เสนีย์ เสาวพงศ์ คือนักเขียนในตำนานที่ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวมาทุกยุคทุกสมัย แม้จะผ่านกาลเวลามานานกว่า 70 ปีแล้ว หลังนวนิยายอมตะของเขา ได้รับการตีพิมพ์ออกมาในปี 2495 รวมถึงในยุคปัจจุบัน ที่สำนักพิมพ์มติชนได้นำงานสำคัญของเสนีย์ 3 ชิ้น คือ ปีศาจ, ความรักของวัลยา และ คนดีศรีอยุธยา มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง จากกระแสเรียกร้องต้องการของคนยุคใหม่ที่อยากย้อนกลับไปอ่านงานอมตะเหล่านี้

ในโอกาสเดียวกันนี้ Common School ได้จัดกิจกรรมพูดคุยถึงหนังสือทั้ง 3 เล่มของเสนีย์ อ่าน เสนีย์ เสาวพงศ์ : ย้อนพินิจสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย พร้อมชวน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ธร ปีติดล และ รักชนก ศรีนอก ร่วมพูดคุยและพิเคราะห์สิ่งที่ยังคงเป็นความล้ำสมัยอยู่ในหนังสือเล่มนี้ไปด้วยกัน

ทำไมเราถึงกล่าวว่าหนังสือของเสนีย์เป็นหนังสือที่ยังคงล้ำสมัย แม้จะผ่านเวลามานานกว่า 70 ปีแล้ว? 

คำตอบสองประการที่เป็นไปได้ คืออาจจะเป็นเพราะหนังสือเล่มนี้พูดถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรมที่สุดของสังคม หรืออาจจะเป็นเพราะผ่านมาถึง 70 ปี สังคมไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปไหนเลย



“ปีศาจ” แห่งกาลเวลาที่ยังคงตามหลอกหลอนสังคมไทย

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่าทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัวและไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”

นั่นคือประโยคอมตะที่ถูกอ้างถึงครั้งแล้วครั้งเล่าจาก ปีศาจ เป็นหนึ่งในวรรณกรรมอมตะของเสนีย์ ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2496 และแน่นอนว่าไม่แปลกที่เมื่อท่านได้อ่านแล้ว จะยังคงรู้สึกว่ามันช่างเป็นถ้อยคำที่ช่างร่วมสมัยเสียเหลือเกิน สำหรับธร นี่คือประโยคที่สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคมทุกสังคม 

มันคือเรื่องราวของ สายสีมา ชายหนุ่มลูกชาวนาผู้รักความเป็นธรรมและยืนหยัดอยู่ข้างชาวบ้าน ที่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นทนายความได้สำเร็จ ที่ได้มาพบเจอกับ รัชนี หญิงสาวชนชั้นสูงที่เขารัก และในที่สุดก็จะต้อเผชิญหน้ากับ ท่านเจ้าคุณ พ่อของรัชนีผู้ต่อต้านโลกใบใหม่และสายสีมาซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของโลกนั้น ที่กำลังเข้ามาเกลือกกลั้วกับลูกสาวของเขา 

ความรักต่างชนชั้นเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่ฉายให้เห็นถึงความหวาดกลัวและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นสูง ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีข้อพิพาทกับนายทุนในเรื่องของที่ดิน ซึ่งสายสีมา ที่ควรจะเป็นทนายความรับจ้างให้กับนายทุน กลับแปรข้างย้ายมาเป็นทนายช่วยชาวบ้านต่อสู้คดีแทน

เรื่องราวคลี่คลายมาสู่จุดสุดท้าย เมื่อท่านเจ้าคุณเชิญสายสีมาให้มาร่วมงานเลี้ยงของชนชั้นสูง เพื่อหวังฉีกหน้าชนชั้นล่างอย่างเขาให้ย่อยยับด้วยสปีชที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคน และเหตุใดสายสีมาจึงไม่ควรมาเกลือกกลั้วกับลูกสาวของเขาอีกต่อไป แต่ทว่าสายสีมากลับไม่ยำเกรงและเผชิญหน้าท้าทายกับตัวแทนของโลกเก่า ด้วยประโยคอมตะข้างต้นนั้น

แน่นอนว่าผ่านกาลเวลาไป 70 ปีหลังนิยายเรื่องนี้ออกตีพิมพ์ครั้งแรกมา บริบทบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในรายละเอียดหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป คือการปะทะระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่าในรูปแบบใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้น อย่างที่เราเห็นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเยาวชนออกมาท้าทายสังคมเก่าที่พวกเขาเห็นว่ามันเน่าเฟะ


