเสียงคัดค้านจากอีกหลายฝ่ายก็ตาม โดยศาลาเฉลิมไทยได้ฉายเรื่อง “เพราะฉันรักเธอ” เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย  

ศาลาเฉลิมไทย ออกแบบโดย “หมิว อภัยวงศ์” (จิตรเสน อภัยวงศ์) เป็นโรงมหรสพและโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นตามความต้องการของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างขึ้นปี 2483 แต่ด้วยการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องรอถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2492 ถึงจะได้เปิดใช้เป็นทางการ

ในช่วงที่ยังทำการ ศาลาเฉลิมไทยเป็นหนึ่งในโรงมโหรสพที่ทันสมัยที่สุด รองรับคนได้กว่า 1,200 ที่นั่ง (มีที่นั่งชั้นบน) ตัวเวทีเป็นแบบมีกรอบหน้า ทั้งยังมีเวทีแบบเลื่อนบนราง (Wagon Stage) เพื่อความรวดเร็วในการเปลี่ยนฉาก ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นโรงภาพยนตร์ในปี 2496

ศาลาเฉลิมไทยมีบทบาทสำคัญในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 เพราะเป็นทั้งที่หลบภัยและโรงพยาบาลสำหรับผู้บาดเจ็บจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในขณะนั้น 

Location https://maps.app.goo.gl/LyYkHB4WwnVAwvMq5 



10. เวทีมวยราชดำเนิน เวทีมวยเพื่อราษฎร

เวทีมวยราชดำเนิน หรือสนามมวยราชดำเนิน มีความสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์กีฬามวยไทย เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมกีฬาของสามัญชนที่สำคัญที่สุด โดยถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อาคารแห่งนี้ก็คล้ายกับอาคารอื่นบนถนนราชดำเนินที่ถูกสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะต้องรอจนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดก่อนจึงจะมีการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ในกรณีของเวทีมวยราชดำเนินนี้ มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2484 แต่สร้างเสร็จในปี 2488 และเริ่มมีการแข่งขันครั้งแรก ในวันที่ 23 ธันวาคม ปีเดียวกัน

เดิมตัวอาคารจะเปิดโล่งกลางแจ้งไม่มีหลังคามุง แต่ด้วยความนิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเปิดใช้งาน ทำให้มีการสร้างหลังคาคลุมพื้นที่อาคารทั้งหมด ชาตรี ประกิตนนทการ เล่าว่า การสร้างหลังคาคลุมนี้เป็นแนวคิดใหม่มากในยุคนั้น เพราะกีฬามวยนิยมจัดเวทีกลางแจ้งมาตลอด ซึ่งสร้างหลังคาคลุมสนามมวย (ออกแบบเป็นหลังโดมคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่) ทำให้อาคารนี้กลายเป็นเวทีมวยที่ทันสมัยที่สุด จนกลายต้นแบบให้กับการสร้างสนามมวยในเวลาต่อมาอีกหลายแห่ง

ชาตรียังตั้งข้อสังเกตว่า เวทีมวยเวทีราชดำเนินคือหนึ่งตัวอย่างในตัวอย่างที่ชัดเจนของบรรดาโครงการก่อสร้างไว้สำหรับตอบสนองวิถีชีวิตและรูปแบบการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งเริ่มได้รับความสนใจและความสำคัญมากขึ้น “อย่างก้าวกระโดด” หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

Location https://maps.app.goo.gl/r4g9GYxRunamQ3Ki9 



Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด