โชคร้ายของผมคือ มีความตั้งใจจะเขียนถึงรัฐประหารชิลีในวาระครบรอบ 11 กันยายน มา 3 ปีแล้ว แต่พอถึงวันนี้ทีไรก็มีงานอื่นให้ทำตลอด ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการเขียนถึงเหตุการณ์ 9/11 ที่เครื่องบินชนตึกแฝดถล่มมากกว่า เพราะเราถูกทำให้ “เชื่อกันว่า” เหตุการณ์หลังการประกาศศึกครั้งนี้มีผลต่อชีวิตเรามากกว่าเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความใกล้ชิดต่อสินค้าอเมริกันหรือระบบเศรษฐกิจก็ตาม การรัฐประหารชิลีเลยดูห่างไกลมากจนคนอาจจะลืมไปว่าระบบเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนโลกทุกวันนี้ เป็นผลจากการใช้ประเทศชิลีเป็นห้องแล็บในปี 1973 ในวันที่ชีวิตของ Salvador Allende ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายถูกลอบสังหารที่ Palacio de La Moneda ทำเนียบประธานาธิบดีชิลี

ผมชอบคำบรรยายของ Carlos Altamirano เลขาธิการพรรค Chilean Socialist Party (PS) ที่บอกว่า ถ้าเป็นเผด็จการและประธานาธิบดีคนอื่นในทวีปละตินอเมริกา ในสถานการณ์เช่นนี้พวกเขาจะเลือกวิ่งไปถือกระเป๋าที่อัดแน่นไปด้วยเงิน จากนั้นก็จะขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศ แต่มือของ Allende ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของเรา ข้างหนึ่งกลับถือปืนไรเฟิล AK-47 อีกข้างหนึ่งถือวิทยุกล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนชิลี เริ่มต้นด้วยการประจานทหารผู้ทำรัฐประหารว่า “ตระบัตสัตย์” สัญญาที่เคยให้ไว้กับประธานาธิบดี ประมุขผู้ได้ถูกรับเลือกโดยประชาชน จากนั้นกล่าวขอบคุณและให้ความหวังประชาชนตั้งแต่เด็ก สตรี และแรงงาน (แรงงานถูกใช้ในความหมายกว้างสุด) และจบด้วยการประณามผู้ทำรัฐประหาร โดยระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนเป็นเวลา 6 นาทีกว่านี้ เสียงปืนและระเบิดดังสอดแทรกตลอดเวลา

ปืนที่เขาใช้ต่อสู้ เป็นของกำนัลที่ได้มาจาก Fidel Castro นักปฏิวัติชาวคิวบา ผู้ดำเนินตามทางของ Marxist–Leninist ตัวปืนสลักไว้ว่า “แด่มิตรและสหายร่วมรบของผม”

กลับมาที่ประเด็นหลัก โชคดีของผมคือ ความรู้สึกเซงในตัวเองที่ทำ “ภารกิจ” นี้หลุดมือ ถูกลบด้วยความสนุกของหนังเรื่อง El Conde (2023) ของ Pablo Larraín ไปเกือบหมด (“เกือบ” เพราะมันจะหมดก็ต่อเมื่อผมเขียนงานชิ้นนี้เสร็จ) หนังเรื่องนี้เขียนบทให้ Augusto Pinochet นายพลผู้นำขบวนรัฐประหารชิลีปี 1973 กลายเป็นแวมไพร์ที่อยู่บนโลกนี้มาหลายร้อยปี เขาเคยเป็นทหารรับใช้กษัตริย์ฝรั่งเศส ก่อนจะไปยืนมองหัวของ Marie Antoinette ถูกกิโยตินเฉือนช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส จากนั้นไปมีส่วนร่วมกับการปฏิวัติในหลายเหตุการณ์ ก่อนจะเบื่อการใช้ชีวิตเป็น “ทหารธรรมดา” และเลือกไต่เต้าทางอำนาจทางทหารในประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีกษัตริย์ ชื่อ ชิลี

ประวัติศาสตร์ที่เป็นภูมิหลังของหนังคือ ช่วงเถลิงอำนาจ Pinochet ใช้กำลังเผด็จการไล่ฆ่า/อุ้มหาย ประชาชนผู้ต้องสงสัยว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” อย่างมหาศาล ส่วนทางเศรษฐกิจนั้น Pinochet เปิดทางให้นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชื่อกลุ่ม Chicago Boys ใช้ชิลีเป็นห้องทดลองวางระบบเศรษฐกิจที่เชื่อในตลาดเสรีอย่างเสรีนิยมใหม่ (ปัญญาชนบางคน เช่น Alain Badiou อาจเถียงว่าจริงๆ มันไม่มีอะไร “ใหม่” ในที่นี้เลย เพราะมันกลับไปหาทุนนิยมขนานแท้ หลังจากถูกเบี่ยงโดย Keynesian Economics) การปกครองโดยอำนาจเผด็จการ คู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเสรี (เสรี=เอื้อคนรวยให้รวยขึ้นเพราะเชื่อใน Trickle-down economics) ถูกวางโครงสร้างไว้อย่างแน่นหนาในรัฐธรรมนูญฉบับ 1980 รัฐธรรมนูญที่แช่แข็งชิลีไว้กับ “ระบอบ Pinochet” อีกอย่างน้อย 30 ปี

การยังเหลืออณูชีวิตในโครงสร้างอำนาจนี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้ท่าน Count Pinochet ยังไม่ตาย เพราะเลือดและหัวใจของผู้คนยังคงถูกสังเวยให้กับระบอบของเขา (ยิ่งเป็นพวกหนุ่มสาวอายุน้อยยิ่งดี) แต่ขณะเดียวกัน Pinochet ในบั้นปลายนี้กลับไม่มีความสุขอย่างยิ่งจนทำได้แต่อ้อนวอนด้วยการอดกินเลือดและหัวใจเพื่อให้ความตายมาถึงเสียที ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเทิดทูน Napoleon Bonaparte จักรพรรดิฝรั่งเศส เป็นวีรบุรุษในดวงใจ ซึ่งต่างจากความเป็นจริงที่ตัวเขาถูกประณามถีบส่งหลังจากลงจากอำนาจ

ปัญหาคือการที่เขาไม่ตายเสียทีสร้างความหนักใจให้แก่ภรรยาและลูกของเขาอย่างมาก เพราะขณะที่ Pinochet ร้องหาความตายไม่เว้นแต่ละวัน เขากลับยังไม่ได้บอกที่ซ่อนของ “เงินและทรัพย์สิน” ในบัญชีต่างประเทศทั้งหลายของเขา จนต้องจ้างนักบัญชี ซึ่งจริงๆ เป็นแม่ชีที่จะมาจัดทำรายการทรัพย์สินและขับไล่วิญญาณ (exorcise) ซาตานออกจากตัว Pinochet

เธอทำหน้าที่สอบสวนได้อย่างดี หนึ่งในฉากที่แสดงว่าเธอมีไหวพริบเฉียบแหลม คือตอนพูดกระตุ้นให้เฒ่า Pinochet ดมกลิ่นตัวเธอ หลังเขาเพิ่งให้ข้อมูลที่บ่งบอกว่าชอบคนกลิ่นตัวหอม ในฝั่ง Pinochet เราอาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กามอารมณ์ แต่ฝั่งแม่ชีในคราบนักบัญชีนางนี้เห็นว่านี่เป็นการเอาชนะความชั่วด้วย “ความรัก” ตามแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า

การเผยทัศนคติและแง่มุมส่วนตัวของ Pinochet เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ เพราะ Pinochet ในเรื่องให้นิยามตัวเองว่าเป็น “a reserved general, an intellectual.” ที่มือใสสะอาด ถูกชักจูงให้รัฐประหารและถูกใครก็ไม่รู้ยัดเงินจำนวนมากใส่บัญชีที่ตัวเองไม่ได้เปิด สำหรับผม ไม่ว่าฉากนี้ Pinochet จะพูดความจริงหรือโกหก มันก็แสดงให้เห็นมูลของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดมากๆ ยิ่งเมื่อประกอบกับตอนที่เขาบอกว่า หากได้ชีวิตใหม่ สิ่งแรกที่จะทำลายคือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice ;ICJ) ศาลที่เขาถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานทุจริตเงินประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

กล่าวได้ว่า “ศาล” เป็นสถาบันแรกๆ ที่เผด็จการสมัยใหม่จะเข้าไปครอบงำ เพราะหากถูกตัดสินตามวิธีพิจารณาความที่อ้างว่าเป็นธรรมและเป็นกลางของศาลแล้ว มลทินของพวกมันก็อันตธานไปโดยปริยาย

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าค่อนข้างเพียงพอสำหรับการมองความจริงของโลกปัจจุบันผ่านศิลปะภาพยนตร์เรื่องนี้ในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนสุนทรียภาพที่ปรากฏในหนังก็นับว่าประณีตและลงตัว (การเหาะเหินเต้นระบำหลังได้ลิ้มรสความเป็นอมตะ ของ “…” สื่อสารอะไรต่อผู้ชมมากมายโดยไม่ต้องอาศัยบทพูดบรรยายเลยแม้แต่นิดเดียว)

ยังไม่นับว่าการที่หนังแทรกตัวละคร “Iron Lady” ซึ่งเป็นพันธมิตร “อนุรักษ์นิยม” ของ Pinochet ในอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ซึ่ง “no alternative” ได้อย่างน่าตลกและย้อนแย้งในเวลาเดียวกัน

แต่หากจะมีอะไรที่หนังแซวได้แสบสันมากๆ คงเป็นการบอกว่า ที่ซึ่งพวกฝ่ายซ้ายตัวอันตรายรวมตัวกันมากที่สุด คือ “โรงเรียนของพวกคนรวย” และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ภายใต้เส้นทางของทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่ การเป็นคนรวยที่ดีที่สุด คือการเป็นคนรวยในประเทศที่ยากจน เพราะระบบนี้ไม่ได้แบ่งสรรความมั่งคั่งจากคนรวยมาถึงชนชั้นล่างอย่างที่อ้างกันมาหลายทศวรรษ พูดอีกอย่างคือ ภายใต้ระบบแบบนี้ อำนาจไม่ว่าจะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ อาจขยายขึ้นจริงตามคำโฆษณาบ้าง แต่เค้กที่ขยายนี้ ไม่เคยถูกปันส่วนบนกติกาที่เป็นธรรม

แม้แนวทางทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่จะถูกหลายประเทศนำไปปรับแต่งให้เข้ากับตัวเอง (localized) แต่คุณภาพชีวิตที่แย่ลง ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น หรือการที่โรคซึมเศร้ากลายเป็น “อาการป่วยแห่งยุคสมัย” (อย่างที่พิษสุนัขบ้า วัณโรค ไข้ทรพิษ หรืออหิวากตโรก เคยเป็น) ก็บ่งชี้ความเน่าเฟะของมันไปในตัวอยู่แล้ว

และหากต้องพูดสาธยายถึงคนที่ยังดันทุรังเชื่อในลัทธินี้ ก็คงต้องอัญเชิญสุนทรพจน์สุดท้ายก่อนตายของ Allende มาเตือนใจ

“ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินพวกมัน”

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
อดีตนักเรียนนิติศาสตร์แต่สนใจปรัชญา สนใจเรื่องความคิดและศิลปะ ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