รัฐธรรมนูญคือข้อกำหนดสถานะทางอำนาจของสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ในสังคม โดยรัฐธรรมนูญในสังคมไทยเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากเรื่องใดที่เป็นข้อถกเถียงทางการเมืองแสดงว่าเรื่องนั้นยังเป็นเรื่องที่ยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ในสังคม ยังไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่ทุกคนจะยอมรับร่วมกัน และเมื่อดูตามประวัติศาสตร์ของไทยที่ผ่านมาแล้วจะพบว่ารัฐธรรมนูญไม่เคยเป็นสิ่งศักดิสิทธิ์เลย หากรัฐธรรมนูญศักดิสิทธิ์จริงประเทศไทยคงไม่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญโดยเฉลี่ยทุก 4.25 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 

ทั้งนี้อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์เคยให้คำอธิบายสาเหตุที่รัฐธรรมนูญของไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ ในบทความชื่อ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปี 2534

“ข้อกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมหนึ่ง ๆ นั้น ไม่ได้เกิดจากใครเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลและสถาบันต่าง ๆ ในสังคมนั้น ได้ต่อสู่ช่วงชิงและรักษาสถานะแห่งอำนาจของตนมาเป็นเวลานานจนทำให้เกิดการยอมรับกันในระดับหนึ่ง กลายเป็น …. วัฒนธรรมทางการเมือง ….. วัฒนธรรมทางการเมืองนี่แหละ ที่เป็นข้อกำหนดสูงสุดจริง ๆ ในเรื่องสัมพันธภาพทางอำนาจ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของรัฐ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉีกไม่ออกไม่ว่าจะใช้รถหุ้มเกราะสักกี่คันก็ไม่สามารถฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้….”

นิธิ (2557, น. 115-116)

กล่าวคือความไม่ศักดิสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้หมายความว่าการเมืองไทยไร้ซึ่งระเบียบข้อตกลงเป็นอนาธิปไตย แต่ระเบียบสถานะทางอำนาจในสังคมไทยถูกกำหนดโดย “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ที่เป็นข้อบังคับอันไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่เป็นที่รู้กันในหมู่ของชนชั้นนำ รวมถึงในสังคมไทย(?)

อย่างไรก็ตามข้อเขียนของอาจารย์นิธิไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ตอบคำถามว่าทำไมกฎหมายรัฐธรรมนูญในสังคมไทยถึงถูกฉีกทิ้งเป็นว่าเล่น แต่ต้องการจะสำรวจว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยมีระบุเรื่องอะไรไว้บ้าง บทความ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” จึงไม่ได้มีคุณค่าในฐานะชุดคำอธิบายปรากฎการณ์ที่ระบอบรัฐธรรมนูญของไทยยังล้มลุกคลุกคลาน (จนถึงปัจจุบัน) เท่านั้น  แต่ช่วยเปิดเผยเนื้อหากฎกติกาที่แท้จริงในเกมการเมืองไทยด้วย

ทั้งนี้อาจารย์นิธิไม่ได้มอง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ด้วยสายตาชาตินิยมแบบชนชั้นนำ ไม่ได้มองว่ากติกาการเมืองไทยมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ต้องอนุรักษ์ไว้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เหมือนตะวันตก แต่อาจารย์นิธิพยายามพิจารณากติกาการเมืองไทยด้วยมุมมองแบบวิพากษ์ เนื่องจากกติกาการเมืองในระบบวัฒนธรรมไทยนั้นไม่ได้ร่างให้ “บุคคลมีสถานะเท่าเทียมกัน”

โดย “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” กล่าวถึงสถาบันทางการเมืองจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น สถาบันกษัตริย์ สถาบันพระพุทธศาสนา อำนาจและการคานอำนาจ กองทัพ สส. กฎหมาย รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามในข้อเขียนชิ้นนี้จะกล่าวถึงเพียงเรื่องของ อำนาจและการคานอำนาจเท่านั้น

เมื่อพูดถึงการคานอำนาจ รัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยมักจะกำหนดให้มีการคานอำนาจของรัฐผ่านการสร้างสมดุลของ 3 สถาบันหลัก คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ในบางกรณีรัฐธรรมนูญได้ตั้งองค์กรอิสระ หรือเพิ่มตำแหน่งแต่งตั้งในสถาบันนิติบัญญัติ เพื่อคานอำนาจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยกลับไม่ได้กล่าวถึงการคานอำนาจด้วยบนฐาน 3 สถาบันดังกล่าว แต่พูดถึงการคาน “อำนาจ” ด้วย “ศีลธรรม” และ “อิทธิพล”

 ในสังคมไทย อำนาจทางโลกและอำนาจทางธรรมมักจะเป็นสิ่งเดียวกัน หากผู้ครอบครองอำนาจรัฐส่วนกลางเป็นผู้ที่มีศีลธรรม จะเป็นผู้ที่มีอำนาจการปกครองที่มั่นคง แต่หากไร้ซึ่งศีลธรรม จะนำมาซึ่งการท้าทายทางอำนาจจากกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ศีลธรรมที่นำมาซึ่งอำนาจไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมจริง ๆ แต่ต้องยึดถือศีลธรรมเป็นอาการภายนอกโดยไม่ต้องยึดถือศีลธรรมเป็นเนื้อหาสาระ กล่าวคือ ต้องเป็นคนที่มีศีลธรรมในพื้นที่สาธารณะ แต่จะเป็นคนไม่มีศีลธรรมบ้างในพื้นที่ส่วนตัวก็ไม่เป็นไร แค่อย่าอื้อฉาวมากเกินไป

อย่างไรก็ตามถึงผู้ปกครองจะมีคุณธรรมมากเท่าไหร่อำนาจของรัฐก็ไม่สามารถแผ่ไปปกครองดูแลหรือข่มเหงราษฎรได้ในครบทุกพื้นที่ทุกปริมณฑล เนื่องจากในบางพื้นที่ประชากรได้สร้างอิทธิพลขึ้นมาเพื่อปกครองดูแลตนเอง หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งอิทธิพลนั้นก็คืออำนาจที่ไม่ได้มาจากรัฐส่วนกลาง ไม่มีกฎหมายและประเพณีรองรับ โดยตัวอย่างของอิทธิพลที่สำคัญได้แก่ ผู้มีอิทธิพลบ้านนอก นักเลงท้องที่ กองทัพ สส.

ในฐานะของประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองของ “อำนาจ” และ “อิทธิพล” อาจจะมองว่าสองอย่างนี้เป็นอำนาจที่ขัดแย้งและถ่วงดุลกัน โดยหากประชาชนเดือดร้อนจากอิทธิพลก็อาจจะเรียกหาให้อำนาจมาช่วยจัดการอิทธิพลได้ เช่น เรียกให้ตำรวจมาช่วยจัดการผู้มีอิทธิพล ในขณะเดียวกันหากประชาชนเดือดร้อนจากอำนาจก็สามารถเรียกร้องให้อิทธิพลมาคุ้มครองจากอำนาจได้ เช่น วิ่งเต้นหา สส. เมื่อมีคดี

แต่ในทางปฏิบัติแล้วทั้งอำนาจและอิทธิพลต่างประนีประนอมกัน โดยแทนที่รัฐส่วนกลางจะปราบปรามอำนาจนอกภาครัฐให้เด็ดขาด แต่รัฐส่วนกลางเลือกที่จะดึงอำนาจนอกภาครัฐเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งนักเลงท้องถิ่นให้เป็นขุนนาง หรือดึงตระกูลใหญ่ที่มีอิทธิพลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำ

กล่าวคือ นักเลงท้องถิ่น และ อาการภายนอกของศีลธรรม คือสิ่งที่ผู้ปกครองต้องดีลให้ได้เพื่อทำให้อำนาจของผู้ปกครองยังอยู่ต่อไป

“ทั้งสองอย่างเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย … ผู้ที่ยึดอำนาจบ้านเมืองไว้ได้แต่ละครั้งก็มักจะปราบนักเลงที่ไม่ใช่พวกตน แล้วสนับสนุนสร้างเครือข่ายของสายตัวขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันก็ประณามบุคคลที่ตัวแย่งอำนาจเขามาได้ว่าไร้ศีลธรรม แม้ว่าผู้แย่งอำนาจก็ปฏิบัติตนไม่แตกต่างไปจากผู้เสียอำนาจก็ตาม … “อิทธิพล” และความหน้าไหว้หลังหลอกทางศีลธรรมไม่ใช่สิ่งที่คนไทยรังเกียจ นักเลงจริงจริงก็ดีแล้วช่วยคุ้มครองเราได้ และมีศีลธรรมอย่างหน้าไหว้หลังหลอกก็ยังดีกว่าปรามาสล่วงละเมิดกฏทางศีลธรรมอย่างไม่ยี่หระ”

นิธิ (2557, น. 131)

ผ่านมาสามสิบกว่าปี นับตั้งแต่ข้อเขียนนี้ของอาจารย์นิธิตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2534 ความสัมพันธ์ระหว่าง “อำนาจ” “ศีลธรรม” และ “อิทธิพล” ยังเป็นแบบเดิมอยู่หรือไม่? ผู้ยึดถือศีลธรรมแบบหน้าไหว้หลังหลอกยังเป็นผู้มีอำนาจรัฐอยู่หรือไม่? และระบบการเมืองของไทยยังเป็นการคานกันระหว่างอำนาจและอิทธิพลอยู่หรือไม่?

หากกระดานทางการเมืองยังคงเป็นแบบที่อาจารย์นิธิวิเคราะห์ไว้เมื่อ 30 ปีไม่เปลี่ยนแปลง ใครคือ “ผู้มีอำนาจ”? ใครคือ “ผู้มีอิทธิพล”? ที่ต่างยังคงเล่มเกมการเมืองศีลธรรมจอมปลอม ใช้ศีลธรรมเป็นประเด็นทางการเมืองล้มอำนาจเพื่อตั้งเครือข่ายของตัวเองขึ้นมามีอำนาจ และศีลธรรมจอมปลอมนั้นคือเรื่องอะไร?

นอกจากนี้ในทางการเมืองสังคมไทยยังยอมรับต่อ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ฉบับเดิมอยู่หรือไม่?

มีเพียงผู้อ่านเท่านั้นที่อาจตอบได้



อ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2557). ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์. พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพฯ : มติชน




ผู้เขียน

กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์
เรียนด้านเศรษฐกิจ แต่สนใจด้านสังคมและการเมือง 
อยากสร้างโลกที่เป็นธรรม แต่ไม่อยากสุงสิงกับผู้คน

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด