โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป
“ระเบียบวินัย” (Discipline) เป็นหนึ่งในข้อถกเถียงทางการศึกษาที่มีมาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ฝ่ายหนึ่งมองว่าการบังคับให้นักเรียนทำตามกฎของโรงเรียน เช่น การตัดผม การเคารพธงชาติ การแต่งกาย ถือเป็นการฝึกให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติตามกฎหมายของสังคมในอนาคต หลายโรงเรียนจึงเลือกใช้อำนาจเข้ามาควบคุม บังคับ ตรวจตราอยู่เป็นประจำ อีกฝ่ายกลับเห็นต่างโดยมองว่า วินัยไม่ใช่สิ่งที่สร้างได้ด้วยการสั่งการหรือบังคับให้ทำตาม แต่มาจากการฝึกให้นักเรียนใช้เหตุผลไตร่ตรองจากตัวเอง จึงเลือกสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย สร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้สะท้อนตัวเอง และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบกติกาในการอยู่ร่วมกัน
ความต่างของสองมุมมองนี้สะท้อนจุดยืน ความคิด และความเชื่อเกี่ยวกับนิยามของวินัยที่ต่างกัน ในข้อเขียนนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนสำรวจนิยามของ “ระเบียบวินัย” จากหลากหลายมุมมองที่ลึกลงไป ทั้งจากมุมมองประวัติศาสตร์ จิตวิทยาการเรียนรู้ และสังคมวิทยาการศึกษา เพื่อที่จะขยายให้เห็นคำอธิบายหรือข้อถกเถียงว่าระเบียบวินัยแต่ละแบบนั้นกำลังวางอยู่บนพื้นฐานคุณค่าและมุมมองแบบใด
ระเบียบวินัยภายใต้รัฐเผด็จการกับการสร้างพลเมืองดีผ่านการเชื่อฟัง
ในบทความวิจัย “วินัยและการลงทัณฑ์์ ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย (พ.ศ.2475-2563)” ของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ได้ชี้ให้เห็นว่า วิธีคิดต่อระเบียบวินัยในโรงเรียนเป็นมรดกตกทอดจากวิธีคิดทางหทารในยุคหลัง 2475 ที่ต้องการเป็นมหาอำนาจ สังเกตุได้จากการควบคุมทั้งทางร่างกายและวัฒนธรรม เช่น ทรงผม ชุดเครื่องแบบ การเข้าแถวเคารพธงชาติ เป็นต้น
การควบคุมถูกทำให้เข้มข้นอย่างต่อเนื่องขึ้นในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ภายหลังการรัฐประหารมีการออกระเบียบวินัยว่าด้วยทรงผมอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้อำนาจตัดสินใจอยู่ในดุลพินิจของโรงเรียน บทความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การให้อำนาจตัดสินใจตามดุลยพินิจของโรงเรียนอาจทำให้เกิดการตีความโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิและเสรีภาพ ดังที่เราเห็นจากข่าวมากมาย มีการตรวจระเบียบวินัยจากทรงผม แล้วจบลงด้วยการกร้อนผม ทำให้อับอาย หรือลงโทษด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากนี้การควบคุมวินัยผ่านเครื่องแบบยังสัมพันธ์กับการเติบโตของธุรกิจเครื่องแบบและการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กที่ไม่มีเงินมาหาซื้อเครื่องแบบได้
ความน่าสนใจอีกประการคือ ระเบียบวินัยยังมีสัมพันธ์แนบแน่นกับมิติวัฒนธรรมในอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมที่มุ่งส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนที่ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังเช่น วิชาลูกเสือ ถูกเน้นย้ำในฐานะวิชาของการฝึกระเบียบวินัย
แนวคิดเรื่องการสร้างวินัยลงบนตัวตนนักเรียนในสังคมไทย เกี่ยวข้องกับการนิยามความหมายของ “เด็กดี” แบบสูตรสำเร็จ เสมือน checklists และกฎเหล็กให้นักเรียนต้องเรียนรู้ ซึมซับ และปฏิบัติตนตามอุดมการณ์ (ของชนชั้นผู้ปกครองหรือรัฐเผด็จการ) ดังจะเห็นได้ชัดเจนหลังการรัฐประหารปี 2557 คณะรัฐประหารได้มีความพยายามถ่ายทอดค่านิยม 12 ประการของพลเมืองดีสู่โรงเรียนในฐานะหลักปฏิบัติและเป็นส่วนหนึ่งในวิชาเรียนหน้าที่พลเมืองเพิ่มเติมโดยอ้างว่าจะเป็นการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม
อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ เห็นว่าสิ่งนี้กำลังสร้าง “ผู้เรียนที่มีจิตวิญญาณความเป็นทาส เชื่อทุกอย่างเหมือนกันหมด” ที่เป็นวัฒนธรรมของการเน้นให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาแบบเผด็จการ
ในบทความยังได้อธิบายอีกว่า หลังปี 2540 ข้อถกเถียงถึงความสมเหตุสมผลของระเบียบวินัยดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้น และการถือกำเนิดของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กปี 2546 ที่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีเพื่อสร้างความความกลัวและการทำร้ายร่างกายในนามของความหวังดีที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมโรงเรียนไทยมาช้านานได้ถูกยกเลิกและแทนที่ระบบคะแนนความประพฤติ แต่ทว่าแม้มีกฎหมายเข้ามาพยายามลดความรุนแรงและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่โรงเรียนไทยก็ยังวางอยู่บนวินัยแบบทหารที่สร้างการกำราบ ควบคุม จับผิด สร้างความกลัว และใช้การลงโทษทางร่างกายเพื่อสร้างระเบียบวินัยอยู่เสมอมา สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญของนักเรียน ในการลุกขึ้นมาประท้วง ทวงถามถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพเสมอมา โดยเฉพาะในยุคสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มนักเรียนเลว ที่มองว่าแนวคิดระเบียบวินัยแบบเผด็จการทหารกำลังกดทับศักยภาพและตัวตน ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และยังละเมิดสิทธิเสรีภาพบนเนื้อตัวร่างกายของผู้เรียนด้วย
สร้างวินัยจากความกลัวและการลงโทษ หรือ เหตุผลและเคารพของความเป็นมนุษย์ ?
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราอาจสะท้อนได้ว่าโรงเรียนไทยกำลังสร้างวินัยจากความกลัวและการลงโทษ ภายใต้มุมมองที่เชื่อว่า ‘การเรียนรู้ควรสร้างเงื่อนไขให้นักเรียนเรียนรู้และปฏิบัติตามผ่านการกระทำซ้ำๆ ย้ำๆ’ ตามมุมมองจิตวิทยาการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยม (behaviorism) ซึ่งแนวคิดนี้เชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า จากนั้นมนุษย์ก็จะเกิดการเรียนรู้ จดจำ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการเสริมแรงทางบวกและทางลบ การให้รางวัล และการลงโทษ อาจพูดได้ว่าสิ่งเร้าหรือเงื่อนไขเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ปรับเปลี่ยนระเบียบวินัยของนักเรียนได้ ตัวอย่างของการวางเงื่อนไขและผลลัพธ์ตามหลักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยมที่ปรากฎชัดในสังคมไทยคือ “ความกลัวและการลงโทษ”
หลายโรงเรียนเลือกที่จะใช้ความกลัวเพื่อควบคุม ปราบปราม กำราบเด็กให้อยู่ในร่องในรอยซ้ำมาซ้ำไป สร้างความรู้สึก “กลัวที่จะถูกลงโทษ ถูกครูตี ถูกครูด่า” ภาพของนักเรียนที่มีระเบียบวินัยจึงเป็นเป็นภาพของนักเรียนที่อยู่โอวาท เชื่อฟัง และเดินตามกฎเกณ์ที่ครูวางไว้
ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับไม่ได้ตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำสิ่งหนึ่งจากสำนึกของเหตุผล แต่เป็นเทคติค (tactic) เพื่อลบหลีกจากการลงโทษ ด้วยการแสร้งว่าเชื่อฟัง ดังที่ ทิชา ณ ณคร หรือ ป้ามล ผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ได้สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์และหนังสืออย่าง “เด็กน้อยโตเข้าหาแสง” ป้ามล เน้นย้ำว่า การสร้างวินัยไม่ได้เกิดจากสร้างเงื่อนไขที่เป็นกฎเหล็กของอำนาจนิยม แต่เป็นการสร้างพื้นที่ของความเชื่อใจ เป็นมิตร และการพูดคุยบนเหตุผลเพื่อฝึกการตัดสินใจ พร้อมให้โอกาสและโอบอุ้มเมื่อทำผิดพลาด เป็นการกระทำที่อยู่บนความสัมพันธ์ของความรักและเคารพของความเป็นมนุษย์ของคนหนึ่ง
มุมมองของป้ามล แสดงชัดเจนถึงวินัยในมุมมองแบบมนุษนิยม (Humanism) ที่เชื่อว่า วินัยที่เกิดขึ้นภายในตัวตนของคนคนหนึ่งนั้น มาจากการที่เขามีความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ ในการเรียนรู้เพื่อตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงตัวเองและสังคมส่วนรวม ดังนั้น การเรียนรู้ผ่านการพูดคุย สนทนา สะท้อนความรู้สึกนึกคิด ทีละเล็กทีละน้อย ปราศจากอำนาจควบคุมให้หวาดกลัวจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาวินัยภายในตัวตนของเด็กให้เกิดขึ้นได้
ในทำนองเดียวกัน นักจิตวิทยาชื่อดังชาวรัสเซีย Lev Vygotsky เห็นว่า พื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์เช่นนี้ คือการที่ค่อยๆ พัฒนาการเรียนรู้ที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้น โดยที่ครูมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปสนับสนุนเป็นเสมือนนั่งร้านที่ผลักดันให้นักเรียนเติบโตจากการให้คำแนะนำ และการแลกเปลี่ยน วินัยในวิธีคิดแบบ Vygotsky จึงต้องสร้างบนพื้นฐานของการพูดคุย ไม่ใช่การควบคุม จับจ้อง และลงโทษ
วินัยคือเครื่องมือสอดส่อง ควบคุม หรือ พื้นที่ของการพูดคุย ต่อรอง ?
ในสายตาของสังคมวิทยาการศึกษา (Sociology of Education) มุมมองเกี่ยวกับระเบียบวินัยแต่ละแบบคือภาพสะท้อนอย่างตรงไปตรงมาของลักษณะที่สังคมนั้นๆ ต้องการส่งต่อผ่านระบบโรงเรียน โดยการเข้ามากำหนด ตัดสินใจว่านักเรียนควรเรียนรู้อะไร และปฏิบัติอย่างไร Giroux และ Penna ได้อธิบายถึง 3 มุมมองที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบวินัยและหลักสูตรไว้ได้อย่างน่าสนใจ มุมมองแรกคือแบบโครงสร้าง-หน้าที่ (structural functional perspective) เป็นวิธีคิดแบบจารีตนิยมที่มองระบบโรงเรียนในฐานะพื้นที่ของการส่งต่อ ถ่ายทอด ผลิตซ้ำ ความรู้ค่านิยมให้กับนักเรียน ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ จึงมาพร้อมกับการระบุกฎระเบียบ พฤติกรรมที่เห็นว่าดีและไม่ดี และป่าวประกาศให้นักเรียนมีหน้าที่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นการมองการเรียนรู้ด้วยสายตาที่อยู่บนความคิดแบบ “อาชญากรรมและการลงโทษ” บทบาทของครูคือการคอยจับจ้อง สอดส่อง และลงโทษนักเรียนเพื่อรักษาระเบียบของอำนาจที่วางไว้ เช่น การที่ครูใช้การลงโทษทางร่างกาย เพื่อหวังให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามกฎเหล็กโดยเร็ว เป็นต้น
มุมมองที่สองคือปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (symbolic interactionism) มองว่า นักเรียนไม่ใช่วัตถุที่รอรับคำสั่งการ แต่พวกเขามีอำนาจในการคิด ทำความเข้าใจ ตัดสินใจ ต่อสภาพแวดล้อมที่เขาดำรงอยู่ ชั้นเรียนหรือโรงเรียน จึงควรเป็นพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ที่จะกระทำการและสร้างความรู้ร่วมกัน แนวคิดนี้เห็นว่าการสร้างวินัยในการเรียนรู้ไม่ได้มาจากการสั่งการ ควบคุม แต่มาจากการต่อรอง ที่ครูจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสควบคุมชีวิตของตนเองได้ด้วยการกำหนดกติกา แนวทางการเรียนรู้ และการอยู่ร่วมกัน ผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนร่วมกับผู้อื่น บนความสัมพันธ์ที่อยู่บนการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย เมื่อนักเรียนละเมิดข้อตกลงดังกล่าวหรือทำผิดต่อผู้อื่น ระบบจะมุ่งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู ทบทวน หาทางออกในเชิงบวก แทนที่การลงโทษ
มากไปกว่านั้น แนวคิดอย่างทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict theory) ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า ระเบียบวินัยเป็นเครื่องมือของอำนาจทางการเมืองที่พยายามจะส่งต่อคุณค่านิยมบางอย่างผ่านการเรียนรู้ จะเห็นได้ชัดจากการเรียนประวัติศาสตร์ที่ถูกใช้ปลูกฝังความคิดแบบอำนาจนิยม เพื่อรักษาอำนาจ สถานะและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ทำให้มุมมองนี้มีแนวทางที่ต้องการต่อรอง ตั้งคำถาม เปลี่ยนแปลง ถึงระเบียบอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และแสวงหาแนวทางใหม่บนพื้นฐานประชาธิปไตย
สุดท้ายแล้วการศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร?
การสำรวจหลากหลายมุมมองว่าด้วย “ระเบียบวินัย” อาจไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจทั้งในแง่แนวคิด ความเป็นมาในเชิงประวัติศาสตร์ จิตวิทยาการเรียนรู้ และสังคมวิทยาการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นคำถามสำคัญที่จะพาให้เรากลับมาทบทวนว่า สุดท้ายแล้วการศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร?
หากคำตอบคือเราอยากเห็นการศึกษาเป็นไปเพื่อให้คนคนหนึ่งกล้าที่จะคิด กล้าตั้งคำถาม มีตรรกะเหตุผล และมีความสามารถในการตัดสินใจด้วยวิจารณญาณ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพลเมือง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องสร้างโรงเรียน ห้องเรียน หลักสูตร บทเรียน และมุมมองวินัย ที่วางอยู่บนวัฒนธรรมประชาธิปไตย ไม่ใช่อำนาจเผด็จการและการควบคุมอีกต่อไป
อ้างอิง
- ‘พิธีกรรม’ ในระบบการศึกษาไทย ยุคเรียนออนไลน์
- โรงเรียน “สาธิต”กับการฝึกฝนระเบียบวินัยโดยทหาร
- “ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร” ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้หวังเปลี่ยนโครงสร้างเฮงซวย เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้เด็กติดคุก
- กฎระเบียบ เกลียดระบบ’ คุยกับ 4 แกนนำนักเรียนเลวผู้เรียกร้องสิทธิเหนือร่างกายนักเรียน
- Vygotsky การจัดการเรียนรู้ที่ดี คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่ามีใครสักคนอยู่เคียงข้าง เป็นนั่งร้านที่ช่วยสนับสนุนให้เขาเติบโต
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ค่านิยม 12 ประการแด่นักเรียน
- วินัยและการลงทัณฑ์์ ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย (พ.ศ.2475-2563) ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ใน วารสาร สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร Vol. 17 No. 2 (2021): กรกฎาคม-ธันวาคม หน้า 283-236
- The Sociology of Classroom Discipline
หนังสือ
- เด็กน้อยโตเข้าหาแสง ผู้เขียน มิลินทร์