เราคงเห็นข่าวเศรษฐกิจผ่านฟีดในโซเชียลมีเดียอยู่ทุกปีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอันดับความเหลื่อมล้ำสูงติดเป็นอันดับโลก เรามีเจ้าสัวที่รายได้เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากมีรายได้ที่ถดถอย หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำดูเหมือนจะถ่างมากขึ้นไปอีก เมื่อเราต้องเผชิญกับการระบาดโควิด-19 และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงไม่เพียงแต่ระบบเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งลงเหวเท่านั้น แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ตกต่ำลงไปด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจอันแสนสาหัสครั้งนี้ที่มองไปทางไหนก็ดูจะมืดมน Common School รวบรวมคอนเทนต์ว่าด้วย ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘รัฐสวัสดิการ’ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจะช่วยทลายมายาคติความเหลื่อมล้ำให้หลุดออกจากกรอบคิดเดิมๆ ที่ปิดกั้นโอกาสความเป็นไปได้ และเปิดจินตนาการของมนุษย์ที่ใฝ่ฝันถึงรัฐสวัสดิการที่ดี สร้างสังคมที่เท่าเทียมและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์ความจน’ และ ‘เศรษฐกิจสามสี’

หนังสือจากสำนักพิมพ์ Salt เล่มนี้เขียนโดยสองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2019 พวกเขาจะมาทลายมายาคติที่ฝังรากลึกในการรับรู้ของเราเกี่ยวกับความยากจนทำให้เข้าใจบริบท ชีวิต และอุปสรรคต่างๆ ของกลุ่มยากไร้และเข้าใจความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูปหรือให้ทางออกสำหรับการแก้ปัญหาทั้งหมด แต่สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจะพาไปเข้าไปสำรวจ สนทนา และตั้งคำถามให้เราคิดใคร่ครวญถึงประเด็นดังกล่าวอย่างลุ่มลึก ไม่ว่าสนใจเศรษฐศาสตร์หรือไม่ หรือคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ชวนให้ปวดหัว เป็นนักนโยบาย หรือผู้อ่านทั่วไปก็สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ เพราะเศรษฐศาสตร์คนจนเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยสาระ แต่ก็อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเปิดจินตนาการใหม่ๆ ที่จะเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การพัฒนาสังคม บรรเทาความยากจน และปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด

ไปต่อกับหนังสือเศรษฐกิจสามสี เราเคยสงสัยไหมว่า ประเทศไทยติดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางมานานแค่ไหนแล้ว นับตั้งแต่ 2530 ประเทศไทยเคยประกาศจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย แต่ 30 ปีผ่านไปพี่ไทยยังคงเป็นลูกเสือไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาได้เสียที อาจารย์ต้น วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะมาไขปริศนาว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยถึงไม่สามารถก้าวไปเป็นประเทศพัฒนาได้ และจะพาเราไปท่องโลกเศรษฐศาสตร์การพัฒนา พร้อมๆ กับสำรวจโมเดลการพัฒนาของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีจุดเริ่มต้นในการพัฒนาที่ใกล้เคียงกับไทย พวกเขาก้าวขึ้นเป็นสู่กาเป็นประเทศพัฒนาที่ร่ำรวยแล้วได้อย่างไร หนังสือเล็กไม่หนาเล่มนี้จะทำให้เรามองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทยในห้วงยามที่เราต้องเผชิญกับความยากลำบาก และมืดมนเช่นนี้

ยืมหนังสือทั้งสองเล่มได้จากโครงการอ่านเปลี่ยนโลกได้เลยที่นี่ 

บทความแนะนำหนังสือ A Brief History of Equality

ภาคภูมิ แสงกนกกุล ชวนเราไปอ่านหนังสือ A Brief History of Equality ของโทมัส ปิเกตตี้ (Thomas Piketty) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์, ผู้อำนวยการศูนย์ School of Advanced Studies in the Social Sciences และผู้อำนวยการร่วมห้องปฏิบัติการ World Inequality Lab ชวนเราทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำเสียใหม่ที่มองว่าความเหลื่อล้ำไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เป็นผลผลิตร่วมที่สร้างมาจากประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง  พร้อมๆ กับชี้ให้ความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์ของในแต่ละสังคมเกี่ยวข้องกับความเหลื่อล้ำอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ขณะเดียวกันปิเกตตี้ก็พยายามหาทางออกจากความเหลื่อมล้ำด้วยข้อเสนออันทะเยอทะยานที่จะเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกันท่ามกลางการขยายตัวของทุนนิยม

ทางออกของความเหลื่อมล้ำที่ Thomas Piketty เสนอจะเป็นอย่างไร? อ่านได้ในบทความแนะนำหนังสือ A Brief History of Equality ได้ที่นี่

