มูมินคือรัก
มูมิน โทรลนุ่มนิ่มสีขาวนวลจากฟินแลนด์ที่รังสรรค์โดยตูเว ยานซอน (Tove Jansson) นั้น หากดูเผินๆ จะเห็นว่ามูมินและครอบครัวก็ดูจะเป็นตัวละครที่มีบทบาทชัดเจน แม่เป็นแม่ พ่อเป็นพ่อ ส่วนมูมินเองก็ดูจะเป็นลูกชายตัวป่วน แล้วจริงๆ ตัวละครต่างๆ ในหุบเขามูมินนั้นมีความเป็นหญิงชายตามขนบทั่วไปหรือไม่ พวกเรานักอ่านคงจะต้องเริ่มจากตัวนักเขียนอย่างตูเว
“ฉันตกหลุมรักใครสักคนเสมอ”
ตูเว ยานซอน
ตูเวมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมาแทบจะตลอดชีวิตของเธอ แต่สำหรับเธอนั้นไม่ว่าความสัมพันธ์จะเกิดกับหญิงหรือชาย เธอมองว่าการที่เธอได้รักนั้นสำคัญที่สุด หากมองย้อนกลับไป ตูเว มาริกา ยานซอน เกิดในปีค.ศ.1914 และมีอายุยืนยาวจนถึงค.ศ.2001 (86 ปี) เธอเติบโตมาในครอบครัวศิลปินที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ทั้งที่เฮลซิงกิ สต็ฮกโฮล์ม และปารีส ผลงานมูมินซึ่งเป็นชิ้นที่โด่งดังที่สุดของเธอเริ่มต้นขึ้นในช่วงปีค.ศ.1945 นั่นหมายความว่าเธอใช้ชีวิตผ่านทั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 รวมถึงสงครามเย็น ในช่วงที่ฟินแลนด์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย อยู่ในชุมชนผู้ที่พูดภาษาสวีเดนซึ่งเป็นคนหมู่น้อยในสังคมฟินแลนด์ และผ่านช่วงเวลาที่การมีวิถึทางเพศกับบุคคลเพศเดียวกันยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง เพราะฟินแลนด์ได้ยกเลิกกฎหมายการลงโทษบุคคลที่มีวิถึทางเพศกับบุคคลเพศเดียวกันในปีค.ศ. 1971 ความตึงเครียดของสงครามและสภาพทางสังคมในช่วงเวลาที่เธอมีชีวิตอยู่ได้ถูกถ่ายทอดอยู่ในตัวละคร เนื้อเรื่องและคำถามที่แฝงอยู่ในมูมินหลากหลายตอน
“มีหลายอย่างเลยที่เราหาที่ทางให้มันไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง หรือฤดูใบไม้ผลิ”
ทู ทิกกี้ จากเมืองมูมินกลางฤดูหนาว ค.ศ.1957
ทู ทิกกี้ คือตูลิกกิ เปียติแล่ะ (tuulikki pietilä) คู่ชีวิตของตูเวที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน ตัวละครแสนอบอุ่น สวมเสื้อสเวตเตอร์ลายทาง และหมวกไหมพรมประดับพู่เสมอ เธอคือตัวละครที่คอยสนับสนุนครอบครัวมูมิน มีมุมมองที่เป็นจริงต่อโลกใบนี้ ทู ทิกกี้เข้าใจถึงความไม่แน่นอนของโลกใบนี้ และมองว่านี่คือสิ่งที่แน่นอนที่สุด ในฤดูหนาวเมื่อทั้งมูมิน โทรลและทูทิกกี้อยู่ด้วยกัน บทสนทนาเกี่ยวกับการอยู่ในโลกที่ระบุไม่ได้แน่นอนว่าเราเป็นอะไรกันแน่ และแทนที่จะปรากฎตัวขึ้นในตอนกลางวัน กลับแสดงตนกันยามค่ำคืน เมื่อผู้คนต่างหลับไหลกันหมดแล้ว บทสนทนานี้ทั้งบริบทในฤดูหนาว อันหนาวเหน็บ อาจแสดงถึงความเย็นชาของโลกใบนี้ต่อกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายในยุคนั้น ทั้งการไม่มีที่ทางในฤดูใดๆ และการต้องหลบซ่อนก็สะท้อนถึงการไม่ยอมรับของสังคมเช่นเดียวกัน
ความหนาวและความแปลกแยกนี้ไม่ได้สะท้อนถึงแต่เฉพาะสถานะทางสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หากแต่ผลงานของเธอที่เป็นการ์ตูนช่องในยุคนั้นก็คืออีกความแปลกแยกหนึ่งในโลกธุรกิจวรรณกรรมที่ในช่วงแรกไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร และทู ทิกกี้ที่สนับสนุน ยืนอยู่ข้างๆ มูมิน โทรลไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ที่ตูเวไม่สามารถเขียนงานออกมาได้ในช่วงที่เขียนเมืองมูมินกลางฤดูหนาวนั้น คือการบอกโลกว่าความรักไม่ว่าจะแบบใด ก็คือความรัก เธอเองทำให้ความรัก ความห่วงหาอาทรของเพื่อนมนุษย์และคนรักไม่ว่าจะนิยามตนเองว่าเป็นเพศใดก็ตามเป็นปกติเสมอในเส้นเรื่องตามแบบฉบับจักรวาลมูมิน
ตูเวไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ของเธอและผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่ในเฉพาะมูมินเท่านั้น ‘Fair Play’ นิยายของเธอก็เล่าถึงการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบทั้งที่ยังต้องถกเถียงกันเป็นประเด็น การต้องหลบซ่อน ผ่านเรื่องเล่าของมารีและยอนน่า ซึ่งบทสนทนาของทั้งสองคนในเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันที่โรแมนติกบ้างไม่โรแมนติกบ้างมักจบลงที่การไม่มีบทสรุปที่ตายตัว ซึ่งก็สะท้อนความเป็นเควียร์ที่อยู่ในตัวตูเว หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวันจากองค์กร SETA ที่ทำงานด้านการรณรงค์สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องในฟินแลนด์
ไม่มีนิยามคือนิยาม
ตัวละครหลายตัวในมูมินเมื่อเราอ่านไป เราจะรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องไปหาเพศให้ หรือพวกเขาจะเป็นอะไรก็ได้ บางครั้งพวกเขาจะแสดงออกโดยไม่เป็นไปตามความคาดหวังของหญิงชายทั่วไปตามขนบ หรือพวกเขาจะอยู่ในโลกของตัวเอง สื่อสารด้วยวิธีเฉพาะแบบฉบับของตัวเอง พวกเขาก็ย่อมทำได้
ทิงกัมมี่ แอนด์ บ๊อบ (Thingumy and Bob) หรือในบทแปลภาษาไทยคือ ‘เจ้านั่น’ กับ ‘เจ้าโน่น’ ตัวละครเหมือนจะไร้ชื่อ พูดรู้เรื่องกันเองอยู่สองคน เป็นชื่อที่ตูเว และวิวกา (คนรักอีกคนของตูเวที่มีความสัมพันธ์กันไม่นาน แต่ทรงอิทธิพลต่องานของเธอ ซึ่งวิวิกานั้นที่สุดแล้วไม่สามารถทิ้งสามีมาอยู่กับตูเวได้) ใช้สื่อสารกันในจดหมาย ในยุคสมัยที่ความรักของคนทั้งสองเป็นเรื่องต้องห้าม แม้เมื่อแปลมาเป็นชื่อภาษาอังกฤษจะกลายเป็นชื่อผู้ชายจากการตีความของผู้แปลผู้อ่านทั่วไป แต่อันที่จริงชื่อทั้งสองในต้นฉบับภาษาสวีเดน Tofslan และ Vifsla นั้นเป็นชื่อเล่นที่ใช้กับผู้หญิงทั่วไป
เฮมูเลน (hemulen) ที่ดูยังไงก็มีความหลากหลายในตนเอง แต่แต่งกายด้วยชุดกระโปรงที่เขาได้รับมาจากคุณป้าเสมอ แม้จะดูแปลกแต่เฮมูเลนก็ไม่ดูแปลกแยกเลยในเรื่องราวของครอบครัวมูมิน
หมาน้อย พิมเพิล (pimple) ที่ปรากฎอยู่ในคนรับใช้ของมูมินมาม่า (1956) ว่าด้วยเรื่องราวของหมาที่เป็นของมิซาเบล คนรับใช้ในบ้านมูมินที่ไม่ชอบหมาด้วยกันแต่ชอบแมวมากกว่า ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นความลับที่น่าอาย มูมินมาม่าจึงช่วยทาลายทางให้หมาอีกตัวเพื่อที่พิมเพิลจะได้พบกับคนที่เขาจะเป็นเพื่อนได้พร้อมกับได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่
โลกของมูมิน โดยเฉพาะมูมินในรูปแบบของการ์ตูนช่องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบทสนทนาและคำถามที่ไม่ต้องรอคอยข้อสรุปมากมายคือความเควียร์ที่ซ่อนอยู่ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจจากตัวตนของตูเว ที่พยายามบอกว่า รักคือรัก จะแบบไหนก็คือรัก และบทความนี้่ก็ขออุทิศให้รักทุกแบบที่คือความรักเหมือนกันหมด ดังที่ตูเวเองก็พยายามทำมาโดยตลอดในผลงานทุกเรื่องของเธอ
References: