อีกหนึ่งปรากฏการณ์น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา และก็เป็นผลสะเทือนสืบเนื่องมาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ คือการที่หนึ่งในองคาพยพนี้ที่เรียกตัวเองว่า คณะก้าวหน้า เสนอตัวทำงานการเมืองท้องถิ่น โดยให้การสนับสนุนผู้สมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ

ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมไปจนถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างเมืองพัทยา ที่จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารในอนาคต

ในระดับ อบจ. คณะก้าวหน้าสนับสนุนทีมผู้สมัคร 42 จังหวัด ไม่ได้รับชัยชนะแม้แต่พื้นที่เดียว ต่อมาในระดับเทศบาล สนับสนุนทีมผู้สมัครทั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล รวมแล้ว 102 ทีม สามารถคว้าชัยชนะได้ในระดับเทศบาลตำบล 16 แห่ง ขณะที่ระดับ อบต. สนับสนุนทีมผู้สมัคร 196 ทีม สามารถคว้าชัยชนะได้ถึง 38 แห่ง

การเมืองท้องถิ่นแบบคณะก้าวหน้า

ตลอดการเคลื่อนไหวในสนามการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า ฝ่ายหนึ่งอาจมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งรวมถึงฝั่งคณะก้าวหน้าเอง เห็นว่าการเริ่มต้นในสนามการเมืองท้องถิ่นครั้งแรกหรือรอบแรก ได้ผลลัพธ์ออกมาทำนองนี้ก็ถือว่าไม่เลวร้าย

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคุณูปการอันมาจากการมาทำงานการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า นั่นก็คือความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนในการเลือกตั้ง “สนามท้องถิ่น”

เพราะความที่คณะก้าวหน้าสนับสนุนผู้สมัครในทุกระดับ จึงต้องทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้จัก ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น จนอาจกล่าวได้ว่า หากจะถามประชาชนทั่วไปว่า รู้จักการเมืองท้องถิ่นหรือรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นวันไหน ส่วนใหญ่แล้วจะบอกว่ามาจากข่าวคราวกิจกรรมความเคลื่อนของคณะก้าวหน้า ไม่ได้เป็นเพราะการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

สำหรับจุดเริ่มต้นการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า อาจเรียกได้ว่ามีหน่อเนื้อเชื้อไขมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ โดยหนึ่งในนโยบายที่พรรคให้ความสำคัญและใช้ในการรณรงค์หาเสียงอย่างกว้างขวางนั่นก็คือนโยบาย “ยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น”

มีหลักการกว้างๆ ว่า กฎหมายที่ขัดขวางการกระจายอำนาจ หรือพูดง่ายๆ คือที่ คสช.รวบอำนาจมาสู่ส่วนกลางนั้นต้องถูกจัดการ, หลักการกระจายอำนาจต้องถูกสถาปนา ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาทิ การจัดการบริการสาธารณนั้นให้เป็นอำนาจของท้องถิ่นเป็นหลัก รวมถึงการจัดแบ่งรายได้อย่างเป็นธรรมที่ท้องถิ่น 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลาง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

แต่ทว่ายังไม่ทันได้เริ่ม พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบไป ดังนั้น องคาพยพอย่างคณะก้าวหน้าจึงมาผลักดันสานต่อ แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะดูเลวร้าย มืดมน อย่างที่ใครต่อใครวิเคราะห์ว่า ด้วยเครื่องมือกลไกต่างๆ ที่ผู้มีอำนาจรัฐครองอยู่ จะทำให้ฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายประชาธิปไตยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ยาก

ร่างกฎหมายต่างๆ ที่เสนอเข้าสู่สภาซึ่งถูกปัดตกอย่างไม่ใยดี การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐใข้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ตลอดจนจับกุมคุมขังดำเนินคดีในทุกรูปแบบ รวมถึงคำพิพากษาจากฝ่ายตุลาการที่เต็มไปด้วยคำถามจากผู้คนในสังคม ทำให้หลายคนมองไม่เห็นอนาคต หนทางช่างมืดมน ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดกระแสอย่าง #ย้ายประเทศกันเถอะ ขึ้นมา

เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะก้าวหน้าประกาศลุยการเมืองท้องถิ่น ชูสโลแกนอย่าง “เปลี่ยนประเทศไทย เริ่มต้นได้ที่บ้านเรา” ใช้สนามการเมืองท้องถิ่นเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของประชาชน พร้อมกับคำประกาศอย่างมุ่งมั่นทุกเวทีว่า “อย่าเพิ่งสิ้นหวังกับประเทศนี้ อย่าคิดว่าประเทศไทยถอยมาจนสุดทางแล้ว”

คณะก้าวหน้าพยายามฟื้นความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้ และแน่นอนว่าเริ่มต้นได้ที่การเมืองท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาจากการที่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมบริหารเทศบาล คณะก้าวหน้าก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วผ่านผลงานอย่าง น้ำประปาดื่มได้, การจัดการขยะก้าวหน้า, เทคโนโลยีรับเรื่องร้องเรียนแก้ปัญหาทันท่วงที หรือแม้แต่ท่องเที่ยวยั่งยืนสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น

นี่เป็นการพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นยังมีอำนาจไม่เต็มที่ มีงบประมาณจำกัด มีบุคลากรไม่เพียงพอ แต่ยังสามารถทำได้ระดับนี้ ถ้ามีการกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถพัฒนาได้เต็มที่กว่านี้มาก และลบล้างวาทกรรมอย่าง ยิ่งกระจายอำนาจเท่ากับยิ่งกระจายการโกง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐราชการรวมศูนย์พยายามสร้างภาพให้เลวร้าย


ก้าวต่อไปของสิ่งที่เรียกว่า ‘อคาเดมี’

แน่นอนว่าคำถามหนึ่งของสื่อมวลชนที่มีไปถึงพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่สนับสนุนคนลงสมัครรับเลือกตั้ง นั่นก็คือมักจะออกมาประมาณว่า คาดหวังจะชนะกี่ที่นั่ง คิดว่าจะได้จำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น

สำหรับบรรดาแกนนำคณะก้าวหน้าต่อคำถามทำนองนี้ ทุกคนจะตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ได้คิดว่าจะต้องชนะกี่แห่ง ไม่ได้คาดว่าจะมีจำนวนนายกกี่คน แต่มองว่าทุกการเลือกตั้ง คือโอกาสที่จะได้เข้าไปเปลี่ยนความคิดคนเรื่องการเมืองท้องถิ่น เป็นโอกาสที่จะได้เข้าไปทำให้ดูว่าแม้มีอำนาจเพียงเศษเสี้ยวเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นแบบใหม่สามารถทำได้จริง แล้วความหวังเรื่องประชาธิปไตยในท้องถิ่นจะกลับมาใหม่ นี่คือสิ่งที่มีค่ามากกว่าการได้จำนวนตัวนายกหรือจำนวนตัวสภาท้องถิ่น

คุณค่าพื้นฐานที่ทุกคนซึ่งมารวมกันในกลุ่มก้อนที่เรียกว่าคณะก้าวหน้า มีหลักใหญ่ๆ อยู่ 3 ประกาศคือ  

  1. อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. 
  2. ไม่ซื้อสิทธิ์ไม่ซื้อเสียง และ 
  3. เมื่อได้เข้าไปมีอำนาจแล้วไม่ทุจริตคอร์รัปชัน

ขณะที่ 2 สิ่งสำคัญที่เอาไปสู้ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ คือ 

  1. ความสดใหม่ ความเป็นคนหน้าใหม่ที่มุ่งมั่นต้องการเข้ามาเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่น และ 
  2. เรื่องของนโยบายที่จะนำไปใช้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

แต่ทว่าแม้จะคาดหวังความสดใหม่ คนหน้าใหม่ ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าการเฟ้นหาตัวยากลำบากอยู่พอสมควร ขณะเดียวกันบางพื้นที่ก็ยังเป็นกลุ่มการเมืองท้องถิ่นหน้าเดิมๆ ที่ต้องการใช้ชื่อของ “คณะก้าวหน้า” เพื่อต่อยอด

จึงไม่น่าแปลกใจที่คณะก้าวหน้าจะคิดถึงสิ่งที่เรียกว่า “อคาเดมี” หรือ “สถาบันนักการเมืองท้องถิ่น” ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยตอบโจทย์เรื่องของการได้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิด อุดมการณ์ ในทิศทางเดียวกัน การันตีความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานต่อไปในอนาคต

กล่าวสำหรับหลักคิดแรกของสิ่งที่เรียกว่า “อคาเดมี” มาจากความคาดหวังที่อยากจะเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นอยากพัฒนา อยากเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดของตัวเอง ได้มีพื้นที่

เราพูดกันเยอะเรื่องให้โอกาสคนหนุ่มคนสาว แต่เมื่อลองไปดูกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ปรากฏว่ากำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้สูงมากคือ สภาท้องถิ่นต้องอายุ 25 ปีขึ้นไป ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้อง 35 ปีขึ้นไป ซึ่งนี่เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขลดอายุลงมา

คณะก้าวหน้า เชื่อว่ามีเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เข้ามาร่ำเรียนและทำงานในเมืองกรุงอยู่เป็นจำนวนมากที่มีความคิดว่า วันหนึ่งอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด แต่ปัญหาคือไม่รู้กลับไปแล้วจะทำอะไร เริ่มต้นอย่างไร การเป็นเอ็นจีโอหรืออาสาพัฒนา ก็ไม่มีอำนาจรัฐหรืองบประมาณแผ่นดินที่จะไปเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นได้ ครั้นจะไปลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น เป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็ติดข้อจำกัดเรื่องอายุ รวมถึงปัญหาสำคัญก็คือต้องเผชิญหน้ากับเครือข่ายอิทธิพลที่ฝังอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ มาเนิ่นนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากและหนักหน่วงมากสำหรับคนเพียงคนเดียว

ดังนั้น อคาเดมี นี้จึงจะทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นแพล็ตฟอร์ม หรือยานพาหนะ ให้เยาวชนคนหนุ่มสาวขึ้นมาแล้วเดินทางไปด้วยกัน ใช้ยานพาหนะนี้กลับไปทำงานการเมืองท้องถิ่นที่บ้านตัวเอง กลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง

ถึงวันนี้ ผ่านสนามเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆ มาแล้ว 1 รอบ สิ่งที่ได้รับกลับมานอกจากจำนวนของผู้ชนะที่ได้ไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ผู้ชนะที่ได้ไปทำหน้าที่สภาท้องถิ่นแล้ว ยังมีเรื่องของคลังข้อมูล ชุดนโยบาย องค์ความรู้ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะก้าวหน้าเชื่อว่า หากผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกสัก 2-3 รอบ ได้บริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ ในสภาพพื้นที่ต่างๆ อีกสัก 2-3 รอบ น่าจะมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

สำหรับ “อคาเดมี” แห่งนี้ คณะก้าวหน้าตั้งใจที่จะจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้ที่ตั้งใจจะเข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่น ได้พัฒนาตัวเอง ในทักษะต่างๆ เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด การยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทักษะผู้บริหารท้องถิ่นแบบก้าวหน้า หรือ การใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีในการบริหารท้องถิ่น

และนี่จะเป็น “สถาบันนักการเมืองท้องถิ่น” เป็น “อคาเดมี” ที่พร้อมเปิดให้คนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ได้มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลับไปเป็นผู้บริหารบ้านเกิดของตัวเอง

และถึงวันนั้นเชื่อว่า “ภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่น” จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

Author

เชตวัน เตือประโคน
อดีตสื่อมวลชน หัวหน้าข่าวประจำโต๊ะข่าวเฉพาะกิจ และโต๊ะข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ เป็นคนทำสื่อที่สนใจในประเด็นทางการเมืองและสังคม ชื่นชอบการเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้คน หลงใหลในเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น อ่านนิยายมากกว่าหนังสือ How to