บนโลกใบนี้ยังมีองค์กรอีกมากที่เป็นกลุ่มบุคลากรในการพัฒนามนุษย์สังคมด้วยกันโดย ปราศจากอำนาจอันมิชอบธรรมแทรกแซง  ในฐานะของเพื่อนมนุษย์ และเยาวชนด้วยกันเอง ถ้ามีใครสักคนเข้าใจ และรับรู้ถึงปัญหาภายในเหล่านี้คงจะช่วยกันผลักดันการแก้ปัญหาได้ ไม่มากก็น้อย 

การสร้างองค์กรสภานักเรียนถือเป็นการรวมกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการพัฒนาสังคม ภายในรั้วโรงเรียน และทะลวงความเน่าเฟะของระบบบริหารอันมิชอบธรรมของผู้ทรงอำนาจไปด้วยกัน หากท่านกำลังสงสัยว่า จริงๆ แล้ว สภานักเรียนมีหน้าที่ทำอะไรกันแน่? ระหว่าง “รับฟังปัญหาที่ต้องการได้รับการแก้ไข” หรือ “ทำงานเพื่อได้รับเกียรติยศอันทรงศักดิ์ของโรงเรียน” ท่านจงอ่านประโยคถัดไปที่ถูกเรียบเรียงไว้ 

หากพูดถึงสภานักเรียน ผู้เขียนอยากให้ท่านนึกถึงสภาผู้แทนราษฎรของประชาชนที่มีหน้าที่รับใช้ใน อุดมการณ์อันแน่วแน่ รับฟังเพื่อแก้ไข และปฏิบัติตนอย่างเป็นธรรมเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้า การตั้งคณะกรรมการสภานักเรียนเป็นกระบวนการ หรือขั้นตอนในการฝึกความเป็นประชาธิปไตยที่เริ่มได้ในสถานขัดเกลาความเป็น “บุคลากรที่มีคุณภาพ” ในอนาคตอันยาวไกลขั้นต้น เพราะพวกเราทุกคนล้วนถูกปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่เล็กจวบโต ซึ่งหากเราเปรียบวิธีการคิดของระบอบประชาธิปไตยกับสภานักเรียน มันก็เปรียบเสมือนกับพวกเขา ผู้แทนนักเรียนเหล่านี้ที่มีหน้าปฏิบัติเพื่อความเป็นธรรมของนักเรียนภายในโรงเรียน 

ทุกองค์กรสภานักเรียนล้วนแล้วมีแต่นโยบายที่พร้อมเอื้ออำนวยต่อประชากรนักเรียนเป็นอย่างแน่นอน พวกเขาต้องการแก้ไขพัฒนาการเป็นอยู่ที่ควรมีคุณภาพ และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการออกเสียง ทั้งในด้าน ความเหลื่อมล้ำทางสภาพสังคมกับนักเรียนก็ดี กับด้านปัญหาที่นักเรียนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขาคอยมีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่คอยยืนเคียงข้างเขามาเสมอนั่นก็คือ ผู้แทนนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อตั้งองค์กรสภานักเรียน แต่พวกท่านเชื่อหรือไม่ว่า? การแก้ไขปัญหาง่ายๆ เหล่านี้มักจะเป็นเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอ เพราะว่า 

1.อำนาจอันมิชอบธรรมในการกดขี่สภานักเรียนเพื่อไม่ให้ปฏิบัติตามนโยบายโดยคณะครูที่ไม่เห็นด้วย กับคำว่า “เยาวชนก้าวหน้า” 

2.ความยุ่งยากในการประสานงานเพื่อส่งเรื่องเข้าคณะผู้บริหาร สภานักเรียนไม่สามารถเข้าถึง คณะผู้บริหารได้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งกับคณะครูที่ควรผลักดันนักเรียนในด้านต่างๆ เช่น การผลักดันเรื่องแยกขยะโดยนโยบายของสภานักเรียน การแก้ไขปัญหารากฐานของระบบประชาธิปไตยในโรงเรียน

3.การรับมอบหมายงานที่เกินตัว หรือ ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการสภานักเรียน พวกเขาไม่สามารถมี ระยะเวลาที่เพียงพอในการตริตรอง และปฏิบัติตามนโยบาย เพียงเพราะว่าพวกเขาได้รับหน้าที่อื่นที่ไม่จำเป็นมาโดยตลอดวาระอันยาวนานนี้ 

