เขียนโดย Jonah Walters
แปลโดย  จักรพล ผลละออ

ในวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี นับเป็นวันสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกต่างเข้าร่วมการเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศศ อันกลายไปเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศฝรั่งเศส นั่นคือเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ เมื่อปี ค.ศ. 1789 การลุกฮือที่ลือเลื่องและเป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะของเหตุการณ์ที่จุดประกายการปฏิวัติฝรั่งเศส

หากแต่คำถามที่น่าสนใจก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น หน้าตาของมันเป็นอย่างไร มันส่งผลต่อการก่อรูปทางสังคมในยุโรปและโลกใบนี้อย่างไร และการปฏิวัติฝรั่งเศสนี้มีความสำคัญอย่างไรต่อขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานในปัจจุบัน? ในบทความของวารสาร Jacobin ชิ้นนี้ เราจะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ในโอกาสครบรอบการทลายคุกบาสตีย์

การปฏิวัติฝรั่งเศสคืออะไร?

การปฏิวัติฝรั่งเศสนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ ในปี ค.ศ. 1856 นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส นามว่า อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอวิลล์ (Alexis de Tocqueville) ได้ศึกษาเอกสารที่รู้จักกันในชื่อ “บันทึกหนังสือร้องทุกข์” (grievance book) อันเป็นเอกสารที่รวบรวมข้อเรียกร้องของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมฝรั่งเศสซึ่งได้เรียกร้องต่อสภาฐานันดรที่เปิดประชุมในปี ค.ศ. 1789 ซึ่งองค์กรนี้เองจะกลายไปเป็นองค์กรที่บ่อนทำลายระบอบของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 และนำฝรั่งเศสเข้าสู่การปฏิวัติ ท็อกเกอร์วิลล์เขียนถึงสิ่งที่เขาค้นพบจากการศึกษานเอกสารนี้เอาไว้ว่า

เมื่อผมทำการรวบรวมและสำรวจเอกสารร้องทุกข์ทั้งหมดที่เขียนขึ้นด้วยความคาดหวังและความหวาดกลัวของคนสามัญในฝรั่งเศสยุคนั้น ผมก็ค้นพบและตระหนักว่าชาวฝรั่งเศสในยุคนั้นกำลังเรียกร้องให้ ดำเนินการล้มเลิกกฎหมายและกลไกรัฐทั้งหมดที่ดำรงอยู่ในฝรั่งเศสขณะนั้นให้หมดสิ้นทั้งระบบ ฉับพลันนั้นเองผมก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองในทันทีว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสนี้นับเป็นการปฏิวัติที่อันตรายและกินอาณาบริเวณกว้างขวางมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เราเคยรู้จักมา

กระบวนการของการปฏิวัตินั้นเปิดฉากขึ้นด้วยการลุกฮือของมวลชนในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1789 รวมถึงเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม ปีเดียวกันด้วย ก่อนที่การปฏิวัติจะนำมาซึ่งการล้มเลิกอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ของกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 การยกเลิกระบอบกษัตริย์ และการขจัดอิทธิพลของศาสนจักรคาทอลิคออกจากปริมณฑลทางการเมือง

การเปลี่ยนโครงสร้างสังคมขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมฝรั่งเศสนี้ได้ปลดปล่อยให้เกิดกระบวนการอันยิ่งใหญ่ทั้งสองมิติขึ้น กล่าวคือมันก่อให้เกิดกระบวนการปฏิวัติอันก้าวหน้า และพร้อมกันนั้นก็ก่อให้เกิดกระบวนการปฏิกิริยาย้อนกลับขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากเมื่อกระบวนการปฏิวัติขยับก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆนั้น กลุ่มพลังของชนชั้นผู้ครอบครองทรัพย์สินก็ไม่ต้องการให้ความเป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นตนเองถูกคุกคามจากการปฏิวัติ ดังนั้นสมาชิกในชนชั้นนี้จึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะยกเลิกความเปลี่ยนแปลงอันก้าวหน้าสุดขั้วที่เกิดจากการปฏิวัติ และพยายามร้องหาการรื้อฟื้นระเบียบและการแบ่งช่วงชั้นทางสังคมแบบเก่ากลับมา แม้ว่าบรรดานักปฏิวัติจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้นและประสานประโยชน์ของรูปแบบทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วเอาไว้ด้วยกันบนหลักการพื้นฐานที่จะเสริมสร้างความเสมอภาคทางสังคมที่มากขึ้นก็ตามหากแต่มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียดและความไม่มั่นคงทางสังคมนี้เอง นโปเลียน ก็ได้ปรากฏตัวขึ้นในหน้าฉากทางการเมืองพร้อมกับสถาปนารัฐโบนาปาร์ต (Bonapartist state) ขึ้นผ่านการทำสงความและการสร้างจักรวรรดิฝรั่งเศส ซึ่งท้ายที่สุดนั้นมันนำพาฝรั่งเศสไปสู่การถูกล้อมกรอบและยึดครองจากบรรดาพันธมิตรชาติยุโรป และตามมาด้วยการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์กลับเข้ามาในฝรั่งเศสอีกครั้ง

สภาพสังคมฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติเป็นอย่างไร?

สภาพสังคมฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ ประชาชนจำนวนมากของฝรั่งเศสอาศัยอยู่อย่างยากจนข้นแค้น โดยมีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากหรือยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้นน้อยมาก ชาวนาในชนบทของฝรั่งเศสอาศัยอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของชนชั้นขุนนาง ภายใต้ความสัมพันธ์แบบระบบศักดินา (Feudalism) ที่ชนชั้นขุนนางมีอำนาจเหนือชาวนา ในปี ค.ศ. 1901 ฌ็อง ฌอเรส (Jean Jaurès) ได้อธิบายถึงสภาพความสัมพันธ์เศรษฐกิจในชนบทของฝรั่งเศสช่วงก่อนการปฏิวัติเอาไว้ดังนี้

ชาวนาในชนบทถูกเรียกร้องให้จ่ายค่าธรรมเนียมในแทบทุกกิจกรรมที่พวกเขาทำ … สิทธิของขุนนางในระบอบศักดินาขยายตัวไปครอบคลุมแทยทุกอณูพื้นที่ของสังคม สิทธิของระบอบศักดินาเข้าไปมีอำนาจและครองสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือทรัพยากรธรรมชาติ พืชทุกชนิดที่เติบโตจากดิน ทุกสิ่งที่เคลื่อนไหว ทุกสิ่งที่หายใจ […] กระทั่งเปลวไฟที่กำลังเผาไหม้อยู่ในเตาอบขนมปังเก่าๆของชาวนา หากมันอยู่ในที่ดินของขุนนางก็ถือว่ามันเป็นของขุนนาง

สภาพการณ์เช่นว่านี้ดูเหมือนจะเป็นไปโดยทั่วกันในทุกชนบทของฝรั่งเศส ดังที่เราจะเห็นได้จากบันทึกของ อาเทอร์ ยัง (Arthur Young) เกษตรกรชาวอังกฤษที่ได้เดินทางไปตามชนบทของฝรั่งเศสช่วงก่อนการปฏิวัติ เขาอธิบายถึงสภาพชนบทของฝรั่งเศสว่า

ชาวนาที่ยากจนนั้นยากจนอย่างแท้จริง เด็ฏๆในชนบทสวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรกมอมแมมและขาดกะรุ่งกะริ่งอย่างที่สุด และสำหรับเด็กบางคนนั้นพวกเขาไม่มีกระทั่งเสื้อผ้าจะสวมใส่ และดูเหมือนว่าถุงน่องหรือรองเท้าจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่พวกเขาไม่อาจหามาสวมใส่ได้ หนึ่งในสามของที่ดินที่ข้าพเจ้าพบในดินแดนนี้ไม่ได้เพาะปลูกและถูกทิ้งร้างให้อยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากแสนสาหัส ข้าพเจ้าสงสัยอย่างยิ่งว่ากษัตริย์ บรรดาเสนาบดี รัฐสภา และอาณาจักรนี้อธิบายกับประชาชนของเขาอย่างไร ที่ประชาชนต้องตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากเช่นนี้ ผู้คนนับล้านที่ควรได้ใช้กำลังของเขาทำงานอย่างขยันขันแข็งกลับถูกลปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวและอดอยาก สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์อันน่าเกลียดชังอย่างที่สุด ร่วมกับระบอบศักดินาอันน่ารังเกลียดที่ให้อภิสิทธิ์แก่พวกชนชั้นขุนนาง

ขณะเดียวกันนั้นชีวิตของช่างฝีมือและคนงานอิสระก็ตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากไม่ต่างกัน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสในยุคนั้นกำลังบ่อนทำลายระบบสมาคมช่างฝีมือ และทำลายความสามารถของช่างฝีมือในการกำหนดควบคุมการทำงานของตนเอง ขณะที่บรรดาคนงานรับจ้างรายวันนั้นพวกเขาจะอาศัยอยู่ในเมืองได้ก็ต่อเมื่อมีเอกสารรับรองว่าถูกจ้างงานอยู่จริง ชีวิตของพวกเขาถูกจับตามองจากบรรดาเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา

นอกจากนั้น คลื่นของแรงงานอพยพก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในด้านประชากรของเมืองปารีส นักประวัติศาสตร์อย่าง เอริก ฮาซาน (Eric Hazan) ประมาณการว่า ในปี ค.ศ. 1789 ประชากรอพยพนั้นมีจำนวนราวสองในสามของประชากรในเมืองปารีสทั้งหมด และบรรดาประชากรอพยพนี้ “พวกเขาจำเป็นต้องมีเอกสารรับรองการเดินทางจากเขตที่ตนเองจากมา หากไม่มีเอกสารเหล่านี้พวกเขาจะจัดประเภทเป็นคนจรจัดและถูกส่งไปอยู่ในเขตสลัมขอทาน”

ในห้วงเวลาเดียวกัน ชนชั้นขุนนางและบรรดาบาทหลวงที่มีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็น 1.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ กลับมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ขุนนางจำนวนมากดำรงอยู่ชีวิตอยู่อย่างหรูหราร่ำรวยและทรัพย์สินรวมถึงตำแหน่งของพวกเขานั้นยังสามารถส่งต่อให้กับลูกหลานตามสายเลือดด้วย ส่วนศาสนจักรคาทอลิคนั้นก็ครอบครองทรัพย์สินประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินเอกชนทั้งประเทศ

ทว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีก่อนจะเกิดการปฏิวัตินั้น สังคมฝรั่งเศสได้ก่อกำเนิดกลุ่มชนชั้นใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือกลุ่มชนชั้นของผู้มั่งมี หรือ ชนชั้นกระฎุมพี อันเป็นกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมากกว่าบรรดาช่างฝีมือและชาวนาร่ำรวยแต่ไม่มีอำนาจอย่างพวกขุนนาง กลุ่มชนชั้นนี้เติบโตขึ้นมาในเมืองต่างๆ และเริ่มพยายามจะเข้าไปแทนที่ชนชั้นขุนนางที่กำลังเสื่อมอำนาจลงในช่วงนั้น

สภาพการณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก่อนเกิดการปฏิวัติก็คือ ฝรั่งเศสกำลังประสบกับวิกฤติการณ์ทางการคลัง ระบบภาษีที่ถูกพัฒนาและนำมาบังคับใช้ในระหว่างช่วงสงครามเจ็ดปีนั้นไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพออีกต่อไป ขณะที่บรรดานายทุนเงินกู้ต่างชาติก็เริ่มเรียกร้องทวงหนี้สินที่อาณาจักรฝรั่งเศสกู้ยืมเอาไว้คืน นอกจากนั้นภาคการเกษตรของฝรั่งเศสยังประสบปัญหาจากพายุและภัยแล้งอย่างต่อเนื่องจนถึงปี ค.ศ. 1788 และท้ายที่สุดการตกลงทำสัญญาการค้าเสรีระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็ทำให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากอังกฤษที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากอุตสาหกรรมฝรั่งเศส อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคืออุตสาหกรรมสิ่งทอของฝรั่งเศส

สถานการณ์ของฝรั่งเศสตกอยู่ท่ามกลางความเลวร้าย และท่ามกลางความหวาดกลัวต่อวิกฤติทางการคลัง กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ก็พยายามรีดเอาภาษีจากประชาชนมากยิ่งกว่าเดิม พร้อมกับดำเนินนโยบายที่จะเรียกเก็บภาษีจากทุกกลุ่มชนชั้นในสังคม

หากทว่าความพยายามของกษัตริย์ก็ถูกต่อต้าน เสียงตะโกนของความไม่พอใจและการต่อต้านสะท้อนดังขึ้นทั้งในเมืองต่างๆ ตลอดจนในชุมชนชนบท หลุยส์-เซบาสเตียน แมร์ซิเยร์ (Louis-Sébastien Mercier) นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสได้เขียนถึงการต่อต้านของคนงานในเมืองช่วงนั้นเอาไว้ดังนี้

การต่อต้านและความไม่พอใจในหมู่ประชาชนนั้นดำรงอยู่มานานหลายปี แต่วันนี้มันแสดงออกให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการค้าขาย บรรดาเด็กฝึกงานและคนหนุ่มต่างก็ต้องการความเป็นอิสระ พวกเขาต่อต้านและไม่ให้ความเคารพต่อช่างฝีมือที่เป็นนายจ้าง และพวกเขาเริ่มดำเนินการรวมตัวกัน [คบค้าสมาคม] การดูถูกและต่อต้านต่อกฎโบราณนี้ไม่ต่างจากการต่อต้านระเบียบของสังคม … บรรดาแรงงานกำลังเปลี่ยนให้โรงพิมพ์กลายไปเป็นซ่องโจรดีๆนี่เอง

ส่วนสภาพสังคมในชนบทนั้น บรรดาชาวนาถูกเรียกร้องให้สละกระทั่งอาหารสำหรับการดำรงชีพของตนเองเพื่อเป็นบรรณาการต่อกษัตริย์และศาสนจักร นี่คือการผลักให้ชาวนาขยับไปสู่ความอดอยาก นายกเทศมนตรีของเขตชนบทคนหนึ่งบรรยายถึงสภาพชุมชนของตนเองว่า “ในรัศมีระยะสามไมล์จากที่นี่ไป ไม่มีข้าวสาลีอยู่แม้แต่เกวียนเดียว และประชาชนในแถบนี้แทบจะฆ่ากันตายเพื่อแย่งอาหารเพียงตะกร้าเดียว” ในสภาพเช่นนี้ชาวนาย่อมไม่ต้องการจะมอบอาหารหรือสิ่งของที่ตนมีให้แก่ชนชั้นขุนนางเพื่อให้พวกเขาเอาไปจ่ายหนี้จำนวนมหาศาลที่เกิดจากสงครามซึ่งชาวนาไม่ได้ร้องขอ

ในสถานการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น จะมีหนทางแก้ปัญหาอื่นใดอีกเล่า นอกจากการปฏิวัติ?

เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789?

วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 คือวันที่มวลชนชาวปารีสลุกฮือขึ้นจับอาวุธบุกเข้าถล่มและยึดคุกบาสตีย์ อันกลายเป็นเหตุการณ์ที่เป็นภาพตัวแทนของห้วงเวลาแห่งการเปิดฉากการปฏิวัติ การทำลายคุกบาสตีย์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากกระแสการปฏิรูปที่เริ่มต้นขึ้น ประกอบกับความโกรธเคืองของมวลชนที่มีต่อสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ที่ต้องการจะประนีประนอมกับกษัตริย์ ดังนั้นมวลชนชาวปารีสทั้งแรงงานอิสระและบรรดาช่างฝีมือจึงพากันจับอาวุธลุกฮือเข้าโจมตีคุกบาสตีย์ ยึดดินปืนและอาวุธภายในคุก รวมถึงปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังเอาไว้ในคุกแห่งนี้ด้วย

การประกาศยึดครองคุกบาสตีย์ในนามของการปฏิวัติ คือการส่งข้อความอันทรงพลังอำนาจไปถึงกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังคงครองอำนาจเหนือฝรั่งเศสอยู่ มันคือข้อความที่บอกว่า การเปลี่ยนแปลงในประเทศฝรั่งเศสนี้จะต้องไม่ใช่เพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มันจะต้องเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการปฏิวัติทางสังคม จากจุดนี้เองมันส่งผลให้กระบวนการปฏิวัติฝรั่งเศสที่กำลังเฉือยชาและกำลังระเหยหายไปนั้น กลับมามีกระแสสูงขึ้นอีกครั้ง

เอริก ฮาซาน อธิบายเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า

การถล่มคุกบาสตีย์ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิวัติฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านั้นมันยังกลายไปเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่คนทั่วโลกจดจำได้ ทว่าภาพจำอันยิ่งใหญ่นี้กลับลดทอนความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์นี้ การทลายคุกบาสตีย์ไม่ใช่ทั้งห้วงเวลาแห่งปาฏิหารย์ ไม่ใช่บทสรุปของการปฏิวัติ และไม่ใช่จุดสูงสุดของการปฏิวัติ “ที่ดี” ก่อนการเริ่มต้นของการปฏิวัติ “ที่เลว” กล่าวคือมันไม่ใช่จุดสูงสุดของการปฏิวัติที่ดีในช่วง ค.ศ. 1789-1793 ก่อนจะเข้าสู่การปฏิวัติที่เลวในช่วงยุคแห่งความสะพรึงกลัว แต่การทลายคุกบาสตีย์นั้นคือจุดเริ่มต้นออกตัวของการลุกฮือในปารีสที่จะพุ่งทะยานต่อไป…

การทลายคุกบาสตีย์กลายเป็นลางบอกเหตุก่อนการมาถึงของการบุกเข้ายึดพระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) จากมวลชน ซ็อง-กูว์ลอต หลายพันคนในปี ค.ศ. 1792 อันจะตามมาด้วยการลุกฮือของคอมมูนต่างๆ และลงท้ายด้วยการถอดถอนกษัตริย์ออกจากตำแหน่ง การทลายคุกบาสตีย์จึงไม่ใช่ทั้งจุดสูงสุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส และไม่ใช่ตัวเร่งให้เกิดการปฏิวัติ หากแต่มันเป็นห้วงเวลาที่มวลชนผู้ถูกกดขี่ชาวปารีสได้แทรกตัวเองเข้าไปปรากฏตัวเป็นตัวแสดงทางการเมืองหนึ่งท่ามกลางกระบวนการปฏิรูปที่กำลังดำเนินอยู่ในฝรั่งเศส การปรากฏตัวนี้เป็นทั้งการท้าทายโดยตรงต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของกษัตริย์ และท้าทายต่ออำนาจอันเชื่องช้าของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในแง่นี้เอง การทลายคุกบาสตีย์จึงช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์จากห้วงเวลาแห่งการปฏิรูปอันมะงุมมะงาหรา ให้ขยับไปสู่ห้วงเวลาของการปฏิวัติอย่างแท้จริง

ใครคือ ซ็อง-กูล็อต?

ซ็อง-กูล็อต คือชื่อเรียกขานของกลุ่มมวลชนที่เรียกได้ว่าเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนแรงงานยากจน” เอริค ฮอบส์บอว์ม (Eric Hobsbawm) เขียนถึงซ็อง-กูล็อตว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เป็น “กำลังหลักและผู้ผลักดันการปฏิวัติ” ชื่อของซ็อง-กูล็อตนั้นมีที่มาจากการที่พวกเขาไม่มีเงินมากพอจะหาซื้อกางเกงกูล็อตมาสวมใส่แบบชนชั้นสูงในฝรั่งเศสได้ ในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นกลุ่มซ็อง-กูล็อตคือกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวและมีบทบาททางการเมืองอยู่บนท้องถนน ในขณะที่บรรดานักปฏิวัติชนชั้นกระฎุมพีนั้นแสดงผลงานทางการเมืองของพวกเขาในที่ประชุมสภาและจากองค์กรนิติบัญญัติ  

ขบวนการซ็อง-กูล็อตนั้นมีความมุ่งหมายที่จะต่อสู้เรียกร้องและสถาปนาระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ยึดโยงอยู่กับชุมชนระดับล่างสุดของสังคม ที่จะเป็นเครื่องการันตีว่าพวกเขาจะสามารถเขาถึงอาหารที่จำเป็นสำหรับการยังชีพได้อย่างแน่นอนและมั่นคง มวลชนคนยากจนนั้นเรียกร้องให้พวกเขามีความมั่นคงด้านอาหารไม่ต่างจากบรรดาชนชั้นขุนนาง อันมีที่มามาจากความไม่พอใจจากความแตกต่างของคุณภาพอาหารระหว่างชนชั้นขุนนางคนร่ำรวยกับอาหารคุณภาพต่ำที่คนจนได้รับ

การลุกฮือครั้งสำคัญของ ซ็อง-กูล็อต คือการลากตัวกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ออกมาจากที่หลบซ่อนในพระราชวังตุยเลอรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 อันถือเป็นชชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของขบวนการมวลชนที่มีชัยชนะเหนือกษัตริย์ ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานทรยศต่อชาติด้วยการไปสมคบกับบรรดากษัตริย์ต่างชาติเพื่อบ่อนทำลายการปฏิวัติในประเทศบ้านเกิด ภายหลังชัยชนะอันยิ่งใหญ่นี้ ซ็อง-กูล็อต ได้เริ่มต้นการเดินขบวนประท้วงขึ้นพร้อมกับชูข้อเรียกร้องภายใต้คำขวัญ “ความเท่าเทียมและขนมปัง” พวกเขาอธิบายว่า “ความร่ำรวยและความยากจนจะต้องสลายหายไปในโลกแห่งความเท่าเทียมเสมอภาค ในอนาคตจะต้องไม่มีเหตุการณ์ที่คนรวยได้กินขนมปังซึ่งทำจากแป้งสาลีอย่างดีในขณะที่คนจนต้องกินขนมปังที่ทำจากรำข้าว”

ขบวนการซ็อง-ก็ลอตนั้นขับเคลื่อนด้วยมุมมองสำคัญสองมิติคือ เป็นเสรีภาพจากทรราชย์และเข้าถึงอาหารได้อย่างเท่าเทียม

ข้อเรียกร้องของ ซ็อง-กูล็อต ที่ต้องการให้มีการควบคุมราคาอาหารนั้นช่วยให้เรามองเห็นพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจฝรั่งเศสในห้วงเวลานั้นได้อย่างชัดเจน สภาพเศรษฐกิจในห้วงเวลาดังกล่าวนั้นบรรดาช่างฝีมือถูกบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนการทำงานจากเดินที่ทำการผลิตแบบพอยังชีพไปสู่การทำงานแบบรับค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาพบว่าการทำงานแบบเดิมนั้นไม่อาจหาเงินได้มากพอจะซื้ออาหารสำหรับการยังชีพ ในข้อเรียกร้องของ ซ็อง-กูล็อต พวกเขาเรียกร้องการควบคุมอาหารให้มีราคาถูก ไม่ใช่การเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น นับว่าเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพไปสู่ระบบค่าจ้างแรงงาน

ขบวนการ ซ็อง-กูล็อต มักจะเดินขบวนไปตามท้องถนนโดยติดอาวุธอย่างง่ายจำพวกหอกยาวที่ใช้ปักหัวของพวกพ่อค้าที่กักตุนอาหารและพวกกษัตริย์นิยม นี่คือภาพที่เห็นได้เป็นประจำในห้วงเวลาของการปฏิวัติ ขบวนการมวลชนนี้ไม่เพียงส่งสัญญาณข่มขู่ถึงระบอบการแบ่งชนชั้นทางสังคมของระบอบกษัตริย์เท่านั้น แต่ขบวนการนี้ยังส่งผลกดดันให้สถาร่างรัฐธรรมนูญต้องยอมรับจุดยืนทางการเมืองที่ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม และทำตามข้อเรียกร้องและความคาดหวังของคนยากคนจนอีกด้วย

มีนักประวัติศาสตร์บางคนอย่างเช่น อัลแบร์ต โซบูล (Albert Soboul) และนักสังคมอย่างฌ็อง ฌอเรส ได้อธิบายว่า ซ็อง-กูล็อต นั้นเป็นรูปแบบขบวนการหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งคำอธิบายอาจจะฟังได้ไม่ค่อยตรงกับสภาพความเป็นจริงของบริบทสังคมฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 นัก ทั้งนี้ก็เพราะ ซ็อง-กูล็อต นั้นเป็นกลุ่มพันธมิตรทางสังคมที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและความยากลำบากจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ประกอบด้วย กลุ่มแรงงานรับจ้างรายวันที่ต้องทำงานรับค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน, ช่างฝีมือ (อย่างเช่น ช่างตัดเสื้อ) ที่ชีวิตของพวกเขาถูกทำให้ไม่มั่นคงด้วยการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการผลิตไปสู่การใช้ระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม และกลุ่มเด็กฝึกงานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานประกอบการของตนเองได้

ขบวนการ ซ็อง-กูล็อต มักจะดำเนินการทำสิ่งต่างๆด้วยสองมือของพวกเขาเอง และหลายครั้งพวกเขาไม่รีรอกระบวนการประชาธิปไตยหรือคำสัญญาของการปฏิวัติ ขบวนการมวลชนนี้ผลักดันแนวโน้มของการปฏิวัติให้รุดหน้าขึ้นในทุกเมื่อเชื่อวัน จนกระทั่งบรรดาชนชั้นกระฎุมพีเริ่มไม่ไว้วางใจการปฏิวัติ และมองว่าแนวโน้มนี้จะขยับเข้ามาท้าทายอำนาจของพวกเขาเอง อย่างไรก็ตามไม่ว่าซ็อง-กูว์ลอตจะมีสังกัดทางชนชั้นแบบไหนแต่การเคลื่อนไหวต่อสู้ของพวกเขาก็ส่งผลและสร้างคุณูปการให้แก่การปฏิวัติอย่างยิ่งยวด

ซ็อง-กูล็อต เป็นทุกสิ่งที่ ซ็อง-กูล็อตทำ พวกเขาคือคนที่ยืนอยู่แถวหน้าสุดเผชิญหน้ากับระบบอภิสิทธิ์ บ่อยครั้งพวกเขาต่อสู้ด้วยความรุนแรงบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องโลกที่เราสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างง่ายดายและมีระบบประชาธิปไตยที่ง่ายและเป็นประชาธิปไตยทางตรง และนี่คือลักษณะสำคัญของมวลชนในชื่อ ซ็อง-กูล็อต

สมาคมฌาโกแบงคือใคร?

ภายหลังจากขบวนการมวลชนซ็อง-กูว์อตประสบความสำเร็จในการล้มเลิกระบอบกษัตริย์ และนำพาชนชั้นกระฎุมพีเข้าสู่อำนาจ บรรดากษัตริย์ทั่วยุโรปต่างตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวว่าสิ่งที่เกิดในฝรั่งเศสจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าผู้ถูกกดขี่ในชาติของตนเองลุกขึ้นมาท้าทายและสั่นสะเทือนบัลลังก์ของตนเองบ้าง ออสเตรียและปรัสเซียเป็นประเทศแรกๆที่ประกาศต่อต้านระบอบแบบใหม่ของฝรั่งเศส ดังนั้นนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสจึงตอบโต้ด้วยการประกาศสงครามกับทั้งสองประเทศในปี ค.ศ. 1792

ในห้วงเวลานั้นเองมวลชนซ็อง-กูล็อตก็ได้เรียนรู้พลังอำนาจของขบวนการเคลื่อนไหวที่ติดอาวุธ และเดินหน้าเรียกร้องต่อรัฐบาลปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง พละกำลังของพวกเขานั้นไม่เพียงจะท้าทายต่อระบอบแบบเก่าแต่ยังท้าทายและกดดันต่อระบอบใหม่ของพวกกระฎุมพีอีกด้วย

ในห้วงเวลาวิกฤตนี้เอง รัฐบาลปฏิวัติจึงก่อตั้ง คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ (Committee of Public Safety) ขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤต คณะกรรมการนี้ถูกกำกับควบคุมภายใต้กลุ่มกำลังที่เข้มแข็งและก้าวหน้าที่สุดของการปฏิวัติ นั่นคือสามคมฌาโกแบง

สมาคมฌาโกแบงหรือที่มีชื่อเต็มว่า “สมาคมมิตรแห่งรัฐธรรมนูญ” ภายใต้การนำของ มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ (Maximillien Robespierre) ได้ฟูมฟักหน่ออ่อนของการผลักดันการปฏิวัติเอาไว้ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติของการปฏิวัติพวกเขาค้นพบว่าเพื่อจะจัดการปราบปรามฝ่ายปฏิกิริยาและควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดนั้นมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมที่เด็ดขาด อันประกอบด้วย มาตราการควบคุมราคาสินค้า, การยึดอาหารที่ถูกกักตุน และห้วงเวลาแห่งการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามที่จะกลายมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ยุคแห่งความสะพรึงกลัว” (Reign of Terror) ในยุคแรกของการปฏิวัติสมาคมฌาโกแบงถือเป็นที่รวมตัวของนักการเมืองหัวก้าวหน้าจำนวนมาก และในกลุ่มนี้จะมีบรรดานักการเมือง นักคิด นักปฏิวัติหัวก้าวหน้าที่รายล้อมโรแบสปิแยร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ กลุ่มมงตาญญาร์ด (Montagnards) ซึ่งในช่วงท้ายนั้นกลุ่มนี้จะขึ้นมามีบทบาทนำสูงสุดในสมาคม

ในทางการเมืองต้องกล่าวว่าสมาคมฌาโกแบงมีความแตกต่างอย่างมากกับกลุ่มอำนาจที่เข้ามาครองอำนาจในช่วงแรกของการปฏิวัติอย่างนักการเมืองผู้นิยมระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแบบนายพลลาฟาแยต (Lafayette) ผู้ซึ่งดูถูกสมาคมฌาโกแบงและเรียกขานว่าพวกฌาโกแบงนั้นเป็น “พวกกลุ่มสมาคมที่ละเมิดอำนาจอธิปไตย” และ “พวกเผด็จการพลเรือน” และแตกต่างจากพวกเสรีนิยมแบบ ฌ็อง-ซิลแว็ง บายยี (Jean-Sylvain Bailly) รวมถึงแตกต่างจากพวกอนุรักษ์นิยมสาธารณะรัฐแบบ ฌัก-ปีแยร์ บรีซโซ (Jacques-Pierre Brissot)

ถึงแม้ว่าบรรดาผู้นำของสมาคมฌาโกแบงจะมาจากชนชั้นกระฎุมพีไม่ใช่จากกลุ่มซ็อง-กูล็อต แต่สมาคมนี้ก็มีจุดยืนทางการเมืองที่เรียกร้องให้แก่กลุ่มซ็อง-กูล็อต กล่าวคือพวกเขายืนยันว่าจะต้องแยกสิทธิทางการเมืองออกจากเรื่องความมั่งคั่ง (ในช่วงต้นของการปฏิวัติ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกตั้งมีเฉพาะกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินเท่านั้น ส่วนบรรดาซ็อง-กูล็อตที่เป็นคนยากจนไม่มีสิทธิทางการเมืองใดๆเลย – ผู้แปล) โรแบสปิแยร์เขียนบันทึกของเขาเอาไว้ในปี ค.ศ. 1791 ดังนี้ “พลเมืองทุกคนมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ ดังนั้นเองพวกเขาจึงควรจะมีสิทธิ์ออกเสียงและสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ถูกกีดกันหรือแบ่งแยก”

อันที่จริงต้องกล่าวว่าสมาคมฌาโกแบง พร้อมด้วยเครือข่ายขององค์กรภราดรภาพอย่าง สมาคมเพื่อนแห่งสิทธิมนุษยชนและพลเมือง หรือ “สมาคมกอร์เดอลิเยร์” ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่และทำงานให้การศึกษาเกี่ยวกับการปฏิวัตินั้น มีบทบาทอย่างมากในการทำงานจัดตั้งให้เกิดขบวนการมวลชนที่กลายมาเป็นสมาชิกอันแข็งขันของขบวนการซ็อง-กูว์ลอต สมาคมฌาโกแบงนั้นมีบทบาที่แตกต่างจากพรรคการเมืองที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้อย่างมาก มวลชนซ็อง-กูว์ลอตนั้นได้รับการศึกษาทางการเมืองจากองค์กรปฏิวัติอย่างสมาคมฌาโกแบง ที่ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์และเผยแพร่แนวคิดของการปฏิวัติให้แพร่ขยายออกไป

จากความขยันขันแข็งและขนาดของสมาชิกสมาคมฌาโกแบงที่ขยายขึ้น ส่งผลให้เกิดการอภิปรายถึงสมาคมนี้ในที่ประชุมของสมัชชาแห่งชาติระหว่างช่วงแรกของการปฏิวัติด้วย ตามที่บาทหลวง เกรกัวร์ (Abbé Grégoire) ได้อธิบายเอาไว้

สมาคมฌาโกแบงนั้นตีพิมพ์และเผยแพร่หนังสือพิมพ์และใบปลิวรณรงค์ทางการเมืองซึ่งแพร่กระจายไปในชุมชนกว่าสี่ร้อยถึงห้าร้อยชุมชน สามสัปดาห์ถัดมาปรากฏการณ์นี้ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อหารือให้ออกพระราชกฤษฎีกาควบคุมการตีพิมพ์และเผยแพร่เอกสารทางการเมืองของสมาคมนี้ หากแต่ลงท้ายที่สุดที่ประชุมก็ลงมติรับรองว่าการแสดงความเห็นสาธารณะและการตีพิมพ์เอกสารทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่กระทำได้

เอริก ฮาซาน อธิบายว่า “สมาคมฌาโกแบงและเครือข่ายนั้นทำงานอย่างเป็นระบบในการขยายความคิดปฏิวัติออกไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรจะไร้สาระยิ่งกว่าการบอกว่า “ลัทธิฌาโกแบง” นั้นเป็นลัทธิของพวกอำนาจนิยมและลัทธิเผด็จการของพวกปารีส”

เหนือสิ่งอื่นใด สมาคมฌาโกแบงนั้นจริงจังอย่างมากกับการพยายามเปลี่ยนให้กระแสการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 กลายไปเป็นการปฏิวัติที่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงและคงทนถาวร พวกเขามองว่าบทบาทของตนเองนั้นคือการทำให้การปฏิวัติที่เกิดขึ้นดำรงอยู่อย่างแข็งแรงและหยั่งรากลึก รวมถึงปกป้องการปฏิวัติจากการถูกโค่นล้มทำลาย ดังที่โรแบสปิแยร์เขียนในปี ค.ศ. 1794

เมื่อบรรดาประชาชนได้ปลดดแอกโซ่ตรวนแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ที่ล่ามพวกเขาออกด้วยความกล้าหาญและการใช้เหตุผล พวกเขาล้วนก้าวเข้าสู่รางวัลแห่งเสรีภาพ เมื่อนั้นขุมกำลังแห่งคุณธรรมก็ได้ปลดปล่อยตนเองออกมาจากอ้อมแขนแห่งความตาย เพื่อฟื้นคืนความกระปรี้กระเปร่าแห่งคนหนุ่มสาว อันเต็มไปด้วยความภาคภูมิ ความกล้าหาญ และความมีวินัย ที่ขุมกำลังนี้ไม่อาจจะถูกหยุดยั้งเอาไว้ด้วยสิ่งกีดขวางใด แม้แต่กองทัพอันมหาศาลของทรราชย์ก็ไม่อาจกีดขวางพละกำลังนี้ หากแต่พละกำลังนี้จะหยุดลงก็ต่อเมื่ออยู่เบื้องหน้ากฎหมาย หากเราไม่อาจนำพาการปฏิวัติไปสู่ชะตาที่กล่าวมานี้ได้ มันย่อมเป็นความผิดของผู้ที่ควบคุมปกครองการปฏิวัตินี้

เราควรพิจารณา “ยุคแห่งความสะพรึงกลัว” อย่างไร?

ยุคแห่งความสะพรึงกลัวคือชื่อเรียกขานห้วงเวลาแห่งการใช้ความรุนแรงอย่างเข้มข้นภายใต้การนำของโรแบสปิแยร์ และสมาคมฌาโกแบง ในระหว่างห้วงเวลานี้เครื่องประหารกิโยตินกลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีศักยภาพที่สุดในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของการปฏิวัติ มีการประมาณการกันว่ามีกลุ่มปฏิปักษ์ปฏิวัติและนักคิดฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่ถูกประหารด้วยเครื่องกิโยตินกว่า 17,000 คน แม้ว่าตัวเลขนี้จะดูห่างไกลจากยอดผู้เสียชีวิตนับล้านในระหว่างยุคสงครามนโปเลียน แต่ผู้คนนับหมื่นที่ถูกประหารนั้นถูกฆ่าโดยปราศจากการไต่สวนหรือไม่ก็ถูกปล่อยให้ตายในคุก นักประวัติศาสตร์นามว่า ทิโมธี แทคเก็ตต์ (Timothy Tackett) ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตในยุคแห่งความสะพรึงกลัวเกือบ 40,000 ราย

ผลที่เกิดขึ้นจากยุคแห่งความสะพรึงกลัวนี้เป็นเรื่องที่อาจจะถกเถียงกันได้ แต่เรื่องหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธก็คือยุคแห่งความสะพรึงกลัวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับสถานการณ์ในฝรั่งเศสที่ต้องการความมั่นคงทางการเมืองและการทหารอย่างเร่งด่วนในขณะนั้น ในห้วงเวลานั้นบรรดาสมาชิกของ บรรดาสมาชิกของ ระบอบแบบเก่า ไม่ได้เป็นเพียงหุ่นเชิดไร้อำนาจ หรือสัญลักษณ์ของความร่ำรวยในอดีต และไม่ใช่ทรราชย์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่สมาชิกของระบอบแบบเก่าจำนวนมากเป็นผู้ต่อต้านอย่างแข็งขันในการต่อต้านการปฏิวัติ พวกเขาพยายามบ่อนทำลายกระบวนการปฏิวัติในทุกวิถีทาง และลอบสังหารสมาชิกของการปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านของการปฏิวัตินั้นอยู่ในสภาวะอ่อนแอ

โรแบสปิแยร์เขียนอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ในปี ค.ศ. 1794 ว่า

หากการเบ่งบานของรัฐบาลแห่งปวงประชาในห้วงเวลาแห่งสันติภาพนั้นคือความถูกต้อง การถือกำเนิดของรัฐบาลแห่งปวงประชาในโมงยามแห่งการปฏิวัตินั้นย่อมเป็นทั้ง ความถูกต้องและความสะพรึงกลัว ทั้งนี้ก็เพราะความถูกต้องโดยปราศจากความสะพรึงกลัวนั้นย่อมนำการปฏิวัติไปสู่ความตายและการล่มสลาย แต่ความสะพรึงกลัวที่ปราศจากความถูกต้องนั้นก็เป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งอำนาจ ความสะพรึงกลัวนี้ไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากความยุติธรรม, ความเด็ดขาด, ความเคร่งครัด, ความเถรตรงมั่นคง เช่นนั้นแล้วความสะพรึงกลัวนี้ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความถูกต้องและคุณธรรม นี่ไม่ใช่หลักการพิเศษอะไรที่มากเกินไปกว่าหลักการโดยทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศของเราในตอนนี้เลย

มีการกล่าววึความสะพรึงกลัวนั้นเป็นหลักการของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ เช่นนั้นข้าพเจ้าขอถามว่ารัฐบาลของท่านในขณะนี้ดูคล้ายกับรัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ในช่วงก่อนหน้านี้หรือไม่? แน่นอนทั้งสองรัฐบาลต่างถือดาบเช่นเดียวกัน แต่รัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ดาบนี้ตกอยู่ในมือของทรราชย์ ขณะที่ในปัจจุบันดาบนี้อยู่ในมือของวีรบุรุษแห่งเสรีภาพ ในแง่นี้ย่อมมีคนกล่าวว่าเรากำลังปล่อยให้ความเผด็จการถูกควบคุมโดยความโหดร้ายส่วนบุคคลของผู้ปกครองใช่หรือไม่ ข้าพเจ้าเห็นว่าคำกล่าวนี้ถูกต้องในมุมมองของเผด็จการ และเมื่อท่านถูกปราบปรามกวาดล้างลงด้วยความสะพรึงกลัวของศัตรูแห่งเสรีภาพ เมื่อนั้นท่านก็ยังพูดอย่างถูกต้องอยู่ในฐานะของผู้สถาปนาระบอบสาธารณรัฐที่จะตายลงพร้อมกับสาธารณรัฐ แต่สำหรับข้าพเจ้ารัฐบาลของการปฏิวัตินั้นคือผู้เผด็จการในนามของการปกป้องเสรีภาพเพื่อต่อต้านระบอบทรราชย์ ข้าพเจ้าขอถามว่าอำนาจนั้นมีไว้เพื่อปกป้องอาชญากรรมแบบที่เกิดขึ้นในระบอบแบบเก่าเท่านั้นหรือ?

… ความถูกต้องและคุณธรรมของบรรดากษัตริย์นิยมนั้น พวกเขาร่ำไห้ให้กับบางบุคคล และมอบความเมตตาให้กับบรรดาอาชญากร แต่สำหรับรัฐบาลปฏิวัติเราไม่ทำเช่นนั้น! สิ่งที่รัฐบาลปฏิวัติยืนยันคือเราจะต้องมอบความเมตตาธรรมช่วยเหลือให้แก่ผู้บริสุทธิ์, ผู้อ่อนแอ, บุคคลผู้โชคร้าย และมอบความเมตตาให้แก่มนุษยชาติทั้งปวง.

อีกกรณีที่ชัดเจนสำหรับยุคแห่งความสะพรึงกลัวก็คือ การส่งคู่แข่งทางการเมืองในขบวนการปฏิวัติด้วยกันขึ้นสู่แท่นประหารกิโยติน อย่างเช่น การประหารกลุ่มผู้นิยมด็องตง และกลุ่มผู้นิยมเอแบร์ นั้นคือภาพสะท้อนความอ่อนแอทางการเมืองที่ทำให้โรแบสปิแยร์โดดเดี่ยวตัวเอง และท้ายที่สุดกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ปราศจากพันธมิตรในห้วงเวลาที่เขากำลังถูกล้อมกรอบทางการเมือง

เองเกลส์ (Engels) เขียนถึงยุคแห่งความสะพรึงกลัวเอาไว้ในจดหมายที่เขาส่งถึงมาร์กซ์ (Marx) ในปี ค.ศ. 1870 ว่า

ความหวาดกลัวของชาวฝรั่งเศสในห้วงเวลานั้น อันเกิดจากความหวาดกลัวในห้วงเวลาที่พวกเขาตระหนักว่าพวกเขาควรจะเรียนรู้จากความจริงอย่างจริงจัง ได้มอบมโนทัศน์หนึ่งในการพิจารณายุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวที่ดีกว่า เราต่างคิดกันว่ายุคแห่งความสะพรึงกลัวคือห้วงเวลาที่ผู้คนในสังคมบ้าเลือดลุกขึ้นมาร่วมกันสร้างความน่าสะพรึงกลัวในสังคม แต่เปล่าเลยมันกลับกันในทางตรงกันข้าม ยุคแห่งความสะพรึงกลัวนั้นเกิดขึ้นจากการที่ทุกคนในสังคมต่างอยู่ในสภาวะหวาดกลัวไม่มั่นคงอย่างที่สุด

ความสะพรึงกลัวนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการใช้ความรุนแรงทางการเมืองซึ่งบ่อยครั้งเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ แต่มันทำไปเพื่อให้คนในสังคมรู้สึกมั่นคง และข้าพเจ้าเห็นว่าคนที่ควรถูกตำหนิที่สุดในยุคแห่งความสะพรึงกลัวของปี ค.ศ. 1793 นั้นคือพวกชนชั้นกระฎุมพีที่หวาดกลัวจนเกินขนาด ซึ่งคนเหล่านี้เรียกขานตัวเองว่าเป็นผู้รักชาติ…

ขณะที่มาร์กซ์เองก็เขียนถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความสะพรึงกลัวแห่งการปฏิวัติ” ที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยเขียนถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนและพุ่งตรงไปถึงประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงเพื่อการปกป้องการปฏิวัติว่า

มีเพียงวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะขจัดกวาดล้างความทุกข์ทรมานของสังคมเก่าและทำให้การถือกำเนิดอันยากลำบากของสังคมใหม่ดำเนินไปได้อย่างง่ายดาย รวดเร็วและมั่นคงที่สุด วิถีทางที่ว่านั้นคือความสะพรึงกลัวแห่งการปฏิวัติ

ใครเป็นผู้ทำลายการปฏิวัติฝรั่งเศส?

ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1794 เป็นเวลาห้าปีหลังการลุกฮือในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1789 ที่มีการเรียกประชุมสภาฐานันดร การสถาปนาสมัชชาแห่งชาติ และการทลายคุกบาสตีย์ การปฏิวัติตกอยู่ในห้วงเวลาที่ไร้พลังอำนาจและโรแบสปิแยร์ก็กำลังโดดเดี่ยวตัวเอง หลงเหลือแต่เพียงกลุ่มการเมืองฝ่ายปีกซ้ายของการปฏิวัติที่ปราศจากพันธมิตรทางการเมืองและการสนับสนุน

ด้วยความหวาดกลัวต่อการสมคบคิดที่จะลอบสังหารเขา โรแบสปิแยร์จึงสั่งให้ดำเนินการประหารชีวิตผู้นำการปฏิวัติที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของตนอย่างเช่น ด็องตง (Danton) และ เอแบร์ (Hebert) ในขณะที่ตัวเขาเป็นประธานของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ การกระทำนี้เป็นเสมือนความผิดพลาดทางการเมืองครั้งสำคัญของโรแบสปิแยร์เพราะนี่คือการทำลายล้างพันธมิตรทางการเมืองที่เป็นไปได้ของตัวเองลง นอกจากนั้นยังมีนักปฏิวัติและนักการเมืองหัวก้าวหน้าอีกหลายคนที่ถูกสั่งประหารซึ่งการกระทำนี้เป็นเสมือนการตอกฝาโลงตัวเองของโรแบสปิแยร์

ในวันที่ 9 เดือนเทอร์มิดอร์ (เดือนตามปฏิทินสาธารณรัฐที่ 1 ซึ่งตรงกับวันที่ 27 กรกฎาคม ในปฏิทินปัจจุบัน) ปี ค.ศ. 1794 สภาคอนเวนชั่น (National Convention) ภายใต้การนำของ ฌอง-ล็อมแบร์ ตาลเลียง (jean-lambert tallien) ตัดสินให้ประหารชีวิต โรแบสปิแยร์ และสมาชิกสมาคมฌาโกแบง ภายหลังความพยายามต่อสู้กับอำนาจของสมัชชาแห่งชาติที่นำโดยคอมมูนปารีสองค์กรทางการเมืองของกลุ่มซ็อง-กูว์ลอต และภายหลังชัยชนะที่วังตุยเลอรีเมื่อสองปีก่อน โรแบสปิแยร์และพันธมิตรของเขาถูกจับกุม ในวันถัดมาพวกเขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน

หลังจากความตายของโรแบสปิแยร์มันตามมาด้วยการกวาดล้างผู้นำคอมมูน มีผู้นำคอมมูนกว่า 95 คนถูกจับพร้อมกับโรแบสปิแยร์ และ 87 คนถูกประหารโดยกิโยติน เอริก ฮาซาน เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “การเริ่มต้นของยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวใหม่”

ฟิลิปโป บัวนาร์โรติ (Filippo Buonarroti) ปัญญาชนนักเขียนเพื่อนของโรแบสปิแยร์ เขียนคร่ำครวญถึงความสูญเสียและความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น รวมทั้งตีความว่านี่คือผลจากการรวมตัวเป็นพันธมิตรกันอย่างต่ำช้าของนักปฏิวัติลัทธิฉวยโอกาสปีกขวากับพวกชนชั้นขุนนางซากเดนระบอบเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ เขาอธิบายว่าผู้นำในเหตุการณ์ “ปฏิกิริยาเทอร์มิดอร์” นั้นต้องการจะบิดเบือนผลพวงของการปฏิวัติ และบิดหลักการของการปฏิวัติที่เกิดขึ้นให้กลายไปเป็นเครื่องมือรับใช้อภิสิทธิ์ของตน บัวนาร์โรติ เขียนอธิบายว่า

บรรดาผู้รู้ดีในระบอบประชาธิปไตยและกลุ่มผู้สนับสนุนสมาทานอภิชนาธิปไตยรวมตัวกันขึ้นเป็นพันธมิตร พวกเขาป่าวร้องและบิดเบือนหลักการของปฏิวัติ ทำให้ความหมายของคำสอนและสถาบันแห่งความเสมอภาคกลายไปมีความหมายเพียงคำสอนของกลุ่มอนาธิปไตย พวกสมคบคิด และผู้ก่อการร้าย

เอริก ฮาซาน เขียนไว้ในทิศทางเดียวกันดังนี้

ข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดของปฏิกิริยาเทอร์มิดอร์กับการปฏิวัติก่อนหน้านี้คือ ในห้วงเวลาของการปฏิวัติก่อนหน้านั้นรัฐบาลดำเนินการตามความต้องการของประชาชน และหลายครั้งรัฐบาลดำเนินการไปอย่างก้าวหน้าสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงและทำลายความไม่เสมอภาคทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความไม่เท่าเทียมในวิถีชีวิต ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลของพวกปฏิกิริยาเทอร์มิดอร์ไม่สามารถกระทำได้

ในห้วงเวลาช่วงท้ายของโรแบสปิแยร์ เมื่อปราศจากการปกป้องจากกลุ่มมวลชนซ็อง-กูล็อต เหมือนในช่วงเวลาก่อนหน้า โรแบสปิแยร์จึงต้องประสบกับความพ่ายแพ้และถูกประหารลงโดยไม่ได้เห็นความสำเร็จของการปฏิวัติที่เขาปลุกปั้นมากับมือ และเช่นเดียวกันการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1789 ก็ตายตามโรแบสปิแยร์ไปในไม่กี่ปีต่อมา

ความอ่อนแอของรัฐฝรั่งเศสในช่วงนั้นประกอบกับการนำของรัฐบาลปฏิกิริยาที่ต้องการเพียงการยกเลิกผลพวงของการปฏิวัติที่รุดหน้าไป ภายใต้บริบททางการเมืองเช่นนี้เองมันได้เปิดทางให้กับ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) เข้ามามีอำนาจและการปฏิวัติที่เกดขึ้นก็ถูกกลืนกินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐโบนาปาร์ต รูปแบบของรัฐใหม่นี้สร้างขึ้นบนพื้นฐานแนวคิดการก่อสงครามระหว่างประเทศและการสร้างจักรวรรดิ ขณะที่ภายในประเทศนั้นดำเนินนโยบายปกครองแบบเผด็จการอภิสิทธิ์ชน นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงหลักการเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคของการปฏิวัติให้กลายไปเป็นหลักการเรื่องการยึดครองโลกตามความต้องการของจักรพรรดินโปเลียน

แม้ว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสจะพ่ายแพ้และพังทลายลงในหลายมิติ หากแต่ความทรงจำต่อเหตุการณ์นี้ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับการลุกขึ้นสู้ของชนชั้นแรงงาน อย่างเช่นการลุกฮือของมวลชนในเหตุการณ์ปารีสคอมมูนที่เกิดขึ้นในอีกศตวรรษถัดมา

ประเทศในยุโรปมองการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างไร?

การลุกฮือของมวลชนซ็อง-กูล็อต และการปลดแอกระบบการเมืองของฝรั่งเศสออกจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อบรรดากษัตริย์ในประเทศรอบข้าง แน่นอนว่าปฏิกิริยาตอบโต้ของบรรดากษัตริย์ยุโรปนั้นย่อมแตกต่างและรุนแรงมากกว่ามุมมองของมวลชนทั่วไปอย่างมาก

กษัตริย์ปรัสเซียและออสเตรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจักรพรรดิลีโอพ็อลท์ที่ 2 ซึ่งเป็นพระญาติของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต พยายามอย่างแข็งขันที่จะบ่อนทำลายและโค่นล้มการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส กระทั่งวางแผนสมรู้ร่วมคิดกับกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 และมารี อ็องตัวแน็ตเพื่อทำลายการปฏิวัติ

ภายหลังกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ถูกจับตัวได้ระหว่างการพยายามเดินทางหลบหนีออกจากประเทศ และเอกสารวางแผนทรยศต่อชาติของพระองค์ถูกค้นพบในปารีส ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างมาก มวลชนชาวปารีสเดินขบวนบุกเข้าวังและถอดกษัตริย์ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งประกาศสงครามกับประเทศรอบข้างทันที

หากแต่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านของฝรั่งเศสกลับมองการปฏิวัติฝรั่งเศสต่างจากบรรดากษัตริย์ในประเทศตนเอง พวกเขามองการปฏิวัตินี้ในมุมของแรงบันดาลใจในการปลดแอกตนเอง ตัวอย่างเช่น กองทหารองค์รักษ์สวิส (Swiss Guard) กองทหารรับจ้างที่ถูกจ้างมาเพื่อคุ้มครองกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 แต่ภายหลังขยับมาเข้าร่วมกับขบวนการซ็อง-กูล็อต ในระหว่างการบุกยึดวังตุยเลอรี

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสผลกระทบที่ตามมาคือมันส่งผลให้เกิดการก่อกบฏและการลุกฮือขึ้นหลายครั้งในอิตาลีและสวิสต์เซอร์แลนด์ ในแง่นี้เองการปฏิวัติฝรั่งเศสจึงเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจทั้งในเชิงการต่อสู้และทางอุดมการณ์

ความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสกับการปฏิวัติเฮติ

ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1791 – 1804 ระหว่างห้วงเวลาของความผันผวนของการปฏิวัติในประเทศแม่อาณานิคม ในที่ห่างไกลออกไกลบรรดาทาสบนเกาะโดมินิกัน ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านระบบทาสในไร่นาที่ทำให้พวกเขามีชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน และเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้แก่ตนเอง บรรดาทาสบนเกาะบุกเข้ายึดครองทรัพย์สินของเจ้าอาณานิคมและจับบรรดาเจ้าที่ดินมาลงโทษ ยกเลิกระบบทาส และสถาปนาสาธารณรัฐเฮติ ที่เรียกได้ว่าเป็นสาธารณรัฐเสรีแห่งแรกในทวีปอเมริกา

ในพืธีสถาปนาสาธารณรัฐนี้ เอกสารที่ถูกนำมาใช้ประกาศมีเนื้อหาที่สามารถสืบสาวรากฐานความคิดไปถึงเอกสาร “คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” ที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติฝรั่งงเศสได้

มาร์กซ์เองเคยเขียนเตือนถึงเรื่องหนึ่งเอาไว้ว่า “ความคิดนั้นไม่อาจนำเราขยับไปไกลกว่ากรอบที่เป็นจริงของโลกเก่าได้ แต่ความคิดนั้นสามารถนำพาเราไปพ้นจากกรอบความคิดของโลกเก่าได้ ความคิดไม่สามารถนำพาสิ่งใดให้เกิดขึ้นจริงได้ การจะทำสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นจริงได้จึงต้องอาศัยมนุษย์ที่มีความคิดใหม่ที่สามารถสร้างปฏิบัติการที่มีพลังอำนาจได้”  คำเตือนของมาร์กซ์ถูกพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนผ่านการที่หลักการของการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นถูกนำไปใช้อย่างจริงจังโดยขบวนการลุกฮือของชนชั้นทาสในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก

แน่นอนว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นชี้ชัดว่า เอกสารรณรงค์ทางการเมืองช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นได้เดินทางมาถึงมือของบรรดาทาสบนเกาะเซนต์ โดมินิกัน และเป็นที่ชัดเจนว่าชนชั้นทาสบนเกาะต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในประเทศเจ้าอาณานิคมของตน แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ความต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เยกว่า “คุณค่าแบบยุคภูมิธรรม”

พรรคบอลเชวิคมองสมาคมฌาโกแบงอย่างไร?

บอลเชวิคคือแฟนพันธุ์แท้ แฟนตัวยงของฌาโกแบง

แม้ว่าพรรคบอลเชวิคจะเป็นพรรคการเมืองมวลชนที่สร้างขึ้นจากฐานของชนชั้นแรงงาน และมีเป้าหมายในการสร้างระบอบสังคมนิยม ที่แตกต่างจากเป้าหมายของสมาคมฌาโกแบง แต่เลนิน (Lenin) ผู้นำพรรคบอลเชวิคก็ได้เขียนยกย่องฌาโกแบงเอาไว้ในหลายโอกาส ดังเช่นข้อเขียนของเข้าในปี ค.ศ. 1917

นักประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพมองเห็นลัทธิฌาโกแบงในฐานะจุดสูงสุดของการต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองของชนชั้นผู้ถูกดขี่ สมาคมฌาโกแบงได้มอบตัวแบบของการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ยอดเยี่ยมและตัวแบบของการต่อต้านการร่วมมือกับระบอบกษัตริย์เพื่อต่อต้านสาธารณรัฐให้แก่ฝรั่งเศส ฌาโกแบงอาจไม่ประสบความสำเร็จในการก่อการครั้งนั้น ก็เพราะโครงสร้างของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 นั้นยังคงล้าหลังอย่างมาก และประเทศฝรั่งเศสในยุคนั้นเองยังขาดปัจจัยพื้นฐานทางวัตถุสำหรับการก่อตั้งรัฐสังคมนิยม กล่าวคือ มันไม่มีระบบธนาคาร ไม่มีสมาคมนายทุน ไม่เครื่องจักรอุตสาหกรรมและไม่มีระบบรถไฟ

“ลัทธิฌาโกแบง” นั้นเป็นเสมือนคำสอนแห่งการปฏิวัติของชนชั้นปฏิวัติทั้งในยุโรปและเอเชียในศตวรรษที่ 20 ซึ่งชนชั้นปฏิวัตินี้หมายถึงชนชั้นกรรมาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวนายากจน ที่จะต่อสู้เพื่อเดินหน้าไปสู่การสถาปนาระบอบสังคมนิยมให้เป็นจริง ไม่เพียงแต่เราจะเดินตามความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่ และความเข้มแข็งที่สมาคมฌาโกแบงเคยสร้างมาในอดีต แต่เราจะก้าวหน้ายิ่งกว่าด้วยการทำความใฝ่ฝันของชนชั้นแรงงานให้เป็นจริงในระดับโลก

มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ชนชั้นกระฎุมพีจะรังเกียจฌาโกแบง และเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่บรรดากระฎุมพีน้อยจะหวาดกลัวฌาโกแบง ขณะที่ชนชั้นแรงงานที่มีสำนึกทางชนชั้นน้นไม่ลังเลที่จะให้ความเชื่อมั่นในลัทธิฌาโกแบงที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจของพวกเขาไปเป็นการปฏิวัติ การเปลี่ยนผ่านชนชั้นผู้ถูกกดขี่ให้กลายไปเป็นชนชั้นปฏิวัติคือหัวใจสำคัญของลัทธิฌาโกแบง และนั่นคือหนทางเดียวในการจะหลุดพ้นออกจากวิกฤตในปัจจุบัน และเป็นหนทางเดียวที่จะพาเรารอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและสงคราม

เราควรจดจำการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างไร?

การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมอย่างมหาศาล และส่งผลต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่ายี่สิบห้าล้านคนทั้งที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสและในประเทศอาณานิคมห่างไกลในอีกภูมิภาคอย่างเฮติ ในระหว่างห้วงเวลา 5 ปีของการต่อสู้ยื้อยุดกันระหว่างพลังอำนาจของพวกปฏิกิริยา กับความมุ่งมั่นของการปฏิวัติ ผู้คนในห้วงเวลานั้นต่างก็เผชิญกับความยากลำบาก แต่พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการแทรกแซงเข้าไปแก้ไขระบบการเมือง และบ่อนทำลายความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ควบคุมชีวิตของเขาในยุคก่อนหน้า ดังที่ ฮอบส์บอว์ม ย้ำเตือนเราเอาไว้ว่า

ห้วงเวลานั้นไม่ใช่ห้วงเวลาที่เราจะมีชีวิตรอดได้อย่างง่ายดาย คนจำนวนมากนั้นตกอยู่ท่ามกลางความอดอยากหิวโหด และอีกจำนวนมากตกอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว หากแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นก็เป็นเสมือนปรากฏการณืการระเบิดของปรมาณูลูกแรกที่ทั้งน่าหวาดกลัวแต่ก็ไม่อาจจะย้อนกลับไปแก้ไขได้ และมันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์อย่างถาวร และพลังอำนาจที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติฝรั่งเศสก็กลายเป็นขุมกำลังที่มีอำนาจมากพอจะขจัดอำนาจของระบอบแบบเก่าให้สลายหายไปทั้งยุโรปเสมือนกับฟางที่ถูกเป่าให้หลุดลอยไป

เอริก ฮาซาน เขียนอีกแง่มุมหนึ่งเอาไว้ในหนังสือของเขา การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นมันอาจจบลงด้วยความพ่ายแพ้ในหลายมิติ ประวัติศาสตร์กระแสหลักนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยพวกปฏิกิริยาที่ประสบความสำเร็จในการทำลายการปฏิวัติผ่านเหตุการณ์ “ปฏิกิริยาเทอมิดอร์” ดังนั้นภารกิจของเราคือการขุดเจาะเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสที่ถูกบ่อนทำลายและกลบดินฉาบปูนฝังเอาไว้ด้วยประวัติศาสตร์ของพวกปฏิกิริยามายาวนานกว่าสองศตวรรษ ฮาซานเขียนอธิบายว่า

บรรดาทายาทที่สืบทอดอุดมการณ์ของพวกปฏิกิริยาเทอมิดอร์ ผู้ซึ่งปกครองและคอยพร่ำสอนพวกเราในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องนับแต่วันนั้น พยายามที่จะบ่อนทำลายประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง เราต้องต่อต้านพวกเขา และปลดปล่อยให้ความทรงจำแห่งปฏิวัติดำรงอยู่ และอย่าได้หลงลืมแรงบันดาลใจแห่งการปฏิวัติในช่วงเวลานั้น อย่าลืมวลีแห่งการปฏิวัติว่า “บรรดาผู้อาภัพยากจนนั้นคือพลังอำนาจที่แท้จริงแห่งโลกใบนี้” และ “แก่นแท้ของระบอบประชาธิปไตยและระบอบสาธารณรัฐนั้นคือความเสมอภาคเท่าเทียม” และท้ายที่สุดอย่าลืมว่า “เป้าหมายการมีอยู่ของสังคมคือการสร้างความผาสุกร่วมกันของสังคม”

จงเดินหน้าคล้องแขนต่อสู้ร่วมกัน เพื่อไปถึงความผาสุกส่วนรวม

สุขสันต์วันทลายคุกบาสตีย์!