แม้ “ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก” ของเอกสุดา สิงห์ลำพอง จะถูกพัฒนาจากเอกสารประกอบการบรรยายในชั้นเรียนปริญญาตรี แต่หากพลิกอ่านมันแม้เพียงบทสองบท จะพบได้ไม่ยากว่านี่เป็นหนังสือที่อ่านสนุกและเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย หรือหากว่ากันตามตรง เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่จำเป็นต้องรอไปเรียนเอาตอนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ อารยธรรมกรีก หรือทั้งสามเรื่องรวมกัน ต่างก็เหมาะที่จะเป็นความรู้พื้นฐานให้เยาวชนและคนทั่วไปได้มีติดตัวไว้ใช้งาน

เนื้อหาในเล่มนี้ถูกจัดเรียงให้เอื้อแก่การทำความเข้าใจอย่างมาก บทนำทำหน้าที่เป็นกรอบใหญ่และบอกทิศทางของหนังสืออย่างชัดเจน จากนั้นจึงไล่เรียงตามลำดับประวัติศาสตร์ศิลปะกรีกโบราณตั้งแต่สมัยเรขาคณิตมาจนถึงสมัยเฮลเลนิสติก ก่อนจะจบที่สมัยโรมันเรืองอำนาจขึ้นมา (หนังสือยังมีการย่อปกรณัมกรีกโบราณไว้ในภาคผนวกอีกด้วย)

ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เขียนบอกแค่อะไรเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไร หากยังบอกความสัมพันธ์และความหมายของศิลปกรรมแต่ละชิ้นในแต่ละยุคสมัย เช่น เราสามารถรู้ได้ว่าแบบแผนลวดลายเรขาคณิต ซึ่งเป็นแบบแผนแรกๆ ของกรีก ถูกแทนที่ด้วยลวดลายคดโค้ง ลายพรรณพฤกษา และลายสัตว์ เมื่อถึงยุคสมัยที่กรีกเริ่มติดต่อกับดินแดนตะวันออกกลาง จนทำให้ศูนย์กลางเคลื่อนตัวมาที่นครรัฐคอรินธ์ เมืองท่าซึ่งจะกลายเป็นแหล่งสำคัญของแบบแผนใหม่นี้ในเวลาต่อมา

เมื่อมีการติดต่อระหว่างอารยธรรมขึ้น เทคนิคทางศิลปะก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ถูกแลกเปลี่ยนถ่ายโอน แต่คติความเชื่อก็ถูกดัดแปลงต่อยอดด้วย ดังที่หนังสือบรรยายให้เห็นว่า สัตว์ผสมที่หลายคนอาจเข้าใจกันว่ามีจุดกำเนิดจากปกรณัมกรีกอย่างกริฟฟิน ไฮดรา และไซเรน แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่รับมาจากตะวันออกกลาง จะมีก็แต่สิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งม้าอย่างเซนทอร์เท่านั้นที่เป็นสัตว์ผสมซึ่งเกิดจากการคิดค้นของกรีกเอง

หนังสือยังเผยให้เห็นมิติอื่นๆ นอกจากความงามของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือบรรดาศิลปกรรมต่างๆ เช่น การสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ นอกจากจะเป็นไปเพื่อถวายแด่เทพเจ้าและใช้ในพิธีกรรมต่างๆ มันยังสะท้อนโครงสร้างระบบนครรัฐที่เป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ด้วย ดังที่ปรากฎในศตวรรษที่ 8-7 ก่อนคริสตกาลในยุคอาร์เขก 

แม้แต่บทบาททางเพศของแต่ละยุคสมัยก็ยังสะท้อนผ่านศิลปกรรมเช่นกัน กล่าวคือ ในช่วงแรกที่กรีกเริ่มมีการสร้างพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำหรับฝึกฝนร่างกาย (gymnasia) สำหรับซ้อมมวยและมวยปล้ำ (palaestra) และสำหรับจัดแข่งรถม้าและกีฬาประเภทลู่ (stadium) ก็ล้วนแต่จำกัดให้เป็นสถานที่สำหรับเพศชายเท่านั้น ส่วนบทบาทของเพศหญิงถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน

อย่างไรก็ดี สมัยที่น่าสนใจมากสมัยหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือสมัยคลาสสิก หรือยุคทองของอารยธรรมกรีกโบราณ ที่มีการแย้มตั้งแต่หน้าแรกๆ แล้วว่า แม้ยุคนี้จะเป็นช่วงที่เกิดสงครามที่มากที่สุดยุคหนึ่ง แต่กลับเป็นสมัยที่ศิลปกรรมกรีกงอกเงยงดงามมาก สถาปัตยกรรมหรือประติมากรรมที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาหลายชิ้นก็เป็นผลผลิตของยุคสมัยนี้นี่เอง

การนิยามความงามในสมัยคลาสสิกก็เป็นแง่มุมที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะความงามหรือความสมบูรณ์ทางกายที่ปรากฏบนประติมากรรมในช่วงนี้ สะท้อนอุดมคติทางกายและคุณธรรมเชิงศีลธรรมของพลเมืองกรีกไว้อย่างแนบแน่น ประติมากรรมที่สมบูรณ์งดงามเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อตั้งโชว์ความเป็นเลิศทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็น “แบบ” (form) ให้พลเมืองยึดเป็นเยี่ยงอย่างในการฝึกร่างกายให้งดงามสมบูรณ์แบบตามด้วย เพราะเมื่อนครรัฐกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ร่างกายที่แข็งแรงเพียบพร้อมด้วยมัดกล้ามเนื้อก็สะท้อนคุณธรรมของพลเมืองผู้มีวินัยพร้อมเอาตัวเข้าร่วมสงครามปกป้องนครรัฐอยู่เสมอนั่นเอง (อุดมคติกับความจริงจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในแง่นี้)

อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะดึงดูดกลุ่มคนรักปกรณัมได้อย่างมาก คือการแสดงให้เห็นการแข่งขันกันของความศรัทธาต่อเหล่าทวยเทพทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกทำให้เป็นเพียงเรื่องนอกรีตโดยคริสต์ศาสนาในตอนท้าย เพราะด้วยการแข่งขันของเทพและเทพีภายใต้ระบบที่มีพระเจ้าหลายองค์หรือพหุเทวนิยม ทำให้เห็นการประลองกำลังทั้งทางสงครามและความมั่งคั่งของอารยธรรมหรือนครรัฐทั้งที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันและที่อยู่ต่างสมัยกัน ตลอดยังปรากฏให้เห็นความพยายามในการดึงดูดทุกผู้คนให้เข้ามาหลอมรวมกันในนครรัฐผ่านการจัดมหกรรมกีฬาโอลิกปิกไม่ว่าเขาจะเชื่อในพระเจ้าองค์ใดก็ตาม

หนังสือเล่มนี้ยังจุดประกายให้เราศึกษาเปรียบเทียบกรอบคิดตามอารยธรรมกรีกกับอารยธรรมอื่นด้วยเช่นกัน กรอบคิดหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากจนเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของกรีก ไม่ว่าจะความเจริญและความเสื่อมสลาย อย่าง “การแข่งขัน” หรือ “agon” ก็น่าสนใจอย่างมาก เพราะขณะที่การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นเลิศในทุกด้านของแต่ละนครรัฐจะทำให้อารยธรรมงอกเงย แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ผลักให้จุดจบของอารยธรรมใกล้เข้ามาด้วย (คำถามที่น่าคิดต่อคือ กรีกไปได้วิธีคิดแบบนี้มาจากไหน ในสังคมอื่นมีกรอบคิดลักษณะนี้หรือไม่)

หนังสือยังเผยให้เห็นว่า ไม่มีอารยธรรมหรือวัฒนธรรมใดดำรงอยู่อย่างบริสุทธิ์เที่ยงแท้ ตรงกันข้าม อารยธรรมหรือวัฒนธรรมอื่นล้วนแต่มีร่องรอยให้เห็นอยู่ในแทบทุกจุด ดังที่อารยธรรมก่อนหน้ากรีกโบราณ จะปรากฏการต่อยอดในยุคกรีกโบราณ ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังอารยธรรมโรมัน (ในรูปของสินค้าหรือข้าวของสำหรับอวดสถานะ ไม่ใช่วัตถุศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เคยเป็นในอารยธรรมกรีก) จากนั้นก็ปรากฏในช่วงคริสต์ศาสนาเป็นใหญ่ (ที่แม้จะพยายามทำลายพระเจ้าในพหุเทวนิยม แต่สุดท้ายก็เลี่ยงที่จะไม่นำรูปลักษณ์ประติมากรรมเทพกรีกมาใช้) มาจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือ Renaissance (ที่นอกจากจะกลับไปหาอารยธรรมกรีก-โรมัน ไม่ว่าจะศิลปะหรือปรัชญา ก็ยังตีความหลักฐานทางโบราณคดีคลาดเคลื่อนจนเกิดมายาคติเรื่องความขาว (myth of whiness) อีกด้วย) กระทั่งต่อให้ไม่มองในแง่ของยุคสมัยตามลำดับเวลาเหล่านี้ มุมมองที่ว่าวัฒนธรรมคือความหลากหลายยังถูกยืนยันในสมัยเฮลเลนิสติก ที่วัฒนธรรมท้องถิ่นและกรีกมีการปฏิสัมพันธ์กันจนเกิดแนวทางศิลปะแบบใหม่เต็มไปหมด

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ประเด็นจากทั้งหมดที่หนังสือเล่มนี้มีให้คิดและสังเกตตลอดทั้งเล่ม ทำนองเดียวกับเป็นจิ๊กซอเพียงไม่กี่ชิ้นภายใต้กระดานภาพเต็มที่ชื่ออารยธรรมกรีก ความสนุกคือหนังสือเล่มนี้ใบ้เป็นนัยอยู่ตลอดเล่มว่ากระดานภาพอารยธรรมกรีกที่ว่า ยังสามารถเชื่อมต่อกับกระดานภาพอารยธรรมอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อน เกิดช่วงเดียวกัน หรือเกิดหลังจากนั้น กล่าวอย่างง่ายคือ หนังสือเล่มนี้จะเป็นทั้งจุดออกตัวและเครื่องกระตุ้นชั้นดีที่สุดเล่มหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและอารยธรรมทั้งหลาย แต่หากจะต้องกล่าวเชิญชวนผู้สนใจในโลกศิลปะให้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็คงไม่มีคำพูดใดเหมาะสมไปกว่าการบอกว่า เมื่อพลิกอ่านหนังสือเล่มนี้จนถึงบรรทัดสุดท้ายแล้ว สายตาที่ท่านใช้มองงานศิลปะจะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป



ยืมหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีผ่านห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลก https://form.jotform.com/212481166583458

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
อดีตนักเรียนนิติศาสตร์แต่สนใจปรัชญา สนใจเรื่องความคิดและศิลปะ ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