
ทุนนิยมกับแรงงานรูปแบบใหม่
กระบวนการผลิตเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในการดำรงชีวิต วัตถุที่ผลิตจึงเป็นสิ่งสะท้อนออกมาจากความต้องการ ในขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตย่อมไม่ได้ดำเนินไปอย่างเอกเทศ การมีพลังการผลิตถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ กล่าวคือมนุษย์กับเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเป็นจุดเริ่มต้นของการมีปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์กับวัตถุ โดยเรียกการมีปฏิสัมพันธ์นี้ว่า “ความสัมพันธ์การผลิต” ในกระบวนการผลิตสิ่งที่ยังขาดไปไม่ได้อีกคือ “ปัจจัยการผลิต” ประกอบไปด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรต่างๆ ที่ธรรมชาติมีให้แก่เรา ทั้งนี้ ระหว่างการผลิตก็ได้เกิดความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างมนุษย์ที่ร่วมกันลงมือกับวัตถุที่นำมาใช้ ดังนั้นผลผลิตจึงเป็นของสังคม อันจะส่งผลต่อการกำหนดรูปแบบและทิศทางความสัมพันธ์ทางสังคมและเป็นเนื้อแท้ในการเป็นมนุษย์ (real individual)
คำถามคือ หากมนุษย์ผลิตแต่เพื่อดำรงอยู่ รวมถึงผลผลิตก็เป็นไปเพื่อสังคม แล้วในกระบวนการผลิต “แรงงานเกิดขึ้นได้อย่างไร?”
แรงงานคืออะไร?
การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยศักดินาสู่ทุนนิยม คือการทำให้ประชาชนหลุดออกจากพันธนาการของขุนนางศักดินาเพื่อเป็นอิสระจากมูลนายและมุ่งสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนี้ความสามารถในการสะสมทุนทีละเล็กทีละน้อยของพ่อค้ายังทำให้เกิดโรงงานขนาดย่อม และก็เกิดอุตสาหกรรมในที่สุด โดยปัจจัยการผลิตอันได้แก่ พื้นที่ ทรัพยากร ทุกสิ่งที่เป็นวัตถุดิบเพื่อให้การผลิตเกิดขึ้นก็ถูกฉกฉวยไปด้วย ส่งผลให้เกิดมนุษย์ผู้ไร้ทุน ไร้ปัจจัยการผลิตตามมา ที่ท้ายที่สุดกลุ่มคนเหล่านี้จะเหลือเพียง อำนาจแรง (Labor power) ที่จะขายให้แก่ผู้มีทุนเพื่อครองชีพ และเกิดตลาดแรงงานเพื่อที่นายทุนจะได้มีแรงงานสำรองไว้ใช้เพื่อกดขี่ขูดรีดเอากำไรสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง
การอุบัติขึ้นของความสัมพันธ์แบบใหม่ของสังคม
ความสัมพันธ์ทางการผลิตกลายเป็นตัวกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม โดยที่สุดท้ายความสัมพันธ์เหล่านี้จะเป็นโจทย์ที่นำไปสู่การอธิบายความขัดแย้งด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น ความขัดแย้งทางการเมือง กฎหมาย เป็นต้น
ส่วนความขัดแย้งในความสัมพันธ์การผลิตแบบทุนนิยม อันเนื่องมาจากมนุษย์ได้แบ่งชนชั้นทางสังคมโดยฝ่ายหนึ่งครอบครองปัจจัยการผลิต และฝ่ายหนึ่งไร้ปัจจัยการผลิตรวมถึงถูกปกครองส่งผลให้คนกลุ่มนี้ถูกกดลงไปอยู่ใต้ปัจจัยการผลิตทั้งหมด เพราะการมีฝ่ายหนึ่งที่ได้ครอบครองจะทำให้มีอำนาจที่จะเลือกให้ความสำคัญกับแค่บางส่วน คือเลือกที่จะพัฒนาเพียงเครื่องมือการผลิต เช่น เครื่องจักร หรือนวัตกรรมต่างๆ เพียงเท่านั้น ซึ่งความสัมพันธ์การผลิตแบบทุนนิยมโดยเนื้อหาเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ให้ความสำคัญกับแรงงาน การจัดสรรปัจจัยการผลิต รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้มนุษย์ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้จึงขัดแย้ง โดยเฉพาะผู้ถูกปกครองที่จะต้องแปลกแยกจากตนเอง คือไม่ได้ทำการผลิตเพื่อดำรงอยู่รอดเช่นเดิม ผลผลิตที่ตนเป็นผู้ผลิตที่แท้จริงก็ไม่ใช่ของตนเอง ปัจจัยการผลิตที่เคยหาได้ด้วยตนเองก็ตกเป็นของผู้ฉกฉวยไปได้
กล่าวโดยสรุป การเน้นฉกฉวยปัจจัยการผลิต ขูดรีด และสะสมทุนจากกำไร คือโฉมหน้าของระบบทุนนิยม
ทุนนิยมยังมาพร้อมกับการพัฒนาวิถีการผลิต (mode of production) คือการพัฒนาอัตราเร่งผลผลิตในอุตสาหกรรม โดยใจความสำคัญคือ ผลผลิตต้องเหมือนกัน รวดเร็ว ล้นเกิน มากเกินความจำเป็น ทว่าส่งเสริมการสะสมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผลผลิตที่ได้มาจากอำนาจแรงงานมีลักษณะเป็นวัตถุรูปธรรมซึ่งสิ่งนี้จะเป็นข้อแตกต่างของผลผลิตที่จะกล่าวถึงในประเด็นถัดไป มากไปกว่านั้นแรงงานซึ่งถูกนับว่าเป็นสินค้าจำต้องพาตัวเองไปสู่ตลาดแรงงานเพื่อขายอำนาจแรงงาน ดังนั้นกระบวนการซื้อขายอำนาจแรงงานจึง ปรากฏภาพกิจกรรมของตลาดอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน
การเปลี่ยนรูปแรงงาน: จากอุตสาหกรรมในอดีตสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบัน
เราได้มาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้ารวมถึงสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง ทำให้ปัจจุบันงานมีความหลากหลายมากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่งานที่ใช้เพียงอำนาจแรงงานอีกแล้ว ทว่าเป็นงานของการสร้างความหมายให้กับผลผลิตเพื่อให้มูลค่าของสินค้ามีค่ามากกว่ามูลค่าการใช้สอย ซึ่งเรียกว่า การผลิตงานอวัตถุ (immaterial)
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแรงงานด้วยเช่นกัน แรงงานที่ผลิตงานอวัตถุ เรียกว่า “แรงงานอวัตถุ” ซึ่งความสำคัญของแรงงานประเภทนี้ คือแรงงานจะต้องใช้ความรู้ ทักษะ ความสร้างสรรค์ การตัดสินใจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต การผลิตลักษณะนี้จึงไม่ใช่การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมเสมอไปเช่นแต่ก่อน รวมถึงการผนวกเข้ากับ “ยุคทุนนิยมดิจิทัล” ซึ่งจะขอใช้เรียกทุนนิยมสมัยใหม่ต่อจากนี้ อันหมายถึงการขยายตัวของทุนสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใจความสำคัญ คือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งความหลากหลาย โดยจะเป็นสิ่งรูปธรรมหรือนามธรรมก็ย่อมได้เช่นกัน หากสามารถสร้างกำไรได้ทุนนิยมดิจิทัลถือว่าใช้ได้ทั้งนั้น
ต่อมาความหลากหลายได้ถูกพัฒนาไปสู่ โรงงานสังคม (social factory) และเป็นการขยายความหมาย คำว่า แรงงาน ที่กระจายจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่โรงงานสังคม เพราะไม่ว่าจะภาคบริการหรือภาคอุตสาหกรรม จะแรงงานที่ใช้อำนาจแรงงาน หรือแรงงานฝีมือก็ต้องมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะในการสื่อสาร แรงงานต้องพัฒนาคุณสมบัติของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อผลผลิตอวัตถุที่จะมีมูลค่ามากกว่าผลผลิตเชิงวัตถุ เช่น ของแบรนด์เนม ที่ชิ้นงานทางวัตถุมีมูลค่าการใช้น้อยกว่าชื่อแบรนด์ เป็นต้น มูลค่าสินค้าลักษณะนี้ทำให้แรงงานที่ผลิตวัตถุและปราศจากเนื้อหาความหมายถูกลดความสำคัญลงเนื่องจากผู้บริโภคเน้นมูลค่าของเนื้อหามากกว่าการใช้ประโยชน์ ซึ่งประเด็นนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ทุนไม่ได้ควบคุมเพียงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตเพียงเท่านั้น แต่ทุนควบคุมการสร้างมูลค่าให้กับกระบวนการผลิตทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตสู่การเกิดใหม่ของแรงงานอวัตถุนิยม
แรงงานอวัตถุมีแนวโน้มจะเป็นแรงงานอิสระเพิ่มขึ้นเพราะสามารถทำงานอยู่นอกภาคอุตสาหกรรมได้ ประกอบกับรูปแบบการทำงานถูกขยายออกมาภายนอกพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ขอบเขตการทำงานถูกยืดหยุ่นทั้งเวลา และสถานที่ อันเห็นได้จากระบบเครือข่าย อันเป็นตัวกลางที่แรงงานสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา
อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่แรงงานอยู่ยังคงเป็นพื้นที่สังคมทุนนิยม ดังนั้นแรงงานจึง “ดูเหมือน” อิสระ ทว่ามันคือการเป็นอิสระที่จะเลือกทำงานในระบบทุนนิยมจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่หนึ่งมากกว่าการเป็นอิสระที่จะไม่มีข้อกำหนดของทุนนิยมมาเป็นกรอบ ความยืดหยุ่นของเวลาที่เกิดขึ้นก็เป็นความยืดหยุ่นเวลาภายใต้สังคมทุนนิยมให้ดูเหมือนว่าเรามีอิสระที่จะทำงานเวลาไหน หรือที่ไหนก็ได้แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้ คือการกดทับรูปแบบหนึ่งที่ทุนนิยมผลิตขึ้นเพื่อให้แรงงานรู้สึกว่ามีอิสระมากกว่าเมื่อก่อนที่อาจจะต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นอิสระจากพื้นที่จึงเรียกว่าเป็นโรงงานสังคม มากไปกว่านั้นการมีโรงงานสังคมก็ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ ในทางตรงกันข้ามมันได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำในการฉกฉวยเอากำไรของนายทุนที่แรงงานสามารถทำงานให้ได้ทุกที่และที่สำคัญบางครั้งนายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการใดๆ เช่น งานประเภท Freelance เป็นต้น
ทุนนิยมที่ปลดพันธนาการแรงงานจากอุตสหากรรมสู่โรงงานสังคมได้สร้างความหลากหลายของแรงงานมากขึ้นเพราะไม่มีข้อกำหนดในการศึกษา หรืออายุของคนงาน กล่าวคือใครมีเครื่องมือเทคโนโลยีก็เป็นแรงงานได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ความยืดหยุ่นของเวลา ทำให้วิธีการคิดค่าจ้างจากวันทำงานที่นายจ้างซื้ออำนาจแรงงานมาถูกเปลี่ยนแปลงไปเพราะเวลามีความยืดหยุ่น เวลาที่แรงงานใช้เพื่อการผลิตจึงมีความซับซ้อนขึ้น และเป็นสิ่งที่ไม่รู้ถึงมาตรฐานการวัดเวลาทำงานรูปแบบใหม่นี้ กล่าวคือไม่สามารถแยกเวลาพักผ่อนกับเวลาทำงานได้
นอกจากนี้หัวใจสำคัญของทุนนิยมดิจิทัล คือการปรับตัวให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตของโลกใช้ความเพลิดเพลินแทนความตึงเครียดในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การกดไลก์ในแอปพลิเคชันต่างๆ สิ่งที่เรากระทำทั้งหมดจะถูกเก็บสะสมให้กับนายทุนเพื่อนำไปพัฒนาเป็น Business AI ในการคาดเดาพฤติกรรมการบริโภคและมักจะแสดงการคาดว่าผู้บริโภคนั้นๆ น่าจะมีความสนใจในสินค้าของผู้ผลิต ยิ่งมีผู้ใช้ช่องทางนั้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มความหลากหลายของเนื้อหามากขึ้นเท่านั้นทำให้ยิ่งสนับสนุนการเพิ่มพูนมูลค่าให้กับพื้นที่ออนไลน์โดยใช้ความเพลิดเพลินในการขูดรีดเอากำไรโดยผู้ใช้โซเชียลไม่ทราบว่าตนเองกำลังทำงานและเป็นแรงงานอวัตถุให้นายทุนอยู่ กล่าวคือ เราทุกคนคือแรงงานอวัตถุ ที่ผลิตเนื้อหา ความหมาย ความสร้างสรรค์ลงบนแพลตฟอร์มของนายทุนในทุกๆ วัน
กล่าวโดยสรุป คือแรงงาน หรือเดิมผู้ใช้แรง เป็นกำลังสำคัญในการก่อรูปขึ้นของสังคม ความสัมพันธ์ในการผลิตล้วนกำหนดรูปแบบของสังคมนั้นๆ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยปัจจุบันแรงงานทุกข์ทรมานกับระบบทุนนิยมไม่ว่าจะแบบเดิมที่มีแรงงานที่ออกแรงทำงานเพื่อการผลิตอันเป็นรูปธรรม หรือการปรับเปลี่ยนมาสู่ทุนนิยมดิจิทัลที่แรงงานผลิตงานอวัตถุ เนื่องจากเมื่อวิถีการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงมันก็ได้ส่งผลต่อแรงงานด้วยเช่นกัน เพราะแรงงานก็ต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้โครงครอบ (superstructure) ของสังคมเดียวกันกับนายทุน ทว่าอย่างน้อยที่สุด ณ ตอนนี้ถึงแม้จะอยู่ในโครงครอบเดียวกันแต่ก็ได้ทราบแล้วว่าตนเองกำลังอยู่ในสถานะของแรงงานรูปแบบใด กิจกรรมการใช้ชีวิตล้วนเป็นไปเพื่อการก่อกำไรของนายทุน การตระหนักรู้ถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในสังคมจะนำไปสู่การเข้าไปจัดการกับปัญหาได้ ตรงประเด็นขึ้น เพื่อไปสู่โลกใหม่ที่มนุษย์ทั้งผองสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ผลผลิตต่างๆ ทั้งรูปธรรม หรืออวัตถุที่ผู้ใช้แรงงานได้ลงแรงเพื่อสังคม จะต้องเป็นผลประโยชน์ของแรงงานและดำเนินไปเพื่อสังคมเท่านั้นที่เป็นทางออกของการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นนายทุนที่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีการผลิตไปเพียงใด หน้าที่ของกรรมาชีพอย่างเรา คือ การตรวจสอบเพื่อสังคมที่ดีกว่าสำหรับทุกคนอยู่เสมอ
อ้างอิง
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2557). “เราทุกคนคือศิลปิน” อวัตถุศึกษาว่าด้วยแรงงาน. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 130-155.
จิตลดา หมายมั่น , สมบัติ ทีฆทรัพย์. (2016). Industry 4.0 อนาคตของอุตสาหกรรมไทย. EAU HERITAGE JOURNAL Science and Technology, 14-28
สุภา ศิริมานนท์. (2536). แคปิตะลิสม์ บทวิเคราะห์ระบบสังคมเศรษฐกิจอเมริกัน.กรุงเทพฯ: ศยาม
ผู้เขียน

เพ็ญนภา หล่อประเสริฐ
จบใหม่สายปรัชญา มีความสนใจเรื่องสตรี แรงงาน ทุนนิยม และประเด็นทางสังคมร่วมสมัย โดยเชื่อว่าการเรียนปรัชญาจะสามารถมอบวิธีสร้างโลกใหม่ที่เป็นไปได้สำหรับทุกคนในสังคม