ประเทศไทยมีรัฐประหารที่ก่อการจนสำเร็จรวม 13 ครั้ง ไม่สำเร็จอีก 8 ครั้ง เฉลี่ยแล้วทุก 6 ปี มีรัฐประหาร 1 ครั้ง และกลายเป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากครั้งติดลำดับต้นๆของโลกรัฐประหารที่เกิดขึ้นตลอดกว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่การแก้ไขวิกฤตการเมือง ไม่ใช่วิธีการสร้างประชาธิปไตยที่คนเท่าเทียมกัน แต่เป็นสิ่งที่ ‘ล้าหลัง’ ‘ตกยุค’ ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ซ้ำร้ายยังพาเศรษฐกิจไทยดิ่งลงเหวอีกด้วย เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง บทเรียนที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตและคราบน้ำตาของราษฎรไทยถึงหนึ่งชั่วอายุคน
แล้วเหตุใดชนชั้นนำไทยจึงตัดสินใจเลือกแก้ปัญหาการเมืองด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พาสังคมเข้าสู่วงจรอุบาทว์อยู่เสมอๆ ประเด็น ‘รัฐประหาร’ จึงเป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การศึกษาทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง Common School ขอชวนทุกคนมาอ่าน/ชมเนื้อหาจากเราที่เกี่ยวข้องกับการ ‘รัฐประหาร’ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาอัดแน่นไปด้วยเนื้อความรู้ความเข้าใจในหลายมิติ
ตลาดวิชาอนาคตใหม่ ‘ข้ออ้างการรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ริ่มกันที่ชิ้นแรก อาจารย์ธำรงศักดิ์จะมาชวนเราย้อนดูความคล้ายคลึงกันของข้ออ้างรัฐประหารตลอดหน้าประวัติศาสตร์ไทย เขาอ้างอะไรกันเวลาจะรัฐประหาร แล้วข้อเท็จจริงเบื้องหลังเป็นอย่างไรกันแน่ อยากฟังธำรงศักดิ์บรีฟประวัติศาสตร์การรัฐประหารในการเมืองไทย กดข้ามไปนาทีที่ 58.31 ได้เลย หรือถ้าอยากรู้ว่าข้ออ้างการรัฐประหารของทหารไทยที่ผ่านมามีอะไรบ้างให้กดไปดูตอนนาทีที่ 1.15.17 น. เป็นต้นไป แต่เราแนะนำว่าให้คุณดูการบรรยายของอาจารย์ธำรงศักดิ์ตั้งแต่ต้นจนจบ คุณจะเห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์การเมืองไทยและเท่าทันข้ออ้างเดิมๆ ของคณะรัฐประหารดู
บทความ ‘’รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เมื่อกษัตริย์นิยมโต้กลับการปฏิวัติ 2475
บทความสั้นๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมความเคลื่อนไหวของกลุ่มกษัตริย์นิยมที่เคลื่อนไหวในการโต้กลับการปฏิวัติ 2475 รื้อฟื้นระบอบเก่ากลับคืนมา แม้ว่าเหล่ากษัตริย์นิยมจะล้มลุกคุกคลานในช่วงแรก แต่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่พลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปตลอดกาล ที่สำคัญการรัฐประหารครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้รับธรรมนูญนับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 และได้ทิ้งมรดกทางการเมืองไว้มากมายในการเมืองไทย
อ่านบทความได้ที่นี่
ตลาดวิชาอนาคตใหม่ ‘The Crown Strikes Back’
ไปต่อกับซีรีส์การบรรยาย ‘มหากาพย์’ การโต้กลับของเหล่ากษัตริย์นิยมหลังรัฐประหาร 2490 ที่ถือได้ว่าเป็นการรัฐประหารที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราจะพาคุณไปสำรวจมรดกจากการรัฐประหารครั้งนี้ในหลากหลายมิติทั้งเหล่ากษัตริย์นิยมต่อสู้ทวงคืนการจัดการพระราชทรัพย์ในระบอบใหม่ยังไงบ้าง กษัตริย์กลับมามีความมั่งคั่งจนกลายเป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้อย่างไร เหล่ากษัตริย์นิยมแสดงอภิหารทางกฎหมายออกแบบรัฐธรรมนูญรื้อฟื้นอำนาจกษัตริย์มิติใดบ้าง กองทัพคณะราษฎรกลายมาเป็นกองทัพของพระราชาได้อย่างไร เราจะมาย้อนอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันที่จะทำให้คุณเห็นว่าปมปัญหาการเมืองไทยมีต้นกำเนิดมาจากไหน หากใครเป็นคอประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 2490 ไม่ควรพลาดซีรีย์การบรรยาย The Crown Strikes Back ด้วยประการทั้งปวง
และในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ยังมีการบรรยายในซีรีส์นี้อีก 3 ครั้งรออยู่ โปรดติดตาม
บทความ ‘จากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ถึงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 : ความพยายามในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง’
บทความที่เสนอมุมมองประวัติศาสตร์การเมืองไทยเปรียบเทียบได้อย่างแหลมคม และทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่เพิ่มขึ้นหลุดออกจากหลักการกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้ง แม้ว่าการรัฐประหาร 2490 จะรื้อฟื้นพระราชอำนาจกลับมาได้อีกครั้ง ทว่าความพยายามในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงขึ้นมาหลังรัฐประหาร 2557 ดูแลจะไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเข้าไปหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย อ่านได้ที่นี่
หนังสือ ‘ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง’ และ ‘จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง’
ธงชัย วินิจจะกูล ชวนเราไปสำรวจบทบาทสถากษัตริย์ในการเมืองไทยด้วยการวิเคราะห์วิพากษ์ที่แหลมคม ลุ่มลึก ผ่าน ‘ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่’ หนังสือปกเหลืองเล่มนี้จะทำให้เราเห็นการต่อสู้ต่อรองของผู้เล่นมากหน้าหลายตาในการ ‘ล้มประชาธิปไตย’ ของฝ่ายนิยมเจ้าตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 จนนำไปสู่การก่อรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ธงชัยได้ชี้ให้เห็นว่า สถานะเหนือการเมืองของสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมืองไทย และกำลังได้รับความเชื่อถือสูงยิ่งขึ้นเมื่อความไว้วางใจต่อรัฐสภาตกต่ำลง จะทำให้เราเข้าใจ ‘การรัฐประหาร’ ในการเมืองไทยร่วมสมัยมากขึ้น
แม้ว่าเราจะรู้กันดีว่าหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้พาสังคมไทยเข้าสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่และฝังรากลึกมาอย่างยาวนานทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หนังสือ ‘จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง ศิลปะและศิลปินแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 9’ ของธนาวิ โชติประดิษฐ เล่มนี้จะขยายพรมแดนการศึกษาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยไปสู่ปริมณฑลทางศิลปะที่เราคาดไม่ถึง และช่วยคลี่ปมความขัดแย้งที่เกิดตั้งแต่การรัฐประการ 19 กันยายน 2549 เพื่อทำความเข้าใจสังคมการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 อย่างรอบด้าน
หนังสือทั้งสองเล่มของธงชัยและธนาวิ สามารถยืมจากโครงการอ่านเปลี่ยนโลกได้เลยที่นี่
บทความ ‘ถอดบทเรียนการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาร์’
เราดูรัฐประหารในประเทศเยอะแล้ว เราจะพาคุณไปดูการประท้วงของคนรุ่นใหม่ในประเทศเมียนมาร์ ในช่วงปีที่ผ่านมากระแสการต่อสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ไทยทะยานขึ้นอย่างสูงสุดจนกลายเป็นปรากฎการณ์สะท้านฟ้า เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว ในขณะที่คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยกำลังต่อสู้กับรัฐบาลประยุทธ์อยู่นั้น เหตุการณ์การประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ต่อสู้กับระบอบเผด็จการในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ก็กลายเป็นการประท้วงคู่ขนาน เราจะมาชวนอ่านบทความ ‘ถอดบทเรียนการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาร์’ เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ประท้วงในเมียนมาร์ เพื่อถอดบทเรียน ยุทธศาสตร์การประท้วงมาประยุกต์ใช้ในการต่อสู้กับเผด็จการได้บ้าง และเราจะเตรียมพร้อมรับมือกับการรับประหารที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
อ่านได้เลยที่นี่
Common School x Pud ‘กรีซโยนเผด็จการเข้าคุกได้ยังไง?’
ปิดท้ายด้วยบทเรียนจากต่างประเทศที่สามารถตัดวงจรชีวิตรัฐประหารได้อย่างเด็ดขาด เราจะชวนคุณไปดูประเทศต้นกำเนิดประชาธิปไตย และดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอย่างกรีซเคยผ่านช่วงเวลาที่เผด็จการครองเมือง กดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเมืองของตัวเองอย่างร้ายแรง และเกิดรัฐประหารซ้อนเป็นว่าเล่น นี่ยังไม่รวมถึงการแทรกแซงทางการเมืองจากสถาบันกษัตริย์ เมื่อประชาชนถูกกดขี่ พวกเขาจึงออกมาต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการและไม่ปล่อยให้เผด็จการลอยนวลอีกต่อไป มาดูกันว่า ‘กรีซโยนเผด็จการเข้าคุกได้ยังไง?’
หยุดยาวนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาฟังการบรรยาย อ่านหนังสือและบทความเกี่ยวกับการ ‘รัฐประหาร’ จาก Common School เพื่อเปิดโลกทัศน์ ศึกษา และเท่าทันต่อการรัฐประหารอย่างรอบด้าน