วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม 2563
ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า เวลา 14.00 น.

ปิยบุตร แสงกนกกุล
“เราทรุดลงเพื่อเป็นการเสียสละอันมีเกียรติ ในการต่อสู้ที่มีกำลังไม่ทัดเทียมอันนี้ เราเสียสละทุกสิ่งที่เรามีเพื่ออุดมการณ์แห่งเสรีภาพ อำนาจบาตรใหญ่จักต้องพินาศ ประชาชนจะต้องลุกฮือขึ้น”
นี่คือส่วนหนึ่งของนวนิยายเรื่อง แม่ ของ แม็กซิม กอร์กี้ (Mother (เขียนในปี ค.ศ. 1906) โดย Maxim Gorky นักเขียนชาวรัสเซีย) สำนวนการแปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศทุกท่านครับ
เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีคน 7 คนใส่ชุดครุยแล้วขึ้นไปนั่งอยู่บนบัลลังก์ กระทำการในนามของศาลรัฐธรรมนูญลงมติเสียงข้างมากให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, จรัญ ภักดีธนากุล, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บุญส่ง กุลบุปผา, ปัญญา อุตชาชน, วรวิทย์ กังศศิเทียม, และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี โดย 4 ใน 7 ท่านนี้มีตุลาการที่หมดวาระตำแหน่งไปแล้ว แต่คำสั่งของ คสช. ได้ต่ออายุการทำงานเรื่อยมา และเช่นเดียวกันครับ 2 ใน 7 คนนี้ถูกคัดเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะ คสช.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นให้มีผลเป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าผูกพันทุกองค์กรนั้นจะผูกพันเข้าไปในหัวจิตหัวใจของผู้คนได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับพลังของเหตุผลในคำวินิจฉัยนั้นๆ
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ไล่เรียงไปตั้งแต่กระแสความไม่พออกไม่พอใจในโลกสังคมออนไลน์และออฟไลน์ ในโลกของออนไลน์และออนกราวนด์ กระแสที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวขนคนหนุ่มสาวจัดชุมนุมในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย กระแสที่มีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทั้งในทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ บัญชีและสาขาอื่นๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันจำนวนมาก กระแสที่มีความเห็นแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญโดย 36 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนกระแสความไม่เห็นด้วยของแวดวงระหว่างประเทศ ตั้งแต่องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ สื่อสารมวลชนต่างประเทศ ตลอดจนสถานทูตต่างๆ เหล่านี้ย่อมเป็นประจักษ์ชัดว่า ในท้ายที่สุดแล้ว คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคอนาคตใหม่นั้นสามารถทำให้มีผลผูกพันในจิตใจของผู้คนได้หรือไม่ พี่น้องประชาชนสามารถตัดสินพิจารณาได้เองครับ
ทุกท่านครับ
ภายหลังการยุบพรรคเกิดขึ้น คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งถูกยุบไปหมาดๆ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนทันทีในวันเดียวกันนั้นเองครับ ว่าพวกเราจะเดินหน้าสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปีนั้น จะเดินหน้าร่วมกันทำงานในชื่อของคณะอนาคตใหม่
อย่างไรก็ตามครับ กฎหมายของประเทศนี้ก็เป็นใจเสียเหลือเกินที่จะทำลายความทรงจำของพรรคอนาคตใหม่ไปให้ได้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตราที่ 94 เขียนเอาไว้แบบนี้ครับว่า
ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้วยเหตุนี้ละครับ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงมิให้พวกเราต้องมาเผชิญกลเกมทางกฎหมาย จะต้องมาเผชิญกับคดีความจนทำให้พวกเราเสียสมาธิและเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าต่อสู้ในทางการเมืองต่อไป พวกเราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อจากคณะอนาคตใหม่เป็นชื่ออื่น ถึงกระนั้นก็ตามครับ คำว่าอนาคตใหม่ คำว่าพรรคอนาคตใหม่คือตำนานที่ยังมีชีวิต คำว่าพรรคอนาคตใหม่ คำว่าอนาคตใหม่ ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังคงเดินเรื่องอยู่ และคำว่าพรรคอนาคตใหม่ คำว่าอนาคตใหม่ยังคงเป็นจิตวิญญาณที่พร้อมจะเดินทางต่อเนื่องเข้าไปอยู่ในร่างกายใหม่ๆ ต่อไป
ทุกท่านครับ
วันนี้พวกเรา อดีตคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกคน 7 คนในชื่อของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปเป็นเวลา 10 ปีนั้น วันนี้พวกเราได้รวมตัวกันจัดตั้ง คณะก้าวหน้า และให้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า Progressive Movement การถือกำเนิดขึ้นมาของคณะก้าวหน้านั้นก็เพื่อตอบสนองเป้าหมายอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ ครับ
ประการที่ 1 การทำให้ความต้องการของผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ยุบพรรค ไม่สำเร็จ และ
ประการที่ 2 คือการสร้างองค์กรรณรงค์ขับเคลื่อนความคิดแบบก้าวหน้า
ในประการแรกครับ ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา หากจะมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า ยุบพรรค ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ประการใหญ่ๆ
เขายุบพรรคไปทำไม? เขายุบพรรคเพื่อจะดูดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคนั้นให้ย้ายข้างไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง
เขายุบพรรคไปทำไม? เขาต้องการตัดบทบาทแกนนำ ไม่ให้มีบทบาทในทางการเมืองอีกต่อไป
เขายุบพรรคไปทำไม? เขาต้องการทำลายความคิด อุดมการณ์ของพรรคนั้นๆ ที่ถูกยุบไป
ดังนั้นครับ เพื่อไม่ให้การยุบพรรคสำเร็จในทางความเป็นจริงสมดั่งที่ผู้กำกับต้องการ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งครับที่เราต้องก่อตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นมา ในเมื่อพวกเขาอยากตัดบทบาทแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ แต่ต่อไปนี้ครับ เขาจะเห็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เห็นปิยบุตร แสงกนกกุล เห็นพรรณิการ์ วานิช รณรงค์ไปทั่วประเทศ ในเมื่อพวกเขาต้องการตัดบทบาทของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ต่อไปเขาจะเห็น กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เดินทางไปรณรงค์ในประเด็นการศึกษาทั่วประเทศ ต่อไปเขาจะเห็น ชำนาญ จันทร์เรือง เดินทางไปรณรงค์เรื่องของการกระจายอำนาจทั่วประเทศ ต่อไปเขาจะเห็น พงศกร รอดชมภู เดินทางไปรณรงค์เรื่องของการปฏิรูปกองทัพและการยกเลิกการเกณฑ์ทหารภาคบังคับทั่วประเทศ เขาจะเห็นรณวิทย์ หล่อเลิศสุนทร เขาจะเห็นเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์, ไกลก้อง ไวทยการ, สุรชัย ศรีสารคาม, ชัน ภักดีศรี, เจนวิทย์ ไกรสินธุ์, สุนทร บุญยอด และนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ร่วมกันรณรงค์ต่อเนื่องในชื่อของ คณะก้าวหน้า
เช่นเดียวกันครับ พวกเขาอยากทำลายความคิดแบบอนาคตใหม่ แต่ต่อไปเขาจะเห็นความคิดแบบอนาคตใหม่ซึ่งเป็นจิตวิญญาณถ่ายโอน และเข้าไปไหลเวียนอยู่ในร่างกายที่ชื่อ คณะก้าวหน้า แบบทุกอณู คณะก้าวหน้าจะมีภารกิจในการนำความคิดแบบอนาคตใหม่ไปรณรงค์ต่อเนื่องทั่วประเทศไทย
ในประการที่สองครับ คณะก้าวหน้าตั้งใจจะเป็นองค์กรหรือแพลตฟอร์ม (platform) ที่พวกเราจะใช้ในการรณรงค์ขับเคลื่อนความคิด คณะก้าวหน้ามุ่งมั่นปักธงความคิดก้าวหน้าให้กับสังคมไทย และเดินหน้าสร้างพลเมืองก้าวหน้าให้กับประเทศไทย ในการนี้ คณะก้าวหน้าจึงมีภารกิจหลักอยู่ 3 ข้อ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ให้จงได้
- สร้างเครือข่ายทั่วประเทศไทย
- รณรงค์ทางความคิดทั่วประเทศไทย
- รณรงค์ให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับของประเทศไทย
คณะก้าวหน้าเลือกใช้สัญลักษณ์เป็นวงกลมสีส้มล้อมรอบลูกศรสีน้ำเงินที่พุ่งแทงทะลุขอบเขตของวงกลมออกไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวอักษร ก ไก่ ที่แทนคำว่า ก้าวหน้า หรือหากจะมองอีกมุมหนึ่งก็คือลูกศรที่ได้พุ่งทะยานอย่างก้าวหน้า ไปให้พ้นจากกรอบ เพดาน ข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นเครื่องกีดขวางความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย
คณะก้าวหน้ามีคณะกรรมการบริหารอยู่ 1 ชุดครับ ทำหน้าที่เป็นองค์กรในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางในการดำเนินการ คณะกรรมการบริหารของคณะก้าวหน้าประกอบไปด้วยอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าไปด้วยกัน และตั้งใจทำงานต่อร่วมกัน
ในคณะก้าวหน้ามีองค์กรที่จะทำหน้าที่ชับเคลื่อนแยกกันไปตามภารกิจดังต่อไปนี้
- เครือข่ายพื้นที่ ในงานเครือข่ายพื้นที่เราแบ่งแยกพื้นที่ดังต่อไปนี้ ภาคเหนือตอนบน, ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคอีสานตอนบน, ภาคอีสานตอนล่าง, ภาคกลางตอนบน, ภาคกลางตอนล่าง, ภาคตะวันออก, กรุงเทพและปริมณฑล, ภาคใต้ และเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหมดนี้เราจะสร้างเครือข่ายและทำงานทางความคิดครอบคลุมไปทั่วประเทศไทย เรายังมีงานเครือข่ายในเชิงของกลุ่มบุคคล สมัยที่พรรคอนาคตใหม่ยังมีชีวิตอยู่ในระบบกฎหมายไทยนั้น เรามีเครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายชาติพันธุ์ สองเครือข่ายที่เอาการเอางานและขยันขันแข็งอย่างยิ่ง วันนี้คณะก้าวหน้าเดินหน้าต่อครับ เรายังคงยืนยันว่าเราจะยังคงทำงานกับเครือข่ายผู้ใช้แรงงานต่อไป นำโดยคุณสุนทร บุญยอด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เพื่อจะรณรงค์ปักธงให้ประเทศไทยเกิดรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า อย่างแท้จริงให้ได้ เช่นเดียวกันครับ ในกลุ่มของเครือข่ายชาติพันธุ์ เราจะรณรงค์ให้เกิดความคิดที่เชื่อในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันแม้คุณจะมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันก็ตาม นอกจากนั้นเราจะเปิดงานเครือข่ายใหม่ๆ กับกลุ่มบุคคลต่างๆ เพิ่มเติม เราจะมุ่งหน้าสร้างเครือข่ายกับข้าราชการรุ่นใหม่ ในอดีตที่ผ่านมาเราทราบกันดีครับว่ามีข้าราชการจำนวนไม่น้อย รุ่นผมลงมานี่ละครับที่มีความรู้สึกว่าปล่อยให้ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ รู้สึกว่าสังคมไทยเดินหน้าแบบนี้ต่อไปไม่ได้ แต่ว่าอยู่ในระบบราชการ จะพูดจะคุยจะขับจะเคลื่อนก็ลำบาก ดังนั้นเราจะไปติดต่อพูดคุย ทำงานทางความคิดร่วมกันกับข้าราชการรุ่นใหม่เหล่านี้ เช่นเดียวกันครับ นักธุรกิจก็เป็นเช่นเดียวกัน นักธุรกิจรุ่นใหม่ นักธุรกิจ SME จำนวนมาก ที่เชื่อมั่นในสังคมประชาธิปไตย เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนและไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดของทุนใหญ่ เราจะเดินหน้าไปทำงานความคิดกับพวกเขาเหล่านี้ สุดท้ายครับ กลุ่มนิสิต นักศึกษา นักเรียน กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศไทย เป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ครับ เราจะสร้างเครือข่ายกับกลุ่มคนเหล่านี้เช่นเดียวกัน
- ถัดจากงานเครือข่าย เราจะสร้างโรงเรียนและให้ชื่อว่า โรงเรียนของผู้ไม่ยอมจำนน การเอาชนะกันในทางการเมืองได้นั้น จำเป็นจะต้องเอาชนะกันทางความคิด เราจะเปิดโรงเรียนของผู้ไม่ยอมจำนนขึ้นมาครับ โดยมีหลักสูตรสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาว เราจะมีหลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไปและเราจะมีการจัดฝึกอบรมหรือเทรนนิ่งให้กับผู้นำแบบใหม่ ผู้นำก้าวหน้า อบรมเพื่อสร้างแคมเปญรณรงค์อย่างสร้างสรรค์ จะจัดให้มีค่ายสำหรับเยาวชน
- งานทางวัฒนธรรม งานทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจของผู้คน เป็นเหมือน soft power อำนาจที่อ่อนนุ่ม สำคัญในการสถาปนาอำนาจนำแบบใหม่ ในสมัยที่เรายังมีพรรคอนาคตใหม่อยู่นั้น เราได้จัดงานประจำปีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและดนตรีอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คืองานที่เราให้ชื่อว่า Future Fest งานนี้คณะก้าวหน้าจะรับมาดำเนินการต่อไป นอกจากนั้นแล้วเราจะเพิ่มเติมงานวัฒนธรรมในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดสัปดาห์หนังสือที่จำเพาะเจาะจงหนังสือการเมืองให้ผู้คนมาจับจ่ายซื้อหนังสือการเมืองไปอ่านกัน และมีงานเสวนาประกอบอยู่ในนั้น เราจะจัดให้มีรางวัลวรรณกรรม วรรณกรรมที่มีเนื้อหาสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความคิดแบบก้าวหน้า เราจะจัดให้มีการฉายภาพยนตร์พร้อมการเสวนาประกอบ และจัดให้มีนิทรรศการเพื่อรวบรวมเอาผลงานของศิลปินฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายก้าวหน้าต่างๆ นำพื้นที่ของพวกเรานั้นแสดงออกถึงผลงานของพวกท่าน
- เราจะสร้างฟอรัม (forum) ในทางนโยบาย เพื่อที่จะเปิดให้มีการเสวนาสาธารณะ เสวนาทางวิชาการ เพื่อที่จะจัดวงคุยกันเพื่อออกแบบนโยบายก้าวหน้า โดยโครงสร้างแบบนี้เองจะสามารถทำให้เราเชื่อมต่อสร้างเครือข่ายไปยัง NGO (Non-government Organizations) ด้านสังคมและบรรดานักวิชาการผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
ทุกท่านครับ นอกจากพวกเราจะเดินทางไปรณรงค์ทางความคิดด้วยตนเอง ไปพบปะกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศไทยแล้ว เรายังมีช่องทางการสื่อสารครับ ช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ที่เมื่อครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ สร้างปรากฏการณ์ สร้างมิติใหม่ ให้กับแวดวงการเมืองไทย สร้างความตื่นเต้น สร้างความน่าสนใจ จนกลายเป็นต้นแบบให้พรรคการเมืองในปัจจุบันจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางออนไลน์
วันนี้คณะก้าวหน้ายืนยันว่าเราจะเดินหน้าระบบการสื่อสารเช่นนี้ต่อไปในทุกช่องทางครับ เพจของเฟซบุ๊ก เพจของคณะก้าวหน้าที่ทุกท่านกำลังนั่งชมอยู่ตอนนี้ เราจะมีช่องยูทูบของคณะก้าวหน้า เราจะมีทวิตเตอร์ เราจะมีไอจี เราจะมีเว็บไซต์ มีพอดแคสต์ ทุกช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ คณะก้าวหน้าจะใช้เป็นเครื่องมือ เนื้อหาต่างๆ เราจะเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าเดิม เราจะมีสารคดี มีสกู๊ปสั้นๆ มีรายการตลาดวิชา บรรยายวิชาการความรู้ให้ถึงพี่น้องประชาชนโดยถ้วนหน้า มีรายการประจำสัปดาห์และมีการสื่อสารผ่านอินโฟ-กราฟิก (info-graphic) แบบใหม่ๆ ทั้งหมดนี้คือเครื่องไม้เครื่องมือของเรา
แล้วเราจะพูดอะไร เราจะรณรงค์อะไร?
คณะก้าวหน้าจะเดินหน้ารณรงค์ใน 12 ประเด็นขั้นพื้นฐาน ได้แก่
- เรื่องของการปฏิรูปการศึกษา
- เรื่องของรัฐสวัสดิการ
- เรื่องของการปฏิรูปที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดินให้เป็นธรรม
- เรื่องของการทลายทุนผูกขาด
- เรื่องของสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- เรื่องของเกษตรก้าวหน้า
- เรื่องของการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย สอดคล้องกับประชาธิปไตย
- เรื่องของการยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น
- เรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม
- เรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
- เรื่องของเศรษฐกิจก้าวหน้าและเป็นธรรม
- เรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องของการรณรงค์ให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในฐานะเป็นฉันทามติใหม่ของสังคมไทย
นี่คือ 12 ประเด็นพื้นฐานของเราในการรณรงค์ครับ
ทุกท่านครับ
วันที่ 15 มีนาคม 2561 พวกเราได้เดินทางไปคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจดแจ้งพรรคอนาคตใหม่ หลังจากนั้น – –
วันที่ 27 พฤษภาคม 2561 เราจัดให้มีการประชุมสามัญพรรคอนาคตใหม่ครั้งที่ 1 มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคท่านอื่นๆ
วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เราเปิดแคมเปญ ได้เวลาอนาคตใหม่ เปิดวิสัยทัศน์ อนาคตใหม่ ไทย 2 เท่า เท่าเทียมกัน เท่าทันโลก
วันที่ 3 ตุลาคม 2561 กกต. ได้รับรองให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองถูกต้องอย่างเป็นทางการ
วันที่ 6 ตุลาคม 2561 พรรคอนาคตใหม่เปิดแคมเปญรณรงค์รับสมัครสมาชิกพรรคเป็นวันแรก
วันที่ 16 ธันวาคม 2561 เราเปิดงานประกาศ 12 วาระนโยบายสำคัญที่เราจะไปใช้รณรงค์หาเสียง ในงาน เปิดวิสัยทัศน์ เปลี่ยนอนาคต
วันที่ 26 มกราคม 2562 หัวหน้าพรรคของเรา คุณธนาธร จึงรุงเรืองกิจ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร พร้อมกัน 30 เขต
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เรามีการแถลงข่าวเปิดรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 พวกเราเดินทางไปคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อเสนอชื่อ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
วันที่ 22 มีนาคม 2562 งานปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
วันที่ 24 มีนาคม 2462 การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 พิธีเปิดประชุมสภา
วันที่ 25 พฤษภาคม 2562 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปรากฏตัวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและกล่าวปฏิญาณตนในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ในท้ายที่สุดจำเป็นต้องออกจากห้องประชุมไป เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว
วันที่ 5 มิถุนายน 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยพวกเราเสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พ่ายแพ้ให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องมาจากกลไกสืบทอดอำนาจที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญ 60
พวกเราเดินหน้าทำงานในสภาอีกหลายเรื่องครับ แต่แล้วในท้ายที่สุด – –
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่
ทุกท่านครับ เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เมื่อครั้งผมยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอนาคตใหม่ ผมมีโอกาสได้อภิปราย ได้ปราศรัย และได้ย้ำอยู่บ่อยครั้งว่าการเมืองคือความเป็นไปได้ การเมืองคือการเอาชนะกันทางความคิด เปลี่ยนความคิดจิตใจของผู้คน พรรคอนาคตใหม่เราเริ่มต้นเดินทางด้วยความคิดที่ว่า “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้” เมื่อเราเริ่มต้นเดินทางเราถูกตั้งคำถาม เราถูกดูถูก เราถูกตั้งข้อสงสัย ถูกการแสดงออกถึงความไม่มั่นใจอยู่เสมอว่า “สิ่งต่างๆ ที่เราทำนั้นจะเป็นไปได้หรือ” แต่พวกเราพรรคอนาคตใหม่ก็ได้พิสูจน์เอาไว้แล้วว่าตลอดการเดินทางเกือบสองปีของพวกเรานั้น เราได้ทำในสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
มาวันนี้ครับ พรรคอนาคตใหม่ที่มีสมาชิกกว่า 60,000 คน มีคนเลือก 6.3 ล้านคน มีเครือข่ายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย แต่ถูกคน 7 คนยุบพรรคไปนั้น เรากำลังอยู่ในบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งครับว่า เราจะเดินต่อไปอย่างไร? พวกเราแพ้แล้วใช่หรือไม่? เมื่อถูกยุบพรรคแล้ว การฟื้นตัวกลับมาใหม่คงเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ใช่หรือไม่? นี่เป็นอีกครั้งครับที่พวกเราชาวอนาคตใหม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ พวกเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแม้จะถูกทำลายแต่พวกเราจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาให้ได้อีกครั้งดั่งนกฟีนิกซ์ ในชื่อของ คณะก้าวหน้า ครับ
นอกจากการเมืองคือความเป็นไปได้แล้ว การเมืองยังคือการเอาชนะกันทางความคิดอีกด้วย การเอาชนะกันทางการเมืองใช้กำลังทางกายภาพอย่างเดียวไม่พอครับ มิเช่นนั้นทหารที่ถืออาวุธ ครองกำลังทางกายภาพคงครองประเทศไทยไปได้อย่างยาวนานโดยไม่มีใครโต้เถียง โต้แย้ง คัดค้านเลย เช่นเดียวกันครับ การเอาชนะกันทางการเมืองไม่ใช่การเอาชนะกันแต่เพียงจำนวนเพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้น ใครครองเสียงข้างมาก ใครมี ส.ส. เยอะ ก็ยึดครองประเทศไทยได้ตลอดเวลา แต่การเอาชนะกันทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างแท้จริง จะต้องเอาชนะกันทางความคิด ต้องเข้าไปสถาปนาอำนาจนำแบบใหม่
ทุกท่านครับ ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เราเรียกว่าวิกฤตการณ์แห่งอำนาจนำ จึงไม่มีช่วงเวลาใดที่เหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้วครับที่พวกเราจะใช้โอกาสนี้ในการรณรงค์ทางความคิด ปักธงความคิดแบบใหม่ ต่อสู้ในทางความคิด แย่งชิง เพื่อโอกาสในการสถาปนาอำนาจนำแบบใหม่ ดังนั้นคณะก้าวหน้าจะปักธงความคิดก้าวหน้าต่อไป เพื่อหลอมรวมประชาชนต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรม ที่คนไม่กี่คน คนส่วนน้อยของประเทศไทยได้ประโยชน์ ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ เราจะเดินหน้าทำงานทางความคิด สร้างความเป็นไปได้ในการปลุกเอาประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนนับ จากที่เคยเป็นเพียงวัตถุ ให้กลายเป็นองค์ประธานของการเมืองไทย ให้กลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศไทย
ทุกท่านครับ
ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยแต่งกลอนเอาไว้บทหนึ่งครับตั้งแต่ 11 กุมภาพันธ์ 2526 และกลอนนั้นก็ถูกนำมากล่าวขานซ้ำอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ใน 4 วรรคสุดท้ายของกลอนบทนี้กล่าวเอาไว้แบบนี้ครับ ว่า
นักเดินทางประกาศป่าวข่าวความฝัน ด้วยสองมือจะปั้นสุรีย์ศรี
ความมืดดับอับแสงแห่งปฐพี มันเป็นเพียงวันนี้เท่านั้นเอง
ความมืดดับที่เกิดขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็น “เพียงวันนี้เท่านั้นเอง” เมื่อวันนี้ผ่านไปวันหน้าย่อมมาใหม่ วันหน้าย่อมมาถึง เมื่อความมืดดับผ่านไป แสงสว่างจักปรากฏขึ้นต่อหน้าพวกเรา
ทุกท่านครับ นี่คือการเริ่มต้นบทใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนาคตใหม่ 54 คน ได้นำความคิด อุดมการณ์แบบอนาคตใหม่ เดินทางไปสังกัดพรรคก้าวไกล ภายใต้การนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และชัยธวัช ตุลาธน
และวันนี้ครับ วันที่ 21 มีนาคม อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ได้ก่อตั้งคณะก้าวหน้าขึ้น นี่คือการเดินทางบทใหม่ของพวกเรา ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศมาร่วมเดินทางไปด้วยกัน เพื่อทำให้พวกเขาเห็นว่าการยุบพรรคไม่สามารถทำลายความฝันของพวกเราได้ เพื่อทำให้พวกเขาเห็นว่านิติสงครามไม่สามารถหยุดยั้งการเดินทางอย่างก้าวหน้า ก้าวไกล ไปสู่อนาคตใหม่ได้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศมาร่วมเดินทางไปกับคณะก้าวหน้า ร่วมกันสร้างความคิดก้าวหน้าให้กับสังคมไทย ร่วมกันสร้างพลเมืองก้าวหน้าให้กับประเทศไทย
ก้าวหน้า และก้าวไกล สู่อนาคตใหม่ที่เรากำหนดเอง
ขอบคุณครับ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนที่เคารพรักทุกท่าน
วันนี้เป็นวันเปิดตัวของ คณะก้าวหน้า
คณะก้าวหน้าของเราเปิดตัวขึ้นมาท่ามกลางวิกฤตของประเทศมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตศรัทธาของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมากว่าทศวรรษ
และแน่นอนที่สุด วิกฤตระบาดของไวรัส โควิด-19
สำหรับผมแล้ว วิกฤตที่พวกเรากำลังเผชิญในวันนี้มีความรุนแรง มีความสาหัสมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่พวกเราเผชิญมาในปี พ.ศ. 2540 เสียอีก หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตการเงินโลกที่พวกเราเผชิญมาในปี พ.ศ. 2551 – ปี พ.ศ. 2554 เสียอีก เมื่อสังคมทั้งสังคมต้องเผชิญกับวิกฤตที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้ มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราต้องร่วมไม้ร่วมมือกันจากทุกฝักทุกฝ่ายในสังคม ในการพาสังคมไทยออกจากวิกฤตเหล่านี้ให้ได้
ทุกท่านครับ
คณะก้าวหน้าตั้งขึ้นมาภายใต้การเผชิญกับวิกฤตเหล่านี้
เรายืนยันที่จะเดินฟันฝ่าวิกฤตเหล่านี้ไปด้วยอุดมการณ์เดิม เป้าหมายเดิมของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไป
อันได้แก่การสร้างสังคมที่คนไทยทุกคนเท่าเทียมกัน และประเทศไทยเท่าทันโลก เราตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นมาด้วยความปรารถนาดีต่ออนาคตของประเทศชาติ ด้วยความหวังดีกับเพื่อนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เราต้องการรณรงค์เพื่อพาประเทศไทยไปข้างหน้าอย่างสันติ เราต้องการการสร้างฉันทามติใหม่ที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เท่าเทียม และได้รับความเป็นธรรม
ในการนี้ ผม ในฐานะตัวแทนของคณะก้าวหน้าขอเสนอข้อเสนอของคณะก้าวหน้าเพื่อแก้วิกฤตของรัฐไทย
ผมขอเริ่มจากการวิเคราะห์หลักคิดในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นผู้นำ ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของคุณประยุทธ์นั้น เราเห็นข้อบกพร่อง เราเห็นหลักคิดที่ไม่เหมาะสมของผู้นำประเทศ ผมอยากจะยกตัวอย่างให้ทุกท่านดูสัก 4-5 กรณี
กรณีแรก เรายังจำได้ไหมครับ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม มีการรายงานข่าวว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้มีการเปิดโรงแรมสุวรรณภูมิแอร์พอร์ตกว่า 100 ห้อง เพื่อรับคนต่างชาติเข้ามากักตัว 14 วัน ในขณะเดียวกันวันก่อนหน้านั้นเองที่ศูนย์กักตัวผีน้อย หรือแรงงานคนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ มีเพียงมุ้ง มีเพียงขัน มีเพียงเครื่้องเสียง และมีเพียงทีวี
ลักษณะการแก้ปัญหาในการออกนโยบายเชิงปฏิบัติเช่นนี้แสดงให้เห็นอะไรครับ มันแสดงให้เห็นถึงความคิดว่าคนไม่เท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่งมันแสดงให้เห็นถึงการแบ่งชั้นวรรณะในกระบวนคิดของผู้บริหาร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงจุดนี้ชัดขึ้น ผมอยากให้ทุกท่านดูมาตรการนี้
มาตรการนี้ออกมาจากที่ประชุมของบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในสนามบิน มาตรการเป็นอย่างนี้ครับ
อันดับแรกก็คือ ปรับลดค่าตอบแทนสำหรับสัญญาที่มีผลตอบแทนคงที่รายเดือนในอัตราร้อยละ 20 เป็นเวลา 1 ปี หมายความว่าผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีที่อยู่ในสนามบิน จากเดิมที่ต้องเคยให้รัฐจำนวน 100 ให้รัฐจำนวนแค่ 80 ก็พอ ในหนึ่งปีที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวหายไป นักเดินทางหายไป ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในสนามบินหายไป ทอท.จึงลดการจ่ายเงินคงที่ตัวนี้ให้ มีการประเมินจากบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ว่าส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลงจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 3 หมื่นล้านบาท
ข้อที่สอง สัญญาต่อมาที่ไม่ได้มีผลตอบแทนคงที่ ได้มีการให้ยกเว้นค่าเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีโดยคงไว้เพียงผลตอบแทนในอัตราร้อยละ ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มีนาคม 2565 หมายความว่าส่วนแบ่งที่เป็นส่วนแบ่งแบบ variable หรือแปรผันนั้น จากเดิมมีค่าขั้นต่ำที่ต้องประกันให้รัฐ ไม่จำเป็นต้องมีค่าขั้นต่ำ มีการประเมินว่ามาตรการนี้จะทำให้รายได้ลดลงประมาณ 3,249 ล้าน รวมสองตัวคือ สามหมื่นสามพันล้านที่ออกมาตรการให้กับผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในสนามบิน และมาตรการนี้เกิดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นะครับ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีมาตรการหยุดโรงเรียน ปิดตลาด หรือรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางเสียอีก ออกมาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์เพื่ออุ้มผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี เราลองมาดูครับ วิธีคิดของรัฐบาลปัจจุบันเลือกปฏิบัติอย่างไรอีก
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,496 จุด เดินทางมาถึงวันที่ 12 มีนาคมมีการใช้ circuit breaker หรือกลไกการหยุดยั้งการตกลงของราคาหุ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ในวันนั้นตลาดหุ้นไทยดัชนีจบลงที่ 1,114 จุด รองนายกฯ คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เสนอให้ตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้น โดยจะนำเรื่องนี้เข้า ครม.ในวันที่ 16 มีนาคม หมายความว่าอะไรครับ ทันทีที่หุ้นตก เกิดการใช้ เซอร์กิต เบรเกอร์ ขึ้น สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือจะตั้งกองทุนขึ้นมาหนึ่งกองทุนเพื่อพยุงไม่ให้หุ้นตกมากไปกว่านี้ ซึ่งการพยุงไม่ให้หุ้นตกมากไปกว่านี้ก็หมายถึงการช่วยผู้ถือหุ้น และนักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะในสังคม
ในวันที่ 13 มีนาคม หุ้นตกลงอีก 10% เป็นการใช้ เซอร์กิต เบรเกอร์ เป็นครั้งที่สอง หลังจากมีการเปิดเรื่องแนวคิดการตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา มีเสียงต่อต้านจากสังคมเยอะแยะไปหมด ขณะที่ประชาชนคนอื่น คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเดือดร้อน ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากการที่ประชาชนไม่เดินทาง จากการที่ประชาชนไม่ใช้จ่าย จากการที่ประชาชนหวาดกลัวการแพร่ระบาด คนต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นคนเล็กคนน้อยในสังคมไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับการเหลียวแล แต่รัฐบาลจะเอาภาษีของประชาชนมาตั้งกองทุนหุ้น
เมื่อเสียงของประชาชนดังขึ้น คุณประยุทธ์ จันทร์โอชาก็มีท่าทีไม่เห็นด้วย จนถึงวันที่ 17 มีนาคมในการประชุมครม. ก็ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องกองทุนพยุงหุ้น แต่จนถึงวันที่ 18 มีนาคม ทุกท่านครับ รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวไว้ว่าได้มีการเตรียมการกองทุนพยุงหุ้นไว้แล้วแต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ถึงแม้ว่าสังคมจะต่อต้าน สังคมจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมากขนาดนี้ รัฐบาลก็ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่
มาดูมุมกลับของมาตรการที่รัฐบาลทำกันครับ
มาตรการที่รัฐบาลทำไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับสัญญาดิวตี้ฟรีในสนามบินก็ดี ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดมาตรการในการพยุงหุ้นก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการปิดโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิเพื่อนักลงทุนต่างชาติก็ดี มันมีด้านกลับซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของรัฐชุดนี้ นั่นก็คือการลอยแพคนหาเช้ากินค่ำ
เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้พีพิมพ์บทความหนึ่งซึ่งพูดถึงความเป็นอยู่ของคนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ที่มาตรการ work from home มันใช้ไม่ได้ ที่มาตรการ social distancing หรือมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนใช้กับพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นคนที่มีรายได้น้อย เป็นคนที่หมุนเงินวันต่อวัน เป็นคนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล
ในบทความนี้พูดถึงคนขับแท็กซี่ที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน ซึ่งคนคนนี้ที่บ้านมีแม่ยายซึ่งเป็นโรคเบาหวานอยู่ และเป็นที่รู้กันว่าไวรัส โควิด-19 จะมีอันตรายกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ด้วยความที่กลัวว่าแม่ยายของเขาจะติดโรค เขาจึงไปเช่าโรงแรมคืนละ 350 บาทเพื่อกักตัวเองโดยไม่มีการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ หมายความว่ายังไงครับ คนขับแท็กซี่ที่หากินรายวัน นอกจากจะเสียโอกาส เสียรายได้ของการไม่ขับแท็กซี่แล้ว ยังมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในชีวิตอีกนั่นก็คือค่าเช่าโรงแรมที่ต้องกักตัวเอง เราจะเห็นได้ชัดว่าคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ไม่ได้ถูกแยแส ไม่ได้ถูกใส่ใจจากมาตรการของรัฐบาล
นอกจากนี้ประชาชนยังสับสน ประชาชนตั้งคำถามว่ารัฐบาลมีความจริงใจหรือไม่ในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งเรื่องที่น่าจะเป็นตัวอย่างได้ดีที่สุดคือเรื่องของหน้ากากอนามัย
ไม่นานมานี้ช่อง 3 ได้รายงานข่าวว่าศาลมีคำสั่งจำคุกคนที่กักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อขายเกินราคาไปแล้ว ขอให้ดูนะครับ คนแรกกักตุนหน้ากากอนามัยและขายเกินราคา 4,000 ชิ้น ถูกจับจำคุก 1 ปี 6 เดือน คนที่สอง ขายเกินราคา 750 ชิ้นถูกจำคุก 1 ปี คนที่สามขายเกินราคา 120 ชิ้นถูกจำคุก 6 เดือน คนที่สี่ขายเกินราคา 150 ชิ้นถูกจำคุก 6 เดือน คนที่ห้า 150 ชิ้น 6 เดือน คนที่หก 50 ชิ้นถูกจำคุก 6 เดือนรอลงอาญา โดนปรับอีก 25,000 บาท
ในขณะที่คนใกล้ตัวผู้มีอำนาจที่มีคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นว่ามีหน้ากากอนามัยอยู่ในมือเป็นล้านชิ้นไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ แล้วท้ายที่สุดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สารภาพผิดไม่ใช่เรื่องการกักตุน ไม่ใช่เรื่องขายเกินราคา แต่สารภาพผิดว่าเอาข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่ถูกต้อง คือผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
นี่คือการกระทำของรัฐที่เห็นได้ชัดเลยว่ามีการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ในเรื่องหน้ากากก็แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของรัฐไทยไม่ได้มีปัญหาเพียงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในกระบวนการกฎหมายเพื่อแก้เกี้ยวให้ตัวเอง แต่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของการทำงานของภาครัฐ
ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม
ในวันที่ 5 มีนาคม กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ราคาหน้ากากอนามัยชิ้นละไม่เกิน 2.5 บาท
11 มีนาคม กรมศุลกากรแถลงจำนวนการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ว่ามียอดรวมมากกว่า 300 ตัน โดยมีการยืนยันว่าเป็นการส่งออกตามใบอนุญาตของกรมการค้าภายใน
นั่นนำมาสู่เหตุการณ์ที่กลายเป็นดราม่าในสังคม กลายเป็นเรื่องใหญ่ และผู้คนกล่าวขานโจษจัน
ในวันที่ 12 มีนาคม อธิบดีกรมการค้าภายในฟ้องโฆษกกรมศุลกากร
จนทำให้ในวันที่ 15 มีนาคม นายกฯ สั่งเด้งอธิบดีกรมการค้าภายใน
16 มีนาคม อธิบดีกรมการค้าภายในยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ คงจะมีการไกล่เกลี่ยกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เบรกไม่ให้อธิบดีกรมการค้าภายในลาออก โดยให้เปลี่ยนเป็นการพักร้อนแทน
จนวันที่ 20 มีนาคม กรมการค้าภายในถอนฟ้องโฆษกกรมศุลกากร
เราเห็นอะไรจากเรื่องนี้ครับ เราเห็นการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของกรมหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงหนึ่ง กับอีกกรมหนึ่งซึ่งขึ้นกับอีกกระทรวงหนึ่ง รัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงไม่ได้มาจากพรรคเดียวกัน และการทำงานที่ต้องแก้ปัญหาวิกฤตความท้าทายระดับนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐบาลต้องมีเอกภาพ หน่วยงานของรัฐบาลต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประสานงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อันเดียวกัน แต่เราไม่เห็นในเหตุการณ์นี้ เห็นการชิงดีชิงเด่น เห็นการโยนปัดความรับผิดชอบให้กัน เห็นการสื่อสารที่ไม่คงเส้นคงวา ขัดแย้งกันเองระหว่างหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน
อีกตัวอย่างหนึ่งครับ ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิลาออกเซ่นผีน้อยหลุด เผยประสานงานสาธารณสุขและตม.ไม่ชัดเจน นี่คือรายงานของไทยรัฐวันที่ 12 มีนาคม ซึ่งลูกสาวของผอ.สนามบินสุวรรณภูมิได้ออกมาเปิดเผยภายหลังผ่านเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียของตัวเอง ไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ เลยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับแต่คำสั่งให้กักตัวผีน้อย แต่เมื่อหันไปทางไหน หันไปทางหน่วยงานรัฐอื่นเพื่อขอความร่วมมือในการกักตัวกลับไม่ได้รับความร่วมมือ ท้ายที่สุดคงมีการไกล่เกลี่ยทำให้ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิเปลี่ยนใจไม่ลาออก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย้ำเตือนให้เราเห็นว่าไม่มีการทำงานอย่างที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชาพูดเสมอว่าต้องบูรณาการ ไม่มีการทำงานที่เป็นเอกภาพในรัฐบาลชุดนี้
อีกตัวอย่างหนึ่งการสั่งการที่สับสน ขาดความเด็ดขาดในกรณีของมาตรการเยียวยาเรื่องเงินสมทบประกันสังคม ในมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มีนาคม 2563 กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการและคณะรัฐมนตรีรับรอง ให้ลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0.1 ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน นี่คือมติของครม. ผ่านมา 10 วัน จากการรายงานของฐานเศรษฐกิจรายงานว่าบอร์ดประกันสังคมอนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ ลุกจ้างรับเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง 70% ยาว 6 เดือนครึ่ง พร้อมลดจ่ายเงินสมทบเหลือ 4% เป็นเวลา 6 เดือน
ผมพูดอีกครั้งนะครับ ครม.บอกว่าให้ลดจาก 5 เป็น 0.1 เป็นเวลา 3 เดือน ผ่านมา 10 วันบอร์ดประกันสังคมบอกว่าไม่เอา ให้ลดเหลือ 4% ก็พอเป็นเวลา 6 เดือน เหตุการณ์นี้เราจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้อย่างไรครับ ว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเป็นมาตรการที่เชื่อถือได้จะไม่กลับไปกลับมา จะไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เราจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไรว่ามาตรการแต่ละมาตรการของรัฐบาลออกมาจากการที่คิดพิจารณาอย่างรอบด้าน ฟังเสียงประชาชนอย่างครอบคลุมแล้ว
สำหรับผม นี่คือวิกฤตที่ไม่ใช่แค่วิกฤตของรัฐบาลแต่เป็นวิกฤตของรัฐไทยทั้งรัฐ เป็นวิกฤตของสังคมไทย รูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ในหลายๆ ตัวอย่างที่ผมนำมาแสดงให้ทุกท่านดู แสดงว่าปัญหาไปไกลกว่าเรื่องของประสิทธิภาพในการจัดการเพียงอย่างเดียวแล้ว มันไปไกลกว่านั้น มันแสดงให้เห็นถึงหลักคิดที่ผิดพลาด มันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการจัดการปัญหาที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ผมต้องบอกว่าประเทศไทยเราไม่ได้ขาดความคิด เราไม่ได้ขาดข้อเสนอในการจัดการปัญหา เราไม่ได้ขาดคนที่ห่วงใยต่อสังคม ข้อเสนอที่ออกมา 2-3 วันล่าสุดไม่ว่าจะเป็นของคุณปริญญ์ พานิชภักดิ์จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นของคุณกรณ์ จาติกวณิชจากพรรคกล้า ไม่ว่าจะเป็นของคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธ์จากพรรคเพื่อไทย มีหลายส่วนในข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ที่สมเหตุสมผลและเหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นข้อเสนอที่ดีอยู่ทั้งนั้น
เราไม่ได้ขาดคนที่หวังดีต่อสังคม เราไม่ได้ขาดข้อเสนอ เราไม่ได้ขาดคนที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่เราขาดก็คือผู้นำที่เข้าใจปัญหา
ผู้นำที่มีหลักคิดที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา แพทเทิร์นหรือรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ของการแก้ปัญหาโควิด-19 ในสองเดือนที่ผ่านมามันแสดงให้เห็นอะไร มันแสดงให้เห็นถึงการดูแลคนไทยไม่เท่าเทียมกัน ถือเอาบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไม่เห็นหัวคนเล็กคนน้อย คนรวยคนมีอำนาจได้รับการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในขณะที่คนจนได้รับการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง มีการฟ้องปิดปาก จับแพะ แก้เกี้ยว ใครเปิดโปงการกระทำที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องของรัฐบาลก็ถูกรัฐบาลฟ้อง แทนที่จะหาผู้กระทำผิด กลับปกป้องพวกพ้อง คนเล็กคนน้อยกลายเป็นแพะ ไม่มีความเป็นธรรม การออกแบบนโยบายไม่รอบด้าน ไม่มีการคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน ไม่มีการเตรียมการรองรับสถานการณ์ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้รับการเหลียวแลเป็นจำนวนมาก ขาดประสิทธิภาพในการจัดการ สื่อสารกลับไปกลับมา สั่งการไม่เด็ดขาด แต่ละหน่วยงานทำงานขัดกันเอง เป็นผลให้การปฏิบัติไม่เป็นรูปธรรม
การแก้ไขปัญหาโควิด-19 จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ เราต้องจัดความสำคัญใหม่ให้ผู้เชี่ยวชาญยื่นข้อเสนอ ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอ 3 มาตรการที่เชื่อมต่อกันเรียงลำดับจากเบาไปหาหนัก มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข และมาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สามมาตรการนี้ต้องถูกนำเสนอและถูกบังคับใช้เป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่คิดแยกส่วน เราจะคิดแต่มาตรการการป้องกันการระบาดไม่ได้ เราจะคิดแต่มาตรการการแพทย์และสาธารณสุขไม่ได้ เราจะคิดแต่มาตรการการเยียวยาไม่ได้ การออกแบบมาตรการในการแก้ไขปัญหาจำเป็นจะต้องออกแบบด้วยการคำนึงถึงสามส่วนไปด้วยกัน การป้องกันการแพร่ระบาด สาธารณสุข และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนั้นเราต้องตัดสินใจด้วยข้อมูล ต้องใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องใช้แบบจำลองทางสถิติ เอามาช่วยในการตัดสินใจให้มากขึ้น เราต้องยึดหลักการให้มั่น ว่าหลักการในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 คืออะไร แล้วหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือหลักการที่ว่า “ทุกชีวิตสำคัญเท่ากัน” ต้องช่วยเหลือชีวิตของเพื่อนร่วมสังคมให้ได้มากที่สุด
และสุดท้ายเราต้องระดมสรรพกำลัง สนับสนุนให้ผู้ที่นำนโยบายที่เกิดจากการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ไปใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งหมายถึงการจัดสรรทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นคน ไม่ว่าจะเป็นหยูกยา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจำเป็นต้องทำให้ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ และต้องทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีขวัญกำลังใจที่ดีเพื่อที่จะต่อสู้ เป็นแถวหน้าในการจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี่คือกระบวนทัศน์ที่จะต้องมี ถ้าเราใช้กระบวนทัศน์เช่นนี้มาลองจัดการปัญหา ผมขอยกตัวอย่างให้ทุกท่านดู ว่าเราสามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมขอยกตัวอย่างถึงกรณีการปิดสถานบันเทิงที่รัฐบาลได้ออกมาในช่วงไม่กี่วันก่อน
การปิดสถานบันเทิงเกิดปัญหาผลกระทบขึ้นในวงกว้าง คนที่เดือดร้อนไม่ได้มีแต่ผู้ประกอบการสถานบันเทิงเท่านั้น แต่คนที่เดือดร้อนสาหัสที่สุดคือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ทำงานอยู่ใน supply chain ของสถานบันเทิง เรากำลังพูดถึงใครครับ เรากำลังพูดถึงวินมอเตอร์ไซค์ เรากำลังพูดถึงแท็กซี่ ที่ทำหน้าที่ป้อนและลำเลียงคนเข้าออกสถานบันเทิง เรากำลังพูดถึงพ่อค้าแม่ขายหาบเร่ที่ขายอาหาร ที่ขายข้าวเหนียวหมูปิ้ง ที่ขายส้มตำอยู่ที่หน้าสถานประกอบการ เรากำลังพูดถึงพนักงานเสริฟที่อยู่ในสถานประกอบการ เรากำลังพูดถึงนักดนตรีที่อยู่ในสถานประกอบการ คนเหล่านี้เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีความมั่นคงชีวิตใดๆ เลย แรงงานนอกระบบที่ไม่ใช่เกษตรกรในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคนแบ่งเป็นพ่อค้าแม่ขาย 25% ช่างก่อสร้าง ช่างฝีมือ 9% และรับจ้างทั่วไป 8% พวกเขาคือใคร พวกเขาคือพ่อค้าหาบเร่ เป็นคนขายผลไม้รถเข็น เป็นคนขายหวย
9 ล้านคนนี่คือคนที่เปราะบางที่สุดในระบบเศรษฐกิจไทย พวกเขาไม่ได้รับการดูแลใดๆ เลยจากรัฐ พวกเขาถูกปล่อยให้ดิ้นรนต่อสู้กับความโหดร้ายของระบบทุนนิยมตามยถากรรม ตามมีตามเกิด พวกเขาถูกดูหมิ่นว่าเป็นคนจนเป็นคนขี้เกียจ พวกเขาถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ทั้งๆ ที่พวกเขากับเราเป็นคนเหมือนกัน
พวกเขาคือใครครับ
ในครอบครัวที่ประกอบไปด้วยแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในกรุงเทพก็จะอยู่ในชุมชนแออัด คุณพ่ออาจจะเป็นคนขับแท็กซี่ ลูกชายคนโตขับวินมอเตอร์ไซค์ คุณแม่เป็นพนักงานทำความสะอาดอยู่ตามคอนโด ลูกสาวอาจจะเป็นพนักงานเสริฟอยู่ในสถานบันเทิง ขณะที่ลูกชายอีกคนอาจจะเป็นผู้ประกอบการ เอารถเข็นขายผลไม้อยู่ตามข้างถนน การออกแบบนโยบายที่ปิดสถานบันเทิง แน่นอนที่สุดผู้ประกอบการสถานบันเทิงได้รับผลกระทบ แต่คนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตามมาคือกลุ่่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่รอบๆ สถานบันเทิงซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบเหล่านี้ และไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐ
ผมยกตัวอย่างศิลปินนักร้องในสถานบันเทิง กลุ่มคนเหล่านี้หลายคนรับเงินเป็นรายวัน ไปร้องหนึ่งคืนได้ 500 บาท ไปร้องหนึ่งคืนได้ 1,000 บาท ไม่ได้ร้องหนึ่งคืนขาดเงินทันที 500 บาท 1,000 บาท ขณะที่ค่าเช่าบ้านยังต้องจ่าย ขณะที่ค่าเทอมลูกยังต้องจ่าย
สำหรับผมถ้าเรามองคนเท่าเทียมกัน นี่คือโอกาส เราสามารถใช้วิกฤตนี้สร้างโอกาสในการก้าวเดินไปข้างหน้าได้ เพราะอะไรครับ เพราะกลุ่มคนแรงงานนอกระบบเหล่านี้เดินหน้าต่อไปทั้งปัจจุบันและอนาคต เป็นภาระอันใหญ่หลวงเพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐเลย พวกเขาเข้าไม่ถึงสวัสดิการประกันสังคมเพราะประกันสังคมที่มีอยู่ในตอนนี้มันไม่จูงใจ ดังนั้นเมื่อพวกเขาแก่ตัวลง เขาไม่มีปัญญาแม้แต่จะออมเงิน ทุกวันนี้ก็เดือนชนเดือน วันชนวันอยู่แล้ว เมื่อไม่สามารถออมได้ แก่ตัวลงไปก็จะกลายเป็นภาระของรัฐอันหนักหนาสาหัสอีก ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือควรจะชักจูงให้เขาเข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งโอกาสอยู่ในวิกฤตครั้งนี้
นี่คือโอกาสที่เราจะสร้างสัญญาประชาคมใหม่ ดึงเอาแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคมเข้ามา เพื่อให้พวกเขาสามารถมีหลักประกันในชีวิตเบื้องต้นได้ เดินเข้าหากันทีละก้าว ให้พวกเขาเดินเข้ามาหนึ่งก้าว รัฐยอมเดินเข้าหาพวกเขาหนึ่งก้าว นี่ต่างหากคือการแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน นี่ต่างหากคือการแสดงถึงความเป็นเพื่อนร่วมสังคมกัน นี่ต่างหากที่แสดงถึงความเป็นคนไทยด้วยกัน นี่ต่างหากที่แสดงว่าพวกเราถ้อยทีถ้อยอาศัยกันแล้วได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
ถ้าผมเอาเงินก้อนเมื่อสักครู่ ที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้ดิวตี้ฟรีในสนามบิน จำนวนเงิน สามหมื่นสามพันล้านเอามาใช้เพื่อดูแลแรงงานนอกระบบในช่วงที่มีการปิดเมืองหากมันจะเกิดขึ้น แรงงานนอกระบบในประเทศไทย กลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด 9 ล้านคน ถ้าผิดเมือง 20 วัน สามหมื่นสามพันล้านบาท สามารถให้พวกเขาได้ 3,600 บาท/คน ในเวลา 20 วันที่ปิดเมือง
ผมพูดอีกครั้ง 33,000 ล้านบาทที่บรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี เอาก้อนเดียวกันนี้ หากมีการปิดเมืองขึ้นจริง เอามาดูแลคน 9 ล้านคน ปิด 20 วัน งบประมาณสามหมื่นสามพันล้านบาทจะดูแลได้ 3,600 บาท/คน/20 วัน
ใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส 9 ล้านคนใครอยากจะได้งบดูแลที่มีลักษณะชั่วคราว ที่มีลักษณะยิงตรงต่อผู้คนตรงนี้ ให้สมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมที่มีไว้สำหรับแรงงานนอกระบบ โดยที่ภาครัฐยอมปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของการประกันตนสำหรับมาตรา 40 ดังนี้
- จากเดิมคลอดบุตรไม่เคยมี ให้เป็น 13,000 บาท
- จากเดิมลาคลอดไม่เคยมี ให้ 90 วัน ได้ 3,000 บาท/เดือน
- จากเดิมค่าสงเคราะห์บุตร 200 บาท/เดือน เป็น 600 บาท/เดือน
- และจากเดิมในกรณีชราภาพ ได้รับเงินเพียงเงินสมทบ + ผลตอบแทน เปลี่ยนเป็นสูงสุด 3,000 บาท/เดือน
แน่นอนภาครัฐจะต้องใช้เงินเยอะขึ้น แต่ในระยะยาวมันคุ้มค่ากว่าเพราะคนมีความมั่นคงในชีวิต นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะดึงพวกเขามาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของประกันสังคมโดยที่ภาครัฐแทนที่จะคิดเอื้อให้กับกลุ่มคนที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจก่อน ภาครัฐสามารถคิดถึงคน 9 ล้านคนก่อนได้ คน 9 ล้านคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ เราคิดถึงใครก่อนในการออกแบบแก้ปัญหา เราคิดถึงใครก่อน สามหมื่นสามพันล้านก้อนเดียวกัน เอาไปทำอะไรเพื่อใครก่อน ถ้าทำตามนี้ ทำตามที่ผมพูด แล้วเปลี่ยนประกันสังคมมาตรา 40 คราวนี้คน 9 ล้านคนซึ่งอนาคตจะเป็นภาระของรัฐ เพราะพวกเขาไม่มีเงินออมใดๆ เลย เขาจะเริ่มสมทบและเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันนี้
นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ถ้าเรามีวิธีคิดแตกต่างจากรัฐบาลชุดนี้ วิธีคิดที่ดูแลคนอย่างเท่าเทียมกัน วิธีคิดที่ตั้งอยู่บนความเป็นธรรม วิธีคิดที่ออกแบบนโยบายอบ่างรอบด้าน ปรึกษาทุกคนในขณะเดียวกันก็เด็ดขาดในการบริหารจัดการ สำหรับผมนี่ไม่ได้เป็นวิกฤตของรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นวิกฤตของรัฐไทย
โควิดจะอยู่กับเราอีกนาน โควิดจะอยู่กับเราอีกอย่างน้อย 1 ปี การจัดการครั้งนี้จึงไม่ใช่การจัดการอย่างครั้งเดียวจบ แต่เป็นการจัดการที่จะต้องต่อเนื่องยืนยาว ดังนั้นการจัดการอย่างนี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำที่เข้าใจทางด้านสังคม เข้าใจทางด้านสาธารณสุข เข้าใจผู้ประกอบการ เข้าใจคนเล็กคนน้อย ขณะเดียวกันก็เข้าใจถึงความจำเป็นของมาตรการทางการคลังในการพยุงเศรษฐกิจ และการเยียวยาทุกคน ต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ต้องเข้าใจชีวิต ต้องเข้าใจความลำบากของผู้ทุกข์ยาก และปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกชั้นวรรณะ
แต่สามเดือนของการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ ทุกท่านครับ เราเห็นสิ่งที่ตรงกันข้าม เราไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลจะมีศักยภาพเพียงพอในการจัดการปัญหา ในการจะสื่อสาร ในช่วงเวลาที่คนทุกคนต้องการสารแบบเดียวกันเพื่อนำไปปฏิบัติ เรามองไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลชุดนี้มีความสามารถที่จะทำเช่นนั้น ไม่มีความเข้าใจทางเศรษฐกิจ ไม่มีความเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน
และที่สำคัญที่สุด
รัฐบาลชุดนี้ล้มละลายทางการเมือง
คุณประยุทธ์ จันทร์โอชาล้มละลายทางการเมือง ขาดความศรัทธาจากประชาชน ขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนไปแล้ว จนถึงวันนี้จะสื่อสารอะไรก็ลำบาก จนถึงวันนี้จะเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชนก็ไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีความไว้ใจ แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหาที่จะยืนยาวกับเราไปอีก 1 ปีได้อย่างไร นั่นคือคำถาม ยิ่งนานเท่าไหร่เรารู้ ยิ่งนานเท่าไหร่ยิ่งสูญเสียมาก ยิ่งช้าเท่าไหร่ยิ่งสูญเสียมาก ในการจัดการการแพร่ระบาดของโตวิด-19 ทั้งในแง่ของต้นทุนทางสังคม ชีวิตของผู้คน ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการคลัง ยิ่งคุณประยุทธ์อยู่นานเท่าไหร่ ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับสังคมก็มากเท่านั้น
นั่นจึงนำมาสู่
‘โร้ดแมปในการแก้วิกฤตของชาติ’
โร้ดแมปที่ผมในฐานะคณะก้าวหน้าจะนำเสนอนี้ ประกอบด้วย
- นายกรัฐมนตรี คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเสียสละ ต้องลาออก เปิดทางให้คนอื่นเข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติแทน
- เมื่อคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกแล้ว ให้ สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีภารกิจเฉพาะหน้า 2 อย่าง ทำให้เสร็จในกรอบเวลา 1 ปี ภารกิจลำดับที่ 1 คือการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการฟื้นฟูประเทศหลังจากนั้น และภารกิจลำดับที่ 2 ก็คือ เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอ
3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้
สามยุบได้แก่อะไรบ้างครับ อันดับที่หนึ่ง ยุบศาลรัฐธรรมนูญ อันดับที่สอง ยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันดับที่สาม ยุบวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง
หนึ่งเลิก คือ เลิกมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ยกเลิกการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช.
หนึ่งแก้ แก้มาตรา 256 ให้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น และกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
ทำไมต้อง 3 ยุบ 1 เลิก 1 แก้
เหตุผลก็ตือเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะได้ผู้นำของประเทศที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่มาเพื่อสืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหารปี 2557 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว เอาภารกิจเฉพาะหน้า 2 เรื่องนี้ไปจัดการภายใน 1 ปีแล้ว ยุบสภา เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ให้มีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกันในคราวเดียวกัน ถ้าเดินตามโร้ดแมปนี้ หลังการเลือกตั้งเราจะได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้กับประชาชน เราจะได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ที่มาจากประชาชน เราจะได้รัฐบาลใหม่ เราจะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน
และนั่นคือโร้ดแมปในการแก้วิกฤตของรัฐที่คณะก้าวหน้าเสนอในวันนี้
ไม่ใช่เพื่อแก้วิกฤตใดวิกฤตหนึ่ง แต่เอาวิกฤตทั้งหมดมาทำให้เป็นโอกาสในการพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด ซึ่งเราเห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวคิดที่ผิดในการจัดการปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง นี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาสที่เราจะพลิกวิกฤตตรงนี้แปรเป็นโอกาสพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้ วิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ท้าทายศักยภาพของสังคมไทย ท้าทายศักยภาพของคนทั้งสังคมในประเทศไทยว่าเราในฐานะเพื่อนร่วมสังคม เรามีศักยภาพ เรามีพลังเพียงพอหรือเปล่าที่จะพาประเทศไทยออกจากวิกฤตครั้งนี้
ข้อเสนอของเรา ผมย้ำ ไม่ใช่เป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง เพราะผมไม่ได้เป็น ส.ส. แล้ว อาจารย์ปิยบุตรไม่ได้เป็น ส.ส. แล้ว พวกเราไม่ได้เป็นผู้นำพรรคการเมืองแล้ว ผมไม่ได้เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นนี่ไม่ใช่ข้อเสนอเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง แต่เป็นข้อเสนอเพื่อพาประเทศไทยไปข้างหน้า นี่คือข้อเสนอเพื่อหาข้อตกลงใหม่ในสังคม นี่คือข้อเสนอเพื่อสร้างฉันทามติใหม่ในสังคม เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ประเทศไปข้างหน้าต่อไปได้
ผม อาจารย์ปิยบุตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่ยอมจำนน ขอประกาศตรงนี้ ในนามของคณะก้าวหน้า เราจะต่อสู้กับความอยุติธรรมต่อไป
นี่คือจุดเริ่มต้นของบทที่สองของการเดินทางทางการเมืองของพวกเรา พวกเราขอใช้ความสามารถ ขอใช้ความรู้ ขอใช้เครือข่าย ขอใช้พลัง ขอใช้ทรัพยากรที่พวกเรามีอยู่ทำงานเพื่อประชาชนในนามของคณะก้าวหน้า
สานต่อความฝันและอุดมการณ์ของอดีตพรรคอนาคตใหม่
ขอบคุณครับ