ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นมาตรา 1448 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับการสมรสระหว่างชายกับหญิงว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มาตรา 4 ระบุว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับ จารีต ประเพณี รวมถึงการสืบสายโลหิตและการสืบทอดมรดก จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง
อ่านคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้ ที่นี่
อ่านความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ที่นี่
ไม่ผิดนักที่เราจะบอกว่านี่คือส่วนหนึ่งของวิธีคิดใน “โลกชายเป็นใหญ่” ซึ่งหมายถึงสังคมที่ปกครองโดยความคิดแบบผู้ชาย (Patriarchy) ในอดีตผู้ชายสร้างสงคราม ผู้ชายกำหนดวัฒนธรรมในสังคม รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ และต้องการสืบสานสืบทอดความคิดของตนเอง การพูดถึงชายเป็นใหญ่ มิได้หมายถึงผู้ชายที่เป็นระดับปัจเจก แต่หมายถึงความคิดเชิงอำนาจนิยมที่ฝังอยู่ในวิธีคิดของทุกคนในสังคม
เมื่อผู้หญิงคลอดลูกผู้หญิงจะมั่นใจได้เสมอว่าลูกที่คลอดออกมาคือลูกของตนเอง แต่ในทางกลับกัน ผู้ชายไม่สามารถมั่นใจได้ นั่นคือสิ่งที่ผู้ชายกลัวที่สุด เพราะเขากอบโกยที่ดินทรัพย์สินต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจ อาณาเขต และฐานะความมั่งคั่ง จากนั้นก็ต้องการส่งต่อทรัพย์สิน และความมั่งคั่งให้กับทายาท สืบมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน
การสมรสเพื่อผลิตทายาทจึงถูกกำหนดให้เป็นเครื่องยืนยันการสร้างครอบครัวตามกฎหมาย เมื่อผู้ชายต้องการสืบทอดอำนาจและมรดกสู่ลูกหลาน จึงต้องควบคุมสังคม ส่งต่อความคิดสู่ระดับปัจเจกคน ทำให้ทุกคนต้องยึดคุณค่าดังกล่าวเป็นหลัก เราสามารถอธิบายหลายๆ คำพูดในสังคมที่เราเคยได้ยิน เช่น เรือล่มในหนองเงินทองหรือจะไปไหน หรือการคลุมถุงชนก็เพื่อรักษาความมั่งมีอำนาจและอาศัยการสมรสเพื่อการรักษาความมั่นคงและต่อยอดทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องความรัก
ทำไมการสร้างครอบครัวของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมชายเป็นใหญ่พยายามทุกวิถีทางไม่ให้เกิดขึ้นได้ ? ทั้งที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรมี
การสร้างครอบครัวตามนิยามดั่งเดิมเพื่อสืบ “สายโลหิต” เป็นประวัติศาสตร์ที่ปฎิเสธไม่ได้ แต่ในปัจจุบันการสร้างครอบครัวไม่ได้หมายถึงการเกี่ยวดองกันเพื่อออกลูกออกหลานอย่างเดียวอีกต่อไป
หลายคนไม่ว่าจะมีเพศวิถีหรือรสนิยมทางเพศแบบใดก็ต้องการสร้างครอบครัวด้วย “สายสัมพันธ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญว่าโลกนี้ยังต้องมีการ “แบ่งปัน”
การสร้างครอบครัวอาจเกิดจากการใช้สิทธิของคู่สมรสเพื่ออุปการะเด็กที่เกิดมาบนโลกใบนี้ นี่คือตัวอย่างของการแบ่งปันที่จะลดความเหลื่อมล้ำโดยการแบ่งปันทรัพยากรและที่ดินโดยความรักที่ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไข เราจำเป็นต้องนิยามความหมายของการสมรสเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ คือ “รักที่ไม่มีเงื่อนไข” (Unconditional Love) มิใช่การสมรสเพื่อสืบสายโลหิตเพียงอย่างเดียว
ทุกคนคงเคยตั้งคำถามในใจอยู่เสมอว่าความรักนั้นคืออะไร ความหมายของความรักเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ ช่วงอายุ และแนวคิด ที่สำคัญที่สุดความหมายของความรักพร้อมที่จะถูกตีความให้กว้างขวางขึ้นอยู่เสมอ
ในวันนี้สมรสยังเกิดความไม่เท่าเทียม แต่การต่อสู้เกิดขึ้นแล้ว
สมรสเท่าเทียมไม่ใช่เพียงแค่สิทธิ แต่หมายถึงการต่อสู้เพื่อ “แบ่งปันความรัก” ของมวลมนุษยชาติที่จะทำให้เราเข้าใจความสำคัญของมนุษย์
สิ่งนี้เองจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยว่าอะไรสำคัญ และอะไรคือความ “มั่นคงของมนุษย์”