![](https://pgmf.in.th/wp-content/uploads/2024/07/1000031905-1024x1024.jpg)
เฉลิมชัย วัดจัง
เขียน
“ป่าไม้” ทรัพยากรที่รัฐต้องจัดการ
การกำหนดที่ดินที่เป็นของรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ ให้เป็น “พื้นที่อนุรักษ์” และ “พื้นที่คุ้มครอง” ทั้งการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นกรอบความคิดในการจัดการที่ดินในทำนองของการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้พ้นเงื้อมมือของมนุษย์ในยุคสมัยของทุนนิยม แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม การประกาศพื้นที่ในการอนุรักษ์กลับทำหน้าที่โอบรัดธรรมชาติให้ไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่ ความย้อนแย้งสำคัญคือ ทุนนิยมที่ดูเหมือนจะเป็นศัครูตัวฉกาจของธรรมชาติ กลับเป็นพวกพ้องเดียวกันกับการอนุรักษ์ได้
Autoro Escobar (1996) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายโคลอมเบีย เสนอว่า ธรรมชาติไม่ได้ถูกนิยาม พิจารณา และปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นสิ่งภายนอกอีกต่อไป ภายใต้กระบวนการเปลี่ยนให้เป็นทุน (Capitalization) มิติทางธรรมชาติและสังคมซึ่งไม่เคยถูกทำให้เป็นทุนมาก่อน ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุน ในแง่นี้ ทุนจึงพัฒนาแนวโน้มว่าด้วยการอนุรักษ์ (Conservation Tendency) ที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติอย่างทำลายล้าง ซึ่งแม้จะมีการเสนอให้พิจารณาทุนทางนิเวศวิทยา หรือ “การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้เป็นทุน” ใน 2 แบบ คือแบบสมัยใหม่ (ผ่านกระบวนการตักตวงแสวงหาผลประโยชน์) และแบบหลังสมัยใหม่ (กระบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติ) แต่ Escobar กลับมองว่ารูปแบบทั้งสองต่างดำรงอยู่ร่วมกันผ่านวาทกรรม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ”
วาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนทำหน้าไกล่เกลี่ยความย้อนแย้งในตัวเองระหว่าง “ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” กับ “การรักษาสิ่งแวดล้อม” ด้วย “การจัดการ” (management) ในบริบทที่โลกถูกมองในฐานะเป็นระบบเดียวกันทั้งโลก ซึ่งวางอยู่บนแบบจำลองว่าด้วย “ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” และ “การพัฒนา” กรอบความคิดนี้จึงวางแผนและจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำกับและกำหนดความปราถรถนา จนทำให้แม้แต่พื้นที่ชุมชนห่างไกลของประเทศโลกที่สามก็ต้องถูกพรากจากบริบทเฉพาะของท้องถิ่นและถูกนิยามใหม่ในฐานะ “ทรัพยากร” ที่สามารถวางแผนและจัดการได้
แนวคิดอุทยาทแห่งชาติในไทยมาจากไหน
แนวความคิดการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ริเริ่มขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จนกระทั่ง พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งการให้กระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันพิจารณากำหนดพื้นที่ป่าเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
การรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงปลาย 2520 เป็นต้นมา มีการออกกฎหมายและการออกมาตรการจัดการป่าแต่ละประเภท อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตวป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าเศรษฐกิจ เกิดการสร้างวาทกรรมใหม่ที่เรียกว่า “ป่าต้นน้ำ” หรือ “พื้นที่ต้นน้ำลำธาร” โดยมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดและควบคุมการใช้ที่ดิน การห้ามคนอยู่หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 โดยใช้หลักการที่เป็นไปตามฐานความรู้และกรอบในการวิเคราะห์ด้านกายภาพจากการศึกษา คือการแบ่งชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเป็น 5 เขต เพื่อกำหนดมาตรการในแต่ละเขตโดยการวิเคราะห์แบ่งชั้นคุณภาพด้วยสมการของปัจจัยด้านกายภาพที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะการพังทลายของดิน เช่น ความลาดชันของพื้นที่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทางธรณีวิทยา ฯลฯ การกำหนดให้พื้นที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35% ขึ้นไปเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำไม่อนุญาตให้มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมไปถึงนโยบายป่าไม้แห่งชาติในปี 2528 ที่กำหนดพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยแม้จะมีความพยายามกระชับรวมอำนาจในการจัดการทรัพยากร แต่ปัญหาความขัดแย้งก็ไม่ได้ลดน้อยลง ชนพื้นเมืองที่อ้างสิทธิที่อยู่มาก่อนการประกาศสิทธิตามกฎหมายที่ระบุในรัฐไทยก็ยังคงอยู่ในพื้นที่และยืนยันสิทธิตามประเพณีของตน พื้นที่ป่าก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของกรมที่ดินโดยศูนย์ปฏิบัติการกรมที่ดินในปี 2554 ปรากฏว่ามีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์ จำนวน 144.54 ล้านไร่ แต่จำนวนพื้นที่ป่าเหลือเพียง 82 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่ไม่มีสภาพป่าแล้วจำนวนถึง 62.54 ล้านไร่ ซึ่งซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ชุมชนอาศัยอยู่ 3,470 ชุมชน และเป็นจำนวน 1,056,819 ราย
กระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐในการจัดการป่าภายใต้แนวคิด “ป่าปลอดคน” มีการดำเนินการที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) มาตรการปิดป่า และการควบคุมพื้นที่ หลังการยกเลิกสัมปทานทำไม้ หน่วยงานรัฐเริ่มบังคับใช้กฎหมายป่ามายกับชุมชนในเขตป่าทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในการควบคุมชุมชนเหล่านั้นอย่างเข้มงวดมากกว่าในช่วงก่อนหน้านั้น 2) การป้องกัน และปราบปราม เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการปิดป่า เพื่อควบคุมพื้นที่ มีการบังคับใช้กฎหมายกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงานเข้าไปประจำในพื้นที่ เช่น หน่วยจัดการต้นน้ำ หน่วยอุทยาน เข้าปฏิบัติหน้าที่และดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับชาวบ้านที่ทำกินในเขตป่า มีการห้ามไม่ให้ถางไร่และการเกบหาของป่า 3) การอพยพ หรือผลักดันให้ออกนอกพื้นที่ มีการดำเนินการในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ และน่าน และมีการเตรียมอพยพในอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยอพยพชุมชนที่เป็นชาติพันธุ์จากชุมชนต่างๆ ไปอยู่ในพื้นที่จัดสรรในรูปของนิคมรวมกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และการดำรงชีพของชุมชนเหล่านั้น ในหลายพื้นที่จึงมีความซับซ้อนของปัญหาแนวเขตเป็นอย่างมาก และที่ดินของรัฐที่สงวนคุ้มครองมีสถานะของความเป็น “ป่าการเมือง” ของเกมส์การเมืองในแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน
กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่มาพร้อมการปรากฎขึ้นของ #saveทับลาน ก็นับเป็นป่าการเมืองเช่นกัน
ทับลานทับใครมาบ้างก่อนเป็นอุทยาน
ปัญหาสำคัญของความทับซ้อนกันของที่ดินในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดจากการส่งมอบพื้นที่และการประกาศเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานทับซ้อนกันโดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2506 มีการประกาศเขตป่าไม้ถาวร โดยในระหว่าง พ.ศ. 2509 – พ.ศ. 2516 ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 จึงได้ประกาศเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี
ในช่วงเวลานี้ เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนนำไปสู่การเข้าป่าของกลุ่มนักศึกษาและร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รัฐจึงจัดตั้งพื้นที่ที่หลักกิโลที่ 75-80 ซึ่งตรงกับพื้นที่ ‘ป่าสงวนเสื่อมสภาพ’ ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่อพยพของชาวบ้านโดยตั้งเป็นโครงการชื่อว่า ‘หมู่บ้านไทยสามัคคี’ โดยที่รัฐเริ่มอพยพชาวบ้านเข้ามาในพื้นที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ธ.ค. 2520 ใช้เวลาอพยพราษฎร 1 เดือน แต่ในระหว่างนั้นคอมมิวนิสต์ยังคงได้พยายามบุกเข้าโจมตีหมู่บ้านไทยสามัคคีอยู่เรื่อยมา รัฐจึงได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแล และสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ด้วยการ ‘สร้างชุมชน’ มีการกำหนดที่ดินใหม่ จาก ‘ป่าสงวนเสื่อมสภาพ’ ให้กลายเป็น ‘เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’ เพื่อให้ชาวบ้านมีความเป็นชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็งและใน พ.ศ. 2520 รัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลืออพยพราษฎรที่อยู่อาศัยกระจายในพื้นที่ป่าให้มาอยู่รวมกัน และจัดตั้งเป็นบ้านไทยสามัคคี
พ.ศ. 2521 มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมาในลักษณะครอบคลุมทั้งเขตอำเภอ และพ.ศ. 2524 ก็ประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณป่าให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่ง พ.ศ. 2525 ได้อนุมัติให้กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีพื้นที่บางส่วนอยู่เขตอุทยานแห่งชาตทับลาน
พ.ศ.2531 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2531 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2531 โดยอาศัยแนวเขตอำเภอเป็นเขตปฎิรูปที่ดิน โดยในช่วงเวลานั้น ได้มีการจัดโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรม (คจก.)
ปัญหาความทับซ้อนของการประกาศใช้กฏหมายและแผนที่ของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการสำรวจและปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้ตรงตามสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ในพ.ศ. 2543
ผลประโยชน์บนความซับซ้อนของทับลาน
พื้นที่ไหนที่มีความคลุมเคลือไม่ชัดเจนก็ย่อมง่ายต่อการแสวงหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจ พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานก็เช่นกัน การใช้ประโยชน์ในที่ดินมีทั้งถูกใช้เรียกค่าใช้จ่ายแก้ปัญหากับคนที่ครอบครองพื้นที่ เมื่อปัญหาพื้นฐานเดิมคือแนวเขตไม่ชัดเจน ไม่ลงตัว หน่วยงานรัฐถือแผนที่คนละฉบับ ประกอบกับการปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐทุกฝ่าย เลยทำให้ปัญหาดังกล่าวปะทุขึ้น และถูกหยิบฉวยมาเป็นประเด็นการเมืองการที่ผืนป่าและที่ดินที่มีสภาพเป็นป่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าไปจัดการพื้นที่ หรือเพื่อต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่น รัฐบาล กลุ่มทุน ภาคประชาสังคม
กรณี #saveทับลาน แสดงให้เห็นว่า ป่าทับลานไม่ได้มีความสำคัญแค่ในแง่ของการอนุรักษ์ธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็น “ป่าการเมือง” ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐในการอนุรักษ์เป็นข้ออ้างในการเข้าไปจัดการพื้นที่ป่า ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มต่างๆ ใช้ประเด็นเรื่องป่าเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลและนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายที่ดิน นโยบายสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่นโยบายการเมืองระดับชาติ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งและความไม่มั่นคงของประชาชน
สรุป
ปัญหาสำคัญของวิธีคิดและวิธีปฏิบัติว่าด้วยพื้นที่คุ้มครองแบบกระแสหลัก คือการเป็นแนวทางอนุรักษ์ที่วางอยู่บนกรอบความคิดแบบ “ป่าบริสุทธิ์” หรือ “ป่าปลอดคน” ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่วางอยู่การแบ่งขั้วตรงข้ามกันระหว่างสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม-ธรรมชาติ ทำให้เกิดการขึ้นของป่าอุทยาน-ป่าอนุรักษ์ ที่มีแนวโน้มในการขับไล่ผู้คนที่อยู่อาศัยเดิมให้ออกจากที่อยู่อาศัย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงหรือลิดรอนสิทธิในที่ดิน การเพาะปลูก รวมไปถึงการเก็บหาของป่า มีจำนวนมากที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน และทำให้กลายเป็นพื้นที่อุทยาน ซึ่งส่งผลต่อวิถีการดำรงชีพรวมไปถึงการลบล้างหรือทำลายประวัติศาสตร์สังคมที่เกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐาน ที่อยู่อาศัย พิธีกรรม ความเชื่อทางศาสนา ความรู้ท้องถิ่น เกี่ยวกับพันธุ์พืช สัตว์ป่า ซ้ำร้ายในหลายพื้นที่ คนที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ กลับเข้ามาเป็นแรงงานบริการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันเป็นผลผลิตจากการตั้งอุทยานแห่งชาตินั้นๆ
การอนุรักษ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นหลังผ่านการสัมปทานป่าไม้มาไม่น้อยกว่า 60 ปี แล้วจึงนำเข้าแนวคิดในการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติโดยแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก คือเงื่อนไขหลักที่ทำให้กรมป่าไม้หันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์เกิดจากการลดลงของพื้นที่ป่าซึ่งเป็นผลมาจากการสัมปทานป่าไม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย กฎหมายอนุรักษ์ฉบับแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2503 (พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) เป้าหมายหลักเพื่อรักษาผืนป่า ในขณะที่ในผืนป่าทั่วไปของเมืองไทยมีชุมชนท้องถิ่นอาศัยอยู่ การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ในระยะที่ผ่านมาไม่มีการกันเขตชุมชนออกจากเขตป่าแต่อย่างใด มาตรการอนุรักษ์ได้นำไปสู่การกีดกันชุมชนท้องถิ่นออกจากทรัพยากร มีการเข้าไปตั้งหน่วยงานใกล้ชุมชนเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ไปจนถึงการอพยพคนออกจากเขตป่า และการขยายจำนวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในทำนองเดียวกันแนวคิดของ Escobar (1998) กับการเปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นสินค้าในกระบวนการทำให้กลายเป็นทุน การเกิดขึ้นของพื้นที่คุ้มครองสมัยใหม่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งสมทุน เป็นการเปลี่ยนแปลงให้สิ่งที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของทุนมาก่อนไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หรือผู้คน ให้กลายมาเป็นสินค้า ในฐานะที่ดิน ทรัพยากร และแรงงานที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ผ่านระบบมูลค่าและกลไกของเงินตรา กระบวนการล้อมรั้วและยึดพรากทรัพยากร และเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่คุ้มครองหรือป่าอนุรักษ์ในแบบ “ป่าปลอดคน” จะเป็นการสร้างและผลิตซ้ำเงื่อนไขที่เอื้อให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมสามารถขยายตัวได้ ตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับโลก
ข้อเสนอ
1. ตรวจสอบสิทธิที่ดินในพื้นที่อย่างละเอียดและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านและหาทางออที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานฯ เช่น การจัดสรรที่ดินทำกินให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการให้สิทธิในการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างจำกัดและสร้างมาตรการป้องกันการบุกรุกใหม่โดยสร้างความร่วมมือกับชุมชน
2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ สร้างกลไกการมีส่วนร่วม เช่น คณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน และสนับสนุนการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองอย่างยั่งยืน
3. สร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐในพื้นที่อุทยานฯ อย่างโปร่งใส เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและองค์กรอิสระ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับ สร้างกลไกการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจในทางมิชอบ
4. แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างโดยการปฏิรูปกฎหมายที่ดินให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย (ก้าวไกลเสนอไปแล้วเพิ่งโดนตีตกไป) และต้องมีการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสู่ท้องถิ่น
แหล่งอ้างอิง
Escobar, A.(1996). Constructing Nature: Element for a poststructural political ecology. In R. Peet & M. Watts (Eds.), Liberation Ecologies: Environment, Development, Social Movements (pp. 46-68). London and New York: Routledge.
Escobar, A.(1998). Whose Knowledge, Whose nature? Biodiversity, Conservation, and the Political Ecology of social Movements. journal of Political Ecology, 5(1), 53-82
นภัค เสรีรักษ์. (2565). การอนุรักษ์ธรรมชาติในสมัยของทุน. ใน บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤติสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน บรรณาธิการ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร.
การุณย์ พิมพ์สังกุล (2566). ปัญหาทางกฏหมายและนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินรัฐ ศึกษากรณีทับซ้อนกันของที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศยามล ไกรยูรวงศ์ และคณะ. (2548). โครงการศึกษา และสำรวจข้อพิพาทและความขัดแย้งปัญหาที่ดินในประเทศไทย ระยะที่ 1, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.