จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นภายในยุคสมัย 60 ปีแห่งการปฏิวัติความยิ่งใหญ่ของ The Age of Revolution (1789-1848)


ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีคำว่า อุตสาหกรรม, นักอุตสาหกรรม, โรงงาน, ชนชั้นกลาง, ชนชั้นแรงงาน, ทุนนิยม, สังคมนิยม, อภิสิทธิ์ชน, รถไฟ, เสรีนิยม, อนุรักษ์นิยม, ชาตินิยม, วิทยาศาสตร์, วิศวกร, วิกฤตเศรษฐกิจ,อรรถประโยชน์นิยม, สถิติ, สังคมวิทยา, สื่อมวลชน, อุดมการณ์, การนัดหยุดงาน

นี่คือท่อนเปิดที่ทรงพลังของหนังสือ ‘ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ’ (The Age of Revolution: Europe 1789-1848) ของเอริก ฮ็อบส์บอม, นักประวัติศาสตร์


มนุษย์รับรู้โลกผ่านถ้อยคำและจดจำโลกผ่านเรื่องเล่า การเกิดขึ้นของถ้อยคำเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นแค่การประดิษฐ์วาทศิลป์ขึ้นมาอย่างเดียว แต่คือการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์และกรอบความคิด หรือ concept ที่ทำให้เกิดถ้อยคำเหล่านั้นด้วย ถ้อยคำเหล่านี้ทั้งหมด เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 60 ปี; ไม่ถึง 1 ชั่วอายุคน; ระหว่างปี ค.ศ. 1789 – ค.ศ. 1848

ถ้าถามนักประวัติศาสตร์ว่าช่วงเวลาใดที่เปลี่ยนแปลงชะตากรรมของมนุษยชาติมากที่สุด เชื่อว่าในช่วง 60 ปีของ ‘ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ’ นี้ คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง เคียงคู่กับการอพยพออกจากแอฟริกา การปฏิวัติเกษตร การประดิษฐ์ตัวอักษร-ก่อร่างสร้างรัฐ และการเกิดขึ้นของโลกาภิวัติน์ผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในยุคปัจจุบัน นี่คือพลังของหนังสือเล่มนี้

อยากชวนให้นึกภาพยุโรปในต้นศตวรรษที่ 18 ก่อนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส จริงอยู่ว่าอาจมีคนบางส่วนเดินเรือออกไปทำการค้าข้ามมหาสมุทร บางส่วนออกไปล่าอาณานิคมและสร้างระบบที่กดขี่ชนพื้นเมือง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในยุโรปยังคงยากจนและห่างไกลกับภาพของยุโรปในฐานะมหาอำนาจผู้ปกครองโลก ยุโรปในยุคก่อนการปฏิวัติ ยังไม่ใช่มหาอำนาจที่ใหญ่ไปกว่าจักรวรรดิของมุสลิมของออตโตมัน จักรวรรดิโมกุลของอินเดีย และดินแดนจงกั๋วของจักรวรรดิต้าชิง

โลกที่เป็น ‘known world’ ยังคับแคบ ประชากรยุโรปน้อยกว่าเอเชียครึ่งต่อครึ่ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร คน 90-97% อยู่ในชนบท เมืองที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คนนั้น มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง (ในปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีประชากร 5-10 ล้านคน ขึ้นอยู่กับว่านับประชากรแฝงหรือไม่) การเดินทางจากลอนดอนถึงกลาสโกลว เมืองสำคัญของสกอตแลนด์ทางตอนเหนือของเกาะบริเทน ใช้เวลา 12 วัน ความสูงคนยุโรปส่วนใหญ่คือ 150 เซนติเมตร (สถิติเกณฑ์ทหารของกองทัพฝรั่งเศสช่วง 1792-1799) ชีวิตคนส่วนใหญ่ยากจนแร้นแค้น จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 17 การล่าและเผาแม่มดยังเป็นเรื่องปกติ

แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 60 ปี ยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจที่สามารถยึดครองโลกใบนี้แทบทั้งใบ จักรวรรดิออตโตมันระส่ำระสายจากการรุกรานอียิปต์ของนโปเลียนและการประกาศเอกราชของเซอร์เบียและกรีซ จีนแพ้สงครามฝิ่น 2 ครั้ง กองทหารพันธมิตรชาติตะวันตกบุกปล้น-เผาพระราชวังต้องห้ามอันเป็นศูนย์กลางอำนาจของจักรพรรดิต้าชิง บีบบังคับให้จีนต้องเปิดประเทศให้กับการ ‘ขูดรีด’ ผ่านการค้าของชาติตะวันตก พร้อมสูญเสียเอกราชเกาะฮ่องกง 99 ปี ส่วนอินเดีย ประเทศที่มีประชากร 180 ล้านคน ตกอยู่ภายใต้การปกครองของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่า ‘บริษัท บริติช อีสต์ อินเดีย’ ก่อนที่ในปี 1858 รัฐบาลอังกฤษจะยึดอำนาจการปกครองอาณานิคมจากบริษัทและก่อตั้ง ‘บริติชราช’ ที่ทำการปกครองอินเดียทั้งประเทศ

ในอีกด้าน การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบบโรงงาน’ เกิดขึ้นมาพร้อมกับ ‘เจ้าของทุน’ และ ‘คนรับจ้างผลิต’ เกิดการเปลี่ยนสภาพจากชาวนาและช่างฝีมือในระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมให้กลายเป็น ‘แรงงาน’ ที่ถูกกดค่าแรง การกดขี่และสภาพชีวิตอันโหดร้ายของคนที่ทำงานในโรงงานนำไปสู่การที่คาร์ล มาร์กซ์ ‘ปลุกผีคอมมิวนิสต์’ ขึ้นมาครั้งแรกผ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1848 ที่ไม่ใช่แค่ให้กำเนิด ‘คอมมิวนิสต์’ แต่ยังให้กำเนิดคำว่า ‘ทุนนิยม’, ‘ชนชั้นนายทุน’ และ ‘ชนชั้นแรงงาน’

เกิดอะไรขึ้นในช่วง 60 ปีนั้น? อะไรที่เปลี่ยนจากประเทศศักดินาที่ล้าหลังยากจน มาเป็นผู้ปกครองโลกไปอีกอย่างน้อย 100 ปี คำตอบอยู่ที่การปฏิวัติ 2 ครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นั่นคือ ‘การปฏิวัติทางการเมือง’ ที่เปลี่ยนจินตนาการใหม่ของผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง ถ้าพูดให้ถูกคือเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ที่สถาปนาระบอบคนเท่ากันจากการโค่นล้มอำนาจระบอบเดิมขึ้นเป็นครั้งแรก และ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ที่เปลี่ยนวิถีการผลิตของมนุษย์ และเพิ่มความสามารถของมนุษย์ในการขูดรีดหรือการเอารัดเอาเปรียบของมนุษย์อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งผลของการปฏิวัติ 2 ครั้งนี้ ทำให้โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อๆ มาเป็นลูกโซ่ในอัตราเร่งที่รวดเร็ว รุนแรง และแหลมคม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์


จิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติ

จุดเริ่มต้นของชัยชนะของทวีปยุโรป (หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงไปกว่านั้นไปคือสองประเทศคู่แข่งกันอย่างบริเตนใหญ่และฝรั่งเศส) เกิดจากอุดมการณ์ที่เราเรียกว่าอุดมการณ์แห่ง ‘ยุคแสงสว่างทางปัญญา’ (Enlightenment) ปลดปล่อยศักยภาพ ทำลายเงื่อนไขที่จำกัดมนุษย์ผ่านระเบียบทางสังคมแบบเหลื่อมล้ำต่ำสูง

“การปฏิวัติทางอุดมการณ์แห่งยุค ‘แสงสว่างทางปัญญา’ ที่ลัทธิปัจเจกนิยมแบบฆราวาส เชื่อในเหตุผลและความก้าวหน้าครอบงำทางความคิด มีเป้าหมายหลักในการปลดปล่อยปัจเจกบุคคลให้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนพันธนาการของลัทธิจารีตนิยมที่โง่เขาของยุคกลาง และระบอบศักดินา ปลดปล่อยจากความงมงายของศาสนจักร (ซึ่งแตกต่างจากศาสนา ‘ธรรมชาติ’ หรือศาสนา ‘เหตุผล’) ปลดปล่อยจากความไร้เหตุผลที่แบ่งแยกมนุษย์ชั้นสูงชั้นต่ำตามชาติกำเนิด อิสรภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ คือคำขวัญหลักของอุดมการณ์นี้ และเมื่อทุกอย่างสุกงอม ทั้ง 3 คำนี้ก็กลายเป็นคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส”

(หน้า 31-32)

หนังสือเล่มนี้กล่าวด้วยว่า การพูดถึงอุดมการณ์แห่งยุคแสงสว่างทางปัญญาเป็นอุดมการณ์ของชนชั้นกลางนั้น ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะในยุคก่อนหน้า ผู้นำกลุ่มอุดมการณ์แสงสว่างทางปัญญา มีความระมัดระวังอย่างสูงในการเป็น “สายกลางทางการเมือง” คนเหล่านี้จำนวนมากเข้าไปเป็นข้าราชการในระบอบกษัตริย์ 

“จวบจนทศวรรศที่ 1780 คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมุ่งหวังศรัทธาว่าจะมีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีแสงสว่างทางปัญญา ทั้งๆที่แนวคิดของยุคแสงสว่างทางปัญญาย่อมหมายถึงการล้มล้างระเบียบสังคมและการเมืองแบบเดิม การคาดหวังว่าระบอบเก่าจะล้มล้างตัวเองโดยสมัครใจเป็นความคาดหวังมากเกินไป ตรงกันข้าม ดังที่เราได้เห็นแล้วในบางแง่นั้นระบอบเก่ากลับยิ่งระดมสรรพกำลังต่อต้านความก้าวหน้าของพลังทางสังคมและเศรษฐกิจใหม่ด้วยซ้ำ อีกทั้งฐานที่มั่นในการต่อต้าน ….. ก็คือสถาบันกษัตริย์ที่บรรดาผู้สนับสนุนยุคแสงสว่างทางปัญญาสายกลางมุ่งหวังศรัทธานั่นแหละ”

(หน้า 33)

ในต้นศตวรรษที่ 18 นอกเหนือจากอังกฤษที่เกิดการปฏิวัติไปตั้งแต่ 100 ปี ก่อนหน้านั้นแล้ว ทุกรัฐในยุโรปปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ขับเคี่ยวกันจากการแข่งขันในการเมืองระหว่างประเทศ บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ย่อมต้องการผลักดันความทันสมัยทางเศรษฐกิจ สังคม การบริหารปกครอง และความรู้ ภายใต้การสมาทานคำขวัญของอุดมการณ์แสงสว่างทางปัญญา

แต่สุดท้าย เจ้าผู้ปกครองในระบอบเก่าก็มักไม่ให้ความสนใจไปที่อุดมคติที่อยู่เบื้องหลังอุดมการณ์แสงสว่างทางปัญญา นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ที่ได้จากการทวีคูณรายได้ อำนาจ และความมั่งคั่งของตน กระนั้นก็ตาม ต่อให้ระบอบเก่าจะอยากปฏิรูปเปลี่ยนแปลงแค่ไหน สุดท้ายก็พบว่าเป็นไปไม่ได้ และแสดงออกน้อยมากว่าต้องการที่จะแตกหักกับระบบลำดับชั้นของระเบียบอำนาจเก่า 

ชัยชนะของอุดมการณ์แบบใหม่ที่มีเหนือกว่าอุดมการณ์เก่าสะท้อนผ่านชัยชนะในการเมืองระหว่างประเทศ (หรือสงคราม) ของอังกฤษที่เหนือกว่าฝรั่งเศส ทั้งที่ฝรั่งเศสมีพื้นที่ ทรัพยากร และประชากรมากกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศส อันเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงเก่าแก่ดั้งเดิมที่ทรงอำนาจที่สุดพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดต่อบริเตนใหญ่ จากศักยภาพในการจัดการ การจัดหาแหล่งทุน และความสามารถในการทำสงคราม ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะแก้เผ็ดอังกฤษได้ด้วยการสนับสนุนอเมริกา อาณานิคมใหญ่ที่สุดของอังกฤษในสมัยนั้น ให้ประกาศอิสรภาพ แต่นั่นไม่ได้กระทบกับสถานะมหาอำนาจของอังกฤษมากนัก ตรงกันข้าม กลับยิ่งกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสเองในไม่กี่ปีถัดมา

คำตอบของชัยชนะครั้งนี้ของอังกฤษคืออะไร ถ้าไม่ใช่จากการปฏิวัติใหญ่ที่ปฏิรูประบอบกษัตริย์ของอังกฤษเมื่อ 200 ปีก่อนหน้านั้น ซึงทำลายอำนาจแบบศักดินาดั้งเดิม และสถาปนาระบอบเศรษฐกิจและสังคมแบบทุนนิยมที่ทำให้ชนชั้นพ่อค้ากลายเป็นกลุ่มพลังหลักที่มีเป้าหมายทางนโยบายเพื่อประโยชน์สูงสุดของชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจ-สังคมที่มีความก้าวหน้าก่อนฝรั่งเศส


การปฏิวัติอุตสาหกรรม: ทุนนิยม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ 

ชัยชนะของยุโรปต่อทั้งโลกในศตวรรษที่ 19 ไม่ใช่ชัยชนะของประเทศต่อประเทศ แต่เป็นชัยชนะของระบอบทุนนิยมที่มีต่อระบอบเก่าและคนพื้นเมือง นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่เครื่องจักรไอน้ำ แต่เป็น ‘ระบบโรงงาน’ ที่ทำให้เกิดวิถีการผลิตแบบใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่อย่างเครื่องจักรไอน้ำถูกนำมาประยุกต์เข้ากับเครื่องปั่นผ้าหรือหัวรถจักร อันนำมาซึ่งวิถีการผลิตและระบบเศรษฐกิจแบบใหม่

คำถามคือทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงเกิดขึ้นในอังกฤษ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฝรั่งเศสมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากกว่าและมีจำนวนนักวิทยาศาสตร์มากกว่า? คำตอบของฮ็อบส์บอมอยู่ที่โครงข่ายการค้าโลกที่จักรวรรดิอังกฤษเป็นผู้ครอบครอง

คนที่เป็นหัวใจของการสร้างเทคโนโลยีไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นนายช่างหรือนักธุรกิจที่ทำการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจนได้เครื่องจักรในแบบอุตสาหกรรมขึ้นมา และจากเครื่องจักรนำไปสู่การสร้างระบบโรงงานที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงในปริมาณมากขึ้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  ระบบโรงงานที่ใช้เครื่องจักร ทำให้เกิดการผลิตปริมาณมากในราคาถูก การผลิตสร้างตลาด และตลาดสร้างการสะสมทุน เพื่อทำการผลิตต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือหัวใจของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น

ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ไม่ได้สร้างขึ้นบนตลาดเสรี แบบที่ตำราเศรษฐศาสตร์สมัยนี้พร่ำสอน ตรงกันข้าม ทุนนิยมในอังกฤษก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้เพราะจักรวรรดิ ฮ็อบส์บอมชี้ให้เห็นตัวอย่างผ่านอุตสาหกรรมผ้าฝ้าย อุตสาหกรรมโรงทอผ้าอังกฤษเติบโตได้เพราะนโยบายกีดกันการค้าผ้าลินินและผ้าทอพื้นเมืองอื่นๆ ควบคู่ไปกับการใช้อิทธิพลทางนโยบายควบคุมให้อินเดียและประเทศอื่นๆ กลายเป็นแหล่งปลูกฝ้ายวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับโรงงานในอังกฤษ แล้วเอาผ้าจากอังกฤษส่งกลับไปขายในอาณานิคมและประเทศอื่นๆ อีกที

จักรวรรดิอังกฤษเปลี่ยนรูปแบบจักรวรรดิจากจักรวรรดิโบราณด้วยการขยายอาณาจักรผ่านการขูดรีดผลประโยชน์จากดินแดนอื่นในนามการค้าเสรี และพร้อมจะใช้เรือกลไฟและคัมภีร์ไบเบิ้ลทลายอุปสรรคของการค้าเสรีและการเข้าไปหาผลประโยชน์ ดังที่อังกฤษได้บีบบังคับประเทศจีนให้เปิดรับนโยบายค้ายาเสพติดเสรี ในสงครามฝิ่นทั้ง 2 ครั้ง และบังคับเช่าเกาะฮ่องกงเพื่อเป็นท่าเรือในการขนส่งยาเสพติดของตน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกลายเป็นความใฝ่ฝันของผู้นำรัฐต่างๆ ในยุโรป จากความเชื่อว่านั่นคือหนทางที่จะนำมาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ สวนทางกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ระบบกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินแบบรวมหมู่ถูกบังคับให้ถูกกำกับดูแลภายใต้กรรมสิทธิ์ ทาสติดที่ดินในชนบท หรือแม้แต่คนที่เคยเป็นช่างฝีมือ ถูกบังคับให้พลัดที่นาคาที่อยู่เปลี่ยนแปลงชนชั้นทางสังคมในสังคมใหม่กลายเป็น “ชนชั้นแรงงาน” ที่มีชีวิตยากลำบากยิ่งกว่าวิถีชีวิตในอดีต แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ย่อมไม่มีทางย้อนอดีตกลับไปได้อีกแล้ว


1848 ไม่ใช่จุดสิ้นสุด

สิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอ คือข้อความในคำนำของผู้เขียนที่กล่าวว่า 

การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างปี 1789-1848 มิใช่ชัยชนะของ “อุตสาหกรรม” แต่เป็นชัยชนะของอุตสาหกรรมแบบทุนนิยม มิใช่ชัยชนะของอิสรภาพและความเท่าเทียมอย่างถ้วนหน้า แต่เป็นชัยชนะของชนชั้นกลาง

ปี 1789 ไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นเส้นตรงของการปฏิวัติฝรั่งเศส ระหว่างทางมีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของนโปเลียน หรือแม้ยุคสมัยแห่งการฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์บูร์บงภายหลังนโปเลียนพ่ายแพ้สงครามในปี 1815 อนึ่ง ในช่วงเวลา 60 ปี ยุคของการฟื้นฟูราชวงศ์อาจยาวนานมากกว่ายุคที่นักปฏิวัติครองอำนาจเสียอีก

ปี 1848 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดยุคสมัยของหนังสือเล่มนี้ ก็ยังไม่ใช่จุดจบของประวัติศาสตร์ ความสำคัญของปี 1848 ที่ในหนังสือไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ คือปีที่เกิดการปฏิวัติทางการเมืองครั้งสำคัญในหลายประเทศของยุโรปที่ประชาชนลุกขึ้นปฏิวัติต่อระบอบศักดินา ประเทศส่วนใหญ่ล้มเหลว (ยกเว้นฝรั่งเศส) และระบอบศักดินายังปรับตัวเข้ากับความสมัยใหม่ได้ แต่ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงสภาพการณ์ทางสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ภูมิปัญญา และโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมในตลอดยุคสมัย 

การปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ใช่จุดสุดท้ายของการต่อสู้ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่ทำให้เกิดการต่อสู้ทางการเมือง 3 เส้าระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชน นายทุน และแรงงาน คนที่เป็นผู้กุมชัยชนะในการปฏิวัติของยุคสมัยนี้คือชนชั้นนายทุนที่ยืนอยู่บนทางแพร่ง ในด้านหนึ่งคือระบอบอภิสิทธิ์ชนที่ล้าหลัง แต่อีกด้านคือมวลชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก ภายใต้สภาวะทางการเมืองเช่นนี้ทำให้เกิดหลากสำนักคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจที่จินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจัดการสังคม 

ถึงแม้ว่าช่วงเวลา 60 ปี ของยุคสมัยแห่งการปฏิวัติจะเป็นช่วงเวลาที่น่ามหัศจรรย์ของประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยน imagined order ของมนุษยชาติ แต่ถ้ามองจากสายตาคนยุคปัจจุบัน เครื่องจักรที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมคือเครื่องจักรรุ่นที่โบราณ ไร้ประสิทธิภาพ และสร้างมลพิษโดยไม่จำเป็นที่สุด ระบอบทุนนิยมในยุคดังกล่าวช่างล้าหลัง เต็มไปด้วยการผูกขาดและกดขี่ ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยก็มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพียงแค่หยิบมือเดียวจากคนนับสิบล้าน สิ่งเหล่านี้ย้ำเตือนเราถึงความยิ่งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงระเบียบอำนาจเก่าเพื่อไปสู่ความก้าวหน้า แต่ ‘ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติของเรา’ ย่อมต้องเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาให้เป็น ‘การปฏิวัติ’ ที่ดีขึ้นกว่าในยุคสมัยอดีตเช่นเดียวกัน


ขายหนังสือ

หนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในการรีวิวนี้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ข้อมูลทางสถิติของโลกก่อน-หลังยุคสมัย เพื่อให้เห็นภาพว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นก้าวกระโดดอย่างไร
  • การตีความการปฏิวัติฝรั่งเศสและยุคสมัยนโปเลียน ในแบบที่เราไม่เคยถูกสอนมาก่อน
  • บทบาทสมาคมลับ ชื่อสมาคม และอิทธิพลต่อการก่อตัวของลัทธิชาตินิยม
  • พลวัตรการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นของกลุ่มคนระดับล่างสุดของสังคม และการเลื่อนชนชั้นทางสังคม
  • อุดมการณ์ศาสนาและฆราวาส ที่กล่าวถึงความคิดทางการเมืองแบบเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองก่อน The Communist Manifesto ว่างานสำคัญทางความคิดมีใครบ้าง
  • ความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ 

ในฐานะที่บทความนี้เป็นบทความรีวิวหนังสือ ที่รีวิวเนื้อหามาถูกบ้างผิดบ้าง ก็ต้องแนะนำผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมาว่าหนังสือเล่มนี้อ่านยากและไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน จากที่ได้เคยอ่านภาคภาษาอังกฤษด้วย ยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่อ่านยาก แปลยากกว่า แต่ฟ้าเดียวกันและคุณภัควดีก็ทำสำเร็จ และสิ่งที่ช่วยได้มากๆ ในหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลคือการใส่เชิงอรรถไว้ตอนท้ายของหน้า ซึ่งช่วยในการทำความเข้าใจขึ้น

ในฐานะที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นนักประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้มีการบอกเล่าสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และภูมิปัญญาอย่างละเอียด ข้อเสียประการเดียวคือไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ว่าอะไรเกิดขึ้นปีไหน โดยใคร อย่างไรเลย

เพราะหนังสือเล่มนี้ราคาค่อนข้างแรง สำหรับผู้ที่สนใจอ่านแต่สภาพการเงินยังไม่คล่อง สามารถยืมหนังสือได้ที่โครงการ ‘อ่านเปลี่ยนโลก’ ของ Common school จิ้มตรงนี้ได้เลย

คำแนะนำสุดท้ายในการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือค่อยๆ อ่าน อย่าเร่งรัดหักโหม อ่านบทที่ 1-2 ก่อนให้เข้าใจ (ตามที่อ.ปิยบุตรแนะนำ) หลังจากนั้นเลือกหัวข้อต่อไปได้ตามที่สนใจ อาจจะหยิบมาอ่านวันละบทก่อนนอน ในแต่ละบท ทุกบรรทัด ทุกย่อหน้ามีหลายประเด็นชวนให้เราคิด ค่อยๆ ใคร่ครวญและสนุกกับข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้ทีละนิด เหมือนกับค่อยๆ ละเลียดชิมอาหาร อย่าอ่านเอาเป็นเอาตาย

สุดท้ายนี้ ก็ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ปลุกหนังสือคลาสสิคเล่มนี้ขึ้นมา และขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านหนังสือดีๆ อีกเล่มครับ 🙂

Author

นพณัฐ แก้วเกตุ
อดีตแคมเปญเนอร์ ทาสแมว สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง อยากเห็นสังคมไทยที่ก้าวหน้า