(แปลจาก The Paris Commune 1871 โดย Révolution) แปล จักรพล ผลละออ อ่านต้นฉบับ ที่นี่
ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยกองบรรณาธิการของ Révolution องค์กรเครือข่ายของ IMT ในฝรั่งเศส ก่อนจะแปลมาเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ผ่านหน้าเว็บของ IMT และได้แปลมาเป็นภาษาไทย เนื้อหาของข้อเขียนชิ้นนี้ได้นำเสนอมุมมองภาพกว้างต่อเหตุการณ์ปารีสคอมมูนครอบคลุมทั้งมิติการลุกฮืออย่างกล้าหาญของมวลชน, การล่มสลายอันกลายเป็นโศกนาฏกรรมอันนองเลือด และบทเรียนสำหรับนักปฏิวัตินักต่อสู้ปัจจุบัน
เหตุการณ์ปารีสคอมมูนนับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพฝรั่งเศส ในห้วงเวลาระหว่างการลุกฮือขึ้นสู้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม จนถึง “สัปดาห์นองเลือด” ในช่วงท้ายของเดือนพฤษภาคม 1871 กรุงปารีสอยู่ภายใต้การปกครองขององค์กรประชาธิปไตยและองค์กรของชนชั้นแรงงาน ที่พยายามจะรื้อสร้างโครงสร้างทางสังคมใหม่ทั้งหมด โดยความตั้งใจจะสร้างสังคมใหม่บนรากฐานใหม่ที่ปราศจากการกดขี่และการขูดรีด และเหตุการณ์นี้ยังส่งบทเรียนอันล้ำค่าที่ยังคงมีความสำคัญต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
20 ปีก่อนการอุบัติขึ้นของปารีสคอมมูน นโปเลียนที่ 3 (หลานของนโปเลียน โบนาปาร์ต) ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1851 ในเบื้องแรกของการยึดอำนาจนั้นระบอบการปกครองของนโปเลียนดูจะมั่นคงและเข้มแข็งจนไม่อาจท้าทายได้ และในช่วงเวลานี้เององค์กรการเมืองของชนชั้นแรงงานก็ถูกปราบปราอย่างหนัก หากทว่าเมื่อระบอบนี้เดินทางมาถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1860 ระบอบจักรวรรดิของนโปเลียนที่ 3 ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสื่อมถอยและอ่อนพลังลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความถดถอยของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ผลกระทบสืบเนื่องจากการสงครามในอิตาลี, ไครเมีย และเม็กซิโก ตลอดจนการฟื้นคืนชีพของขบวนการแรงงานที่กลับมาท้าทายระบอบ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้มีแต่เพียงการได้รับชัยชนะในการทำสงครามเท่านั้นที่จะช่วยต่ออายุให้กับระบอบการปกครองของจักพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้ ดังนั้นเองในเดือนกรกฎาคม 1870 จักรพรรดินโปเลียนจึงประกาศทำสงครามกับปรัสเซีย
สงครามและการปฏิวัติ
บ่อยครั้งที่สงครามมักจะเป็นตัวโหมโรงเปิดทางไปสู่การปฏิวัติ คำอธิบายที่ดีข้อหนึ่งก็คือ สงครามคือสิ่งที่กระชากชีวิตของประชาชนจำนวนมหาศาลให้หลุดออกจากวิถีชีวิตตามปกติ และย้ายเอาชีวิตเหล่านั้นไปโยนใส่ไว้ในสังเวียนต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ ในสถานการณ์เช่นนี้เองที่ประชาชนจะได้รับรู้และมองเห็นพฤติกรรมของบรรดาประมุขแห่งรัฐ นายพลนายทหาร และบรรดานักการเมืองได้อย่างชัดเจนเสียยิ่งกว่าในช่วงเวลาแห่งความสงบสุข และอันที่จริงประชาชนจะยิ่งรู้เช่นเห็นชาติคนเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าครั้งไหนอีก หากว่าชาติของพวกเขากลายเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม และแน่นอนการพยายามก่อสงครามเพื่อเรียกความนิยมของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 กลายไปเป็นความล้มเหลวอย่างรวดเร็ว
ในวันที่ 2 กันยายน 1870 จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสถูกทหารฝ่ายปรัสเซียจับกุมตัวได้ใกล้เมืองซีดาน พร้อมกับทหารฝรั่งเศสผู้ปราชัยอีก 75,000 คน ผลของความพ่ายแพ้นี้ก่อให้เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ของมวลชนในปารีส เพื่อเรียกร้องให้โค่นล้มระบอบจักรวรรดิและสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นแทนที่
ภายใต้แรงกดดันและเสียงเรียกร้องจากมวลชนบนท้องถนน บรรดานักสาธารณรัฐนิยม “สายประนีประนอม” ก็ประกาศตั้งระบอบสาธารณรัฐใหม่ขึ้นแทนที่ระบอบเดิมในวันที่ 4 กันยายน พร้อมด้วยการประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” โดย Jules Favre นักสาธารณรัฐนิยมชนชั้นกระฎุมพี ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการต่างประเทศในรัฐบาลนี้ได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า
“รัฐบาลจะไม่ยินยอมมอบแผ่นดินฝรั่งเศสแม้แต่เพียงนิ้วเดียว หรือกระทั่งเศษหินเพียงก้อนเดียวจากป้อมปราการของเราให้แก่พวกปรัสเซียเด็ดขาด”
หลังจากนั้นไม่นานกองทัพปรัสเซียก็บุกเข้ามาปิดล้อมนครปารีสได้อย่างรวดเร็ว ในเบื้องแรกบรรดาชนชั้นแรงงานในปารีสต่างให้การสนับสนุนรัฐบาลใหม่ ในนามและความเชื่อเรื่อง “ความสามัคคี” เพื่อต่อต้านศัตรูจากต่างชาติ หากแต่เหตุการณ์ที่สืบเนื่องต่อมาได้บ่อนทำลายความเชื่อเรื่องความสามัคคีนี้ลง และส่องแสงให้ชนชั้นแรงงานตาสว่างมองเห็นความขัดแย้งและผลประโยชน์ทางชนชั้นของสองชนชั้นซึ่งถูกซุกซ่อนเอาไว้
ในความเป็นจริงรัฐบาลรักษาความมั่นคงแห่งชาติไม่เคยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันกรุงปารีสเอาไว้ได้ อันที่จริงรัฐบาลนี้ไม่เคยคิดเรื่องการป้องกันปารีสเลยด้วยซ้ำ ทั้งที่รัฐบาลในขณะนั้นมีกองทหารประจำการอยู่กว่า 200,000 นาย อีกทั้งยังมีกองทหารอาสาที่ประกาศตัวพร้อมร่วมป้องกันเมืองหลวง หากทว่ารัฐบาลกลับมองเห็นกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นแรงงานชาวปารีสเป็นภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนฝรั่งเศสเสียยิ่งกว่าภัยคุกคามจากกองทัพต่างชาติ รัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้นจึงพิจารณาว่าเป็นเรื่องดีกว่าหากจะรีบประกาศยอมจำนนต่อกองทัพปรัสเซียของบิสมาร์คให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามในห้วงเวลานั้นบรรดากองทหารและชาวปารีสต่างเต็มไปด้วยจิตใจสู้รบอย่างเต็มเปี่ยม และนั่นกลายไปเป็นข้อจำกัดที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถประกาศความตั้งใจจะยอมจำนนที่ค้านกับความรู้สึกของกองทัพและมวลชนได้ นายพล Trochu (Louis-Jules Trochu) หนึ่งในรัฐมนตรีของรัฐบาลจึงฝากความหวังไว้กับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการถูกปิดล้อมเมืองจะช่วยทำลายความฮึกเหิมของบรรดาชนชั้นแรงงานลง ดังนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสจึงต้องการซื้อเวลาไปพร้อมๆกับการประกาศว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องกรุงปารีสอย่างเต็มที่ ซึ่งลงท้ายที่สุดแล้วความพยายามนี้จบลงด้วยการเปิดการเจรจาอย่างลับๆกับบิสมาร์คแห่งปรัสเซีย
เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์หลังการปิดล้อม ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสในหมู่กรรมกรชาวปารีสก็ยิ่งขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น มีข่าวลือแพร่กระจายไปทั่วเมืองเกี่ยวกับการเจรจาของรัฐบาลกับบิสมาร์ค และในวันที่ 8 ตุลาคม เมื่อข่าวการแตกพ่ายของเมือง Metz มาถึง ก็กลายเป็นการจุดประกายไฟให้เกิดการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ขึ้นอีก ในวันที่ 31 ตุลาคม กองทหารหลายหน่วยของกองกำลังแห่งชาติลงมือโจมตีและพยายามบุกเข้ายึดครองศาลากลาง อย่างไรก็ตามในห้วงเวลานั้นมวลชนชนชั้นแรงงานยังไม่พร้อมสำหรับการปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลในเชิงรุกอย่างเด็ดขาด การก่อการในครั้งนั้นจึงถูกโดดเดี่ยว กลายเป็นเพียงการก่อจลาจล และยุติลงอย่างรวดเร็ว
ในเมืองปารีส การถูกปิดล้อมนั้นส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนแทบจะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ การพยายามทำลายการปิดล้อมเมืองกลายเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดในขณะนั้น ทว่าความพยายามนั้นก็ไม่ประสบผลนัก ในวันที่ 19 มกราคม 1871 ความล้มเหลวในการพยายามถอยทัพที่หมู่บ้าน Buzenval ทำให้นายพล Trochu ต้องลาออกจากตำแหน่ง รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งตั้งนายพล Vinoy (Joseph Vinoy) เข้ามารับตำแหน่งแทน และ Vinoy ก็ประกาศทันทีว่ากองทัพฝรั่งเศสไม่มีทางทำลายการปิดล้อมปารีสลงได้ และไม่มีทางที่จะเอาชนะกองทัพปรัสเซียได้ เมื่อนั้นเองก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลฝรั่งเศสต้องการประกาศยอมจำนน – และแน่นอนว่าหลังจากนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสก็ขอเจรจายอมจนนต่อบิสมาร์ค ในวันที่ 27 มกราคม
ชาวเมืองปารีสและชาวนา
หลังจากการประกาศยอมจำนนในเดือนมกราคม 1871 เดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของชาวนาในชนบทได้ลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนปีกกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยมเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา ซึ่งต่อมาสภาแห่งชาติก็ลงมติเลือก Adolphe Thiers ฝ่ายปฏิกิริยาหัวรุนแรงขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่ ดังนั้นเองมันจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวเมืองปารีสกับผู้แทนจาก “ชนบท” ขึ้นมาอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ หากทว่าการขึ้นมาครองอำนาจของฝ่ายปฏิกิริยาพร้อมกับความพยายามต่อต้านการปฏิวัติก็กลับกลายเป็นการสร้างแรงผลักดันอันทรงพลังให้แก่การก่อปฏิวัติของชาวปารีส การเดินขบวนประท้วงของกองกำลังแห่งชาติได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าทวี ซึ่งการเดินขบวนนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มประชากรที่เป็นคนยากจนที่สุดของประเทศ ขบวนการแรงงานที่ติดอาวุธต่างส่งเสียงประณาม Adolphe Thiers และบรรดาผู้สนับสนุนระบอบกษัตริย์ว่าเป็นคนทรยศและพยายามส่งเสียงเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสออกมาปกป้องสาธารณรัฐ
ผลกระทบจากการถูกปิดล้อมเมืองปารีสนั้นส่งผลอย่างหนักหน่วง ทำให้ชนชั้นแรงงานจำนวนมากตกงาน และกองกำลังแห่งชาติเองที่ผ่านมาก็ได้รับค่าตอบแทนในระดับที่ทำให้ไม่อดตายเท่านั้น ภายใต้ความตึงเครียดเช่นนี้สภาแห่งชาติกลับราดน้ำมันเข้ากองไฟด้วยการดำเนินนโยบายที่เป็นเสมือนการยั่วยุความขุ่นเคืองของชาวปารีส ด้วยการประกาศยุติการจ่ายเงินให้แก่ทหารของกองกำลังแห่งชาติ เว้นเสียแต่การจ่ายให้แก่นายทหารที่ได้รับบาดเจ็บจนไม่อาจจะทำงานได้ นอกจากนั้นยังมีการออกกฤษฎีกาเร่งรัดการจ่ายหนี้สินและค่าเช่าค้างชำระว่าจะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง นโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มคนยากจน อีกทั้งยังส่งผลให้บรรดาชนชั้นกลางเริ่มตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านนโยบายนี้อย่างมาก ตลอดจนทำให้ชนชั้นกลางเริ่มมีความคิดก้าวหน้ามากขึ้นไปด้วย
การเจรจายอมจำนนต่อบิสมาร์คและความพยายามรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างของกองกำลังแห่งชาติ มีการดำเนินการให้เลือกตั้ง “คณะกรรมการกลางของเครืออข่ายกองกำลังแห่งชาติ” คณะกรรมการนี้เป็นตัวแทนของทหารจำนวน 215 กองพัน มีปืนใหญ่ในครอบครองจำนวน 2,000 กระบอก และปืนยาวประจำตัวทหารอีก 450,000 กระบอก คณะกรรมการกลางนี้ได้ประกาศใช้กฎเกณฑ์ใหม่ทันที ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญประการหนึ่งคือ
“กองกำลังแห่งชาติมีสิทธิ์อันชอบธรรมและเด็ดขาดในการเลือก และปลดผู้นำของกองกำลังแห่งชาติในทันทีหากผู้นำคนดังกล่าวกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดความไม้ไว้วางใจจากผู้ออกเสียง”
คณะกรรมการกลางและโครงสร้างองค์กรทางการเมืองอื่นๆ ที่ตามมาในทุกระดับนี้ เป็นเสมือนตัวต้นแบบของโครงสร้างสภาโซเวียตของชนชั้นแรงงานและทหารที่เกิดขึ้นในรัสเซียระหว่างการปฏิวัติปี 1905 และ 1917
ในไม่ช้ากลุ่มผู้นำใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของกองกำลังแห่งชาติก็ได้รับบททดสอบอย่างรวดเร็ว เมื่อกองทัพปรัสเซียพยายามที่จะบุกเข้ายึดปารีส ทหารอาสาและกองกำลังติดอาวุธชาวปารีสนับหมื่นคนก็ตบเท้าประกาศพร้อมรบกับผู้รุกรานอย่างเต็มที่ แม้ว่าคณะกรรมการกลางจะยังไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีอำนาจอย่างแท้จริงและอำนาจที่ว่านี้มาจากการรับรองและสนับสนุน จากเสียงส่วนใหญ่ของกองกำลังแห่งชาติและชาวปารีส หลังความพยายามบุกเข้าเมือง กองทัพปรัสเซียสามารถยึดครองพื้นที่บางส่วนของปารีสไว้ได้เพียงสองวัน ก่อนจะประกาศถอยทัพในวันที่สาม
เหตุการณ์ 18 มีนาคม
บรรดาผู้แทนในสภาแห่งชาติมอบคำสัญญาให้แก่ฐานเสียงของตนในชนบทว่าพวกเขาจะฟื้นคืนระบอบกษัตริย์กลับคืนมาในฝรั่งเศส หากแต่ภารกิจที่เร่งด่วนที่สุดของสภาแห่งชาติคือการพยายามยุติสถานการณ์ “อำนาจคู่ขนาน” ที่ดำรงอยู่ในปารีสลงเสียก่อน กองกำลังติดอาวุธภายใต้อำนาจของกองกำลังแห่งชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้นำกองกำลังแห่งชาติในปารีสนั้นเป็นเสมือนหอกข้างแคร่ที่คอยจะคุกคาม “ระเบียบ” ของชนชั้นกระฎุมพี ในวันที่ 18 มีนาคม เวลาตี 3 กองทหารจำนวน 20,000 คนพร้อมด้วยสารวัตรทหารถูกส่งออกมาภายใต้การควบคุมของนายพล Lecomte (Claude Lecomte) เพื่อปฏิบัติภารกิจเข้ายึดคลังแสงอาวุธของนครปารีส แน่นอนว่าภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปอย่างง่ายดาย หากทว่านายพล Lecomte กลับไม่ได้คิดถึงแผนการย้ายอาวุธจำนวนมหาศาลออกจากคลังแสงหลังเข้าควบคุมได้ จนกระทั่งในเวลา 7 โมงเช้ากองกำลังเสริมที่จะมาช่วยขนอาวุธออกจากคลังแสงก็ยังมาไม่ถึง Lepelletier นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเขียนอธิบายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปเอาไว้ในงานเขียนเรื่อง Histoire de la Commune เอาไว้ดังนี้
“หลังจากเสียงระฆังส่งสัญญาณเตือนดังขึ้น ฉับพลันนั้นเสียงกลองบรรเลงจังหวะการเดินทัพก็ดังกระหึ่มกึกก้องตลอดถนน Clignancourt พริบตานั้นเองสิ่งที่เกิดขึ้นก็รวดเร็วราวกับการสลับฉากในโรงละคร ถนนทุกสายที่มุ่งตรงไปสู่คลังแสงก็เนืองแน่นไปด้วยฝูงชนที่กำลังโกรธจนตัวสั่นเทิ้ม บรรดาผู้หญิงพากันออกมารวมตัวกลายเป็นคลื่นมวลชนขนาดใหญ่ พร้อมด้วยบรรดาเด็กๆเยาวชนคนหนุ่มสาว ขณะที่ทหารของกองกำลังแห่งชาติก็ลงสู่ถนนพร้อมอาวุธแล้วมุ่งหน้าตรงไปยัง Chateau-Rouge”
ในช่วงเวลาไม่นานนักกองทหารจากสภาแห่งชาติก็ถูกปิดล้อมด้วยคลื่นมวลชน อันประกอบขึ้นจากผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น รวมทั้งทหารจากกองกำลังแห่งชาติ ตลอดจนกองทหารของนายพล Lecomte เองที่เริ่มแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับฝ่ายกองกำลังแห่งชาติ ในความพยายามเอาตัวรอดจากวงล้อม นายพล Lecomte ออกคำสั่งให้ทหารของเขายิงปืนเข้าใส่มวลชนที่ปิดล้อมอยู่ ทว่าไม่มีนายทหารคนไหนลั่นไกตามคำสั่งของเขา กลับกันบรรดาทหารที่เขาพามากลับโผเข้ากอดและพากันเข้าร่วมกับกองกำลังแห่งชาติและมวลชนที่ปิดล้อม ฉับพลันนั้นเองนายพล Lecomte และ Clément Thomas ก็ถูกจับกุม ทั้งสองคนถูกประหารชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน
Adolphe Thiers ผู้นำรัฐบาลซึ่งไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าบรรดาทหารจะขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา เมื่อทราบข่าวปฏิบัติการปล้นอาวุธที่ล้มเหลว เจ้าตัวก็รีบหลบหนีออกจากปารีสด้วยความหวาดกลัว เขาออกคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกำลังพลรวมทั้งหน่วยงานราชการทั้งหลายออกจากเมืองและจากป้อมปราการรายรอบเมืองปารีสอย่างรวดเร็ว ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการกีดกันกองทัพให้รอดพ้นจากการแพร่ขยายของ “ไวรัสความคิดปฏิวัติ” กระนั้นก็ดีนายทหารจำนวนไม่น้อยแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าสนับสนุนการปฏิวัติ พวกเขาพากันส่งเสียงตะโกนคำขวัญของการปฏิวัติไปตลอดเส้นทางล่าถอยไปสู่พระราชวังแวร์ซาย
และเนื่องจากการล่มสลายของกลไกรัฐในระบอบเก่าทั้งหมดในปารีส ทำให้กองกำลังแห่งชาติสามารถเข้ายึดครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งหมดในเมืองได้โดยปราศจากการต่อต้านรุนแรง โดยที่คณะกรรมการกลางของกองกำลังแห่งชาติไม่ได้เข้ามามีบทบาทนำหรือมีส่วนร่วม ฃ
และเมื่อนั้นเองในช่วงค่ำของวันที่ 18 มีนาคม กองกำลังแห่งชาติและมวลชนก็ค้นพบว่า ตัวพวกเขาเอง บรรดามวลชนเองนั้นในทางปฏิบัติ ได้กลายมาเป็นรัฐบาลของระบอบการปกครองแบบใหม่ ในระบอบปฏิวัติที่วางรากฐานอยู่บนอำนาจของมวลชนที่ติดอาวุธของกองกำลังแห่งชาติ
ความรวนเรของคณะกรรมการกลาง
ภารกิจแรกที่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกคณะกรรมการกลางเห็นร่วมกันว่าจะต้องเร่งดำเนินการ คือการดำเนินการสละอำนาจของตนเอง คณะกรรมการกลางให้เห็นผลว่า “พวกเราไม่มี อำนาจตามกฎหมายที่ชอบธรรม ที่จะทำการปกครอง” และภายหลังการอภิปรายอย่างยาวนาน คณะกรรมการกลางก็ลงมติเห็นชอบที่จะครองอำนาจอยู่ชั่วคราว จนกว่าจะมีการดำเนินการเลือกตั้งตัวแทนชุดใหม่จากระดับคอมมูนขึ้นมา
ปมปัญหาเร่งด่วนประการถัดมาที่คณะกรรมการกลางต้องเร่งดำเนินการคือ จะจัดการอย่างไรกับกองทัพที่กำลังเดินทัพล่าถอยไปยังแวร์ซาย ภายใต้การนำของ Thiers? ซึ่ง Eudes (Émile Eudes) และ Duval (Émile Victor Duval) เสนอให้คณะกรรมการกลางส่งกองกำลังแห่งชาติติดตามไป เพื่อเข้าตีกองกำลังของ Adolphe Thiers ที่หลงเหลืออยู่ ทว่าเสียงส่วนใหญ่กลับไม่เห็นเช่นนั้น เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการกลางเห็นว่าเป็นการดีกว่าหากจะไม่ทำตัวเป็น “ผู้รุกรานอันเหี้ยมโหด” คณะกรรมการกลางฯ ชุดนี้ช่างเป็นผู้ใจเย็นมีเมตตา และเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกในคณะกรรมการนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีเกียรติที่รักสงบ หากแต่พวกเขาดูจะรักสงบและประนีประนอมมากจนเกินไป
