แรงงานคือผู้สร้างประชาธิปไตย (Without Workers, We wouldn’t have democracy) บทสัมภาษณ์ Evelyne Huber
ต้นฉบับบทความจาก Jacobin Magazine
แปล จักรพล ผลลออ
หากเราย้อนพิจารณาสภาพของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าอาจทำให้เรารู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้าได้ง่ายๆ ทั้ง การขึ้นมาครองอำนาจของผู้นำแบบ ประธานาธิบกดีโบลโซนาโร แห่งบราซิล, ประธานาธิปดีทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา, ประธานาธิปดีเออร์โดกันในตุรกี หรือ วิกโตร์ โอร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ฯลฯ เพราะบรรดาผู้นำทางการเมืองเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ของการรื้อฟื้นระบอบอำนาจนิยมและแสดงให้เห็นความถดถอยของระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์การถดถอยของระบอบประชาธิปไตยนี้ เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าประชาธิปไตยแบบมวลชนเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร
ในงานเขียนเรื่อง Capitalist Development and Democracy ที่เผยแพร่ออกมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 อันเป็นงานเขียนของนักวิชาการสามท่าน (Evelyne Huber, John Stephens and Dietrich Rueschemeyer) ได้นำเสนอผลการศึกษากรณีตัวอย่างของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 20 ผ่านบริบทของประเทศต่างๆ ในสามพื้นที่ คือ ยุโรป, อเมริกาเหนือ และ ละตินอเมริกา สิ่งที่งานชิ้นนี้นำเสนอต่อเราไม่ใช่การสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นแบบดาษดื่น แต่นำเสนอว่าระบบทุนนิยมเป็นปัจจัยที่ส่งผลสำคัญต่อการขยายตัวและสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะลักษณะธรรมชาติที่ระบบทุนนิยมสามารถไปได้ดีกับรัฐบาลที่ได้รับความนิยม แต่เป็นเพราะตัวตัวระบบทุนนิยมเองนั้นมันแตกหักกับโครงสร้างอำนาจตามจารีตและเปิดโอกาสให้เกิดองค์กรจัดตั้งของชนชั้นแรงงานในปริมาณที่มากขึ้น และเข้มแข็งยิ่งขึ้น
Evelyne Huber และคณะ ให้ความสนใจอย่างมากในประเด็นการกระจายอำนาจทั้งในแง่ของการกระจายอำนาจภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศ ที่ส่งผลต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งในแง่บวกและแง่ลบ งานชิ้นนี้เสนอว่ากรณีที่ประเทศหนึ่งตกอยู่ภายใต้กระแสของระเบียบทางการเมืองโลก ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปการเมืองในประเทศนี้มีโอกาสที่จะถูกบ่อนทำลายลงจากการแทรกแซงของตัวแสดงทางการเมืองที่ทรงพลังจากภายนอกประเทศ หรือหากประเทศหนึ่งมีเงื่อนไขที่ภายในประเทศไม่มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง และขาดการพัฒนา ในกรณีที่ดีที่สุดประเทศนี้มักจะจบชะตาลงด้วยการมีระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ และในบรรดาประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงนั้นต้นสายปลายเหตุของความไม่มั่นคงนี้ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องด้านวัฒนธรรมประชาธิปไตย หากแต่มักจจะเกิดจาก “กลุ่มอำนาจของชนชั้นนำ” หรือจากคนส่วนน้อย ที่บ่อนทำลายความสามารถของ “กลุ่มพลังที่ถูกปกครอง” และเบียดขับคนกลุ่มนี้ออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง
งานเขียนเล่มนี้จึงเป็นข้อเขียนอันทรงพลังในการโต้แย้งต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งงานเขียนชิ้นนี้ยังเสนอข้อเสนออันสำคัญยิ่ง ตามคำของผู้เขียนหนังสือคือ “ชนชั้นแรงงานเป็นกลุ่มพลังสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่แน่วแน่มั่นคงที่สุด”
ในบทความชิ้นนี้ Shawn Gude บรรณาธิการของ Jacobin ได้สัมภาษณ์ Evelyne Huber ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโลไรนา และหนึ่งในผู้เขียนหนังสือที่เรากล่าวถึงข้างต้น
Shawn Gude : ขอเริ่มต้นด้วยคำถามแรก เกี่ยวกับคำว่า “ประชาธิปไตย” เลยนะครับ คำว่า “ประชาธิปไตย” เนี่ยเป็นคำที่เรามักจะได้ยินมันบ่อยๆ แต่ว่าความหมายขอองมันก็แตกต่างกันไปตามความคิดและมุมมองของแต่ละบุคคล และในงานเรื่อง Capitalist Development and Democracy ที่คุณและคณะร่วมกันเขียนก็มีท่อนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของพวกเราคือการที่ระบแบประชาธิปไตยจะต้องสถาปนาตัวเองอยู่เหนืออำนาจอื่น” ในแง่นี้เองเราอยากให่คุณช่วยอธิบายขยายความประโยคที่ว่านี้หน่อย และเรื่องนี้มันส่งอิทธิพลต่อวิถีทางการศึกษาระบอบประชาธิปไตยของคุณอย่างไร?
Evelyne Huber : ความหมายของระบอบประชาธิปไตย หากจะพูดถึงมันอย่างง่ายที่สุดก็ด้วยการเปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ เมื่อนั้นเราก็จะเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่มีการกระจายอำนาจทางการเมืองออกไป เป็นระบอบที่มุ่งหน้าไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง และมุ่งหน้าไปสู่หลักการเรื่อง หนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์เสียงทางการเมือง ที่จะทำให้ผลลัพธ์ทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้
บรรดาชนชั้นสูงในระบอบเผด็จการนั้นมักจะไม่ยินยอมสละอำนาจทางการเมืองที่ตนเองถือครองผูกขาดเอาไว้โดยสมัครใจ ชนชั้นปกครองพวกนี้จะยินยอมสละอำนาจก็ต่อเมื่อถูกบีบบังคับโดยกลุ่มคนที่ถูกเบียดขับออกไป หรือกลุ่มคนที่ไร้อำนาจทางการเมือง ดังนั้นเองเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “กลุ่มอำนาจของชนชั้นนำ” เพื่อทำความเข้าใจและมองเห็นโอกาสสำหรับการปักะงประชาธิปไตยและประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง กลุ่มอำนาจของชนชั้นนำที่เราให้ความสนใจคือความสัมพันธ์ทางอำนาจในพื้นประชาสังคม มันคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประชาสังคม กับ รัฐ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กับ ระบบการปกครองของรัฐ
สมดุลทางอำนาจภายในพื้นที่ประชาสังคมเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับการจัดสรรอำนาจของกลุ่มผู้ถูกกปกครอง ขณะที่อำนาจของระบบระหว่างประเทศ ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นจะเป็นสิ่งที่ขัดเกลาโครงสร้างทางชนชั้น รวมถึงพันธมิตรทางชนชั้นภายในประเทศ ตลอดจนก่อให้เกิดแรงกดดันจากภายนอกด้วย
ลองพิจารณาตัวอย่างจากประเทศแถบละตินอเมริกา ตำแหน่งแห่งที่ของละตินอเมริกาในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นอยู่ในฐานะของพื้นที่ผลิตและส่งออกวัตถุดิบการผลิตขั้นต้น ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดจากการด้อยพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และนั่นตามมาด้วยเพดานที่จำกัดขนาดและความเข้มแข็งของชนชั้นแรงงานในประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ละตินอเมริกายังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองจากสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ดำเนินการต่อต้านขบวนการประชาธิปไตยในละตินอเมริกาอย่างแข็งขัน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองใดๆก็ตามที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ-สังคมในละตินอเมริกาล้วนแล้วแต่ถูกแปะป้ายให้กลายเป็น “ขบวนการคอมมิวนิสต์” ทั้งสิ้น และบรรดาขบวนการหรือกลุ่มพลังทางการเมืองที่ต่อต้านขบวนการปฏิรูปนี้ล้วนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
กระบวนการต่อต้านประชาธิปไตยในละตินอเมริกานั้นเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1954 ในการก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้ม คาโคโบ อาร์เบนซ์ ผู้นำกัวเตมาลา อาเบนซ์นั้นเป็นประธานาธิบดีคนที่สองในระบอบประชาธิปไตยของกัวเตมาลา ที่พยายามดำเนินนโยบายการปฏิรูปที่ดินอันส่งผลกระทบต่อกิจการของบริษัท United Fruit Company ซึ่งเจ้าของบริษัทนี้นำเรื่องที่เกิดขึ้นไปขยายในสหรัฐอเมริกาโดยโจมตีว่าอาเบนซ์เป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ซีไอเอ ได้เริ่มต้นจัดตั้งและอนุมัติงบประมาณสนับสนุนกองกำลังภายใต้การนำของ คาร์ลอส แคสเทลิโอ อาร์มาส ให้ก่อการรัฐประหารในกัวเตมาลา และต่อมาอาร์มาสก็ได้กลายไปเป็นผู้นำเผด็จการคนแรกๆ ในแถบละตินอเมริกา
การรัฐประหารในกัวเตมาลาถือเป็นตัวแบบเริ่มต้นก่อนที่จะตามมาด้วยการแทรกแซงในรูปแบบเดียวกัน เช่น การแทรกแซงทางการเมืองในสาธารณรัฐโดมินิกัน ในปี ค.ศ. 1965, การรัฐประหารในชิลี ปี ค.ศ. 1973 และ สงครามคอนทราในนิการากัว ช่วงทศวรรษที่ 1980 ตลอดช่วงสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาดำเนินการแทรกแซงทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จและเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่อนทำลาย หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือเพื่อโค่นล้ม รัฐบาลที่มีแนวทางปฏิรูป หรือแนวทางก้าวหน้าในละตินอเมริกา แม้ว่าบรรดารัฐบาลเหล่านั้นจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยก็ตาม
Shawn Gude : โอเค ในปัจจุบันนี้มีการพยายามสร้างภาพจำให้เรามองว่าชนชั้นแรงงานนั้นเป็นกลุ่มพลังที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและพร้อมกันนั้นก็สร้างความเข้าใจว่าบรรดาคนร่ำรวยและคนที่มีการศึกษาสูงคือกลุ่มคนที่คอยปกป้องระบอบประชาธิปไตย ซึ่งภาพจำแบบนี้ก็ดูจะขัดแย้งกันกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ทีนี้คุณพอจะเล่าให้เราฟังได้ไหมว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนกลุ่มไหนกันแน่คือกลุ่มที่กระตือรือร้นในการสร้างและปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่สุด?
Evelyne Huber : ตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยมวลชนในยุโรปและอเมริกาเหนือคือองค์กรจัดตั้งของแรงงาน โดยการสร้างพันธมิตรกับบรรดาชาวนารายย่อย หรือกลุ่มชนชั้นกลางบางส่วน แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ ขณะที่ในละตินอเมริกากลุ่มคนที่มีบทบาทสูงมากในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือกลุ่มชนชั้นกลาง หากแต่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้จะได้มาก็ต่อเมื่อมีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเข้าร่วม
ในช่วงคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สามในละตินอเมริกา องค์กรจัดตั้งของชนชั้นแรงงานไม่ได้เป็นตัวแสดงบทบาทนำในการต่อสู้ เนื่องจากองค์กรสหภาพแรงงานในละตินอเมริกาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและ “การปรับโครงสร้าง” ที่นำไปสู่นโยบายถอนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรวมถึงมาตรการรัดเข็มขัด แต่ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการต่อสู้ที่เกิดขึ้นนั้นก็เนื่องมาจากการที่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมได้บ่อนทำลายตัวเองลงด้วย (ตัวอย่างเช่น ในกรณีของอาร์เจนตินา) และอีกส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากแรงกดดันจากหลายกลุ่มพลังในสังคม ทั้งจากกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มคนยากจนและคนชายขอบ ตลอดจนกลุ่มชนชั้นกลาง
ส่วนในเอเชีย ประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ เป็นกรณีตัวอย่างของข้อเสนอที่กล่าวไป คือขบวนการต่อสู้ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องประชาธิปไตยเนื่องจากมีองค์กรจัดตั้งของชนชั้นแรงงานที่เข้มแข็งเข้าร่วมการต่อสู้ บริบทของไต้หวันและเกาหลีใต้ที่คุณจะพบก็คือ มันมีเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจที่ได้รับการพัฒนา, มีการตั้งสหภาพแรงงาน และมีการเดินขบวนประท้วงของสหภาพแรงงานที่นำไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาหลีใต้คุณจะเห็นเลยว่าประเทศนี้มีประชาสังคมที่เข้มแข็งมาก และประชาสังคมเหล่านี้นี่แหละที่คอยปปกป้องรักษาระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย
ทีนี้หากเราย้อนมามองประเทศแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาร่าในปัจจุบัน ปมปัญหาของวันนี้ก็คือการที่ประเทศเหล่านี้ขาดการพัฒนาและดังนั้นเองมันจึงตามมาด้วยการขาดพัฒนาการความเข้มแข็งของประชาสังคม ขณะที่ปมปัญหาอื่นๆก็คือหลายประเทศในภูมิภาคนี้มีประเด็นปัญหาเรื่องการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์และสีผิว และการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวตลอดจนพรรคการเมืองที่จัดวางรากฐานตัวเองอยู่บนประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งนี่ไม่ใช่ประเด็นที่เหมาะสมกับการขยายตัวหรือสร้างประชาธิปไตยเลย.
Shawn Gude : เมื่อเรากล่าวว่าชนชั้นแรงงานเป็นกลุ่มชนชั้นที่จะสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเห็นได้ชัดอย่างยากจะปฏิเสธว่าพวกเขาจะเข้าร่วมการต่อสู้อย่างพร้อมเพรียง คำถามก็คือแล้วในบริบทของประเทศที่กลายไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าแล้ว บรรดาองค์กรจัดตั้งทางการเมืองของกลุ่มผู้ถูกปกครอง อย่าง สหภาพแรงงาน, พรรคการเมือง หรือองค์กรจัดตั้งอื่นๆ จะมีบทบาทอะไรบ้าง?
Evelyne Huber : ปัจจัยสำคัญในการกำหนดบทบาทเรื่องนี้คือโครงสร้างทางสังคมของผลประโยชน์ทางชนชั้น สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจประการแรกก็คือการที่คนกลุ่มหนึ่งมีตำแหน่งแห่งที่อยู่จุดเดียวกันในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมีผลประโยชน์ร่วมกันและจะร่วมมือกันจัดตั้งองค์กรทางการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์นั้น จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญจริงๆ คือตัวแสดงนำทางการเมืองที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนมวลชนมหาศาลของชนชั้นแรงงาน
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ หากเราพิจารณาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาย่อมเห็นว่า ในประเทศใดที่ตัวแสดงนำทางการเมืองคือพรรคสังคมประชาธิปไตย และกลุ่มสหภาพแรงงานที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับพรรค ในประเทศเหล่านี้ขบวนการต่อสู้ย่อมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขณะที่หากตัวแสดงนำทางการเมืองคือกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงานสายอนาธิปไตย พวกเขาย่อมมีแนวโน้มไม่เข้าร่วมการต่อสู้ และหากว่าตัวแสดงนำทางการเมืองนี้เป็นผู้นำสายประชานิยม พวกเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องสนับสนุนหรือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่อาจจะหันไปให้ความสนใจกับการสร้างฐานอำนาจของตนเอง และโฟกัสกับหารรักษาอำนาจ แม้ว่าจะอยู่ในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม
Shawn Gude : คุณและคณะได้นำเสนอเอาไว้ในงานโดยโยงเอาการอุบัติขึ้นของระบอบประชาธิปไตยเข้ากกับการอุบัติขึ้นของระบบทุนนิยม แต่พร้อมกันนั้นก็ยืนยันว่ามโนทัศน์กระแสหลักที่เชื่อว่าระบบทุนนิยมตลาดเสรีกับระบอบประชาธิปไตยคือสิ่งเดียวกันคือมุมมองที่ผิดในระดับเชิงประจักษ์ คำถามก็คือในทางประวัติศาสตร์แล้วอะไรคือสิ่งที่เชื่อมโยงระบบทุนนิยมเข้ากับระบอบประชาธิปไตย?
Evelyne Huber : จุดเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ก็คือการที่ระบบทุนนิยมได้นำพากระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรมและกระบวนการกลายเป็นเมือง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ได้เอื้ออำนวยและสนับสนุนให่เกิดกลุ่มพลังชั้นรองทางสังคมและองค์กรจัดตั้ง ซึ่งองค์กรจัดตั้งเหล่านี้คือแหล่งที่มาของอำนาจ อันที่จริงต้องกล่าวว่ามันเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจของบรรดาผผู้ที่ปราศจากอำนาจทางเศรษฐกิจ (คนยากจน)
ในสังคมแบบศักดินายุคก่อนระบบทุนนิยม ผู้คนกระจายตัวกันอยู่เป็นกลุ่มคนในภาคเกษตรกรรมตามชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาวนาที่ตำแหน่งแห่งที่สังคมของพวกเขาขึ้นตรงอยู่กับเจ้าผู้ครองที่ดิน เป็นกลุ่มคนที่ประสบความยากลำบากและอุปสรรคในการจัดตั้งรวมตัว ขณะที่กลุ่มคนที่กลายมาเป็นแรงงานรับจ้างซึ่งทำงานอยู่ร่วมกันในโรงงาน หรือในเหมือง หรือในงานก่อสร้างทางรถไฟ สามารถเข้าสู่เงื่อนไขการรวมตัวจัดตั้งองค์กรทางการเมืองได้ง่ายกว่า และนั้นทำให้พวกเขาสามารถยกระดับความรับรู้ของตนเองในทางเศรษฐกิจสังคม จนนำไปสู่การหาหนทางที่เป็นไปได้เพื่อยกระดับตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มตนเองขึ้น
ขณะที่ผลพวงอื่นๆ จากการเข้ามาของระบบทุนนิยมและกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรมก็คือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของแรงงานในชนบทกับกลุ่มเจ้าที่ดิน ผลของมันทำให้กลุ่มเจ้าที่ดินในชนบทอ่อนแอลงอย่างมากในทางเศรษฐกิจและนั่นตามมาด้วยความอ่อนแอในทางการเมือง ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของเจ้าที่ดินกลับกลายมาอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพาแรงงานรับจ้างราคาถูก และพยายามกีดขวางการขยายตัวของระบอบประชาธิปไตย แต่พร้อมกันนั้นกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรมได้สร้างทางเลือกใหม่ให้แก่บรรดาแรงงานรับจ้างในชนบท นั่นคือหนทางในการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง
กระบวนการทำให้กลายเป็นเมือง หรือการขยายตัวของเมืองก็มีส่วนช่วยอำนวยให้เกิดการรวมตัวและรวมกลุ่มของบรรดาชนชั้นกลางในกลุ่มผู้ทำงานฝีมือ งานด้านวัฒนธรรม และบรรดานักปรัชญาเมธี อย่างไรก็ตามฉันยังคงยืนยันตามคำเดิมที่เคยกล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าสิ่งสำคัญในทางการเมืองก็คือการพิจารณาว่าใครที่เป็นตัวแสดงนำทางการเมืองที่เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรทางการเมืองและขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมือง
ในเวลาเดียวกันนั้น การย้ายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเมืองจากกการทำเกษตรกรรมไปสู่การทำอุตสาหกรรม, การค้า และการเงิน ก็ก่อให้เกิดกลุ่มชนชั้นนำใหม่ที่เข้ามาต่อสู้แข่งขันแย่งชิงอำนาจกับกลุ่มชนชั้นนำเก่าที่เป็นเจ้าครองที่ดิน แน่นอนว่าพัฒนาการของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและการจับกลุ่มเป็นพันธมิตรทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำใหม่กับชนชั้นนำเก่าย่อมจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ในหลายๆ ประเทศชนชั้นนำใหม่และชนชั้นนำเก่าหันมาสร้างพันธมิตรและสมประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ดีปัจจัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือมันทำให้อำนาจปกครองเบ็ดเสร็จเหนือกลุ่มแรงงานชนบทจำนวนมหาศาลได้ลดน้อยถอยลง และนั่นคือเป็นเงื่อนไขขั้นต้นที่เปิดทางให้กับการเติบโตของระบอบประชาธิปไตย.
Shawn Gude : ย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน โลกกำลังตกอยู่ในสภาวะขวาหันที่ฝ่ายขวาและกลุ่มขวาจัดกำลังเข้ามาครองอำนาจรัฐมากขึ้น และระบอบประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ก็กำลังเผชิญหน้ากับการถูกกร่อนเซาะบ่อนทำลาย คุณมีความเห็นอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้?
Evelyne Huber : สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ในด้านหนึ่งมันเกิดจากการขยายตัวของมุมมองการแบ่งแยกระหว่าง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ในกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งมันเป็นผลมาจากความถดถอยของความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างองค์กรจัดตั้งของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน ซึ่งนี่ทำให้ “ผู้แพ้” ในระบบมีแนวโน้มจะหันเหเทใจไปให้กับกลุ่มฝ่ายขวาประชานิยม
องค์กรสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสหภาพแรงงานที่เชื่อมร้อยตัวเองเข้ากับพรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานะขององค์กรที่ต่อสู้และสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเรื่อยมา ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดความเป็นอุตสาหกรรม ที่ทำให้จำนวนของสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง และนั่นย่อมตามมาด้อยความอ่อนแอของสหภาพแรงงาน
ดังนั้นเองสหภาพแรงงานจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการแบกรับภารกิจการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานได้อย่างเต็มความสามารถเหมือนในยุคสมัยก่อนหน้านี้ได้อีก ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือในตลาดแรงงานของกลุ่มแรงงานเสี่ยงภายใต้ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้นั้นก็อยู่ในสถานการณ์ที่พรักพร้อมแก่การขับเคลื่อนตามผู้นำฝ่ายขวาประชานิยมที่ชูประเด็นเรื่องการเมืองอัตลักษณ์ และเสนอเรื่องความร่วมมือร่วมใจกัน (แบบผิดๆ) เพื่อให้ “เราร่วมมือกันต่อสู้ศัตรู” พร้อมกับมอบคำสัญญาว่าฝ่ายขวาประชานิยมจะนำชีวิตที่ดีกว่าเดิมมาให้มวลชน.
Shawn Gude : ปัจจุบันนี้เราก็ยังเห็นว่ามีประเทศอีกมากมายเลย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกที่สามที่ยังคงอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือในหลายประเทศกลับต้องเผชิญหน้ากับการย้อนกลับไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ทั้งๆ ที่ในประเทศเหล่านี้ก็มีกลุ่มชนชั้นแรงงานจำนวนมหาศาลที่อาจจะเรียกได้ว่าเติบโตที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาแล้ว คุณคิดว่าเราจะวาดความหวังถึงอนาคตระบอบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้อย่างไร?
Evelyne Huber : ในสังคมยุคหลังอุตสาหกรรมชนชั้นแรงงานอยู่ในสภาวะที่ถูกย่อยสลายให้กระจายตัวเป็นหน่วยย่อยเล็กลงเรื่อยๆ กระทั่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจนอกระบบก็ทำให้เกิดกลุ่มคนใหม่ๆ ที่กระจัดกระจายและยากต่อการรวมตัวจัดตั้ง องค์กรสหภาพแรงงานตกอยู่ในห้วงเวลาถดถอยในทุกหนทุกแห่ง พรรคการเมืองของชนชั้นแรงงานตามแนวทางรูปแบบเดิมๆ กำลังสูญเสียคะแนนนิยมและฐานเสียงลงเรื่อยๆ ในสังคมยุคหลังอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามเรายังคงเห็นว่ามันมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ที่ขยับเข้ามาต่อสู้ชดเชยและทดแทนได้ในห้วงเวลาที่สหภาพแรงงานอยู่ในสภาวะถดถอย ดังนั้นภารกิจและหน้าที่ของพวกเราก็คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม ให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและพรรคการเมือง (ในรูปแบบใหม่) ที่ต้องมีพันธะสัญญาในการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยและความเท่าเทียม นี่คือหนทางที่จะช่วยฟื้นฟูและสร้างอนาคตใหม่ให้แก่ระบอบประชาธิปไตย