ตลาดวิชาอนาคตใหม่เป็นซีรีส์การบรรยายสาธารณะที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงความรู้ได้อย่างถ้วนหน้า การบรรยายที่เกิดขึ้นตลอดเดือนตุลาคม 2566 นี้ มีชื่อว่า “ประเทศไทย บทใหม่ เล่มเดิม?” โดยชวนนักวิชาการแนวหน้าของไทยจากหลายแขนงมาสำรวจอนาคตประเทศไทยในวันที่พลังใหม่กำลังเกิด แต่พลังเก่าที่กำลังจะตายยังพยายามรักษาระเบียบโครงสร้างไว้
การบรรยายลำดับที่ 1 Common School ได้รับเกียรติจากอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ เจ้าของรางวัลฟุกุโอกะ (Fukuoka Prize) ประเภทรางวัลสูงสุด (Grand Prize) ประจำปี 2023 มาบรรยายในหัวข้อ “หลัง 14 พฤษภาฯ : หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย”
ปูพื้น
การบรรยายครั้งนี้ต่อยอดจากบทความ “ล้มประชาธิปไตย” (Toppling Democracy) ที่อาจารย์เขียนเสร็จเป็นภาษาอังกฤษไม่กี่เดือนหลังรัฐประหาร 2549 ก่อนจะมีการแปลไทยโดยภัควดี วีระภาสพงษ์ อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองไทยและนำเสนอ diagram เป็นชุดเหตุการณ์จำนวน 4 กระแสที่ซ้อนกันและไม่เป็นเส้นตรงเดี่ยว ประกอบด้วย
ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 1 “จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: ฝ่ายเจ้าปะทะคณะราษฎร” ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อรัฐประหาร 2490 มีประเด็นใจกลางเกี่ยวกับสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งส่งผลให้สถาบันกษัตริย์อยู่ “เหนือการเมือง” (ในความหมาย=ออกไปเลย/พ้นไปจากการเมือง)
ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 2 “กองทัพปะทะระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา (ฝ่ายเสรีนิยม+ฝ่ายนิยมเจ้า)” มีประเด็นใจกลางคือบทบาทและอำนาจของกองทัพปะทะการเมืองระบอบรัฐสภา โดยมี 14 ตุลาฯ เป็นจุดเริ่มต้นการสิ้นสุดของระบอบทหารตอนพฤษภาเลือด 2535
ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 3 “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง 3 พลัง: นักการเมือง-ขบวนการประชาชน-วัง” มีประเด็นใจกลางเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยสะท้อนความขัดแย้งต่อสู้ ต่อรอง หรือเป็นพันธมิตรกันระหว่าง 3 พลังการเมืองคือ หนึ่ง-นักการเมืองและทุน สอง-วัง/เครือข่ายฝ่ายเจ้า และสาม-ประชาชน+ภาคประชาชน โดยมีสถาบันกษัตริย์อยู่ “เหนือ” (อยู่ข้างบน อยู่สูงกว่า) ระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการอยู่เหนือการเมืองนี้ต่างจากกระแสที่หนึ่งที่สถานะของสถาบันกษัตริย์ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ เพราะเป็นการอยู่เหนือในฐานะอำนาจทางศีลธรรมสูงสุดซึ่งตรงข้ามกับทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกยกเป็นตัวอย่างนักการเมืองที่ฉ้อฉลที่สุด
สำหรับชุดเหตุการณ์กระแสที่ 4 ณ ตอนที่บทความดั้งเดิม อาจารย์ได้ทิ้งเครื่องหมายคำถามไว้แบบเดียวกับชุดเหตุการณ์กระแสที่ 3 ว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ระบอบประชาธิปไตยก้าวเข้าสู่ชุดเหตุการณ์ชุดที่สี่หรือยัง และเหตุการณ์ชุดที่สี่มีองค์ประกอบอะไรบ้าง หรือชุดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ชุดที่สามยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่”
อย่างไรก็ดี บทความฉบับแปลที่เผยแพร่ในหลายปีให้หลัง อาจารย์ใส่เชิงอรรถว่า “ณ พ.ศ.2556 น่าจะเห็นได้รางๆ แล้วว่า การรัฐประหาร 2549 เป็นจุดสิ้นสุดหรือเริ่มต้นของการสิ้นสุดของกระแสที่สาม และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของชุดเหตุการณ์กระแสที่สี่ด้วยพร้อมๆ กัน แต่ยังอาจเร็วเกินไปที่จะระบุชัดเจนว่ากระแสที่สามจะสิ้นสุดเมื่อไรอย่างไร และกระแสที่สี่คืออะไร เริ่มเมื่อไร มีปัญหาใจกลางอยู่ที่ไหน”
ทั้งนี้ เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายไปตามกาลเวลา การบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ครั้งนี้ อาจารย์ก็มาพร้อมคำอธิบายชุดเหตุการณ์กระแสที่ 4 ที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังมีการเพิ่มเติม “ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 5” ขึ้นมา โดยใช้หมุดหมายสำคัญเป็นวันประกาศผลเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงอันดับ 1 แต่ต่อมากลับไม่ได้เป็นรัฐบาล ประกอบกับเกิดการสลับค่ายย้ายขั้วไปจับมือกับพรรคทหารของพรรคเพื่อไทย จนหลายฝ่ายประเมินว่าเป็นการปิดฉากความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เกิดขึ้นในชุดเหตุการณ์กระแสที่ 3
แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ นี่คือคำถามที่หาคำตอบได้จากการบรรยายของอาจารย์ในครั้งนี้
“เราไม่ได้ถอยหลังไปก่อนรัฐประหารปี 49 เราอยู่ในภาวะใหม่ที่ถอยหลังไปกว่าเดิม”
ประชาธิปไตยคืออะไร
“ประชาธิปไตยคือระบบที่ดีที่สุด ในแง่เป็นวิธีการที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่การชี้ขาดจุดหมายปลายทางที่เป็นอุดมคติสุดท้าย”
อาจารย์ธงชัยเริ่มต้นด้วยการพูดถึงระบอบประชาธิปไตยในความหมายของระบอบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่อนุญาตให้กลุ่มผลประโยชน์ที่มากและซับซ้อนไปตามแต่ละสังคมสามารถต่อรองผลประโยชน์กันได้ แม้ผลลัพธ์ของการต่อรองมีแพ้ชนะสลับกันบ้าง แต่ก็ยืนอยู่บนหลักการ/กฎระเบียบพื้นฐานที่ทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกัน และเปิดโอกาสให้มีพลวัตซึ่งเป็นความผันแปรภายในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น
“ระบอบประชาธิปไตยพยายามสถาปนาสิ่งที่เป็นวิธีการและกระบวนการที่มนุษย์จะพลวัตไปด้วยกันเรื่อยๆ สู้บ้าง ต่อรองบ้าง เดินหน้าบ้าง ถอยหลังก็มีได้ แต่ขณะเดียวกันยอมให้เกิดพลวัตเพราะมนุษย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
พลวัตหรือความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ยับยั้งแช่แข็งไม่ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด “ประชากร” (ในที่นี้อาจารย์ไม่ได้หมายถึงประชากรศาสตร์ หรือ demography ที่พูดถึงในแง่ตัวเลขรายหัว) ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีทางหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะประชากรในฐานะที่เป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นด้านจำนวน เพศ หรือเพศสภาพ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยจะสอดรับกับพลวัตที่เกิดขึ้นตลอดเวลานี้ได้ดีที่สุด
“ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด ในแง่ที่เป็นกระบวนการหรือวิธีการที่รองรับและอนุญาตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าฟ้าสีทองอยู่ตรงไหน ผมจึงไม่เคยพูดว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะผมเชื่อว่ามันไม่มี เอาแค่ตัวกระบวนการยังสามารถปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตัวมันเองจึงไม่มีทางสมบูรณ์เช่นกัน”
อาจารย์ยังเสริมว่า เมื่อความเปลี่ยนแปลงในแต่ละสังคมเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระบอบการเมืองที่แต่ละสังคมออกแบบจึงต่างไปด้วยเป็นปกติ และไม่มีรูปธรรมตายตัว ทั้งยังสะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของตนเอง อย่างไรก็ตาม ความต่างที่ว่าก็ไม่ได้ต่างกันอย่างสุดโต่ง เพราะยังคงอยู่บน “หลักการพื้นฐาน” ของระบอบประชาธิปไตย
Democratization
Democratization เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนหรือนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น เพื่อทำให้ระบอบหรือวิธีการที่เราจะอยู่ด้วยกันลงตัวมากขึ้น กล่าวอีกนัยคือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนมีช่องทางเพื่อมีส่วนในการตัดสินใจในประเด็นสาธารณะมากขึ้นนั่นเอง
ในแง่นี้ หากกระบวนการกลับกลายเป็นลักษณะตรงกันข้าม คือทำให้ประชาชนมีอำนาจและส่วนร่วมในการตัดสินใจน้อยลง ก็จะเรียกว่า “anti-democratization” หรือประชาธิปไตยที่ล้มเหลวย้อนหลัง อย่างไรก็ดี อาจารย์ย้ำอยู่หลายครั้งตลอดการบรรยายว่า กระบวนการย้อนหลังทางประชาธิปไตยนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งสำคัญคือการรักษากระบวนการประชาธิปไตยให้ดำรงต่อไปได้
“ต่อให้กระบวนการ democratized เกิดขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าสังคมจะก้าวหน้าเสมอไป บางภาวะเกิดกลุ่มอย่าง Trump ก็ถือเป็นการถอยหลัง แต่กระบวนการของเขายังเป็นกระบวนการประชาธิปไตยอยู่ มันเกิดขึ้นได้ โลกนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในภาวะที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยเกิดขึ้นแล้วในยุโรป ก็ยังถอยหลังได้ ลัทธินาซีหรือฟาสซิสต์ที่พยายามทำลายระบอบประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่คนสู้กัน การเกิดหรือมีอยู่ของระบอบประชาธิปไตยมันทำให้คนพลวัตได้ แม้กระทั่งการก้าวถอยหลังก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากสังคมตระหนักว่าเป็นสิ่งเสียหาย ก็จะเกิดการปรับตัวไปข้างหน้าอีกครั้ง สังคมจะต่อสู้ต่อรองเพื่อเดินไปข้างหน้าต่อไป ตราบใดที่ไม่มีการล้มระบอบหรือตีหัวเข่นฆ่ารังแกกัน”
กล่าวอย่างรวบยอด รูปแบบของการเข้าสู่อำนาจ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และความสัมพันธ์ทางอำนาจสามารถมีได้หลายรูปแบบ ในความเห็นของอาจารย์ ความสัมพันธ์ทางอำนาจใน Democratization ยังหมายถึงการต่อสู้ในหลายระดับคู่ขนานกัน ดังที่อาจารย์แสดงให้เห็นผ่าน diagram ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Democratization กับการเมืองไทย
ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 1 เป็นความขัดแย้งนับแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงคณะราษฎร ที่แม้คณะราษฎรจะเป็น “ทหาร” แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Democratization เนื่องจากได้เปิดโอกาสในการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มประชาชนต่างๆ มากกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ขณะเดียวกับที่ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 1 ยังไม่จบ ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 2 ก็เกิดขึ้นคู่ขนานกันในยุคระบอบทหาร ซึ่งในเวลาต่อมาเผชิญกับการต่อสู้ของคนกลุ่มใหม่ เช่น นิสิตนักศึกษา ชนชั้นกลาง ปัญญาชน รวมถึงกลุ่มนิยมเจ้า
ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 3 เริ่มประมาณ 14 ตุลาคม 2516 ที่กลุ่มเจ้าใช้เป็นจุดเปลี่ยนขึ้นมาต่อรองทัดทานทหารจนเกิดภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยมีพลังอีกสายหนึ่งที่ไม่ใช่ทหารและเจ้าก็เริ่มเข้ามาต่อรองจนทหารเกิดแพ้ในปี 2535 เป็นเหตุให้อาจารย์ตั้งชื่อกระแสนี้ว่า “ประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำของกลุ่มเจ้า/ภายใต้ภาวะการคลั่งไคล้เจ้า” โดยที่สถาบันกองทัพยังมีอยู่แต่ถูกทำให้กลายเป็นอำนาจรอง เหมือนที่ฝ่ายเจ้าเป็นในสองชุดเหตุการณ์แรก
ขณะที่ชุดเหตุการณ์กระแสที่ 3 ยังไม่จบ ก็เกิดชุดเหตุการณ์กระแสที่ 4 กลุ่มประชาชนสามารถหารูปแบบการเข้าถึงอำนาจและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจประโยชน์สาธารณะขึ้นมาได้ จนกลายเป็นการท้าทายต่อการครองอำนาจของกลุ่มเจ้า และกลายพันธุ์ต่อเป็นกระแสต่อต้านการเป็นประชาธิปไตย
อาจารย์ธงชัยให้เหตุผลการเป็นกระแสต่อต้านการเป็นประชาธิปไตยครั้งนี้ว่า เป็นเพราะกระแสการเมืองในขณะนั้น เป็นการย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์รัฐไทยที่ชนชั้นนำไม่เคยถูกกวาดล้างเพราะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นผลดี แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นคือระบอบอุปถัมภ์แบบเดิมสามารถเติบโตต่อเนื่องมาได้ คุณสมบัติของระบอบโบราณนี้มาพร้อมกับอภิสิทธิ์ที่ได้โดยชาติกำเนิด หรือที่อาจารย์เรียกว่า “entitlement by birth” และต้องรอจนเกิดการปฏิวัติ 2475 กว่าที่อภิสิทธิ์โดยชาติกำเนิดนี้จะหมดกำลังไป
อนึ่ง รัฐที่อ้างว่าตนมีอภิสิทธิ์ (entitlement state) ก็ยังคงอยู่ โดยระบบราชการที่พรากอำนาจมาจากเจ้าหลัง 2475 มี “ทหาร” เป็นผู้เล่นที่อยู่ในสถาบันทางอำนาจที่มีความสืบเนื่อง (continuation) ของระบอบเจ้าขุนมูลนายมากที่สุด
“กองทัพไทยเป็นกองทัพเจ้าขุนมูลนายที่ไม่ต้องอาศัยชาติกำเนิด กองทัพไทยจึงต้องมีนายพลเยอะๆ เพราะมันบ่งบอกศักดินาของคนเหล่านั้น กองทัพไทยจึงยกเลิกเกณฑ์ทหารยาก เพราะหากไม่มีไพร่คอยรับใช้ ความเป็นมูลนายมันหายไปด้วย จึงต้องมีไพร่เพื่อบอกว่าตัวเองเป็นมูลนาย กองทัพไทยคือการสืบทอดของระบอบอภิสิทธิ์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “รัฐไทย” โดยที่ตัดไปเพียงอย่างเดียวคือชาติกำเนิด”
ในแง่นี้ อาจารย์ธงชัยจึงอธิบายเหตุผลของการมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์แบบโลกวิสัย (เรียกง่ายๆ ว่า “เครื่องยศ”) เช่น การมีเรือดำน้ำหรือเครื่องบิน ว่าต่างเป็นสิ่งประกอบศักดินา/ยศของตัวเอง แบบเดียวกับที่หลายคนซื้อรถหรูทั้งที่ไม่มีความจำเป็น อย่างไรก็ดี การที่ประชาชนจะนำเงินตัวเองไปซื้อของลักษณะนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร การทหารที่เอา “ภาษีของประชาชน” ไปจ่ายซื้อเครื่องยศของตัวเองต่างหากที่ยอมรับไม่ได้
สำหรับชุดเหตุการณ์กระแสที่ 4 เป็นช่วงที่ประชาชนแสวงหาช่องทางเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีผ่าน “ตัวแทน” แม้ตัวแทนที่ว่านี้(ไม่ว่าจะเรียกบ้านใหญ่ เจ้าพ่อ หรือนักการเมืองฉ้อฉลก็ตาม) จะมีค่านายหน้าราคาแพง และทำให้ประชาชนต้องพึ่งพิงพวกเขา แต่ประชาชนยอมจ่ายเพื่อให้มีตัวแทนเข้าไป bypass (ลัดเลี่ยง) ระบบราชการ แทนที่จะต้องก้มหัวสยบต่อราชการตลอดไป อาจารย์จึงกล่าวติดตลกแต่ก็สมเหตุสมผลว่า ถ้ามองในมุมนี้ ปัญหาของไทยจึงเป็นการมีเจ้าพ่อ/บ้านใหญ่น้อยไป เพราะมันควรมีทุกจังหวัดเพื่อให้เกิดการขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์
อาจารย์ชี้ว่า แม้การกระทำของนักการเมืองเหล่านี้อาจไม่ได้คิดถึง Democratization แต่ในภาพใหญ่ก็ได้เป็นตัวแทนก่อให้เกิด Democratization
“ในความเห็นผม เราเรียกได้เต็มปากว่าสิ่งที่นักการเมืองเหล่านั้นทำ ต่อให้ใครจะว่าคอรัปชั่นอะไรก็ตาม มันคือการ democratized อย่างหนึ่ง ข้อเสียคือมันราคาแพงมาก แต่ราคาที่แพงนี้ คุณควรโทษนักการเมือง โทษประชาชน หรือโทษระบบราชการ? ในเมื่อระบบราชการไม่เปิดคุณจะให้ประชาชนกลับไปก้มหัวหรือ”
อาจารย์จึงสรุปว่า รัฐไทยเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ (มีความสัมพันธ์จากบนสู่ล่าง) ซึ่งบางระยะจำกัดแค่ระบบราชการ บางระยะก็ขยายไปครอบคลุมเอกชน จนทำให้ connection เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการประกอบธุรกิจในไทย
“การเมืองไทยเป็นการเมืองที่หนีไม่พ้นไปจาก “รัฐ” ที่ทุกคนต้องการเข้าไปมีอำนาจ”
รัฐปรสิตกับนักการเมือง
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่อำนาจรวมศูนย์สูงมาก สิ่งที่นักการเมืองพยายามทำคือทำให้ประชาชนมีช่องทางที่จะใช้วิธีอื่นในการเอาอำนาจการตัดสินใจและงบประมาณออกมา”
อาจารย์ธงชัยอธิบายว่ารัฐปรสิตมีองค์ประกอบสำคัญที่ดำรงอยู่ในรูปสถาบัน/ระบบ 3 อย่าง หนึ่ง-อำนาจที่อยู่เหนือระบอบทั้งหลายและแทรกแซงการเมืองเป็นประจำ สอง-ระบอบทหาร สาม-อำนาจรวมศูนย์แบบเหลือเชื่อ
สำหรับกลุ่มเจ้าและกลุ่มนิยมเจ้า หรือ “วัง” ไม่ได้มีอำนาจคงที่ แต่มีขาขึ้นขาลงผันแปรตามสถานการณ์ เช่น มีอำนาจมากช่วงสมบูรณาญาสิทธิราช อำนาจน้อยลงช่วงปฏิวัติ 2475 พอปี 2490 ก็พยายามรื้อฟื้น สู้กับทหารประมาณ 10 ปี จนถูกปกป้องและค้ำชูอย่างช้าๆ นับจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 พลิกกลับมาเป็นอำนาจที่คานกับทหารได้ พอถึงเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ก็ผันตัวกลายเป็นอำนาจนำและทำให้อำนาจทหารเป็นรองได้ และใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีจากนั้น เปลี่ยนให้ทหารกลายเป็น “ทหารพระราชา”
สำหรับทหาร อาจารย์ไล่เรียงว่า ทหารในระบอบเดิมไม่ได้มีอำนาจ แต่ต่อมากลายเป็นตัวการสำคัญในการ democratized ทำให้อำนาจหลุดจากมือของเจ้า จากนั้นเติบโตมากลายเป็นผู้นำเผด็จการในหลายยุคหลายสมัย ซึ่งแม้ในบางเหตุการณ์ เช่น 6 ตุลาฯ ทหารกับเจ้าจะร่วมมือกัน แต่อาจารย์ธงชัยเห็นว่าในภาพใหญ่ทหารกับเจ้ายังไม่ได้เป็นปึกแผ่นและยังต่อสู้กัน จนพอถึงพฤษภาฯ 2535 ทหารก็ตกเป็นเบี้ยล่างเจ้าเรื่อยมาจนโผล่มาอีกครั้งหนึ่งในรัฐประหาร 2549 กลายเป็นทหารคอแดงหรือทหารพระราชาตามที่ได้ว่ามาเรียบร้อยแล้ว
และเมื่อรัฐปรสิตมีอำนาจรวมศูนย์อย่างเข้มข้น การเกิดขึ้นของชุดเหตุการณ์กระแสที่ 4 จึงเป็นการที่ประชาชนค้นพบวิธีการที่ตอบโจทย์ในการเข้าถึงอำนาจผ่านนักการเมือง ดังที่อาจารย์ธงชัยสรุปรวบยอดอีกครั้งว่า
“ประชาชนมีความพยายามเข้าไปสู่อำนาจ มีส่วนในการตัดสินใจ ด้วยรูปแบบ ด้วย agency ต่างๆ กัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงนับว่า 2475 มันคือการทำให้เป็นประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าในสมัยนั้น มันคือการที่ความเป็นทหารเถลิงอำนาจ แต่ต่อมาประชาชนกลับถูกเขี่ยลงถังเมื่อกลุ่มอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นระยะที่มีแต่ทหาร หรือทหารไปรวมกับเจ้าให้เป็นอำนาจรอง เกิดการลุกฮือเป็นระยะ เช่น 14 ตุลาฯ ถึงขนาดตายเป็นระยะ เช่น 6 ตุลาฯ หรือพฤษภาฯ 35 สุดท้ายประชาชนก็มีช่องทางชนิดใหม่ในการเข้าถึงอำนาจ ในการจะดึงเอาทรัพยากรมาให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ประชาชนที่ไม่เป็นเอกภาพเหล่านี้ (เช่น จังหวัดหรือภูมิภาคต่างกัน) ค้นพบวิธีการร่วมคือ ผ่านตัวแทนที่เรียกว่า สส.”
14 พฤษภาฯ กับปรากฏการณ์พลิกขั้ว
และแล้วชุดเหตุการณ์กระแสที่ 5 ก็ปรากฏ หลังผลเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ออกมาเป็นว่า พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งเหนือพรรคเพื่อไทยที่ชนะและเป็นเต็งหนึ่งในการเลือกตั้งมาหลายสมัย ทว่าสิ่งที่ประชาชนจำนวนหนึ่งประหลาดใจไปจนถึงผิดหวังมากที่สุดคือ ท้ายที่สุดแล้วพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาล ซ้ำร้ายพรรคเพื่อไทยกลับสลับข้างย้ายขั้วไปจับมือกับพรรคทหารและพรรคอนุรักษ์นิยมจนจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ทำให้หลายคนมองว่า ความขัดแย้งระหว่าง “เหลือง vs แดง” หรือ “เอาทักษิณ vs ไม่เอาทักษิณ” ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ได้ยุติลงราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่หากมองผ่านข้อเสนอของอาจารย์ธงชัย การต่อสู้ในชุดเหตุการณ์กระแสที่ 4 นี้ “ยังไม่จบ” โดยอาจารย์เริ่มพิจารณาโดยการกลับยังระบอบการปกครองไทยปัจจุบัน ในภาวะที่ชนชั้นนำสองกลุ่มหลักในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่คือ เจ้ากับทหารผนึกกำลังกัน (ทหารเป็นรองเจ้า) หรือที่เรียกว่า “ราชเสนานุภาพ” (Royal-praetorianism) จนทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ระบอบการปกครองของไทยเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจริงหรือเปล่า
อาจารย์กล่าวในเชิงเห็นด้วยกับสถาบันทิศทางไทยและผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ (หลายคนรู้จักในนาม “อานนท์ลูกบิด”) ที่เคยแสดงทัศนะว่า การแปลคำว่า Constitution Monarchy เป็นคำว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “ไม่ถูกต้อง” แต่ต้องแปลเป็น “ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ” ต่างหาก
“อาจารย์อานนท์ครับ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์หนึ่งประเด็น อีกล้านประเด็นเราเห็นต่างกัน แต่เรื่องนี้ผมเห็นด้วย ระบอบแบบปัจจุบันนี่แหละ คือระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้งด้วย ไม่ว่าชื่อทางการจะเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรืออะไรก็แล้วแต่”
อาจารย์ธงชัยขยายความว่า ระบอบดังกล่าวเคย “เกือบ” เกิดขึ้นแล้วในสยาม เพราะเป็นระบอบที่รัชกาลที่ 7 ตระเตรียมไว้ แต่การปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรเป็นตัวขัดขวางไม่ให้มันเกิดขึ้น ในแง่นี้ เป้าหมายที่ฝ่ายเจ้าต้องการในเวลานั้นจึงได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาอาจารย์กล่าวในเชิงตรงกันข้ามกับข้อหาที่บอกว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็นเพียง “การละคร” ว่า ความขัดแย้งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงหลังการรัฐประหาร 2557 (เกิดชุดเหตุการณ์กระแสที่ 5) ประเทศไทยได้ “เปลี่ยนไปแล้ว” ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะใช้เป็นสโลแกนหาเสียงเลือกตั้งด้วยซ้ำ
ตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์ยกมาเพื่อทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประชาชน คือการเกิดขึ้นของโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ เรียนรู้วิธีการทำมาหากินโดยไม่พึ่งองค์กรขนาดใหญ่ ลักษณะการทำมาหากินที่เกิดขึ้นนี้ยังทำให้คนจำนวนมหาศาลออกนอกระบบการเก็บบันทึก
ความเปลี่ยนแปลงในภาคประชาชนนับแต่ 14 ตุลาเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่เพียงการเกิดขึ้นของนักการเมืองในฐานะตัวแทนตามกระแส Democratize แต่ยังเกิด “การเมืองของมวลชน” (mass politics) ที่มีนาดใหญ่กว่าแค่กรุงเทพฯ และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน (ก่อน 14 ตุลาการเมืองมวลชนมักจำกัดแค่ในจังหวัดใหญ่ๆ หรือกรุงเทพฯ และไม่มีความต่อเนื่อง)
การขึ้นมามีอำนาจของนักการเมืองที่มีอิทธิพลท้องถิ่น ก็เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การเมืองของมวลชนเช่นกัน เพราะการขึ้นมามีอำนาจของนักการเมืองผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ด้วย (เจรจา โน้มน้าว ต่อรอง ไปจนถึง “หลอก”) กระทั่งการซื้อเสียงก็หมดประสิทธิภาพมากว่ากว่าสองทศวรรษแล้ว เพราะแม้จะมีการแจกเงินจริง แต่ประชาชนก็ไม่ได้เลือกคนที่แจก ดังนั้นการแจกเงินในความเห็นอาจารย์จึงเป็นเพียงวิธีการันตีว่าจะไม่แพ้เลือกตั้ง แต่ไม่การีนตีชัยชนะ
“เราอย่าไปคิดถึง 14 ตุลาฯ แค่ในแง่เตะหมูเข้าปากหมา เราคิดในแง่นี้ด้วยสิ เราถึงจะชื่นชมและพูดได้เต็มปากว่า 14 ตุลาฯ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองของมวลชนเช่นกัน”
นักการเมืองในชุดกระแสเหตุการณ์นี้จึงเติบโตขึ้นมาท่ามกลางประชาชนซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ว่าประชาชนมีความเป็นอิสระจากอำนาจต่างๆ รวมถึงอำนาจท้องถิ่นเรื่อยๆ เพราะการผลิตและการแสวงหาผลประโยชน์ของประชาชนมีลักษณะเป็นรายย่อยและมีลักษณะเป็นตัวบุคคลมากขึ้น จนทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ในปัจจุบัน
การเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระยะสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่ต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ ซ้ำยังพบว่าระบบอุปถัมภ์เป็นอุปสรรคและปัญหา อาจารย์จึงกล่าวว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลและคนในพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งทำนั้นเป็นการประมวล (articulate) ประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนไปแล้วให้เป็นระบบ ทำให้สิ่งนามธรรมที่นักวิชาการเรียกว่า ปัญหาเชิงระบบ/โครงสร้าง มีรูปร่างหน้าตาชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะผ่านเรื่องส่วยรถบรรทุก หรือกรณีส.ต.ท.หญิงทารุณอดีตทหารรับใช้ ที่ต่างทำให้พอเห็นเครือข่ายของปัญหาเชิงระบบ
“สิ่งที่ก้าวไกลทำ สิ่งที่หลายคนทำ โดยเฉพาะในสภา มันช่วยสะท้อนสิ่งที่ประชาชนรู้ สิ่งที่ประชาชนพอนึกออก แต่ประมวลออกมาเป็นภาพหรือคำซึ่งกระชับชัดเจนเป็นระบบไม่ได้ สิ่งที่สส. ก้าวไกลและอีกหลายท่านกระทำ รวมถึงเพื่อไทย คือทำให้สิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างกับระบบที่เป็นปัญหาเห็นเป็นรูปธรรม”
“ระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ที่อำนวยการโดยรัฐปรสิต” คือชื่อเรียกที่อาจารย์ธงชัยเรียกรวบยอดระบบที่รัฐไทยกำลังเป็นอยู่นี้
ก้าวไกลเป็นแค่ยอดของพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลง
“เราประเมินประชาชนต่ำไปอีกแล้ว”
อาจารย์ธงชัยเล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า หลายปีที่ผ่านมามีโอกาสได้พบกับคนหลายกลุ่มที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทุกกลุ่มที่พบมักจะพูดเสมอว่า ต่างสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ตนทำได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งแม้ส่วนตัวอาจารย์จะรู้สึกเฉยๆ และผิดหวังในเวลาเดียวกัน แต่ไม่นานมานี้ก็เกิดเห็นว่า มันหมายถึงพลังที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการสร้างสรรค์ ที่มีอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะบรรดาคนเก่งๆ ที่แทรกอยู่ในระบบต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในระบบที่อยู่แยกกัน ซึ่งหากมองว่าคนเหล่านี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนพลังจำนวนมหาศาลที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงแต่ถูกกดไว้ข้างใต้ ประเทศไทยย่อมมีศักยภาพที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้
อาจารย์เปรียบเทียบกับช่วงหลังเกิด 14 ตุลาฯ ที่มีความพลั่งพลูทางปัญญาและวัฒนธรรมขนานใหญ่ จนพูดได้ว่า พลังและศักยภาพเหล่านี้เกิดกระบวนการสะสมและพร้อมเผยตัวมาก่อนแล้วเพียงแค่ถูกกดไม่ให้โงหัวขึ้นมาโดยระบอบทหารในขณะนั้น ในแง่นี้ พลังและศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันจำนวนมากก็ถูกกดไว้โดยรัฐปรสิตของกลุ่มนิยมเจ้าและทหารที่มีการรวมศูนย์อย่างเหลือเชื่อเช่นกัน ดังนั้นหากระบบที่กักขังศักยภาพนี้ถูกทำลายลง โอกาสที่จะสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงจึงยัง “เป็นไปได้” จึงไม่แปลกที่การมีอยู่ของพรรคก้าวไกลจะเป็นสิ่งที่ “พวกเขา” กลัว
อาจารย์เรียกสติต่อว่า พรรคก้าวไกลหรือคนที่อยู่ฉากหน้าของพรรค อาจไม่ได้รับความนิยมหรือมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างที่เป็นอยู่ได้ หากปราศจาก “พลังทางสังคม” ที่หนุนเสริมพวกเขาอยู่แบบเดียวกับที่เคยเกิดในช่วง 14 ตุลาฯ
“ในสายตาของคนเหล่านั้น [พรรคก้าวไกล] อาจหมายถึงพิธา ธนาธร ชัยธวัช หรือบรรดาสส. แต่ผมจะบอกว่า อย่ามองไปที่คนเหล่านั้น คนเหล่านั้นเป็นเพียงแค่หน้าที่โผล่ขึ้นมาของพลังทางสังคมซึ่งเป็นฐานของคนเหล่านั้น เป็นเพียงตัวแทนของพลังทางสังคมจำนวนมากที่พร้อมจะระเบิด พร้อมจะระบาย พร้อมจะพลุ่งพล่านออกมาสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยดีขึ้นและมีอนาคต พวกเขาเป็นแค่ตัวแทนของประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว”
การต่อสู้ต่อระบบและโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งที่อาจารย์เห็นว่าจะเกิดขึ้นต่อไปหลังสงครามเหลือง-แดงจบ รูปธรรมที่ว่านี้ก็มีลักษณะในทำนองเดียวกับที่พรรคก้าวไกลกำลังทำอยู่ คือสามารถบอกได้ว่าในการแก้ปัญหาหรือดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงต้องแก้กฎหมายฉบับไหนบ้าง จัดการงบประมาณอย่างไร เพราะเป็นวิธีการบริหารงานรัฐสมัยใหม่ที่ถูกต้อง ที่แม้อาจารย์จะเห็นว่า “ต่อให้ยังผิด” แต่ก็เป็นวิถีทางที่ถูก ซึ่งนักการเมืองและพรรคการเมืองอื่นควรกระทำ
ก้าวไกลไม่ใช่เด็ก
อาจารย์ยังชี้ให้เห็นว่า “วาทกรรมเด็กก้าวร้าว” ซึ่งบรรดา “ผู้ใหญ่ในสังคมไทย” ใช้เพื่อโจมตีและลดทอนการต่อสู้ของพรรคก้าวไกลหรือเยาวชน มีประเด็นอยู่ที่การท้าทายระบบอุปถัมภ์มากกว่าจำนวนอายุหรือพฤติกรรม
“ก้าวไกลไม่เด็ก เด็กทำแบบนี้ไม่ได้หรอก ถ้าเด็กทำอย่างนี้ได้ ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เกษียณไปได้แล้ว เพราะแปลว่าเขาจับจุดมาถูกทางแล้ว การกล่าวหาว่าก้าวไกลเป็นเด็กทั้งที่คุณดูองค์ประกอบพรรคคนแก่ๆ ตั้งเยอะ พูดอย่างไทยๆ คือหมายเลียตูดไม่ถึงแล้วทั้งนั้น วาทกรรมที่ว่าเป็นเด็กก้าวร้าว ล้วนแต่เป็นวาทกรรมที่ใช้บรรยายอย่างรวบยอดต่อพลังที่ท้าทายระบบอุปถัมภ์ที่เป็นอยู่เดิมต่างหาก ถ้าคุณไม่ท้าทายเขาคุณก็ไม่เด็ก ถ้าคุณท้าทายเขาคุณก็เป็นเด็กก้าวร้าว มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีคำพูดที่อาจจะเด็ก เรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็ก เอาเข้าจริงทุกฝ่ายมีด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่ความไร้เหตุผล เอาเข้าจริงพรรคที่เก่าแก่อาจจะมีมากกว่าเสียอีก ที่ใช้วาทกรรมก้าวร้าวกับก้าวไกลและเยาวชนทั้งหลายเป็นเด็กก้าวร้าว เพราะคนเหล่านั้นกำลังท้าทายเครือข่ายระบบอุปถัมภ์และรัฐปรสิต วาทกรรมทำนองนี้เหลวไหลทั้งเพ พวกเขาเป็นผู้ใหญ่มากพอๆ กับคนอื่นๆ ในประเทศ พวกเขามีข้ออ่อนเป็นมนุษย์ปกติ แต่พวกเขามีความสามารถทำให้เราเห็นช่องทางการต่อสู้กับโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ผมคิดว่าสังคมไทยมาก้าวถัดไปจากทักษิณ ระบอบทักษิณ หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เราสนใจนโยบายหรือเขยิบจากการสนองตอบประชาชนที่ต้องการ bypass ระบบราชการ มาเป็นอธิบายปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างได้ ในแง่นี้อันดับต่อไปคือเราจะสู้ต่อระบบและโครงสร้างนั้นอย่างไร”
ขณะที่ชุดกระแสเหตุการณ์ที่ 4 ยังไม่จบ (เครือข่ายระบบอุปถัมภ์นอกราชการที่พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ตามระบบราชการ)การขึ้นมาของชุดกระแสเหตุการณ์กลับเป็นการมองระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ต่างเป็นปัญหา และขยับไปท้าทายระบบและโครงสร้าง
“การเลือกตั้งนี้ ทำให้พลังซึ่งเคยเป็นตัวแทนประชาชนในการ bypass ระบบราชการ เขาตกใจกับประชาชนที่เห็นว่าระบบอุปถัมภ์คือปัญหา เพราะเขาก็เล่นเกมเดียวกัน คือพยายามเข้าไปมีอำนาจในรัฐระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่อันนั้น ถึงแม้ในด้านหนึ่งเขาจะต่อสู้กับระบบราชการ เขาเจอว่าอีกด้านหนึ่งกำลังถูกท้าทายโดยคนที่เห็นว่าตัวระบบอุปถัมภ์ไม่ว่าแบบไหนต่างเป็นปัญหา”
นายแบก/นางแบกพรรคเพื่อไทย
หลังพูดถึงพรรคก้าวไกลแล้ว อาจารย์ธงชัยยังมีการพูดถึงวิธีการของพรรคเพื่อไทยในฐานะตัวแทนของประชาชนในชุดเหตุการณ์กระแสที่ 4 ว่ายังอาจมีประโยชน์อยู่ แต่หากวางเทียบกับชุดเหตุการณ์กระแสที่ 3 ซึ่งเกิดก่อนหน้า และโดยเฉพาะชุดเหตุการณ์กระแสที่ 5 ซึ่งเกิดตามหลัง ก็ย่อมเกิดความขัดแย้งทางความคิดไปโดยปริยาย
อาจารย์ยังสื่อสารไปถึงกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่มักออกมาอธิบายแก้ต่างให้การกระทำของพรรคตนเอง หรือที่รู้จักกันในนาม “นายแบก/นางแบก” ว่าแม้วิธีการใช้ตัวแทนที่อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ยังอาจใช้การได้อยู่ แต่การเคลื่อนไหวเชิงต่อต้านปัญญาชนเพราะไม่รู้จักประชาชนดีพอเป็นสิ่งที่น่าระมัดระวังอย่างยิ่ง
“ในภาวะเช่นนี้เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งจงรักภักดีกับพรรคเพื่อไทยในแบบเดิม และผมคิดว่าอย่าดูถูก อย่ามองว่าพวกเขาผิด เพราะพวกเขาได้ประโยชน์และยังเห็นประโยชน์ของการท้าทายระบบราชการด้วยกลวิธี ด้วยช่องทางนั้น ซึ่งผมเห็นว่ายังเป็นไปได้ และอาจจำเป็นอยู่ด้วย แต่ก็ขัดแย้งกับคนที่คิดอีกทางหนึ่ง”
“ผมอยากจะดูต่อไปว่า คนจำนวนหนึ่งที่เราเรียกว่า นายแบก/นางแบกทั้งหลาย ระยะหลังถ้าผมเข้าใจไม่ผิด พวกเขารู้สึกว่าก้าวไกลหรือกระแสที่โน้มเอียงไปทางก้าวไกลไม่เข้าใจประชาชน ดูถูกประชาชน เขาต่างหากรู้จักประชาชนดีกว่า ผมคิดว่าเพราะเขายังติดอยู่ในการที่เขาใช้ตัวแทนแบบเดิม ขณะเดียวกันการทำให้โครงสร้างและระบบปรากฏเป็นรูปธรรม มันก็ยังมีกลิ่นไอของความเป็นปัญญาชน พูดง่ายๆ ตามที่เขาพยายามพูดเผยแพร่และปรับความรู้ความเข้าใจกันว่า เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประชาชน เขามีส่วนถูกนะ แต่ผมอยากให้ระวัง ขอสื่อสารไปถึงคนที่พยายามสื่อสารแบบนี้ว่า ถ้าคุณ push ตรรกะและเหตุผลนี้ไปเรื่อยๆ มันจะเป็นแบบเดียวกับเขมรแดง ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไกล ยังไม่ใกล้ แต่มันเป็นตรรกะแอนตี้ปัญญาชน ถ้าเราไม่ยอมรับการพูดคุยถกเถียงแบบปัญญาชนท่ามกลางและในหมู่ประชาชน เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วอะไรเป็นความก้าวหน้าทางปัญญาของทั้งสังคม ต้องยอมให้มันเกิดขึ้น ต้องยอมให้ผมมาพูดอย่างที่พวกคุณไม่รู้เรื่อง มันเป็นเรื่องปกติตราบใดที่ผมไม่อ้างว่าผมควรมีสิทธิ์โหวตมากกว่าหนึ่งเสียง”
บททดสอบของนายแบก/นางแบก
“การอวดอ้างว่าตัวเองรู้จักชาวบ้านจะกลายเป็นเพียงการแก้ตัวแทนผู้ที่ยังอิงแอบและอาศัยระบบอุปถัมภ์ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ในหรือนอก ระบบราชการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพอใจกับการเข้าไปมีอำนาจกับเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า รัฐ ถ้าคุณใช้ argument ทั้งหลาย เพื่อเป็นคำแก้ตัวปกป้อง ค้ำจุน ส่งเสริม ระบบซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของประชาชน สิ่งที่พวกคุณกำลังทำก็จะเป็นการต่อต้านประชาธิปไตย ถ้าคุณพยายามผลักดันด้านที่ก้าวหน้า ด้านที่ Democratize ของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคใดก็ตาม เพื่อต่อสู้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ของระบบอุปถัมภ์ ผมไม่แคร์ว่าคุณจะอยู่พรรคก้าวไกลหรือไม่ ผมแคร์แค่ว่าคุณจะส่งเสริมการต่อสู้การลดอำนาจของรัฐปรสิตที่มีธรรมชาติคือระบบอุปถัมภ์ใหญ่โตรึเปล่า เหตุผลตะแบง แถ หรือการพูดอย่างมีหลักมีผล เราตัดสินกันตรงนั้น และถ้าตัดสินกันตรงนั้น ผมหวังหลายคนจะเลิกแถ เลิกตะแบง ผมไม่ได้คิดว่าก้าวไกลถูกไปหมด ถ้าคุณใช้ความมีเหตุมีผลในแง่ความเป็นประชาธิปไตยเป็นหลัก คุณจะพบว่ามีข้อโต้แย้งพรรคก้าวไกลได้หลายเรื่อง ได้บ่อยไป และการถกเถียงแบบนั้นจะมีประโยชน์และคุณค่ามากกว่าการตะแบงพิทักษ์เพื่อไทย หรือคนที่อิงกับระบอบอุปถัมภ์นอกระบบราชการ”
บททดสอบของพรรคก้าวไกล
“ส่วนบททดสอบของก้าวไกล คือความสามารถในการทำให้สิ่งที่ยากมันจับต้องได้ มันอาศัยพลังและความรู้ความสามารถที่สูง แต่ต้องระวังให้ดี คุณอาจจะเท้าไม่ติดดินจริงๆ ระวังข้อกล่าวหาที่ว่าคุณไม่รู้จักประชาชนดีพอ ผมรอการพิสูจน์ว่าคุณจะแก้ข้อกล้าวหาได้หรือไม่ จะเป็นจริงหรือไม่จริงขนาดไหน เอาแค่ภายในพรรคก็เถอะ ปีกที่สัมผัสกับประชาชนอยู่ทุกวี่ทุกวันกับปีกที่นั่งอยู่ในออฟฟิศเพื่อทำงานนโยบาย เผลอๆ มันจะมีการให้น้ำหนักที่ไม่เหมือนกัน คุณต้องโชว์ความสามารถว่าจะปฏิบัติการยังไงให้สองส่วนนี้ไปด้วยกันได้ พรรคการเมืองที่ดีไม่ใช่พรรคการเมืองที่ไม่มีความขัดแย้งภายใน พรรคการเมืองที่ดีคือพรรคการเมืองที่มีความต่างภายใน แต่สามารถจัดการเพราะยึดหลักใหญ่ร่วมกันได้ แล้วปล่อยให้ความต่างเหล่านั้นทำให้เกิดพลวัตภายในพรรคนั้นๆ”
ธงชัยถึงประชาชน
“สำหรับประชาชน เราเสียดายที่โอกาสที่ดีเมื่อพฤษภามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่โอกาสเรายังไม่หมด โอกาสของเรามีอยู่เยอะ เพราะศักยภาพในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงมันอยู่ที่พวกเรา แล้วเราจะผลักดันพรรคหรือกลุ่มการเมืองในแง่ไหน ก็แล้วแต่เราจะเลือก เราพอใจการปีนต้นมะพร้าวทีละขั้น หรือพอใจการที่คิดเลยต้นมะพร้าวแล้วค่อยไต่ลงจากต้นมะพร้าวลงมา พยายามผลักดันปัญหาต่างๆ ขึ้นไป อันนั้นเลือกกันได้ แต่เราไม่ควรพอใจกับการที่ต้องกลับไปพิทักษ์ปกป้องระบอบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่ารัฐไทยอีกแล้ว เราเลยจุดนั้นมาแล้ว”
“สังเกตไหมว่าการชุมนุมในระยะหลังๆ มันไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาประชาสัมพันธ์ ปัญหาแกนนำ หรืออะไรทั้งสิ้น (ต่อให้มีอยู่) เรื่องใหญ่มันอยู่ที่ความสำเร็จของระบอบรัฐสภา ทำให้คนมีความหวังกับระบอบรัฐสภา พูดง่ายๆ ผมโทษพรรคก้าวไกลอีกแล้ว เพราะทำให้ประชาชนมีช่องทางที่พอจะสู้ในทางนั้นได้ ถ้าพอมีช่องทางแล้วต้องไปเสี่ยงเจ็บตัวบนท้องถนนเสี่ยงกับกฎหมายอะไรทำไม ซึ่งในแง่นี้ในระยะยาวถือเป็นเรื่องดี ในแง่นี้ฝากถึงผู้มีอำนาจว่า ความพยายามในการยุบพรรคก้าวไกลหรือทำลายขนานใหญ่ เป็นการตัดสินใจที่ผิดมหันต์ ไม่ว่าคุณจะยุบขนานใหญ่ให้เหี้ยน หรือเด็ดทีละคนทีละช่อก็ตาม การคิดอย่างนั้นในแง่ประวัติศาสตร์ระยะยาว คุณคิดผิด คุณไม่ให้ความหวังหรือช่องทางที่จะเติบโตแก่สังคมไทยเลย สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่และไม่ก้าวร้าว หัดคิดยาวๆ ไกลๆ หน่อย รับผิดชอบต่อเด็กๆ บ้าง แทนที่จะเรียกร้องให้เด็กรับผิดชอบกับพวกเราเพียงอย่างเดียว เขายังมีอนาคตอีกยาวไกล การปิดช่องทางเหล่านั้นเป็นการเดินหน้าสู่อันตรายอย่างยิ่ง”
ธงชัยอ่านนิธิ
ตอนท้ายของการบรรยาย อาจารย์ธงชัยมีการพูดเสนอต่อจากข้อเขียนที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการคนสำคัญที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (https://www.matichonweekly.com/column/article_686749) ที่บอกว่า ประเทศไทยได้เดินมาถึงจุดที่หลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ยาก ซึ่งอาจารย์ธงชัยเห็นว่าในข้อเขียนดังกล่าวอาจารย์นิธิยังไม่ได้อธิบายชัดเจนถึงเหตุผลที่เสนอเช่นนี้ ทำให้อาจารย์ธงชัยคิดและนำเสนอต่อเหมือนผู้ที่กำลังยืนบนบ่าของยักษ์ว่า
“โดยสรุปคือประวัติศาสตร์นับจาก 14 ตุลาจนถึงปัจจุบัน ชนชั้นปกครองเข้มแข็งขึ้น แต่ประชาชนก็เข้มแข็งขึ้น ถ้าหากทั้งสองข้างเดินไปอย่างนี้ก็มีแต่ประชาชนจะสยบยอมอยู่ภายใต้รัฐอุปถัมภ์มากขึ้น หรือชนชั้นปกครองต้องยอมปรับ หรือ crush กันเพื่อหาทางออก ผมเดาว่าอาจารย์นิธิเห็นสิ่งนี้ คือชนชั้นปกครองก็เข้มแข็งและดื้อด้านจึงไม่ใช้เหตุผล ประชาชนก็เข้มแข็งเติบโตฉลาดขึ้นทุกวัน ถึงขนาดหลังพฤษภาฯ เขาไม่แคร์สิ่งที่เคยเป็นตัวแทนของเขาในรูปแบบระบบอุปถัมภ์นอกระบบราชการ เขาสามารถสละทิ้งได้ บัตรที่เลือกพรรคไม่ได้เลือกพรรคที่อิงกับระบบอุปถัมภ์ เป็นการบอกสัญญาณว่า ประชาชนพอใจทิศทางนี้ ดังนั้นถ้าไม่หาทางให้มาพูดคุยกันได้จะยุ่ง”
อาจารย์ธงชัยจบการบรรยายด้วยการย้ำอีกครั้งว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการอยู่ร่วมกัน (หรือทะเลาะขัดแย้งกันได้ปกติและดีที่สุด) คือการอยู่ภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา อันเป็นทางที่เปิดให้พลวัตทางสังคมเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การใช้กำลังความรุนแรง การรัฐประหาร และไม่ใช่การทำนิติสงครามยุบพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิทางการเมือง
“ผมฝากถึงผู้ใหญ่ ทางง่ายๆ คืออย่าปิดประตูรัฐสภา ไม่ว่าขั้นเล็กคือเล่นงานพรรคก้าวไกล หรือขั้นใหญ่คือทำรัฐประหาร อย่าปิดประตู เปิดประตูนั้นไว้ แล้วอนุญาตให้เกิดพลวัตการต่อสู้เปลี่ยนแปลง ทะเลาะเบาะแว้งกันไป โดยไม่ต้องเอากำลังทหารหรือนิติสงคราม ปล่อยให้เกิดการถกเถียงทะเลาะเบาะแว้ง แทนที่จะวิตกว่าการทะเลาะเบาะแว้งที่ไม่เกิดความรุนแรง เป็นความแตกแยกไม่มีความสามัคคี คนที่คิดแบบนั้นคือทหาร และหน้าที่ของทหารคือ ‘หุบปาก’ กลับไปอยู่กรมกอง และจะพบว่าคนที่เป็นคนส่วนใหญ่นอกเหนืออาชีพเรื่องความมั่นคง เขาอยู่กับความขัดแย้งเป็นปกติ เขาไม่ตีหัวกันขนานใหญ่ระดับทำให้สังคมพินาศ แล้วสังคมจะหันมาขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างศิวิไลซ์มากขึ้น โตขึ้น มีวุฒิภาวะขึ้น อย่าเอาทหารมายุ่ง อย่าเอากฎหมายมากดปราบเสียงต่างๆ ปล่อยให้ประชาชนทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะความขัดแย้งระดับนั้น เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ของสิ่งที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นคุณสมบัติที่สะท้อนความเป็น Democratization”