
Utopia เป็นอีกหนึ่งคำที่ชวนสับสน ความหมายของมันหลากหลายกำกวมตามแต่ว่าผู้พูดวาดภาพสังคมที่ดีในหัวไว้อย่างไร ความไม่ชัดเจนนี้ยังพบได้ตั้งแต่รากศัพท์ที่ขัดแย้งกันเองของมัน ด้านหนึ่งแปลได้ว่า “สถานที่ที่ดี” (eutopia/good place) แต่อีกด้านหนึ่งกลับแปลเป็น “สถานที่ซึ่งไม่มีอยู่” (outupia/no place)
หากต้องการกลับไปดูที่มาสถานที่ดี/ซึ่งไม่มีอยู่ คงบกพร่องอย่างร้ายแรงหากไม่พูดถึง Thomas More บุคคลผู้เป็นทั้งต้นแบบและผู้สรรค์สร้างให้เกิดงานเขียนประเภทนี้ขึ้น จากการประพันธ์ Utopia ออกมาในศตวรรษที่ 16 (เขียนเป็นภาษาละตินก่อนในปี 1516 ต้องรอจนปี 1551 กว่าจะมีฉบับแปลภาษาอังกฤษ) เป็นไปได้ไม่น้อยว่า Utopia เป็นแค่การเล่นสนุกทางปัญญาของชายชนชั้นสูงคนหนึ่ง เราสามารถพบ “ความกวน” ได้ผ่านทั้งเนื้อหาหนังสือ เช่น แม่น้ำสายหลักในเรื่อง มีความหมายว่า “ไม่มีน้ำ” ตลอดถึงชื่อหนังสือที่เมื่อแปลจากภาษาละตินจะเป็น “ว่าด้วยรัฐอันประเสริฐสุดแห่งเครือจักรภพกับเกาะใหม่แห่งยูโทเปีย คู่มือทองที่ไม่มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าความบันเทิงขนานแท้”
กระนั้น ด้วยความที่ Utopia ของ More อุดมไปด้วยคำถามยากๆ ซ้ำยังเขียนเสียดสีสภาพสังคมอังกฤษช่วงที่เขามีชีวิต คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ความนิยมยืนยงคงกระพันมา 500 กว่าปี คุณค่าของ Utopia จึงมีมากกว่าแค่การเล่นสนุกของ More เพราะเป็นผลผลิตแห่งยุคเปลี่ยนผ่านทางความคิดทางสังคมและการเมืองในโลกตะวันตกอีกด้วย และมีความเป็นการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้
นักยูโทเปียศึกษา Mark Stephen Jendrysik แบ่งเหตุผลที่ทำให้ Utopia ของ More ยังทรงอิทธิพลที่สุดในงานประเภทยูโทเปียไว้ 4 ข้อ
1. ทุกจุดของข้อเขียนเป็นประเด็นถกเถียงในระดับรากฐาน เพราะมันยียวนกลับไปล้อเล่นกับสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความปกติ
2. Utopia ของ More กลายเป็นแม่แบบสำหรับใช้ความคิดแบบยูโทเปียในการวิพากษ์และวางแผน
3. Utopia ของ More กลายเป็นพิมพ์เขียวให้นักเขียนยูโทเปียรุ่นหลังได้ปรับใช้เดินตาม โดยเฉพาะการวางบทบาทให้ “มนุษย์” เป็นผู้ลงมือสร้างโลกอุดมคติ ไม่ใช่พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิอื่นใด
4. More ให้ภาพ Utopia ลึกได้ถึงระดับรายละเอียด ไม่ใช่นำเสนอชุดหลักการนามธรรมจับต้องไม่ได้ (Jendrysik เห็นว่าข้อนี้สำคัญที่สุด)

ยูโทเปียคืออะไร
ยูโทเปียเป็นความคิดที่ถูกสร้างขึ้นจากโลกตะวันตก รากของมันมาจากกรอบคิดมนุษยนิยมในช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) นักวิชาการบางคนชี้ให้เห็นรากของมันที่อยู่ในขนบเรื่องเล่าตามคริสต์ศาสนา จากการมอบฉากดินแดนสรวงสวรรค์ผ่าน Garden of Eden และฉากโลกมนุษย์ที่ปนเปื้อนความชั่วร้ายหลังถูกพระเจ้าขับออกจากสวรรค์ (The Fall) ด้วยส่วนผสมที่มีความตะวันตกอยู่สูงนี้ การนำยูโทเปียไปเปรียบเทียบกับกรอบคิดอุดมคติที่อยู่ในวัฒนธรรมหรือบริบทอื่น จึงไม่ต่างจากกรอบคิดอื่นๆ ที่จำเป็นต้องทำไปอย่างระมัดระวังมาก
อย่างไรก็ตาม Lyman Tower Sargent นักยูโทเปียศึกษา บรรณาธิการผู้ก่อตั้งวารสารวิชาการ Utopian Studies ก็ชี้ให้เห็นว่า การมีความฝันทางสังคม (social dreaming) และแรงปรารถนาในการหาทางให้โลกดีขึ้น/มีสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่พบได้ในทุกวัฒนธรรมอย่างเป็นสากล จีนก็มีอุดมคติให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่มีความประสานกลมกลืน ดินแดนที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมในทวีปแอฟริกาหรือประเทศอินเดียก็แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความคิดยูโทเปียกับขบวนการปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม แน่นอนว่าตามนัยนี้เราก็อาจเรียกความเชื่อที่คล้ายๆ กัน ่เช่น “พระศรีอาริย์” ว่าเป็นยูโทเปียแบบหนึ่งก็ได้ เพราะมันเป็นหนึ่งในคำอธิบายที่เผยให้เห็นจินตนาการต่อรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ไม่ว่าจะทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ซึ่งมาพร้อมกับแรงปรารถนาที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม (หากจะมองว่าความเท่าเทียม=ความยุติธรรมตามนักปรัชญาบางคน)
ความเป็นเครื่องมือที่ใครจะนำไปใช้ดีเลวอย่างไรก็ได้ของยูโทเปีย ยังเห็นได้ผ่านคำอธิบายของ Jendrysik ที่ว่า
“ความคิดแบบยูโทเปียบางส่วนมีต้นกำเนิดมาจากลัทธิล่าอาณานิคมในยุโรป บ่อยครั้งเจ้าอาณานิคมที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานก็ทำไปบนฐานคิดของการสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรมและอพยพตัวเองจากโลกที่ไม่สมประกอบแสนอันตราย เพื่อตอบสนองความคิดนี้ เหยื่อของลัทธิล่าอาณานิคมเองก็นำเอากรอบคิดและโครงสร้างแบบยูโทเปียมาใช้เป็นรูปแบบและวิถีแห่งการต่อต้านเช่นกัน”
ยูโทเปียจึงเป็นอีกหนึ่งความคิดที่มีความยืดหยุ่นใช้ได้กับหลากหลายจุดประสงค์และอุดมการณ์ (แม้แต่เผด็จการก็มียูโทเปียในแบบของตัวเอง) แต่โดยหลักแล้วมันเป็นความคิดหรือจินตนาการถึงความเปลี่ยนแปลงที่ปลดเปลื้องข้อจำกัดให้มากที่สุด และนำเสนอภาพความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ดูผิวเผินอาจเป็นการเล่นพิเรนทร์ของนักเขียน ส่วนวิถีปฏิบัติหรือสถาบันในงานเขียนประเภทนี้ยังอาจถูกตัดสินได้ว่าไร้เดียงสา อันตราย เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ด้วยวิธีนี้เองที่อนุญาตให้เห็นแนวทางมองโลกและความเป็นอยู่ของผู้คนในรูปแบบแบบอื่นๆ
จะดีจะเลว ความคิดแบบยูโทเปียจึงไม่ใช่สิ่งเหลวไหลเสมอไป เพราะขณะที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจถูกรับรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเงื่อนไขเวลาและสถานที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้นั้นอาจกลายเป็นสิ่งปกติใหม่ที่สถาปนาขึ้นมาก็ได้ เช่นครั้งหนึ่งเราจินตนาการถึงการศึกษาสำหรับทุกคนไม่ออก ซ้ำร้ายในสายตาของนักคิดบางคน การให้การศึกษาแก่ทาสหรือชนชั้นล่างรังแต่จะนำมาซึ่งความโกลาหลขนาดใหญ่ แต่ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป การศึกษาก็ได้กลายมาเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิพึงมีพึงได้โดยไม่เกี่ยงฐานะ (อย่างน้อยก็ในทางหลักการ)

ยูโทเปียกับสังคมนิยม
ดังที่กล่าวไปแล้วว่ายูโทเปียสามารถเชื่อมต่อได้กับหลายอุดมการณ์ จึงไม่แปลกที่มันจะถูกโยงเข้ากับ “สังคมนิยม” เพราะเอาเข้าจริงยูโทเปียแบบสังคมนิยมก็มีอยู่จริงๆ การที่ Utopia ของ More พูดถึงการยกเลิกระบบทรัพย์สินส่วนบุคคล ก็ไปด้วยกันได้กับกรอบคิดสังคมนิยมที่มีเป้าหมายในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ อาจสรุปแบบหยาบๆ ว่า การยกเลิกทรัพย์สินส่วนบุคคลจำเป็นต้องมีเพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ และเปลี่ยนให้ความมั่งคั่งเป็นทรัพย์สินร่วมกันของทุกคน
ทว่ากระแสยูโทเปียแบบสังคมนิยมนี้กลับไม่ได้ถูกยอมรับกว้างขวางนัก โดยเฉพาะฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง ที่วิจารณ์ว่ามันละทิ้งตัวแปรสำคัญซึ่งจะทำให้สังคมนิยมเกิดขึ้นได้ นั่นคือ “การต่อสู้ทางชนชั้น” และเปลี่ยนไปเชื่อว่าคนในทุกชนชั้นจะสมัครใจเดินไปตามเส้นทางสังคมนิยมยูโทเปีย กระทั่งตัว Karl Marx ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกยูโทเปียตลอดการมีชีวิตของเขา เพราะมองว่าทฤษฎีของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตทางสังคมและกระบวนการทางการเมือง หาใช่ชุดคาดคะเนหรือคู่มือออกแบบสังคมไม่ ตัว Marx ก็รู้ดีว่าสังคมที่เรียกร้องนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของตน การปลีกย่อยรายละเอียดจึงเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้และรังแต่จะส่งผลเสีย
Terry Eagleton นักทฤษฎีวรรณกรรมชาวอังกฤษสายมาร์กซิสต์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า
“Marx ยืนกรานที่จะคัดค้านลัทธิยูโทเปียอยู่ตลอด เขาไม่เคยเห็นภารกิจของตัวเองเป็นการวาดพิมพ์เขียวในอุดมคติสำหรับโลกอนาคต หากเป็นการวิเคราะห์และแก้ปมความขัดแย้งที่แท้จริงในปัจจุบัน”
ควรทดไว้เล็กน้อย การเหมารวมและยึดว่า Marx = สังคมนิยมแท้หนึ่งเดียว ทั้งๆ ที่มีนักสังคมนิยมคนอื่นนอกจาก Marx รวมถึงการละความต่างระหว่าง socialism กับ communism แม้อาจพออนุโลมได้แต่ต้องยอมรับด้วยว่าการยืนบนสมมติฐานนี้จะลดมิติทางกรอบคิดไปหลายชั้นทีเดียว

ยูโทเปียล้มเหลว?
Ideology and Utopia (1936) ของนักสังคมวิทยาฮังการี Karl Mannheim กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์กับยูโทเปียเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ผู้ถูกปกครองจะใช้ความคิดยูโทเปียเพื่อประมวลความต้องการต่อความเปลี่ยนแปลง และท้าทายเงื่อนไขที่กำลังเป็นอยู่ ส่วนฝ่ายผู้ปกครองจะใช้อุดมการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในอำนาจของตัวเอง และย้ำเตือนว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะสังคมที่เป็นอยู่นั้นถูกต้องชอบธรรมตาม “หลักธรรมชาติ” อยู่แล้ว ในแง่นี้ ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องใช้อุดมการณ์ (หรือเครื่องมืออื่นใด) ในการกำจัดตัวแปรที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งที่อยู่ในรูปแบบความเป็นจริงหรือจินตนาการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสังคมอันถูกต้องชอบธรรมและเป็นธรรมชาติตามชนชั้นผู้ปกครอง
ความเหลื่อมกันระหว่างอุดมการณ์ ยูโทเปีย กับความเป็นจริงนี้เองที่อาจทำให้โครงการสังคมในอุดมคติทั้งหลายยังไม่เป็นจริง (บางคนอาจถึงขนาดเรียกว่า “ล้มเหลว”) หากว่าตาม Jendrysik สาเหตุหนึ่งเกิดจากวิธีคิดของนักปฏิวัติที่ว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังไร้เสรีภาพ ทำให้ความคิดแบบยูโทเปียที่จะสร้างความเท่าเทียมและสถาปนาความยุติธรรม ล้วนติดกับดักความคิดในการ “บังคับให้คนมีเสรีภาพ” เพราะมันเปิดทางให้แก่ความรุนแรงเพื่อก่อร่างสังคมใหม่โดยผู้นำการปฏิวัติ
แม้ความคิดทางการเมืองแบบยูโทเปียจะยังไม่ประสบผลสำเร็จจนเราได้อยู่ในสังคมอุดมคติหรือสวรรค์บนดิน แต่ Jendrysik ยังคงชี้ให้เห็นประโยชน์ของมันในการให้ช่องทางสำหรับวิพากษ์ยุคสมัยและตรากตรำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม ทั้งยังเปิดให้เห็นว่าอาจมีองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่เป็นตัวเลือกนอกเหนือไปจากที่กำลังเป็นอยู่
Jendrysik ยังย้ำบทเรียนที่ได้จากประวัติศาสตร์การเมืองแบบยูโทเปียไว้ทำนองว่า ความคิดยูโทเปียร่วมสมัยจำเป็นต้องตระหนักถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คำตอบสุดท้ายว่าสังคมควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เนื่องจากประวัติศาสตร์บอกเราแล้วว่า หากเรามีภาพสังคมอุดมคติที่ตายตัวไม่ยืดหยุ่นต่อความเป็นจริง โอกาสที่จะเกิดการบิดเบือนเจตนารมณ์จากเดิมที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นไปตามความถูกต้องชอบธรรมกลายเป็นสังคมความถูกต้องชอบธรรมถูกกำหนดให้เป็นในแบบที่ผู้ปกครองต้องการก็จะมีสูงมาก หรือหากว่าตามที่ Mannheim บรรยายไว้ อุดมการณ์และยูโทเปียต่างไม่อาจมีค่าเท่ากับความเป็นจริงได้ เพราะความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Dystopia จินตนาการของสังคมยูโทเปียที่ถูกโต้กลับ
ความจริงที่ต้องยอมรับคือคนจำนวนมากไม่ได้มีความหวังต่อโลกยูโทเปียอีกต่อไป ทิศทางที่โลกปัจจุบันกำลังมุ่งไปนั้นสวนทางกับโลกอุดมคติอย่างมาก เช่น ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงแต่อย่างใด ในสภาพการณ์นี้ความคิดต่อตานยูโทเปียที่ได้โอกาสสะสมกำลังจนแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่าง “ดิสโทเปีย” (dystopia) จึงเป็นที่เผยแพร่ แทรกซึม และให้ความรู้สึกสมจริงแก่คนยุคปัจจุบันมากกว่า
นิยามของดิสโทเปียก็มีมากพอๆ กับยูโทเปีย ยกตัวอย่างเช่น Sargent ให้นิยามดิสโทเปีย (dystopia) ไว้ว่า สังคมซึ่งไม่มีอยู่จริง ที่มีการบรรยายรายละเอียดจำนวนมาก มักถูกกำหนดเวลาและสถานที่ให้ผู้อ่านร่วมสมัยมองว่าเลวร้ายกว่าสังคมที่พวกเขามีชีวิตอยู่
Russell Jacoby นักประวัติศาตร์อเมริกัน บอกว่า ดิสโทเปียพยายามหาทางทำให้กลัวด้วยการเน้นกระแสร่วมสมัยที่เป็นภัยต่อเสรีภาพ
ส่วนนักเขียนนิยายดิสโทเปียชื่อดังอย่าง Margaret Atwood มองดิสโทเปียในฐานะภาพฉายของเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ตรรกะถูกขยายไปจนสุดขั้ว
Jendrysik สรุปความต่างระหว่างยูโทเปียกับดิสโทเปียไว้ว่า ความหวังเป็นหัวใจของความคิดแบบยูโทเปีย ในขณะที่จุดสนใจของดิสโทเปียจะอยู่ที่ความกลัว
“ถ้ายูโทเปียมีรากฐานอยู่บนประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ ความเป็นปึกแผ่น และภราดรภาพ ดิสโทเปียก็มีรากฐานบนการแยกตัว การโดดเดี่ยว และการเชื่อมต่อไม่ติด”
เขายังกล่าวตอนที่พูดถึงนิยายดิสโทเปียของ Ursula K. Le Guin อย่าง The Ones Who Walk Away From Omelas อีกว่า “เป็นอุปมานิทัศน์จากสังคมที่พวกเราอยู่ เราอยู่ได้ด้วยการกดขี่ผู้อื่นที่เรามองไม่เห็น เราสร้างทฤษฎีต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การกดขี่ของคนส่วนใหญ่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เราพยายามซ่อนความชั่วร้ายในโลกของเราจากตัวพวกเราเอง งานเขียนดิสโทเปียเป็นการถามว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความชั่วร้ายนั้น”

ทำไมเรายังต้องการยูโทเปีย
ยูโทเปียเป็นอีกหนึ่ง “Idea” ที่เป็นผลผลิตขึ้นจากเวลาและสถานที่หนึ่ง ประเด็นคือสังคมทุกวันนี้เราอยู่กันโดยปราศจาก Idea (ในสายตาของนักคิดบางคนถึงขนาดเห็นว่าการปฏิวัติที่ผ่านมาล้มเหลวเพราะขาด Idea)
การไร้ซึ่งยูโทเปียยังหมายถึงการไร้ความหวัง ซ้ำยังเป็นการปล่อยให้เครื่องมือทางการเมืองที่สามารถใช้วิพากษ์สังคมได้หายไปเสียดื้อๆ ขณะที่กลไกอุดมการณ์ของรัฐ/ชนชั้นปกครองยังคอยผลิตซ้ำอุดมการณ์และความเชื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของมันไว้อยู่ตลอดเวลา เพราะต้องไม่ลืมว่า หากยูโทเปียคือการมีสังคมที่ยุติธรรมและเสมอภาค มันก็ย่อมเป็นดิสโทเปียสำหรับกลุ่มคนซึ่งมีสถานะพิเศษภายใต้ระเบียบสังคมเก่า ในทางกลับกัน สังคมที่ไม่ยุติธรรม มีโครงสร้างที่ความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม เป็นเรื่องปกติชอบธรรม ก็ย่อมเป็นดิสโทเปียสำหรับฝ่ายที่โดนเอาเปรียบเช่นกัน
สำหรับ Jendrysik เราอยู่ในโลกที่ไม่มียูโทเปียไม่ได้ เพราะนอกจากเราจะเป็นสัตว์ยูโทเปีย (Homo utopius) หรือหากจะว่าตามที่นักเขียนอย่าง Oscar Wilde บอกไว้
“แผนที่โลกซึ่งไม่รวมยูโทเปียไว้ด้วยนั้น ไม่สมควรแม้แต่จะชายตามอง เพราะมันตัดไปซึ่งดินแดนที่มนุษยชาติเทียบท่าตลอดมา ดินแดนซึ่งมนุษย์ชาติได้ทอดสายตามองไปยังดินแดนที่ดีกว่า จากนั้นค่อยทิ้งสมอปักหลัก”
Wilde ยังพูดในทำนองว่าโลกที่ปราศจากยูโทเปียคือโลกที่หยุดนิ่งไม่ก็ถอยหลัง เพราะ “ความก้าวหน้าคือความตระหนักต่อโลกยูโทเปียทั้งหลาย”

อ้างอิง
Mark Stephen Jendrysik. 2020. Utopia (Key Concepts in Political Theory). Polity.
Terry Eagleton. 2021. Marx (The Great Philosophers Series). Weidenfeld & Nicolson. p. 44.