จากพยานแวดล้อมทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่ “อับดู เธียม” พ่อค้าเร่ชาวเซเนกัลผู้มาพำนักอยู่อิตาลี จะหลุดจากข้อหาฆาตกรรมเด็กชายฟรันเชสโกวัย 9 ขวบ หนังสือเด็กจำนวนมากและรูปถ่ายของเด็กชายผู้ถูกฆาตกรรมถูกพบในห้องพักของเขา “พยานหลายปากบอกว่าเห็นเขาพูดคุยกับเด็กชายฟรันเชสโกบนชายหาดหลายครั้ง บางครั้งก็เป็นเวลานาน เจ้าของร้านกาแฟที่อยู่ใกล้ๆ บ้านตายายเห็นอับดูเดินผ่านหน้าร้านก่อนที่เด็กชายจะหายตัวไปไม่กี่นาที โดยไม่ได้ถือกระเป๋าสินค้าไปด้วยเหมือนเคย” (น.47) ชาวเซเนกัลที่พักบ้านเดียวกับอับดูก็ให้การว่า จู่ๆ ช่วงวันเกิดเหตุอับดูก็เอารถไปล้างเป็นครั้งแรกตั้งแต่รู้จักกัน พ่อค้าชาวเซเนกัลก็ให้การว่า ไม่เห็นอับดูที่ชายหาดซึ่งเขาขายของอยู่ประจำในวันถัดจากที่เด็กหายตัวไป
เมื่อการทำทุกอย่างผิดแปลกไปจากกิจวัตรประจำวันผสานกับบริบทรายล้อมทั้งหมด ยิ่งทำให้ “ทฤษฎี” ว่าด้วยการเป็นฆาตกรวิตถารของอับดูหนักแน่นสมบูรณ์แบบ จากคำแนะนำของ “กุยโด” ตัวเอกผู้ประกอบวิชาชีพทนาย ทางเลือกที่ดีที่สุดของอับดูคือขอให้ศาลพิพากษาแบบรวบรัดและยอมรับโทษจำคุกแค่ 20 ปี ดีกว่าไปขึ้นศาลอัสซีเซ (Corte d’Assise) ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาชญากรรมรุนแรงโดยคณะผู้พิพากษาและลูกขุน ซึ่งมีความเสี่ยงพิพากษาให้อับดูต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตสูงมาก การพิพากษาแบบรวบรัดยังจะทำให้รัฐประหยัดเงินและเวลา ส่วนจำเลยจะได้ลดจำนวนปีที่อยู่ในคุก และยิ่งเหมาะอย่างมากไปอีกกับลูกความที่ไม่มีเงินเช่นอับดู
แต่ถ้าทุกอย่างดำเนินไปโดยเรียบง่ายแบบนั้น นวนิยายสืบสวนสอบสวนเล่มนี้คงไม่มีทางได้ตีพิมพ์ซ้ำถึง 100 ครั้ง นับแต่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2002 เพราะกลับกลายเป็นว่า อับดู เธียม ยืนกรานในความบริสุทธิ์ของตน และยอมตายดีกว่าถูกตีตราในความผิดที่ตนไม่ได้กระทำ ด้วยเจตนาอันหนักแน่นนี้ทำให้กุยโดยอมว่าความตามประสงค์ของลูกความตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องนี้แบ่งได้อย่างน้อยสองมุม มุมแรก-หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ของทนายที่จะต้องทำตามเจตนาของลูกความ มุมสอง-เป็นตัวกุยโดเองที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรู้สึกเหมือนเห็นตัวเองทุกครั้งที่มองอับดูได้ หรือถ้าพูดในภาษายอดฮิตของยุคสมัยนี้ กุยโดบังเอิญเกิด “empathy” ต่อผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมอย่างอับดูเสียดื้อๆ
เมื่อถอยออกมามองภาพกว้างของนวนิยาย ย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า empathy ของกุยโดเกิดจากการที่อับดูกำลังสูญเสียตัวตนเหมือนกับที่ตัวเองกำลังประสบ จะต่างเพียงแค่อับดูสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากการถูกกักขังไว้หลังลูกกรงแห่งอคติ ส่วนชีวิตกุยโดกำลังอยู่ในลูกผีลูกคนหลังต้องสูญเสียชีวิตเดิมไปพร้อมกับการถูกภรรยาทิ้ง โรคนอนไม่หลับและภาวะซึมเศร้าเป็นรูปธรรมที่เล็ดลอดออกมาจากกุยโดตลอดครึ่งแรกของหนังสือ
ความล่มสลายของทั้งคู่ล้วนปราศจากประจักษ์พยานอยู่ในที่เกิดเหตุ ในกรณีของอับดู เขาไม่สามารถ (และไม่ยอม) หาพยานมายืนยันได้ว่าวันเกิดเหตุฆาตกรรมเขาออกไปทำธุระอีกเมืองหนึ่งที่ห่างจากจุดเกิดเหตุมาก ส่วนกุยโดก็กำลังถูกกัดกินจากความทรงจำอันหอมหวาน ดังปรากฏในภาค 2 ส่วนที่ 11 ซึ่งเขาหลงอยู่ในห้วงทรงจำสมัยจีบภรรยาครั้งแรก จากนั้นจบด้วยการพรรณาตัดพ้อกับตัวเอง “สิบปีต่อมา ผมอยู่ในสำนักงานคนเดียว กับความทรงจำที่มีท่วงทำนองชวนให้ใจสลาย” (น.128) การปราศจากพยานรู้เห็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับทั้งคู่ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเชื่อมจิตกันได้อย่างรวดเร็ว
การบรรยายถึงฉากต่อสู้ชิงไหวชิงพริบในห้องพิจารณาคดีในเล่มนี้ยังสามารถถ่ายทอดได้อย่างไหลลื่น แนบเนียน และทรงพลัง (เช่น จังหวะที่กุยโดโต้ตอบคำว่า “มันเหมือนจริงมาก” หรือ “verosomile” จากฝั่งอัยการ) ซ้ำยังทำให้เห็นความแม่นยำในการประพันธ์ของคาโรฟิลโยที่สามารถอ้างอิงตัวบทกฎหมายได้โดยไม่เบื่อหน่าย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันสามารถสกัดหัวใจของกฎหมายออกมาได้อย่างสวยงาม หัวใจที่ว่านี้คือ “ความยุติธรรม”
ฉากที่ผู้พิพากษายอมรับคำร้องเรียกพยานหลักฐานที่ล่าช้าของฝ่ายจำเลย หากพิจารณาโดยเคร่งครัดก็คงถูกปัดตกได้ง่ายๆ แต่ผู้พิพากษากลับให้ความเห็นชอบ และบรรยายเหตุผลแสนจับใจว่า “จำเป็นต้องชี้ให้ประจักษ์ ว่าศาลไม่อาจละเลยความมุ่งหมายหลักของการพิจารณาคดีอาญา อันได้แก่การแสวงหาความจริง โดยสอดคล้องกับบรรทัดฐานคำพิพากษาของศาลสูงสุด ในแง่ดังกล่าว จึงไม่อาจยอมรับวิธีหรือการตัดสินใจเลือกอันขาดเหตุผล ที่ขัดขวางกระบวนการพิสูจน์ความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันจำเป็นต่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง” (น.278) เรียกได้ว่า เป็นการสะท้อนหลักการ “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” หรือ “in dubio pro reo” ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมอาญาได้เป็นอย่างดี ซ้ำยังแอบไปด้วยกันได้กับสุภาษิตจีนที่อ้างในเรื่องว่า “สองในสามของสิ่งที่เรามองเห็นนั้นอยู่หลังดวงตาของเรา” อีกด้วย
นักกฎหมายหลายคนยังน่าจะทำให้หลายคน โดยเฉพาะนักกฎหมาย นึกถึงวลีอมตะ “It is better that ten guilty persons escape than that one innocent suffer.” หรือที่รวบยอดเป็นคำเรียกว่า “Blackstone’s ratio” จากคำอธิบายที่กุยโดบอกตัวเอง หลังจากต้องฉีกหน้าตำรวจเพื่อชิงความได้เปรียบในคดีว่า “ความโหดนี้ แลกกับสิทธิพลเมืองที่เราจะยอมสละไม่ได้ และให้ตำรวจขายหน้าดีกว่าให้ผู้บริสุทธิ์ถูกพิพากษาลงโทษ” (น.224-225)
ในพาร์ทของความรักก็ไม่น้อยน่าเช่นกัน เพราะหากสังเกตพัฒนาการของตัวละครกุยโด นวนิยายเล่มนี้ยังเปิดทางให้เข้าใจสุภาษิตโบราณของตุรกี “ก่อนจะรัก ให้หัดเดินบนหิมะโดยไม่ทิ้งรอยเท้าไว้เบื้องหลัง” ดังที่อยู่ดีๆ กุยโดก็จำเบอร์โทรศัพท์ภรรยาที่แยกทางกันของตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าท่องได้ขึ้นใจมาโดยตลอด ราวกับทฤษฎีและความทรงจำที่เคยเป็นความจริงของเขาอันตธานไปเสียดื้อๆ
“พยานไม่รู้เห็น” (Testimone inconsapevole) ของจันริโค คาโรฟิลโย (Gianrico Carofigli) ไม่ใช่แค่นวนิยายสืบสวนสอบสวนที่ทุ่มพลังงานให้กับการคลี่ปมหาฆาตกรตัวจริง หรือเล่าเรื่องราวประเภท ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่เป็นนวนิยายที่ฉายภาพให้เห็นการกอบกู้ตัวตนออกจากซากปรักหักพังที่หล่นทับจิตวิญญาณอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย “กระบวนการยุติธรรม” ในเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การแสดงให้เห็นอคติที่เร้นกายอยู่ในความปกติหรือสัจจะของสังคม แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของ “กระบวนการกอบกู้ตัวตน” ของตัวละครทั้งสอง ที่ล้วนแต่ทำให้เห็นชีวิตซึ่งกำลังเริ่มต้นใหม่ ณ จุดสิ้นสุดของตัวตน แบบเดียวกับสุภาษิต “วิถึคุณธรรม” ของเล่าจื๊อ ที่มันอ้างถึงตั้งแต่หน้าแรกว่า “สิ่งที่ดักแด้เรียกว่าจุดสิ้นสุดของโลกนั้น คนอื่นเรียกว่าผีเสื้อ”