กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นทั้งกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางกฎหมาย หมายความว่า แม้นักกฎหมายรัฐธรรมนูญจะรอบรู้ช่ำชองประสบการณ์การออกแบบรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบมาอย่างไรก็ดี ท่ามกลางตัวเลือกนับไม่ถ้วนที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านั้น จะตัดสินใจเลือกด้วยเหตุผลด้านเทคนิคทางกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ การตัดสินใจต้องอ้างอิงกับความต้องการของประชาชนด้วย ต่อให้ออกแบบรัฐธรรมนูญมาอย่างชาญฉลาด หรือเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง หากแต่ไม่สอดคล้องกับเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาก็ถูกปฏิเสธและถูกล้มล้างไปในที่สุด
ในทางกลับกัน เจตจำนงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ จากการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่เป็นนามธรรมสูง มาสู่เอกสารทางกฎหมายที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องใช้ทั้งความรู้นิติศาสตร์และความเข้าใจในบริบทสังคมการเมืองควบคู่กันไป แม้หลักการประชาธิปไตย จะบอกว่า มติมหาชนคือเสียงจากสวรรค์ (vox populi, vox dei) อันเป็นสุภาษิตที่หลายคนคุ้นหู เมื่อมหาชนแสดงความต้องการว่าประสงค์สิ่งใด ย่อมไม่มีอะไรขวางกั้นได้ รัฐพึงต้องคารพมติมหาชน
ในความเป็นจริง การแปลงมติมหาชนให้กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา จากมติทางการเมืองให้กลายเป็นกฎหมาย ต้องผ่านการขบคิดออกแบบกระบวนการอย่างรอบคอบ หาไม่แล้ว มวลชนอาจถูกช่วงชิงเจตจำนงจนสุดท้าย เสียงสวรรค์นั้นจะเงียบไป
หากประเทศไทยจะออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ การศึกษาเปรียบเทียบความสำเร็จและล้มเหลวของประเทศอื่นที่ผ่านประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นเรื่องจำเป็น ประสบการณ์การร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศประชาธิปไตยของไทยครั้งสุดท้ายผ่านมานานกว่าสองทศวรรษแล้วและไม่อาจใช้เป็นสูตรสำเร็จได้อีก ในสี่ปีที่ผ่านมา วงการกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วโลกต่างจับตาไปที่ประเทศชิลี แรกเริ่มในฐานะความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์ และต่อมา ในฐานะบทเรียนความผิดพลาดนานัปการ ประสบการณ์การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศชิลีเปรียบได้กับการนั่งรถไฟเหาะตีลังกาที่ขึ้นสุดและลงสุด จากความหวังเรืองรองของหมู่ประเทศละตินอเมริกาจบลงที่ความผิดหวัง ทิ้งความรู้สึกยากบรรยายให้แก่ผู้ชม
จุดไฟฝัน วันปฏิรูป
มหากาพย์ปฏิรูปรัฐธรมนูญชิลีเริ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดในเดือนตุลาคม ปี 2019 ก่อนหน้านี้ ระบบการเมืองชิลีค่อนข้างมีเสถียรภาพ แม้จะเคยอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการทหาร แต่เมื่อหลุดพ้นแล้วก็ได้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี ในเดือนตุลาคม 2019 เมื่อรัฐบาลขึ้นราคารถโดยสารด้วยเหตุผลเรื่องราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น ประชาชนซึ่งไม่พอใจปัญหาค่าครองชีพอยู่แล้วจึงระเบิดออกมาเป็นการชุมนุมใหญ่นานนับเดือน ความรุนแรงจากการชุมนุมทำให้ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปินเญรา (Sebastian Piñera) ประกาศสภาวะฉุกเฉิน ใช้กำลังตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างดุดัน ประกอบไปกับการรับปากจะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม
อันที่จริง เรื่องราคาตั๋วโดยสารนั้นดูเป็นเรื่องเล็กน้อยมากจนไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นชนวนความวุ่นวายทางการเมืองได้ แต่การชุมนุมขยายออกไปเรื่อยๆ ลามไปถึงเรื่องความเป็นอยู่อื่นๆอีก ในช่วงสูงสุดนั้นประมาณกันว่ามีประชาชนกว่า 1,200,000 คนลงถนนในกรุงซานติอาโก สุดท้ายแล้ว ข้อเรียกร้องต่างๆ หลอมรวมกันกลายเป็นข้อสรุปว่า ชิลีต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อแรกพิจารณา ข้อเสนอเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ดูน่าฉงน เพราะรัฐธรรมนูญ 1980 ของชิลีนั้น แม้จะสืบทอดมาจากสมัยนายพลออกุสโต ปิโนเช (Augusto Pinochet) จอมเผด็จการ แต่ก็ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงนำเอาทหารออกจากการเมืองไปจนสิ้นแล้ว กระนั้น ชาวชิลีก็ยังเห็นว่าลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่สืบมาในรัฐธรรมนูญนั้นยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สวัสดิการ บำนาญ และสิทธิด้านต่างๆ ของประชาชน แรงกดดันมหาศาลทำให้ปินเญรา ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายขวารับข้อเสนอแต่โดยดี
กระแสสูงของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลี ว่าต้องเป็นประชาธิปไตย และมาจากประชาชนโดยแท้ กลายมาเป็นประชามติรอบที่หนึ่ง ในเดือนตุลาคม 2020 ครบหนึ่งปีของการประท้วง โดยมีคำถามสองข้อ หนึ่งคือ ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และข้อสอง ต้องการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประชาชนเห็นด้วยกับคำถามทั้งสองข้ออย่างท่วมท้น (78.3% และ 79% ตามลำดับ) การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 155 คน โดยตรง ตามมาในเดือนพฤษภาคม 2021 และ สสร. เริ่มทำงานในเดือนกรกฎาคม 2021 โดยมีกำหนดเวลา 9 เดือน
สำหรับ สสร. นั้น ข้อตกลงในรัฐสภารับประกันว่าจะต้องมีสัดส่วนหญิงชายใกล้เคียงกัน และมีที่นั่งสงวนให้กับชนพื้นเมืองอีกด้วย นอกจากนั้น ยังเปิดให้ผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองลงสมัครด้วย ผลการเลือกตั้ง สสร. พบว่าประชาชนปฏิเสธตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองขวาจัด ขวากลาง และซ้ายกลาง แต่สนับสนุนผู้สมัครที่โน้มเอียงไปทางซ้ายมากขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าก็สะท้อนผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ สิทธิเสรีภาพก้าวหน้า จำนวนมาก รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จนบางคนขนามนามว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิเวศวิทยา (ecological constitution)
แต่ยิ่งใกล้วันประชามติครั้งที่สอง เสียงเรียกร้องจากทั้งฝ่ายซ้ายและขวาให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกลับดังขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด เสียงส่วนใหญ่ 62% ก็ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในประชามติ 4 กันยายน 2022 อาจกล่าวได้ว่า ภายในระยะเวลาสองปี กระแสปฏิรูปรัฐธรรมนูญในชิลีก็ดับลง
ถอดบทเรียนความผิดพลาด
ทำไมการปฏิรูปรัฐธรรมนูญถึงล้มเหลว กระแสสูงเมื่อปี 2020 กลายเป็นความเฉยชาปฏิเสธได้อย่างไร?
สาเหตุแรกสุดคือความไม่พอใจต่อตัวสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้ง สสร. สนับสนุนผู้สมัครอิสระ ประกอบกับกระแสการเมืองในชิลีที่เบื่อหน่ายนักการเมืองอาชีพมาหลายปี ประจักษ์ได้จากจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองในชิลีที่ลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีกระแสประท้วงหนุนส่ง ประชาชนจึงเลือกผู้สมัครที่มีแนวคิดซ้ายสุด หรือก้าวหน้าสุด เข้าไปใน สสร.
สสร. หลายคนเป็นผู้มีชื่อเสียงมาจากการเป็นแกนนำม็อบ จากการแต่งตัวโดดเด่นและวาทะปลุกระดมต่อต้านผู้มีอำนาจ แต่ทัศนคติและพฤติกรรมที่เป็นคุณสมบัติในการปลุกระดมมวลชนกลางถนนกลายมาเป็นโทษสมบัติเมื่อต้องทำงานการเมืองในสภา หลายคนยังติดการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ เช่น การเสนอข้อเสนอสุดโต่ง อาทิ การยกเลิกองคาพยพทั้งหมดของรัฐแล้วแทนที่ด้วยสภาสำหรับตัดสินใจร่วมกัน ข้อเสนอพวกนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางการเมืองโดยแน่ และไม่มี สสร. ยอมรับ แต่เมื่อพูดออกไปแล้วก็กลายเป็นภาพลักษณ์ที่แย่ สสร. บางคนมีประวัติเคยวิจารณ์ชาติ ธงชาติ และอำนาจนำในรัฐ ก็ถูกขุดคุ้ยภาพลักษณ์ที่แย่ตรงนี้ขยายผลขึ้นไปอีกด้วยการปลุกระดมของสื่อฝ่ายขวาจัดที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
สาเหตุสำคัญประการที่สอง คือ ความไม่พอใจในรัฐบาล ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ชิลีมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหญ่ซึ่งได้นายกาเบรียล บอริค (Gabriel Boric) มา บอริคใกล้ชิดกับฝ่ายซ้ายและการประท้วง ทำให้หลายคนเชื่อมโยงกระบวนการรัฐธรรมนูญกับการเมืองปกติเข้าด้วยกัน
เมื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกลายมาเป็นรัฐบาลเอง กระแสต่อต้านผู้มีอำนาจก็กินตัวมันเองด้วยการหันมาต่อต้านรัฐบาลใหม่ด้วยเช่นกัน ในส่วนบอริคก็บริหารงานผิดพลาดหลายอย่าง ชิลีเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อาชญากรรมสูง ปัญหาผู้อพยพ ทำให้ประชาชนมองว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายอ่อนแอ วาระที่ก้าวหน้านั้นกลับกลายมาสร้างปัญหาให้สังคม
หนึ่งในความผิดพลาดครั้งใหญ่ของบอริค คือการอภัยโทษให้ผู้ถูกจับกุมระหว่างการประท้วง 2019 แต่ปรากฏภายหลังว่ามีประวัติอาชญากรรมจริงๆ ความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้รัฐมนตรีลาออก ความอ่อนหัด และความปรารถนาดีของรัฐบาล เมื่อรวมกันแล้วกลับกลายเป็นปัจจัยลบต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ
สาเหตุสุดท้ายคือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเอง เมื่อไม่มีการกำหนดกรอบชัดเจน วาระการยกร่างจึงอยู่ที่ สสร. เป็นผู้กำหนดทิศทาง ซึ่งก็กำหนดไปในทางก้าวหน้าสอดคล้องกับทิศทาง สสร. แต่ สสร. ไม่ได้สะท้อนสภาพสังคมชิลีจริงๆ สังคมชิลีไม่ได้ก้าวหน้าขนาดนั้น ในขณะที่ สสร. เป็นซ้ายจัด สังคมยังมีฝ่ายขวา และซ้ายกลางที่ไม่ได้เห็นด้วยกับวาระก้าวหน้าทั้งหมด สิทธิเสรีภาพจำนวนมากที่ใส่เข้ามาทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ของรัฐเป็นรัฐพหุสังคมวัฒนธรรม (plurinational state) มาตราแรกของรัฐธรรมนูญระบุว่า ชิลีเป็น “social and democratic state with rule of law,” which is also “plurinational, intercultural, and ecological.” เฉพาะ plurinational คือการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมือง รวมไปถึงการจัดตั้งระบบกฎหมายและศาลของชนพื้นเมืองด้วย ประการนี้ทำให้สังคมชิลีกังวล
ปัจจัยทั้งหมดเมื่อผสมเข้าด้วยกันก็กลายเป็นพายุการเมืองที่กระหน่ำจนกระแสปฏิรูปรัฐธรรมนูญดับลงไปพร้อมกับการลงประชามติครั้งที่สอง
การปฏิรูปที่เลี้ยวขวา
กระแสปฏิรูปรัฐธรรมนูญชิลีไม่ได้ตายอย่างสงบ แม้ประชาชนจะปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังอยากให้จัดทำรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองใช้เวลาสี่เดือนหลังการลงประชามติเพื่อเจรจากันจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่สอง ข้อตกลงดังกล่าวบรรลุในเดือนมกราคม 2023 ในส่วนเนื้อหานั้น การร่างรัฐธรรมนูญที่จะพึงมีต่อไปนั้น โดยอยู่ภายในกรอบข้อตกลง 12 ข้อ
