“มีอย่างนึงที่พวกเธอต้องทำความเข้าใจ คืออยู่ที่นี่ ฉันเป็นหัวหน้าแม่บ้าน แล้วทุกคนจะต้องเรียกฉันว่า ‘คุณหัวหน้า’ เข้าใจมะ?”
“เป็นหยังคือต้องเอิ้น ก็คนไซ้คือกั๋นล่ะว้า”
“ว้าย~ อีนี่มันร้ายนะคะคุณหัวหน้า ตบมันดีมั้ยคะเนี่ย”
“หยุด ปุ๊กกี้ อย่าเอาทองไปลูบกระเบื้อง” … “นี่นังอ้วน ฉันพูดอะไรก็ให้ทำตามง่ายๆ ได้มะ แล้วอีกอย่าง ถ้ายังคิดจะอยู่ที่นี่ก็ต้องฝึกภาษากลาง หรือภาษาอังกฤษ เท่านั้น UNDERSTAND?” … “บ้านนอกมากๆ”
“มึงก็บ้านนอกคือกั๋นแหละ อีดำตับเป็ด คือจั่งได๋มาดัดจริตเว่าภาษาฝรั่ง อีงัวลืมตีน อีปลาแดกลืมไห อีแมงกุดจี่ลืมก๋องขี้ควย”
ฉากอมตะนี้ปรากฏใน “แจ๋ว” หรือ Mission Almost Impossible Done (M.A.I.D) ภาพยนตร์สายลับของ ยงยุทธ ทองกองทุน ว่าด้วยกลุ่มคนต่างจังหวัดไร้เดียงสาที่ต้องเข้ามาเป็น “คนรับใช้” ในกรุงเทพฯ และมี “เจ้านาย” ผู้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ได้รับอำนาจให้ตรวจสอบการทุจริตของ “นักการเมืองเลว” (ที่องค์กรตรวจสอบทั้งหลายเข้าไม่ถึง) ซึ่งกำลังผลักดันให้บ่อนการพนันถูกกฎหมาย และชวนพวกเธอ 4 สาวนางใช้ ให้ร่วมทำภารกิจ “เพื่อชาติ” โดยการแทรกซึมเข้าไปล้วงข้อมูลทุจริตรับสินบนระหว่างนักธุรกิจกับนักการเมือง/รัฐมนตรี แทนทีมเก่าที่เพิ่งสละชีพเพื่อชาติไป
ต่างจาก Mission Impossible อย่างสุดขั้ว ภาพยนตร์เรื่องแจ๋วไม่ได้มีอีธาน ฮันท์ (ทอม ครูซ) คอยฉายเดี่ยวรับจบภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทีมแจ๋วมีลักษณะเป็นลูกจ้างที่มีเจ้านายซึ่งไม่น่ารักเท่าใดนัก เพราะเลือกมอบหมายงานที่รู้อยู่แล้วว่าพนักงานจะไม่มีทางทำภารกิจลุล่วงได้เลย ทำได้อย่างมากก็แค่ “เกือบสำเร็จ” เท่านั้น เพราะด้วยสถานะทางชาติกำเนิดและระดับการศึกษาของพวกเธอ ล้วนแต่ถูกสร้างภาพให้ต้องเป็นชนชั้นที่มีแต่จะ “ถูกหลอก”
สมาชิกทีมแจ๋วประกอบด้วย 4 สาวด้วยกัน
แวว หรือแววดาว สาวชาวอีสานตัวดำผู้หิ้วกระเป๋าจากบ้านนอกมาหางานทำในเมืองหลวง เบนซ์-พรชิตา ณ สงขลา ผู้รับบทตัวละครนี้เคยพูดถึงแววไว้ว่า “เป็นสาวอีสานที่ค่อนข้างมั่นใจในความโง่ของตัวเอง คิดว่าตัวเองนี้ฉลาดที่สุดในหมู่บ้าน แต่จริงๆ แล้วโง่ที่สุดเลย แต่พยายามแสดงความฉลาด ชอบดูละครน้ำเน่า รักความยุติธรรม และชอบแสดงสีหน้าแบบแปลกๆ มีเล่นหน้าเล่นตาด้วย”
จิ๋ม(ใหญ่) พี่สาวฝีปากกล้าและไม่ยอมคนของแวว จิ๊บ-จารุภัส ปัทมศิริ ผู้รับบทจิ๋ม เคยอธิบายตัวละครนี้ว่า “เป็นคนจังหวัดอุบลฯ คาแร็กเตอร์จะค่อนข้างบ้า เฮฮา เป็นพวกสุขนิยม ชอบความสุขทุกประเภท ใจกล้า ซึ่งส่วนใหญ่คาแร็กเตอร์ค่อนข้างคล้ายพี่มากเลยนะ แต่มีอยู่อย่างเดียวพี่ใจไม่กล้าเท่าจิ๋มใหญ่เท่านั้น เพราะไม่ค่อยกล้าเผชิญหน้าและก็ใช้กำลังเหมือนตัวจิ๋มใหญ่”
