แปลจากบทความของนิตยสารจาโคแบ็ง (Jacobin Magazine) เรื่อง Democratic Socialism Is About Democracy โดย Shawn Gude อ่านบทความต้นฉบับ ที่นี่


แปล จักรพล ผลละออ

ที่ใจกลางแก่นแท้ของระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย มันคือระบบที่ประกอบขึ้นด้วยความคิดอันเรียบง่าย นั่นคือความคิดที่ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีเยี่ยมและควรจะถูกขยายขอบเขตปริมณฑลให้ครอบคลุมไปยังมิติอื่นๆ

มีหลายวิถีทางมากมายเหลือเกิน หากเราจะพูดหรือเอ่ยถึงระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย บางคนพูดถึงมันโดยการให้ความสำคัญกับคุณค่าเรื่องความเท่าเทียม ความยุติธรรม และความเป็นธรรมหรือความเสมอภาค ขณะที่บางส่วนตอกย้ำการพูดถึงระบอบนี้ว่าเกิดจากความต้องการที่จะแก้ไข “ความไม่เป็นเหตุเป็นผล” ของระบบทุนนิยม ขณะที่บางส่วนก็ยังยืนยันว่าระบอบนี้เป็นเพียงการ “เปลี่ยนแปลงความทุกข์ยากอันแสนสาหัสเกินจะทานทนจากระบบทุนนิยมให้กลายเป็นความทุกข์ยากแบบธรรมดาสามัญที่พอจะรับได้”

อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ‑คอร์เตซ ได้ให้คำนิยามถึงระบบสังคมนิยมประชาธิปไตยตามความเห็นของตนเองเอาไว้ดังนี้

 “ฉันเชื่อว่าในสังคมสมัยใหม่ สังคมที่มีธรรมจรรยา และสังคมที่มั่งคั่งนั้น ไม่ควรมีใครสักคนในอเมริกาที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากจนและยากลำบาก และนี่แหละคือความหมายของการกล่าวว่าสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขก็คือสิทธิมนุษยชน นี่หมายความว่าเด็กๆ ทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็ตามพวกเขาควรจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้หากว่าพวกเขาต้องการมัน และอย่างที่คุณทราบ ฉันคิดว่ามันไม่ควรมีใครต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ในเมื่อเราสามารถสร้างโครงสร้างสาธารณะและนโยบายสาธารณะที่จะทำให้ผู้คนสามารถมีบ้านและอาหารเพียงพอสำหรับการมีชีวิตอยู่อย่างสง่างามสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสหรัฐอเมริกาได้”

นั่นถือว่าเป็นคำนิยามที่ไม่เลวเลย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมจะขอเน้นย้ำในที่นี้คือระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยส่วนแก่นแท้ของมันแล้วมันคือระบอบที่เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยอย่างถึงราก คือการทำให้ความเป็นประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่นั้นมันมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และทำให้ปริมณฑลทางสังคมที่ขาดความเป็นประชาธิปไตยได้เริ่มต้นความเป็นประชาธิปไตย ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกามันหมายถึงการขยายขอบเขตของการควบคุมของมหาชนในพื้นที่ทางการเมืองให้ขยายออกไปสู่การควบคุมพื้นที่ทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย

นี่เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีพิษภัยและไม่ได้น่าหวาดกลัวอย่างที่หลายคนคิด – การตั้งคำถามว่า ในทุกวันนี้ใครบ้างที่ไม่อ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย? หากแต่สำหรับนักสังคมนิยมประชาธิปไตยเรามีบางสิ่งที่ตั้งประเด็นไปไกลกว่านั้น สำหรับพวกเราแล้วระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงแค่กระบวนการพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบหรือกฎอันตายตัวที่ปราศจากปัญหา หากแต่ประชาธิปไตยเป็นความคิดที่หยั่งรากลึกอย่างที่สุดในการยืนยันว่าคนธรรมดาสามัญทุกคน ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นชนชั้นสูง หรือเป็น “คนที่ดีกว่า” มนุษย์คนอื่นสามารถ และควรที่จะมีสิทธิในการปกครองตนเองได้ คำว่า “ประชาธิปไตย” คือคำที่เราใช้เพื่ออธิบายถึงโครงสร้างทางสังคมที่เป็นแนวราบ อันเป็นระบบที่ทำลายโครงสร้างสังคมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การสะสมอำนาจ และความมั่งคั่งอันเกินพอดีของบรรดาอภิสิทธิ์ชน

เมื่อระบอบประชาธิปไตยเริ่มพัฒนาไปข้างหน้า คือการโค่นล้มบรรดาจอมเผด็จการผู้กดขี่และบรรดาผู้มีอำนาจลงไปพร้อมกัน มันเป็นการยึดเอาอำนาจในการตัดสินใจและอำนาจสถาปนาไปจากบรรดาชนชั้นนำ เป็นการยึดเอาอำนาจในการปราบปรามไปจากบรรดากลไกของรัฐ เป็นการปลดเปลื้องบรรดาผู้มีอำนาจเหนือในการปกครองออกจากอำนาจในการปกครองเหนือพลเมืองทั้งมวล ประชาธิปไตยคือสิ่งที่ย้ายเอาอำนาจในการปกครองจากมือของผู้ปกครองให้เคลื่อนที่ไปสู่มือของพลเมืองทั้งมวล

นักสังคมนิยมประชาธิปไตยต้องผูกโยงตัวเองเข้ากับการต่อสู้ของชนชั้นล่างในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในช่วงยุคสมัยก่อนหน้านี้บรรดากษัตริย์และลัทธิศาสนาถือว่าเป็นผู้ครองอำนาจในการปกครองเหนืออาณาประชาราษฎร์ ขณะที่ต่อมาเมื่อถึงการกำเนิดขึ้นของระบบทุนนิยมนั้น ห่วงโซ่ของระบบสังคมแบบระบอบศักดินาก็แตกสลายลง

หากแต่รูปแบบใหม่ของการครองอำนาจเหนือก็ได้ปรากฏตัวขึ้นมาแทนที่ บรรดาผู้ที่ถือครองปัจจัยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ – ถือครองโรงงาน, เหมืองแร่, เส้นทางรถไฟ กลายมาเป็นผู้มีอำนาจและผู้ถือครองอำนาจในการปกครองเหนือกว่าบรรดาผู้ที่ถือครองไว้เพียงแต่กำลังแรงงานของตนเอง

ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยม อันเป็นองค์กรที่จะสถาปนาขึ้นผ่านพรรคแรงงาน, สหภาพแรงงานที่มีความคิดก้าวหน้า และผ่านองค์กรหรือการรวมตัวในรูปแบบอื่นๆ ของชนชั้นแรงงาน ซึ่งจะถือกำเนิดขึ้นตามๆ กัน นักสังคมนิยมนั้นจะยึดถือเอาความคิดแห่งการรู้แจ้งว่าด้วยความคิดเรื่องความเป็นตัวของตัวเองและการปกครองเหนือตนเองมาใช้จนนำไปสู่ข้อสรุปในเชิงเหตุผลและการตั้งคำถามต่อระบบแบบเดิมว่า “ถ้าหากมนุษย์ทั้งหลายนั้นต่างเกิดมาเท่าเทียมกัน แล้วอะไรคือสิ่งที่มอบสิทธิ์ให้คนกลุ่มหนึ่งนั้นมีอำนาจปกครองเหนือกว่าผู้อื่น? เหตุใดบรรดาชนชั้นนายทุนนั้นจึงมีอำนาจในการปกครองราวกับเป็นพระเจ้า?”

ความคิดพื้นฐานแบบดังกล่าวนั้นเป็นความคิดที่ส่งอิทธิพลและสร้างพลังให้แก่นักสังคมนิยมประชาธิปไตยตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20

พรรคสังคมนิยมในยุโรปช่วงต้นทำการต่อสู้ทางชนชั้นด้วยการเสนอเรื่องการสลายข้อจำกัดด้านสิทธิทางการเมืองและยกเลิกการควบคุมเสรีภาพสื่อ Eugene Debs ตัวแทนของพรรคสังคมนิยมอเมริกาเคยประกาศว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นเป็นกระบวนการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย  องค์กรเคลื่อนไหวนักสังคมนิยมชนชั้นแรงงานนั้นได้เข้ามาแทนที่กลุ่มผู้กดขี่ในสถานที่ทำงานด้วยพื้นฐานของสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย Bayard Rustin นักสังคมนิยมผู้นำขบวนการสิทธิพลเมืองเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการสถาปนาข้อเสนอในการต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบบการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ นักสังคมนิยมสตรีนิยมนั้นก็มีส่วนในการต่อสู้เพื่อทลายกำแพงแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะที่แบ่งแยกหญิงชาย หรือที่ร่วมสมัยกว่านั้นคือนักสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นได้เข้าร่วมเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านลัทธิอาณานิคมในจาไมกา เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวในโบลิเวีย และสนับสนุนกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในอาร์เจนตินา

แต่ถึงแม้ว่ามันจะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญเหล่านี้ หากแต่พวกเราก็ยังคงอาศัยอยู่ภายใต้ระบอบที่เต็มไปด้วยการกดขี่อีกมากมาย

สถานที่ทำงานในอเมริกานั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน สถานที่ทำงานนั้นเป็นสถานที่ที่ผู้คนใช้เวลาในวัยผู้ใหญ่จำนวนมากไปกับมัน และยังเป็นสถานที่ที่ทำให้แรงงานนั้นต้องสละสิทธิ์เสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยไปด้วย เจ้านายหรือนายจ้างนั้นสามารถไล่ลูกจ้างออกได้ทันทีด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม พวกเขาสามารถสั่งแรงงานหรือลูกจ้างได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรพูดและอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรพูด พวกเขามีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะรักษาสถานที่ประกอบการตรงไหนไว้ หรือจะย้ายมันไปตรงไหนตามอำเภอใจ มีเพียงแต่บรรดานายจ้างเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรในการลงทุนอย่างไร

ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยนั้นกล่าวว่าผู้คนทั้งหลายควรจะมีอำนาจอย่างเท่าเทียมกันในการสร้างการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา หากแต่ระบบทุนนิยมนั้นกลับละเลยและถ่มถุยใส่หลักการข้อนี้

หากเราหันมาพิจารณาพื้นที่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั่นคือปริมณฑลทางการเมือง แม้ว่ามันจะมีการยืนยันหลักการเลือกสิทธิในการออกเสียง หนึ่งคนหนึ่งเสียง – อันเป็นหลักการที่มาจากชัยชนะของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในอดีต – หากแต่ว่ามันก็ถูกแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมา บรรดามหาเศรษฐีนั้นพากันซื้อตัวนักการเมือง ให้ทุนกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญ และใช้งานบรรดานักล๊อบบี้ บรรดานายทุนเหล่านี้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่สามารถกำหนดชะตากรรมของนักการเมืองได้

เหนือสิ่งอื่นใด บรรดานายทุนเหล่านี้นั้นมีไพ่ตายสำคัญถือครองเอาไว้ เพราะพวกเขามีอำนาจควบคุมกลไกระบบเศรษฐกิจ ในห้วงเวลาที่แน่นอนห้วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมประชาธิปไตย – โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศอย่างสวีเดนนั้น – องค์กรของแรงงานเข้มแข็งขึ้นมาก และพรรคฝ่ายซ้ายมีอำนาจมากเพียงพอที่จะส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับการแสดงออกทางการเมืองได้ แต่กระนั้นนั่นเป็นเพราะบรรดาผู้นำทางธุรกิจนั้นต้องการที่จะสร้างประสิทธิภาพในการสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจ พวกเขาต้องการมั่นใจว่าผลประโยชน์ของพวกเขานั้นจะได้รับการคุ้มกัน และท้ายที่สุดแล้ว “ความมั่นคงของนายทุน” นั้นจะต้องอยู่เหนือกว่า “ความเท่าเทียมทางการเมือง”

สำหรับนักสังคมนิยมแล้ว นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ เราไม่อาจจะยอมทนต่อการจัดการทางสังคมในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบเชื่องๆ – โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมณฑลที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประจำของผู้คน

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสุดขั้วที่เราเรียกร้องนั้นคือการเรียกร้องให้มีการขยายปริมาณและระดับของการตัดสินใจ ทางสังคม ของความสัมพันธ์ทางสังคม และโครงสร้างทางสังคมเพื่อให้มันดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย การควบคุมการลงทุนของบรรดานายทุนนั้นมีอำนาจปกครองเหนือทิศทางของเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างมาก

เราจึงควรจะสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสำคัญให้กลายเป็นของส่วนรวม ระบบการรับผู้อพยพเข้าเมืองนั้นทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง เราจำเป็นต้องยกเลิกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐอเมริกา หรือ ICE (Immigration Customs Enforcement) และทำให้มนุษย์ทุกคนนั้นมีสิทธิที่จะออกเสียงทางการเมือง

บรรดาผู้ที่ถือครองอำนาจเอาไว้ในมือนั้นย่อมไม่ต้องการที่จะถูกแย่งชิงเอาอำนาจของตนเองไป การพยายามจะสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียมกันของมนุษย์ทั้งมวลนั้นย่อมจะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้กลับอย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้ปกครองที่ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ หากแต่ว่าการหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งเหล่านี้นั้นก็เท่ากับการยอมรับระเบียบทางสังคมที่ยังคงเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเจ้านาย-ทาส เราต้องไม่ยอมรับต่อระเบียบทางสังคมเหล่านี้ เราต้องเชื่อมั่นเสมอว่ายังคงมีความหวังอยู่

โลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม โลกที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เราเผชิญ เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้

นี่คือการเมืองของความเป็นไปได้

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด