Young Pride Club
เขียน


ณ วันที่เราจรดมือเขียนบทความนี้คือวันที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลงมติรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 3 ซึ่งจะเหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ การประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกษาภายใน 120 วัน เท่ากับประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีสมรสเท่าเทียม

ท่ามกลางธารข่าวสารในโลกออนไลน์ที่นำเสนอข่าวนี้ ซึ่งมันเป็น “วาระแห่งชาติ” จริงๆ นอกจากคอมเมนต์แสดงความยินดี กลับมีคอมเมนต์ “แทงสวน” กลับจากชาวเน็ตบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก อาทิ

“ต่อไปคงมีกฎหมายให้คนกับสัตว์จดทะเบียนสมรสได้ เลอะเทอะหมดแล้วทุกสถาบัน”

“สังคมวิปริตวิตถาร”

“จากนี้ไปความเป็นชาติไทยก็จะเริ่มสูญหาย”

“แค่นี้อัตราการเกิดยังน้อยไม่พอหรือไง สงสัยเราต้องนำเขาแรงงานเพิ่มขึ้นแน่นอน”

“เอาให้สุด หยุดที่ล่มสลาย”

“HIV จะมีมากขึ้น”

“ในทางสังคม ทิศทางการดำเนินไปของประเทศ “ไม่เห็นด้วย” ครับ ประโยชน์และโทษแตกต่างกันชัดเจน”

แม้แต่วาทกรรมระหว่างการอภิปรายแปรญัตติของ วรพงศ์ สง่าเนตร อดีตสมาชิกวุฒิสภาที่กลายเป็นไวรัลอย่างร้อนแรงมากๆ ว่า “การแก้กฎหมายแบบนี้ ไม่ได้เป็นการยกระดับ LGBT ให้ขึ้นมาเท่าเทียมกับเพศชาย-เพศหญิง แต่เป็นการกดเพศชาย-เพศหญิง ลงไปให้เท่ากับ LGBT”

ถึงแม้การผลักดันสิทธิเพื่อความเท่าเทียมกำลังเป็นไปในเชิงบวก แต่ถ้าทัศนคติเหล่านี้ยังไม่หายไปจากสังคมไทย ในฐานะที่ Young Pride Club เป็นองค์กรเยาวชนที่ก่อตั้งโดยอดีตนักศึกษา เน้นทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราเลยอยากชวนคุณไปดูปรากฏการณ์การถกเถียงประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของผู้มีความเกลียดกลัวเพศหลากหลายและคนข้ามเพศ ในพื้นที่สำคัญอย่าง “รั้วมหาวิทยาลัย” ทั้ง “Homophobia” และ “Transphobia” ซึ่งเป็นหนึ่งภาพสะท้อนฉากทัศน์ความเท่าเทียมทางเพศในไทยได้อย่างชัดเจน


กระแสต่อต้านจากอังกฤษ

เมื่อมองกลับไปในประวัติศาสตร์ของเพศหลากหลายไม่ว่าจะชาติไหนชนไหนแล้ว สิทธิ LGBTQ+ มันจะถูกคุกคามอยู่เสมอ แม้แต่ประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และมีการรับรองตัวตนคนข้ามเพศทางกฎหมายมาอย่างยาวนานอย่างประเทศอังกฤษ ปัญหาสิทธิคนข้ามเพศ หรือทรานส์ ในมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักรช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังคงเป็นเรื่องใหญ่ทั้งการเมืองและสังคม

มหาวิทยาลัยในอังกฤษกลายเป็นสมรภูมิสำหรับการถกเถียงเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศ ความขัดแย้งสำคัญเกิดขึ้นจากมุมมองเรื่องเพศที่แตกต่างกัน นักวิชาการบางกลุ่มที่วิจารณ์ถึงการมีตัวตนของคนข้ามเพศ โดยมักมองว่า ในสังคมนั้นมีเพศสองเพศ และไม่ได้มีการแยกเพศสรีระกับเพศภาวะ จากกระแสต่อต้านดังกล่าวส่งผลให้ กลุ่มนักศึกษา ภาคประชาสังคม และคนข้ามเพศ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในพื้นที่ทางการศึกษา และนำไปสู่การรณรงค์ การประท้วง หรือแม้แต่มีการสืบสวนอย่างเป็นทางการต่อนักวิชาการในแนวคิดดังกล่าว

ตัวอย่างที่สำคัญคือมหาวิทยาลัย Sussex ศาสตราจารย์ Kathleen Stock ลาออกหลังจากแรงกดดันอันรุนแรงจากนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ หลังเธอได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเป็น Transphobia เนื่องจากเธอข้อโต้แย้งการยอมรับ “อัตลักษณ์ทางเพศ” หรือ “เพศวิถี” ที่แตกต่างจากเพศกำเนิดของบุคคลข้ามเพศ กระทั่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดก็ได้มีการเชิญวิทยากรที่มีแนวคิดทำนองเดียวกันมาร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัย จนกลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ และเกิดการอภิปรายอย่างดุเดือดในรั้วมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก

แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่ก็มีความก้าวหน้า มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ออกนโยบายเพื่อสนับสนุนนักศึกษาข้ามเพศ เช่น การอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อในเอกสารการเรียน และจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่แบ่งแยกเพศ อย่างไรก็ตาม Stonewall องค์กรด้านสิทธิ LGBTQ+ อังกฤษ รายงานว่ามหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้พบการกระทำที่มีการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ Imperial College London, University of Aberdeen, University of Huddersfield, Brunel University, Sheffield Hallam University, Leeds Beckett University, London Business School, Robert Gordon University และ University of Plymouth

การดำเนินการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในวงกว้างภายในมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งนักศึกษาและพันธมิตรร่วมผลักดันให้ได้รับการยอมรับและสิทธิสำหรับชุมชนคนข้ามเพศมากขึ้น แม้ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากหลากฝ่าย


ย้อนกลับมาที่สังคมไทย

การต่อต้านการเหยียดคนข้ามเพศและเพศหลากหลายในไทยนั้นมีมานานแล้ว อาจเป็นผลพวงจากการที่แนวคิดสตรีนิยม (Feminism) แพร่หลายในไทยราวๆ ปี 2540 จนเริ่มมีการเรียกร้องสิทธิ์ของ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เป็นวงกว้าง และยังรวมถึงการมาของชุดอักษร “LGBT” ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ อันนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นกว้างขวางก็ตาม 

แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันที

ปี 2553 นก-ยลดา (เกริกก้อง) สวนยศ เคยนำเสนอแนวคิด “ผู้หญิงข้ามเพศ” ในรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย โดยในรายการมีการถกเถียงร่วมกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ปรากฏว่าหลังรายการออกอากาศ เธอถูกกระแสสังคมต่อต้านบนโลกออนไลน์ผ่านกระทู้บนหน้าเว็บไซต์พันทิปดอทคอม มีคอมเมนต์ด่าทอทั้งตัวเธอและอัตลักษณ์ที่สังคมยังไม่ยอมรับของเธอ เช่น

“รู้แต่ว่า ถ้าพวกคุณนกได้ใช้ นาง นางสาว เมื่อไหร่ ดิชั้นก็จะไปประท้วงเหมือนกัน ผู้หญิงแท้ที่มีรังไข่ และมดลูก ไม่ยอมมมมมมมม”

“คนอะไร กำพืดตัวเองเพศไหนยังไม่รู้ ศักดิ์แต่ทำตัวเป็นคนมีความรู้ แถมยังชอบแก้ตัวน้ำขุ่นๆ แถไปเรื่อย”

“ถ้าพวกคุณนกได้ นส. เมื่อไหร่ แล้วผู้หญิงสันถึกอย่างเราใครเค้าจะแยกออก T^T ไม่ยอมที่สุดๆๆๆ”

“ไม่เห็นด้วยกับการให้สาวประเภทสองมาใช้ นาง หรือ นางสาว นะครับ ผมว่าสังคมคงวุ่นวายพิลึก ุและมันไม่แฟร์กับผู้หญิงแท้ๆ อีกด้วย”

“ทุกวันนี้ประชาชนเริ่มเปิดรับมากขึ้นเกี่ยวกับผู้หญิงข้ามเพศ ไม่ได้เกิดความรังเกียจอะไรมากมายอย่างสมัยก่อน เพราะฉะนั้น อย่าได้คืบจะเอาศอกได้มั้ยครับ”