เอ๋ สาวใช้ชาวเหนือ ผู้หลบหนี “การตกเขียว” (หมายถึงการขายเด็กสาวให้แก่พวกค้าประเวณี) จากจังหวัดเชียงรายบ้านเกิด นุก-พนาลักษณ์ ณ ลำปาง ผู้เล่นเป็นเอ๋บรรยายตัวละครว่า “เป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย กล้าๆ กลัวๆ คือจะประมาณตามพี่ๆ เค้าไป ใครสั่งอะไรก็ทำตามหมด ค่อนข้างเจ้าระเบียบด้วย แล้วก็มีปมเกี่ยวกับผู้ชาย เวลาเจอผู้ชายที่ทุเรศๆ ชอบแต๊ะอั๋งผู้หญิง ก็จะเปลี่ยนไปเป็นอีกคน และกล้าสู้ผู้ชายด้วยการเตะผ่าหมากแบบไม่กลัวด้วยค่ะ”
ชเวเมี๊ยะ ตะนา หรือ แคท สาวกะเหรี่ยงที่วิ่งหนีระเบิดมาจากหมู่บ้านด้วยหวังว่าจะได้สัญชาติไทย หนังแสดงชัดเจนว่าเธอเป็นจุดต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร ที่แม้จะเป็นคนรับใช้ด้วยกัน แต่ก็ถูกล้อเลียนและเอาเปรียบจากคนรับใช้สัญชาติไทยเสมอ ชัดที่สุดคือการที่เธอเป็นส่วนเกินทุกครั้งที่มี “เสียงสัญญาณ” ดังขั้น
(อ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ที่ https://www.siamzone.com/movie/news/2120 )
“เป็นสาวอีสาน/สาวเหนือ/สาวกะเหรี่ยง” “มั่นใจในความโง่ของตัวเอง” “ค่อนข้างบ้า เฮฮา ใจกล้า สุขนิยม” “เงียบๆ เรียบร้อย” “ใครสั่งอะไรก็ทำตามหมด” “มักมีการใช้กำลัง” ตลอดจนการที่ตัวละครทีมแจ๋วทุกตัวต่างพูดติดสำเนียงบ้านเกิดตัวเอง ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้รับรู้ได้ไม่ยากว่า ตัวละครในทีมแจ๋วต่างเป็นภาพแทนที่คนเมือง/ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ มีต่อชนชั้นแรงงาน หรือ “คนบ้านนอก” (ในความหมายที่ไม่ใช่คนไทยมาตรฐาน) ได้อย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ภาพคนบ้านนอกที่ชนชั้นกลางสร้างขึ้นนี้ แม้อาจสร้างเสียงหัวเราะให้บรรดาผู้ชม (ชนชั้นกลาง) ได้บ้าง แต่การที่ภาพยนตร์เลือกเสียดสีพวกชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่ผ่านตัวละครชนชั้นล่างอย่างเจ็บแสบก็ตลกและมีความการเมืองไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หัวหน้าแม่บ้านรับน้องสั่งสอนให้แววและจิ๋มหัดพูดภาษากลางและภาษาอังกฤษจนถูกด่ากลับว่าเป็นวัวลืมตีน หรือการใช้ตัวละครต่างด้าวอย่างแคทเสียดสี “การเซ็นเซอร์” ในละครและภาพยนตร์ไทย
มันเป็นฉากที่ตัวละครแจ๋วทั้ง 4 คนกำลังนั่งดูละครโทรทัศน์ แล้วจู่ๆ แคทก็เดินไปตบทีวี เพราะจู่ๆ ทีวีเกิดภาพมัวๆ โผล่ขึ้นมา
“นี่ ไม่ต้องทุบหรอก ทีวีไม่ได้เสีย อย่างนั้นนะ เขาเรียกว่าเซ็นเซอร์” แววทัก
“เซ็นเซอร์แปลว่าอะไร?” แคทถาม
“เขาไม่อยากให้เด็กมันเลียนแบบ เขาก็เลยทำไอ้มัวๆ มาบังไว้”
“โห เห็นอยู่นะว่ามือถือบุหรี่ พ่นควันออกมาปุ๋ยๆ ใครก็รู้ว่าดูดบุหรี่ แล้วจะเซ็นเซอร์ไปทำไม … นั่น เป็นอะไรอีกอ่ะ เห็นอยู่ว่าเอาปืนจ่อหัว บังไว้ทำไม มัวก็ไม่เห็นอะไร ถ้ากลัวก็อย่าไปฉายเลย เฮ้อ! คนไทยโง่เนาะ”
จากนั้นจิ๋มก็สั่งสอนให้แคทรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง “แล้วมึงเสือกมาอยู่ทำไมเมืองไทยน่ะ อีกะเหรี่ยงเอ้ย”
อีกฉากหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่นกับการเซ็นเซอร์อย่างโจ่งแจ้ง คือตอนท้ายเรื่องที่ตัวละครกำลังยืนเถียงกันอยู่ริมสระน้ำ โดยถ่ายมุมกว้างให้เห็นหญิง (ต่างชาติ?) สวมบิกินี่สีแดงแปร๊ดเดินส่ายสะโพกอยู่ในเฟรมชัดเจน
“ศีลธรรม” เป็นประเด็นสำคัญของภาพยนตร์ เพราะตั้งแต่การพูดถึงการเซ็นเซอร์ การพนันเสรี ธุรกิจอาบอบนวด มาจนถึงการทำดีเพื่อชาติด้วยการเปิดโปงนักการเมืองเลว ล้วนแต่มีหัวใจเป็นเรื่องศีลธรรมหมด วาทกรรมเพื่อชาติก็เป็นสิ่งที่ชักจูงให้บรรดาแจ๋วตบปากรับทำภารกิจกำจัดนักการเมืองชั่ว
การเลือกประเด็นและคำอธิบายที่ภาพยนตร์มอบให้ สอดคล้องอย่างยิ่งกับบริบทการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉาย (ปลายปี 2547) ช่วงเวลาที่วาทกรรมคนดีเริ่มนำมาใช้เพื่อโจมตีรัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งโดดเด่นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ จนไม่สนใจสังคมหรือศีลธรรม เช่นการผลักดันให้เกิด “Entertainment Complex” ก่อนที่จะคลี่คลายกลายเป็นการรัฐประหาร 2549 ในเวลาต่อมา ดังที่ชาวบ้านชนบทในเรื่องแสดงความเห็นว่า ถ้าบ่อนถูกกฎหมาย “บ้านเมืองจะฉิบหายทันที” ธงชัย วินิจจะกุล เสนอว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ “เหนือ” ระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการอยู่เหนือในฐานะอำนาจทางศีลธรรมสูงสุดซึ่งตรงข้ามกับทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกยกเป็นตัวอย่างนักการเมืองซึ่งฉ้อฉลที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดภาพยนตร์ก็เฉลยว่า องค์กรตรวจสอบที่อ้างความสูงส่งทางศีลธรรม แท้จริงก็เพียงแค่ใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ตนเอง เหมือนที่คุณผู้ชายต้องการกำจัดเครือข่ายนักการเมืองที่มาแย่งประมูลสัมปทานรัฐจากเมีย แต่การใช้อำนาจมิชอบนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะเมื่อมันเป็นการทำดีเพื่อกำจัดคนชั่วแล้ว วิธีการนั้นก็อาจชอบแล้วด้วยกฎหมาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยหรือสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนที่เจ้าหน้าที่ในเรื่อง “ละเมิดสิทธิ” ผู้ต้องหาสุดชั่วร้ายด้วยการมัดมือปิดปากทันทีที่จับกุม
ความเหลื่อมล้ำซึ่งแยกไม่ขาดจากการต่อสู้ดิ้นรนทางชนชั้นคือสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องแจ๋วเผยให้เห็นชัดที่สุดอีกอย่างหนึ่ง เห็นได้ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ห้องส้วม ไปจนถึง “การเหยียด” โดยการดิ้นรนนี้เผยให้เห็นในตัวละครหลักแทบทุกตัว บรรดาสาวใช้ชนชั้นแรงงานต้องการขยับฐานะด้วยการเข้ามาขายแรงงานในเมืองหลวง ตัวละครที่เป็นสาวกะเหรี่ยงก็เข้ามาทำงานโดยหวังจะมีโอกาสที่ดีกว่าจากการได้สัญชาติไทย ตัวละครเจ้านายก็เป็นชนชั้นราชการที่ต้องการหาประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ กระทั่งสาวใช้บางคนก็มีแรงปรารถนาที่จะพูดภาษาไทยกลางและภาษาอังกฤษเพื่อแสดงถึงการ (กำลังจะกลาย) เป็นชนชั้นที่เหนือกว่าสาวใช้คนอื่น แม้แต่ในฉากหักมุมที่หนังเฉลยว่า แท้จริงแล้วภรรยาของเจ้านายเป็นผู้ชายแปลงเพศเป็นหญิง หรือเรียกด้วยคำร่วมสมัยหน่อยคือ “Trans woman” และหลอกให้เขาตกหลุมรักหัวปักหัวปำเพื่อได้มาซึ่งสถานะและทรัพย์สิน ซึ่งหลายฉากในเรื่องก็สะท้อนทัศนคติที่เป็นลบต่อการศัลยกรรมและให้คุณค่ากับสิ่งที่เป็นธรรมชาติอยู่เสมอ จนสามารถรับรู้ถึงทัศนคติเหยียดเพศของสังคมไทยในยุคสมัยนั้น (และสมัยนี้?) ที่มีต่อการเป็น LGBTQ+ ว่าเป็นสิ่งผิดธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายนี้ แม้หนังจะปรากฏฉากการลุกฮือร่วมมือกันต่อสู้กับความอยุติธรรมของชนชั้นแรงงานอยู่ แต่นั่นก็แทบจะไม่ได้ถูกให้ความหมายเท่าไรนัก เพราะสุดท้าย ผู้ที่ให้คุณให้โทษแก่บรรดา 4 สาวแจ๋ว กลับเป็นมาดามเอ็มม่าเศรษฐีใหม่ที่ต้องการพิสูจน์ความสูงส่งของตนด้วยการอุปถัมภ์เลี้ยงดูให้ชนชั้นล่างมีงานทำ ผ่านการให้ทุนเปิดโรงเรียนฝึกคนใช้ เพื่อยกระดับให้ “สินค้าชนิดนี้” ได้มาตรฐานสากล และตรงตามจริตของชนชั้นกลางใหม่ เช่น ความสามารถทางภาษาอังกฤษ โดยที่ความเหลื่อมล้ำยังคงถูกเลี้ยงไว้ ความสัมพันธ์ทางอำนาจก็ไม่กระทบกระเทือน ซึ่งคงเดาได้ไม่ยากว่ามนุษย์ที่สังกัดชนชั้นแรงงานก็ยังต้องทำงานสกปรกที่ชนชั้นข้างบนไม่อยากทำต่อไป
ทางหนีทีไล่เมื่อเกิดปัญหาของชนชั้นแรงงานจึงยังเป็นการกลับไปตั้งหลักที่บ้านในชนบท/ต่างจังหวัด ไม่ก็เป็นช่องทางที่ไม่พึงประสงค์อย่าง ดังที่ภาพยนตร์ทำให้ 4 สาวทีมแจ๋ว ต้องลงเอยที่ “กองขยะ” ทุกครั้งที่ต้องเอาตัวรอดจากปัญหา
เมื่อเปรียบปีที่ฉายกับปีปัจจุบันซึ่งห่างกันเกือบสองทศวรรษ การกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดในชนบทของชนชั้นแรงงานอาจเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามได้บ้าง เพราะชนบทหรือต่างจังหวัดในฐานะเบาะรองรับความพ่ายแพ้ของชนชั้นแรงงานก็หลงเหลือน้อยลงไปทุกที จะมีก็แต่การต้องเกลือกกลั้วกับสิ่งสกปรกเน่าเหม็น (ไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมายเสมอไป) ของชนชั้นล่างเท่านั้นที่ยังดำเนินไปอย่างเป็น “ธรรมชาติ” ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้