วัลยากับความรักของโลกใบใหม่ที่สตรีจะไม่ทนอีกต่อไป

“ความรักที่เป็นเพียงความสุข หรือไม่ก็ความใคร่ของคนๆ หนึ่ง หรืออย่างมากที่สุดสองคนเท่านั้น เป็นความรักอย่างแคบ ความรักของคนเราควรจะขยายกว้างออกไปถึงชีวิตอื่น ถึงประชาชนทั้งหลายด้วย ชีวิตของคนเราจึงจะมีคุณค่าและมีความหมายไม่เสียทีที่เกิดมา ดิฉันจึงว่า หากชีวิตเรามีความรัก และความรักนั้นสามารถผลักดันชีวิตของคนเราให้สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าชีวิตของสิ่งอื่น นกมันอาจจะร้องเพลงได้เมื่อมันนึกอยากจะร้อง โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของชีวิตนกอื่นๆ แต่คนเราไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น”

นั่นคือประโยคอมตะในอีกนวนิยายชิ้นสำคัญของเสนีย์ ความรักของวัลยา ที่เขียนขึ้น 1 ปีก่อนหน้า ปีศาจ ในปี 2495 เป็นการสะท้อนภาพของยุคสมัยเดียวกันของสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสิ่งใหม่กำลังเเกิดขึ้นมาปะทะกับสิ่งเก่า

นิยายเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่ง คือ “วัลยา” นักเรียนดนตรีที่ได้ทุนไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส เธอเป็นผู้หญิงในแวดวงคนชั้นสูงคนหนึ่งที่มีความคิดหัวก้าวหน้า ในบริบททางสังคมที่สิ่งเก่าอย่างวัฒนธรรม “ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” ยังคงดำรงอยู่แต่ก็กำลังถูกท้าทายด้วยคนอย่างวัลยา

ความรักของวัลยาที่ถูกนิยามไว้ในประโยคข้างต้น ถูกสะท้อนออกมาภายใต้บริบทที่ “เรวัตร” ชายหนุ่มลูกเจ้าคุณที่หมายปองวัลยาอยู่อยากขอวัลยาแต่งงานด้วย และได้ถามว่าเธอประสงค์ที่จะตกลงปลงใจกับเขาหรือไม่ ซึ่งเธอก็ยืนยันว่าถ้าจะต้องให้เธอไปแต่งงานแล้วใช้ชีวิตเหมือนเป็นเครื่องประดับให้เรวัตรแสดงฐานะเสริมบารมี คอยเล่นดนตรีให้เพื่อนที่มางานเลี้ยงได้เสพความบันเทิง เธอย่อมไม่สามารถทำได้ เธอต้องการไปเจอโลกกว้าง ได้พบเจอกับชีวิตของคนธรรมดา ได้เลือกชีวิตในแบบที่เธอต้องการเอง

ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่นอกจากจะตรงข้ามกับเรวัตรแล้ว ยังตรงข้ามกับ “เตือนตา” เพื่อนคนหนึ่งที่เธอได้พบเจอกันที่ปารีส หญิงสาวผู้อยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมอย่างเคร่งครัด แต่งงานมีสามี อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเป็นช้างเท้าหลังเสมอมา แต่กำลังเผชิญวิกฤติเมื่อเธอเองกำลังตั้งท้อง ขณะเดียวกันกับที่สามีกำลังจะหาทางทิ้งเธอไป

สิ่งที่เกิดขึ้น คือบทสนทนาระหว่างผู้หญิงของโลกใบเก่ากับผู้หญิงของโลกใบใหม่ ซึ่งวัลยาโน้มน้าวเตือนตาให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ใช่สมบัติของผู้ชาย ไม่ใช่สิ่งที่ต่ำต้อยกว่า และมีอิสระที่จะคิดจะทำอะไรได้ จนในที่สุดเตือนตาได้ข้อคิด เธอตัดสินใจหย่ากับสามีและเริ่มดำเนินชีวิตในแบบที่เธอปรารถนาจริงๆ



จากนิยายเรื่องนี้ รักชนก ชี้ว่าหากวัลยามาอยู่ในยัคสมัยปัจจุบัน เธอก็คงจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นเฟมินิสต์คนหนึ่ง  หรืออาจจะถึงขั้นเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่สามารถนำพาการต่อสู้สู่การเปลี่ยนแปลงได้

หรือหากแม้จะย้อนไปในบริบทของอดีตในเวลานั้น วัลยาก็คือตัวแทนของความคิดที่มาก่อนกาล ในเวลาที่สังคมยังเชื่อว่าผู้หญิงต้องเป็นของสามีอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เธอคือตัวแทนของผู้แหกขนบคนแรกๆ ที่ยืนยันว่าผู้หญิงสามารถมีและเลือกชีวิตของตัวเองได้


คนดี (ธรรมดา) ศรีอยุธยา

“ผมอ่านประวัติศาสตร์เพื่อเขียนเรื่องที่ไม่มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อเดินย้อนรอยถอยหลังไปในแผ่นดินของประวัติศาสตร์ที่ว่างเปล่า เลาะเล็มไปตามต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับการบรรจุไว้ในประวัติศาสตร์บนอาณาบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีการกล่าวถึงแม้สักวรรคหนึ่งหรือบรรทัดหนึ่งว่ามีพืชคลุมดินอีกมากหลายที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญ พืชคลุมดินเหล่านี้ขึ้นอยู่และเหี่ยวแห้งตายไปตามกาลเวลา ผมพยายามขุดหารากเหง้าของพืชคลุมดินเหล่านี้ท่ามกลางป่าละเมาะที่มีไม้แก่นที่แกร่งกล้าของบางระจัน คงจะมีต้นหญ้าหรือต้อยติ่งอยู่บ้าง”

นั่นคือคำนำ ที่เสนีย์เขียนอยู่ในหนังสือ คนดีศรีอยุธยา ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2525 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

หากพูดถึงคำว่า คนดีศรีอยุธยา แน่นอนว่าภาพในหัวของหลายๆ คนจะนึกถึงบรรดาเจ้าใหญ่นายโต ขุนนาง นักรบ หรือบรรดาชนชั้นสูงทั้งหลาย ที่มักถูกยกย่องขึ้นมาในประวัติศาสตร์แบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการ หรือประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่เราถูกพร่ำสอนและตอกย้ำอยู่ในทุกวัน

ใครจะไปนึกว่าสำหรับหนังสือเล่มที่ชื่อว่า คนดีศรีอยุธยา นี้ เมื่อได้เปิดอ่านดูข้างในแล้ว มันจะกลายเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

ศิโรตม์ ชี้ให้เห็นว่าแม้นิยายเรื่องนี้จะชื่อว่า คนดีศรีอยุธยา แต่กลับไม่มีการพูดถึงวีรกรรมใดๆ ของชนชั้นสูง ขุนนาง นักรบผู้เก่งกล้า แต่กลับเดินเรื่องด้วยชาวบ้านสามพี่น้อง “เล็ก” “น้อย” และ “โต” ที่ชักชวนชาวบ้านให้รวมตัวกันเพื่อปกป้องหมู่บ้านของตัวเอง



ในช่วงเวลาที่ดินแดนเต็มไปด้วยความปั่นป่วน หลังกรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย ไร้ซึ่งอำนาจของกษัตริย์อีกต่อไป ต่างคนต่างตั้งตนขึ้นมาเป็นชุมนุม ความปั่นป่วนปล้นชิงวิ่งฆ่าเกิดขึ้นไปทั่ว ในเวลานั้น ทุกคนมีทางเลือกเพียง 3 อย่าง คือปล้นคนอื่น รวมตัวกันปล้นคนอื่น หรือถูกคนอื่นปล้น

คนธรรมดาทั้ง 3 คนตัดสินใจลุกขึ้นมาทำในเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ปฏิเสธทั้งสามทางเลือก และลุกขึ้นมากำหนดชะตากรรมของตัวเอง ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านขึ้นมาปกป้องตัวเอง โดยมีอีกตัวละครหนึ่งคือ “พยอม” ผู้หญิงคนหนึ่งที่หนีโจรข่มขืนมา และสุดท้ายก็ได้กลายมาเป็นตัวละครหลักคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ร่วมกับ 3 พี่น้อง

แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงนิยาย แต่มันก็คือนิยายสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านสายตาของคนธรรมดาที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลง และมีบทบาทไม่มากก็น้อยอยู่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความจริงหลายๆ เรื่อง ที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้ในประวัติศาสตร์


สายธารเรื่องเล่าที่ยังคงล้ำสมัย

ภายใต้บริบทความเป็นลูกชาวบ้าน ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้โอกาสเข้าถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่วงการนักหนังสือพิมพ์ และการเป็นข้าราชการนักการทูต ใช้ชีวิตผ่านยุคสมัยทั้งสมบูรณาญสิทธิราชย์ ประชาธิปไตย และเผด็จการทหารมาครบถ้วน 

การถ่ายทอดเรื่องราวของเสนีย์ผ่านนวนิยายอมตะของเขา จึงเป็นเสมือนการสะท้อนสิ่งที่เขาได้พบเห็นมา ด้วยสายตาของผู้ปรารถนาเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่อยู่ในสังคมแห่งการแช่แข็งการเปลี่ยนแปลง

ความเรียกร้องต้องการความเปลี่ยนแปลง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอในทุกสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ถูกแช่แข็งให้อยู่กับที่ หรือมีความพยายามย้อนทวนเข็มนาฬิกาให้กลับไปสู่อดีต ซึ่งสังคมไทยเองก็เป็นหนึ่งในสังคมแบบนั้น



จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่หนังสือของเสนีย์ ที่เขียนมาตั้งแต่ยุคก่อน 2500 จึงได้รับการตีพิมพ์และพูดถึงครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมๆ กับการปะทุของความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมทั้งในยุคปัจจุบัน

เรื่องราวที่สะท้อนออกมาจากปลายปากกาของเสนีย์ ผ่านนวนิยายอมตะทั้ง 3 เล่มนี้ มีทั้งเรื่องราวของการปะทะระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่และความเปลี่ยนแปลงที่หนีไม่พ้น เรื่องราวของคนธรรมดาที่ถูกถ่ายทอดผ่านแว่นของเขา และเรื่องของความเหลื่อมล้ำในสังคม

หนังสือของเสนีย์ เต็มไปด้วยชีวิตของคนธรรมดาที่ถูกถ่ายทอดออกมา ทั้งเรื่องของชาวบ้าน 3 คนในยุคกรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย ที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาปกป้องหมู่บ้านของตัวเองท่ามกลางความปั่นป่วนของบ้านเมือง “สายสีมา” ที่เป็นแค่ลูกชาวบ้าน แต่ไต่เต้าขึ้นมาทนายความ สู่บันไดขั้นแรกของลูกชาวบ้านที่จะมีโอกาสไต่เต้าทางชนชั้นได้ แต่กลับเลือกไม่เข้าสังคมชั้นสูงและหันมาทำคดีให้ชาวบ้านแทน รวมทั้ง “วัลยา” ที่ตัดสินใจท้าทายขนบว่าด้วยบทบาทของผู้หญิงในยุคที่การกดขี่ผู้หญิงยังคงเข้มข้นอยู่

หนังสือของเสนีย์ เต็มไปด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของความเหลื่อมล้ำ เช่น พยายามยกปัญหาที่ดินซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศในขณะนั้น มาสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นที่บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งในยุคนั้นยังคงเป็นแหล่งธุรกันดารที่ความเจริญเข้าไม่ถึง รวมทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างสตรีและบุรุษ ซึ่งยังคงเต็มไปด้วยการยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นแล้ว



แม้ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันจะมีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่สิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นเสมอ คือการที่ชนชั้นสูงต้องการพิทักษ์ผลประโยชน์บนโลกใบเก่าของพวกเขาเอาไว้ โดยหนึ่งในสมรภูมิการต่อสู้ที่สำคัญของทุกยุคสมัย ก็คือการแบ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแบบที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงเช่นนี้

และแน่นอนที่สุด หนังสือของเสนีย์ เต็มไปด้วยความหวังของการเปลี่ยนแปลง การตอกย้ำเสมอว่าโลกใบใหม่กำลังมาถึงและไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ 

แม้ว่าในที่สุด 70 ปีให้หลังหลังจากหนังสือของเขาตีพิมพ์ออกมา สังคมไทยดูเหมือนจะถูกช่วงชิงกลับไปจากฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ตามมาด้วยความพยายามแช่แข็งสังคมไทยหรือทวนเข็มนาฬิกาให้สังคมไทยย้อนกลับไปที่เดิมมากมาย

แต่ในที่สุดแล้ว เราก็ยังคงได้เห็นการปะทะกันระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่เกิดขึ้นมาเสมอ เช่นเดียวกับการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยที่ผู้ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นั่น ล้วนแต่คือคนธรรมดาๆ ทั้งนั้น

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด