มหกรรมหนังสือระดับชาติปีที่แล้ว ทั้งที่รอยจ้ำแดงๆ จากการถูกทำร้ายร่างกายโดยเค ร้อยล้าน ยังประทับอยู่บนลำคอเขาแท้ๆ แต่ธนาธรก็ยังยืนยันจะขึ้นพูดในเสวนาที่เวทีกลางเกี่ยวกับโลกการอ่านของเขา

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อหนังสือ “ต้นส้มแสนรัก” ของ José Vasconcelos

หนังสือเล่มนี้อยู่ใน wish list ของผมมาแต่นั้น ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่ลำดับแรกๆ ที่ผมนึกถึงเวลาคิดว่าจะอ่านหนังสือเล่มไหนดี มันจะหวนนึกได้เฉพาะเวลาเดินในร้านหนังสือไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย ก่อนที่สุดท้าย ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ผมก็มักจะได้หนังสือสักเล่มสองเล่มติดไม้ติดมือออกมาเสมอ

หนังสือที่ถือออกจากร้านไม่เคยเป็นต้นส้มแสนรัก จนกระทั่งล่าสุด ผมบังเอิญเดินสอดส่องในร้านหนังสือแถวบ้านที่ต่างจังหวัด แล้วเจอะกับเล่มนี้เข้า

ด้วยตัวเลือกที่ค่อนข้างจำกัด บวกกับความเป็นหนังสือสำหรับเยาวชน ผมเลยตัดสินใจหยิบมันไปชำระเงินทันที (ทั้งๆ ที่เจตนาแรกสุดคือการไปซื้อปากกา) ตั้งใจว่าจะอ่านให้จบก่อนกลับมากรุงเทพฯ จากนั้นก็ส่งต่อให้น้องสาวเอาไปอ่านอย่างที่เคยทำมา

ต้นส้มแสนรักเป็นเรื่องราวของเซเซ่ เด็กชายในครอบครัวยากจนแห่งเมืองบังกุ รัฐรีโอเดจาเนโร ความดีงามของหนังสือเล่มนี้คือการทำให้เรามองโลกผ่านสายตาของเซเซ่ทั้งหมด ทุกครั้งที่เซเซ่พูดกับใคร หรืออะไร เราจะเป็นพยานที่ประจักษ์อยู่ทุกเมื่อ

เรารู้ว่าแม้เซเซ่จะเป็นเด็กอายุเพียง 5 ปี (ที่ต้องโกหกว่าตัวเอง 6 ขวบเพื่อกักตัวไว้ในโรงเรียน จะได้ไม่ไปสร้างปัญหาให้ทางบ้าน) แต่โลกความจริงที่กำลังถาโถมใส่เขากำลังบังคับให้เขาโตให้ไวมากที่สุด ความโหดร้ายคือ การสูญเสียจินตนาการความฝันเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อที่จะต้องโตเป็นผู้ใหญ่ คุณค่าที่เขาเคยคิดว่าตนมีค่อยๆ ถูกฉีกทึ้งราวกับมีฝูงสัตว์หิวโหยรายล้อมรอบตัว

เซเซ่เป็นเด็กฉลาด เขามีความหลงไหลในการเรียนรู้คำยากๆ ถึงขนาดสามารถเรียนรู้วิธีอ่านหนังสือได้ด้วยตนเอง แต่ต่อให้เก่งแค่ไหน ก็คงไม่ต่างจากพวกเราทุกคน ที่มักรู้จักคำศัพท์และนิยามของมัน ก่อนที่จะใช้เวลาอีกหลายวัน/เดือน/ปี ในการเข้าใจ “ความหมาย” จริงๆ ของมัน

เซเซ่ใช้ชีวิตเรียนรู้คำศัพท์เรื่อยไป ผมคิดว่าเขารู้จักความหมายของความจนครั้งแรก ตอนที่เขาตื่นมาพบว่ารองเท้าผ้าใบของเขาว่างเปล่าปราศจากของขวัญในวันคริสมาสต์

“มีพ่อจนๆ นี่มันเวรเหลือเกินจริงๆ นะ” เซเซ่ผรุสวาท ก่อนจะต้องรู้สึกผิดใหญ่หลวงภายหลัง เพราะพ่อผู้ว่างงานของเขาบังเอิญยืนรับฟังอยู่ใกล้ๆ

อย่างไรก็ตาม เราจะยังไม่ได้เห็นเซเซ่ก้าวพ้นช่วงวัยจนกระทั่งเขาเข้าใจคำที่เขารู้จักมาก่อนหน้าแล้วอย่างลึกซึ้ง นั่นคือคำว่า “ความโศกเศร้า”

เซเซ่รู้จักและตระหนักดีว่าความโศกเศร้าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกลายเป็นผู้ใหญ่ ดังที่ในตอนหนึ่ง กลอเรียพี่สาวของเขา พยายามพูดเป็นกุศโลบายให้เขาและพี่ชายเข้านอนหลังจากเพิ่งผ่านบรรยากาศแสนแย่ในมื้อครอบครัว “เธอพูดแล้วก็มองเรา เธอรู้ดีว่าเวลานั้นไม่มีเด็กอยู่ที่นั่น ทุกคนเป็นผู้ใหญ่แล้ว เข้าใจความโศกเศร้าได้แล้ว”

การสูญเสียบุคคลที่เขารัก (มากเสียกว่าพ่อแท้ๆ) ไปกับอุบัติเหตุรถไฟสอนให้เขารู้ซึ้งถึงความโศกเศร้า และเปลี่ยนผ่านให้ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่

หลายวันนับแต่ได้รู้จักความโศกเศร้าจากการสูญเสียนี้ เซเซ่ไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากนอนป่วยติดเตียงและวิงวอนให้ตัวเองตายตามไปซะ ต้องรอจนกว่ากลอเรียจะบังเอิญระบายคำยากๆ ออกมากระตุ้นความสนใจของเขา “นับเป็นครั้งแรกที่หน้าของกลอเรียสดใสขึ้น เธอหัวเราะเพราะเธอรู้ว่า ถ้าผมสนใจคำยากๆ ก็หมายความว่าผมต้องการที่จะมีชีวิตอยู่”

คำยากๆ ขุดเซเซ่กลับมาใช้ชีวิตได้ก็จริง แต่ความสามารถในการคุยกับสรรพสิ่ง โดยเฉพาะค้างคาวและต้นส้มเพื่อนรักของเขา ก็อันตรธานไปตลอดกาล

ผมเชื่อว่าการเป็นผู้ใหญ่แทบจะเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ กระทั่งการทำความหมายบางอย่างหล่นหายไป เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอตราบใดที่ยังมีชีวิต ความโชคร้ายของเซเซ่จะมีก็แต่การที่มันมาถึงเขาเร็วเกินไปเท่านั้น อย่างไรก็ดี สำหรับผมการสูญเสียจินตนาการและความฝันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย มีเพียงแต่ระบบนิเวศน์ที่เป็นพิษเท่านั้นที่ทำให้เราคิดว่าอะไรเหล่านั้นเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ

ขบวนรถไฟขากลับกรุงเทพฯ นำพาผมให้เจอคุณพี่ท่านหนึ่ง เธอเป็นหญิงกลางคนใส่แว่นกรอบสีแดง คุณพี่ท่านนั้นเป็นฝ่ายเริ่มชวนผมคุยก่อนตอนที่รถไฟกำลังจะถึงจุดหมายประมาณหนึ่งชั่วโมง เธอประกอบอาชีพเป็นพยาบาล นั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกแล้วรู้สึกประทับใจกับขบวนรถไฟที่เธอและผมกำลังโดยสารอยู่ ผมที่กำลังหงุดหงิดเพราะรถไฟโคลงเคลงจนแทบไม่ได้นอนเลยสวนไปว่า “ถ้าเทียบกับประเภทอื่นก็ถือว่าดีมากครับ แต่ก็ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น ราคาขนาดนี้ถ้าเป็นต่างประเทศคงจะเป็นขบวนที่ดีกว่ามากๆ” แต่เหมือนเธอจะยังมองโลกในแง่ดีอยู่ บอกว่าใช้เวลาไม่นานก็จะถึงที่หมายแล้ว “ถ้าช่วงขึ้น-ลงเขารถจะวิ่งอยู่ที่ความเร็ว 50-60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเป็นทางราบแบบตอนนี้จะวิ่งอยู่ที่อย่างน้อย 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง” ผมตอบไปโดยมีเจตนาสื่อว่า จริงๆ แล้วมันไม่ได้เร็วเท่าไหร่หรอกเมื่อเทียบรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ (ผมเพิ่งผ่านการโมโหประเทศจากการที่ผมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงในการกลับบ้าน มาตลอดหลายวัน)

เธอตอบกลับด้วยเสียงสดใส “แต่เขาก็คงกำลังพัฒนา” ส่วนผมเป็นมนุษย์หยาบคายมากกว่านั้น “ถ้าเทียบกับงบประมาณที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมี ก็คงพูดแบบนั้นไม่ได้ครับ หรือต่อให้พัฒนา ก็คงกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพ” จากนั้นผายมือให้เห็นทิวทัศน์นอกหน้าต่างที่บังเอิญเป็นสนามบินดอนเมืองพอดี

“สนามบินดอนเมืองแล้ว” เธอทักก่อนจะพูดถึงที่หมายที่แท้จริงของเธอ “นั่งมาหาลูกชาย จะพาไปซื้อกีตาร์ มาให้กำลังใจแบบตัวเป็นๆ ดีกว่าโอนเงินให้ แล้วเดี๋ยวคืนนี้ก็กลับแล้ว” ผมที่เพิ่งเดินทางจากบ้านที่ไม่ได้กลับไปหลายปีไม่มีอะไรจะแลกเปลี่ยน นอกจากคำพูดที่แฝงความรู้สึกผิด “ผมก็เพิ่งกลับไปหาแม่มา” จากนั้นเปลี่ยนไปคุยเรื่องดนตรี

“ลูกคุณพี่เรียนดนตรีหรอครับ ตอนเขาบอกว่าจะเรียนดนตรีรู้สึกอย่างไร”

“ก็ผ่านหลายกระบวนการอยู่ ผ่านหลายกระบวนการ” คำตอบเธอบอกชัดเจนว่าเข้าใจเจตนาในคำถามผม

เราแลกเปลี่ยนกันเรื่องดนตรี ผมในฐานะคนที่พอประสีประสาอยู่บ้างก็พูดถึงประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส และการแสดงของ Ella Fitzgerald ที่กรุงเบอร์ลิน ส่วนเธอเล่าว่าลูกเธอกำลังวางแผนการอะไรอยู่ “เนี๊ยะ เดี๋ยวเขาจะไปนิวยอร์ก” หลังจากนั้นความสนใจของผมถูกกระทุ้งเข้าอย่างจัง การพกดนตรีแจ๊สไปนิวยอร์กประกาศชัดว่า ลูกชายและครอบครัวของเธอไม่ได้มองดนตรีแจ๊สเป็นของเล่น “ที่โน่นมีสถาบันดนตรีและศิลปะเต็มไปหมดเลยครับ ต่างจากไทยที่แทบไม่มีพื้นที่ให้คนที่ชอบเล่นดนตรีแนวนี้เลย”

เธอนั่งฟังผมเล่าหลายอย่าง จากนั้นก็พูดชื่อนักดนตรีแจ๊สที่ผมไม่คุ้นหูออกมา ทำเอาผมทึ่งกับคุณพี่มนุษย์แม่ท่านนี้มากๆ “ก็พยายามศึกษา ทำความเข้าใจ ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าไอ้เพลงแจ๊สมันคืออะไร แต่ก็พยายามฟัง อยากเข้าใจลูก อยากเข้าใจว่าเขาคิดอะไร” … “อยากเข้าใจว่าเขาคิดอะไร” ผมสะอึกพูดคำนี้ในใจคนเดียวในฐานะที่ทำงานซึ่งคนไม่ค่อยเข้าใจว่าเอ็งจะทำไปเพื่ออะไร

เธอเล่าว่าชอบคุยกับคนแปลกหน้า เพราะมันได้เปิดโลกแบบนี้ … ผมเห็นด้วย

จากนั้นเวลาก็เหมือนบรรเลงเป็นเพลงแจ๊ส เราโลดโผนรวดเร็วจนมาถึงสถานีที่หมาย “เดี๋ยวลงแล้ว สถานีนี้มันจะงงๆ หน่อยนะครับ เป็นความล้มเหลวทางสถาปัตยกรรม ลงไปแล้วจะไม่รู้เลยว่าอะไรอยู่ตรงไหน”

“ไม่เป็นไร ดีเลย เดี๋ยวก็จะเดินตามไป” เธอส่งสัญญาณว่าจะพึ่งผม คนที่มีปัญหากับการจำเส้นทางมากที่สุดคนหนึ่งบนโลก

ลูกเธอจะขับรถมารับเลยขอตัวอำลาผม ผมตอบไปว่า “เป็นกำลังใจให้ครับ” โดยที่ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า ด้วยพลังงานที่เธอและครอบครัวมีจะต้องการกำลังใจของผมไปทำไม จากนั้นยืนนิ่งมองเธอเดินหาห้องน้ำ แต่ก็หาไม่เจอจนต้องไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ ผมมองอาการรนของเธอแล้วอดขำแบบเอ็นดูไม่ได้ “บอกแล้วว่าเป็นความล้มเหลวทางสถาปัตยกรรม”

เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ อดทำให้ผมคิดไม่ได้ว่า การที่ผมลืมส่งต่อหนังสือต้นส้มแสนรักให้น้องสาวของผมอาจจะไม่ได้เลวร้ายมาก เพราะบางทีมันอาจจะเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเยาวชนเสียอีก เพราะผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘ศพ’ ที่เดินไปเดินมาโดยไม่หลงเหลือความฝันอีกต่อไปแล้ว ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ผมคิดได้ว่า โลกที่จินตนาการของเซเซ่ไม่ถูกบดขยี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง

วันนี้ผมได้เข้าใจความหมายของคำว่า “ชีวิต” มากขึ้น

(*หมายเหตุ เขียนเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2566) 

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
อดีตนักเรียนนิติศาสตร์แต่สนใจปรัชญา สนใจเรื่องความคิดและศิลปะ ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