(Why Marxism isn’t dead (Because Capitalism isn’t dead): The case for Cooperative Socialism) โดย Bob Stone อ่านต้นฉบับ ที่นี่
แปล จักรพล ผลละออ
ทำไมลัทธิมาร์กซิสม์ (Marxism) ยังไม่ยอมตาย หรือสลายหายไป? นี่คือคำถามใหญ่ที่มักจะถูกยกขึ้นมาพูดคุย ถกเถียง และค้นหาคำตอบกันอยู่บ่อยครั้ง จากบรรดากลุ่มผู้ต่อต้านลัทธิมาร์กซ์ และในบางครั้งบางหนคำถามนี้ก็ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุยจากนักลัทธิมาร์กซ์เอง
โดยปกติทั่วไปในการถกเถียงประเด็นดังกล่าว กลุ่มผู้ต่อต้านลัทธิมาร์กซ์มักจะยกเอาความล้มเหลวของสหภาพโซเวียตขึ้นมาเป็นตัวอย่างแสดงถึงความล้มเหลวของแนวคิดสังคมนิยม กล่าวคือ การยกกรณีเรื่องระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การบริหารจัดการควบคุมและยึดครองปัจจัยการผลิตเอาไว้โดยรัฐบาลและบริหารผ่านกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย, การนำเอาระบบการผลิตและการกระจายสินค้าแบบรวมศูนย์อำนาจภายใต้การวางแผนโดยรัฐราชการเข้ามาแทนที่ระบบตลาด เป็นต้น หากแต่ในทางกลับกันนั้นจำเป็นต้องอธิบายและโต้แย้งต่อข้อโจมตีนี้ว่า ตามทัศนะของมาร์กซ์ ประเทศล้าหลังอย่างรัสเซียในยุคระบอบกษัตริย์ ที่มีพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมกระจุกตัว มีชนชั้นแรงงานเป็นคนส่วนน้อย ขณะที่ประชากรจำนวนมากเป็นชาวนาในภาคการเกษตรตามวิถีเศรษฐกิจแบบสังคมศักดินานั้น ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่จะสามารถนำพาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในแนวทางสังคมนิยม ระดับโลก ได้เลย
กล่าวคือรัสเซียในยุคนั้นโดยตัวมันเองขาดคุณสมบัติที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลกให้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจตลาดที่พึ่งพาอาศัยกันระดับโลกให้ก้าวพ้นไปสู่ระบบสังคมนิยมได้ ทั้งนี้ก็เพราะในทัศนะของมาร์กซ์การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสังคมนิยมจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย “ผ่านปฏิบัติการของมวลชนที่ครองอำนาจเด็ดขาด โดยเป็นการปฏิบัติการอย่าง ‘เบ็ดเสร็จครั้งเดียว’ และกระทำโดยพร้อมเพรียงกัน” ในแง่นี้เองบรรดาความผิดพลาดล้มเหลวทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียตในภายหลังนั้นจึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าทัศนะที่มาร์กซ์เสนอเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว!
อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นต้องเน้นย้ำให้ชัดเจนที่นี่อีกครั้งว่าตามทัศนะของมาร์กซ์แล้วเป้าหมายปลายทางสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ใช่เป็นไปเพื่อสถาปนาระบอบรัฐราชการรวมศูนย์ที่ยึดครองปัจจัยการผลิตเอาไว้เอง แต่เป็นการเสนอรูปแบบการควบคุมปัจจัยการผลิต โดยชนชั้นแรงงาน โดยสร้างกระบวนการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่การบริหารจัดการโดยกลุ่มข้าราชการ กล่าวคือเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหลาย “โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ผลิต” ดังนั้นเองมุมมองหรือทัศนะเป้าหมายปลายทางเกี่ยวกับระบบสังคมนิยมของมาร์กซ์จึงไม่ได้ล่มสลายหรือล้มเหลวลงตามความล้มเหลวของสหภาพโซเวียตเพราะตัวสหภาพโซเวียตเองเมื่อกลายเป็นรัฐเผด็จการชนชั้นราชการมันก็ได้หลุดออกจากแนวทางของมาร์กซ์แล้ว
กระนั้นก็ดี นักมาร์กซิสต์ท่านหนึ่งนามว่า Ronald Aronson ก็ได้เสนอความคิดวิพากษ์วิจารณ์นักลัทธิมาร์กซ์ว่า เมื่อนักลัทธิมาร์กซ์ไม่สามารถกำหนดหรือประกอบสร้างชนชั้นทางสังคมหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะฟูมฟักพลังการเปลี่ยนแปลงอันจะนำพาสังคมให้ก้าวพ้นไปจากระบบทุนนิยมได้แล้ว ในแง่นี้เองเราควรกล่าวว่าลัทธิมาร์กซิสม์ก็ “ล้มเหลว” อย่างน้อยที่สุดคือมันล้มเหลวในฐานะที่ไม่สามารถสร้าง “เค้าโครงการของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์” ได้ ตัว Aronson ยังคงมีจุดยืนต่อต้านระบบทุนนิยมอยู่แต่มุมมองของเขาเปลี่ยนไป โดยเขาพยายามมองหาการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านขบวนการเคลื่อนไหวอย่าง ขบวนการสตรีนิยม (feminism) และ ขบวนการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ (anti-racism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเขาเองได้รับอิทธิพลทางความคิดและแนวทางจากสำนักหลังสมัยใหม่ (postmodernism)
คำกล่าวอ้างและข้อสรุปข้างต้นของ Aronson เกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ถือว่าเป็นการประกาศจุดจบของลัทธิมาร์กซ์ในมิติของยุทธศาสตร์ทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสังคมนิยม หากทว่าเราจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้เสียใหม่ จุดจบของลัทธิมาร์กซ์ไม่ได้ผูกติดอยู่กับข้อสรุปที่ Aronson เสนอมา แต่มันผูกติดอยู่กับข้อวิพากษ์วิจารณ์ของมาร์กซ์ต่อระบบทุนนิยม และผูกติดอยู่กับความมั่นคงของระบบทุนนิยม และตอนนี้ก็เห็นชัดว่าระบบทุนนิยมยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง ตลอดช่วงระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นชัดถึงข้อวิพาก์วิจารณ์ของมาร์กซ์ที่มีต่อระบบทุนนิยมที่มันได้สำแดงตนเองออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้นในเรื่องการแบ่งแยกทางชนชั้น ภายใต้สถานการณ์ที่คนร่ำรวยกำลังมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อยๆ และคนยากจนก็กำลังแร้งแค้นลงทุกวัน มันคือระบบที่ทำให้เราบ่อนทำลายกันเองท่ามกลางสภาวะที่ผู้คนนับล้านๆคนในประเทศโลกที่สามต้องล้มตายลงในทุกๆปีเนื่องจากปัญหาความยากจนเรื้อรัง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนไม่มีทางแก้ไขได้ และการขยายตัวอย่างรุนแรงของการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ, เพศ หรือสัญชาติ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อแบ่งแยกเราจากเพื่อนบ้านและหมู่มิตรร่วมชนชั้น ในแง่นี้เอง
เมื่อระบบทุนนิยมยังอยู่ยั้ง (และก่อปัญหานานับประการตามมา) ลัทธิมาร์กซ์ย่อมยืนยง (เพื่อต่อสู้และขจัดปัญหาจากระบบทุนนิยม)
ผมเห็นว่าข้อเสนอของ Aronson มีความผิดพลาดสำคัญสองประการ
ประการที่หนึ่ง ขบวนการเคลื่อนไหวแบบมาร์กซิสต์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะแต่ขบวนการแบบมาร์กซิสต์เท่านั้น แต่ยังมีขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านระบบทุนนิยมอีกมากมายที่เกิดขึ้นหรือมีรากฐานมาจากความคิดแบบลัทธิมาร์กซ์
ประการที่สอง นักสังคมนิยมไม่ได้ต่อสู้เพื่อ ลัทธิมาร์กซ์ ที่เป็นเพียงทฤษฎีหรือกรอบความคิด แต่พวกเขาต่อสู้เพื่อ ระบบสังคมนิยม อันเป็นระบอบทางการเมืองในอนาคตที่จะปราศจากรัฐหรือกฎเกณฑ์ของชนชั้นนายทุน ข้อเสนอประการที่สองของผมนี้จะนำเราขยับไปสู่คำถามว่า เช่นนั้นแล้วลัทธิมาร์กซ์กับระบบสังคมนิยมมีความเชื่อมโยงต่อกันอย่างไร?
ลัทธิมาร์กซ์และระบบสังคมนิยมมีความสัมพันธ์กันในสองระดับ ระดับแรก ระบบสังคมนิยมช่วยทำให้ความต้องการสร้างระบบสังคมที่ดีกว่าทุนนิยมของลัทธิมาร์กซ์ปรากฏเป็นจริง ระดับที่สอง ลัทธิมาร์กซ์ช่วยประกอบสร้างเครื่องมือสำหรับการสถาปนาระบอบสังคมนิยมขึ้น มุมมองของ Aronson มีความผิดพลาดเพราะเขาพิจารณาลัทธิมาร์กซ์ในฐานะของจุดหมายปลายทางหรือจุดจบของการต่อสู้ หากแต่ลัทธิมาร์กซ์เป็นเพียงเครื่องมือ แต่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางหรือจุดจบโดยตัวมันเอง
ลัทธิมาร์กซ์ไม่ใช่ตำราหรือคำสอนหรือทฤษฎีเชิงเดี่ยวที่แยกขาดตัวเอง แต่มันคือสำนักความคิดที่รวบรวมและรองรับเอาความคิดหลากหลายที่จำเป็นสำหรับการข้ามพ้นระบบทุนนิยม แบบองค์รวม เข้าไว้ด้วยกัน
ในแง่นี้เองหากเราต้องการไปให้ถึงจุดสิ้นสุด (ระบบแบบใหม่ที่จะมีชัยหรือเข้าแทนที่ระบบทุนนิยม) เราย่อมจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือที่จะนำพาเราไปถึงจุดสิ้นสุดนั้น (ลัทธิมาร์กซ์) ดังนั้นเองการก้าวข้ามไปสู่ระบบใหม่นี้จึงไม่ใช่การเดินทางไปสู่ยุค “หลังมาร์กซิสต์” อย่างที่ Aronson เข้าใจ ระบบแบบใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ระบบทุนนิยมข้างต้นนั้นมีชื่อเรียกว่าระบบสังคมนิยม และในระหว่างการไปถึงเป้าหมายนี้หากเครื่องมือที่เรามีอยู่ (ลัทธิมาร์กซ์) เกิดชำรุดลงเราก็ย่อมจะซ่อมแซมมันได้ หากเครื่องมือนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์แล้วเราก็อาจปรับปรุงมันเพิ่มเติมได้ และหากเครื่องมือนี้ไม่มีประโยชน์ต่อการไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้เรากก็ย่อมสร้างเครื่องมือใหม่เข้ามาใช้แทนได้ หากแต่การประกาศว่าลัทธิมาร์กซ์ล้มเหลวตั้งแต่ก่อนที่ระบบทุนนิยมจะล้มเหลวนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการประกาศยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มลุกขึ้นสู้และต่อต้านระบบทุนนิยมเลย
คำถามประการถัดมาก็คือ แล้วสำนักความคิดแบบหลังสมัยใหม่ถือเป็นเครื่องมือเพื่อไปสู่สังคมใหม่เหมือนลัทธิมาร์กซ์หรือไม่? เราอาจเห็นว่านักคิดสำนักหลังสมัยใหม่หลายคนอย่างเช่น Lyotard, Foucault และ Derrida ก็มีแนวความคิดในการต่อต้านระบบทุนนิยม หากทว่าศัตรูที่แท้จริงของความคิดแบบหลังสมัยใหม่นั้นคือความคิดแบบสมัยใหม่ (modernism) อันถือเป็นจุดสูงสุดของอภิปรัชญาแบบตะวันตกซึ่งอ้างว่าตนเอง “เป็นกลุ่มความคิดที่มีความเป็นกลางและเป็นความคิดที่อยู่บนหลักเหตุและผลอันเป็นสากล” ที่แสดงตนเองออกมาในรูปแบบของการยกย่องเพศชาย, กลุ่มคนผิวขาว, เชิดชูชาวยุโรป และความสัมพันธ์แบบต่างเพศ ในแง่นี้เองความคิดแบบสมัยใหม่จึงตามมาด้วยการกีดกันหรือลดทอนคุณค่าของ เพศหญิง, กลุ่มคนผิวสีอื่น, ชนชาติอาณานิคม และกลุ่มคนรักเพศเดียวกันไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตามแม้ว่านักคิดสำนักหลังสมัยใหม่จะต่อต้านระบบทุนนิยม แต่เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่การ โค่นล้มระบบทุนนิยม แต่เป้าหมายของพวกเขาคือการมุ่งทำลายระบบระเบียบแบบสมัยใหม่ที่ให้อภิสิทธิ์แก่คนบางกลุ่มเช่น กลุ่มคนเพศชาย, กลุ่มคนผิวขาว, ชาวยุโรป และผู้มีความรักแบบต่างเพศ แม้ว่าคนในกลุ่มนี้จะเป็นชนชั้นแรงงานก็ตาม
ในแง่นี้เองมุมมองแบบลัทธิมาร์กซ์ ที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมใหม่แบบ “องค์รวม” จึงถูกลดความสำคัญลงไป เมื่อเทียบกับเป้าหมายของสำนักคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่เน้นการต่อต้านความสัมพันธ์แบบมนุษยนิยมแห่ง “ความแตกต่าง” ซึ่งผลลัพธ์ของมันปรากฏออกมาในรูปแบบของการนำเสนอการเมืองของกลุ่มคนชายขอบ ที่จะปกป้องความหลากหลายภายใต้กรอบของระบบทุนนิยม โดยมีเป้าหมายเพื่อจะขจัดการเลือกปฏิบัติและการกีดกันทุกรูปแบบ
หากทว่าระบบทุนนิยม เป็น ระบบแห่งการกีดกันและเลือกปฏิบัติ ลัทธิมาร์กซ์มีเรื่องหนึ่งที่ไม่ต่างจากสำนักหลังสมัยใหม่ คือทั้งสองแนวคิดสร้าง “คำอธิบายหนึ่ง” ขึ้นมาเหนือคำอธิบายอื่น แต่ความต่างสำคัญก็คือลัทธิมาร์กซ์มุ่งมั่นในการโค่นล้มระบบทุนนิยม พร้อมกันนั้นลัทธิมาร์กซ์ก็เสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบบทุนนิยมว่านี่คือระบบที่ประกอบขึ้นจากการกีดกันเลือกปฏิบัติและการกดขี่ขูดรีดที่กระทำต่อชนชั้นแรงงาน ไม่ว่าสมาชิกในชนชั้นนี้จะมีสีผิวแบบไหน เป็นเพศอะไร มีเชื้อชาติหรือถือสัญชาติอะไรก็ตาม
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องโค่นล้มระบบทุนนิยมลงเพื่อสถาปนาระบอบของชนชั้นแรงงานเข้าแทนที่ ในแง่นี้เองนักมาร์กซิสต์ก็ยืนยันว่ามุมมองหรือโลกทัศน์ของชนชั้นแรงงานอาจจะเป็นมุมมองที่โน้มเอียงไปสู่การเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชนชั้นและอาจก่อให้เกิดอคติบ้าง แต่มุมมองนี้ก็ยังนับว่าดีกว่ามุมมองหรือโลกทัศน์ของชนชั้นนายทุน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากชนชั้นแรงงานอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมที่ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และ ได้เห็นสิ่งต่างๆ มากกว่าชนชั้นนายทุน กล่าวคือ ชนชั้นแรงงานเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจต่อการกระทำของชนชั้นนายทุน และ ของชนชั้นตนเองได้ ในแง่นี้เองความชอบธรรมและการตระหนักรู้ทางญาณวิทยานี้จึงกลายมาเป็นความชอบธรรมทางศีลธรรมสำหรับชนชั้นแรงงาน กล่าวคือเมื่อความต้องการของมวลมนุษย์คือต้นตอแห่งเหตุผลที่จะต้องได้รับการตอบสนองและเติมเต็มตามทัศนะของมาร์กซ์ เมื่อนั้นเองความต้องการของกลุ่มคนผู้อุทิศแรงงานของตนเองเพื่อสร้างความมั่งคั่งในสังคมย่อมสถาปนาการอ้างความชอบธรรมที่หนักแน่นในการอ้างสิทธิเหนือความมั่งคั่งที่ตนเองเป็นผู้สร้างขึ้นได้
ความคิดแบบลัทธิมาร์กซ์จึงมีความเหนือกว่าความคิดสำนักหลังสมัยใหม่ในแง่ที่ตัวมันเองมีความครอบคลุมกว้างขวางมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาความตึงเครียดภายในของระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบได้
หากจะกล่าวให้ง่ายละกระชับที่สุดแล้วในมุมมองของมาร์กซ์เขาพิจารณาระบบทุนนิยมในฐานะของวิถีการผลิตที่มีลักษณะสำคัญคือ 1) มีระบบการผลิตสร้างมูลค่าอันเกิดจาก แรงงานรับจ้าง 2) ปัจจัยการผลิตถูกควบคุมและถือครองเอาไว้โดย กลุ่มผู้ที่ไม่ต้องขายแรงงาน (กล่าวคือชนชั้นนายทุน) ในรูปแบบของ ทุน รูปแบบหนึ่ง 3) ผลผลิตของกระบวนการผลิตถูกแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะถูกกระจายออกไปผ่าน ระบบตลาด
ระบบทุนนิยมมีลักษณะที่เป็นทั้ง ระบบซึ่งมีจุดมุ่งหมายในตนเอง และเป็นทั้งระบบอันเกิดจากการรวมตัวกันของกฎชุดต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น ในการชี้แจงแยกแยะความคลุมเครือเหล่านี้ นักมาร์กซิสต์ได้แบ่งแยกความคิดออกเป็นสองสาย คือสายลัทธิกำหนดนิยม หรือสำนักโครงสร้างนิยม อย่าง หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) และสายอิสระนิยม อย่างปรัชญาอัตถิภาวนิยม ของ ฌอง-พอล ชาร์ต (Jean-Paul Sartre) ซึ่งสายความคิดแรกแบบลัทธิกำหนดนิยมมองว่า องค์ประกอบแต่ละส่วนของระบบทุนนิยมคือ – แรงงานรับจ้าง, ทุน, ระบบตลาด – ได้ประกอบสร้างสิ่งต่างๆ ที่ปฏิบัติการไปเองอย่างต่อเนื่องในวัฏจักรของกระบวนการผลิตซ้ำ ขณะที่สายความคิดที่สองในแนวอิสระนิยมมองว่าตัวระบบทุนนิยมจะ แสดงตัวเอง โดยอิสระและมีอำนาจในตัวของมันเองได้ก็ต่อเมื่อพวกเราที่เป็นผู้เคลื่อนไหวได้กระทำการต่อบุคคลอื่น เสมือนกับ คนอื่นๆ เป็นวัตถุสิ่งของ
ในแง่นี้เองสำนักความคิดนี้ย่อมยอมรับว่านายทุนที่เป็นปัจเจกบุคคลโดดเดี่ยวไม่ได้มีสภาวะเป็นตัวแทนของความโหดร้ายเสมอไป หากแต่ความโหดร้ายทั้งหลายนั้นดำรงอยู่ในตัวระบบที่ดำเนินไปของทุนนิยม กล่าวคือชนชั้นนายทุนต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และชนชั้นแรงงานก็ต้องพยายามตอบสนองความต้องการมีชีวิตรอดของตัวเอง ดังนั้นบรรดาการกระทำต่างๆ หรือการต่อสู้กันก็คือการกระทำที่ตัวแสดงหนึ่ง (ชนชั้นนายทุน-ชนชั้นแรงงาน) กระทำต่ออีกตัวแสดงหนึ่งในวัฏจักรของระบบ
ถึงตอนนี้เราย่อมเกิดคำถามขึ้นมาว่าแล้ว “จุดมุ่งหมาย” ของระบบนี้คืออะไร? คำตอบก็คือ “การสะสมทุนแบบไม่มีที่สิ้นสุด” กล่าวคือ ระบบทุนนิยมไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไรที่ไปไกลเกินกว่าตัวของมันเอง ซึ่งก็คือทุน เมื่อทุกสรรพสิ่งภายในระบบทุนนิยมถูกผนวกรวมมาอยู่ภายใต้ทุนและระบบราคาซื้อขาย เมื่อนั้นเองมันย่อมตามมาด้วยชัยชนะและการสถาปนาสัจจะนิยมเรื่องธรรมชาตติแห่งความโลภของมนุษย์และ สัจจะนิยมที่ว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจากระบบทุนนิยม
ถึงตอนนี้ หลังจากที่ได้พยายามอธิบายมายืดยาว ผมขอกล่าวสรุปว่าระบบทุนนิยมคือปิศาจที่กำลังเรียกหาการทำลายล้างตัวมันเองในทันที ระบบนี้คือข้อพิสูจน์ว่ามนุษยชาติได้เดินทางมาถึงระดับพัฒนาการขั้นสูง อันตามมาด้วยการที่เรายกเอาอะไรบางอย่างให้มีคุณค่าสูงขึ้นกว่าตัวเราเอง (ทุน) และทำให้มนุษยชาติกลายเป็นสิ่งไร้ตัวตน
ระบบทุนนิยมจึงกลายไปเป็น “ระบบทาสที่ปราศจากนายทาส” ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการที่พวกเรา “ยินยอมพาตัวเอง” เข้าสู่กลไกการผลิตซ้ำและช่วยผลิตซ้ำระบบนี้มาเป็นเวลา 400 ปี
ในแง่นี้เองนี่คือหลักฐานว่าเราเองย่อมมีโอกาสและเรา สามารถ สร้างทางเลือกอื่นนอกจากระบบทุนนิยมได้ อย่างไรก็ดีในการพยายามสร้างทางเลือกใหม่หรือการพยายามโต้กลับระบบทุนนิยม เราย่อมพบคำถามประการหนึ่งก็คือ หากว่าระบบทุนนิยมดำเนินต่อไปจนถึงจุดที่เราสามารถแทรกแซงเข้าไปจัดการกับความไม่สมดุลของวัฏจักรของทุนได้ เช่นการผลักดันให้ระบบทุนนิยมเดินหน้าไปสู่กระบวนการผลิตที่ปราศจากการจ้างงานมนุษย์ ถึงจุดนั้นมันจะส่งผลโดยตรงต่อสมดุลของระบบและทำให้มันล่มสลายลงหรือไม่?
ต่อคำถามข้างต้นนั้น เราอาจจะต้องย้อนกลับไปหามุมมองของมาร์กซ์ที่มีต่อระบบทุนนิยม ตามทัศนะของมาร์กซ์ เขาเสนอว่าระบบทุนนิยมประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญสามประการคือ แรงงาน, ทุน และ ระบบตลาด องค์ประกอบสองประการแรกคือ แรงงานและทุน มีลักษณะเป็นขั้วตรงข้ามต่อกันและเป็นศัตรูต่อกันโดยที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากกว่าที่จะใกล้ชิดกับองค์ประกอบประการที่สามคือระบบตลาด ในความสัมพันธ์เช่นนี้เอง หากปราศจากการหยิบใช้กำลังแรงงาน ลำพังตัวทุนเองก็ไม่อาจจะสร้างมูลค่าใดๆได้
ขณะเดียวกันหากกำลังแรงงานปราศจากอำนาจในการควบคุมหรือเข้าถึงปัจจัยการผลิต แรงงานเองก็ไม่อาจจะสร้างสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตัวเองได้ ในแง่นี้เองเราย่อมมองเห็นความไม่สมดุลในระบบ ความไม่สมดุลที่ว่านี้คือการที่ปัจจัยการผลิตในระบบการผลิตของระบบทุนนิยมถูกถือครองและควบคุมโดย กลุ่มผู้ที่ไม่ต้องขายแรงงาน (ชนชั้นนายทุน) และเมื่อชนชั้นแรงงานไม่มีอำนาจในการครอบครองปัจจัยการผลิตอื่นๆ ทางเลือกเดียวของพวกเขาย่อมเหลือเพียงการขายกำลังแรงงานของตนเองในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อให้ผู้ที่ถือครองปัจจัยการผลิตมาซื้อกำลังแรงงานของพวกเขาไป อำนาจในการครอบครองปัจจัยการผลิตของชนชั้นนายทุนแสดงให้เห็นว่าเมื่อพวกเขาซื้อกำลังแรงงานของชนชั้นแรงงานไปแล้ว ในกระบวนการผลิตนี้กำลังแรงงานสามารถสร้างมูลค่าได้สูงเสียยิ่งกว่าค่าจ้างที่ใช้ในการซื้อกำลังแรงงานเสียอีก ซึ่งค่าจ้างเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมือแก่ชนชั้นแรงงานในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตหรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่นที่จำเป็นสำหรับการผลิตซ้ำกำลังแรงงานของตนเอง
