ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา (ค.ศ. 1941-1945/พ.ศ. 2484-2488) เมียนมาเป็นหนึ่งในสมรภูมิการรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ด้วยที่ตั้งมีความสำคัญยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ อยู่กึ่งกลางระหว่างจีนกับอินเดีย และยังตั้งอยู่ติดมหาสมุทรอินเดีย อันเป็นเส้นทางเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ แอฟริกา และยุโรป ภายหลังญี่ปุ่นยึดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทุกประเทศแล้ว ก็ต้องการบุกเข้าไปตีอินเดียและจีนตอนใต้ โดยเริ่มสร้างทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างย่างกุ้ง ผ่านมัณฑะเลย์ทางตอนเหนือ มจิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ต่อไปในจีนตอนใต้ถึงเมืองจุงกิง (ฉงชิ่ง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในขณะเดียวกันก็มีทางรถไฟที่สร้างคู่ขนานกันไปจากย่างกุ้งถึงมยิตจีนา เรียกแนวรบในช่วงนี้ว่า CBI (China Burma India Theatre) 

ความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทำให้เมียนมากลายเป็นเป้าหมายการโจมตีหลักของญี่ปุ่น และเป็นเส้นทางที่จะต่อเข้าไปยึดครองอินเดีย โครงสร้างพื้นฐานในเมียนมาจึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ยาก และจนถึงปัจจุบัน เมียนมาก็ไม่สามารถกลับไปมีความเจริญทางเศรษฐกิจ ในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก เฉกเช่นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อีกเลย ในระหว่างสงคราม ขบวนการชาตินิยมเมียนมา นำโดย นายพลอองซาน (Aung San) ภายใต้ขบวนการสันนิบาตต่อต้านฟาสซิสม์แห่งชาติ หรือ AFPFL เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชให้เมียนมา เมื่อเห็นว่าญี่ปุ่นหาใช่พระเอกขี่ม้าขาวที่จะปลดปล่อยเมียนมาจากระบอบอาณานิคมไม่ AFPFL จึงเริ่มเจรจาเรื่องอนาคตของเมียนมากับอังกฤษ เมื่อวางแผนและโครงสร้างการบริหารได้แล้ว อังกฤษก็ให้เอกราชกับเมียนมาในเช้าตรู่ของวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1948/พ.ศ. 2491

เช้าวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1947/พ.ศ. 2490 เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่าเป็นระเบิดลูกใหญ่ อันจะส่งผลต่อโฉมหน้าการเมืองสมัยใหม่ของเมียนมาอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนายพลอองซาน ผู้นำขบวนการชาตินิยมและบุคคลที่ชาวเมียนมายกย่องให้เป็นผู้สถาปนาเมียนมาสมัยใหม่ ถูกลอบสังหารพร้อมกับรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการอีก 6 คน ในเวลานั้น อองซานเป็นผู้นำชาว “บะหม่า” (Bamar) หรือพม่าแท้เพียงคนเดียวใน AFPFL ที่มีบารมีมากพอจะรวมผู้คนที่หลากหลายเชื้อชาติในเมียนมาไว้ได้ แต่ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติในเมียนมาก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้อองซานจะเป็นแกนนำเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเพื่อวางโครงการให้เมียนมาหลังเอกราช ในการประชุมที่เมืองปางหลวง รัฐฉาน ใน ค.ศ. 1947/พ.ศ. 2490 แต่ข้อตกลงที่ปางหลวงก็ไม่ได้สามารถแก้ปัญหาด้านเชื้อชาติอย่างยั่งยืนได้ หลังอองซานถึงแก่อสัญกรรม หม่องนุ (Ko Nu) ขึ้นเป็นผู้นำสหภาพเมียนมาคนใหม่

อูนุมีบุคลิกภาพและแนวคิดแตกต่างจากอองซาน ในขณะที่อองซานนั้นเป็น “โบโจ๊ก” (Bogyoke) หรือผู้นำทางทหาร อูนุเป็นนักชาตินิยมที่ต้องการขับเน้นวัฒนธรรมอันดีงามของคนบะหม่า ที่มีศาสนาพุทธเป็นศูนย์กลาง ต่อต้านระบอบอาณานิคม และพยายามขับเคลื่อนการพัฒนาภายในประเทศโดยลดการพึ่งพาโลกตะวันตก ด้วยแนวคิดพื้นฐานดังกล่าว นโยบายของรัฐบาลอูนุ (ดำรงตำแหน่งสมัยแรก ค.ศ. 1948-1958/พ.ศ.2491-2501 และสมัยที่สอง ค.ศ.1960-1962/พ.ศ.2503-2505) จึงนำแนวทางชาตินิยมมาผสมผสานกับแนวคิดสังคมนิยมบางอย่าง และพัฒนาเป็นแนวทางในแบบเมียนมา แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง และด้านวัฒนธรรม 


ด้านการเมือง: เมื่อเมียนมา “โกอินเตอร์”

วิธีคิดหลักของอูนุในทางการเมืองคือเมียนมาต้องสลัดภาพของอาณานิคมออก และสร้างรัฐสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าตามแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แม้อูนุจะชื่นชอบแนวคิดแบบสังคมนิยม แต่เขาก็พยายามชูว่าเมียนมาเป็นสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย ด้วยพื้นฐานของประชาธิปไตยนี้เองที่จะนำพาสหภาพเมียนมาให้เติบโตต่อไปได้ และที่สำคัญคือท่ามกลางการแข่งขันกันของมหาอำนาจ และสงครามเย็นที่ดำเนินไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก เมียนมายืนยันรักษาความเป็นกลาง (neutralism) เคียงบ่าเคียงไหล่ประเทศอาณานิคมอื่นๆ ที่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายของยุคอาณานิคมมา ต่อมาประเทศกลุ่มนี้จะไปร่วมประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่เมืองบันดุง เกาะชวาภาคตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ในค.ศ.1955/พ.ศ.2498 จุดยืนของ 29 ประเทศจากเอเชียและแอฟริกา เช่น อินโดนีเซีย กานา อินเดีย ศรีลังกา หรือแม้แต่ยูโกสลาเวีย ที่เป็นประเทศจากยุโรปตะวันออกเพียงชาติเดียวที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมที่บันดุง คือพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กันกับการต่อต้านระบอบอาณานิคม 

ดั๊ก ฮัมมาร์เฮิลด์ (Dag Hammarskjöld) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เดินทางเยี่ยมชมเมืองย่างกุ้ง เมื่อ ค.ศ. 1956/พ.ศ. 2499


ตลอดทศวรรษ 1950 เมียนมาเปรียบเสมือนกระบอกเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย และเป็นประเทศแถวหน้าที่มีผู้นำระดับโลกแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ เช่น ริชาร์ด นิกสัน (ค.ศ. 1953/พ.ศ. 2496) ระหว่างดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดั๊ก ฮัมมาร์เฮิลด์ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ค.ศ.1956/พ.ศ.2499) ไฮลี เซลาสซี จักรพรรดิแห่งเอธิโอเปีย (ค.ศ.1956/พ.ศ.2499) และเดวิด เบน-กูเรียน ผู้ก่อตั้งอิสราเอล (ค.ศ.1961/พ.ศ.2504) ด้วยเมียนมาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบาน เมืองหลวงอย่างย่างกุ้งจึงเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจากทั่วโลก ดุ๊ก เอลลิงตัน และเคาท์ เบซีย์ นักดนตรีแจ๊สชื่อดัง ก็เคยไปเปิดการแสดงที่ย่างกุ้งมาแล้วทั้งสิ้น ด้วยความเปิดกว้างของผู้นำเมียนมา ที่ต้องการให้นานาอารยประเทศรู้จักประเทศของตนเอง อูนุเดินทางไปพบปะผู้นำระดับโลกหลายครั้งตลอด 10 ปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เช่น การไปเยือนจีนใน ค.ศ.1954/พ.ศ.2497 และสหรัฐอเมริกาอีกหนี่งปีหลังจากนั้น สถานะของเมียนมาที่เป็นเสมือนผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทศวรรษ 1950 ยังมาจากบทบาทของอูถั่น (U Thant) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนเอเชียคนแรก ซึ่งทำให้เมียนมายิ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองระดับโลก 


ด้านเศรษฐกิจ

การพัฒนาด้านเศรษฐกิจในเมียนมาตลอดทศวรรษ 1950 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขับเน้นบทบาทของรัฐ การสร้างรัฐสวัสดิการ การโอนกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐ (nationalisation) การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และการสลัดมรดกจากยุคอาณานิคมออกไป เพื่อให้เมียนมามีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ความฝันและความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสะท้อนจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 เป็นที่รู้จักกันในนาม “แผนปยีด่อตา” (Pyidawtha plan) แปลว่าแผ่นดินเปี่ยมสุข รัฐบาลอูนุนำแผนปยีด่อตามาใช้ใน ค.ศ.1952/พ.ศ.2495 ปยีด่อตาเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาภาคการเกษตร การพัฒนาแผนการเศรษฐกิจระยะยาวนี้เป็นผลงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะ Knappen Tippetts Abbett และ Robert R. Nathan Associates บริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรมจากสหรัฐอเมริกา จริงอยู่ว่าเมียนมาภายใต้การนำของอูนุวางตัวเป็นกลางในยุคสงครามเย็น แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลอูนุได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในส่วนของการระดมกำลังสมองของนักเศรษฐศาสตร์ และวิศวกร เพื่อร่วมร่างแผนการทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และทำให้ปยีด่อตาเป็นเหมือนพิมพ์เขียวแผนการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนา ที่ประเทศอื่นๆ ยึดถือเป็นต้นแบบและต้องการนำไปใช้ 

หน้าปกของแผนปยีด่อตา แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่นำเสนอโดยรัฐบาลเมียนมา


ในบทนำแผนปยีด่อตา บรรทัดแรกเขียนว่า “เมียนมามีศักยภาพเป็นหนึ่งในประเทศที่รุ่งโรจน์มากที่สุดในเอเชียได้” ดังนั้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับนี้ รัฐบาลเมียนมาจึงมีความตั้งใจที่จะสร้าง “เมียนมาใหม่” ที่ประชาชนทุกคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสุขภาพที่ดี ภายใต้สังคมที่เป็นธรรม ระบอบอาณานิคมเป็นเหมือนแผลในใจของผู้นำเมียนมา แม้ไม่สามารถลบภาพหรือมรดกจากยุคอาณานิคมได้ทั้งหมด แต่รัฐบาลเมียนมาก็มีความตั้งใจจะสร้างสังคมและเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี และความมั่งคั่งไม่ได้กระจุกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บาดแผลทางประวัติศาสตร์จึงเป็นตัวกำหนดโฉมหน้าและทิศทางทางเศรษฐกิจของเมียนมาสมัยใหม่ไป “ทางซ้าย” ในขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการทางสังคมไปในแนวชาตินิยมอย่างชัดเจน


สังคม-นิยมพุทธ

สังคมในยุคหลังจากเมียนมาได้รับเอกราชยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของพหุสังคม (plural society) จากยุคอาณานิคม มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา และมีช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน และคนเมือง-คนชนบท ดังที่กล่าวไปแล้วว่าชนชั้นนำและนักชาตินิยมเมียนมาต้องการสร้างเมียนมายุคใหม่ที่ฉีกออกระบอบอาณานิคม ทำให้นโยบายหลายอย่างของรัฐบาลอูนุมีกลิ่นไอชาตินิยม ที่ขับเน้นวัฒนธรรมแบบ “พม่าแท้” แม้ศิลปินสำคัญๆ ระดับโลกจะเดินทางไปเยือนเมียนมา แต่ภาพของเมียนมาสำหรับศิลปินเหล่านี้ก็ยังเป็น “แผ่นดินทอง” (Golden Land) ที่เต็มไปด้วยความ “เอ็กโซติก” น่าค้นหา มากกว่าเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง 

จริงอยู่ว่าลักษณะสำคัญของเมียนมาคือเมืองท่าการค้าขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ที่คนทั่วโลกได้ปะทะสังสรรค์กัน และมีลักษณะเป็นเมืองคอสโมโพลิทัน (cosmopolitan) แต่นโยบายของรัฐบาลอูนุกลับต้องการเน้นวัฒนธรรมของคนบะหม่า รวมทั้งการขับเคลื่อนให้พุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางของประเทศ เราจึงเห็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับศาสนาตลอดยุคอูนุ เช่น พิธีสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ใน ค.ศ.1954/พ.ศ.2497 ซึ่งเมียนมาเป็นเจ้าภาพและจัดออกมาอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยอูนุเป็นผู้นำที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด เขาจึงนำพุทธศาสนาเข้ามาเป็นแนวทางบริหารประเทศทั้งในทางการเมืองและจิตวิญญาณ  

ภาพการชุมนุมเพื่อสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ณ มหาปัสสนาคูหา เมืองย่างกุ้ง

ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในเมียนมาในทศวรรษ 1950 เป็นต้นมามาจากการสนับสนุนของรัฐบาล และบทบาทนำของนักการเมือง-เทคโนแครตคนสำคัญอย่างอูบาขิ่น (U Ba Khin) อดีตรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังเมียนมา ที่ต่อมาตั้งศูนย์วิปัสสนาขึ้นจากแนวคิดวิปัสสนาของเลดิ สะยาดอ (Ledi Sayadaw) พระเกจิเมียนมารูปสำคัญ และกลายเป็นศูนย์วิปัสสนานานาชาติใน ค.ศ.1952/พ.ศ.2495 ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แม้การเมืองในเมียนมาหลัง ค.ศ.1962/พ.ศ.2505 จะไม่มีความแน่นอน และ “แผ่นดินทอง” ได้กลายเป็นพื้นที่ให้ระบอบเผด็จการทหารได้เติบโต แต่ศูนย์วิปัสสนาตามแนวเลดิ สะยาดอ และอูบาขิ่น ยังคงดึงดูดให้นักเดินทางและผู้ต้องการฝึกวิปัสสนาจากทั่วโลกเข้าไปในเมียนมา

ถึงแม้ว่ายุคทองของเมียนมาจะผ่านไปกว่า 7 ทศวรรษแล้ว แต่รากฐานของความงอกงามทั้งทางการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา การสร้างสังคมที่เท่าเทียม และพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบพุทธที่เข้มแข็งยังเป็นเหมือนความฝันที่ชาวเมียนมาใฝ่ฝันถึงมาจนถึงปัจจุบัน 

Author

ลลิตา หาญวงษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมเมียนมาสมัยใหม่ จากยุคอาณานิคมถึงปัจจุบัน เป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์มติชน ในคอลัมน์ “ไทยพบพม่า” เป็นผู้รักการการกินและชมภาพยนตร์คลาสสิก