ปี 1963 Grigoris Lambrakis นักการเมืองฝ่ายซ้ายชาวกรีกถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจ ขณะที่บรรดานายพลพยายามบอกว่าการตายของเขาเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุเท่านั้น แต่ผู้คนก็ไม่หลงเชื่อ พากันประท้วงความโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้น และพ่นกราฟฟิตี้เพื่อบอกว่า แม้ร่างกายของ Lambrakis จะจบไป แต่จิตวิญญาณของเขายังมีชีวิตอยู่ ด้วยตัวอักษร ‘Z’
ปี 1967 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและตัวอักษร Z กลายเป็นนวนิยายการเมืองที่เขียนโดย Vassilis Vassilikos ในชื่อเดียวกัน ต่อมา Costa-Gavras ผู้กำกับชาวกรีก-ฝรั่งเศส ก็ได้นำเรื่องราวนั้นและตัวอักษร Z มาถ่ายทอดผ่านศิลปะภาพยนตร์ให้สาธารณชนในปี 1969
ใครคือ Costa-Gavras ภาพยนตร์เรื่อง Z และเหตุการณ์ในเรื่องสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านในการเมืองกรีกอย่างไร ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้บรรยายไว้อย่างละเอียดแล้วที่ Doc Club & Pub เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา
Costa-Gavras คือใคร?
ปิยบุตรเริ่มร่ายประวัติของ Costa-Gavras ว่า ชื่อจริงของเขาคือ Konstantinos Gavras เกิดที่ประเทศกรีซ แต่เนื่องจากพ่อเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง มีวิธีคิดแบบคอมมิวนิสต์ และต่อต้านระบบกษัตริย์ ส่งผลให้การเรียนต่อที่กรีซของ Costa-Gavras ไปต่อได้ยาก สุดท้ายจึงเลือกย้ายไปอยู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับสัญชาติในภายหลัง Costa-Gavras จึงเป็นทั้งคนฝรั่งเศส (franco) และคนกรีก (hellenic) ในเวลาเดียวกัน
เมื่อตอนข้ามมาประเทศฝรั่งเศส Costa-Gavras เลือกลงทะเบียนเรียนปริญญาตรีอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส หรือ ‘Sorbonne’ ซึ่งขณะนั้นเป็นย่านที่มีหอภาพยนตร์ฝรั่งเศสตั้งอยู่ ทำให้เขามีโอกาสไปดูภาพยนตร์จนเกิดความคิดอยากริเริ่มสร้างหนังของตัวเอง โดยหนังเรื่องหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาคือ Greed กำกับโดย Erich von Stroheim
หลังจากนั้น Costa-Gavras ไปสมัครเรียนภาพยนตร์ที่สถาบันการศึกษาชั้นสูงด้านภาพยนตร์ (IDHEC) จนทำให้มีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ
ครั้งหนึ่งเขาได้ไปช่วย René Clément กำกับเรื่อง Le jour et l’heure (1963) ภาพยนตร์ที่เปิดโอกาสให้เขาได้พบสุภาพสตรีชื่อ Simone Signoret ผู้เป็นภรรยาของ Yves Montand คนที่จะกลายเป็นเพื่อนสนิทและพระเอกคู่บุญของในเวลาต่อมาของเขา
ปิยบุตรยังไล่เรียงผลงานเกือบทั้ง 20 เรื่องของ Costa-Gavras เพื่อตั้งข้อสังเกต 3 ประการ
1) งานของ Costa-Gavras มักจะเอาหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนิยายหรืออัตชีวประวัติ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองมาสร้างเป็นภาพยนตร์ กล่าวคือ “สารตั้งต้นของเขามาจากหนังสือที่คนบันทึกไว้ก่อน” นั่นเอง
2) หนังของ Costa-Gavras จะสะท้อนสถานการณ์การเมืองในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการพิจารณาในศาล เรื่องความยุติธรรม เรื่องสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรม การต่อต้านนาซี การวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารไม่ว่าจะฝ่ายซ้ายหรือขวา การวิจารณ์สหรัฐอเมริกาที่ชอบแทรกแซงกิจการรัฐอื่น หรือการทำเรื่องของคนถูกบังคับให้ลี้ภัย กระทั่งผลงานช่วงท้ายๆ (ผลงานลำดับที่ 17-20) ก็เป็นหนังที่พูดถึงระบบเศรษฐกิจที่อิงแอบกับลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมใหม่
3) Costa-Gavras เป็นคนทำหนังไวมาก กล่าวคือ อ่านหนังสือเสร็จแล้วถูกใจ ก็เขียนบทและกำกับทันที ดูได้จากช่วงเวลาที่หนังสือออกกับช่วงที่หนังฉายจะมีความใกล้เคียงกันมาก ปิยบุตรจึงตั้งข้อสังเกตว่า Costa-Gavras เป็นนักอ่าน ที่พออ่านอะไรตรงกับใจและเห็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ก็จะมาสื่อสารผ่านหนังทันที
ภาพยนตร์การเมืองยังไม่มีในประเทศไทย
ด้วยความที่ผลงานของ Costa-Gavras แสดงออกชัดเจนว่าเป็นหนังเกี่ยวกับการเมือง ทำให้เมื่อมองกลับมาเปรียบเทียบประเทศไทย ปิยบุตรเห็นว่า หนังการเมืองในไทยแทบจะไม่ปรากฏอยู่เลย ที่มีอยู่ก็เพียงแค่แอบแทรกไว้ไม่กี่นาที ไม่ก็พูดถึงเรื่องอื่นแต่เอาประวัติศาสตร์การเมืองซ่อนเป็นฉากอยู่ข้างหลังเหมือนหนังเรื่อง Blue Again หรือซีรีส์เรื่อง Delete ทั้งๆ ที่เรื่องการเมืองมีให้เล่าเยอะมาก โดยเฉพาะ 15-20 ปีหลัง หนังที่เล่าเรื่องการเมืองล้วนๆ เท่าที่ปิยบุตรเห็นจะมีแต่เรื่อง ‘14 ตุลา สงครามประชาชน’ ที่ทำมาจากหนังสือ ‘คนล่าจันทร์’ ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
เมื่อเทียบกับกรณี Costa-Gavras ปิยบุตรชี้ว่า การไม่มีหนังการเมืองมิได้เกิดจากการที่ผู้กำกับทำตัวเป็นนักประวัติศาสตร์ไปค้นคว้า หรืออยู่ร่วมเหตุการณ์ แต่มาจากการมีตัวบทเขียนไว้ก่อน จากนั้นจึงหยิบมาปรับเขียนบทเพื่อทำหนัง ซึ่งในประเทศไทยหนังสือการเมืองยังมีน้อย ไม่ว่าจะทั้งบันทึกอัตชีวประวัติทางการเมือง หรือบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองอยู่ร่วมสมัย
อีกสองปัญหาต่อมาที่ปิยบุตรเห็นว่าส่งผลให้ประเทศไทยมีหนังการเมืองน้อยคือ การปราศจากเสรีภาพในการแสดงออก และที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำหนังคือการไม่มีใครให้ทุนสร้าง
‘Z’ ของ Costa-Gavras
