หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สถาบันกษัตริย์ที่มีอำนาจล้นพ้นในระบอบเก่าได้กลายมาเป็นเพียงสถาบันการเมืองหนึ่งที่อำนาจจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบใหม่ ทว่าบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยหลังจากนั้นกลับสวนทางกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อการการปฏิวัติที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งใน ‘สถาบันทางการเมือง’ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และมีบทบาทสำคัญหลายอย่างทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เรียกได้ว่ามีบทบาทแทบทุกมิติในสังคมไทย แต่การรับรู้เรื่องสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากคับแคบและถูกนำเสนอในมิติเดียวแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมการเมืองไทยคลาดเคลื่อนไปอย่างมาก  

ขณะที่กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ ’สถาบันกษัตริย์’ ที่ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทยได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ และเป็นเสียงแห่งยุคสมัยที่ไม่ว่าคุณจะมีจุดยืนต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างไร ก็ต้องมีบทสนทนาต่อประเด็นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราจะไม่เข้าใจสภาพตวามเป็นจริงของสังคมไทยได้เลย หากละเลยการศึกษาสถาบันกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในทุกมิติ Common School ขอชวนทุกคนมาอ่านบทความ ฟังการบรรยายที่เราทำมาตลอด 1 ปีในประเด็น ‘สถาบันกษัตริย์’ เพื่อทำความเข้าใจบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย รวมถึงปรากฎการณ์แห่งยุคสมัย กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่จะทำให้คุณเห็นรากฐานปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน 

ว่าด้วยความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ไทย

เราเคยสงสัยไหมว่า เหตุใดมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งถึงได้กลายเป็น ‘กษัตริย์’ ได้ เพียงเพราะพวกเขามีความแข็งแรงกว่าเช่นนั้นหรือ ? ในยุคแรกๆ เหล่ากษัตริย์ใน ‘ประวัติศาสตร์ไทย’ อ้างอิงความชอบธรรมในการเป็นกษัตริย์จากความเชื่อทางศาสนา และสร้างพิธีกรรม เสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวเองมีสถานะเหนือมนุษย์ เมื่อความเชื่อทาศาสนาเสื่อมลงพวกเขาต้องหันมาพึ่งพา ‘อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร’ เมื่อพวกเขาเข้าสู่สมัยใหม่และระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่พวกเขาต้องปรับตัวอย่างไร ? 

ว่าด้วยบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย

แม้ว่าปัจจุบันเราจะอยู่ในระบอบการปกครองที่เรียกว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ แต่ทว่าบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยมีลักษณะที่หลุดลอยห่างไกลจากระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่กษัตริย์มีอำนาจจำกัด  เพื่อที่จะเข้าใจบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยสมัยใหม่ เราอยากชวนให้คุณได้อ่าน ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ‘นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง’ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ หนังสือที่จะทำให้คุณเข้าใจ

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  หนังสือรวบรวมบทความเล่มแรกๆ ที่ชี้ให้เราเห็นถึงบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย สมศักดิ์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่แหวกขนบ และทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ที่กลายเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทยค่อยๆ เสื่อมมนต์ขลังลง หากใครอยากเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับ ‘สถาบันกษัตริย์’ หนังสือคลาสสิกเล่มนี้จะเป็นบรรไดขั้นแรกที่ทำให้เราเข้าใจบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันได้อีกด้วย ที่สำคัญสมศักดิ์ชี้ให้เราเห็นว่า สถาบันกษัตริย์ไทยคือ ใจกลางปัญหาของสังคมการเมืองไทย 

ดาวน์โหลดหนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (PDF) ได้ที่นี่

ปี 2564 ครบรอบ 20 ปีหนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง Common School จัดงานเสวนาปลดประวัติศาสตร์ปลดแอก ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ในโอกาสครบรอบ 20 ปีหนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หนังสือที่ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราชวนคุณไปดูความทรงจำของนักอ่านสามรุ่นต่างยุคต่างสมัยที่มีโอกาสได้เล่มหนังสือเล่มนี้ สำรวจฐานะทางประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างโดยนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ และมองปรากฎการณ์แห่งยุคสมัย การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่จากสามมุมที่จะทำให้คุณเข้าใจบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยที่ไปไกลกว่าตัวบทในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง 

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ หนังสือที่ว่าด้วยความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ของณัฐพล ใจจริงปกสีบานเย็นเล่มนี้ จะทำให้คุณเห็นบทบาทและความเคลื่อนไหวของกลุ่ม เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘ฝ่ายกษัตริย์นิยม’ หรือ Royalist ที่ออกมาต่อสู้รื้อฟื้นถวายพระราชอำนาจในระบอบเก่าคืนให้กษัตริย์ นอกจากนี้เรายังได้เห็นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวของสถาบันกษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญที่จะทำให้คุณเข้าใจรากฐานของปัญหาการเมืองไทยได้กระจ่างชัด

นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หนังสือกษัตริย์ศึกษาจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันปกส้มเล่มนี้จะพาคุณไปสำรวจการอภิปรายและไม่อภิปรายเกี่ยวกับ ‘สถาบันกษัตริย์’ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญของบรรดาสมาชิกรัฐสภาตั้งแต่ 2475-2550 ที่จะทำให้คุณเห็นพัฒนาการของการถกเถียงอภิปรายในประเด็นนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญและจะทำให้เข้าใจบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

ยืมหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อและนี่คือปณิธานที่หาญมุ่งได้ที่นี่

ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ประเด็นการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาหลังจากที่มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพานิชย์จาก ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ เป็นพระปรมาภิไธย รัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้คนออกมาคำถามถึง ‘ความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์’ และ ‘การจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ในยุครัชกาลที่ 10 อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เราจะเข้าใจปรากฎการณ์ที่สำคัญทางการเมืองนี้ได้ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นไปเป็นมาของการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วย

ตลาดวิชาอนาคตใหม่ The Crwon Strikes Back หนึ่งในการบรรยายในซีรีส์นี้ เราจะชวนคุณไปสำรวจมรดกจากการรัฐประหาร 2490 ในมิติที่ว่าด้วยพระราชทรัพย์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และถวายคืนพระราชอำนาจในส่วนหนึ่งให้แก่สถาบันกษัตริย์ เรื่องการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นปัญหามาตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2475 มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อจะเข้าใจปัจจุบันเราต้องเข้าใจอดีตด้วย  ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลจะพาเราไปสำรวจการจัดการความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์ฯ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยุคคณะราษฎร และหลังรัฐประหาร 2490 ที่จะพาให้คุณเห็นพลวัตรของการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ค่อยๆ หลุดออกจากอำนาจของประชาชน

ในขณะที่การบรรยายในซีรีส์เดียวกันของปวงชน อุนจะนำในหัวข้อ ‘กษัตริย์กระฎุมพี 2490-2560’ จะให้เราเห็นพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์ที่ปรับตัวได้ดีกับทุนนิยมไทยจนสามารถเปลี่ยนจาก ‘สถาบันจารีตตามแบบศักดินา’ ไปเป็น ‘สถาบันกษัตริย์แบบกระฎุมพี’ ( bourgeois monarchy) เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกระฎุมพีในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้นิตรยสาร Forbes จัดอันดับให้สถาบันกาัตริย์ไทยกลายเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ร่ำรวยหลายปีซ้อน ปมปัญหาดังกล่าวได้ได้กลายมาเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งปลายรัชสมัย และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ตกทอดมายังรัชสมัยใหม่อีกด้วย

ดูคลิปการบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ใน The Crown Strikes Back  ของชัยธวัช

ดูคลิปการบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ใน The Crown Strikes Back ของปวงชน

พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ หากคุณยังไม่จุใจ เราขอแนะนำให้คุณอ่านหนังสือปกหลืองเล่มนี้ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475’ จะทำให้เราเข้าใจเจตนารมณ์ในการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ของคณะราษฎร แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ปี 2557 แต่จะช่วยปูพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจปัญหาเรื่อง ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุมทุกมิติและยังทำให้เรารู้จัก “เครือข่ายทุนสีนำเงิน” กลุ่มทุนใหญ่ที่สุดในประเทศใต้หน้ากาก สำนักทรัพย์สินฯ มากขึ้น

ประชาชนจาก 7 ประเทศในยุโรป ต้องเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์เท่าไหร่กันบ้าง? ออกไปจากประเทศไทยกันบ้าง เราจะพาคุณไปดูสถาบันกษัตริย์เปรียบเทียบกันว่าประเทศอื่นๆ ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประชาธิปไตยมีการจัดสรรงบประมาณอย่างไรบ้าง เป็นเจ้าของทรัพย์สินใดบ้าง มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ มีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน คอนเทนต์ชิ้นนี้จะช่วยทำให้คุณความเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และปรับตัวเข้ากับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร อ่านคอนเทนต์ได้ที่นี่

ว่าด้วยการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย

แม้ว่าการปฏิวัติ 2475 สถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นเพียงสถาบันการเมืองหนึ่งในรัฐธรรมนูญเท่านั้น จุดตัดที่สำคัญในการรื้อฟื้นพระราชอำนาจกลับคืนมาคือ การรัฐประหาร 2490 ด้วยความเคลื่อนไหวของสถาบันกษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมที่ยังส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน ในคณะที่สถาบันกษัตริย์ทั่วโลกปรัขตัวเข้ากลับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะเดินออกห่างจากระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น เราจะเข้าใจปรากฎการณ์การขยายพระราชอำนาจที่เกินขอบเขตประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 จนนำไปสู่การเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้นั้น เราจำเป็นต้องย้อนไปดูจุดกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมดในทศวรรษ 2490

การรื้อฟื้นและขยายพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2490-2492 การบรรยายของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ในตลาดวิชาอนาคตใหม่ The Crown Strikes Back ได้พาเราย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มกษัตริย์นิยม’ ตัวละครทางการเมืองที่มีส่วนในการสร้างมรดกทางการเมืองที่เรียกว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ พวกเขาร่างรัฐธรรมนูญถวายคืนพระราชอำนาจ ลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจกษัตริย์จนไม่เหลือเค้าเดิมของหลักการกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและพาสังคมไทยหลุดนาฬิกาย้อนกลับไปในระบอบเก่า และจะทำให้คุณเห็นว่าต้นตอปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นอย่างดี

สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น! การออกกฎหมายเกี่ยวกับกษัตริย์หลังผลัดแผ่นดิน หากใครที่อยากรู้ว่าปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ขยายพระราชอำนาจมากน้อยเพียงใด เราขอแนะนำให้คุณฟังสรุปรวบยอดการออกกฎหมายเกี่วกับพระมหากษัตริย์หลังการผลัดแผ่นดินในท้ายการบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ The Crown Strikes Back โดยชัยธวัช ตุลาธน ที่จะทำให้คุณเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าเรากำลังอยู่ในระบอบการปกครองแบบใด ? ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ?

ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย

หากคุณเป็นคนที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างใกล้ชิด ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในวัตถุแห่งการศึกษาชั้นยอดในการเข้าใจสังคมไทย แต่เรามักจะรับรู้เพียงด้านเดียวจากสื่อกระแสหลักเท่านั้น แม้แต่ในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ก็มักจะผลิตงานที่ฉายภาพให้เห็นพระปรีชาสามารถ ความยิ่งใหญ่ คุณความดีของกษัตริย์ไทยในอดีตจนทำให้เราขาดทัศนะเชิงวิพากษ์และเสียโอกาสในการเข้าใจบทบาทด้านอื่นๆ ของสถาบันกษัตริย์ไทยในประวัติศาสตร์ไทย 

การต่อสู้ของสถาบันกษัตริย์ไทยในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่ผ่านงานของแพทริค โจรี บทความขนาดยาวของแพทริค โจรี รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ชิ้นนี้จะพาเราเข้าไปสำรวจงานเขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยว่ามีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างไรบ้าง มีจุดยืนทางการเมืองแบบใด มีการต่อสู้ช่วงชิงในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้อย่างไร จะทำให้เราเห็นภาพรวมของการต่อสู้ของสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ตั้งแต่ผลงานของกรมพระยาดำรงฯ งานของเหล่ากษัตริย์นิยมหลัง 2490 งานวิพากษ์ศักดินาของปัญญาชนฝ่ายซ้าย กระทั่งงานของนักวิชาการประวัติศาสตร์รุ่นหลังที่เข้าไปรื้อสร้าง ท้าทายโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบกรมพระยาดำรงฯ ที่ครอบงำสังคมไทยไปจนถึงการแตกหักกับประวัติศาสตร์นินิพนธ์ไทยกระแสหลักอย่างงานที่โดดเด่นของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ชี้ให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทในการฉุดรั้งพัฒนาการประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อ่านบทความได้เลยที่นี่ 

มรดกทางประวัติศาสตร์จากรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี บทความขนาดยาวอีกชิ้นที่จะทำให้คุณเข้าใจมรดกทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อสังคมไทยได้อย่างรอบด้าน ลุ่มลึก และแหลมคมอย่างมาก ปวงชน อุนจะนำผู้เขียนทความจะชวนเราย้อนกลับไปดูว่าจุดตั้งต้นในการเข้าสู่ตำแหน่งกษัตริย์หลังในหลวง ร.8 สวรรคต ท่านรื้อฟื้นพระราชอำนาจและกอบกู้พระราชสถานะที่ตกต่ำอย่างมากหลังการปฏิวัติ 2475 ได้อย่างไร นอกจากนี้ข้อเสนอหลักของปวงชนได้เสนอว่า มรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของในหลวง ร.9 คือการที่สถาบันกษัตริย์ไทยได้แปรสภาพจากสถาบันจารีตตามแบบศักดินาไปเป็นสถาบันกษัตริย์แบบกระฎุมพี ( bourgeois monarchy) และปรับตัวได้อย่างดีกันทุนนิมโลกาภิวัฒน์จนสามารถสะสมความมั่งคั่งและครองใจเหล่ากระฎุมพีจนกลายเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นได้ในที่สุด ปวงชนทิ้งท้ายในบทความที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกระฎุมพีในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมได้กลายมาเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งปลายรัชสมัย และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ตกทอดมายังรัชสมัยใหม่อีกด้วย 

อ่านบทความได้เลยที่นี่

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด