
ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน หากคำนวนสัดส่วนอย่างหยาบๆ อาจแบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือช่วงที่ทหารเป็นนายกฯ รวม 60 ปี ส่วนสองคือช่วงที่นายกฯ เป็นพลเรือนมาจากการเลือกตั้งอีกแค่ 30 ปี ซึ่งสมเหตุสมผลดีกับฐานะที่ประเทศมีการรัฐประหารไปแล้ว 13 ครั้ง พร้อมกับมีรัฐธรรมนูญมาแล้วอีกกว่า 20 ฉบับ ตัวแปรเหล่านี้ทำให้อนุมานได้ไม่ยากว่าทำไมบ้านเมืองนี้ถึงไม่เป็นประชาธิปไตยเสียที
ความไม่เป็นประชาธิปไตยของระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญไทยยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนยังต้องมารอลุ้นว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นคนที่ตนต้องการหรือไม่ ทั้งที่เสียงสวรรค์ก็ได้ถูกนับเสร็จไปแล้วตั้งแต่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
คำปัญญาจารย์ว่าไว้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครั้งแรกนับเป็นโศกนาฏกรรม ครั้งที่สองเป็นเรื่องจำอวด” ส่วนคริสติน่า อากีล่าร์กลับร้องไปในเชิงตรงกันข้าม “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยนเปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน”
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนายกฯ ของไทยจะเป็นตามคำของปัญญาจารย์หรือคริสติน่า อากีล่าร์ Common School ชวนทุกท่านย้อนดู “10 ที่สุด” ของนายกฯ ในประวัติศาสตร์ไทยเป็นหลักฐานเพื่อรอรับการพิสูจน์ในวันพรุ่งนี้
ทวี บุณยเกตุ นายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด

สำหรับนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 นาม “ทวี บุณยเกตุ” นับเป็นบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีอายุเพียงแค่ 17 วันเท่านั้น (31 สิงหาคม – 17 กันยายน 2488) สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากรัฐบาลขัดตาทัพของทวีถูกตั้งขึ้นเพื่อรอการข้ามหน้าข้ามทะเลมาของ (ว่าที่) นายกรัฐมนตรีตัวจริงคือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา โดยหัวใจของเรื่องทั้งในกรณีของทวีและม.ร.ว. เสนีย์ ได้แก่การเจรจาเพื่อยุติสถานะสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกฯ จากการแต่งตั้งที่อายุน้อยที่สุด

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา นับเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้ไทยพ้นจากสถานะผู้แพ้สงครามอันเกิดจากที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดันพาประเทศไปเข้าร่วมกับฝ่ายแพ้สงครามอย่างฝ่ายอักษะ ขณะดำรงตำแหน่งในวัยเพียง 40 ปี เสนีย์ได้ใช้ความสามารถด้านภาษา ประกอบกับความเข้าใจในขนบธรรมเนียมและระบบกฎหมายตะวันตก เจรจาให้ไทยหลุดพ้นจากการอยู่ใต้อาณัติอังกฤษได้สำเร็จ ทั้งยังออกประกาศพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เพื่อลงโทษผู้นำ หรือหัวหน้ารัฐบาล ที่ร่วมก่อให้เกิดสงคราม
ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนชื่อดัง เล่าผ่านช่อง Youtube ส่วนตัว ชื่อ Dhanadis (ธนดิศ) อ้างว่าเป็นคำบอกเล่าจากปากดิเรก ชัยนาม ว่า ตอนแรกปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ พูดกับดิเรกว่า “ที่เราทำงานเสรีไทยมา ทวีเป็นมือขวา คุณเป็นมือซ้าย ข้อเสียของทวีคือเขาปากโป้ง พูดอะไรไม่เกรงใจคน การปกครองบ้านเมืองต้องอ่อนนอกแข็งใน ซึ่งดิเรกเป็นอยู่ ฉะนั้นดิเรกควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ปรากฏดิเรกตอบกลับว่า “ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา เราเลือกเจ้าคุณมโนฯ มาเป็นนายก เจ้าคุณมโนฯ หักหลังพวกเรา ต้องหนีไปอยู่ที่ปีนัง ตั้งแต่นั้นพวกคณะราษฎรก็ปกครองบ้านเมืองมาโดยตลอด [เจ้าคุณพหลฯ, คุณแปลก, คุณควง] เราจะถูกกล่าวหาว่า คณะราษฎรยึดอำนาจมาเพื่อพวกตัวจะได้ครองอำนาจอยู่ตลอดไป ควรให้คนอื่นได้มีบทบาทบ้าง” จากนั้นดิเรกก็เสนอชื่อม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ขึ้นมา เหตุผลคือ เสนีย์เป็นสมาชิกราชวงศ์ซึ่งจะกันข้อกล่าวหาว่าแย่งอำนาจมาจากราชวงศ์ ซ้ำยังเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา โดยให้ส่งโทรเลขไปว่า “ขอให้เห็นแก่ประเทศชาติ” เสนีย์จะตอบรับตำแหน่งแน่นอน
เสรีย์ก็รับตำแหน่งตามนั้นจริงๆ
ความสนุกคือเสนีย์ก็เคยเล่ากับ ส. ศิวรักษ์ ว่า “ไอ้หลวงประดิษฐ์ [ปรีดี พนมยงค์] มันไม่มีปัญญาปกครองบ้านเมือง มันจะเอาผมเป็นหุ่นเชิด และมันก็เชิดผมอยู่ข้างหลัง ผมก็ฟัดกับมัน”
ส.ศิวรักษ์ยังแสดงทัศนะที่ตนมีต่อเสนีย์ว่า “คุณเสนีย์เป็นคนซื่อ เป็นคนดี แต่ไม่มีความเป็นผู้นำ … เป็นคนหูเบา ก่อนจะกลับมารับเป็นนายกฯ ที่ปรึกษา [คือ] หลวงดิษฐการภักดี ก็บอกกับเสนีย์ว่า ไอ้หลวงประดิษฐ์มันไว้ใจไม่ได้นะ จะเอาคุณชายไปเชิด แล้วท่านก็เชื่อ ท่านหูเบา ไม่พิจารณา ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง”
ต่อประเด็นการขาดความเป็นผู้นำ ส.ศิวรักษ์ก็เล่าสะท้อนผ่านการทำเสรีไทยของเสนีย์ “ทำเสรีไทยที่สหรัฐ พวกนักเรียนไทยในสหรัฐก็บ่นมาก เพราะสถานทูตมันมีสิทธิ์ซื้อของไม่เสียภาษี ตอนสงคราม เงินทองอัตคัด พวกนักเรียนมาขอซื้ออัตราที่สถานทูตมี แต่คุณเสนีย์ก็ไม่ให้” ส.ศิวรักษ์เพิ่มแง่มุมนี้ว่า “ที่จริงไม่ใช่คุณเสนีย์หรอก เมียคุณเสนีย์”
หลังลงจากตำแหน่งนายกฯ ครั้งนั้น เสนีย์ได้เข้าสู่วงการเมืองโดยก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับควง อภัยวงศ์ และได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พอถึงปี 2511 ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพฯ ในทุกสมัย ยกเว้นในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2500 และ 2522 ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ทว่าในการดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยสุดท้าย (สมัยที่ 4) กลับเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบาลของเสนีย์ถูกพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ จัดตั้งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้ายึดอำนาจ ทำให้เสนีย์ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และจบชีวิตทางการเมืองของตนแต่นั้นมา
ปล. เรื่องเสนีย์ ปราโมชน์ นั้น ส. ศิวรักษ์ เล่าไว้ในคลิป “ประธานสภา มีไว้ทำไม?” https://youtu.be/GzsP_Tr1YcI
ควง อภัยวงศ์ นายกฯ จากการเลือกตั้งที่อายุน้อยที่สุด

หลังรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เสร็จสิ้นภารกิจในการเจรจาให้ไทยพ้นสถานะผู้แพ้สงคราม ต้นปี 2489 ควง อภัยวงศ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ลงสนามเลือกตั้งสนามกรุงเทพฯ และได้รับเลือกจากสภาฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้การเป็นนายกฯ ครั้งนี้จะไม่ใช่สมัยแรกของควง แต่ก็เป็นครั้งแรกที่เขาเข้าสู่ตำแหน่งผ่านการเลือกตั้ง ทำให้เขาได้รับสถิตินายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งที่อายุน้อยที่สุดไปครอง นั่นคือเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งตอนอายุ 43 ปี (ส่วนนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดแต่กลับไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคือม.ร.ว. เสนีย์ เข้ารับตำแหน่งตอนอายุ 40 ปี)
ทั้งนี้หลังตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 เดือน รัฐบาลของควงสมัยนี้ก็จำต้องสิ้นสุดไป หลังฝ่ายรัฐบาลในสภาฯ แพ้มติในขั้นรับหลักการ พ.ร.บ. คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน หรือ “พ.ร.บ. ปักป้ายข้าวเหนียว” กฎหมายที่รัฐบาลควงไม่เห็นด้วย
อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของควงที่มองข้ามไม่ได้ คือหลังลาออกจากตำแหน่งแล้ว ควงได้ร่วมกับม.ร.ว.เสนีย์ และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำการก่อตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์”
ควง อภัยวงศ์ยังถือเป็นต้นแบบของนักการเมืองที่มี “การพูดเก่ง” เป็นเครื่องหมายการค้าอีกด้วย โดยสมัยที่พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ควงในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลถวัลย์ลากยาวถึง 8 วัน 7 คืน คือตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2490 ไปเสร็จในวันที่ 26 พฤษภาคม ส่งผลให้ได้สายสะพายการอภิปรายที่กินเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทยไปครองโดยปริยาย
การอภิปรายครั้งนั้นยังดุเดือดถึงขนาดที่ควงเกือบถูกจรูญ สืบแสง ส.ส.ปัตตานี ประทับฝ่ามือไว้บนใบหน้าเลยทีเดียว
เหตุเกิดตอนพักการอภิปราย หลังวิวาทะกันสักครู่ จรูญก็โพล่งออกมาว่า “พวกลื้อเก่งแต่ปาก แต่อั๊วเก่งมือ ขอตบสักที”
“ตบสิ ตบสิ” ควงคิดว่าพูดเล่นจึงตอบกลับไป หารู้ไม่นายจรูญกลับตบจริง โชคดีที่ควงหลบได้เลยไม่ต้องควงหน้าแดงๆ ไปรับประทานอาหาร
(อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_104139)
สมัคร สุนทรเวช นายกฯ ที่อายุมากที่สุด

ปี 2551 เพดานอายุของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยถูกยกสูงขึ้นอีกครั้ง คราวนี้โดยนักการเมืองอาวุโสวัย 73 ปี จากพรรคพลังประชาชน นั่นคือ “สมัคร สุนทรเวช”
สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 25 ของไทย ก่อนหน้านั้นเขาเคยชิมมาแล้วแทบทุกตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง ไปจนถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัครยังเป็นนักการเมืองที่โดดเด่นด้านการพูดมาตั้งแต่ลงสนามการเมืองครั้งแรกปี 2518 กับพรรคประชาธิปัตย์ (ในปี 2519 สมัครถือเป็นนักการเมืองที่ขวาที่สุดคนหนึ่งของไทย) นอกจากเรื่องฝีปากเขายังมีความสามารถด้านอื่นอีก เช่น ความสามารถในการชิมและการทำอาหาร จนในที่สุดความสามารถเหล่านั้นก็ถูกรวบเข้าด้วยกันเกิดเป็นรายการ “ชิมไปบ่นไป”
นอกจากจะเป็นนายกฯ ที่อายุมากที่สุดแล้ว การจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” นี่เอง ที่ทำให้สมัครถูกเล่นงานทางการเมืองจนอาจกลายเป็นนายกฯ ที่ออกจากตำแหน่งได้ “เห่ยที่สุด” เพราะแทนที่จะพ้นจากตำแหน่งจากเสียงเรียกร้องของประชาชนหรือความล้มเหลวในการบริหารประเทศ เขากลับพ้นจากตำแหน่งจากคำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า สมัครกระทำต้องขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ที่ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
อย่างไรก็ดี วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งในองค์คณะฯ วินิจฉัยกรณีของสมัคร ออกมายอมรับภายหลังว่า คำวินิจฉัยที่ทำให้ความเป็นนายกฯ ของสมัครสิ้นสุดนั้น “ใช้ไม่ได้” เพราะนำข้อกฎหมายขึ้นก่อน ทั้งที่จริงต้องระบุก่อนว่าสมัครรับจ้างจริงหรือไม่ บวกกับการต้อง “รีบ” อ่านคำวินิจฉัยในวันตัดสินคดีก็ส่งผลให้การเขียนคำวินิจฉัยในคดีผิดพลาดได้ง่ายด้วย
สุจินดา คราประยูร นายกฯ ที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีน่ารังเกียจที่สุด

ก่อนเบิร์ด ธงไชย จะควงจินตหรา พูนลาภ, แคทรียา อิงลิช และนัท มีเรีย มาร้องขี้ตั๊ว ขี้จุ๊ ขี้ฮกเบเบ๋ ตาลาลา ในเพลงฮิต “แฟนจ๋า” จากอัลบั้มชุดรับแขก ปี 2545 ประเทศไทยก็ได้เห็นการโกหกคำโตมาก่อนหน้าแล้วถึง 10 ปี
เช้าวันที่ 8 เมษายน 2535 ณ ห้องประชุมกองทัพบก พลเอก สุจินดา คราประยูร แกนนำในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เข้ายึดอำนาจจากพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องร่ำไห้ปล่อย motto ประวัติศาสตร์ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอก (เพราะรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจเปิดทางให้ทำได้) หลังเคยลั่นวาจาว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกฯ
การตระบัดสัตย์ของสุจินดาเป็นแรงขับให้ประชาชน (ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ) ออกมาชุมนุม โดยมี พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำสำคัญ ประท้วงคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. และเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง
การชุมนุมยืดเยื้อมาจนถึงเดือนพฤษภาคม รัฐบาลสุจินดาก็ส่งทหารและตำรวจหลายพันคน พร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะเข้าสลายการชุมนุม ครั้งนั้นมีการใช้กระสุนจริงทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก เกิดเป็นเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”
รอจนการปราบปรามยืดเยื้ออยู่หลายวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งให้สุจินดาและจำลอง เข้าเฝ้าฯ โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้นนำ “หมอบ” เข้าเฝ้าฯ (มีการเผยแพร่บันทึกเทปการเข้าเฝ้าทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในเวลาต่อมา) และยุติเหตุการณ์ในท้ายที่สุด
สำหรับ วาด รวี นักเขียนผู้ล่วงลับ “ฉันทามติภูมิพล” (Bhumibol Consensus) เริ่มปรากฏตัวจากเหตุการณ์ครั้งนี้นี่เอง
หลังจากนั้นสุจินดาจึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยอิสระและเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง จบตำแหน่งตนเองในฐานะนายกฯ มือเปื้อนเลือดของไทย…อีกคนหนึ่ง
ทั้งนี้ ใครที่นึกชื่อนายกฯ ที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีที่น่ารังเกียจที่สุดเป็นคนอื่น ก็หย่อนคำตอบมาแข่งกันได้
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกฯ ที่ส้มหล่นที่สุด

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับการผลักดันจากคณะราษฎรให้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรคนแรกในระบอบใหม่ (มีศักดิ์เทียบเท่านายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) เพราะเชื่อว่าพระยามโนฯ ในฐานะนักกฎหมายที่จบการศึกษามาจากอังกฤษ จะมีความเป็นกลาง และจะสามารถสานสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้นิยมการปกครองแบบเก่ากับกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าด้วยกันได้
แต่การณ์กลับเป็นว่าพอพระยามโนฯ ขึ้นมารับตำแหน่งก็ได้พยายามดึงระบอบการปกครองให้กลับไปเป็นดังเดิม ซ้ำร้ายยังเป็นคนถีบปรีดีออกจากรัฐบาล เนื่องจากพระยามโนฯ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจตามโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ “สมุดปกเหลือง” ที่ร่างโดยปรีดี ทั้งยังกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และเนรเทศไปประเทศฝรั่งเศส จากนั้นจึงประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อรัฐประหารตนเอง
การกระทำของพระยามโนฯ นำมาสู่การรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ทำให้พระยามโนฯ ต้องระหกระเหินไปยังปีนังด้วยรถไฟ
การไม่รู้เรื่องอะไรเลยในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่กลับได้รับตำแหน่งนายกฯ จนสามารถใช้อำนาจโดยพลการเช่นนี้ ถือได้ว่าพระยามโนฯ เป็นนายกฯ ที่ส้มหล่นที่สุดคนหนึ่งก็ว่าได้
เกร็ดน่าสนใจคือ หลังพระยาพหลพลฯ ได้อำนาจคืนมา นักศึกษาแผนกกฎหมายของโรงเรียนกฎหมายราว 400 คน ได้เดินขบวนยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการไต่สวนลงโทษพระยามโนฯ ในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญการปกครองต่อพระยาพหลฯ ด้วย นับเป็นภาพสะท้อนของสำนึกรัฐธรรมนูญนิยมที่แพร่หลายในสังคมได้เป็นอย่างดี
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหนึ่งในตัวละครทางการเมืองที่ controversial ที่สุดคนหนึ่งของไทย หากต้องเถียงกันว่าแง่มุมไหนของเขาที่เป็น “ที่สุด” หาใครเปรียบมิได้ ก็อาจต้องสนทนาถกกันค่อนวัน ทว่าหากต้องเถียงกันเรื่องระยะเวลาที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยากมากที่จะมีข้อโต้แย้ง เพราะจอมพล ป. ครองตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารได้ถึง 15 ปี
ครั้นจอมพล ป. และคณะราษฎรใช้เวลาในช่วงขวบปีแรกรักษาระบอบใหม่ให้มีเสถียรภาพสำเร็จ จอมพล ป. ก็พยายามเดินหน้านโยบายสร้างชาติอย่างสุดความสามารถ เขาเปลี่ยนชีวิตประชาชนตั้งแต่ในระดับอัตลักษณ์ไปจนถึงวิถีปฏิบัติ เช่น ส่งเสริมการกินอาหารแบบใหม่ (กินข้าวน้อยๆ กินกับเยอะๆ) ส่งเสริมให้คนขยันทำงาน ส่งเสริมให้สตรีเข้าศึกษา สร้างโรงเรียนในชนบท สร้างสัญลักษณ์ของชาติแบบใหม่ขึ้นมา (สร้างเพลงชาติและการเคารพธงชาติ โดยที่ชาติในที่นี้มีความหมายเท่ากับ “ประชาชน”) ตลอดถึงผลงานที่โด่งดังที่สุดอันหนึ่งของเขาอย่างการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” ให้กลายเป็น “ไทย”
ในฐานะหนึ่งในคณะราษฎร อำนาจของจอมพล ป. มีการขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา บางช่วงเขาร่วมมือกับกลุ่มคณะราษฎร บางช่วงเขาหันไปประนีประนอมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม บางช่วงก็ต้องปกครองประเทศในบริบทสงคราม แต่บทบาททางการเมืองของเขา (และคณะราษฎร) ก็จบบริบูรณ์เมื่อถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2500 จนต้องลี้ภัยและถึงแก่อสัญกรรมในอีก 7 ปี ต่อมา ณ ที่พำนักในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่เข้ารับตำแหน่งอย่างน่ากังขาที่สุด

ทำไม “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงได้ตำแหน่งนายกฯ ที่เข้ารับตำแหน่งอย่างน่ากังขาที่สุดไปครอง? เพราะว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งของอภิสิทธิ์เป็นผลจากการทำให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งต้องหลุดจากตำแหน่ง ประกอบกับการลบพรรคการเมืองให้หายไปด้วยกลไกของศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ แม้หลังหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้สมัคร สุนทรเวชพ้นสภาพจากตำแหน่งนายกฯ อภิสิทธิ์ก็ยังเสียเก้าอี้นายกฯ ให้กับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตัดสิทธิ์สมชาย และยุบพรรคพลังประชาชนที่สมชายสังกัด (สมาชิกที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิก็อพยพไปอยู่พรรคเพื่อไทย แต่สมาชิกบางส่วนก็ไม่ได้ย้ายไปด้วย)
สถานการณ์ข้างต้นดำเนินควบคู่ไปกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีสมาชิกประชาธิปัตย์บางคนเป็นแกนนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่บรรยายถึงการปูทางให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ตั้งแต่การคุยกับนักการเมืองอย่างบรรหาร ศิลปอาชา, สุชาติ ตันเจริญ, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, สรอรรถ กลิ่นประทุม และเนวิน ชิดชอบ
กรณีของเนวิน สุเทพรู้ว่าในฐานะคนสนิทกับสมัครย่อมไม่พอใจที่ไม่มีการเสนอชื่อสมัครชิงนายกฯ อีกครั้ง ทำให้สุเทพลงทุนถึงขนาดบินไปดีลกับเนวินที่ประเทศอังกฤษเลยทีเดียว (เนวินมีนัดกับทักษิณ ชินวัตรอีกทีหนึ่ง)
สุเทพเล่าว่า “ผมหาทางเจอคุณเนวินตอนที่เขาไปส่งลูกเรียนที่อังกฤษ ส่วนผมกับคุณศรีสกุลก็ไปส่งลูกเหมือนกัน จึงไม่มีใครรู้ ผมนัดเจอกันที่ร้านขายนาฬิกาแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ต่างคนต่างทำทีไปซื้อนาฬิกาแล้วก็ไปคุยกัน ผมก็พูดยืนยันกับเขาว่ารัฐบาลชุดนี้ไปไม่รอด” จากนั้นจึงปล่อยข้อเสนอวัดใจ “คุณกล้าตัดสินใจมาอยู่กับพวกผมไหม มาเปลี่ยนขั้วทางการเมืองกัน”
“จะเอาเสียงที่ไหนมาเพียงพอ พี่มีกี่เสียง” เนวินตอบกลับ
สุเทพสวนว่า “ไม่เป็นไร คุณไม่ต้องสนใจว่าผมมีเท่าไหร่ คุณทำใจไว้ก่อนก็แล้วกันว่า คุณเอาด้วยไหม ไปด้วยกันไหม … จะทำเพื่อชาติบ้านเมือง หรือจะหัวปักหัวปำอยู่กับระบอบทักษิณ”
จากนั้นต่างฝ่ายต่างแยกย้าย แต่ขากลับไทยดัน “บังเอิญ” กลับเครื่องบินไฟล์ทเดียวกัน
สุดท้ายการเดินเกมของสุเทพก็ทำให้เกิดภาพแถลงการทำงานรัฐบาลร่วมกันระหว่างเนวินในฐานะหัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน กับอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังประกาศพร้อมโหวตให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ มีสถานที่เกิดเหตุคือโรงแรมสยามซิตี้ (ปัจจุบันคือโรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ) นับเป็นอีกหนึ่งตำนานงูเห่าในการเมืองไทย และเกิดวลีโด่งดัง “มันจบแล้วครับนาย”
สุเทพยังมีการคุยกับฝ่ายทหาร (พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น) เพราะ “ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการตั้งรัฐบาลในขณะนั้นถ้ากองทัพไม่เอาด้วยคงแย่ ผมถึงได้ไปเจอผู้นำกองทัพเพื่อถามตรงๆ ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลได้โดยมีคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เขารับได้ไหม”
เล่าแบบตัดตอน จากนั้นสุเทพก็นัดบรรหาร ศิลปอาชา ที่กรมทหารราบที่ 1 โดยตอนที่กำลังเปลี่ยนรถเข้าไปในพื้นที่ทหารกลับมีสื่อมวลชนเก็บภาพไว้ได้ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” (สิ่งที่เกิดตามมาคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลายมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม)
ด้วยการเดินเกมของสุเทพ ท้ายที่สุด อภิสิทธิ์ก็ชนะโหวต 235 เสียง ต่อ 198 เสียง ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อย่างน่ากังขาต่อความชอบธรรมมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย … ยังไม่นับรวมผลงาน 99 ศพ จากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 53 ที่ “Unfortunately, some people died.”
สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกฯ คนดีย์ย์ย์ย์ย์ย์ย์ย์ย์ที่สุดของไทย

หากเห็นด้วยกับวาทกรรม “คนดี” ในแง่ว่า ประชาธิปไตยหรือระบบที่ดีใดๆ จะไม่มีประโยชน์เลย หากคนที่มีอำนาจ หรือพูดอีกอย่างคือ “นักการเมือง” เป็นคนเลว ก็นับได้ว่านายกรัฐมนตรีในฝันของการคิดแบบนี้คงไม่มีใครเกินไปกว่า “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” นาม “สฤษดิ์ ธนะรัชต์”
เส้นทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์เริ่มเมื่อต้นปี 2500 ภายใต้รัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่แต่งตั้งให้สฤษดิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็เป็นได้แค่ 10 วันเท่านั้น เนื่องจากเกิดการประท้วงของนักเรียนนักศึกษา และประชาชนนับแสนคน ซึ่งเรียกร้องให้จอมพล ป. และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่ง ชนวนสำคัญเกิดจากข้อหาว่าพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. โกงการเลือกตั้งอย่างอุกอาจ
เมื่อความไม่พอใจก่อมวลมากขึ้นๆ จอมพล ป. จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้สฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ คอยควบคุมสถานการณ์ หารู้ไม่ สฤษดิ์กลับกลายเป็นขวัญใจประชาชนจนได้ฉายา “วีรบุรุษมัฆวานฯ” เพราะสั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. เสียเอง
“พบกันใหม่ เมื่อชาติต้องการ” เป็นวลีเด็ดที่สฤษดิ์มอบทิ้งไว้ในเหตุการณ์นี้
ดาวเดือนเคลื่อนคล้อยมาถึงเดือนกันยายน ความวุ่นวายไม่มีทีท่าบรรเทาลง 16 กันยายน สฤษดิ์จึงนำกำลังรัฐประหาร จากนั้นตั้งพจน์ สารสินขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน พอวันที่ 1 มกราคม 2501 ก็ให้ตำแหน่งนี้แก่ถนอม กิตติขจร
แต่ครั้นรัฐบาลถนอมไม่สามารถจัดการความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีในรัฐบาลได้ ก็ถึงเวลาสฤษดิ์กลับมาทำดีก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยการควงแขนถนอมรัฐประหารตัวเอง และไต่บันไดอำนาจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 แห่งประเทศไทย
เกมอำนาจของสฤษดิ์ครั้งนี้ เสริมความแข็งแกร่งด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 โดยเฉพาะมาตรา 17 (บรรพบุรุษของมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557) ที่ให้อำนาจนายกฯ สั่งลงโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่แน่ว่าการมีอาญาสิทธิ์นี้ในมืออาจทำให้สฤษดิ์เชื่อว่าจะไม่มีใครกล้ามา “เย้ยฟ้าท้าดิน” (ครอง จันดาวงศ์ ก็ถูกสังหารจากมาตรานี้)
แน่นอน ภายใต้บริบทสงครามเย็นที่มีอเมริกาหนุนหลัง พร้อมกับการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างมิอาจหาใครเปรียบ คนที่ตายเพราะมาตรานี้ย่อมเป็นคนเลว เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นศัตรูของชาติ ส่วนคนดีอย่างสฤษดิ์แม้จะเผด็จการขนาดไหนก็ย่อมถูกต้องชอบธรรมเสมอ
ความดีของสฤษดิ์ไร้ที่ติจนไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง หรือกลไกควบคุมโดยรัฐบาล ดังที่เขาลั่นอมตะวาจาไว้ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว”
สายสัมพันธ์ระหว่างสฤษดิ์กับสถาบันกษัตริย์ก็เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ หนังสือ “กว่าจะครองอำนาจนำ” ของ อาสา คำภา อธิบายว่า สฤษดิ์คือผู้เปิดศักราชยุคสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารที่ผู้นำกองทัพสามารถครองความเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจ (Senior Partnership) ในโครงสร้างการเมืองเชิงเครือข่ายชนชั้นนำไทย ทั้งยังเป็นยุคเริ่มต้นของสัมพันธภาพในเชิงเกื้อกูลระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ พึงประเมินสายสัมพันธภาพระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ในมิติการเมืองบนผลประโยชน์ต่างตอบแทน
หากกล่าวเฉพาะในส่วนที่สฤษดิ์ “ได้รับแต่เพียงผู้เดียว” ก็คงไม่พ้นตอที่ผุดขึ้นหลังการตายของสฤษดิ์ (เขาเป็นนายกฯ คนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เสียชีวิตขณะอยู่ในตำแหน่ง) เพราะปรากฏมรดกกว่า 287 ล้านบาท (นับเป็นหนึ่งในสี่ของงบประมาณประเทศปี 2506) ซ้ำยังปรากฏบัญชีเงินฝากในธนาคารประเทศสวิตเซอร์แลนด์มูลค่ารวมกว่า 600 ล้าน (สฤษดิ์ใช้ชื่อบัญชีหนึ่งว่า “หนุมาน” อีกบัญชีหนึ่งชื่อ “สลิด”)
แต่เมื่อเป็นคนดีแม้ทุจริตก็ไม่เป็นไร
ความดีของสฤษดิ์ยังได้รับการยืนยันในงานศพของเขา ที่มีการจัดให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกลายเป็นงานศพของสามัญชนที่ถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นรองก็เพียงแต่งานพระราชพิธีศพของเจ้านายชั้นสูง “บางพระองค์” เท่านั้น
สุดท้าย สำหรับใครที่สงสัยถึงที่มาของฉายา “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” ของนายพลคนดีผู้นี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นฉายาที่อิงจากคำบอกเล่าของสตรีและคนสนิทของสฤษดิ์ ที่มักเล่าตรงกันว่า เกิดจากเวลาก่อนที่สฤษดิ์จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง มักจะใช้ผ้าขาวม้าแดงคาดเอวแล้วเริ่มมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงนั้น ซึ่งคนดีผู้นี้ก็มีมากด้วยนารี เพราะหลังถึงแก่ความตายก็ปรากฏชื่อสตรีที่เขาเลี้ยงดูผูกเป็นเมียกว่า 81 คน (ลือกันว่าจริงๆ มีเป็นร้อย!)
ต้องเป็นแบบนี้สินะถึงจะสมเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ”
ปรีดี พนมยงค์ นายกฯ ที่เปลี่ยนการเมืองไทยมากที่สุด

มีเอกสารทางประวัติศาสตร์สองชิ้นที่คนไทยทุกคนควรได้อ่านก่อนหมดลมหายใจ
ชิ้นแรก “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” บรรจุถ้อยคำทรงพลังไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะท่อนอมตะ “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”
ชิ้นต่อมา “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” (คำว่า “ชั่วคราว” ถูกเติมภายหลังโดย ร.7) หรือก็คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งปรากฏบทบัญญัติแปลกปลอมไปจากรัฐธรรมนูญอีก 19 ฉบับที่ถูกผลิตตามหลังมา กล่าวคือ ในขณะที่มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ ล้วนเขียนว่า “สยามประเทศ/ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” แต่มาตรา 1 ของปฐมรัฐธรรมนูญกลับบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
เอกสารทั้งสองนี้ต่างถูกเขียนโดยบุคคลคนเดียว คือ “ปรีดี พนมยงค์” นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของเรานั่นเอง
ปรีดีมีชื่อในระบอบเก่าว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นนักเรียนทุนศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ณ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่เขาพบเพื่อนร่วมอุดมการณ์จนรวมตัวกันเป็น “คณะราษฎร” ที่ต่อมาจะกลายเป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
“พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง… พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย … คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา … คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
ข้อความข้างต้นคัดลอกมาจากประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ร่างโดยปรีดี สะท้อนให้เห็นความพยายามสถาปนาระบอบแบบใหม่ ที่ไม่มากก็น้อยได้ส่งผลมาถึงปัจจุบัน คือระบอบรัฐที่มีสภาโดยมีประมุขหรือพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พูดอย่างง่ายคือรัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดีและคณะราษฎรก็มีการประนีประนอมกับผู้ที่ยังนิยมอำนาจเก่าอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการประนีประนอมกับในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และทำให้วันที่ 10 ธันวาคม (วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ) สำคัญกว่า 24 มิถุนายนที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ 27 มิถุนายนที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก (“หมุดคณะราษฎร” ก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การประนีประนอมของคณะราษฎร เพราะแทนที่จะทำอนุสาวรีย์ใหญ่โต กลับทำเป็นแค่หมุดเพียงเท่านั้น) หรือการกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยกรณีประกาศคณะราษฎร ตลอดจนการเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในระบอบใหม่ จนนำไปสู่การหักหลังของพระยามโนฯ และเนรเทศปรีดีไปประเทศฝรั่งเศส ผ่านการกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์จากความพยายามสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจด้วยโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ “สมุดปกเหลือง” (ต่อมาพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจพระยามโนฯ ปรีดีจึงค่อยได้กลับมา)
พอเข้าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยจนทำให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามได้ ขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ยังทรงพระเยาว์ในเวลานั้น
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีจับมือกับฝ่ายกษัตริย์นิยมพยายามสร้าง “ฉันทมติร่วม” ในหมู่ชนชั้นนำไทย แต่ความคิดเสรีนิยมเสมอภาคนิยมของเขาทำให้ “ไม่เป็นที่ไว้วางใจ” ของราชสำนัก พอเกิดกรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ชีวิตปรีดีพลิกผัน (เกิดข้อกล่าวหา “ปรีดีฆ่าในหลวง”) ฝ่ายอนุรักษนิยมเล่นงานทางการเมืองจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2526 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ชีวิตที่ต้องระหกระเหินไปมาระหว่างฝรั่งเศสกับไทยนับว่าสอดรับกับเพลง J’ai deux amours (สองรักของฉัน) ขับร้องโดย Joséphine Baker อันเป็นเพลงโปรดของปรีดีได้เป็นอย่างดี
ว่าถึงเพลงแล้ว แม้ปรีดีจะหมดลมหายใจไปกว่าร้อยปีแล้ว แต่อุดมการณ์ทางการเมืองเขายังดำเนินต่อไป ความปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่คนเท่าเทียมเสมอภาคกันยังคงมีให้เห็นอยู่ อย่างน้อยที่สุดมันก็ไปปรากฏในเพลง “เสียงจากเด็กวัด” แทร็กสุดท้ายในอัลบั้มธาตุทองซาวด์ ของศิลปินชื่อดังอย่าง “YOUNGOHM”
“จะเกิดเป็นชาวนาหรือว่าเกิดเป็น king สุดท้ายก็กลายเป็นดิน ฝันที่ว่าทุกคนจะเท่าเทียม หวังไว้สักวันมันคงจะกลายเป็นจริง … ฝันให้ไกลและจงทะนงตน และมึงก็แค่สู้เหมือนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์”