นี่คือส่วนหนึ่งที่พอจะบ่งบอกได้ว่า เพียงเพราะคำอย่าง “ผู้หญิงข้ามเพศ” และจุดยืนของนก ได้สะท้อนภาพความเกลียดกลัวเพศหลากหลายและคนข้ามเพศอย่างชัดเจนมาก ทั้งยังทำให้ทัศนคติการเกลียดกลัวคนข้ามเพศเป็นสิ่งที่เราเห็นได้อย่างประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น


รั้วมหาวิทยาลัยไทย

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน แม้การยอมรับและการปกป้องสิทธิของชุมชน LGBTIQ+ มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด แต่ความท้าทายที่สำคัญยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน “การศึกษา” 

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศบัญญติขึ้นเพื่อปกป้องบุคคลจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ UNDP ในปี 2019 มีเพียงร้อยละ 44 ของกลุ่มที่เป็น LGBTIQ+ ตระหนักรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ ขณะที่เกินกว่าคริ่งของกลุ่มชายหญิงรักต่างเพศที่ร่วมตอบแบบสํารวจทราบว่ามีกฎหมายฉบับนี้

จากการจัดทำรายงานโดยกลุ่มยังไพรด์คลับ “สายรุ้งในมหาวิทยาลัย สายรุ้งในรั้วมหาวิทยาลัย: คู่มือเพื่อการศึกษาที่เป็นมิตรและโอบรับทุกอัตลักษณ์ทางเพศ” ข้อค้นพบสำคัญจากการสัมภาษณ์เยาวชนและนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิ LGBTIQ+ และสิทธิเยาวชน คือ “อคติทางเพศ” “อาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ และแนวคิดสองเพศ” ที่ปฏิเสธการยอมรับตัวตนคนข้ามเพศนั้น มีผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ของนักศึกษา LGBTIQ+ พวกเขามักเผชิญกับการรังแก ข่มขู่ และล้อเลียน ซึ่งนำไปสู่การลาออกหรือผลการเรียนที่แย่ลง บางคนหันไปใช้สารเสพติดหรือประสบปัญหาทางจิตใจอย่างโรคซึมเศร้า

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังคงยึดติดกับแนวคิดสองเพศ ทั้งในรูปแบบของการแต่งกาย ห้องน้ำ หอพัก หรือแม้แต่คำระบุที่ใช้เรียกในห้องเรียนและเอกสารทางการศึกษา สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเหยียดเพศและความรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อจิตใจระยะยาว นอกจากนี้ ระบบร้องเรียนและกลไกการคุ้มครองสิทธิในมหาวิทยาลัยยังไม่ตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้นโยบายทางการศึกษาหรือกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยไทยที่ครอบคลุมถึงนักศึกษาข้ามเพศ ยังเป็นการจัดทำแบบ “tokenism” หรือความพยายามในการใช้ภาพตัวแตกของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชายขอบแบบผิวเผิน เพื่อ “สร้างภาพความเท่าเทียม” 

หลากมหาวิทยาลัยริเริ่มโครงการสนับสนุนสิทธิ LGBTIQ+ โดยอ้างว่าสนับสนุนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ บ้างอ้างว่าเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งความจริงแล้วความพยายามของมหาวิทยาลัยไทยเหล่านี้อาจจะเพื่อการรับการยอมรับในระดับสากล หรือได้รับอันดับมหาวิทยาลัยที่สูงขึ้น

ดังนั้นแล้ว การปรับปรุงนโยบายและการปฏิบัติจริงในมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและยอมรับความหลากหลายทางเพศ


สงครามที่ไม่รู้จบ (แต่มันน่าจะมีวันจบ)

มีข้อสังเกตจากคอมเมนต์ที่น่าสนใจมากผ่านกลุ่มคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่รวบรวมเหล่าชายแท้ หลังจากการที่สมรสเท่าเทียมผ่านวาระ 3 และเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายจริงได้อย่างช้าที่สุดคือ อีก 4 เดือนข้างหน้าว่ากลุ่มเพศหลากหลาย “เรียกร้องมากเกินไป” เพราะนักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศกำลังจะผลักดันพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ กฎหมายการขจัดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศในภาพใหญ่จริงๆ

คอมเมนต์จำพวกนี้ก็ไม่ได้ต่างจากที่คุณเห็นในหน้าฟีดหรอก ยกตัวอย่างเช่น

“เดี๋ยวก็จะมีเรียกร้องนั่นนี่อีก”

“อะไรก็ได้แหละครับ ขอแค่อย่ามาแข่งกีฬารวมก็พอ”

“เดี๋ยวก็จะเอาผ่าตัดแปลงเพศฟรี”

รวมถึงการตีตราถึงความพยายามในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศด้วยคำว่า “Woke” ท้ายที่สุดแล้วจากวิธีคิดชายเป็นพิษ หรือ Toxic Masculinity ที่เป็นผลมาจากระบอบปิตาธิปไตยที่ควบคุมเราไว้มาอย่างยาวนาน เราก็ต้องยอมรับว่าแนวคิดเหล่านี้จะยังไม่หายไปในสังคมง่ายๆ ต่อให้จะมีการบัญญัติศัพท์ใหม่เพื่อเอาไว้เรียกผู้ชายที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ แม้ในวันนี้ที่ความเหลื่อมล้ำเรื่องเพศค่อยๆ หายไปจากการเคลื่อนไหวทั้งของขบวนการเฟมินิสต์ และขบวนการเพศหลากหลายค่อยๆ มีบทบาทขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ


บทส่งท้าย

สุดท้ายนี้การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุดลง แม้ประเทศไทยหรือประเทศไหนๆ ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าการปฏิบัติตามกฎหมาย ทัศนคติของผู้ใช้กฎหมาย หรือแม้แต่คนในสังคม คนในรั้วมหาวิทยาลัย หรือในโลกออนไลน์ จะเห็นพ้องไปตามการรับรองทางกฎหมาย

แม้สิ่งที่เรายังคงยึดมั่นอยู่นั้นคือ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มาจากกลุ่มชายขอบ มีตำแหน่งวิชาการ หรือมีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ควรจะแสดงออกความเห็นได้ แต่จากคำกล่าวของกลุ่ม Stonewall ในอังกฤษได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นน่าสนใจว่า “เสรีภาพในการแสดงออกและการทำงานกับ EDI หรือด้านความเสมอภาค ความหลากหลาย และการไม่แบ่งแยก ของมหาวิทยาลัย นั้นไม่ควรเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องการันตีว่านักศึกษาและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะรู้สึกมีตัวตนและแสดงออกได้อย่างอิสระในมหาวิทยาลัย นโยบายเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ควรเป็นไปทางที่กลุ่มคนข้ามเพศต้องได้รับการความเคารพด้วยเช่นกัน”




อ้างอิง

-บทความนี้อ้างอิงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานวิจัย “สายรุ้งในมหาวิทยาลัย สายรุ้งในรั้วมหาวิทยาลัย: คู่มือเพื่อการศึกษาที่เป็นมิตรและโอบรับทุกอัตลักษณ์ทางเพศ” โดยสามารถลงทะเบียนความสนใจเพื่อดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://forms.gle/x8gdj5XQY6BBHDzU8 

-วู้ดดี้เกิดมาคุย ออกอากาศวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 (Woody World)

– บทความวิชาการ: วาทกรรมทางการแพทย์เกี่ยวกับกะเทยในสังคมไทย โดย วัชรวุฒิ ซื่อสัตย์ และ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร เผยแพร่ในโครงการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทยครั้งที่ 34 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

– ไขเรื่องราวเบื้องหลังกำเนิดเพลง ‘เกลียดตุ๊ด’ จากปาก ‘โอ๋ ซีเปีย’ เจ้าของเพลง, The People (https://www.youtube.com/watch?v=_ESQTwJBoTg

– คุณนก ยลดา ผู้หญิงข้ามเพศ ผมเกลียดคุณ, พันทิปดอทคอม (https://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2010/03/A8933214/A8933214.html

– เฟมทวิต: สถาบันพระปกเกล้า (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95

 –https://www.telegraph.co.uk/news/2024/01/15/gender-critical-academics-universities-labelled-transphobic/ 

https://www.theguardian.com/education/2018/oct/30/uk-universities-struggle-to-deal-with-toxic-trans-rights-row 

https://socialistalternative.info/2023/12/05/ucl-students-walk-out-against-misogyny-and-transphobia/

-UNDP. (2019). Tolerance but not Inclusion: A national survey on experiences of discrimination and social attitudes towards LGBT people in Thailand. Bangkok: UNDP.

Author

Young Pride Club
Young Pride Club เยาวชนเพื่อความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