สำหรับเหตุการณ์ที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Z ของ Costa-Gavras เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของสส. ชื่อ Grigoris Lambrakis ผู้เป็นทั้งแพทย์และอาจารย์คณะแพทย์ (ทำให้ในเรื่องไม่เรียกเขาด้วยชื่อ แต่เรียกว่า ‘ด็อกเตอร์’ แทน) ทั้งยังเคยเป็นนักกีฬาโอลิมปิก ซึ่งปิยบุตรเห็นว่า การเลือก Yves Montand มาแสดงเป็นเขานับว่าสมน้ำสมน้ำสมเนื้ออย่างมาก
สำหรับตัวอักษร Z เป็นพยัญชนะตัวที่ 6 ในภาษากรีก มาจากคำว่า Ζει แปลว่า ‘เขายังมีชีวิตอยู่’ ดังที่ตอนจบของเรื่องแสดงขึ้นมา คือตอนที่ Lambrakis ถูกลอบสังหาร จนเป็นชนวนให้มีการประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านการฆาตกรรมทางการเมือง และมีคนไปพ่นสัญลักษณ์ Z เพื่อบอกว่า ‘เขายังไม่ตาย’
ปิยบุตรเล่าว่า หนังเรื่องนี้ก็ประสบปัญหาเรื่องเงินเช่นกัน ตอนแรกมีบริษัทหนึ่งสัญญาว่าจะให้ทุนสร้างจำนวน 1 ล้านฟรังก์ จากนั้น Costa-Gavras ก็ชวน Jorge Semprún มาร่วมเขียนบท (ตอนนั้นหนังสือยังมีแค่ฉบับพากษ์ภาษากรีซ ไม่มีแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ Costa-Gavras อยากทำถึงขนาดอ่านแปลกรีซเป็นฝรั่งเศสให้ Jorge ฟัง) เมื่อ Yves Montand ได้อ่านบทที่เขียนเสร็จแล้วเกิดชอบเลยขอมาแสดงด้วย จากนั้นก็ได้ Jean-Louis Trintignant มารับบทเป็นผู้พิพากษา
ต่อมาปรากฏว่าบริษัทที่จะให้เงินในตอนแรกกลับลำไม่ให้ทุนสร้างแล้ว เป็นเหตุให้ต้องวิ่งเต้นหาทุนกันยกใหญ่ กระทั่งหลังถูกปฏิเสธเรื่อยมา ศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติของฝรั่งเศสก็มอบทุนสร้างให้ แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมาก (Costa-Gavras กล่าวว่าได้แค่ 1 ใน 10 ส่วนที่ตั้งไว้) สุดท้ายเพื่อให้โครงการนี้กลายเป็นจริง Yves Montand กับ Jean-Louis Trintignant ก็ตัดสินใจไม่รับค่าตัว จนต่อมาอยู่ดีๆ หอภาพยนตร์แอลจีเรียก็ให้ทุนสร้างเพิ่ม ซึ่งปิยบุตรเห็นว่า การให้ทุนของแอลจีเรียมีความเป็นการเมืองแทรกอยู่แน่นอน เพราะแอลจีเรียเป็นคู่แค้นของประเทศฝรั่งเศส
สิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่งคือสาเหตุที่ Yves Montand กับ Jean-Louis Trintignant ตัดสินใจไม่รับค่าตัว โดยปิยบุตรชี้ว่า หากเราไปดูวิธีคิดทางการเมืองสองคนนี้ก็มีความออกซ้ายเหมือนกัน เพราะช่วงทศวรรษ 60-70 ศิลปินต่างมีสำนึกทางการเมืองของตนเองมาก และพร้อมที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อแสดงออกทางการเมือง
ในส่วนของการถ่ายทำ ก็เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองไม่น้อย เพราะแม้เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับกรีซ แต่เนื่องจากกรีซยังเป็นเผด็จการทหารอยู่ การขออนุญาตถ่ายทำจึงไม่มีทางขอถ่ายได้ ท้ายที่สุดก็จำเป็นต้องไปถ่ายที่กรุงปารีสและกรุง Algiers เมืองหลวงของแอลจีเรีย
ปิยบุตรยังเล่าถึงข้อมูลที่น่าทึ่งอีกอันหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าวคือ การทำเพลงประกอบของนักดนตรีชื่อดัง Mikis Theodorakis เกิดขึ้นภายใต้การคุมขังของทหารทั้งหมด เพราะ Theodorakis เป็นผู้ร่วมขบวนการกับ Lambrakis พอ Lambrakis เสียชีวิตเขาก็ตั้งกลุ่ม Youth-Lambrakis เพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาล สุดท้ายพอเกิดรัฐประหารโดยทหาร Theodorakis ก็โดนจับขัง (Theodorakis ไม่ได้ดูหนังเรื่องที่เขาทำเพลงประกอบนี้เลย ต้องรอจนออกคุกและลี้ภัยไปฝรั่งเศสจึงได้ดู)
ส่วนฉากแรกของหนังก็มีข้อความที่ตรงไปตรงมาปรากฏขึ้น “ทุกๆ อย่างที่รวมอยู่ในภาพยนตร์ เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริง คนที่ตายและคนที่รอด ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันเกิดจากความตั้งใจทั้งนั้น” ต่างจากปกติที่คนทำหนังการเมืองมักจะขึ้นข้อความทำนองว่า เรื่องนี้หากชื่อที่อยู่ไปตรงกับใครถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญ
ข้อสังเกตสุดท้ายเกี่ยวกับตัวหนังที่ปิยบุตรชวนดู คือในหนังเรื่องนี้ แม้จะเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองของกรีซ แต่ไม่มีคำว่ากรีซปรากฏออกมาเลย จะมีแต่แบบที่แอบซ่อนไว้ เช่น เครื่องบิน Olympic Airlines ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของประเทศกรีซ หรือขวดเบียร์ยี่ห้อ Fix ซึ่งเป็นเบียร์ของประเทศกรีซ
กรีซกับการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย
ปิยบุตรเริ่มเท้าความก่อนว่า ด้วยความที่กรีซเป็นประเทศที่ต่างชาติชอบมายึด จึงเป็นธรรมดาที่จะมีขบวนการซ้าย และขบวนการชาตินิยม ที่ต้องการปลดแอดประเทศตัวเองให้เป็นอิสระภาพ ดังนั้นพอสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด กลุ่มการเมืองเหล่านี้ก็จะออกมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปใช้อำนาจรัฐผ่านการเป็นรัฐบาล ทั้งนี้ เดิมที กลุ่มการเมืองของกรีซสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้ว คือขบวนการฝ่ายซ้าย กลุ่มทหารฝ่ายขวา และสถาบันกษัตริย์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง เป็นช่วงที่กรีซพยายามเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย โดยการมีรัฐธรรมนูญ 1952 อย่างไรก็ดี ปิยุบตรอธิบายว่า รัฐธรรมนูญกรีซ 1952 ก็คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ 2521 ของไทย ที่แม้จะมีรัฐธรรมและการเลือกตั้งก็จริง แต่ทหารก็ยังแอบคุมอำนาจอยู่ ส่วนสถาบันกษัตริย์ก็มีอำนาจแทรกแซงทางกันเมือง ดังนั้นพอมีเลือกตั้งก็เกิดการแทรกแซง
รัฐธรรมนูญ 1952 ได้นำพากรีซก็ไปสู่นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ Konstantinos Karamanlis นักการเมืองขวากลางและอดีตรัฐมนตรีแรงงาน โดยในฐานะนายกฯ Karamanlis สามารถทำผลงานได้ดี ทำให้พรรคการเมืองของเขาได้รับความนิยมและกลับมาเป็นรัฐบาลอีก
ปรากฏว่า Karamanlis เกิดไปทะเลาะกับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะกับพระราชินี Frederica ที่ชอบยุ่งเรื่องทางการเมือง และใช้จ่ายเงินไปในการไปต่างประเทศเยอะ ซึ่งฝ่าย Karamanlis ได้มีการคัดค้านการใช้เงินนี้ จนนานวันเข้าเกิดความตึงเครียดกัน ขณะที่ฟากขบวนการฝ่ายซ้ายก็ต่อสู้เรียกร้องไม่ให้เอากองทัพประเทศอื่นมาตั้งฐานทัพในกรีซด้วยในเวลาเดียวกัน
ปิยบุตรยกตัวอย่าง Lambrakis ที่เป็นนักการเมืองฝ่ายซ้าย ก็วิ่งมาราธอนรณรงค์สันติภาพ ไม่เอาอาวุธ ไม่เอากองกำลังต่างชาติ ในปี 1963 จนเป็นเหตุให้โดนจับ แต่โชคดีทีมีเอกสิทธิ์สส. เลยรอด แต่ก็ยังโดนห้ามรณรงค์
สำหรับตัวราชินี Frederica มีครั้งหนึ่งได้บินไปอังกฤษเพื่อร่วมงานแต่งงานของชนชั้นสูงอังกฤษ ทำให้บรรดาฝ่ายซ้ายเหล่านี้บินตามไปรณรงค์ด้วย เพราะอังกฤษมีเสรีภาพมากกว่ากรีซ เมื่อถึงจังหวะที่ Frederica ปรากฏตัว พวกเขาก็ชูป้ายประท้วงทันที ปิยบุตรเล่าว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ Frederica โมโหมาก และโจมตีรัฐบาลอังกฤษว่าไม่ดูแลความเรียบร้อยให้ดี
สำหรับการลอบสังหาร Lambiskra ตามที่ปรากฏในเรื่องนั้น เป็นการพูดที่ Thessaloniki เพื่อรณรงค์สันติภาพ โดยหลังเกิดเหตุการณ์ รัฐบาล Karamanlis ก็รู้ว่าฝ่ายซ้ายจะเอาเรื่องนี้มาใช้เป็นกระแสอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นตามที่คาดจริง เพราะการเลือกตั้งรอบใหม่คะแนนของ Karamanlis ลดลง ขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายสามารถขึ้นมาชนะพรรคของเขาไปได้ 6 ที่นั่ง
เมื่อฝ่ายซ้ายเกิดชนะขึ้นมา พระมหากษัตริย์กรีซก็ไม่รู้จะทำอย่างไร Karamanlis จึงแนะนำให้กษัตริย์ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ให้เหตุผลว่าเมื่อมีเสียงต่างกันไม่มาก ใครเป็นนายกฯ ก็บริหารไม่ได้ แต่พรรคฝ่ายซ้ายก็สู้กลับด้วยการบอกว่า จะยุบสภาไม่ได้ เพราะตนได้ที่ 1 ต้องได้เป็นรัฐบาล สุดท้าย Georgios Papandreou จึงได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐบาลฝ่ายซ้ายในที่สุด
อย่างไรก็ดี หลัง Georgios Papandreou เป็นนายกได้สักพักหนึ่ง ก็เกิดข่าวลือว่ามีกลุ่มกองกำลังเป็นทหารฝ่ายซ้ายซ่อนตัวอยู่ในกองทัพ ชื่อ ‘ASPIDA’ หรือ ‘คณะนายทหารผู้พิทักษ์ปิตุภูมิตามอุดมคติประชาธิปไตยและระบบคุณธรรม’ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันให้ Papandreou ปลดรัฐมนตรีกลาโหมออก
แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เพราะต่อมา แม้ Papandreou จะปลกรัฐมนตรีกลาโหมออกแล้ว แต่เขากลับพยายามตั้งให้ตัวเองดำรงตำแหน่งแทน พระมหากษัตริย์ก็คัดค้านอีกเพราะ Andreas Papandreou ลูกของเขา กำลังถูกสงสัยว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม ASPIDA
เมื่อเกิดสภาพการณ์เช่นนี้ Georgios Papandreou จึงลาออกจากตำแหน่ง และแถลงข่าวว่า พระมหากษัตริย์ยุ่งการเมือง
กระนั้น พระมหากษัตริย์ก็ไม่เลือกยุบสภา เพราะกลัวเลือกตั้งใหม่แล้วฝ่ายซ้ายได้ที่นั่งมากกว่าเดิม พระมหากษัตริย์กลับเลือกใช้วิธีตั้งนายกฯ ใหม่ แล้วดึงเอาสส. ของพรรค Papandreou มาบางส่วน ประคองมาเรื่อยๆ จนสภาอยู่ครบวาระ ถึงจะมีจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แนวโน้มฝ่ายซ้ายกำลังมา สุดท้ายจึงจบด้วยการรัฐประหาร ในวันที่ 21 เมษายน 1967 หรือที่เรียกกันว่า ‘รัฐประหารโดยคณะนายพัน’
พอรัฐประหารเกิดขึ้น พระมหากษัตริย์ Paul Constantine II แทนที่จะต่อต้าน กลับไปรับรองการรัฐประหาร เพื่อตกลงแบ่งอำนาจ ปรากฏว่าทหารไม่เอาด้วย ตั้งพวกของตนเองในตำแหน่งสำคัญหมด จนสุดท้ายพระมหากษัตริย์เลือกรัฐประหารซ้อน แต่กลับล้มเหลว ทำให้ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และไม่ได้กลับกรีซในฐานะกษัตริย์อีกเลย
สำหรับผู้พิพากษาในเรื่องที่แสดงโดย Jean-Louis Trintignant ก็มีตัวตนอยู่จริงๆ โดยในการรัฐประหารปี 67 เขาโดนปลดจากผู้พิพากษา และถูกเอาไปขังคุก ก่อนที่ต่อมาเขาจะกลายเป็นนักการเมืองพรรคฝ่ายซ้ายกลาง และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกรีซในท้ายที่สุด
ปิยบุตรสรุปว่า เมื่อมองย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ มันย่อมเป็นชนวนหนึ่งของการรัฐประหาร 67 เพราะมันกระตุ้นคนให้ออกมาต่อต้านระบบการเมืองของประเทศ ขณะเดียวกันพอมีวิกฤติที่เสียงฝ่ายซ้ายฝ่ายขวามีพอๆ กัน ซ้ำร้ายพระมหากษัตริย์ยังลงมาแทรกการเมือง สุดท้ายด้วยข้อกังวลว่าฝ่ายซ้ายจะกลับมาได้เสียงมากจึงเกิดรัฐประหารตัดหน้าขึ้น
ปิยบุตรเล่าทิ้งท้ายถึงสาเหตุที่รัฐประหารของกรีซอยู่ได้ไม่นาน (รัฐประหารปี 1967 สิ้นสุดปี 1974) ว่าเกิดจากเปลี่ยนแปลงในทวีปยุโรป ที่แทบจะไม่เหลือการปกครองแบบเผด็จการทหารแล้ว โดยมีแค่สเปน โปรตุเกส กรีซ เป็น 3 ประเทศสุดท้าย จากนั้นก็เกิดเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไล่เลี่ยกัน คือช่วงปี 1973-1974
ปิยบุตรยังชี้ให้เห็นการลบล้างผลพวงรัฐประหารในกรีซ ที่หลังจากความชอบธรรมของเผด็จการทหารหมดลงจากการปราบปรามการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ Athens Polytechnic ในปี 1973 (ว่ากันว่าการชุมนุมนี้มีการอ้างถึงการชุมนุมในไทยปี 2516 ด้วย) และการพ่ายแพ้ต่อตุรกีในพื้นที่ไซปรัส จนเป็นเหตุให้ Karamanlis ถูกตามกลับจากการลี้ภัยให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดการประกาศให้คำสั่งทุกอันของทหารตลอดการปกครองของเผด็จการทหารเป็นโมฆะทั้งหมด และมีการจับทหารมาดำเนินคดีภายใต้ 3 ข้อหาหลัก ได้แก่ 1.การรัฐประหาร 1967 2. การสลายการชุมนุมปี 1973 3. การทรมานทารุณกรรมผู้คนมาตลอดการปกครอง 7 ปี