พลังและเวลาของคณะกรรมการกลางถูกใช้จนหมดไปกับการเจรจาและอภิปรายอย่างยาวนานเพื่อหาวันที่และกำหนดแบบแผนระบบการเลือกตั้งในระดับคอมมูน ซึ่งในที่สุดก็กำหนดได้ว่าจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 มีนาคม แน่นอนว่า Adolphe Thiers ผู้นำฝ่ายปฏิกิริยาก็ฉวยใช้โอกาสทองจากช่วงเวลานี้อย่างเต็มที่ เขาขอความช่วยเหลือไปยังบิสมาร์คแห่งปรัสเซีย ซึ่งก็ยินดีมอบความช่วยเหลือให้อย่างเต็มที่ กองทัพที่ล่าถอยไปยังแวร์ซายในช่วงก่อนหน้านี้จึงได้รับการสนับสนุนทั้งในรูปแบบของจำนวนทหารในกองทัพและปริมาณอาวุธจำนวนมาก ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะย้อนกลับไปปราบปรามการปฏิวัติในปารีส
ในช่วงหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง คณะกรรมการกลางของกองกำลังแห่งชาติได้ออกประกาศสำคัญซึ่งเป็นการประกาศสรุปรวบยอดเจตนารมณ์แห่งการเสียสละและความซื่อสัตย์ของสมาชิกที่จะเป็นแบบอย่างให้แก่ระบอบใหม่
“ภารกิจของพวกเราสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนี้เราจะส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้แทนชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะส่งมอบอำนาจคืนให้แก่ผู้แทนตามกฎหมายของท่าน”
และคณะกรรมการกลางมีคำแนะนำข้อหนึ่งที่อยากส่งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง
“จงอย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่จะทำหน้าที่รับใช้ท่านได้ดีที่สุด คือคนที่ท่านได้เลือกเขาขึ้นมาจากหมู่คนแวดล้อมตัวท่านเอง คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนร่วมกันกับท่าน คนที่เจ็บปวดจากโครงสร้างสังคมแบบเดียวกันกับท่าน จงระมัดระวังบรรดาผู้ป่าวประกาศเป้าหมายใหญ่โต จงระมัดระวังบรรดานักพูดมากวาทศิลป์ที่ไม่อาจลงมือกระทำการใดได้จริง”
โครงการ นโยบาย และการดำเนินการของคอมมูน
ผู้แทนคอมมูนชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งได้เข้าทำหน้าที่แทนคณะกรรมการกลางของกองกำลังแห่งชาติในฐานะรัฐบาลที่เป็นทางการของมวลชนนักปฏิวัติในปารีส เสียงส่วนใหญ่ของผู้แทนจำนวน 90 คนในสภานี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ผู้แทนสาธารณรัฐนิยมปีกซ้าย” ขณะที่ตัวแทนจากกองหน้าขององค์กรความร่วมมือชนชั้นแรงงานสากลและกลุ่มบลังกีได้รับเลือกเข้ามาราว 1 ใน 4 ของสมาชิกสภา นอกจากนั้นก็มีผู้แทนฝ่ายขวาที่ได้รับเลือกมาบ้างไม่กี่คน ซึ่งผู้แทนเหล่านี้ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป
ภายใต้ระบอบของสภาคอมมูน อภิสิทธิ์ของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสได้ถูกยกเลิกทิ้งไปทั้งหมด หากยกตัวอย่างโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว สภาคอมมูนได้ออกกฤษฎีกากำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานสูงไปกว่าค่าจ้างค่าตอบแทนทั่วไปที่แรงงานมือฝีมือในอาชีพอื่นๆ ได้รับ นอกจากกนี้ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐยังสามารถถูกร้องเรียนและเสนอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ทุกเมื่ออีกด้วย
ขณะที่ราคาค่าเช่าภายในปารีสก็ถูกตรึงราคาให้คงที่ โรงงานที่ถูกทิ้งร้างถูกเข้ายึดครองและบริหารภายใต้การควบคุมของคนงาน มีการออกมาตรการจำกัดชั่วโมงการทำงานในยามวิกาล ตลอดจนการดำเนินโครงการรับประกันสุขภาพและการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของคนยากจนและผู้ป่วย สภาคอมมูนประกาศเจตนารมณ์ว่าพวกเขาปรารถนาที่จะ “ยุติสภาวะโกลาหลและความหายนะอันเกิดจากการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายในหมู่ชนชั้นแรงงานเพื่อสร้างผลประโยชน์และกำไรให้แก่ชนชั้นนายทุน” กองกำลังแห่งชาติเองก็ประกาศเปิดรับสมัครชายทุกคนที่มีร่างกายพร้อมสำหรับการฝึกฝนเป็นทหาร และการบริหารองค์กรกองทัพก็ยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ และกองทัพประจำการที่ “แยกขาดตนเองออกจากประชาชน” นั้นถูกประกาศว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
โบสถ์และศาสนสถานทั้งหลายถูกแยกออกจากรัฐ และความเชื่อทางศาสนาถูกประกาศให้เป็น “เรื่องส่วนตัว” ของปัจเจกบุคคล มีการสร้างที่พักอาศัยและอาคารสาธารณะเพื่อเป็นที่พักพิงให้แก่คนไร้บ้าน ส่วนการศึกษาก็มีการเปิดระบบการศึกษาเพื่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ตลอดจนการเข้าใช้พื้นที่ทางวัฒนธรรมและแหล่งเรียนรู้ทุกชนิดด้วย ในปารีสคอมมูนนี้ ชนชั้นแรงงานที่เป็นชาวต่างชาติถูกมองในฐานะพันธมิตรทางชนชั้นในการต่อสู้เพื่อสร้าง “สาธารณรัฐสากล” ขึ้นมา การนัดประชุมพบปะหารือกันในชุมชนมีขึ้นทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
สามัญชนทั้งชายและหญิงนับพันต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองต่อกันถึงความแตกต่างของชีวิตทางสังคมและร่วมกันออกแบบว่าชีวิตทางสังคมควรเป็นเช่นไรบนพื้นฐานของการคิดเรื่อง “ประโยชน์ส่วนรวม” เป็นที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปารีสช่วงนั้นไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม
ความพ่ายแพ้และการล่มสลาย
แม้จะเกิดความสำเร็จและความก้าวหน้าในหลายมิติ แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันว่าชาวคอมมูนก็ตัดสินใจกระทำสิ่งที่ผิดพลาดอยู่หลายเรื่อง มาร์กซ์และเองเกลส์ได้ทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้นและชี้ให้เห็นประเด็นอย่างถูกต้องว่า ความผิดพลาดประการหนึ่งคือการที่ปารีสคอมมูนไม่ยอมดำเนินการเข้ายึดครองและควบคุมธนาคารแห่งชาติฝรั่งเศส ความผิดพลาดนี้คือการปล่อยให้ธนาคารยังคงดำเนินการส่งเงินนับล้านฟรังก์ให้แก่ Adolphe Thiers ผู้นำฝ่ายปฏิกิริยาและศัตรูตัวฉกาจของปารีสคอมมูน แน่นอนว่าเขานำเงินเหล่านั้นไปทุ่มให้กับการฟื้นฟูขยายกองทัพของตนเอง
ในทางเดียวกัน ชาวคอมมูนเองก็รับทราบดีถึงภัยคุกคามจากแวร์ซายที่กำลังก่อตัวขึ้น หากแต่นอกจากพวกเขาจะไม่พยายามเร่งรัดทำลายภัยคุกคามนี้ลงแต่แรกแล้ว กระทั่งในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน พวกเขากลับไม่ได้พยายามที่จะตระเตรียมการป้องกันตัวเสียด้วยซ้ำ ในวันที่ 2 เมษายน เมื่อกองทหารของคอมมูนที่กำลังเดินทัพไปยัง Courbevoie ถูกโจมตีและต้องถอยทัพกลับมายังปารีส ทหารคอมมูนที่ถูกฝ่าย Thiers จับกุมได้นั้นต้องโทษประหารทั้งหมด ในวันถัดมาเมื่อสภาคอมมูนถูกกดดันอย่างหนักจากกองกำลังแห่งชาติ พวกเขาจึงตัดสินใจดำเนินการทางการทหารต่อแวร์ซาย ทว่าแม้ชาวคอมมูนจะมีกองทัพที่กระตือรือร้นและกล้าหาญเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อพบกับเงื่อนไขที่ปารีสคอมมูนขาดการเตรียมความพร้อมทางการทหารและการเมืองเอาไว้ ก็ไม่อาจจะหลีกพ้นความพ่ายแพ้ไปได้ บรรดาผู้นำของปารีสคอมมูนยังคงเชื่อว่า เหตุการณ์จะเป็นเหมือนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม คือกองทัพจากแวร์ซายจะเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมูนเมื่อเผชิญหน้ากัน หากทว่าความเชื่อนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ความปราชัยในการปะทะกันครั้งแรกนั้นส่งผลให้เกิดกระแสความหวาดกลัวขยายตัวไปทั่วกรุงปารีส การพยายามมองโลกในแง่ดีของผู้นำคอมมูนในช่วงแรกนั้นเปิดทางให้ความเชื่อว่าคอมมูนกำลังจะพ่ายแพ้ขยายตัวไปทั่วเมือง และนั่นทำให้เกิดความสับสนในการสั่งการและวางแผนสู้รบของกองทัพคอมมูนด้วย
ลงท้ายที่สุดกองทัพแวร์ซายก็สามารถเข้าเมืองปารีสได้ในวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ศาลากลางเมือง สภาคอมมูนประกาศยุติอำนาจของตน ในห้วงเวลาชี้ขาดที่สำคัญที่สุดนี้ สภาคอมมูนประกาศยอมรับอย่างง่ายดายว่าจะยุบเลิกลงและสละความรับผิดชอบทั้งหมดของตนเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะที่ไร้ประสิทธิภาพ
ขณะที่กองกำลังแห่งชาติหรือกองทัพของชาวคอมมูนประกาศกร้าวว่า “จงรักษาที่มั่นในเขตของตน” โดยปราศจากการสั่งการจากส่วนกลาง การตัดสินใจแยกกันรักษาพื้นที่ของตนนี้ทำให้กองกำลังที่กระจัดกระจายกันแต่ละเขตไม่สามารถต้านทานคลื่นกองทัพปฏิกิริยาได้ ชาวคอมมูนต่อสู้แลกชีวิตด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง แต่ด้วยความแตกต่างด้านกำลังทำให้พวกเขาถูกผลักดันไปล่าถอยไปทางตะวันออกของเมือง จนกระทั่งพ่ายแพ้ในวันที่ 28 พฤษภาคม ชาวคอมมูนคนสุดท้ายที่จับอาวุธต่อต้านถูกยิงจนเสียชีวิตลงที่ Federated Wall ตรงเขตการปกครองที่ 20 ในช่วงระหว่าง “สัปดาห์นองเลือด” นี้คาดว่ากองทัพปฏิกิริยาของ Thiers ได้ลงมือสังหารชาวคอมมูนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กไปราว 30,000 คน ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีเหยื่อถูกสังหารไปอีกกว่า 20,000 คน
รัฐของชนชั้นกรรมาชีพ
ปารีสคอมมูนถือเป็นรัฐที่ปกครองด้วยรัฐบาลของชนชั้นแรงงานแห่งแรกในประวัติศาสตร์ ในข้อเขียนเรื่อง The Civil War in France มาร์กซ์ได้เขียนอภิปรายว่าปารีสคอมมูนได้พิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งนั่นคือ “ชนชั้นแรงงานไม่อาจเข้ายึดครองและนำเอากลไกรัฐที่ดำรงอยู่ในระบอบเก่ามาใช้ต่อได้ ดังนั้นเงื่อนไขในการรักษาอำนาจทางการเมืองของชนชั้นแรงงานจะต้องเริ่มต้นด้วยการทำลายเครื่องมือการกดขี่ปราบปรามทางชนชั้นของระบอบเก่าลงเสียก่อน”
เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ชาวปารีสคอมมูนพยายามที่จะสร้างรัฐรูปแบบใหม่ขึ้นมา อันเป็นรัฐของชนชั้นแรงงานโดยแท้จากซากปรักหักพังที่ล่มสลายไปของรัฐชนชั้นนายทุน (ในปารีส) ในความพยายามนี้ชาวคอมมูนได้แสดงให้เห็นคุณลักษณะสำคัญของรัฐชนชั้นแรงงานอันประกอบด้วย การปราศจากชนชั้นข้าราชการ, ปราศจากกองทัพที่แยกขาดจากประชาชน, ปราศจากอภิสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ, บรรดาผู้มีตำแหน่งและอำนาจทั้งหลายต้องมาจากการเลือกตั้งในทุกระดับ ฯลฯ
ชาวคอมมูนไม่มีเวลามากเพียงพอจะลงหลักปักฐานอำนาจของพวกเขาให้มั่นคงยืนยาว การกำเนิดของปารีสคอมมูนเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวในสภาพการณ์ที่ชาวนาชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสมองชาวคอมมูนเป็นศัตรู แต่ปัจจุบันนี้สถานการณ์แตกต่างกันออกไป คนส่วนใหญ่ของสังคมกลายมาเป็นแรงงานรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะทำงานในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือบริการ รากฐานทางเศรษฐกิจที่จำเป็นสำหรับการเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมนั้นมีความมั่นคงและพรักพร้อมมากยิ่งกว่าในศตวรรษที่ 19 หลายเท่าตัว นี่
จึงขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนแล้วว่าพร้อมจะนำพาระบอบสังคมนิยม สังคมแห่งเสรีภาพ และสังคมแห่งประชาธิปไตยที่ครั้งหนึ่งชาวปารีสคอมมูนได้พยายามสถาปนามันขึ้นและสละชีพเพื่อปกป้องมัน กลับมาทำให้เป็นจริงและก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?