*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์


The Teacher (Učiteľka) เป็นภาพยนตร์ตลกร้ายของผู้กำกับชาวเช็ก ญาน ฮเชรเบย์ก (Jan Hřebejk) และปีเตอร์ จาคอบสกี้ (Petr Jarchovský) นักเขียนบทผู้ได้สมญานามว่าเป็นอันตอน เชคอฟแห่งวงการภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายภาพสังคมเช็กโกสโลวาเกียสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังทรงอิทธิพล ด้วยการย่อส่วนสังคมให้อยู่ภายในห้องเรียนแห่งหนึ่งของเมือง Bratislava โรงเรียนซึ่งครูคนใหม่ผู้มีตำแหน่งประธานพรรคคอมมิสนิสต์ระดับท้องถิ่น Maria Drazdechova กำลังแผลงอำนาจไปในทางมิชอบ ตัวอย่างเช่น หล่อนสามารถใช้นักเรียนเป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมและเข้าหาผู้ปกครองอย่างไรก็ได้ เพราะมีอำนาจในการมอบและริบผลการเรียนของเด็กอยู่ในมือ การใช้อำนาจในทางมิชอบของเธอนี้ ทำให้บรรดานักเรียน ผู้ปกครอง และครูจำนวนหนึ่งอดรนทนไม่ได้ จนต้องหาทางที่จะกำจัดเธอออกไปในที่สุด

เนื่องในโอกาสพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์จากประเทศกลุ่มวิเชกราด 4 แด่มหาวิทยาลัยไทย หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) (BALAC) และภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมทั้งจัดให้มีเสวนาแลกเปลี่ยนหลังฉายภาพยนตร์ ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา 

ผู้เข้าร่วมดังนี้

1. คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า (ผู้แทนนักการศึกษา) 

2. คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Documentary Club (ผู้แทนผู้ปกครอง)

3. คุณลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นักเรียนเลว”

4. ฯพณฯ นายปาเวล ปิเตล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย 

5. นายมิคาล ชเวดา อุปทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย

6. คุณธนัช สง่ารัมย์ ผู้แทนนิสิตหลักสูตร BALAC

ความจริง ความหวัง ความเปลี่ยนแปลง ในห้องเรียนระบอบอำนาจนิยม คือประเด็นที่บทสนทนาคลี่คลายออกมา

ความจริงในห้องเรียนของระบอบอำนาจนิยม

หากเราให้ ‘ความจริง’ เป็นชื่อทางการ ‘ความปกติ’ ก็คงเป็นชื่อเล่นที่เราใช้เรียกมัน

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกจัดประเภทเป็นภาพยนตร์ตลก แต่ความจริงที่ถูกปฏิบัติกันเป็นวิถีปกติกลับเป็นสิ่งที่ทำให้ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ไม่สามารถหัวเราะไปกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอพุ่งเป้าไปที่ ‘ผู้ใหญ่’ ภายในเรื่อง ซึ่งเป็นทั้งผู้จรรโลงระบอบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ไม่ว่าภายในหรือภายนอกรั้วโรงเรียน

“อำนาจที่กำกับชีวิตประจำวัน กับความกลัวที่บงการให้ไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง”

คือสิ่งที่กุลธิดาใช้บรรยายถึงสำนึกของ ‘ผู้ใหญ่’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

แม้ The Teacher คล้ายจะมีห้องเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่มันก็ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องในห้องเรียน ในฐานะผู้ปกครองคนหนึ่ง ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบการเรียนในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ในลักษณะที่อาจไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองหรือขั้วอำนาจทางการเมืองที่เด่นชัดแบบในเรื่องเท่านั้น แต่มันยังทำให้เห็นการใช้อำนาจจากช่องทางอื่น ไม่ว่าจะจากความเป็นครู จากความเป็นผู้หวังดี หรือในฐานะตัวแทนของความดีงามบางอย่าง โดยที่อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นความชอบธรรมที่ถูกอ้างเพื่อกดดันเด็กและผู้ปกครอง

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ความสมจริงของภาพยนตร์ยังถูกขยายขึ้นไปอีกผ่านคำบอกเล่าของ ปาเวล ปิเตล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ที่ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า สมัยที่ยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้ยากกว่าปัจจุบัน ผู้ปกครองต่างตกอยู่ในสภาวะเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย (isolated) ไร้อำนาจ และไร้ความหวัง ในการต่อสู้กับระบอบอำนาจ ซ้ำร้ายยังมีบางครอบครัว ที่เราอาจเรียกว่าเป็นครอบครัวปกติทั่วไปที่ ‘อยู่เป็น’ พร้อมตามกระแสค่านิยมแห่งความกลัวนี้เต็มไปหมด 

“ผู้ปกครองถูกแบ่งแยกโดดเดี่ยวจากกันและกัน พวกเขาไม่สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ นั่นทำให้พวกเขาไม่ค่อยแสดงความเห็นในที่สาธารณะ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าคนอื่นกำลังคิดเห็นเช่นไร ทั้งหมดนี้เป็นบรรยากาศของความกลัว (atmosphere of fear) ที่แยกคนออกจากกัน”

อีกประเด็นหนึ่งที่ปาเวลแลกเปลี่ยน คือการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เขาเล่าว่า ส่วนตัวแล้วพ่อของเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น ทำให้เขาไม่เคยถูกกลั่นแกล้งจากครูหรือเพื่อนนักเรียน แต่การกลั่นแกล้งคนที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์แบบที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปจริง

ปาเวล ปิเตล

ด้าน มิคาล ชเวดา อุปทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ยืนยันประสบการณ์ที่ปิเตลนำเสนอ ทั้งยังบอกเล่าประสบการณ์สมัยที่ยังเป็นนักเรียนภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ว่า มันเป็นระบบที่ต้องการให้ผู้คนเงียบสงบ พร้อมๆ กันกับมีกลไกการลงโทษเพื่อกดปราบประชาชนไปในตัว การอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ส่งผลให้ผู้คนไม่มีความซื่อสัตย์หรือความเชื่อใจซึ่งกันและกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้ตนและครอบครัวมีปัญหา จนเกิดสิ่งที่ชเวดาเรียกว่า “เสียงส่วนใหญ่อันเงียบงัน” (silence majority)

ชเวดายังแสดงให้เห็นตัวอย่างเสียงส่วนใหญ่อันเงียบงันผ่านสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวิกฤตยูเครน-รัสเซีย ที่คนรัสเซียจำนวนมากเลือกที่จะนิ่งเงียบกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นเพียงเพราะไม่อยากชีวิตได้รับผลกระทบตามมา 

“ระบบนี้ทำให้พวกเขาพูดว่า “ใช่ เราเอาด้วย” เพียงเพราะว่าหากเขาพูดเป็นอย่างอื่น ชีวิตของพวกเขาก็จะเกิดปัญหา”ชเวดากล่าว

มิคาล ชเวดา

ความเลวร้ายของการเงียบงันยังไม่จบเพียงเท่านั้น ชเวดายังแสดงทรรศนะต่ออีกว่า ภายใต้ระบบที่ปิดปากให้คนส่วนใหญ่เงียบนี้ยังพร้อมเสมอที่จะผลักดันให้คนที่ไม่ซื่อสัตย์ (dishonest) ขึ้นมามีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ขอเพียงให้พวกเขารู้วิธีเอาใจระบอบอำนาจเพียงเท่านั้น

สำหรับชเวดา ข้อเท็จจริงเหล่านี้กระตุ้นให้เราต้องตระหนักถึงความจริงว่า การเป็นส่วนหนึ่งของเสียงส่วนใหญ่อันเงียบงันไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลดีต่อสังคม เพราะหากอ้างคำพูดของ เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) นักปรัชญาชื่อดัง “สิ่งเดียวที่ทำให้ความชั่วร้ายยังผงาดค้ำโลกได้อยู่คือการที่คนดีไม่ยอมทำอะไรแม้แต่อย่างเดียว”(The only thing necessary for evil to triumph in the world is that good men do nothing)

ทั้งนี้ ความจริงที่แต่ละคนพูดมานั้นก็ดูจะผูกติดชิดใกล้กับ ‘อดีต’ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว อดีตซึ่งมีไว้ให้คนมีอายุในระดับหนึ่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แต่คำถามสำคัญคือ เราจะเอาอย่างไรต่อไปกับอนาคตข้างหน้า อนาคตซึ่งเป็นสถานที่ซุกตัวของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความหวัง’

ความหวังและความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนของระบอบอำนาจนิยม

“ณ เวลาที่หนังเรื่องนี้กำลังฉายอยู่ เหตุการณ์เหล่านั้นก็กำลังเกิดขึ้นจริง แม้แต่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้เองด้วยซ้ำ”ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ เปิดประโยคแรกอย่างท้าทาย 

เขากล่าวต่อว่า แม้บริบทระบอบการปกครองที่อยู่ภายในภาพยนตร์กับระบอบการปกครองที่กำลังครอบงำอยู่ในไทยจะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่สภาพห้องเรียนในการศึกษาไทยก็ไม่ได้หนีจากที่ปรากฏในภาพยนตร์ไปไกลนัก สภาพเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอตั้งแต่ต้นสายไปจนถึงปลายทางของระบบการศึกษาไทย

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ

เมื่อถามว่ายังมีความหวังหรือไม่ ลภนพัฒน์มองว่า ความหวังเป็นสิ่งที่มีได้เสมอ แต่ก็ขึ้นกับว่าเราเอาตัวเองอยู่ในจุดไหนในสถานการณ์ เหมือนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฉายภาพแทน (represent) ของคนหลายประเภท ไม่ว่าทั้งคนที่อยากเปลี่ยนแปลง คนที่อยู่เป็น ไปจนถึงคนที่ต่อต้านคนที่อยากเปลี่ยนแปลง 

“ถ้าอยากเปลี่ยนแปลง เราต้องทำอะไรสักอย่าง อย่างน้อยก็ต้องไม่ขวางคนที่อยากเปลี่ยนแปลง”ลภนพัฒน์เสนอ

ส่วนการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์นั้น เขาเห็นว่าอาจไม่ได้ต่างจากสังคมที่เราพบเจอเห็นหน้ากันอย่างที่ปรากฏในเรื่องมากนัก เพราะสื่อสังคมออนไลน์ก็มีไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนเช่นกัน ปัญหาสำคัญคือหากเราต่างถูกสั่งให้ปิดปาก หรือไม่มีการพูดคุยปรึกษาหารือ ปัญหาก็ย่อมไม่ได้รับการแก้ไข

“ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับว่าเราเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนในภาพยนตร์เรื่องนี้”ลภนพัฒน์ทิ้งท้าย 

ธนัช สง่ารัมย์

ข้ามมาที่ ธนัช สง่ารัมย์ ในฐานะที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งที่สอง เขาเห็นประเด็นหนึ่งที่อาจมอบความหวังให้แก่คนดูได้ นั่นคือการที่ Mr.Littmann ผู้ปกครองที่เดิมนิยมเลี้ยงลูกด้วยการใช้ความรุนแรง เปลี่ยนการจัดการความสัมพันธ์เป็นการพูดคุยรับฟังปัญหา สำหรับธนัชองค์ประกอบเช่นนี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง (spirit of non-violence) ที่ยังปรากฏให้เห็นผ่านการต่อต้านคุณครูในหมู่เด็กนักเรียน โดยเฉพาะในฉากท้ายเรื่องที่เด็กนักเรียนใช้ปืนให้สัญญาณปล่อยตัวนักกีฬายิงผ่านหูโทรศัพท์ที่ผู้ถือปลายสายคือคุณครูตัวร้าย (ธนัชยังเปรียบปืนนี้กับเรื่องสั้นของ อันตอน เชคอฟ อีกด้วย) 

“ในตอนจบ แม้ปืนจะถูกลั่นไกแต่กลับไม่พรากชีวิตใครแม้แต่คนเดียว”ธนัชกล่าวย้ำ

กลับมาที่ฟากของผู้ใหญ่ (ในความหมายว่าอายุเยอะกว่า) ธิดาแสดงความเห็นผ่านประสบการณ์ส่วนตัวว่า ผู้มีอำนาจได้สร้างระบบการศึกษาที่มีแต่ความกลัว จนทำให้หลายคนผูกติดกับความรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่เด็กจนโต และฝังลึกถึงขนาดไม่กล้านำตัวเองและลูกเดินออกนอกเส้นทางที่ระบบวางไว้

ธิดาเห็นว่า ความรู้สึกกลัวทำให้คนรุ่นเธอเปลี่ยนแปลงได้ยาก ตรงกันข้าม กลับเป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาพูดและตั้งคำถามต่อปัญหาของสังคม เช่นปัญหาเรื่องค่าแรง ปัญหาการขาดรัฐสวัสดิการ สำหรับธิดาการเกิดขึ้นของคำถามใหม่ๆ แบบนี้เป็นตัวชี้วัดว่าสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว 

“สิ่งเหล่านี้เกิดจากความกล้าของเด็กๆ ที่ตั้งคำถามว่า “ทนอยู่กันได้อย่างไร” อย่างหนังเรื่องนี้ ตัวละครกลุ่มเดียวที่สู้ไม่อยู่ ก็คือพวกเด็กๆ ถึงแม้จะต้องเลือกเดินเส้นทางแห่งความตายก็ตาม [ในภาพยนตร์มีตัวละครนักเรียนพยายามฆ่าตัวตายเพราะการกลั่นแกล้งจากคุณครู]”

ด้านกุลธิดาชวนสำรวจปิดท้ายว่า หากชายตาไปยังสถานการณ์ที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ความปกติแบบเก่าที่เราเคยชินก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เธอยังเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งเข้าไปทำงานในสภาว่า ได้รับคำวิจารณ์ไม่ให้ทำหรือพูดอะไรหลายๆ อย่าง ด้วยเหตุผลหยาบๆ เพียงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่วิถีที่เคยปฏิบัติกัน กระนั้น สุดท้ายคนจำนวนหนึ่งก็เห็นได้ว่า สิ่งปกติที่เคยยึดถือปฏิบัตินั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติต่อไปก็ได้ การสามารถเปลี่ยนแปลงความปกติในสังคมนี้เองที่ทำให้กุลธิดาเชื่อว่าความหวังยังเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่

“แม้ส่วนตัวจะรู้สึกหมดหวังกับผู้ใหญ่ (ในภาพยนตร์เรื่องนี้) แต่เสียงปืนในเรื่องก็เป็นเสียงแห่งความหวัง เป็นเสียงแห่งการเริ่มต้น เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีต้นทางมาจาก ‘เด็กนักเรียน’ สถานการณ์ในประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงในอนาคตของเหล่านักเรียน ของคนรุ่นใหม่ ต่างเป็นการส่งเสียงเพื่อรบกวนสิ่งที่สังคมมองอย่างเคยชินว่าเป็นเรื่องปกติ … แม้ดิฉันอาจไม่ได้อายุมาก แต่ในฐานะที่เป็นครู ในฐานะที่เป็นนักการศึกษา ก็สามารถบอกได้เลยว่าเด็กนักเรียนเปลี่ยนไปมากแล้ว คนรุ่นนี้จะมีแต่ส่งเสียงดังขึ้นและดังขึ้น และดังมากพอที่จะรู้สึกว่าเป็นความหวัง”

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด