โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป


ชาวเมียนมาร้อยละ 89.8 นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท[1] แม้พุทธศาสนาจะไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติ (state religion) อย่างเป็นทางการ แต่รัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2008 กล่าวถึง “สถานะพิเศษของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ” คนส่วนใหญ่ในที่นี้หมายถึง “คนบะหม่า” (Bamar) หรือคนพม่าแท้ อย่างไรก็ดี เมียนมายังมีกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มศาสนาอื่นอยู่ ทางการเมียนมาบรรจุกลุ่มชาติพันธุ์ 135 กลุ่มไว้ในสำมะโนประชากร แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกบางกลุ่ม ที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเมียนมา เช่น กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในรัฐคะฉิ่น (Kachin) และกะเหรี่ยง (Kayin) ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาผี (animism) หรือศาสนาคริสต์ แต่กลุ่มหลักที่เป็นเป้าโจมตีของรัฐและภาคสังคมที่เน้นการเชิดชูบทบาทนำของชาวบะหม่า คือชาวมุสลิมโรฮิงญา (Rohingya) กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ (Rakhine State) ทางตอนเหนือ ที่ประเมินกันว่ามีจำนวนราว 1 ล้านคน[2]

ในปี 2012 ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธในเมียนมา[3] กับชาวโรฮิงญาถือกำเนิดขึ้นหลังเกิดเหตุฆาตกรรมหญิงชาวยะไข่พุทธ ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวโรฮิงญา 3 คน แต่ก่อนศาลจะเริ่มไต่สวน ก็เกิดการจลาจลขึ้น เมื่อชาวยะไข่พุทธที่โกรธแค้นพุ่งเป้าโจมตีชาวโรฮิงญา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาได้รับความเสียหายอย่างหนักหลายแห่งจนทำให้รัฐบาลเมียนมาของประธานาธิบดี เตง เส่ง (Thein Sein) ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ ความเกลียดชังชาวโรฮิงญาแพร่ออกไปทั่วประเทศ ชาวมุสลิมทุกกลุ่มตกเป็นเป้าโจมตีของชาวพุทธหัวรุนแรง ที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้นชิงชังชาวมุสลิมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะชาวโรฮิงญาเท่านั้น

ในช่วงเวลานี้เองที่ขบวนการชาตินิยมพุทธสุดโต่ง ในนาม “มะ บ๊ะ ต๊ะ” (Ma Ba Tha) ซึ่งมาจากชื่อย่อขององค์กร “อะเมี้ยวตา บาตา ตาตะนา ส่องเฉ้าก์เย อะพเว่ะ” หรือสมาคมปกป้องเชื้อชาติและศาสนา (Association for the Protection of Race and Religion)[4] และขบวนการ 969 ถือกำเนิดขึ้น ด้วยการนำของพระสงฆ์นามว่า “อู วีระทู” (U Wirathu) ผู้ที่นิตยสาร Time เรียกว่าเป็นบิน ลาเดนแห่งเมียนมา และ “โฉมหน้าแห่งผู้ก่อการร้ายชาวพุทธ” (The Face of Buddhist Terror) ขบวนการพุทธสุดโต่งมีบทบาทเรื่อยมา ทั้งการแจกใบปลิวเพื่อให้ชาวพุทธในเมียนมาตระหนักถึงภัยคุกคามของศาสนาอิสลาม การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อประโคมเฟคนิวส์เพื่อสร้างความเกลียดชังชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา และการเดินสายเทศนาของแกนนำมะ บ๊ะ ต๊ะ อย่างอู วีระทู ที่ยิ่งทำให้ชาวพุทธในเมียนมาเกลียดชังชาวโรฮิงญาเพิ่มขึ้น

(ภาพจาก Bangkok Post)

พระวีระทู

ปรากฎการณ์ที่ขบวนการชาตินิยมพุทธสุดโต่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือขบวนการเหล่านี้ได้รับการเกื้อหนุนอย่างดีจาก “รัฐ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเมียนมา

กองทัพเป็นทั้งผู้บริจาคเงิน และเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาและพระสงฆ์ ตั้งแต่สายฮาร์ดคอร์อย่างอู วีระทู ไปถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่แม้ไม่ได้แสดงท่าทีต่อชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงสุดโต่ง แต่ก็ชี้ให้เห็นทัศนคติที่คับแคบของสถาบันสงฆ์เมียนมา ที่กลายเป็นระบบที่สร้างความชอบธรรมให้กองทัพเมียนมา

หม่อง ซาร์นี (Maung Zarni) นักวิชาการชาวเมียนมา ตั้งข้อสังเกตว่าขบวนการ มะ บ๊ะ ต๊ะ มิได้มีผู้นำเพียงพระวีระทูเท่านั้น แต่ผู้นำขบวนการที่แท้จริงคือ ซิตากู สะยาดอ (Sitagu Sayadaw) พระเถระผู้ใหญ่ ซิตากู สะยาดอ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่นักเทศน์ผู้ทรงอิทธิพล[5] ที่มีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียนับแสน ๆ คน ซิตากูมีจุดประสงค์ที่น่าหวาดกลัว คือสนับสนุนให้ชาวพุทธสังหารผู้ที่นับถือศาสนาอื่น (โดยเฉพาะชาวมุสลิม) ผ่านการสร้างวาทกรรม “ศาสนาเดียว เชื้อชาติเดียว” (one faith, one race)

(ภาพจาก Frontier Myanmar)

ซิตากู สะยาดอ เดินทางไปเทศน์ให้ทหารในโรงเรียนฝึกทหาร ณ รัฐกะเหรี่ยง, พฤศจิกายน 2017

เครือข่ายอันแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันสงฆ์กับกองทัพเมียนมาสะท้อนออกมาจากเงินบริจาคที่ขบวนการมะ บ๊ะ ต๊ะ ได้รับจากคนในกองทัพ ในปี 2019 มีข่าวออกมาว่าผู้บัญชากองทัพแห่งมณฑลย่างกุ้ง เคยบริจาคเงินราว 19,600 เหรียญสหรัฐ (656,000 บาท) และพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และในปัจจุบันยังเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร ก็เคยบริจาคเงินส่วนตัวให้พระวีระทูด้วยตนเอง  หากเป็นในประเทศอื่น ๆ การบริจาคเงินให้องค์กรที่มีลักษณะฟาสซิสม์คงสร้างความปั่นป่วนในสังคมพอดู แต่ในเมียนมา นอกจากกองทัพและรัฐบาลพลเรือนภายใต้พรรค NLD (National League for Democracy) จะไม่ได้ออกมาตำหนิใด ๆ แล้ว กองทัพเมียนมายังออกมาปกป้องนายพลผู้นั้นและกล่าวว่า “เราจะบริจาคเงินและให้ความช่วยเหลือองค์กรที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากเรา”[6] อีกด้วย           

ในปี 2017 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรฮิงญาครั้งใหญ่ ภายหลังกองกำลังโรฮิงญา ในนาม ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) โจมตีฐานที่มั่นของตำรวจในรัฐอาระกัน จนเป็นเหตุให้มีตำรวจเสียชีวิต 12 นาย กองทัพเมียนมาเปิดฉากโจมตีเขตของชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกันตอนเหนือ โดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้ “ขบวนการก่อการร้าย” แต่ปฏิบัติการในครั้งนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามกองกำลัง ARSA เท่านั้น แต่เป็นการกวาดล้างชุมชนชาวโรฮิงญาทั้งหมด จากรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ที่ออกมาในต้นปี 2018 ชี้ให้เห็นปฏิบัติการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” หมู่บ้านชาวโรฮิงญาถูกเพลิงไหม้ราบเป็นหน้ากลอง และเกิดการสังหารหมู่ครั้งแล้วครั้งเล่า[7] ผลักให้ชาวโรฮิงญานับล้านคนต้องหนีข้ามเข้าไปในเขตเมืองค็อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazaar) ประเทศบังกลาเทศ

วิกฤตในรัฐยะไข่ในครั้งนั้นผลักให้รัฐบาลพรรค NLD ภายใต้การนำของด่อ ออง ซาน ซู จี (Daw Aung San Suu Kyi) อยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก รัฐบาลเมียนมาไม่ได้ออกมาประณามปฏิบัติการอันป่าเถื่อนของกองทัพเมียนมา แม้สหประชาชาติจะออกรายงานการสืบสวนว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ออกมาแล้ว

แต่รัฐบาลเมียนมาและด่อ ออง ซาน ซู จีกลับเลือกที่จะปิดปากเงียบ จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ถึงขั้นให้ถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากเธอ

แม้รัฐบาล NLD จะเป็นขั้วตรงข้ามกับกองทัพเมียนมา แต่เมื่อกล่าวถึงประเด็นโรฮิงญาแล้ว พรรค NLD กลับยอมรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา โดยอ้างว่าประชาชนเมียนมา “มองประเด็นนี้แตกต่างจากผู้สังเกตการณ์จากภายนอกและผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้”[8]

ท่ามกลางวิกฤตโรฮิงญา มีเพียงเหตุการณ์เดียวที่ทำให้รัฐบาล NLD ได้รับการวิจารณ์ในเชิงบวก คือการปล่อยให้คณะกรรมการปกครองสงฆ์ในเมียนมาห้ามไม่ให้วีระทูเทศน์เป็นเวลา 1 ปี และสั่งแบนบัญชีเฟซบุ๊กของวีระทู (จนต้องไปเปิดบัญชี VK ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลมีเดียสัญชาติรัสเซียแทน) แต่เมื่อพระวีระทูไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายปกครองสงฆ์ และยังตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล NLD อย่างต่อเนื่อง วีระทูจึงถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น และเข้ามอบตัวกับตำรวจในปลายปี 2020 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาไม่กี่เดือน อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 วีระทูก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา

แม้ขบวนการพุทธสุดโต่งในปัจจุบันจะเริ่มลดความสำคัญลงไปบ้าง เพราะเมียนมายังอยู่ในยุคสถานการณ์ฉุกเฉิน และชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ยังอยู่ในค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศ แต่เมื่อใดก็ตามที่คณะรัฐประหารสถาปนาอำนาจได้แบบเบ็ดเสร็จ หรือเรียกว่ารัฐประหารปี 2021 เริ่มออกดอกออกผลแล้ว เราอาจจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของพระวีระทู และขบวนการชาตินิยมพุทธสุดโต่งอีกครั้ง



เชิงอรรถ

[1] The 2014 Myanmar Population and Housing Census, The Union Report: Religion, Census Report Volume 2-C. Nay Pyi Taw: Department of Population, Ministry of Labour, Immigration and Population, 2016, p.3.

[2]The Rohingya Crisis: Who are the Rohingya?,” CNN World: https://edition.cnn.com/specials/asia/rohingya.

[3] ในอันที่จริง ทัศนคติของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเมียนมา ที่มีต่อชาวโรฮิงญา ก็ดีนัก ผู้เขียนมีประสบการณ์ถกเถียงกับเพื่อนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อนของผู้เขียนคนนี้มีทัศนคติต่อชาวโรฮิงญาในแง่ลบ เช่น มองว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ประชากรเมียนมา เป็นเพียงผู้อพยพที่เข้าไปหาประโยชน์จากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในรัฐยะไข่ และยังมีทัศนคติเกลียดกลัวศาสนาอิสลาม (Islamophobia) เกรงว่าศาสนาอิสลามต้องการมีอิทธิพลเหนือพุทธศาสนา จึงอาจสรุปได้ว่าชาวเมียนมาจำนวนมาก (ไม่ใช่เฉพาะชาวบะหม่า) ล้วนมองชาวโรฮิงญาว่าเป็นภัยคุกคาม ทั้งในเชิงสังคม ศาสนา และในทางเศรษฐกิจ

[4] เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิพุทธธรรมปรหิต (Buddha Dhamma Parahita Foundation) ในปี 2017

[5] Maung Zarni, “Time to add Myanmar’s most influential genocidal monk Sitagu to ICC List,” Anadolu Agency, 5 August 2020: https://www.aa.com.tr/en/analysis/opinion-time-to-add-myanmar-s-most-influential-genocidal-monk-sitagu-to-icc-list/1932167.

[6] Htet Naing Zaw, “Ma Ba Tha is a Necessity: Military,” The Irrawaddy, 19 June 2019: https://www.irrawaddy.com/news/burma/ma-ba-tha-necessity-military.html.

[7]Massacre in Myanmar: A Reuters Special Report,” Reuters, 8 February 2018: https://www.reuters.com/investigates/special-report/myanmar-rakhine-events/.

[8]Myanmar: Aung San Suu Kyi defends policies towards Rohingya,” Aljazeera, 22 August 2018: https://www.aljazeera.com/news/2018/8/22/myanmar-aung-san-suu-kyi-defends-policies-towards-rohingya.

Author

ลลิตา หาญวงษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมเมียนมาสมัยใหม่ จากยุคอาณานิคมถึงปัจจุบัน เป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์มติชน ในคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” เป็นผู้รักการการกินและชมภาพยนตร์คลาสสิก