ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมได้กลายเป็น ‘อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์’ ที่ครอบงำวงวิชาการไทยมาหลายทศวรรษ นักประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยมผลิตงานออกมาค้ำจุนโครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ เจ้ากรุงเทพฯ รวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและทำลายอำนาจท้องถิ่นด้วยกลไกราชการ ระบบภาษี และกองทัพสมัยใหม่ กระบวนการกดขี่ขูดรีดราษฎรในหัวเมืองต่างๆ สูบเลือดสูบเนื้อ เพื่อสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามและสร้างความมั่งคั่งของพวกเขา
นอกจากนี้ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมได้อำพราง ‘สภาวะอาณานิคม’ ของสยามในฐานะเจ้าจักรวรรดิรายย่อยในภูมิภาคได้ทำการล่าเอาหัวเมืองน้อยใหญ่มาเป็นอาณานิคมของตนและลดทอนความสำคัญของท้องถิ่น รวมไปถึงไม่มีพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และไม่นับรวมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ซ้ำร้ายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมได้ผนวกกลืนเอาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจนกลายพันธุ์
ผลจากโครงสร้างรัฐราชการรวมศูนย์และอุดมการณ์ประวัติศาสตร์ราชาขาตินิยมเป็นเสมือนม่านบังตาที่ทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ ในการก้าวข้าม ‘การรวมศูนย์’ ไปสู่การคืนอำนาจในการจัดการท้องถิ่นให้กับคนในพื้นที่ ซ้ำยังกดทับศักยภาพของท้องถิ่นไทยที่รุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม พลังทางเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ ไว้ภายใต้ ‘ยักษ์’ อย่างรัฐไทย
หนึ่งในประเด็นที่ Common School ทำงานรณรงค์ทางความคิดอย่างต่อเนื่องคือ ‘การยุติรัฐราชการรวมศูนย์’ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของท้องถิ่นให้ก้าวไกล แต่เราจะไม่เข้าใจประเด็นนี้และมองไม่เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เลย หากเราละเลยเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ และปรับความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ไทยในช่วงปฏิรูปรัชกาลที่ 5 เสียใหม่ที่ก้าวข้ามอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมที่กักขังความคิด โลกทัศน์ชาวไทยมาอย่างยาวนานที่จะทำให้เราออกจาก ‘กะลา’ เปิดประตูสู่โลกกว้าง เพื่อให้เห็นโอกาสความเป็นไปใหม่ๆ จินตนาการใหม่ๆ ถึงการปกครองตนเองของท้องถิ่นไทย
ตลาดวิชาอนาคตใหม่ ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’โดย ธงชัย วินิจจะกูล
ธงชัย วินิจจะกูลได้พาเรากลับเข้าไปสำรวจใจกลางอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่กักขังความคิด โลกทัศน์ชาวไทยมาอย่างยาวนาน ธงชัยไม่เพียงแต่ท้าทายเขย่าขนบธรรมเนียมทางประวัติศาสตร์ไทยที่อิงอยู่กับวาทกรรม ‘เสียดินแดน เสียเอกราช’ และเสนอคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ยุคปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 ใหม่ได้อย่างลุ่มลึกเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นว่าสยามในฐานะ ‘เจ้าอาณานิคม’ ได้ทำลาย ’อำนาจท้องถิ่น’ ในนาม ‘การปฏิรูปหัวเมือง’ เพื่อผนวกรวมสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาอย่างไรบ้าง การบรรยายประวัติศาสตร์นอกขนบจะทำให้คุณเท่าทันและมีภูมิคุ้มกันในการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น หากคุณสนใจประเด็นนี้ดูได้ในการบรรยายประวัติศาสตร์นอกขนบ ตอนที่ 3 ตั้งแต่นาทีที่ 29.31 เป็นต้นไปจะช่วยเปิดประตูการเรียนรู้ไปสู่ประเด็น ‘ยุติรัฐราชการรวมศูนย์’ ได้มากยิ่งขึ้น
ตลาดวิชาอนาคตใหม่ ตอนพิเศษ ‘ถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม : บาดแผล และความทรงจำ’ โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
หากคุณสนใจ ‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ แล้วล่ะก็ ต้องไม่พลาดการบรรยาย ‘ถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม : บาดแผล และความทรงจำ’ จากชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวรจะมาชวนเราท้าทายการรับรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบที่เราคุ้นเคย และถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยมที่เป็นอุดมการณ์หลักของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยอย่างถึงรากจนกลายพันธุ์มาเป็น ‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม’ ที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องมีความยึดโยงกับอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอยู่เสมอ เพื่อให้มีตัวตนในประวัติศาสตร์ชาติไทยจนทำลายพื้นที่ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เพื่อท้องถิ่นจริงๆ นอกจากนี้ยังทำให้เราเห็นด้วยว่า เส้นทางของการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมานั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่เกิดการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศที่ถูกทั้งเจ้าเมืองและเจ้าสยามกดขี่ขูดรีดจนลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐสยาม และเผยให้เราเห็นตัวตนของรัฐราชการไทยที่ใหญ่เทอะทะจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้อันเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบเจ้ากรุงเทพฯ หรือรัฐรวมศูนย์ของไทยได้
สำหรับใครชอบอ่านบทความสรุปการบรรยายก็มีนะ อ่านได้ที่นี่
บทความ ‘การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย และกลิ่นคาวเลือดของสามัญชน’
ในประวัติศาสตร์แบบทางการเรามักรับรู้ว่ากษัตริย์ไทยเป็นผู้กอบกู้เอกราชและผนวกรวบดินแดนต่างๆ แล้วสร้าง ‘ชาติ’ ที่กลายเป็น ’ด้ามขวาน’ ขึ้นมาราวกับว่ามันเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ ราบรื่น สวยงามอย่างในประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมได้ฉายภาพให้เราเห็น บทความนี้จะทำให้คุณเห็นว่าแท้จริงแล้วในกระบวนการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่ ‘สวยงาม’ ‘สงบสุข’ นั้นกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การต่อต้าน และการกดขี่ พูดให้ถึงที่สุดก็คือ เรามี ‘ชาติไทย’ ได้ก็เพราะการรีดเค้นทรัพยากรจากหัวเมืองที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย กลิ่นคาวเลือดของสามัญชนผู้ถูกกดขี่ แม้ว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะล้มสลายไปในที่สุด แต่มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแง่โครงสร้างอำนาจรัฐยังคงปรากฎให้เราเห็นมาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบของ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’ ที่ใหญ่เทอะทะ ทั้งยังการกดขี่ขูดรีดทรัพยากรจากจังหวัดเข้าสู่ส่วนกลาง และกดทับศักยภาพท้องถิ่นเอาไว้
อ่านได้เลยที่นี่
คอนเทนต์ ‘รู้จัก “ผู้มีบุญ” แห่งอีสาน : เมื่อประชาชนฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า’
อย่างที่เรารู้กันดีว่า การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เราคิด แต่กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การกดขี่ขูดรีดจากสยาม เราอยากจะพาคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนประวัติศาสตร์ไปดูเรื่องราวของผู้คนที่ใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า แต่กลับถูก ‘รัฐรวมศูนย์’ ตราหน้าว่าเป็น ‘กบฏ’ และจัดการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมอย่างในกรณีของ ‘ผู้มีบุญอีสาน’ ที่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐสยามลุกลามไปทั่วแผ่นดินอีสาน กรณีนี้แสดงให้เราเห็นว่าโครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ ‘ท้องถิ่น’ ได้ความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า ซ้ำร้ายยังกดปราบ ปรามปราบพวกเขาอย่างโหดร้ายทารุณ พร้อมๆ ไปกับการดับฝันให้หายไปกลับสายลม
อ่าน ‘รู้จัก “ผู้มีบุญ” แห่งอีสาน : เมื่อประชาชนฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า’ ได้ที่นี่
หนังสือ ‘อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์’
หนังสือประวัติศาสตร์ไทยปกดำเล่มคลาสสิกนี้จะทำให้คุณเข้าใจการก่อรูปรัฐไทยท่ามกลางกระแสทุนนิยม และมองรัฐไทยในฐานะ ‘อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ที่เป็นรัฐทุนนิยมรอบนอกของเจ้าจักรวรรดิตะวันตก ไม่เพียงแต่จะทำให้เราเห็นภาพรวมของการก่อรัฐไทยเท่านั้น แต่หนังสือของอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูลเล่มนี้จะทำให้คุณเห็นว่า รัฐสยามใช้กลไกใดบ้างในการทำลายอำนาจท้องถิ่นจนไม่เหลือชิ้นดี กลไกอำนาจรัฐแบบใหม่ของสยามได้คืบคลานเข้าไปจัดการอำนาจท้องถิ่น พร้อมๆ กับกุมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างไร ที่สำคัญจะทำให้คุณเข้าใจถึงรากฐานปัญหาของรัฐราชการรวมศูนย์ได้เป็นอย่างดี
หนังสือ ‘อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ สามารถยืมจากโครงการอ่านเปลี่ยนโลกได้เลยที่นี่
Common School On Tour ’ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น’ โดยปิยบุตร แสงกนกกุล
หากคุณคิดว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดขึ้นจริงไม่ได้ และเชื่อว่าถ้ากระจายอำนาจแล้วจะเกิดการคอรัปชั่นมากกว่าเดิม หรือเป็นความมั่นคงมีความเสี่ยงต่อการแบ่งแยกดินแดน เราอยากชวนคุณมาฟังการบรรยาย ’ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น’ อาจารย์ปิยบุตรจะชวนให้คุณทำความเข้าใจเรื่อง ‘กระจายอำนาจ’ เสียใหม่ ด้วยวิธีคิดแบบอนาคตใหม่ เพราะเราไม่ได้กำลังจะกระจายอำนาจ แต่เราต้อง ’ยุติรัฐราชการรวมศูนย์’ ตัดราชการส่วนภูมิภาค คืนอำนาจกลับไปสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นกำหนดอนาคตของตัวเอง โอนบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นจัดการ เพิ่มอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลด้วยเทคโนโลยี เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของท้องถิ่นไทย
Common School x Pud ‘อำนาจรวมศูนย์สุดขั้วของรัฐไทย’
เราเคยสงสัยกันไหมว่าเพราะเหตุใดความเจริญถึงมากระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งระบบขนส่งมวลชน ระบบเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่ดี ระบบสาธารณะสุขที่ครอบคลุม ในขณะที่ต่างจังหวัดไม่มีสิ่งเหล่านี้ที่ให้บริการอย่างทั่วถึง ซ้ำร้ายคุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัดเทียบไม่ได้เลยกับชีวิตคนกรุงเทพฯ ดูเหมือนว่า ‘การรวมศูนย์อำนาจ’ ไว้ที่ส่วนกลางที่มีรายรายร้อยปีถึงไม่ทำให้ประเทศไทยเจริญขึ้นสักที เราจะมาชวนคุณดูกันว่าถ้า ‘กระจายอำนาจ’ ไปสู่ท้องถิ่นจะทำให้เราเจริญขึ้นได้ยังไง ?
เมื่อเทคโนโลยี Disrupt การเมืองไทย โดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
อย่างที่เรารู้กันดีว่าเวลาเราพูดถึงกระจายอำนาจ ผู้ที่ต่อต้าน คัดค้านมักจะยกประเด็นเรื่อง ‘คอร์รัปชัน’ ขึ้นมาว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ท้องถิ่นกินงบประมาณแผ่นดิน แต่เราอยากจะชวนคุณมาฟังการบรรยายจาก ส.ส. เท้ง ที่จะทำให้คุณเห็นตัวอย่างในการปกครองท้องถิ่นที่เชื่อมั่นในศักยภาพของคนในพื้นที่จากต่างประเทศ สำคัญกว่านั้นคือ องค์กรท้องถิ่นในต่างประเทศใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้กระบวนการบริหารงานท้องถิ่น เพิ่มการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ถ้าคุณอยากเห็นการใช้เทคโนโลยีเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่นดูได้ตั้งแต่นาทีที่ 15.46 เป็นต้นไป หรือหากต่างประเทศไกลตัวเกินไปดูตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารท้องถิ่นคณะก้าวหน้าที่อาจสามารถดูได้ตั้งแต่นาทีที่ 54.00 เป็นต้นไป จะทำให้คุณเห็นว่าการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตัวเองเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
หยุดยาวนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาฟังการบรรยาย อ่านหนังสือและบทความเกี่ยวกับการ ‘ยุติรัฐราชการรวมศูนย์’ จาก Common School ที่จะทำให้คุณออกจาก ‘กะลา’ และมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการปกครองตนเองของท้องถิ่น