บทความนี้ถอดเสียงจากการบรรยายพิเศษวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 โดย รศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ในวาระครบรอบ 7 ปีรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญและผู้สร้างองค์ความรู้สำคัญด้านการรัฐประหารในไทย เมื่อการเมืองไทยถูกทำให้กลายเป็น ‘วงจรอุบาทว์’ ที่วนเวียนอยู่ในวังวนของการรัฐประหาร

ธำรงศักดิ์เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ประเทศไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง และสามารถกระทำการได้สำเร็จถึง 13 ครั้ง หากมองเพียงการรัฐประหารเพียงครั้งหนึ่งครั้งใดอย่างเฉพาะเจาะจง ก็อาจทำให้ผู้ศึกษาพลาดพลั้งไปตามคำกล่าวอ้างของคณะทหารแต่ละคณะที่ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ ไม่สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของภาพใหญ่ในการรัฐประหารว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ การรัฐประหารแต่ละครั้งเกิดขึ้นก็เพื่อรักษาระดับหรือระบอบเผด็จการไว้ให้มั่นคงอย่างมีแบบแผน การมองการรัฐประหารจึงต้องศึกษาทั้งหมด เพื่อหาสาเหตุว่า เหตุใดประชาธิปไตยไทยจึงไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ในรอบเกือบหนึ่งศตวรรษ

การจะเข้าใจการรัฐประหารได้นั้น เริ่มต้นด้วยการเข้าใจคำ 2 คำที่มักมีปัญหาในการใช้เรื่อยมา คือ คำว่า “ปฏวัติ” และ “รัฐประหาร” โดย 2 คำนี้มีความแตกต่างกันในทางความหมาย การปฏิวัติ หรือ Revolution คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบอบทางการเมืองที่สำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเกิดขึ้นจากการใช้มวลชน การเสียเลือดเสียเนื้อ หรือไม่ก็ได้ เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส จีน รัสเซีย แม้แต่การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอย่างยืดเยื้อยาวนาน มีการสูญเสีย แต่มีข้อน่าสังเกตที่เป็นผลพวงต่อระบอบใหม่หลังการปฏิวัติ คือ มีเปลี่ยนแปลงความคิดและวัฒนธรรมของประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง เช่น เมื่อเราเดินไปที่ประเทศจีน เราจะเห็นว่าหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน ประชาชนได้ละทิ้งความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ และขนบธรรมเนียมเดิมไป ทำให้ง่ายต่อการก่อร่างสร้างระบอบใหม่

ในอีกทางหนึ่ง การปฏิวัติที่ไม่ได้ใช้มวลชนหรือการเคลื่อนไหวอย่างยาวนาน มีการเปลี่ยนระบอบจากข้างบนลงล่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตยในสยาม 2475 โดยหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบทำให้คณะปกครองซึ่งในช่วงแรกยังเป็นกลุ่มชนชั้นนำมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมและความคิดในภายหลัง แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของการรื้อถอนโครงสร้าง คือการเคลื่อนย้ายอำนาจจากพระมหากษัตริย์สู่ประชาชน การให้เสรีภาพประชาชนในการเลือกตั้ง และสิทธิเท่าเทียมกัน 

มาที่คำศัพท์คำว่า ‘รัฐประหาร’ หรือ Coup d’état คือการใช้กำลังเข้าช่วงชิงเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างฉบับพลันและรุนแรง แต่รากฐานโครงสร้างของระบอบยังคงอยู่เหมือนเดิม เช่น แม้มีการรัฐประหารเกิดขึ้น หลังการรัฐประหาร คณะทหารก็ยังต้องการกลไกทางรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง รัฐสภา เพียงแต่ตอบสนองต่อผู้ยึดอำนาจ กล่าวคือ เป็นเพียงการเข้าสวมอำนาจทางการเมืองเท่านั้น 

ในทางนี้ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยจึงมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือการปฏิวัติ 2475 หลังจากนั้นเป็นการรัฐประหารทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอจากนักวิชาการบางท่าน ที่สนใจใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ กับการเปลี่ยนแปลงโดยพลังมวลชนขนาดใหญ่ในการสร้างประชาธิปไตย เช่น ขบวนการนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือการปฏิวัติเดือนตุลาคม แบะเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นการปฏิวัติเดือนพฤษภาคม โดย 2 ช่วงกังกล่าวได้ทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่รุ่งเรืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในทศวรรษ 2540 ซึ่งเกิดแนวคิดว่า จะไม่มีการรัฐประหารในการเมืองไทยอีกแล้ว  

การเรียกตนเองว่า ‘คณะปฏิวัติ’ ของเหล่าคณะทหาร เป็นผลพวงมาจากยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ใช้คำว่า ‘คณะปฏิวัติ’ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหารว่าเป็นการ “เอาจริง” ในการขุดรากถอนโคนระบอบที่เห็นว่าเลวร้ายและเสนอสิ่งใหม่ สังเกตได้ว่าในปัจจุบัน คณะรัฐประหารต่างๆ มักจะใช้คำว่า ‘ปฏิรูป’ เพื่อบดบังเนื้อแท้ของการรัฐประหารแทน

“ ความใฝ่ฝันของการสร้างประชาธิปไตยไทยในการปฏิวัติ 2475 หรือก่อนหน้านั้น ภาพที่เราเห็นคือการปลูกต้นประชาธิปไตย แตกเนื้อหน่อ ให้ค่อยเจริญงอกงาม นี่คือความใฝ่ฝันของการเริ่มส้รางประชาธิปไตยใน 2475 แต่ในความเป็นจริง ต้นไม้ต้นนี้มักจะถูกตัดเหลือแต่ตอด้วยการรัฐประหาร 13 ครั้งที่สำเร็จ ไม่ใช่เพราะประชาชนโง่ ประชาชนไม่รู้จักประชาธิปไตย คำตอบคือประชาชนรู้ แต่ถูกกำกับไว้ด้วยอำนาจอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปืน กฎหมาย หรืออะไรเยอะแยะมากมาย นี่คือการตัดและการทำลายประชาธิปไตยไทยที่เกิดขึ้นตลอดมา ”

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าว

หากมองย้อนกลับไป อาจดูเหมือนว่า มรดกการปฏิวัติ2475 ได้ถูกทิ้งไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้นยังคงอยู่กับประเทศไทยเสมอ มรดกที่คณะราษฎรทิ้งเอาไว้มีมากมายหลากหลายรูปแบบภายใต้ธงประชาธิปไตย เช่น การต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน หรือแม้แต่สภาผู้แทนราษฎร หรือ Parliament ซึ่งยังคงใช้คำศัพท์ในยุคคณะราษฎร สภาผู้แทนราษฎรเดิมเคยใช้สถานที่เป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนสถานที่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความหมายอย่างสำคัญคือการเปลี่ยนระบอบทางการเมือง  

ธำรงศักดิ์ได้ยกข้อคิดเห็นจากงานศึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ‘2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ’ และ ‘ปฏิวัติ 2475 / 1932 Revolution’ ของเขาว่า เมื่อ 30 ปีก่อนนั้น แทบไม่มีใครรู้จักการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเหตุให้เขาต้องเริ่มศึกษาและเขียนงานชิ้นนี้ เหตุการณ์การปฏิวัติสยามถูกกลบฝังมาตลอดนับแต่การรัฐประหารปี 2490 จนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สังคมจึงเริ่มตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยไทยเริ่มจากตรงไหน?

จากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย การปฏิวัติ 2475 มักจะถูกผูกอยู่กับวาทกรรมว่าเป็น “การชิงสุกก่อนห่าม” และ “การปฏิวัติที่ไร้การนองเลือด” 2 สิ่งนี้ล้วนเป็นมายาคติที่ทำให้ละเลยการมองเบื้องลึกเบื้องหลังของการปฏิวัติ 2475 ไป โดยภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี มีการรัฐประหาร 3 ครั้ง โดยเฉพาะกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 ที่มีการสู้รบกันอย่างดุเดือด ความสงบในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงมิอาจเทียบได้กับการนองเลือดที่มากขึ้นและมากขึ้นจนถึงปัจจุบันในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

จากสถิติ ประเทศไทยมีการรัฐประหาร 13 ครั้ง เป็นลำดับที่ 4 รองจากประเทศโบลิเวีย(17ครั้ง) ปารากวัย (17 ครั้ง) และเฮติ (16ครั้ง) ประเทศอื่นๆ เหล่านี้ในทวีแอเมริกาใต้มีการต่อสู้เพื่อการเป็นเอกราชหลังการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก โดยเฉพาะช่วงหลังการปฏิวัติอเมริกา 2319 (1776) เป็นต้นมา หลังการประกาศเอกราช พื้นที่ทางการเมืองภายในประเทศจึงกลายเป็นสมรภูมิในการแย่งชิงอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนาน

โบลิเวียมีการรัฐประหารครั้งสุดท้ายในปี 2527 (1984) ในขณะที่ปารากวัยมีการรัฐประหารครั้งสุดท้ายปี 2532 (1989) และเฮติล่าสุดในปี 2547 (2004) สำหรับประเทศไทยครั้งล่าสุดในปี 2557 (2014) โดยห่างจากประเทศ 3 อันดับแรกนับเป็นทศวรรษแล้ว กล่าวได้ว่า เหลือเพียงประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารอันดับ 1 ของโลก เพราะมีการทำรัฐประหารบ่อยครั้งและใกล้เคียงกับปัจจุบัน 

เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ ถึงแม้จะมีการทำรัฐประหารในปี 2021 แต่ก้มีสิถิติการทำรัฐประหารเพียง 3 ครั้ง โดยคณะทหารสามารถรักษาอำนาจไว้ได้นานกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งน่าสังเกตว่า การรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์ครั้งล่าสุด โดยพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลายนั้นจะสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้แบบการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะกลับถูกต่อต้านโดยมวลชนนับแต่วันแรกของการรัฐประหารจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว หากมวลชนของประเทศเมียนมาร์สามารถต่อต้านการรัฐประหารสำเร็จ เหตุการณ์ครั้งนี้อาจส่งผลต่อการต่อสู้ของมวลชนต่อเผด็จกาจทั้งโลกก็เป็นไปได้ 

หากมองภาพใหญ่ออกมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหล่าประเทศในอาเซียน 11 ประเทศ เกือบทั้งหมดล้วนเคยผ่านการทำรัฐประหารมาเกือบทั้งหมดยกเว้นเพียงประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้รับเอกราชในปี 2508 และประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี 2500 สองประเทศนี้ไม่เคยมีการรัฐประหารและมีเสถียรภาพบนเส้นทางของประชาชนสูง

ในขณะที่ประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์กลายเป็นประเทศที่อยู่ในวังวนการรัฐประหารอยู่ในปัจจุบัน ย้อนกลับไปทศวรรษที่ 2540 ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่มีดัชนีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในอาเซียน มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และมีเสรีภาพทางการเมือง แม้จะเผชิญวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งก็ยังสามารถพลิกฟื้นได้ในเวลาอันสั้น จนประเทศอื่นๆ รอบข้างมองเป็นต้นแบบของการพัฒนา จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549 เป็นต้นมา ทำให้ประเทศไทยได้ถอยออกจากความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งความตกต่ำทางเศรษฐกิจและสิทธิเสรีภาพ ทำให้เห็นความเลวร้ายของการรัฐประหารอย่างชัดเจน

บทบาทของทหารกับการเมือง 

มีงานศึกษาหลายชิ้นที่กล่าวถึงบทบาทของทหารกับการเมือง โดยจำแนกได้ดังนี้

  1. ทหารมีทบาทกับการเมืองแบบเปิดเผย (Open)

บทบาททหารในลักษณะนี้ มีตัวอย่างชัดเจนในกรณีประเทศเมียนมาร์ หลังการรัฐประหาร ผู้นำเหล่าทัพสามารถแต่งชุดทหารได้อย่างเปิดเผยในการเข้าประชุมรัฐสภา หรือแม้แต่การรัฐประหารในประเทศไทยปี 2557 พล. อ. ประยุทธ์ จัทร์โอชาก็สวมชุดข้าราชการทหารในการออกประกาศคำสั่งต่างๆ ทางสื่อ เพื่อแสดงสัญญะทางการเมืองผ่านเครื่องแบบ เช่นนี้เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผู้ถืออำนาจคือ ทหารอย่างเปิดเผย

  1. ทหารมีบทบาทแบบแอบซ่อนแปลงร่าง (Disguised)

หลังจากการรัฐประหารและครองอำนาจไประยะหนึ่ง เหล่าคณะทหารมักจะมีการผ่อนสถานะของการมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จลง การมีบทบาทของทหารนี้สามารถแบ่งได้ลงมาอีก 2 แบบย่อย คือ

2.1 แปลงเป็นพลเรือน (Civilianized)

เมื่อมีการผ่อนปรนอำนาจแบบเบ็ดเสร็จลง ทหารเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนจากการสวมชุดทหารเต็มยศมาเป็นชุดสูท เพื่ออธิบายว่า ตนเองเป็นประชาชน แทนการแสดงให้เห็นว่าตนเองอยู่ในเครื่องแบบทหารเพื่อสืบทอดอำนาจ 

2.2 ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง (Indirect)

ทหารในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งหรืออยู่ในอำนาจ หากแต่เป็นผู้มีอิทธิพลโดยสามารถกำกับทิศทางทางการเมืองอยู่เบื้องหลังได้ เช่น การแต่งตั้งคณะรัฐบาลพลเรือนขึ้นแทนที่ในกรณีการตั้งรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 

กล่าวโดยสรุป บทบาทของทหารกับการเมืองจึงไม่จำเป็นต้องมีบุคคลสวมเครื่องแบบทหารเต็มยศยืนอ่านประกาศคำสั่งควบคุมสถานการณ์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่สามารถโยกย้ายซ่อนเร้นอยู่ในชุดของพลเรือนหรืออยู่เบื้องหลังรัฐบาลและบุคคลที่เป็นพลเรือนโดยใช้อิทธิพลของตนในการกำกับทิศทางการเมืองได้

เข้าใจการเมืองไทยใน 150 ปี

การเข้าใจการเมืองไทยใน 150 ปีที่ผ่านมา แบ่งได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรก คือ 2411 – 2475 จากสมัยรัฐอยุธยาสู่การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองของราชสำนักกรุงเทพ และการกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) โดยเริ่มนับแต่การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 5 ในปี 2411 และทำสำเร็จในปี 2435 สิ่งที่ตามมาคือการสร้างระบบราชการแบบโลกตะวันตก เช่น การสร้างกระทรวงทบวงกรม การวางเส้นทางรถไฟ การเริ่มต้นของระบบการศึกษาไทยเพื่อสร้างบุคคลากรป้อนเข้าสู่ระบบราชการ การยุบเลิกราชวงศ์ท้องถิ่นตั้งมณฑลมีข้าหลวงไปปกครอง ชุดข้าราชการสีกากีก็มาจากชุดของเจ้าหน้าที่อาณานิคมอินเดียของอังกฤษ หรือ บริติชราช (British raj) ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จอาณานิคมอินเดีย แม้จะใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษในการก่อร่างสร้างระบอบดังกล่าว แต่ระบอบจะมีอายุยืนเพียง 40 กว่าปีเท่านั้น ก่อนถูกเข้าแทนที่โดยระบอบประชาธิปไตย โดยระบอบทั้ง 2 ระบอบต่างเป็นระบอบที่มาจากโลกตะวันตก ซึ่งชนชั้นนำไทยไปหยิบยืมมา

หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน นับรวมเป็นเวลา 89 ปี การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอาจถูกตั้งคำถามว่า ตลอด 89 ปี ที่ว่านี้ ประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบใดกันแน่ ประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการ เพราะในรอบเกือบหนึ่งศตวรรษนี้ ประเทศไทยมีการรัฐประหารเฉลี่ยทุก ๆ 6.8 ปี โดยการรัฐประหาร 13 ครั้งนั้น มีการกบฏ (หรือกระทำการไม่สำเร็จ) ถึง 11 ครั้ง โดย 5 ครั้งมีการนำกำลังเข้ายึดสถานที่ราชการและ 6 ครั้งอยู่ในขั้นตอนการวางแผนซึ่งไม่สำเร็จ รวมทั้งหมดนี้มีการตื่นตัวและเข้ายึดกุมอำนาจโดยพลังประชาชนเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ผลพวงที่ได้รับคือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2517 และรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งฉบับหลังได้ถูกกล่าวถึงมากที่สุดว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” อย่างแท้จริง กล่าวได้ว่า ความพยายามในการสร้างประชาธิปไตยของไทย หากนับรวมครั้งแรกคือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ เพียงความพยายามในการสร้างประชาธิปไตยเพียง 3 ครั้งของประชาชนไทย ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ความเป็นอยู่ชีวิตของผู้คนได้มากมาย ในขณะที่การรัฐประหารแม้จะมีความถี่ถึง 13 ครั้ง แต่เผยให้เห็นความไม่มั่นคงในการรักษาอำนาจเอาไว้ได้อย่างยาวนาน ดังนั้นสภาพทางการเมืองนี้ จึงเหมือนการเป็นคู่แข่งของการสร้างประชาธิปไตยไทยและการทำลายโดยคณะรัฐประหาร

หากมองลึกลงไปในรายละเอียด เราสามารถจำแนกประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงหลังการปฏิวัติจนถึงปัจจุบันได้เป็น 2 ช่วงย่อย โดยช่วงแรกคือ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 – เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยถือเกณฑ์เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์แรกที่มีประชาชนเข้าร่วมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ก่อนหน้านั้น การช่วงชิงอำนาจนำมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง มีการรัฐประหาร 8 ครั้ง กบฏ 8 ครั้ง และสิ้นสุดด้วยการต่อสู้ของประชาชน 1 ครั้ง โดยอัตราเฉลี่ยแล้วความวุ่นวายทางการเมืองจะเกิดขึ้นทุกๆ 2.4 ปี โดยเป็นการสั่นคลอนอำนาจภายในโดยคณะทหารด้วยกันเองทั้งสิ้น

แต่เมื่อพิจารณาดูภายหลังการปฏิวัติประชาชน 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ภาคประชาชนกลับมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทางการเมืองมากขึ้น จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่สามารถส่งผลเป็น ‘พลังประชาชน’ อย่างสำคัญ คือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนกระทั่งภายหลังได้มีการสร้างความแตกแยกภายในหมู่ประชาชนโดยแผนของคณะทหารในการชิงพื้นที่มวลชนกองหน้าในเชิงการสู้ อย่างกรณีมวลชนเสื้อสีแดงและสีเหลือง จนกระทั่งการต่อสู้ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน

ในส่วนการรัฐประหารนั้น แม้จะลดลงมาเหลือเพียง 5 ครั้ง แต่การครองอำนาจกลับมีความยาวนานมากขึ้น จนถึงจุดแตกหักในช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แนวคิดระหว่างทหารกับการครองอำนาจทางการเมืองถูกมองว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก จนกระทั่งการรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ซึ่งเป็นการ “รัฐประหารซ้ำ” ให้เบ็ดเสร็จ คล้ายการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ปี 2500 และซ้ำด้วยปี 2501 เพื่อทำให้ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐบาล 

การกบฏในช่วงที่ 2 นี้เกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง คือ 2520, 2524 และ 2528 และไม่มีอีกเลยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่ากองทัพสามารถควบคุมระบบภายในได้อย่างเบ็ดเสร็จจนกระทั่งปัจจุบัน ในขณะที่พลังประชาชนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แทรกเข้ามาใหม่กลับกลายเป็นอาชญากรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชนอย่างซึ่งหน้ากลางกรุงเทพฯ เช่น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 โดยเฉพาะ เหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่ประชาชนถอยเข้าป่าและจับอาวุธสู้กับฝ่ายรัฐอย่างจริงจัง เปรียบเทียบกับในช่วงครึ่งแรก การทำอาชญากรรมโดยรัฐมักกระทำกับนักการเมือง เช่น การสังหาร 4 รัฐมนตรีอีสาน การสังหารนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นต้น กล่าวได้ว่า คู่ต่อสู้ของฝ่ายรัฐบาลทหารได้เปลี่ยนจากกลุ่มทหารด้วยกันเองในช่วงครึ่งแรก มาสู่การต่อสู้กับประชาชนแทนในช่วงครึ่งหลัง

การรัฐประหารทั้งหมด 13 ครั้งในประเทศไทย นับแต่การ ‘รัฐประหารเงียบ’ ครั้งแรกโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยซึ่งแต่งตั้งโดยคณะราษฎรและทำการได้ยึดอำนาจตนเองผ่านการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา ในวันที่ 1 เมษายน 2476 ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยจะเปิดประชุมสภาได้เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ในขณะที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดายังคงเป็นนายกรัฐมนตรี และยังคงให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ อยู่ในตำแหน่งต่อไป ในกรณีนี้ทำให้เหล่ารัฐมนตรีลอยคือฝ่ายของคณะราษฎรหลุดออกจากตำแหน่งทั้งหมดนั่นเอง นอกไปจากนี้ยังให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติโดยไม่มีสภา ทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาสามารถควบคุมได้ทั้งอำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร จึงมีคำเรียกการปกครองช่วงนั้นว่า “มโนเครซี่” พ้องกับคำว่า Monocracy เป็นเผด็จการคนแรกของการเมืองไทย 

การรัฐประหารในประเทศไทยครั้งแรกจึงไม่ใช่การปรากฏตัวของกำลังทหารในพื้นที่สาธารณะ หากแต่เป็นการใช้อำนาจในทางการเมืองและการควบคุมกฎหมาย โดยอำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีความยืนยาวอยู่ถึง 81 วัน จนกระทั่งถูกกำลังที่เหลือของฝ่ายคณะราษฎร คือพระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงพิบูลสงครามนำกำลังเข้ายึดอำนาจคืนและทำการเปิดสภาอีกครั้ง นับเป็นการรัฐประหารครั้งเดียวเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้

ความมุ่งหวังของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีความพยายามที่จะฟื้นระบอบเก่าในเสื้อคลุมระบอบใหม่ เฉกเช่นเดียวกันกับรัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ตอนนี้ คือการคงไว้ซึ่งกลไกรัฐสภาแต่โดยเนื้อแท้แล้วก็ไม่สามารถมีพรรคใดเข้ามาคานอำนาจเพื่อต่อกรกับรัฐบาลได้

เดือนตุลาคม 2476 พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชเตรียมเคลื่อนกำลังบังคับให้พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธ จึงเกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” จนฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชพ่ายแพ้ ผลพวงการพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏ ทำให้คณะราษฎรสามารถกำจัดฝ่ายระบอบเก่าและสร้างเสถียรภาพของกองทัพและรัฐบาลได้อีกครั้ง 

ควรกล่าวด้วยว่า เส้นทางการเติบโตของประชาธิปไตยไทยได้เป็นเส้นคู่ขนานกับช่วงของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเสริมอำนาจของกองทัพและกฎอัยการศึก ยังผลให้นายทหารอย่างจอมพลแปลก พิบูลสงครามสามารถเข้ามามีอำนาจในทางการเมือง จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองครั้งใหญ่หลังกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในปี 2489 เกิดการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ปี 2490 โดยพล.ท. ผิน ชุณหะวัณ นายทหารซึ่งเกษียณอายุไปแล้วและได้ทำการต่อายุราชการตนเองอีกครั้ง มีการแต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลพลเรือน เพื่อจัดการเลือกตั้งในปีถัดมา ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลสืบต่อ แต่ก็ถูกรัฐประหารซ้อนโดยคณะนายทหารชุดเดิมผ่านการเข้าพบที่บ้าน ทำให้นายควงต้องลาออก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกแทนที่ด้วยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม 

ในช่วงระหว่างปี 2490 – 2494 มีความพยายามหลายครั้งในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองทั้งฝ่ายเสนาธิการทหารบก ฝ่ายปรีดี พนมยงค์และเสรีไทยในกบฏวังหลวง ฝ่ายทหารเรือในกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งพ่ายแพ้รัฐบาลไปทั้งหมด  ในปี 2494 มีการรัฐประหารตนเองอีกครั้งผ่านวิทยุกระจายเสียง โดยปกติแล้ว การรัฐประหารตนเองมักจะกระทำเพื่อ “ปรับเปลี่ยน” คณะรัฐบาลและกฎเกณฑ์ใหม่ที่คณะทหาร “ไม่ถูกใจ” ในการครองอำนาจครั้งแรก เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 2490 นั้น จึงไม่มีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงปรากฏเลย เพราะถูกขจัดออกไปจากเส้นทางการเมืองทั้งหมดแล้ว 

การรัฐประหารครั้งต่อมาในปี 2500 โดยคณะทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการรัฐประหารที่มาจากการอ้างปัญหาการเลือกตั้ง คือ การเลือกตั้ง “สกปรก” ในความเป็นจริงแล้ว จอมพลสฤษดิ์มีความต้องการที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านการสร้างพรรคการเมือง และลงการเลือกตั้ง แต่ด้วยเหตุพิการทางร่างกายอย่างฉับพลันจนทำให้จอมพลถนอม กิตติขจรมีโอกาสเข้ามาแทนที่ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์เดินทางไปรักษาตัว “ดูงานราชการ” ที่ต่างประเทศด้วยวงเงินกว่าหนึ่งล้านบาทจนหายดี และกลับมาทำการรัฐประหารให้จอมพลถนอมลาออกในปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยโมเดลการรัฐประหารนี้ได้ใช้เรื่อยมาจนถึงการรัฐประหารปี 2557 

ภายหลังปี 2506 จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีได้เข้าแทนที่ โดยมีวิธีการรักษาอำนาจของนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คนคือ การสร้างรัฐธรรมนูญให้นานที่สุดเกือบ 10 ปีด้วยกัน จนกระทั่งออกมาเสร็จสมบูรณ์ในปี 2511 มีการจัดการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลเดิม แต่จอมพลถนอมไม่สามารถทนการตั้งกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงทำการรัฐประหารอีกครั้ง ล้มรัฐบาลตนเอง และอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไร้รัฐธรรมนูญนาน 13 เดือนด้วยกันจนกระทั่งถูกกดดันจากราชสำนักทำให้ต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2515 และลงท้ายด้วยการปฏิวัติโดยประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

ประชาธิปไตยไทยเฟื่องฟูอยู่เพียง 3 ปี จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ และตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพียง 1 ปีหลังจากนั้นมีการรัฐประหารซ้ำเพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถัดมาอีก 2 รัฐบาล คือ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ตั้งพล.อ. สุจินดา คาประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี โดยสามารถครองอำนาจได้เพียง 45 วันก็ถูกโค่นล้มโดยพลังประชาชนในเหตุการณ์พฤษภา 2535

ภายหลังการโค่นล้มคณะ รสช. ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบานสูงมาก จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549 ในนามการ “ขออภัยในความไม่สะดวก ” และครั้งล่าสุดคือการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557

89 ปีข้ออ้างรัฐประหาร

ตารางข้ออ้างการรัฐประหาร/พลังประชาชนในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยสมัยใหม่ ที่มา: ประชาไท

ตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ มีการรัฐประหารครั้งแรกโดยนักกฎหมายอย่างพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่ใช่กองทัพ มีการรัฐประหารซ้อนเพื่อ “จัดระเบียบรัฐบาล” ของคณะทหารใหม่หลายครั้ง มีการรัฐประหารครั้งเดียวที่รักษาประชาธิปไตยไว้คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยในช่วงปี 2476 – 2490 นั้น ข้ออ้างคอมมิวนิสต์ รัฐธรรมนูญ และสถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกใช้ในการรัฐประหารมากที่สุด ส่วนปี 2491 – 2500 ข้ออ้างการรัฐประหารจะเน้นไปที่ปัญหาของรัฐบาล ส.ส. เป็นหลัก ในช่วงปี 2501 – 2519 ข้ออ้างด้านคอมมิวนิสต์และสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง กอปรกับข้ออ้างการอคอรัปชั่น ในการรัฐประหาร จนกระทั่งภัยคุกคามด้านคอมมิวนิสต์ไทยหายไป ภายหลัง 2520 การรัฐประหารจึงมุ่งเน้นไปที่หัวหน้าคณะรัฐบาลมีความ “หมิ่นเหม่” ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แทน 

โมเดลการรัฐประหาร ก่อเกิด ‘วงจรอุบาทว์’

การรัฐประหาร 13 ครั้ง ทำให้เกิดโมเดลวงจรอุบาทว์การรัฐประหารของไทย คือ การเริ่มต้นที่การรัฐประหารโดยกองทัพทหาร ภายหลังการรัฐประหารคณะทหารจะพยายามอยู่ในอำนาจโดยไม่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะ ตนเองต้องการมีอำนาจอย่างเต็มที่ผ่านประกาศคำสั่งโดยหัวหน้ารัฐประหาร เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งใช้เวลาถึง 13 เดือนในการอยู่ในอำนาจโดยไร้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จากนั้นก็จะทำการร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้กระบวนร่างให้ยาวนานที่สุด เพื่อให้คณะปกครองอยู่ในอำนาจต่อไปได้ จนกระทั่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรโดยออกแบบการสืบทอดอำนาจไว้เรียบร้อยแล้ว ผ่านร่างด้วยการประชามติที่ห้ามรณรงค์คัดค้าน ไปจนถึงการจัดการเลือกตั้ง มีการออกแบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งภายใต้กลไกของตนเองเพื่อให้พรรคทหารนั้นสามารถมีเสียงข้างมากในสภาได้ เช่น การบัญญัติให้มีสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนรัฐบาล นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็จะสามารถอยู่ในอำนาจได้นาน แต่หากเป็นรัฐบาลพลเรือนปกติแล้วก็จะถูกนำไปสู่วิกฤตได้โดยง่ายตามกลไกของรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบไว้อย่างเข้มงวด กลายเป็น “วงจรอุบาว์รัฐประหารไทย”

ผลพวงของการรัฐประหารของไทยคือ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญจำนวนมากถึง 20 ฉบับ ซึ่งหากเฉลี่ยกับการรัฐประหารโดยปกติ คณะรัฐประหารจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร นอกจากบางกรณีที่มีการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญหรือการจัดการเลือกตั้งทันที 

รัฐธรรมนูญไทยสามารถจำแนกได้ 2 แบบ คือเกิดขึ้นจากการฝ่ายประชาธิปไตยและประชาชน มี 5 ฉบับคือ 27 มิถุนายน 2475, 10 ธันวาคม 2475, 2489, 2517 และ 2540 โดย 5 ฉบับนี้มีใจความสำคัญร่วมกันคือ หมวดคณะรัฐมนตรี ได้ระบุไว้ว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง เพราะนี่คือแนวทางที่ทำให้รัฐบาลของประชาชนจะเกิดขึ้น ในขณะที่อีก 15 ฉบับจากการรัฐประหารมีเนื้อหาใจความที่พยายามระบุว่า นายกรัฐมนตรีเป็นใครก็ได้ไม่จำกัด เพื่อเปิดช่องให้ตนเองสามารถขึ้นสู่อำนาจได้โดยง่าย 

ผลพวงของการรัฐประหารยังสร้างมรดกเอาไว้อีกมากมาย เช่นประโยคที่ว่า ประเทศไทยปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มิได้มีขึ้นใช้นับแต่ครั้งแรกในย่ำรุ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากแต่เกิดขึ้นในปี 2492 หลังการโค่นอำนาจกลุ่มคณะราษฎรแล้ว คณะทหารมีความกังวลว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่คู่กับประชาธิปไตยของไทย จึงทำการพ่วงคำเพิ่มเติมและมีการใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ผลพวงของการรัฐประหารปี 2490 ยังส่งผลให้เกิด สว. 100 คนในขณะนั้น และเกิดการวิวัฒนาการเป็น 250 คนในรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงมีอำนาจสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในขณะที่การรัฐประหารปี 2501 ยังก่อให้เกิดหน่วยงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการแต่งตั้ง มีลักษณะเลียนแบบสภาผู้แทนราษฎรเพียงแต่ปรับเปลี่ยนที่นั่งให้ตกเป็นของนายทหาร ตำรวจ และเทคโนแครต อันมีผลงานแรกคือ การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2502 หากเปรียบเทียบกับปี 2557 ก็จะมี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนำบุคคลที่สนับสนุนการรัฐประหารเข้ามาดำรงตำแหน่ง

นอกไปจากนี้ยังมีแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2492 โดยมีการกำหนดหน้าที่ของแต่ละกระทรวง โดยมี 4 มาตราที่พูดถึงกำลังทหารและผู้บังคับบัญชา เพื่อไม่ให้รัฐบาลพลเรือนลดทอนบทบาทของกองทัพลง รวมถึงหมวดปฏิรูปประเทศ เพื่อทำการตรวจสอบ ป้องกัน และโจมตีพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปของคณะทหาร

ผลพวงของการรัฐประหาร 2490 ยังก่อให้เกิดคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งหมายความว่า “ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน จากฐานะที่เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์นั้นต้องมีลักษณะสมบูรณ์ (absolute) มีอำนาจนั้นอยู่ในตนเอง รัฏฐาธิปัตย์จะทำการสิ่งใดไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมหรืออาศัยอ้างอิงว่าได้รับมอบอำนาจมาจากผู้ใดอีก ความสัมบูรณ์ของอำนาจนี้ส่งผลให้รัฏฐาธิปัตย์ออกคำสั่งใดๆเพื่อบังคับใช้แก่ไพร่ฟ้าในอาณาจักรของตนในโอกาสใดและเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ย่อมได้เป็นธรรมดา และโดยการที่รัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงที่สุดและสมบูรณ์นี้เองหากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเช่นว่าของรัฏฐาธิปัตย์แล้วต้องได้รับการลงโทษ เพราะอำนาจในการลงโทษก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอันสูงสุดและสมบูรณ์ของรัฏฐาธิปัตย์เช่นเดียวกัน” โดยฝ่ายตุลาการและศาลได้เข้าร่วมออกแบบประกาศของคณะรัฐประหารว่าคือรัฏฐาธิปัตย์ อันถือเป็นการสนับสนุนการรัฐประหาร เป็น “ตุลาการภิวัตน์” คือขบวนการการรักษาไว้ซึ่งสถานภาพของการรัฐประหาร แทนที่จะพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ในท้ายที่สุด คือการกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่มีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐบาล รัฐบาลฝ่ายทหารต้องระวังมิให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสามารถรวมตัวกันได้เพื่อต่อกรกับคณะรัฐบาล สิ่งที่ฝ่ายคณะรัฐประหารกระทำมาตลอดนำแต่ปี 2476 คือการยุบพรรคการเมืองนับแต่การปิดสมาคมคณะราษฎรจนถึงการยุบพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ในปัจจุบัน มีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งสิ้น 376 พรรคการเมือง โดยใช้วิธีตั้งแต่การรัฐประหารแล้วประกาศยุบพรรคทันที การยุบพรรคด้วยกลไกทางกฎหมาย เพื่อให้พรรคการเมืองไม่สามารถมีความต่อเนื่องหรือสามารถขยายฐานสมาชิกจนเข้มแข็งไปเป็นคู่แข่งได้

เมื่อถึงตรงนี้ อาจกล่าวได้ว่า นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ฝั่งฟากฝ่ายทหารของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 2490 หรือ 74 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างกลไกมากมายในการธำรงอำนาจ การทำลายคู่แข่ง เปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่ตลอดเวลา แม้ในปัจจุบันผู้ที่มีส่วนร่วมในสนามการเมืองอย่างสำคัญจะถูกเปลี่ยนมือจากคณะทหารมาเป็นประชาชนโดยตรงแล้วก็ตาม การถูกตรึงทางอำนาจจากฝ่ายบริหารและตุลาการก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นและเป็นโจทย์ยากทางการต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจทหารและประชาชนต่อไป