ส่วนกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะตกอยู่ภายใต้การทำงานของคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญ (Commission of Experts) และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constitutional Council) เฉพาะกรรมาธิการจะแต่งตั้งโดยที่ประชุมร่วมของสองสภา ส่วนสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในดือนพฤษภาคม 2023
ทั้งคณะกรรมาธิการและสภาให้ตกลงกันโดยใช้เสียงข้างมากสามในห้า แต่เมื่อรัฐสภาประกาศชื่อผู้เชี่ยวชาญที่จะมานั่งในกรรมาธิการ และผลการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกมา กระแสสนับสนุนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญก็ยิ่งน้อยลงไปจนต่ำกว่าครึ่ง (49%)
บรรยากาศเดือนมกราคม 2023 นั้น พรรคการเมืองฝ่ายฝ่ายขวากลับมาครองสภา ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่รัฐสภาแต่งตั้งนั้น เกือบครึ่งหรือเกินเล็กน้อยเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายขวาที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีปินเญอรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฮอร์นาน ลาเรน (Hernán Larraín) ผู้มีประวัติสนับสนุนเผด็จการตั้งแต่ยุคนายพลปิโนเช เคยช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นนักล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และสมาทานแนวคิดนาซี ตัวลาเรนเองมาจากตระกูลที่ร่ำรวยอย่างยิ่งในชิลีเพราะความใกล้ชิดกับเผด็จการปิโนเช
อย่างไรก็ดี สัดส่วนในคณะกรรมาธิการยังต้องถือว่าใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงของสังคมชิลี คือ มีขวาครึ่ง ซ้ายครึ่ง เพราะเมื่อมาถึง สสร. ชุดใหม่ ซึ่งลดลงเหลือแค่ 50 คน และไม่มีที่นั่งสำรองให้กับชนพื้นเมืองอีกต่อไป ฝ่ายขวากลับได้ที่นั่งเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ และฝ่ายซ้ายได้ลดลงจนไม่พอที่จะใช้อำนาจวีโต้พันธมิตรฝ่ายขวา ซึ่งผิดไปจากสัดส่วนในสภาและกรรมาธิการ
โดยสรุป องค์กรทั้งสองที่รับผิดชอบการปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นั้นกลับมีที่มาจากอดีตสมัยปิโนเชเลยทีเดียว นอกจากนั้น เมื่อ สสร. ถูกยึดครองโดยฝ่ายขวา สสร. จึงสามารถแก้ไขหรือกลับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการเสนอขึ้นมาได้ หลังจากนั้น ต้องส่งให้คณะกรรมาธิการพิจารณาอีกครั้งก่อนส่งไปทำประชามติ
ร่างรัฐธรรมนูญที่สำเร็จออกมาแล้วเพิ่มอำนาจให้กับสภาและประธานาธิบดี ต้องการให้มีรัฐบาลเข้มแข็ง สนับสนุนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่ที่สำคัญกว่าคือ เนื้อหาในส่วนของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีลักษณะประชานิยมและอนุรักษ์นิยมอยู่ เช่น การบัญญัติรับรองสิทธิของทารกที่ยังไม่มีสภาพบุคคล เพื่อป้องกันการอนุญาตทำแท้ง เปิดช่องยกเว้นภาษีที่ดิน ให้รัฐสามารถเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ทันที และเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยความสงบเรียบร้อยเพื่อรับมือกับอาชญากรรม
จึงไม่น่าแปลกใจในการทำประชามติ ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ความกระตือรือร้นเมื่อปี 2019-2020 ได้หมดลงไปแล้ว ด้วยน้ำมือของหลายฝ่ายที่ผสมปนเปกัน ทั้งจากฝ่ายซ้ายเองที่ไม่อาจแสดงให้ประชาชนเห็นว่า สามารถรับมือกับอำนาจได้ในยามที่ตนมีโอกาส และฝ่ายขวา ซึ่งไม่ปรารถนาจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว การออกแบบองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่สะท้อนสภาพสังคมจริงๆ และระยะเวลาที่ยาวนานจนเกินเหตุ รวมกันทั้งหมดทำให้ฝันของชิลีที่จะสลัดเงาเผด็จการในรัฐธรรมนูญทิ้งต้องดับลง
อ่านการร่างรัฐธรรมนูญชิลี
คำถามสำหรับประเทศไทยคือเราจะอ่านประสบการณ์ของประเทศชิลีว่าอย่างไร ล้มเหลว สำเร็จ ผิดพลาดจนไม่อาจแก้ไขได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น เราจะถอดบทเรียนอย่างไรได้บ้าง
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในชิลียังไม่เสร็จสิ้น ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก เนื้อหาออกมาก้าวหน้า หรือซ้ายเกินกว่าสังคมวงกว้างของชิลีจะรับได้ ในขณะที่ครั้งที่สอง ก็ออกมาขวาเกินกว่าสังคมจะรับได้เช่นกัน ทั้งสองครั้ง ประชาชนลงโทษร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับด้วยการคว่ำลง ไม่ได้ตามใจผู้มีอำนาจไปเสียหมด ในแง่นี้ กระบวนการประชาธิปไตยในชิลียังมีความหวังอยู่ จุดอ่อนเดียวคือหากการปฏิรูปรัฐธรรมนูญลากไปยาวนาน กระแสสนับสนุนอาจจะยิ่งน้อยลง ประชาชนเบื่อหน่าย จนสุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จอะไร
ประชาชนชิลีแสดงเจตจำนงผ่านการประท้วงและการทำประชามติครั้งแรกชัดเจนว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ ปัญหาสำคัญอยู่ที่การออกแบบกระบวนการร่าง เพื่อแปลเจตจำนงที่ค่อนข้าง
เลื่อนลอยให้กลายเป็นกฎหมายที่ตายตัวให้ได้ ยิ่งเมื่อชิลีไม่ไว้วางใจนักการเมืองและกระบวนการรัฐสภาปกติ จำเป็นต้องมีสภาที่เป็นอิสระจากสภานิติบัญญัติ การออกแบบจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่
สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ เป็นอุดมคติที่ดี สะท้อนความชอบธรรมทางประชาธิปไตย หากแต่ถ้าไม่ระวัง การเลือกตั้งภายใต้อารมณ์อคติที่รุนแรง อาจทำให้ได้ สสร. ที่หน้าตาต่างจากที่สังคมนั้นเป็นจริงๆ ไม่ว่าจะไปซ้ายหรือขวาเกินไปก็ตาม ดังนั้น อาจจำเป็นที่ต้องเสริมด้วยความชอบธรรมอื่น เช่น คณะกรรมการที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น กำหนดทิศทางและเนื้อหาคร่าวๆ เพื่อให้ สสร. ได้อภิปรายแก้ไขเพิ่มเติมกัน
แต่การสรรหาคณะกรรมการตรงนี้คือจุดอ่อนอีกประการ ผู้เชี่ยวชาญไม่อาจสรรหาจากการเลือกตั้งได้ เพราะการเลือกตั้งวัดกันที่คะแนนนิยม แต่ความเชี่ยวชาญไม่ขึ้นกับคะแนนนิยม ความเชี่ยวชาญขึ้นกับความรู้ แต่ครั้นมอบหมายให้เป็นอำนาจของรัฐบาลในการแต่งตั้ง รัฐบาลชิลีฉวยโอกาสแต่งตั้งแต่ผู้ที่มีแนวคิดโน้มเอียงสนับสนุนรัฐบาล หรือมีประวัติเกี่ยวข้องกับเผด็จการ ซึ่งทำร้ายทั้งความชอบธรรมด้านชื่อเสียง ความเป็นกลาง ตลอดจนกระทบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำอย่างไรถึงจะมั่นใจว่าจะได้ผู้เชี่ยวชาญจากเฉดการเมืองที่หลากหลายจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ต่อไป
การตัดผู้แทนด้านความหลากหลาย เช่น ชนพื้นเมืองออกไป ทำให้ความชอบธรรมลดลงเนื่องจากขาดความมีส่วนร่วม (inclusiveness)
การมีกรอบกว้างๆ ว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรมีเนื้อหา หน้าตา ตลอดจนโทนเสียงไปในทางไหนเป็นเรื่องสำคัญ การพูดคุย ถกเถียง เพื่อกำหนดกรอบตรงนี้ทำให้เจตจำนงทางการเมืองชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ สสร. ทำงานง่ายขึ้น และบอกกล่าวให้ประชาชนได้รู้ล่วงหน้าถึงหน้าตาของกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่ด้วย แต่กรอบดังกล่าวต้องเกิดจากการพูดคุยและยินยอมพร้อมใจ ไม่ใช่การมัดมือชก หรือใช้เสียงข้างมากในสภาอย่างเดียว เพราะมีแนวโน้มจะใช้เสียงข้างมากปิดปากฝ่ายค้านหรือเสียงส่วนน้อย
ชิลียังมีความหวัง แม้จะริบหรี่ อย่างน้อยที่สุด ข้อดีคือ ประชาชนชิลีไม่ได้ผูกมัดตัวเองกับเงื่อนไขใดในการร่างรัฐธรรมนูญ แม้ครั้งนี้จะปฏิรูปไม่เสร็จก็อาจเป็นรากฐานในการปลุกกระแสความคิดปฏิรูปรัฐธรรมนูญในครั้งหน้าต่อไป เมื่อเทียบกับแนวโน้มการทำประชามติของประเทศไทยที่จะถามผูกมัดว่า การแก้ไขต้องไม่แตะต้องบางหมวดบางมาตรา การทำประชามติรัฐธรรมนูญในกรณีของประเทศไทย แทนที่จะเป็นการเพิ่มอำนาจในประชาชน อาจเป็นแค่การยืมมือประชาชนเพื่อปิดปากตัวเอง