โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป

โดย กฤชสรัช วงษ์วรเนตร

หากเอ่ยถึงภาษาถิ่นที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งสืบสานอยู่บนแผ่นดินอู่ข้าวปลานี้ย่อมมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่อักษรล้านนาทางทิศเหนือ อักษรธรรมทางทิศตะวันออก อักษรยาวีทางทิศใต้ ฯลฯ เป็นต้น อักษรทั้ง 3 นั้นถือเป็นศิลปะวิทยาการ ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญอย่างยิ่ง และได้รับการสืบทอด ส่งต่อให้สามารถดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน แม้กระนั้นกลับไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ราษฎรในปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ได้เพียงในงานวิจัยขึ้นหิ้ง ตามหนังสือในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่รอวันจำหน่ายทิ้ง เสมือนถูกละเลยเพื่อให้ผู้คนได้ลืมเลือนมันไป



นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 ซึ่งมีนโยบายหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาไทยกลางภายในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ และส่งผลให้เด็กทุกคนต้องเข้าเรียนในโรงเรียน[1] ทางหนึ่งนั้นเสมือนกันเป็นนโยบายอันนำไปสู่การกลืนทางวัฒนธรรม[2] จะเห็นได้ว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะมีการปรับปรุงแนวทางการศึกษา ผลกระทบนั้นก็ทำให้ภาษาท้องถิ่นในอาณาบริเวณต่างๆ ถูกลดความสำคัญลงเป็นอย่างมาก แม้กระทั้งอาจเรียกได้ว่าเป็นการตัดตอนความรู้ความเข้าใจในวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ผ่านชุดความรู้ที่ควบคุมจากส่วนกลาง เป็นไปเพื่อสร้างรากฐานอำนาจทางวัฒนธรรมและการปกครอง


วิวัฒนาการทางภาษา: อักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทน้อย

อาณาบริเวณของดินแดนแถบนี้เดิมนั้นเคยเป็นที่พื้นที่ของจักรวรรดิเขมรอันรุ่งเรือง ซึ่งแผ่ขยายอำนาจทางเหนือสุดถึง มณฑลยูนนาน (ประเทศจีนตอนใต้ในปัจจุบัน) จรดปลายคาบสมุครอินโดจีนทางใต้สุด ทางตะวันออกจากประเทศเวียดนามถึงประเทศพม่าทางทิศตะวันตก กินอาณาเขตกว้างขวาง ภายหลังการล่มสลาย อารยธรรมขอมมิได้หลงเหลือไว้เพียงแต่นครวัดที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงศิลปะวิทยาการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ตัวอักษรขอมด้วย ตัวอักษรขอมนี้เองได้ถูกปรับปรุง ดัดแปลงมาจาก ตัวอักษรบาลี-สันสกฤต โดยการตัดติ่งเล็กๆ ห้อยท้ายพยัญชนะออก และอักษรขอมนี้เองก็ส่งอิทธิพลต่อ อักษรธรรม โดยสังเกตุได้จากโครงสร้างของพยัญชนะที่หยิบยืมเอาอักษรขอมมาใช้ และ ลดรูปแบบพยัญชนะ สระ ให้เขียนง่ายขึ้น (สวิง บุญเจิม 2555: หน้า 3-5) โดยตัวอักษรธรรมนี้จะพบเห็นเป็นส่วนมากใน หนังสือใบลาน ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วดินแดนที่ราบสูงนี้

กาลเวลาเลยผ่าน ตัวอักษรธรรมจากคัมภีร์ใบลาน ดูเหมือนจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งผู้คนทั่วไปตามแนว 2 ฝั่งแม่น้ำโขง หยิบยกขึ้นมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร ซึ่งถูกเรียกว่า อักษรลาวหรืออักษรไทน้อย

หากสังเกตรูปแบบการเขียนพยัญชนะเทียบตั้งแต่ อักษรขอม-อักษรธรรม-อักษรไทน้อยหรืออักษรลาว นั้นจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันและส่งต่ออิทธิพลกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังน่าสังเกตุต่อได้ว่าส่งอิทธิพลต่อตัวอักษรไทยกลางอยู่ไม่น้อย

อักษรธัมม์ (อักษรธรรมอีสาน) มีพยัญชนะ 33 ตัว สระ 8 ตัว ไม่มีวรรณยุกต์ ไม่มีตัวการันต์ สามารถเติมอักษรพิเศษเพื่อกำกับเสียงได้อย่างอิสระ มีการลดรูปพยัญชนะที่เรียกว่าอักษรเฟื้องเพื่อใช้เป็นตัวสะกด[3] รูปแบบการเขียนและการประสมคำที่ไม่สลับซับซ้อนทำให้เรียนรู้และส่งต่อกันได้ไม่ยาก

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ตั้งแต่อักษรขอมจนถึงอักษรไทน้อยที่ดำเนินชีวิตมากก่อนอักษรไทยกลางนั้นจะเลือนหายไปจากขบวนการการศึกษาของดินแดนอู่ข้าวปลานี้ เสมือนว่าถูกตัดตอน ทิ้งไว้เพียงความสัมพันธ์ของอักษรบาลีสันสกฤตและภาษาไทยกลางเท่านั้น ทั้งยังถูกนับเป็นภาษาอื่นของคนกลุ่มอื่น ซึ่งต่ำต้อยกว่าพวกตนที่ใช้ภาษาไทยกลาง ทั้งที่ความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์และทางศิลปวัฒนธรรมของผู้คนในดินแดนแถบนี้นั้นส่งอิทธิต่อกันเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จำต้องสืบสาน ส่งต่อ และนำไปศึกษาต่อยอด อักษรธัมม์ อันเป็นการดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและศิลปะวิทยาการที่สำคัญของผู้คนในแถบถิ่นที่ลาบสูงนี้


อักษรธัมม์: อาวุธสำคัญของคนบวชเรียน

ในปี พ.ศ. 2444 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศสแล้ว การต่อต้านจากผู้คนในพื้นที่มีที่มาจากปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ผู้ต่อต้านจึงนำเอาคติแนวคิดพระศรีอริย์ ที่จะเป็นผู้มาปัดเป่าความทุกข์ยากให้หมดไปมาใช้[4] ดินแดนทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำโขงเองก็มีความสัมพันธ์ต่อกันอยู่เสมอ คติแนวคิดดังกล่าวนี้ก็แพร่หลายเข้ามาสู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงโดยทั้งคำบอกเล่า ข่าวลือ ลำกลอนของหมอลำและสื่อที่เรียกว่า หนังสือจารใบสาน จนนำไปสู่ จดหมายลูกโซ่ ฉบับแรกที่เกิดขึ้นในแดนดินอู่ข้าวนี้ มีเนื้อความ[5]พอสังเขปดังนี้

“จะเกิดเหตุเภทภัยใหญ่หลวง หินแฮ่ (หินลูกรัง, แร่) จะกลายเป็นทอง ถ้าใครกระทำความชั่วต่างๆ ต้องทำพิธีกรรมตัดกรรมวางเวรให้ตนเป็นคนบริสุทธิ์ ถ้ากลัวตายให้ฆ่าทุยเผือกและหมูก่อนกลางเดือนหก เพราะมันจะกลายเป็นยักษ์มาจับคนกิน ส่วนผู้หญิงที่เป็นสาวหรือไม่สาวแต่ยังโสดให้รีบมีสามี มิฉะนั้นยักษ์จะมาจับกินหมด รากไม้จะกลายเป็นไหม รวมถึงฟักเขียวจะกลายเป็นช้าง ดอกจานจะกลายเป็นครั่ง (สำหรับย้อมไหม) เงินต่าง ๆ ที่มีจะกลายเป็นเหล็ก ให้รีบใช้เสีย”

เวลาเพียงไม่นานข่าวลือต่างๆ นานา ก็มีผลผู้คนในพื้นที่[6] ต่างทำตามจดหมายลูกโซ่ดังกล่าว พร้อมคัดลอกส่งต่อคำทำนาย ด้วยพลังแห่งศรัทธาอันมุ่งหวังให้วิถีชีวิตที่แร้งแค้นของตนดีขึ้นมาบ้าง จนนำไปสู่การกบฏของผู้มีบุญในช่วงปี พ.ศ. 2444 – 2445


ตัวอย่างตัวอักษรธัมม์ (ธรรม) – พยัญชนะ 33 ตัว, สระ 8 ตัว

ภาพจากหนังสือ ตำราเรียนอักษรธรรมอีสาน โดย สวิงบุญเจิม

แรงกระตุ้นส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบของส่วนกลาง ซึ่งมีนโยบายการจัดเก็บภาษีส่วย หรือเรียกในตอนนั้นว่า “เงินข้าราชการ” ซึ่งชายฉกรรจ์อีสานจะต้องเสียคนละ 4 บาท[7] โดยสภาพความเป็นอยู่ในสมัยนั้นเรียกได้ว่าฝืดเคืองมาก เช่น การค้าวัวค้าควาย ต้องมีใบอนุญาตที่เรียกว่าพิมพ์เขียวและกระทำต่อหน้าราชการ (นงลักษณ์ ลิ้มศิริ: หน้า 141) จากบทความของ สุวิทย์ ธีรศาศวัต ได้สัมภาษณ์ชายคนหนึ่งเล่าถึงการเดินทางที่ยากลำบาก ซึ่งตัวเขาเองต้องเดินเท้ากว่า 140 กิโลเมตรจากอำเภอมัญจาคีรี พร้อมกับไก่อีก 16 ตัว เพื่อนำไปขายตัวละ 1 สลึง ที่โคราช จึงจะได้เงินมาเป็นภาษีส่วย จำนวน 4 บาท เป็นต้น

เนื้อความที่ปรากฏนั้นในรูปลักษณ์ของ ตัวอักษรธรรม ของ หนังจารใบลาน นั้นจะสามารถส่งต่อความคิดกันได้ก็ด้วยการอ่านออกเขียนได้ของผู้ที่รับการศึกษาเล่าเรียน ได้รับความรู้จาก วัด ตามแนวทางการศึกษาที่เป็นปกติในช่วงเวลาดังกล่าว

การคัดลอกส่งต่อความเชื่อความศรัทธาของผู้มีบุญนั้นมิได้เกิดขึ้นเพียงจากคำบอกเล่าเท่านั้น แต่เกิดการคัดลอกส่งต่อกันใหม่หมู่ประชาชนทั่วอาณาบริเวณที่ลาบสูงด้วย

จะเห็นได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นใช้ตัวอักษรอื่น ไม่ใช่ตัวอักษรไทยกลาง เนื่องมาจากระบบการศึกษาที่ผู้เรียนต้องอาศัยวัดเป็นโรงเรียน จึงได้ร่ำเรียนอักษรธรรมก่อนอักษรไทย นั่นคือตัวอักษรธัมม์อยู่คู่ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน

การปฏิเสธและต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรมจากส่วนกลางของผู้คนในภูมิภาคที่ลาบสูงนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2483 หมอลำโสภา พลตรี ผู้ซึ่งเป็นทั้ง หมอธรรมและหมอลำผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รักของชุมชนบ้านสาวถี จ.ขอนแก่น ได้เผยแพร่เรื่องราวความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นผ่านกลอนลำที่ตนร้อง ทั้งการจัดเก็บภาษีที่ดินที่เอารัดเอาเปรียบชาวนาซึ่งเป็นคนลงแรง การต่อต้านระบบโรงเรียนของรัฐส่วนกลาง สนับสนุนให้เยาวชนเรียนอักษรไทน้อยและอักษรธรรม เนื่องด้วยเชื่อว่าโรงเรียนภาษาไทยกินเด็ก (สายสกุล เดชาบุตร 2555: หน้า 227)

การเรียนการสอนในโรงเรียนภาษาไทยดังกล่าวที่ยึดโยงอยู่กับ 3 หลักสำคัญของส่วนกลางนั้น จะเห็นได้ว่าไม่มีวิถีชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กันกับริมสองฝั่งแม่น้ำโขงเลย หรือแม้แต่บริเวณทิศทางเหนือและใต้เองก็ไม่แตกต่างกัน ภาษาล้านนา ภาษายาวี ภาษาธัมม์ ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้เป็นภาษาประจำชาติ เป็นได้เพียงภาษาประจำถิ่นที่รอวันเลือนหายไปจากสังคม การต่อต้านของหมอลำโสภาผ่านกลอนลำในหลากหลายครั้งทำให้ทางการเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง จึงจับกุมจากการจัดปราศรัยใหญ่วันที่ 16 ธันวาคม 2483 ทำให้ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตและภายหลังรับโทษที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่น หมอลำโสภาก็เสียชีวิตลงอย่างปริศนาในวัย 61 ปี

ก่อนหน้านี้ การจับกุมหมอลำน้อยชาดาในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นทั้งหมอลำและหมอธรรมเชกเช่นเดียวกับหมอลำโสภา พลตรีนั้น ก็มีเหตุมาจากการปฏิเสธอำนาจส่วนกลาง โดยนำแนวคิดของพระศรีอริย์ที่นำเสนอถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมมาสอนธรรมผ่านทางกลอนลำและการปราศรัย เหตุการณ์เช่นนี้ มิได้เกิดขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้งนับตั้งแต่กบฏผู้มีบุญ พ.ศ. 2444 เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นกรีณีผู้มีบุญหมองหมากแก้ว ผู้มีบุญบ้านเซียงเหียน หรือผู้มีบุญบ้านสาวะถี ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากผู้ที่ผ่านการศึกษาภาษาธรรมจากในวัดทั้งสิ้น ดังนั้นในภูมิภาคที่ลาบสูงนี้การสืบต่อเจตนารมณ์ทางวัฒนธรรมการต่อต้านส่งผ่านการเรียนรู้ภายใต้โรงเรียนวัดที่ใช้ตัวอักษรธรรมเป็นหลักอยู่อย่างต่อเนื่อง


อักษรธัมม์สู่การปฏิบัติการทางศิลปะและวัฒนธรรม

ตัวอักษรธรรมนั้นมีความสำคัญมากพอที่จะศึกษาเรียนรู้ อันนำไปสู่การปลุกความรู้สึกแห่งความภาคภูมิใจในความเป็นผู้คนที่ลาบสูง มีศักดิ์และศรีเท่า ๆ กับผู้คนทั่วโลกใบนี้ มิได้เป็นเพียงพลเมืองชั้นสองรองจากใคร ดังเห็นได้จากวิธีคิดของแต่ละขบวนการทางสังคม-วัฒนธรรมที่กล่าวมาแล้ว[8] ซึ่งเรียกร้องถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค ส่งต่อความคิดกันอย่างแข็งขันทั้งทางคำบอกเล่าและในหนังจารใบลาน ซึ่งใช้เป็นตัวอักษรธรรม

การศึกษาเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอย่างตัวอักษรธรรมนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าหากว่าผู้คนในพื้นที่เริ่มหมดศรัทธาในภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง แม้แต่ภาษาลาว (ส่วนกลางเรียกว่าภาษาอีสาน) ที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ก็ถูกปฏิบัติไม่แตกต่างกับตัวอักษรธรรม ถูกกดทับเหยียบย่ำศักดิ์ศรีให้ต่ำกว่าภาษาของส่วนกลาง แม้ว่าจะชูคอขึ้นมาได้แต่ก็มักจะถูกแขวนป้ายด้วยบุคลิกที่ตลกขบขัน สนุกสนานไปกับการดูถูกเหยียดหยามด้วยสารพัดคำพูด รวมไปถึงรูปร่างหน้าตา บุคลิกลักษณะนิสัย วัฒนธรรมการกินการอยู่อาศัย

การตอบโต้ทางวัฒนธรรมของนักปฏิบัติการทางศิลปะจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงให้เห็นการต่อยอด เรียนรู้ศึกษา นำเสนอถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผู้คนในพื้นที่เป็นผู้ร่วมแรงแข็งขันสร้างขึ้นมา นำมาวิพากษ์วิจารณ์ ขบคิดให้เห็นถึงประเด็นทางวัฒนธรรม สังคม การเมืองของท้องถิ่นนั้นๆ อย่างไม่ลดละ

นำไปสู่การส่งต่อศักดิ์ศรีที่ภาคภูมิใจในความเป็นประชาชนของแต่พื้นที่ที่มีสิทธิและเสียงที่เท่าเทียมกัน การปิดกั้นการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมอู่ข้าวปลานี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่รู้จบ เราผู้รับช่วงต่อทางวัฒนธรรมจะต้องเป็นผู้ต่อสู้ ยืนหยัดไว้ซึ่งศักดิ์และศรีแห่งความเป็นคนที่ลาบสูงอย่างมั่นคง

*ปล. ผู้เขียนมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์แต่อย่างใด เป็นเพียงผู้สนใจใคร่รู้ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของผู้ดำเนินกิจกรรมในโครงการ (เขียนโตธัมม์-เว้าคำลาว Text-Based Art) ของเครือข่ายนักปฏิบัติการทางศิลปะในจังหวัดขอนแก่น สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่กลุ่มองค์กรเหล่านี้ คณะที่ลาบสูง, HUAK Society, MAS Collective House / หากสนใจวิธีการอ่าน-เขียนตัวธัมม์ มีช่องทางให้ศึกษาในแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น บ่าวทิ ยางชุมน้อย เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง

พระราชบัญญัติประถมศึกษาพุทธศักราช 2464 (2464, 23 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 38 หน้าที่ 249.

เถลิง พันธุ์เถกิงอมร. (2511). อาณาจักรฟูนัน. วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาศิลปะบัณฑิต. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สวิง บุญเจิม. ตำราเรียนอักษรโบราณอีสาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). อุลราชธานี: สำนักพิมพ์มรดกอีสาน

สวิง บุญเจิม. (2555). ตำราเรียนอักษรธรรมอีสาน.(พิมพ์ครั้งที่ 2). อุบลราชธานี: สำนักพิมพ์มรดกอีสาน

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2549, พฤศจิกายน). กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย. วารสารศิลปวัฒนธรรม. แหล่งที่มา: https://www.silpa-mag.com/history/article_8986

นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. (2524). ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ. 2325 – 2445. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย หมาวิทยาลัยศิลปากร

อุรารักษ์ สิถิรบุตร. (2526). มณฑลอีสานและความสำคัญในทางประวัติศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมมาตร์ ผลเกิด. (2552 หน้าที่ 20-30). กบฏผีบุญ: กระจกสะท้อนสังคมไทย. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน

สายสกุล เดชบุตร. (2555). กบฏไพร่หรือผีบุญ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของราษฎรกับอำนาจรัฐเหนือแผ่นดินสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป


เชิงอรรถ

[1] มาตรา 7 จำต้องให้เด็กทุกคนที่อายุครบ 14 ปีบริบูรณ์สามารถอ่านเขียน “ภาษาไทย” ได้

[2] นอกจากนั้นยังมีการเขียนชื่อเชื้อชาติลงบัญชีสำมะโนครัวของคนมณฑลพายัพอุดร อีสาน จาก “ลาว” เป็น “ไทย” (ความสำคัญหัวเมืองอีส่าน หน้า 110)

[3] รวบรวมจากตำราเรียนอักษรโบราณอีสานและตำราเรียนอักษรธรรมอีสาน โดย สวิง บุญเจิม

[4] เพิ่มเติมใน กบฏไพร่หรือผีบุญ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของราษฎรกับอำนาจรัฐเหนือแผ่นดินสยาม โดยสายสกุล เดชบุตร

[5] รวบรวมเนื้อความ คำทำนาย จาก ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ. 2325 – 2445 โดย นงลักษณ์ ลิ้มศิริ

[6] การปรากฏผู้มีบุญระหว่างปี 2443-2445 ที่ กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครพนนม, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สุรินทร์, อุดร และอุบลราชธานี เพิ่มเติมใน ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ. 2325 – 2445 โดย นงลักษณ์ ลิ้มศิริ

[7] มูลค่าปัจจุบันประมาณ 3500-4000 บาท อ้างถึงใน กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย โดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต

[8] เหล่าผู้มีบุญในสายตาของผู้เขียนเห็นว่าคือขบวนการทางสังคม-วัฒนธรรม ที่ต่อรองทางสังคมผ่านการใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรม เพื่อช่วงชิงความหมายทางสังคมอุดมคติ เพื่อผลักดันไปสู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้น

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด