โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป
ชุติเดช เมธีชุติกุล
เราได้ยินและรับรู้คำว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาตลอดเมื่อพูดถึงรูปแบบการปกครองสยาม/ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นดูเหมือนว่าการรับรู้ดังกล่าวจะไร้ซึ่งมิติเรื่องเวลาและประวัติศาสตร์ เพราะเราเข้าใจคำดังกล่าวเสมือนหนึ่งว่าความหมายของคำนั้นมีความแน่นิ่งตายตัว เป็นคำที่เกิดขึ้นมาจากการผสมผสานจากคำหลายๆ คำ มีความหมายคำที่ผสมกันขึ้นมาเป็นคำดังกล่าว และเป็นเช่นนั้นมาเสมอ แต่บทความของธนาพล ลิ่มอภิชาต[2] กลับเผยให้เห็นการต่อสู้ การแย่งชิงการนิยาม การเมืองของการให้ความหมาย ชุดอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ต่างๆ และบริบททางประวัติศาสตร์ที่ได้ก่อรูปคำและประกอบสร้างความหมายของคำดังกล่าวขึ้นมาเพื่อตอบสนองและสอดรับกับการหยิบยืมใช้สอยเพื่อประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ โดยในงานชิ้นนี้ได้จัดจำแนกแยกแยะประวัติศาสตร์ของคำดังกล่าวออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่
1) ก่อนการปฏิวัติ 2475 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลายเป็นกรอบที่ถูกนำมาใช้วิจารณ์ถึงความเลวร้ายของระบอบการปกครองสยาม ณ เวลานั้น เช่น การวิจารณ์โดย ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้นำคนสำคัญในคณะ ร.ศ. 130 ในบทความชื่อ “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ” ว่า “แอบสลุดมอนากี” เป็นวิธีการปกครองประเทศที่ “ร้ายแรงมาก เพราะกระษัตริย์มีอำนาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กระษัตริย์จะทำการชั่วร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง”[3] ความวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาทิ “การปกครองอย่างรัฐบาลเปนช้างเท้าน่า”, “การถืออำนาจแอ๊บโซลูต”, “การปกครองด้วยคนๆ เดียว”, “การ ใช้อำนาจอย่างเจ้า”[4] เป็นต้น ในขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นนำก็ใช้คำดังกล่าวโต้กลับคำวิจารณ์เหล่านั้นด้วยวิธีการ 3 แบบ 1) การพยายามทำให้เห็นว่าระบอบแอบสลุดมอนากีไม่ได้เป็นระบอบที่กดขี่ หรือแค่ปกครองด้วยระบอบแอบสลุดมอนากีแค่เพียงในนาม และ 2) สยามยังไม่เหมาะหรือพร้อมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือการมี “ปาลิเมนต์” และสรุปว่าระบอบแอบสลุดมอนากีเหมาะกับสยามแล้ว 3) การสร้างคำอธิบายใหม่แทนระบอบแอบสลุดมอนากี เช่น การปาฐกถาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหัวข้อเรื่อง “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ” เมื่อปี 2470[5]
2) ช่วงตั้งแต่ 2475 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เป็นช่วงที่มีความพยายามแย่งชิงและตีความระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม/กษัตริย์นิยม ใน 3 รูปแบบ ได้แก่
1) การสร้างคำอธิบายว่าสยามไม่ได้มีลักษณะการปกครองตามคำดังกล่าว เช่น หนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ ชื่อ “การเมืองการปกครองของกรุงสยาม” โดยอธิบายว่าสยามปกครองด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แค่เพียงในนามเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจควบคุมเจ้าหัวเมืองต่าง ๆ ได้ตลอด หรือแม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 อำนาจของกษัตริย์ตกอยู่กับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอภิรัฐมนตรีสภา[6] เป็นต้น
2) ใช้คำดังกล่าวมาวิจารณ์การปกครองของคณะราษฎร เช่น การเปรียบเทียบว่าการปกครองของคณะราษฎรมีลักษณะเป็นเผด็จการ (dictator) ที่ “เลวกว่า โหดร้ายกว่า และยุ่งยากกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” อีกทั้งเด็ดขาดร้ายแรงและไม่ได้เป็นระเบียบแบบแผนเหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สยามใช้มานานจนเป็นระบบระเบียบ[7] เป็นต้น และ
3) สร้างคำอธิบายที่เชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตย เช่น การให้ภาพว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผู้วางรากฐานให้กับพัฒนาการประชาธิปไตยไทย และยังเป็นระบอบที่ไม่หยุดนิ่ง มีศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาไปสู่สมัยใหม่ได้ ซึ่งนัยหนึ่งเป็นการกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปี 2475 เป็นไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด[8]
นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายของนักวิชาการ อย่าง รอง ศยามานนท์, สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยอนันต์ สมุทวณิช ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามได้รับอิทธิพลหรือมีรากฐานทางความคิดมาจากอินเดียหรือขอมโบราณ ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้ก็ได้รับอิทธิพลมาจากนักวิชาการตะวันตก เช่น G. Coedes, H. G. Quaritch Wales, Walter F. Vella เป็นต้น[9]
3) หลัง 6 ตุลาคม 2519 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบในโลกวิชาการทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างกรอบความเข้าใจและศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้สยามสร้างและก่อตัวรูปแบบของรัฐหรือระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ขึ้นมา รวมถึงมรดกของระบอบดังกล่าวต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน เช่น งานของ Benedict Anderson, กุลลดา เกษมบุญชู-มี้ด, ไชยันต์ รัชชกูล, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สมเกียรติ วันทะนะ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล เป็นต้น[10]
ในแง่นี้การศึกษาคำดังกล่าวในบทความของธนาพลจึงช่วยทำให้เห็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ต่อเนื่อง ความขัดแย้ง การต่อสู้ และการปะทะสังสันทน์กันตลอดมาของประวัติศาสตร์พัฒนาการของรัฐสยาม/ไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ในทางหนึ่งภาษาสะท้อนและกำหนดโลกทัศน์ของผู้คนที่ใช้ภาษานั้นๆ นอกจากนี้ภาษายังถือเป็นสัญญะอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยรูปสัญญะและความหมายสัญญะ โดยที่รูปสัญญะและความหมายสัญญะนั้นสามารถเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงกันไปได้ตลอด แต่การเลื่อนไหลในแต่ละครั้งนั้นตัวสัญญะจะทิ้งร่อยรอยไว้เสมอ ในแง่นี้ร่องรอยดังกล่าวอาจจะเกิดจากความขัดแย้ง การต่อสู้ และความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นก่อนการบิดผันไปของทั้งรูปและความหมายของสัญญะ ดังนั้นภาษาจึงไม่ได้มีความหมายหยุดนิ่งตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง แต่สามารถแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้น และยังสะท้อนและกำหนดโลกทัศน์ของผู้คนที่ใช้ภาษานั้นๆ อีกด้วย
ดังนั้นหากพิจารณาประวัติศาสตร์ของการก่อรูป การสร้างความหมาย และการนำไปใช้ของคำและภาษาไทยที่ปรากกฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะช่วยทำให้เห็นความไม่ลงรอยของประวัติศาสตร์สยาม/ไทยที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาจากที่เคยถูกกดทับด้วยประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม การศึกษานี้จึงช่วยสั่นคลอนและเปิดเผยถึงความลักลั่นย้อนแย้งของประวัติศาสตร์ดังกล่าวผ่านคำและภาษาที่ปรากฏ ณ เวลานั้น บทความของธนาพลจึงช่วยเปิดพื้นที่ของการศึกษาในเรื่องคำและภาษาไทยในช่วงตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา[11] พื้นที่เหล่านี้จะช่วยเผยให้เห็นประวัติศาสตร์อีกด้านที่สั่นคลอนสถานะของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมในฐานะเรื่องเล่ากระแสหลักเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องเล่าอื่นๆ ได้มีพื้นที่และเสียงของตัวเอง
เฉกเช่นเดียวกับการพิจารณาคำและภาษาในช่วงรัชกาลที่ 5 ว่ามีลักษณะของการเลื่อนไหลของรูปสัญญะและความหมายสัญญะ เช่นนั้นแล้วเมื่อลองพิจารณาประเด็นหนึ่งที่ธนาพลได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจในช่วงท้ายของบทความคือเรื่อง “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ประเด็นดังกล่าวนี้เองช่วยทำให้ผู้เขียนสังเกตประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง นั่นคือ “ระบบราชการไทยในปัจจุบันในฐานะมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แล้วนำลักษณะของการเลื่อนไหลดังกล่าวมาลองพิจารณาระบบราชการไทย เราจะเห็นระบบราชการไทยเปลี่ยนไปอย่างไร? แต่ก่อนที่จะตอบประเด็นดังกล่าวได้นั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าความคิดเรื่อง “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” คืออะไร? แล้วอะไรคือระบบราชการไทยในฐานะมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ?
“(มรดก?)สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คืออะไร?
ประโยคหนึ่งจากบทความชิ้นสำคัญของ Benedict Anderson กล่าวว่า “กลไกระบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยตัวมันเองแล้วไม่สามารถแตกหักกับทัศนะและจารีตประเพณีของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ … อันที่จริงแล้ว “รัฐราชการ” ของ Riggs ก็คือ รัฐอัตตาธิปัตย์สมบูรณาญาสิทธิ์ที่พิกลพิการ “รัฐราชการ” สมัยใหม่ที่ถูกแขวนเติ่งอยู่ระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์กับลัทธิชาตินิยมมวลชน จึงมีลักษณะทั้งอนุรักษ์นิยมอย่างลึกซึ้งและไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง”[12]
ธนาพลชี้ว่าข้อความดังกล่าวนี้ที่เป็นประเด็นการศึกษาที่สำคัญของ Anderson คือเรื่องผลกระทบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยในฐานะมรดกตกทอดต่อสังคมไทยในปัจจุบันที่ “ยังไม่ตายสนิท รัฐราชการที่ดำรงสืบต่อมา (เพราะไม่สามารถแตกหักอย่างเด็ดขาด) จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ยังสืบต่อลักษณะและปัญหา (เช่น การรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจและการรักษาผลประโยชน์ไว้เฉพาะในกลุ่มชนชั้นปกครอง) อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐไทยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ได้”[13]
และในตอนท้ายของบทความธนาพลได้ขยายบทสรุปของงาน Anderson ที่ได้สรุปไปนั้นมาเสริมขยายประเด็นเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยที่ยังส่งผลต่อรัฐและการเมืองไทยในปัจจุบันด้วยงานศึกษาของธงชัย วินิจจะกูล ที่เป็นการสานต่อทัศนะข้างต้นของ Anderson และได้สร้างเป็นกรอบในการทำความเข้าใจมรดกของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน 5 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) ระบบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ 2) พุทธศาสนาในฐานะความเป็นไทย 3) สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society) 4) ลัทธิประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม 5) สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสมัยใหม่[14]
สำหรับประเด็นเรื่องระบบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจนั้น ธงชัยได้กล่าวเสริมว่าเป็น “ระบอบการปกครองรวมศูนย์ที่แข็งทื่อไม่ยืดหยุ่น และผูกติดอยู่กับลัทธิรัฐเดี่ยว และลัทธิเสียดินแดน ซึ่งทำให้การยอมรับความแตกต่างและการกระจายอำนาจเป็นไปได้ลำบาก”[15] ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจต้องอาศัยกลไกระบบราชการเพื่อสร้างและคงรักษาระบบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ในแง่นี้กลไกระบบราชการที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ขัดขวางไม่ให้รัฐไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่ตามที่ธงชัยได้ชี้ประเด็นนี้ไว้ โดยเป็นเสมือน “กรอบกำแพงที่กักขังสังคมไทยไว้ จนไม่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับเวลาที่เปลี่ยนไป หลายประเด็นเป็นข้อจำกัดทำให้เราไม่สามารถแม้แต่จะคิดออกนอกกรอบกำแพงดังกล่าว หรือถึงกับรังเกียจ ลงโทษ ทำร้ายคนที่คิดออกนอกกำแพงดังกล่าว”[16] กรอบกำแพงดังกล่าวได้กำหนดรูปการปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในระบบราชการ แล้วถูกส่งทอดต่อไปในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ไทย
หากพิจารณาตำราพื้นฐานของการศึกษาระบบราชการไทยอย่างหนังสือของของชัยอนันต์ สมุทวณิช ชื่อ 100 ปีแห่งการปฏิรูประบบราชการ: วิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง[17] ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาระบบราชการไทยจะพบว่า ความเข้าใจว่าการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกตีความว่าเป็นคุณูประการสำคัญต่อระบบราชการสมัยใหม่ของไทย จนละเลยที่จะมองว่าเป็นการพยายามแสวงเครื่องมือมาช่วยค้ำจุนอำนาจของระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ที่รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นมาใหม่ และการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว[18]
ในประเด็นความไม่ราบรื่นของการปฏิรูประบบราชการมีงานวิชาการหลายชิ้นได้ที่ชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าวไว้อย่างละเอียดผ่านหลักฐานชั้นต้น[19] รวมถึงงานศึกษาข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงแรกของการก่อตั้งกระทรวงก็ยังเป็นการตอกย้ำว่าระบบราชการที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นแทนที่จะใช้ระบบความสามารถ (meritocracy) อย่างเต็มพิกัด แต่กลายเป็นว่าระบบราชการกลับถูกผูกโยงอยู่ในระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ผ่านเครือญาติที่ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเชื้อพระวงศ์และตระกูลขุนนางเก่า[20] ลักษณะความไม่ราบรื่นที่ปรากฏนี้เองอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่หยั่งรากระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้องแบบเจ้าขุนมูลนายที่ไว้อย่างยั่งยืนอยู่ในระบบราชการจนถึงปัจจุบัน แล้วเราจะศึกษาความไม่ราบรื่นดังกล่าวนี้อย่างไร?
บทสรุป: เมื่อ “ระบบราชการไทย” เลื่อนไหล “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” พลันปรากฏ?
การจะศึกษาความไม่ราบรื่นของก่อตัวของระบบราชการในสมัยราชกาลที่ 5 นั้น วิธีหนึ่งคือ การพิจารณาว่าระบบราชการมีการเลื่อนไหลในแง่ของรูปสัญญะและความหมายสัญญะ การพิจารณาเช่นนั้นจะช่วยให้เราเห็นระบบราชการในปัจจุบันว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากชิ้นส่วนมากมายมหาศาลที่ค่อยๆ ประกอบสร้างขึ้นมาตามแต่ละช่วงเวลาในประวัติศาสตร์จนเป็นระบบราชการที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน โดยการประกอบสร้างขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าเป็นการประกอบสร้างที่ก้าวหน้าเสมอ ไม่สะดุดหยุดนิ่ง มีความต่อเนื่องยาวนาน แต่บางช่วงเวลาก็ถดถอยจากการเผชิญหน้ากับภัยต่างๆ เช่น การปฏิวัติ การปฏิรูป นักการเมือง การเลือกตั้ง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ภาคประชาสังคม เป็นต้น แต่ก็สามารถผ่านอุปสรรคขวากหนามต่างๆ ด้วยการเปิดรับ และปรับปรุงในบางแง่มุมเพื่อความอยู่รอด ฉะนั้นหากคิดในลักษณะนี้แล้ว เราจำเป็นต้องถอยย้อนกลับไปจากปัจจุบันที่ละช่วงเวลาจนไปหาจุดเริ่มต้นของการประกอบสร้างตัวระบบราชการนี้ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2435 อาจจะช่วยทำให้เราเห็นชิ้นส่วนบางชิ้นของความไม่ราบรื่น ณ ช่วงเวลาที่ถูกก่อตั้งได้เลือนหายไปตามกาลเวลาจากการเลื่อนไหลไปของระบบราชการ ชิ้นส่วนนั้น ณ ปัจจุบันได้แปลงรูปตัวเองไปใหม่จนไม่เหลือเค้าโครงร่างเดิมอยู่[21]
หากเป็นดังนี้แล้วการทำความเข้าใจระบบราชการไทยในปัจจุบันในฐานะมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะช่วยทำให้การศึกษาระบบราชการไทยในอนาคตมีความน่าสนใจอย่างมาก ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ช่วยทำให้เห็นพลวัตหรือลักษณะความสัมพันธ์ภายในของตัวระบบราชการ เช่น ข้าราชการระดับสูงกับข้าราชการชั้นผู้น้อย เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ตระกูลเจ้านายและขุนนางที่ผันตัวเองเข้าสู่ระบบราชการ เป็นต้น และความสัมพันธ์ของระบบราชการกับภายนอก เช่น กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง เป็นต้น ที่อาจจะคงรักษาลักษณะบางอย่างหรือสาระสำคัญบางประการไว้ แต่อาจแปรเปลี่ยนรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ หรือประเพณีในรูปแบบใหม่ แต่ยังรักษาสาระสำคัญเดิมเอาไว้
เชิงอรรถ
[1] ผลงานชิ้นนี้ปรับปรุงจากการปริทรรศน์บทความในการบรรยาย “ประวัติศาสตร์นอกขนบ รายวิชาย่อยที่ 1 สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม” โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ระหว่างวันที่ 9-19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดย ตลาดวิชาอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า ผู้เขียนขอขอบคุณ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล และตลาดวิชาอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า ที่ได้จัดกิจกรมดังกล่าวขึ้นมา
[2] ธนาพล ลิ่มอภิชาต. (2560). “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คืออะไร: การต่อสู้ทางความคิด ความรู้ และอุดมการณ์ในสังคมไทย. รัฐศาสตร์สาร, 38(3), 1-59.
[3] เพิ่งอ้าง, น. 13.
[4] เพิ่งอ้าง, น. 14.
[5] เพิ่งอ้าง, น. 15-19.
[6] เพิ่งอ้าง, น. 23.
[7] เพิ่งอ้าง, น. 26.
[8] เพิ่งอ้าง, น. 36-37.
[9] เพิ่งอ้าง, น. 37-38.
[10] โปรดพิจารณา เพิ่งอ้าง, น. 38-56.
[11] งานที่ศึกษาคำและภาษาในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 เช่น อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู. (2560). จาก “โซ๊ด” สู่ “สะวิง”: อัสดงคตนิยมกับ การเมืองของการแปลทางวัฒนธรรมใน ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่. รัฐศาสตร์สาร, 38(2), 73-130.
[12] เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน. (2558). ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา: ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, น. 45.
[13] ธนาพล ลิ่มอภิชาต. (2560). “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คืออะไร, น. 43.
[14] เพิ่งอ้าง, น. 58.
[15] เพิ่งอ้าง.
[16] ธงชัย วินิจจะกูล. (2554). มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน. ฟ้าเดียวกัน, 9(2), น. 47.
[17] ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2538). 100 ปีแห่งการปฏิรูประบบราชการ.
[18] ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2538). 100 ปีแห่งการปฏิรูประบบราชการ: วิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง. กรุงเทพฯ : สถาบันนโนบายศึกษา, น. 2.
[19] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. (2562). ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู (แปล). ฟ้าเดียวกัน: นนทบุรี, บทที่ 2-3.
[20] ปราน จินตะเวช. (2563). จากขุนนางศักดินาสู่ข้าราชการ “ศักดินา”: กรณีกำเนิดกระทรวงการต่างประเทศปี 2369-2475. ฟ้าเดียวกัน, 18(1), 37-74.
[21] สำหรับปัญหาระบบราชการในปัจจุบัน สามารถพิจารณาจากงานของ ชัชฎา กำลังแพทย์. (2564). ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Illuminations Editions. ซึ่งจะทำให้เห็นพัฒนาการของระบบราชการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงระบอบประยุทธ์ในปัจจุบัน ว่ามีพัฒนาการและพลวัตรอย่างไร