4.การออกเสียงของคณะกรรมการสภานักเรียน ที่ไม่สามารถออกเสียงแทนประชากรนักเรียนได้เพราะ ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของโรงเรียนยับยั้งการเปล่งเสียงนี้ไว้โดยยึดมั่นตามอุดมการณ์“Dictatorship”  ของพวกเขา 

ถ้าเด็กเหล่านี้ไม่สามารถใช้เสียงในฐานะของผู้แทนสภานักเรียนได้จะมีองค์กรสภานักเรียนไปทำไม?” ระบบการศึกษาไทย และผู้ทรงอำนาจกำลังให้คุณค่ากับองค์กรสภานักเรียนน้อยมากเกินไป เพียงเพราะพวกเขา เหล่านั้นคิดว่าองค์กรนี้เป็นเพียงองค์กรที่ไม่ได้มีความสำคัญต่อโรงเรียน เป็นเพียงองค์กรของนักเรียนที่เอาไว้ใช้งานเพื่อเกียรติศักดิ์ของพวกเขา เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้พวกเขาได้รับความภาคภูมิใจโดยที่ไม่เคยแม้แต่จะคิดถึง เยาวชนที่พร้อมพัฒนาเยาวชนกันเอง ดังนั้นผู้แทนนักเรียนจึงไม่สามารถออกเสียงได้อย่างเต็มที่ และมีสิทธิ เสรีภาพอย่างเต็มใบ 

ถึงท่านผู้ทรงอำนาจ ท่านอย่ามองแค่ความสำเร็จอันสง่างามของท่านที่ท่านได้มาจากความพยายามของ เหล่าเยาวชนตาดำๆ นี้เพียงอย่างเดียว ท่านจงตั้งคำถามกับตนเองว่าท่านได้ให้คุณค่ากับพวกเขาเหล่านั้นดีพอแล้วหรือยัง? ท่านยังคงอยากเห็นเยาวชนเหล่านี้พัฒนาไปเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพให้แก่บ้านเมืองเราหรือไม่? หากท่านต้องการสิ่งที่ท่านได้ตั้งคำถาม อำนาจอันมิชอบธรรมเหล่านี้ควรหายไปพร้อมกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง และท่านควรคำนึงถึงการมีอยู่ขององค์กรสภานักเรียน 

ให้พวกเขาได้เป็นเมล็ดพันธุ์และผู้รดน้ำต้นไม้ไปในเวลาเดียวกัน… 

การศึกษาที่ใส่ใจกับองค์กรสภานักเรียน คือการศึกษาที่พร้อมร่วมจับมือพัฒนาเยาวชนไปด้วยกัน หยุดใช้อำนาจอันมิชอบธรรม เพื่อการเบ่งบานของต้นพืชอันแข็งแรง

ในฐานะของประธานคณะกรรมการสภานักเรียน หรือเพื่อนมนุษย์มิตรสหายของทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะมี ฐานันดรเช่นไร แต่หากท่านยังคงรักในอำนาจอธิปไตย และเห็นใจแก่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ จงช่วยกันทวงคืนความเที่ยงธรรมของนักเรียนอีกพันล้านคน ที่เป็นผู้หวงแหนประชาธิปไตย… 

จงมองเห็นความเป็นราษฎร จงมองเห็นความเป็นผองเพื่อน หรือแสงเทียนอันสว่างไสวที่พร้อมจุดติดเพื่อ พัฒนาพลเมืองเหล่านี้ ให้เป็นพลเมืองที่มองเห็นศักยภาพของตนเอง

สุดท้ายท่านจะตระหนักถึง “อำนาจอันมิชอบธรรม กับองค์กรสภานักเรียน” อย่างแท้จริง



 
ผู้เขียน

ภาณิชา ศรีสุวรรณ 

ประธานนักเรียน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่หวงแหนในอำนาจอธิปไตยอันเป็นเป็นอำนาจอันสูงสุดของประชาชน และต้องการพัฒนาเยาวชนอันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญของโลกใบนี้