*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ*

ไม่ผิดอะไรที่จะจัดให้เด็กชายกับนกกระสา (The Boy and the Heron) เป็นภาพยนตร์แฟนตาซี/ผจญภัย เพราะเกือบทุกเรื่องของ Studio Ghibli ล้วนสามารถจัดเป็นแฟนตาซี/ผจญภัยได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องนั้นเป็นผลงานของ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” (Hayao Miyazaki) แต่ถ้าถามว่าเด็กชายกับนกกระสาเป็นการผจญภัยหรือมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไรกันแน่ เข้าใจว่าจำนวนไม่น้อยจะต้องใช้เวลาเรียบเรียงสักพักใหญ่ บางคนอาจถึงขนาดเดินไปถามคนที่น่าจะเป็นแฟนเดนตายของอนิเมชันค่ายนี้ 

แม้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะเรียกตัวเองเป็นแฟนเดนตายจนไปออกรายการแฟนพันธุ์แท้ได้ไหม แต่จำนวนคนที่ผลัดกันมาถามไถ่เกี่ยวกับต่อผลงานเรื่องล่าสุดของค่ายนี้ (ดูรึยัง!? ดูรู้เรื่องไหม!?) ก็น่าจะมีสาเหตุจากความคลั่งไคล้ที่เอ่อล้นเก็บทรงไม่อยู่ของผู้เขียน เพราะหลายๆ ครั้งผู้เขียนชอบโม้ใส่คนอื่นว่าไล่ดูผลงานค่ายนี้ครบทุกเรื่องแล้ว (จำได้บ้างไม่ได้บ้าง) แถมยังแอบค้นข้อมูลเท่าที่จะทำได้มาประกอบความน่าเชื่อถือประจำ

โชคร้ายอย่างเดียวของคนที่เข้ามาถามเหล่านั้น คือผู้เขียนตัดสินใจรอตีตั๋วเข้าชมในโรงภาพยนตร์ช้ากว่าชาวบ้าน เหตุผลที่ใช้ปกป้องตัวเองคือต้องการรอให้คนในโรงน้อยๆ จะได้ฟังเสียงสายลมที่มีอยู่ในเรื่องนี้ให้ชัดที่สุด (เพราะ “สายลม” เป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอในงานของมิยาซากิ) ส่วนเหตุผลที่แท้จริงคือ แม้ก่อนหน้านี้มิยาซากิจะกลับมาทำงานหลังประกาศเกษียณทั้ง 4 ครั้ง แต่ด้วยอายุอานามของอาจารย์ผู้นี้มีแต่จะเพิ่มโอกาสให้ผลงานชิ้นล่าสุดเปลี่ยนเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายได้เสมอ

ฟังดูอาจเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไปบ้าง แต่จากการใช้เวลาและเงินไปกับการซื้อตั๋วดู 2 รอบติดกัน (วินาทีที่ก้าวออกจากโรงหลังดูจบรอบแรก ผู้เขียนซื้อตั๋วรอบถัดไปทันที) ทำให้มีทฤษฎีส่วนตัวว่า นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องแบบฝันซ้อนฝันจนในหลายจังหวะผู้เขียนนึกถึง 8½ ของเฟเดรีโก เฟลลีนี ไม่ก็ Evangelion ของบุคคลที่มิยาซากิชื่นชมและเรียกว่าเอเลียน “ฮิเดอากิ อันโนะ” (Hideaki Anno) เด็กชายกับนกกระสายังเป็นเรื่องที่มิยาซากิกำลังใคร่ครวญกับ “ความตาย” ตั้งแต่ฉากแรก!


ชีวิตเด็กชายกับสองความตายสำคัญ

“นายชื่ออะไร”

“มาฮิโตะแปลว่าจริงใจ”

“มิน่าถึงได้กลิ่นความตาย”

ในฐานะนักสันติภาพ (Pacifism) มิยาซากิไม่พลาดที่จะแนะนำให้เรารู้จักกับความตายอนาจที่มาพร้อมสงครามตั้งแต่ฉากแรก เขาเปิดด้วยเสียงหวีดร้องกังวานจากไซเรน งานประดิษฐ์ที่ตั้งชื่อตามสิ่งมีชีวิตในปกรณัมที่เชื่อมโยงกับความตาย จากนั้นเผยให้เห็นกองไฟบรรลัยกัลป์กำลังเปลี่ยนเมืองให้เป็นทะเลเพลิง “เครื่องบินทิ้งระเบิด” สัญชาติอเมริกันเป็นต้นตอความวินาศสันตะโรทั้งหมด ทุกอย่างที่ปรากฏในฉากแรกนี้เป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ชมว่า ไทม์ไลน์ของเรื่องอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

มีอย่างน้อยสองความตายเกิดขึ้นในฉากนี้ ความตายแรกคือ “ฮิซาโกะ” แม่ของ “มาฮิโตะ” เด็กชายที่มิยาซากิใช้แทนวัยเด็กตัวเอง สอดคล้องกับความจริงที่เขาต้องสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รักไปด้วยโรคร้าย แต่พูดกันตามตรง ความตายนี้ไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไร เพราะเป็นที่รู้กันว่ามิยาซากิเคยนำแม่มาสร้างเป็นตัวละครแล้วตั้งแต่ป้าที่เป็นหัวหน้าโจรสลัด Castle in the Sky โซฟีใน Howl’s Moving Castle ป้านั่งรถเข็นใน Ponyo และเรื่องที่ดังที่สุดของสตูดิโอจิบลิ My Neighbor Totoro ซึ่งความแตกต่างเดียวที่มีคือ แม่ในโทโทโร่สามารถมีชีวิตต่อกับครอบครัวได้อย่างอบอุ่นในตอนจบ แต่แม่ในเด็กชายกับนกกระสาถูกส่งตรงไปโลกหลังความตายตั้งแต่เริ่ม (ตัวละครพ่อในเรื่องนี้ก็แทนพ่อในชีวิตจริงของมิยาซากิที่เป็นแรงสำคัญในโรงงานชิ้นส่วนเครื่องบิน โดยมิยาซากิก็เคยแค่ดึงพ่อของเขามาใส่ไว้ในตัวเอกเรื่อง The Wind Rises เช่นกัน)

ความตายอีกอันหนึ่งต่างหากที่กระตุ้นเร้าต่อมน้ำตาของแฟนจิบลิ (เช่น ผู้เขียน) ให้ทำงานตั้งแต่วินาทีแรกๆ เพราะมันแทบเป็นไปไม่ได้ที่พอเห็นฉากเด็กผู้ชายคนหนึ่ง สวมหมวกกัปตันสีขาวอยู่บนหัว วิ่งฝ่าฝูงชนเข้าไปในกองเพลิง แล้วจะไม่นึกถึง “สุสานหิ่งห้อย” (Grave of the Fireflies) ผลงานระดับตำนานที่ฉายในปีเดียวกับโทโทโร่ของ “อิซาโอะ ทาคาฮาตะ” (Isao Takahata) ผู้กำกับซึ่งเป็นทั้งคู่หูและคู่แข่งของเขาซึ่งลาโลกไปตั้งแต่ปี 2018 หลังทำงานด้วยกันอย่างน้อยที่สุด 30 ปีในนามสตูดิโอจิบลิ (และมากกว่านั้นหากนับตั้งแต่พวกเขาเจอกันครั้งแรก) พูดอีกอย่างคือ เด็กชายกับนกกระสาเป็นผลงานชิ้นแรกในชีวิตของมิยาซากิที่เผยแพร่โดยไม่มีทาคาฮาตะอยู่บนโลกนี้ (อย่างว่าแหละงานมิยาซากิมีท่าทีสั่งสอนมารยาทมาตลอด) 


ลุงทวดพ่อมดคือทาคาฮาตะ

ทาคาฮาตะมีบทบาทอย่างมากในการทำความเข้าใจหลายๆ อย่าง หากสังเกตดีๆ ตัวละครพ่อมดที่เป็นทั้งลุงทวดของมาฮิโตะ และเป็นผู้ควบคุมให้ปราสาทพิศวงสถิตสถาพร จะหมายถึงใครไม่ได้เลยนอกจากทาคาฮาตะ องค์ประกอบที่ทำให้การมองพ่อมดเป็นทาคาฮาตะแข็งแรงขึ้น คือฉากแรกและฉากสุดท้ายที่มาฮิโตะกับพ่อมดได้เจอกัน ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวกับหินวิเศษรูปทรงเลขาคณิตที่มีพลังในการทำให้ปราสาทนี้ตั้งตระหง่าน 

ในครั้งแรกพ่อมดเอ่ยว่า หลังจากรอมานาน ในที่สุดก็เจอคนในสายเลือดที่ “มีของ” เหมือนตัวเองสักที จากนั้นยื่นข้อเสนอให้มาฮิโตะขึ้นมารับช่วงต่อจากเขา เพื่อเสริมสร้างให้หอคอยที่กำลังจะล้มนี้ให้มั่งคงต่อไป ฉากนี้ผ่านไปด้วยการที่มาฮิโตะปฏิเสธรับหน้าที่นั้น เนื่องจากหินที่เหนือธรรมชาตินี้มี “ความประสงค์ร้าย” แฝงอยู่ ส่วนอีกฉากหนึ่ง พ่อมดกลับมายืนยันข้อเสนอเดิม แต่คราวนี้หินในมือได่กลายเป็นหินที่มีความประสงค์ดีแล้ว แต่มาฮิโตะก็ยังปฏิเสธการสืบทอดครั้งนี้อีก ให้เหตุผลแค่ว่า การเข้ามายังมิติพิศวงในปราสาทนี้ มีเจตนาเพียงต้องการช่วยน้าสาว (ที่โดยตำแหน่งได้กลายเป็นแม่ของเขาไปแล้วตามการแต่งงานแบบ Sororate marriage) ยายคนรับใช้ และเจ้าหญิงไฟฮิซาโกะผู้เป็นแม่แท้ๆ ของเขา การปฏิเสธนี้เป็นเหตุให้ปราสาทนี้ถึงอันล่มสลายในที่สุด

“โทชิโอะ ซูซูกิ” (Toshio Suzuki) โปรดิวเซอร์และหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ (ที่ครั้งหนึ่งลือกันว่าเกิดคลั่งรักสาวไทยจนเสียงานเสียการ) ยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ในบทสัมภาษณ์ซึ่งเขาเล่าถึงเหตุผลที่มิยาซากิวาดให้ทาคาฮาตะเป็นพ่อมด ว่าเพราะทาคาฮาตะเป็นคนค้นพบพรสวรรค์ของมิยาซากิ ทั้งยังเป็นคนที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของเขาเช่นกัน


นกกระสาคือซูซูกิ

ต้องขอบคุณบทสัมภาษณ์ของซูซูกิอีกครั้งที่ช่วยเป็นทั้งคำเฉลยสำหรับคนที่คาดการณ์คำตอบไว้แล้ว และเป็นคำยืนยันให้คนที่ยังมืดแปดด้านว่าตัวละครนกกระสาหมายถึงอะไร เพราะนกกระสาคือซูซูกินี่แหละ เขาเล่าว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายกับนกกระสา เป็นความสัมพันธ์ที่พวกเขาเข้ากันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างดึงดันกัน” 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ลักษณะนิสัยของนกกระสาจอมเล่ห์เหลี่ยมก็คงมิใช่อะไรอื่น นอกจากทัศนคติที่มิยาซากิมีต่อซูซูกิ (กระทั่งตัวซูซูกิก็บอกเองว่ามิยาซากิให้อิสระเขาในการทำครึ่งหลังของเรื่องนี้มาก เลยได้ใส่ตัวเองเข้าไปในระดับหนึ่ง) จึงน่าสนใจมากว่า อะไรคือเหตุผลของการมีบทพูดว่า “ฉันบอกให้นำทาง” ในฉากที่นกกระสาหลอกมิฮิโตะด้วยการร่ายเวทย์สร้างแม่แท้ๆ ของเขาขึ้นมาล่อ หรืออะไรคือความหมายของการให้จุดอ่อนของนกกระสาอยู่ที่ขนหมายเลข 7 (คำตอบอาจพอหาได้ในสารคดี 2,399 Days With Ghibli and Miyazaki ของ NHK ซึ่งผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้ดู)

เมื่อทราบว่าซูซูกิเป็นนกกระสาแล้ว คงเป็นเรื่องยาก หรือถึงขนาดเป็นไปไม่ได้ ที่ผู้ชมและแฟนสตูดิโอจิบลิจะลบคำพูดตอนท้ายที่นกกระสาพูดกับเด็กชายฮิมิโตะออกจากความทรงจำ เพราะหากเราแทนค่าคำพูดนั้นเป็นบทสรุปความสัมพันธ์ของมิยาซากิกับซูซูกิ มันก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของบทสรุปที่เขามอบแก่มิยาซากิอีกด้วย

“นายลืมรึยังว่าตอนแรกเราอยู่ไหน – การลืมเป็นเรื่องปกติ – ไม่ต้องเก็บไว้เข้าใจมั้ย – ลาก่อนนะ – เพื่อน”


ปราสาทที่ล่มสลายคือสตูดิโอจิบลิ

หลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ในเรื่องนี้ก็ห้ามไม่ให้นึกถึงผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดของสตูดิโอจิบลิไม่ได้ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องปกติมากที่ศิลปินจะหยิบวัตถุดิบทั้งที่เคยใช้และไม่เคยใช้กลับมามอบมีชีวิตและปลดปล่อยความหมายใหม่ให้มันในผลงานชิ้นหลัง แต่องค์ประกอบหลายอย่างก็พานให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า การผจญภัยในแต่ละฉากของเด็กชายกับนกกระสา เป็นการผจญภัยไปยังแต่ละเรื่องของสตูดิโอจิบลิ วาราวาราสิ่งมีชีวิตตัวเล็กสีขาวเหมือนภูตป่าใน Princess Mononoke ศาลาที่พ่อมดนั่งรอก็คล้ายกับศาลาในสวนที่จีน่านั่งรอ Porco Rosso กองกำลังนกแก้วก็เหมือนกลุ่มโจรสลัดที่มีมาให้เห็นตั้งแต่ Castle in the Sky ยายคนรับใช้กับฉากวิ่งลงบันไดทำให้นึกถึง Spirit Away ไฟ เวทย์มนตร์ และประตูข้ามมิติก็เหมือนของ Howl’s Moving Castle ฉากโพรงโปร่งสูงพร้อมทางเดินพาดไปมาตอนร้ายเรื่องยังทำให้นึกถึง From Up on Poppy Hill บ้านริมน้ำที่มีพลังในการเชื่อมต่อกับมิติอื่น แถมยังเป็นมิติที่ตัวเอกได้บรรพบุรุษของตัวเอง ทำให้คิดถึง When Marnie Was There 

ด้วยรายการที่ยังสามารถไล่ได้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ประกอบกับการดำเนินเรื่องแบบฝันซ้อนฝัน (ยิ่งลุ่มลึกขึ้นไปอีกเมื่อได้ความช่วยเหลือจากเสียงดนตรีของ “โจ ฮิซาอิชิ”) ที่สุดท้ายจบลงด้วยการล่มสลายของปราสาท ทำให้ผู้เขียนตีความว่ามันมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ปราสาทจะหมายถึง สตูดิโอจิบลิที่ล้มเหลวในการสร้างทายาทสืบทอด 

ทายาทที่ล้มเหลวของสตูดิโอจิบลิคนแรกคือ “โกะโระ มิยาซากิ” (Goro Miyazaki) ลูกชายแท้ๆ ของมิยาซากิ ที่ต้องยอมรับตรงๆ ว่าไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างที่ผู้เป็นพ่อหวัง ในรอบฉายก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ของผลงานเรื่องแรกของโกะโระอย่าง Tales from Earthsea มิยาซากิผู้พ่อถึงกับเดินออกขณะที่หนังเพิ่งฉายไปได้ชั่วโมงกว่า “ผมนึกว่าผมอยู่ในนั้นสักสามชั่วโมงได้” เขาพูดระบายระหว่างสูบบุหรี่ด้วยท่าทีไม่ดีนัก “ผมมองไปที่ลูกของผม เขายังไม่โตเป็นผู้ใหญ่เต็มวัย” มิยาซากิพูดออกมาหลังเดินกลับไปดูงานชิ้นแรกของลูกชายตัวเองจนจบ แต่พอมาถึงตอนที่กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว มิยาซากิก็พูดในเชิงบวกถึงผลงานของลูกตัวเองว่า เขาทำงานได้ซื่อสัตย์ดี 

เป็นที่ชัดเจนว่ามิยาซากิไม่ได้ต้องการให้ลูกชายเขาต้องมาเป็นผู้กำกับหรือรับช่วงต่ออะไร แต่เป็นนกกระสาชื่อโทชิโอะ ซูซูกิของเราต่างหากที่ชวนโกะโระมากำกับอนิเมชันทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีประสบการณ์ทำอนิเมชันมาก่อนเลย 

มิยาซากิเกิดความบาดหมางในความสัมพันธ์กับโกะโระระยะหนึ่ง จนสุดท้ายมิยาซากิก็ทำหนังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโกะโระตอนเด็กอย่าง Ponyo ที่บางคนถึงกับบอกว่า Ponyo เป็นงานที่มิยาซากิสร้างขึ้นเพื่อขอโทษโกะโระที่เขาเป็นพ่อที่แย่ (ตัวโกะโระเองก็ยังเดินหน้าทำอนิเมชันในแนวทางของตัวเองต่อไป)

ทายาทอีกคนอาจนับว่าเคยเป็นเจ้าของตำแหน่งทายาทของสตูดิโอจิบลิตัวจริง แต่น่าเสียดายที่เขาต้องจากไปก่อนวัยอันควรมาก นั่นคือ “โยชิฟูมิ คนโด” (Yoshifumi Kondō) ผู้กำกับ Whisper of the Heart  อนิเมชันที่จะทำให้หัวใจผู้ชมฟูฟ่อง ว่ากันว่า การตายของคนโดมีสาเหตุจากสภาพการทำงานที่เครียดและหนักของสตูดิโอค่ายนี้ หนำซ้ำตัวมิยาซากิและทาคาฮาตะสองเสาหลักของค่ายยังขึ้นชื่อเรื่องการทำงานด้วยยากมาก ซึ่งในกรณีการตายของคนโดก็มีเป้าโจมตีสำคัญอยู่ที่ทาคาฮาตะ บุคคลที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทำงานด้วยยากมากที่สุดบนโลก 


บทเรียนของชีวิตจะรู้ได้ต่อเมื่อใช้ชีวิต

ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไร ตลอดถึงเงายักษ์ใหญ่ที่ท่วมท้นนักวาดคนอื่นจนมิดของทาคาฮาตะและมิยาซากิ อาจเป็นทั้งเหตุผลที่สตูดิโอจิบลิไม่สามารถสร้างทายาทสืบทอดแท้ๆ ได้ ขณะเดียวกัน ในเรื่องนี้เหมือนมิยาซากิจะคิดขึ้นได้ว่า ไม่ว่าหินวิเศษจะเคลือบแฝงไว้ด้วยความประสงค์ดีหรือความประสงค์ร้าย สิ่งที่น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด คือการนำทางไม่ใช่ครอบงำควบคุม หรือพูดให้ถูกต้อง คือปล่อยให้แต่ละคนได้มีเสรีภาพในการสร้างสรรค์ชีวิตและผลงานของตัวเอง โดยในเรื่องนี้บอกกับเราว่ามีแค่ 3 อย่างเท่านั้นที่ควรเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์และมีชีวิต นั่นคือ “Bounty, peace, and beauty”

เด็กชายกับนกกระสาจึงเหมือนเป็นทั้งลมหายใจที่สวยงามอีกเฮือกหนึ่ง หรือไม่ก็เฮือกสุดท้าย ของชายที่ชื่อฮายาโอะ มิยาซากิ ฝากไว้ในนามสตูดิโอจิบลิ แต่มันก็ไม่ใช่แค่งานที่ถ่ายทอดชีวิตวัยเด็กของเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นดั่งเล่มรายงานชีวิต ไม่ก็เป็นการตระเตรียมเรื่องราว ที่เขาจะนำไปตอบประโยคคำถามที่เป็นทั้งชื่อหนังสือต้นแบบที่มิยาซากินำมาดัดแปลง และเป็นชื่อเดียวกับหนังสือเล่มที่แม่ของมาฮิโตะทิ้งไว้ให้ในเรื่อง นั่นคือประโยคคำถามว่า “How do you live?”


คารวะ

ผู้เขียนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตัวเองต่อผลงานของสตูดิโอจิบลิในหลายเรื่องหลายโอกาส แต่ยังไม่เคยให้เครดิตต่อหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้ไล่ดูสตูดิโอจิบลิทุกเรื่องเลยสักครั้ง ดังนั้นจึงขออนุญาตขอบคุณสำนักพิมพ์สวนเงินมีนาและอริสา พิสิฐโสธรานนท์ ที่ทำให้บรรณพิภพเกิด “เข้าใจจิบลิ” หนังสือที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับมันหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยมันก็เปิดทางให้รื่นรมย์กับความสนุกและความสวยงามจากการดูการ์ตูนผ่านทฤษฎี ดังที่เจ้าตัวแจ้งไว้ตั้งแต่คำนำว่าบทวิเคราะห์ในเล่มนี้ใช้ “แนวคิดทางจิตวิทยาสายยุงเกียนกับความเป็นชาวเอเชียในยุคโลกาภิวัฒน์ผสมผสาน”

อีกเล่มหนึ่งต้องขอบคุณเกรียงไกร พัฒนกุลโกเมธ และทีมงานนิตยสาร Starpics ที่ทำให้เกิดหนังสือซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นสารานุกรมสตูดิโอจิบลิที่ดีที่สุดในภาษาไทย “Ghibli Story : Everything About Studio Ghibli” สิ่งที่ผู้เขียนอ่านจากเล่มนี้แล้วจำได้ไม่ลืมเลยคือความหมายของคำว่า Ghibli ที่เป็นได้ทั้งชื่อรุ่นเครื่องบิน และลมที่พัดจากทะเลทรายสะฮาราสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนีย

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
อดีตนักเรียนนิติศาสตร์แต่สนใจปรัชญา สนใจเรื่องความคิดและศิลปะ ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