ในแง่นี้เราอาจจะกล่าวได้ว่าเงินที่ใช้ซื้อกำลังแรงงานนั้นคือเงินค่าจ้างสำหรับตอบแทนการใช้กำลังแรงงานในช่วงเวลาหนึ่ง ภายใต้ข้อตกลงเช่นนี้มันก็อาจจะดูเป็นข้อตกลงแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมอยู่หากเรามองข้ามความไม่สมดุลและความไม่เท่าเทียมกันเชิงอำนาจที่กล่าวมาข้างต้นไป แน่นอนว่าความไม่สมดุลนี้แสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบของการจ้างงานที่ชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องออกแรงหรือกำลังแรงงานของตนเองในการทำงานให้นายทุนผู้จ้างงานไปก่อนที่จะได้รับเงินค่าจ้างตอบแทนในวันกำหนดจ่ายเงิน แทนที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อนการเริ่มทำงาน และเมื่อชนชั้นแรงงานเริ่มต้นกระบวนการทำงานแล้ว หลังผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งของการทำงาน เขาจะสร้างมูลค่าของการทำงานที่สูงเท่าเทียมกับมูลค่าค่าจ้างแรงงานของตนเองได้ หากทว่าเขายังคงต้องทำงานต่อไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเติม โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาส่วนหลังนี้เป็นมูลค่าที่จะไม่ได้รับค่าตอบแทน กล่าวโดยสรุปก็คือ ในหนึ่งวันของการทำงานชนชั้นแรงงานจะสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตของชนชั้นนายทุนเพื่อทำการผลิตมูลค่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของตัวเอง (มูลค่าที่เทียบเท่ากับค่าจ้าง) แต่หลังจากนั้นในช่วงเวลาที่เหลือตลอดวันในการผลิตหรือทำงานที่จะสร้างมูลค่าอีกจำนวนมหาศาลซึ่งชนชั้นแรงงานไม่ได้รับค่าตอบแทน
มาร์กซ์เรียกมูลค่าที่เกิดขึ้นในส่วนหลังของวันทำงานนี้ว่าเป็น “กำลังแรงงานส่วนเกิน” ที่เป็นบ่อกำเนิดของ “มูลค่าส่วนเกิน” ซึ่งถูกควบคุมและยึดครองเอาไว้โดยชนชั้นนายทุน และมูลค่าส่วนเกินนี้เองก็คือที่มาของกำไรและการขยายตัวของทุน ดังนั้นเองการเก็บหอมรอมริบประหยัดเงินของชนชั้นแรงงานย่อมไม่อาจจะเทียบเคียงกับอัตราการสะสมทุนของชนชั้นนายทุนได้
การสะสมทุนนี้เองที่เป็นสิ่งประกอบสร้างระบบซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ชนชั้นนายทุนด้วยการสะสมทุนซึ่งตามมาด้วยการสั่งสมอำนาจทางสังคม ในระบบเช่นนี้แรงงานปัจเจกบุคคลคนหนึ่งอาจจะกลายไปเป็นนายทุนได้ หากแต่ความไม่สมดุลความไม่เสมอภาคกันของระบบจะยังคงกดให้ ชนชั้นแรงงาน ทั้งชนชั้นอยู่ภายใต้การกดขี่ปกครองอยู่
ในระบบการจ้างงานของทุนนิยม หากพิจารณาเฉพาะเปลือกภายนอกเราอาจจะกล่าวได้ว่ามันคือการทำข้อตกลงที่ยุติธรรมแล้ว หากแต่เมื่อเราพิจารณาถึงเนื้อในหรือที่ใจกลางของมันเราจะพบว่าใน “การทำสัญญาจ้างงานแบบเสรี” นี้มีลักษณะที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบภายใต้แรงกดดันเหนือชีวิตของชนชั้นแรงงาน ภายใต้การทำสัญญาจ้างแบบกึ่งบังคับนี้ (เพราะหากไม่ทำแรงงานก็อาจจะเผชิญกับความเสี่ยงในการอดตาย) แม้แรงงานจะเดินเข้าไปสมัครงานด้วยความสมัครใจ แต่แรงขับดันเบื้องหลังนั้นก็มาจากการที่พวกเขาไม่ได้ถือครองปัจจัยการผลิตอื่น และต้องจำยอมขายกำลังแรงงานแลกกับค่าจ้างที่ถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าของการผลิตที่เกิดจากการใช้กำลังแรงงานของตนเอง
ซึ่งค่าจ้างนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อประทังชีพหรือก็คือเพื่อผลิตซ้ำกำลังแรงงานของชนชั้นแรงงานนั่นเอง ในระบบเช่นนี้ชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องทำการผลิตหรือสร้างแรงงานส่วนเกินให้ได้มากถึงระดับหนึ่งเขาจึงจะได้รับค่าตอบแทน หากว่าชนชั้นแรงงานสักคนหนึ่งไม่สามารถสร้างแรงงานส่วนเกินได้มากพอเมื่อนั้นเขาย่อมถูกเลิกจ้างงาน และนั่นย่อมนำไปสู่การที่ชนชั้นแรงงานผู้นี้ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ในกรณีนี้สหภาพแรงงานอาจจะเข้ามาช่วยเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้างได้ แต่อย่างไรก็ดีกติกาเรื่องมูลค่าส่วนเกินนี้ไม่มีขีดจำกัดโดยตัวมันเอง นักมาร์กซิสต์เรียกอัตราส่วนต่างของต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่หักลบกับมูลค่าจริงที่แรงงานผลิตได้ว่า มูลค่าส่วนเกิน หรือก็คืออัตราของการขูดรีดกำลังแรงงาน ซึ่งในบางครั้งมันถูกเรียกใหม่ด้วยคำที่รื่นหูกว่าว่า อัตราประสิทธิภาพการผลิต มูลค่าส่วนเกินในกระบวนการผลิตคือสิ่งที่ถูกขูดรีดออกไปโดยปราศจากความยินยอมของชนชั้นแรงงาน กระบวนการขูดรีดนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ที่ชนชั้นแรงงานไม่มีทางเลือกในการดำรงชีพของตนเอง เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ถือครองปัจจับการผลิตและหนทางเดียวที่พวกเขาจะมีชีวิตรอดก็คือการขายกำลังแรงงานเพื่อแลกกับค่าจ้าง ดังนั้นเองภายใต้เปลือกนอกของการจ้างงานภายใต้ระบบทุนนิยมที่ดูเสมือนว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน ภายใต้เปลือกนอกนั้นมันซุกซ่อนกระบวนการกดขี่ขูดรีดมนุษย์โดยมนุษย์อีกกลุ่มเอาไว้
อย่างไรก็ตามผู้ปกป้องระบบทุนนิยมอาจจะกล่าวโต้แย้งว่า ชนชั้นนายทุนได้รับกำไรหรือมูลค่าส่วนเกินจากการผลิตเป็นสิ่งตอบแทนคุณประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการผลิต คุณประโยชน์ที่ว่านั้นอาจได้แก่ – องค์ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ, ทักษะการบริหารจัดการ, นวัตกรรม, การแบกรับความเสี่ยง ฯลฯ ซึ่งสำหรับผมแล้วเห็นว่านี่ไม่ใช่คุณประโยชน์ที่เกิดจากชนชั้นนายทุนเพียงกลุ่มเดียว ทั้งนี้ก็เพราะบรรดากลุ่มคนที่มีทักษะหรือคุณสมบัติดังที่กล่าวมานี้จะสามารถขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินไปจากมนุษย์คนอื่นได้ ก็เฉพาะเมื่อ กลุ่มคนนั้นเป็นผู้ถือครองหรือควบคุมปัจจัยการผลิต ทั้งนี้ก็เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่มีคุณลักษณะข้างต้นแต่ก็ยังถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินไปเพราะพวกเขาไม่ได้ครอบครองปัจจัยการผลิต
ดังนั้นเองการที่ชนชั้นนายทุนได้รับกำไรหรือมูลค่าส่วนเกินนั้น คือกระบวนการที่เกิดขึ้นเนื่องจากพวกเขาถือครองปัจจัยการผลิต ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขามีทักษะหรือคุณลักษณะพิเศษอื่น ภายใต้ระบบทุนนิยม ทุกคนล้วนแล้วแต่พยายามที่จะได้เป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต หรือก็ไม่ก็พยายามทำให้ทุนสร้างผลกำไรให้โดยตัวทุนเอง
ต้องกล่าวว่าโดยปกติแล้วเราคงไม่นับว่าการโทรศัพท์คุยกับใครสักคนเป็นกิจกรรมที่สร้างการผลิตหรือสร้างคุณประโยชน์ หากแต่การโทรคุยกับผู้จัดการตลาดหุ้นนั้นถือว่าเป็นการทำงานที่มีประสิทธิผลและสร้างคุณประโยชน์ “การจัดหาทุนเพื่อการลงทุนหรือการกู้ยืม” ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นการสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาล ซึ่งนี่กลายเป็นข้อพิสูจน์สิ่งที่เรากล่าวไปข้างต้น
ส่วนหนึ่งของความเข้าใจของเราที่มีต่อ คุณประโยชน์ของทุน นั้นเกิดมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าทุนไม่ใช่สิ่งที่มีสภาพการดำรงอยู่เชิงวัตถุ หรือดำรงอยู่ในรูปแบบของเงิน หากแต่สภาพการดำรงอยู่ของมันนั้ยดำรงอยู่ในรูปแบบของ “ความสัมพันธ์ทางสังคม” ตามทัศนะของมาร์กซ์เขาไม่เพียงแต่อ้างถึงต้นกำเนิดอันลึกลับซันซ้อนเหนือธรรมชาติของทุนจนถึงความเป็นนามธรรมเกี่ยวกับทุนที่เราได้ร่วมกันประกกอบสร้างขึ้นมา แต่มาร์กซ์ยังอ้างถึงลำดับขั้นของอำนาจที่แทรกซึมผ่านสังคมมนุษย์อันนำไปสู่การสถาปนาทุนขึ้นมา ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วต่อให้ตัวแทนของชนชั้นนายทุนไม่สามารถบริหารอำนาจในนามของตัวเองได้มันก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลย ทั้งนี้ก็เพราะในโครงสร้างอำนาจของระบบทุนนิยมแม้ว่าจะมีกลไกทางการเมืองทำงานต่างๆอยู่ แต่สิ่งที่อยู่เหนือสุดในโครงสร้างนี้คือทุน
ถึงตอนนี้ลองจินตนาการว่าเราสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าระบบทุนนิยมคือปิศาจ และเราไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วนอกจากระบบนี้ คำถามคือทำไมเรายังต้องสู้กับระบบนี้อีก? ต่อคำถามนี้เองต้องขอบคุณข้อวิเคราะห์ของมาร์กซ์ที่ชี้ทางให้เราเห็นว่า อำนาจอันไร้ขอบเขตของชนชั้นนายทุนภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นทั้งจุดด่างพร้อยทางศีลธรรมและเป็นทางจุดด่างพร้อยของระบบเศรษฐกิจ ตรงนี้เองที่เราอาจจะหยิบเอารูปแบบการต่อสู้หนึ่งเข้ามาใช้
รูปแบบการต่อสู้ที่ว่านั้นคือ การผลิตผ่านกิจการแบบสหกรณ์ การประกอบกิจการแบบสหกรณ์นี้คือการรวมเอาทุนและแรงงานให้มาอยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์แบบที่ไม่ได้เป็นศัตรูต่อกัน ในระบบการผลิตแบบสหกรณ์ชนชั้นแรงงานภายใต้การบริหารกิจการนี้จะเป็นทั้งแรงงานผู้ลงแรงทำการผลิตสร้างมูลค่า และเป็นทั้งผู้ถือครองปัจจัยการผลิตร่วมไปพร้อมๆกัน ซึ่งนี่คือการกลับหัวกลับหางความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมแบบเดิม ในแง่นี้เองหากเรามีขบวนการเคลื่อนไหวที่ประกอบกิจการแบบสหกรณ์อย่างกว้างขวางและเริ่มต้นการประกอบกิจการไปจนถึงขั้นที่สามารถเข้าซื้อกิจการอื่นๆของชนชั้นนายทุนได้ กระบวนการนี้ย่อมเป็นการต่อสู้ที่บ่อนทำลายระบบทุนนิยมในสามรูปแบบด้วยกัน ดังนี้
ประการแรก มันเป็นการบ่อนทำลายระบบทุนนิยมด้วยการบ่อนทำลายการขูดรีดของชนชั้นนายทุน การขายกำลังแรงงานของมนุษย์ย่อมหมายถึงการทำให้มนุษย์หนึ่งคนตกอยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของมนุษย์อีกคนที่จ่ายเงินซื้อ ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะยินยอมรับได้บ้างหากผู้ขายกำลังแรงงานได้รับการจ่ายค่าตอบแทนที่เทียบเท่ากับมูลค่าของสิ่งที่เขาสร้าง แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ขายกำลังแรงงานได้รับค่าตอบแทนบางส่วน ขณะที่มูลค่าอื่นที่เหลือจะกลายไปเป็นมูลค่าส่วนเกินที่สร้างกำไรและกลายเป็นทุนสะสมของชนชั้นนายทุน แต่ในทางกลับกัน
การดำเนินกิจการแบบสหกรณ์จะมอบมูลค่าทั้งหลายจากการผลิตคืนให้แก่เจ้าของกำลังแรงงานที่ลงแรงทำการผลิตทั้งหมด ซึ่งกลุ่มคนที่ลงแรงทำการผลิตร่วมกันในสหกรณ์นี้คือกลุ่มคนที่มีอำนาจในการกำหนดว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ แรงงานที่จ้างมาทำงานบริหารจัดการเท่าไหร่, จะทำการลงซ้ำอย่างไร, และจะจัดสรรปันส่วนแบ่งกำไรจากการผลิตกันอย่างไร และเมื่อกิจการนี้ดำเนินการไปด้วยการบริหารงานภายในที่เป็นประชาธิปไตย มีกระบวนการตัดสินใจภายในที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งทุกคนที่ทำการผลิตได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมแล้วเมื่อนั้นสถานที่ทำงานนี้ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องขูดรีดกันเอง
ประการที่สอง มันเป็นการบ่อนทำลายระบบทุนนิยมด้วยการยกเลิกการทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ในระบบตลาด ด้วยการทำงานร่วมกันภายใต้ระบบสหกรณ์ซึ่งปราศจากการซื้อขายแรงงานมันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในสองรูปแบบคือ หนึ่ง มันจะสั่นสะเทือนการดำรงอยู่ของทุน เมื่อแรงงานสามารถผนวกตัวเองเข้ากับปัจจัยการผลิตและผลิตสร้างกำไรได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีทุน และ สอง มันจะเป็นการหยุดกระบวนการสะสมทุนโดยชนชั้นนายทุน ซึ่งนี่จะเป็นการแทรกแซงกลไกที่คอยรักษาความไม่สมดุลไม่เสมอภาคของระบบทุนนิยม
ประการที่สาม มันเป็นการบ่อนทำลายระบบทุนนิยมด้วยการป้องกันไม่ให้ระบบทุนนิยมสร้างการแบ่งแยกทางชนชั้นทั้งในระดับภายในชาติ และในระดับระหว่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพราะกระบวนการผลิตแบบสหกรณ์คือกระบวนการผลิตแบบมีส่วนร่วมที่เป็นประชาธิไตยและมีความเสมอภาคต่อกันมากกว่าการผลิตในระบบบริษัทของนายทุน และเมื่อการแบ่งแยกทางชนชั้นในสังคมนั้นคือภาพสะท้อนของการแบ่งแยกทางชนชั้นในหน่วยการผลิต ดังนั้นเองกระบวนการผลิตแบบสหกรณ์ที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยเท่าเทียมกันนี้ย่อมจะลดช่องว่างและบ่อนทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแบ่งแยกชนชั้นของสังคมทุนนิยมลง
ดังนั้นเองตามมุมมองของผมแล้ว ระบบการผลิตแบบสหกรณ์คือสิ่งที่จะสามารถเข้ามาแทนที่ระบบทุนนิยมได้ หากแต่ในมุมมองของ Aronson เขามองระบบการผลิตแบบสหกรณ์โดยพยายามท้าทายและถามหาขบวนการเคลื่อนไหวแบบนี้ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นผมจึงยากจะขอยกตัวอย่างเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะการทำงานแบบสหกรณ์และประสบความสำเร็จสี่ขบวนการมานำเสนอดังนี้
- เครือข่าย Mondragon ในแคว้น Basque ของประเทศสเปน อันเป็นเครือข่ายที่รวมแรงงานไว้มากกว่า 27,000 คนซึ่งเป็นเจ้าของกิจการร่วมกันในรูปแบบสหกรณ์ โดยทำการผลิตสินค้าไฮเทคออกสู่ตลาด
- เครือข่ายสหกรณ์ในนามกลุ่ม Flexible production group ที่รวมแรงงานกว่า 150,000 คนไว้ด้วยกันในภูมิภาค Emiglia-Romagna ของประเทศอิตาลี ซึ่งขบวนการนี้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพรรคการเมืองเพื่อจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย
- เครือข่ายแรงงานภาคประมงในประเทศแคนาดา ที่เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 1927 ซึ่งมีการจ้างงานแรงงานร่วมกันกว่า 5,850 คน โดยมีสมาชิกในสหกรณ์ร่วม 170,000 ครอบครัว และ
- เครือข่ายในนาม Seikatsu ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1965 ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 225,000 คน
ขบวนการสากลเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในที่ทำงาน กลายเป็นเครื่องมือและอาวุธที่ถูกหยิบใช้เพื่อบ่อนทำลายระบบทุนนิยม สถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบตลาดระดับชาติกำลังขยายตัวและผนวกรวมกันเข้าไปสู่การเป็นระบบตลาดทุนนิยมโลกกลายไปเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนและกิจการขนาดใหญ่
แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้เองเราก็ยังได้พบรายงานการศึกษาวิจัยที่ชี้ว่าบริษัทหรือกิจการที่เปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของแรงงานในการบริหารจัดการองค์กร หรือองค์กรที่นำเอาลักษณะบางประการของกระบวนการผลิตที่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในองค์กรแล้ว ผลการศึกษาพบว่าองค์กรเหล่านี้มีอัตราประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นกว่าบริษัทที่บริหารงานแบบขาดการมีส่วนร่วม
อย่างไรก็ดีหากเราตั้งเป้าหมายว่าปลายทางของการสร้างระบบสังคมนิยมคือการสร้างอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองให้แก่มนุษยชาติ เช่นนั้นแล้วการนำเอาระบบการผลิตแบบสหกรณ์มาใช้ก็อาจจะไม่ได้เติมเต็มหรือนำพาให้เราบรรลุเป้าหมายในการสร้างอำนาจกำหนดชะตาชีวิตเองให้แก่มนุษยชาติได้ ทั้งนี้ก็เพราะระบบนี้เองมันยังดำรงอยู่ภายใต้อำนาจของระบบตลาด ในแง่นี้ระบบการผลิตแบบวางแผนจึงยังกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยขาดเสียไม่ได้สำหรับระบบสังคมนิยม หากแต่ระบบการผลิตแบบสหกรณ์นั้นก็ยังสามารถนำพาให้เราไปถึงหรือประสบความสำเร็จในเป้าหมายของสังคมนิยมได้อย่างน้อยๆ 2 ประการด้วยกัน คือ
- บ่อนทำลายกระบวนการขูดรีด และ
- กีดกันและป้องกันการสะสมทุนของบรรดาชนชั้นนายทุน และในระยะยาว ผมเชื่อว่ามันจะสามารถนำเราไปสู่ความสำเร็จในสามประการคือ
- การสร้างสังคมไร้ชนชั้น
- ทำให้ทุนกลับมาอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของสังคมส่วนรวม และ
- สร้างระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนที่เป็นประชาธิปไตยในระดับโลก ซึ่งกระบวนการทำงานในระบบการผลิตแบบสหกรณ์นี้เองจะเป็นเสมือนโรงเรียนที่คอยฝึกฝนและบ่มเพาะทักษะ รวมถึงตระเตรียมชนชั้นแรงงานให้พร้อมสำหรับการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนที่เป็นประชาธิปไตยในระบบสังคมนิยมขึ้นมา
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าผมเองต้องยอมรับความจริงเรื่องหนึ่งคือในการเขียนบทความเพื่อปกป้องความคิดของมาร์กซ์นี้ ในด้านหนึ่งทำให้เราขยับไกลออกมาจากข้อความคิดของเขาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะตามทัศนะของมาร์กซ์เขามองระบบการผลิตแบบสหกรณ์ในฐานะของยุทธศาสตร์การต่อสู้ ในแง่นี้ระบบสหกรณ์นี้จะช่วยแสดงให้สังคมเห็นว่าชนชั้นแรงงานสามารถทำการผลิตและสร้างมูลค่าเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีชนชั้นนายทุน แต่พร้อมกันนั้นมาร์กซ์ก็ไม่เคยเชื่อเลยว่าลำพังระบบสหกรณ์เพียงอย่างเดียวจะสามารถนำพาและสถาปนาระบบสังคมนิยมได้ตราบเท่าที่ชนชั้นนายทุนยังคงเป็นผู้ควบคุม อำนาจรัฐ เอาไว้ ซึ่งชนชั้นแรงงานเคยได้ประสบพบเจออำนาจนี้มาแล้วจากการปราบปรามของรัฐในปี ค.ศ. 1848 ดังนั้นเองมาร์กซ์จึงมีข้อความคิดว่าเราจะต้องสร้างโลกใหม่ที่เป็นอิสระทั้งจากการควบคุมปกครองของอำนาจรัฐ และจากอำนาจของทุน มันคือโลกที่มนุษย์จะมีอำนาจเหนือชีวิตตนเองใน “ระบบการผลิตแบบมีส่วนร่วม” อันเป็นสังคมที่รัฐจะต้อง “สลายหายไป” โดยที่ในห้วงเวลาของการต่อสู้เพื่อทำลายระบบทุนนิยม ชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องหยิบใช้อำนาจรัฐเป็นการชั่วคราวในนามของ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ดังนั้นเอง การสร้างพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐจึงเป็นเป้าหมายสำคัญประการแรกของขบวนการแรงงานตามมุมมองของมาร์กซ์
ผมคิดว่าเราควรย้ายความสนใจหรือขยายความสนใจให้เข้ามาสู่ประเด็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ก็เพราะข้อความคิดด้านยุทธศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์เองไม่ใช่สิ่งที่ดำเนินไปโดยสอดคล้องกับข้อเขียนที่มาร์กซ์วิเคราะห์ระบบทุนนิยมเลย และดังนั้นเองยุทธศาสตร์ทางการเมืองของมาร์กซ์จึงนำเราไปสู่คำถามเกี่ยวกับความย้อนแย้งในตัวเองว่า เมื่อชนชั้นแรงงานต้องหยิบใช้อำนาจรัฐแล้ว ชนชั้นแรงงานจะปลดแอกตนเองออกจากอำนาจรัฐที่ตนเป็นผู้ใช้ได้อย่างไร? ตามทัศนะของผมการเคลื่อนไหวในขบวนการแบบสหกรณ์แม้จะเป็นการต่อสู้ที่มุ่งเน้นการใช้ยุทธศาสตร์ทางเศรษบกิจแต่ก็ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ตัดขาดการต่อสู้ทางการเมืองออกไป แต่เป็นขบวนการที่มุ่งเน้นจะบรรลุระบบสังคมนิยมโดยการเดินตรงไปสู่ระบบนี้ อันจะเป็นการต่อสู้ที่ปลดปล่อยมนุษย์และทำให้มนุษย์มีอำนาจเหนือตัวเองโดยแท้จริงโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปอาศัยอำนาจรัฐ
จากที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าหากเราต้องการบรรลุเป้าหมายของทั้งนักคิดสมัยใหม่ และนักคิดหลังสมัยใหม่ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตรงร่วมกันก็คือ อำนาจปกครองเด็ดขาดของทุนจะต้องถูกทำลายเพื่อเปิดทางให้การเบ่งบานของระบบสังคมนิยม ผมขอยืนยันว่าโลกใบนี้ยังคงมีทางเลือกอื่นที่ดียิ่งกว่าระบบทุนนิยม และระบบสังคมนิยมที่ช่วยปลดแอกมนุษย์ทุกคนสู่เสรีภาพที่แท้จริงคือทางเลือกที่เรากล่าวถึง