หลังจากการลุกฮือของนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา นอกจากรายชื่อของแกนนำผู้ชุมนุม อีกหนึ่งองค์กรที่ปรากฏชื่ออยู่ตามข่าวและโซเชียลมีเดียก็คือ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นหลังมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เพื่อว่าความเกี่ยวกับคดีความขัดแย้งระหว่างประชาชนและคณะรัฐประหาร ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปี ของการทำงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นอกจากตำแหน่งทนายความที่เป็นหัวใจหลักของการทำงาน วันนี้ Common School ชวนทำความรู้จัก “ฝ่ายข้อมูล” ผู้เป็นเบื้องหน้าและเบื้องหลังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เรามาคุยกับ นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงเบื้องหลังการทำงานในองค์กรที่เป็นหัวหอกสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผ่านการทำงานในกระบวนการยุติธรรม

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ฝ่ายข้อมูล เป็นใคร ทำอะไร และเมื่อไหร่?

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีหน่วยงานที่เรียกว่า “ฝ่ายข้อมูล” ทำงานเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์ งานข้อมูลคดี ข้อมูลการคุกคามอื่นๆ รวมถึงการสื่อสารที่ออกทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เรื่องข้อมูลการละเมิดสิทธิต่างๆ เป็นงานของฝ่ายข้อมูล ซึ่งฝ่ายข้อมูลไม่ต้องเป็นทนายก็ทำได้ หลายคนก็ไม่ได้จบนิติศาสตร์ บางคนมีฐานทางนิติศาสตร์ บางคนก็มีตั๋วทนาย แต่ว่าความชอบความถนัดมันอาจจะไม่ได้ไปในทางงานทนาย ฝ่ายข้อมูลจะอยู่ที่สำนักงานในกรุงเทพ แล้วก็อยู่ในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคอีสาน เดิมเรามีตำแหน่งเก็บข้อมูลในภูมิภาค แต่พอคดีเริ่มเยอะก็มีส่วนที่เป็นทำงานประสานงานกับทนายคดีภูมิภาคด้วย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ยกเว้นภาคใต้

ศูนย์ทนายมีที่ต่างจังหวัดด้วย?

มีครับ คดีมันมีทั่วประเทศ เราก็ทำงานทางไกลกันแต่เชื่อมกับสำนักงานในกรุงเทพ จริงๆ ผมอยู่เชียงใหม่ เป็นทีมที่ภาคเหนือ แต่ก็ช่วยดูงานข้อมูลของภาคกลางด้วย ก็ขึ้นๆ ลงๆ ภูมิภาคก็มี 2-3 คน ภาคเหนือ ภาคอีสานอีก 2 คน ไม่ได้คนเยอะ เป็นตำแหน่งประจำ ใช้ระบบทนายเครือข่ายที่เข้ามาช่วยทำคดี

ความแตกต่างระหว่างงานของทนายความกับฝ่ายข้อมูล?

ฝ่ายข้อมูลต้องสังเกตการณ์คดี ขณะที่ทนายเขาจะโฟกัสมันมีพยานหลักฐานอะไร ทนายทำงานในกระบวนการทางกฎหมายทั้งหมด ดูเอกสารทางคดี งานประกันตัว แต่ว่าพวกงานเก็บข้อมูลเพื่อสื่อสาร เก็บบันทึกสถิติ เขียนงานสื่อสาร

ขอขยายความนิดนึงครับ งานของฝ่ายข้อมูลมันมีสองส่วน ส่วนแรกบันทึกสถิติเช่นรายละเอียดคดี รายงานข้อหาต่างๆ คนที่ถูกดำเนินคดีเท่าไหร่ อีกส่วนหนึ่งก็คือซัพพอร์ตข้อมูลเพื่อเตรียมต่อสู้คดี ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีต่างๆ ก็ต้องเข้าไปช่วยบ้าง รวมถึงเรื่องที่อาจจะไม่เกี่ยวกับคดีโดยตรง เช่น การถูกคุกคาม การละเมิดสิทธิ์ที่ถูกแจ้งดำเนินคดี คุกคาม ก็ต้องเก็บข้อมูลกันเพิ่มเติมด้วย

งานเก็บข้อมูลมันต้องถูกใช้การสื่อสารกับสาธารณะ เพราะคดีพวกนี้เป็นคดีเรื่องสิทธิที่เกี่ยวพันกับความสำคัญทางการเมือง ประชาชนต้องรับรู้เรื่องนี้ด้วย นำเสนอสถิติคดีต่างๆ หรือว่าสถานการณ์สำคัญแต่ละช่วง หรือว่าจะมีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องคดี เรื่องบทความทางเราก็มีชวนน้องๆ ที่จบนิติศาสตร์ ฯลฯ เขียนเข้ามา แต่ยังไม่ได้เปิดเป็นกิจลักษณะ แต่บทความก็ใช้เวลาเขียน ในทีมอาจจะมีเวลาไม่พอ ก็เลยต้องชวนเครือข่ายมาช่วยกันทำ

ก่อนการมาของการลุกฮือของขบวนนิสิต นักศึกษา ช่วงปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนดูคดีประเภทใดบ้าง?

ส่วนใหญ่เป็นคดีความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ศูนย์ทนายฯ เองตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 เนื่องจากมีการจับกุมพลเรือนขึ้นศาลทหาร มีนักกิจกรรมและประชาชนโดนคดี ทนายสิทธิมนุษยชน เขาก็คิดถึงการเข้าไปช่วยคดีบ่อยๆ เขาก็เลยก่อตั้งขึ้นเป็นองค์กร ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่ยาว แต่คดีก็ยาวออก ยืดออก ส่วนใหญ่ก็เป็นคดีทางการเมือง ใต้กรอบพลเมืองและสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง เช่น เรื่องการคุ้มครอง เรื่องการแสดงออก ทำงานภายใต้กรอบหลักการสิทธิมนุษยชน

พูดได้ไหมว่า มันคือการทำงานเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน? การทำงานของศูนย์ทนายคล้ายกับลอว์เฟิร์มไหม?

ใช่ๆ แต่ผมไม่ได้จบกฎหมายนะ ผมจบรัฐศาสตร์มา ผมไม่ได้มีประสบการณ์ตรงเรื่องลอว์เฟิร์ม แต่ตอบจากที่สัมผัสศูนย์ทนายแล้วกันครับ หมวดที่เป็นเรื่องทางทนาย ทางกฎหมาย ก็จะมีให้คำแนะนำบ้างคล้ายกับลอว์เฟิร์ม แต่ทนายศูนย์ฯ เป็นทนายที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตลูกความมากกว่าทนายทั่วไปพอสมควร อย่างเช่น เคสของเยาวชน ก็ต้องคุยกับผู้ปกครองค่อนข้างเยอะ หรือเคสที่ลูกความอยากฆ่าตัวตาย ชวนนักจิตวิทยามาให้คำปรึกษา ก็ลงรายละเอียดกับชีวิตของลูกความ ต้องใช้หัวใจเพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำแค่งานทนายหรืองานเอกสารอย่างเดียว จริงๆ ทนายที่ทำงานดีๆ มีเยอะครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นทนายสิทธิฯ แต่ว่ามันมีบางส่วนที่เราเห็นว่า เออ มันก็มีทนายบางส่วนที่อยู่แต่กับงานเอกสาร

ปี 2563 เป็นต้นมา มีคดีตลอดไหม?

จริงๆ มันก็มีงานเป็นช่วงๆ นะครับ เพียงแต่อาจจะไม่ได้พีคเท่าช่วงปี 2563 ที่เกิดการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ก่อนหน้านี้หลังจากการรัฐประหารปี 2557 มันก็มีคดีเฉลี่ย 30-50 คดี แต่ปี 2563-2565 คดีมันเพิ่มขึ้นมหาศาลคดีมันเกิน 1,000 คดีมาแล้ว เข้ามาที่ศูนย์ทนาย 800 คดี  คดีเยอะขึ้น งานก็เยอะขึ้น คดีให้ความช่วยเหลือเยอะมาก การสื่อสารเยอะขึ้นมาด้วย แต่ก็เราก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร การให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษา ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลสถานการณ์ รายงานสถานการณ์เหมือนเดิมตามปกติ ไม่เปลี่ยนครับ

ในฐานะที่คุณทำข้อมูล พอจะบอกเป็นสถิติได้ไหมว่าคดีประเภทไหนเยอะที่สุดตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา

คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ การชุมนุมทางการเมืองครับ เพราะตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มันคาบเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดด้วย ทางรัฐใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมและการหยุดยั้งการแสดงออกทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะพวกแกนนำหลักๆ ก็ 40-50 คดี ที่โดน คนอื่นโดนกล่าวหาไปอีก 1,400 คน

เราก็พบว่า พอระยะเวลาผ่านไป ศาลเริ่มยกฟ้อง อัยการสั่งไม่ฟ้อง ตรงนี้ก็ใช้เวลาเหมือนกัน ก็สร้างภาระให้กับคนที่โดนคดี กลายเป็นถ่วงรั้งด้วยคดี เป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีที่ฝ่ายรัฐใช้เป็นโซ่ตรวน เพราะจะต้องไปรายงานตัว ไปศาล ฯลฯ การโฟกัสเรื่องการเคลื่อนไหวก็ลดลง ท้ายที่สุดพิสูจน์แล้วก็ไม่ได้มีความผิด

ระหว่างที่ทำงานมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร?

อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการสังเกตการพิจารณาคดี โดนศาลหรือเจ้าหน้าที่ห้ามจดบันทึก บางคดีช่วงโควิดแน่นๆ เขาก็จะไม่ให้เข้าเลย อนุญาตเฉพาะทนายกับลูกความ ปกติทางศูนย์ข้อมูลก็จะส่งคนไปเข้าร่วมเพื่อนำเรื่องราวมาบอกเล่า ตรงนี้ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน ไม่ให้เข้า ไม่ให้จดบันทึก
อีกอย่างก็มีเจ้าหน้าที่ภูมิภาคถูกคุกคามเหมือนกัน ฝ่ายข้อมูลภาคอีสานก็เคยโดนดำเนินคดีเรื่องการชุมนุมช่วง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน คนที่ไปสังเกตการณ์ก็โดนคดี กลายเป็นว่าเป็นผู้ชุมนุมไปด้วยและโดนข้อกล่าว สุดท้ายก็โดนยกเลิก บางคนก็โดนเจ้าหน้าที่ติดตามเหมือนกัน ถ้าเขาสนใจบทบาท เขาก็จะมาสอบถามว่า มาทำอะไรกันแน่

การทำงานทำได้ปกติไหม อย่างพวกจดบันทึก ถ่ายภาพ?

ทำได้ครับ แต่เรื่องการบันทึกภาพนี่โดนห้ามแน่นอน มันจะมีข้อกำหนดอยู่แล้ว แต่เรื่องจดบันทึกมันไม่ได้มีข้อกำหนดชัดเจน เรื่องห้ามบันทึกภาพและเสียงอาจจะมีความผิดในแง่ละเมิดอำนาจศาล แต่เรื่องจดบันทึกบางทีเป็นคำสั่งปากเปล่า บางครั้งศาลก็พูดบนบัลลังก์ว่า ห้ามจดนะ หรือว่าเคยมีบางกรณีว่าขอบันทึกของคนที่เขาไปสังเกตการณ์ ก็มายึดไปทีหลัง เขาก็จะอ้างว่าศาลเองก็คนจดบันทึกอยู่แล้ว ถ้าคุณเอาไปเผยแพร่ต่อมันอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนะ ซึ่งเหตุผลมันก็แปลกๆ

ในฐานะที่ทำงานฝ่ายข้อมูลและทำงานในศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คิดว่าการทำงานส่วนไหนต้องระวังเป็นพิเศษ?

อาจจะมีเรื่องการระวังข้อมูลของลูกความ มันเป็นเรื่องทางทนาย มีจรรยาบรรณทนายที่ต้องระวัง แม้ว่าจริงๆ ศูนย์ข้อมูลจะไม่ใช่งานทนาย แต่ก็ทำงานคาบเกี่ยว เราต้องระวังเรื่องนี้ เพราะบางเคสเขาก็ไม่ได้อยากเปิดเผยตัวตน บางเคสเราก็ต้องไม่รายงาน ก็จะต่างจากงานสื่อมวลชนที่ต้องเปิดเผยข้อมูล มีบรรทัดฐานอีกแบบ อันนี้เราก็ต้องระวังเรื่องงานทนายด้วย

อยากฝากอะไรถึงนักกฎหมายรุ่นใหม่บ้าง?

ต้องศึกษาสถานการณ์ในช่วงนี้หน่อย การใช้กฎหมาย การใช้กระบวนการทางกฎหมายต่างๆ มันน่าสนใจ มันไม่มีในตำรา เพราะการสอนในห้องเรียนหลายที่มันจำกัดอยู่แค่ตัวบทของกฎหมาย ไม่ได้เห็นกฎหมายที่อยู่ในโลกจริงๆ อยู่ในแอคชั่น มันมีความบิดเบี้ยวกับปัญหายังไง ถ้านักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ มีเวลาเรียนรู้ มันอาจจะผลักดันไปสู่การศึกษากฎหมายในอนาคตใช้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด