วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ย่านซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ “สยาม” ไม่ได้มีอะไรต่างจากวันเสาร์อื่นๆ มากนัก การจราจรยังคงติดขัด เสียงเครื่องยนต์จากมอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊ก รถเมล์ และรถยนต์ แข่งกันแผดเสียงคำรามกลบสิ่งรอบข้างเหมือนเดิม ร้านค้ายังเปิดแผงขายของให้แก่ลูกค้าทั้งไทยและเทศตามปกติ คนแปลกหน้าจำนวนเกินกว่าจะนับก็เดินแหวกม่านเสียงดนตรีที่ดังจากเครื่องเสียงแต่ละร้านเช่นเคย เป็นไปได้ว่าถ้าไปถามกรมควบคุมมลพิษว่าประเมินสถานที่นี้อย่างไร คำตอบก็คงไม่พ้นว่า มันอบอวลไปด้วยมลพิษ ทั้งทางอากาศและเสียง ทว่าท่ามกลางมวลเสียงที่มีแต่จะหนุนกันให้ค่าเดซิเบลมีแต่ขึ้นกับขึ้น มีเสียงหนึ่งเล็ดลอดออกมาจาก Lido Connect Hall 2 ในเวลา 15.00-19.00 น. มันเป็นเสียงที่จะว่าดังก็ว่าดัง เบาก็ว่าเบา เป็นเพียงอณูขนาดกะทัดรัด แต่ยิ่งใหญ่ทรงพลังจนองอาจฉายแสงท่ามกลางอาณาเขตที่ทุกอย่างถูกปกคลุมด้วยระบบทุนนิยมได้ หากเปรียบเทียบโดยไม่สนใจวิทยาศาสตร์ มันเป็นดั่งเสียงยามเมื่อผีเสื้อกระพือปีก เป็นเสียงบทกวีที่ระดับความดังอาจไม่ได้สูงมากนัก แต่กลับเผยความสวยงาม ความอบอุ่น และความเจ็บปวด ออกมาอย่างท้วมท้นยามเมื่อมันเคลื่อนไหว


เสียงที่ว่านี้มาจากงาน “Do You Hear The People Sing?” จัดโดยเสมสิกขาลัย (SEM ─ Spirit in Education Movement) ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อรำลึกการครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์อัปยศที่เรียกกันว่า “รัฐประหารเมียนมา” 

ละครเวที วงสนทนา และการแสดงดนตรี เป็น 3 กิจกรรมหลักในงานนี้ที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในงานได้รู้จัก เข้าใจ และรู้สึกร่วมกับการต่อสู้ดิ้นรนของผู้ถูกกดขี่ในเมียนมา

ละครเวที “THE ORDINARY” กำกับการแสดงโดย ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์ และอีหลิว ลี ว่าด้วยเรื่องของคนธรรมดาที่ต้องต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ละครเรื่องนี้เผยให้เห็นว่าการถูกกดขี่หรือใช้ความรุนแรงปราบปรามในทุกที่ ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีหน้าตา ไม่มีพรมแดน และไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่ เพราะแม้รูปแบบของการกดขี่อาจแตกต่างไปในแต่ละกรณี แต่การกดขี่ก็ยังเป็นการกดขี่ และหลายครั้งมันก็รุนแรงถึงขนาดปัดเป่าให้สิ่งพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อย่างอิสรภาพและความยุติธรรมขาดหายไป ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ยังทำให้ผู้ถูกกดขี่อยู่ในสภาวะลงเรือลำเดียวกัน ดังที่การต่อสู้เรียกร้องร้องให้ความยุติธรรมปรากฏต่างเป็นเป้าหมายที่ผู้ถูกกดขี่ทุกที่มีร่วมกันโดยไม่อาจกั้นได้ด้วยเส้นแบ่งดินแดน ทั้งนี้ จำเป็นต้องชื่นชม ปาลิตา ศรีวบุตร-นักแสดง และวิศรุต ตาวินโน-นักไวโอลีน ที่ต่างใช้ความสามารถทางศิลปะขับเอาความรุนแรงแสนกระอักกระอ่วนมาวางแผ่ให้ผู้ชมได้เห็นและรู้สึกตรงหน้าอย่างถึงใจ เสียงของผู้ถูกกดขี่ที่แฝงอยู่ในละครเวทีเรื่องนี้จะไม่สามารถสัมผัสถึงได้เลยหากขาดแรงส่งจากมืออาชีพอย่างพวกเขา


สำหรับวงสนทนา “Voice and Sound of the Resistance” ร่วมคุยโดยสองคนหลัก ได้แก่ อรดี อินทร์คง นักศึกษาดุษฏีบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล กับชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้มีความผูกพันกับเมียนมา และเจ้าของผลงาน From Bangkok to Mandalay แมนสรวง มาร-ดา รวมถึงซีรีส์ดัง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี


อรดีเป็นนักมานุษยวิทยาผู้ศึกษา “เสียง” เพื่อหาความหมายของบ้านและจินตนาการทางการเมืองของกลุ่มคนพลัดถิ่นเมียนมาในไทย เธอตั้งชื่อให้หัวข้อของเธอเป็นภาษาอังกฤษว่า “Listening to the Myanmar Diaspora Soundscapes in Thailand” และเล่าว่าบรรดาคนที่อพยพหนีออกจากเมียนมาต่างมีภาพจำเกี่ยวกับเสียงในประเทศตัวเองต่างกันออกไป บางคนนึกถึงเสียงของบ้าน บางคนนึกถึงเสียงความรุนแรง แต่ที่น่าสลดใจที่สุด บางคนมีชีวิตเติบโตแค่ในค่ายผู้ลี้ภัยทำให้ไม่มีเสียงอะไรให้นึกถึงเลย 


อรดียังเล่าถึงเพื่อนจากรัฐฉานซึ่งระหกระเหินมาทำงานเก็บหอมรอมริบในไทยกว่า 10 ปี ความน่าสนใจคือ เมื่อเขากลับไปยังถิ่นฐานที่รัฐฉาน เขาไม่เคยรู้สึก “บ้าน” ของเขาคือบ้าน จนกระทั่งคนในระแวกบ้านส่งเสียงต่อต้านการรัฐประหารด้วยการเคาะภาชนะที่ต่อเนื่องจากบ้านสู่บ้าน จากเสียงหนึ่งสู่อีกเสียงหนึ่ง เพื่อแสดงถึงการไม่ยอมเงียบและไม่ยอมรับความชอบธรรมของกองทัพ อรดีอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า การเคาะหม้อในพม่ามีความหมายทางวัฒนธรรมเท่ากับการไล่สิ่งชั่วร้ายหรือไล่ปิศาจให้ออกจาก “บ้าน” 


เสียงในฐานะเครื่องมือแห่งการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมคนบะหม่ามาตลอด มันพัฒนามาอย่างน้อยตั้งแต่ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เรียกว่า “Thangyat” จนถึงเพลงแนวเพลงร่วมสมัยเช่น “แร็ป-ฮิปฮอป” ไล่ตั้งแต่วง Acid ที่สมาชิกชื่อ เพียง เซยา ตอ (Phyo Zeya Thaw) เพิ่งถูกเผด็จการทหารประหารชีวิตเมื่อกลางปี 2022 วง Rap Against Junta ที่อรดีแนะนำให้ฟังเพลง “Blood” เพลงที่คนหลากชาติพันธุ์ผลัดกันเล่าเรื่องบ้านในภาษาและประวัติศาสตร์ของตัวเองรวมมากถึง 8 ภาษา ทั้งที่ก่อนหน้าที่เพลงแร็ปได้รับความนิยมแค่ในกลุ่มคนบะหม่า อรดีชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเสียงนี้สามารถเห็นได้ชัดในกรณีของวง Triple Edge วงฮิปฮ็อปที่รวมทุกชาติพันธุ์ภาษาจากแถบสามเหลี่ยมทองคำของไทย

อรดีสรุปเสียงที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปีการรัฐประหารเมียนมาออกมาเป็น 4C คือ Courage, Creativity, Collectivity และ Commitment ซึ่งเป็นสิ่งที่ไปไกลและยิ่งใหญ่กว่า “ความกลัว” ที่รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาพยายามใช้เป็นกลยุทธการปกครองอยู่มากโข


ด้านชาติชายอธิบายความรู้สึกที่มีต่อการเคาะส่งเสียงว่า “ทึ่งและภูมิใจ” เพราะสัมผัสได้ถึงพลังจำนวนมากซึ่งทำให้เห็นว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเขตแดนเมียนมา จนอาจหวังถึงความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงว่าจะเกิดขึ้นเมียนมาได้ ชาติชายยังเตือนสติว่า สิ่งที่น่ากังวลในโลกสมัยใหม่คือ “ชนะแล้วจะทำอย่างไรต่อ?” เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในหลายกรณีถึงความล่มสลายที่ตามมาหลังจากได้รับชัยชนะ ชาติชายจึงสรุปว่า ความเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องอยู่คู่กับความเป็นมนุษย์ด้วยเสมอ 

ชาติชายยังแสดงทัศนะส่วนตัวที่มีต่อศิลปินเสียงหวาน “วา วา ซาน” (War War San) ว่าเธอเป็นหลักฐานของความเแลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมียนมา เพราะเดิมทีเธอร้องแต่เพลงที่นุ่มนวล แต่มาวันนี้ท่าทีในการร้องของเธอกลับเปลี่ยนไป   

เมื่อจบวงพูดคุยก็ถึงเวลาไฮไลท์ของงานที่ว่าด้วยเสียงครั้งนี้ วา วา ซาน ศิลปินที่ชาติชายพูดถึงเดินขึ้นเวทีพร้อมกับเครื่องดนตรีคู่ใจ “ซอวง์เก้าก์” (พิณพม่า) จากนั้นปลดปล่อยพลังสะกดทุกคนในฮอลให้ตกในภวังค์ห้วงเสียงของเธอ ตามมาด้วยดนตรีๆ สบายๆ เหมาะแก่การเดินทางจากวง “รัตติกาล” ก่อนจะส่งเวทีต่อให้ “น้ำ คีตาญชลี” หากต้องอธิบายบทเพลงสันติภาพของเธอ คงต้องบอกว่ามันเป็นเพลงกวีซึ่งพูดถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น สงคราม ความรุนแรง และเสรีภาพ ได้อย่างสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากการสูญเสียเลือดแม้แต่หยดเดียว (เป็นเรื่องน่าสลดใจที่เพลง “อย่าเด็ดปีกผีเสื้อ” ช่างเหมาะเจาะกับเหตุการณ์ความรุนแรงในปฏิบัติการดับแสงตะวันโดยกลุ่มคนรักสถาบันศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิดขึ้นในระแวกนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง)


วงที่ขึ้นต่อจากน้ำ คีตาญชลี คือ “Co-Culture Ensemble” (COCE) วงดนตรี Chamber Music ประกอบด้วยนักดนตรีหลากเชื้อชาติและวัฒนธรรม เหมือนกับชื่อวงที่แปลได้ว่า “วงดนตรีวัฒนธรรมร่วม” ความหลากหลายนี้เมื่อนำมาอยู่ด้วยกันกับศิลปินอื่นจึงยิ่งทำให้น่านฟ้าทางดนตรีของงานเบิกกว้างขึ้นไปอีก

ภูมิทัศน์แห่งเสียงยังขยายไปอีกเมื่อวงฮิปฮอปที่อรดีแอบพูดถึงไปแล้วอย่าง “Tripple Edge” เซอร์ไพรซ์คนดูตั้งแต่เพลงแรก “INNER-NET” (มาจากการผสมระหว่างคำว่า inner กับ internet) เพราะ loop ของเพลงนี้ถูกบรรเลงจากซอวง์เก้าก์ของ วา วา ซาน กระทั่งในเพลงต่อๆ มา ที่เหล่าสมาชิกในวงนี้ยังสามารถ “Spit” คำกลอนออกมาได้อย่างเมามันและเชี่ยวชาญราวกับได้รับพรสวรรค์ เป็นที่น่าจับตาว่า บางทีศิลปินฮิปฮอปดาวรุ่งดวงต่อไปที่โคจรอยู่ในดินแดนรัฐไทย อาจไม่ใช่ศิลปินที่ถือสัญชาติไทยด้วยซ้ำ (วงนี้ทำเพลงดีทุกเพลง แต่ถ้าต้องแนะนำขอให้ลองฟัง Borda Boiz, Class War, Buit on Blood, Dynamite, Hero และ United Era) ─ ด้วยทำนองที่เปล่งออกมานี้ยังทำให้คนดูเข้าใจและได้ยินจริงๆ แล้วว่า สิ่งที่อรดีพูดถึงพัฒนาการทางดนตรีในวัฒนธรรมพม่าหน้าตาเป็นอย่างไร 


วงดนตรีที่เป็นหมุดหมายการต่อสู้ทางการเมืองไทยในช่วงหลายปีนี้อย่างวง “สามัญชน” เป็นวงสุดท้ายที่ขึ้นมาเล่นปิดด้วยบทเพลงที่คนสนใจการเมืองต้องคุ้นหูกันดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สวยงามที่สุดเกิดขึ้นในตอนท้ายของงาน ที่นักดนตรีทุกวง ทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา ขึ้นมามีส่วนร่วมบรรเลงเพลงซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ “Do You Here The People Sing” และเพลงซึ่งมีความหมายในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยพม่า “Kabar Ma Kyay Bu” (ကမ္ဘာမကြေဘူး) ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “ยืนหยัดตราบโลกสลาย”

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
อดีตนักเรียนนิติศาสตร์แต่สนใจปรัชญา สนใจเรื่องความคิดและศิลปะ ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