บทความความยุติธรรมและรัฐสวัสดิการใน Squid Game

เชื่อว่าหลายคนคงได้ดูซีรีส์เกาหลียอดฮิตอย่าง Squid Game แล้วแน่นอน หากใครยังไม่ได้ดูเราขอแนะนำเป็นซีรีส์ที่ไม่ควรพลาด อย่างที่เรารู้กันดีว่าเกาหลีใต้ขึ้นชื่อในการทำภาพยนต์และซีรีส์ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำและความโหดร้ายของทุนนิยมได้เป็นอย่างดี Squid Game ก็เช่นกัน ภาคภูมิ แสงกนกกุลจะชวนเราตั้งคำถามกับความยุติธรรมใน Squid Game ที่จะทำให้เราเห็นความซับซ้อนในฉากและตัวละครได้อย่างแหลมคม นอกจากนี้ภาคภูมิยังพาเราไปสำรวจรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกกำลังถึงทางตันในสังคมเกาหลีใต้ แล้วชวนพินิจถึงรัฐสวัสดิการแบบใหม่ที่ใฝ่ฝันกันจะเป็นลักณะอย่างไร ? หากคุณได้อ่านบทความชิ้นนี้แล้วรับรองได้เลยว่าคุณจะดูซีรีส์เรื่องนี้สนุกยิ่งขึ้น พร้อมได้มุมมองใหม่ๆ ที่จะทำให้คุณมองซีรีส์เกมส์ฆ่ากันชิงเงินรางวัลไปอย่างแน่นอน

อ่านบทความได้ที่นี่

Common School x Pud ‘แผ่นดินนี้เป็นของใคร?’

เวลาเรานึกถึงความเหลื่อมล้ำ เรามักจะนึกถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่ความเหลื่อมล้ำมักไม่พูดพูดถึงเท่าไหร่และตัวเลขความเหลื่อมล้ำด้านนี้ค่อนข้างสูงมาก คือความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดี  ไม่น่าเชื่อว่าคนรวยเพียง 1% ที่ถือครองที่ดิน 3% ของประเทศ คนรวยเหล่านี้ซื้อที่ดินดองเอาไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เพราะที่ดินมีราคาสูงขึ้นทุกปีและสามารถพัฒนาที่ดินทำเงินได้อย่างมหาศาล พวกเขาสามารถกอบโกยความมั่งคั่งได้เพิ่มเป็นทวีคูณ ทำให้ที่ดินในประเทศกระจุกตัวอยู่ที่คนรวยเพียงไม่กี่คน ในขณะกฎหมายที่ดินของบ้านเราก็เอื้อให้พวกเขาจ่ายภาษีน้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้จ่ายเลย ยิ่งทำให้คนรวย รวยยิ่งขึ้นไปอีก คนจนก็จนมากเข้าไปอีก แม้จะมีกฎหมายที่ดินฉบับใหม่ออกดูเหมือนว่านี่จะเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญของประเทศนี้จะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แล้วอะไรคือทางออกของการกระจายที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ? 

หาคำตอบได้ที่นี่

ตลาดวิชาอนาคตใหม่ ตอนพิเศษ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า : เป็นไปได้หรือไม่ถ้าคนไทยจะมีรายได้ให้เปล่าสำหรับทุกคน ?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความคิดเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) ได้รับความสนใจอย่างมากในต่างประเทศและประเทศไทย และถูกพูดถึงมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์อีกด้วย 

UBI อาจเป็นความฝันของใครหลายๆ คนที่อยากจะมีสวัสดิการที่ดีในชีวิต แต่ก็มีข้อครหาว่าจะทำได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงฝันกลางวันเท่านั้น อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้ศึกษาและผลักดันแนวคิด UBI ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อสร้างความเท่าเทียมและยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้มีความมั่นคงจะมาเปิดจินตนนาการความเป็นไปได้ใหม่สู่รัฐสวัสดิการที่เป็นจริง สังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน มีหลักประกันในชีวิตที่สมศักดิ์ความเป็นมนุษย์สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในประเทศไทย 

ดูการบรรยายได้ที่นี่

หากใครมีเวลาไม่มากนัก Common School x Pud ได้ทำ Explanatory Video เรื่อง ‘ถ้าทุกคนได้เงินโดยไม่ต้องทำงานล่ะ?’  อธิบายเรื่อง UBI ไว้ให้ทุกคนได้ดู แม้ว่าจะเป็นคลิปขนาดสั้น แต่กระชับและครบทุกสาระสำคัญในประเด็น UBI แน่นอน คลิกดูได้เลย

หยุดยาวนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาฟังการบรรยาย อ่านหนังสือและบทความเกี่ยวกับการ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘รัฐสวัสดิการ’ จาก Common School ที่จะทลายมายาคติต่างๆ ที่บดบังทำให้เรามองเห็นความเป็นไปไม่ได้ในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด