(The Revolutionary Writing of Bell Hooks) โดย Hua Hsu อ่านต้นฉบับ ที่นี่
แปล จักรพล ผลละออ
เบลล์ ฮุกส์ (Bell Hooks) คือ นักคิดนักเขียนคนสำคัญที่เสนอความคิดต่อองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมวิพากษ์ แต่ก่อนที่เธอจะกลายเป็นที่รู้จักในนาม เบลล์ ฮุกส์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 ซึ่งข้อความคิดของเธอได้จุดประกายความคิดความเชื่อให้แก่ผู้อ่านหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดประกายให้แก่กลุ่มสตรีผิวสี เธอมีชื่อจริงว่า กลอเรีย ฌอง วัตคินส์ (Gloria Jean Watkins) บุตรสาวของ Rosa Bell และ Veodis Watkins เธอเติบโตในเมือง Hopkinsville เมืองเล็กๆ ที่ในยุคนั้นยังคงมีการกีดกันทางสีผิว ในรัฐเคนทักกี
เบลล์ ฮุหส์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1952 ชีวิตวัยเด็กของเธอจนกระทั่งถึงการศึกษาระดับวิทยาลัยอยู่ภายใต้การกีดกันทางสีผิว ความกระหายใคร่รู้ของเธอและสภาวะที่เธอเผชิญทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามและเสาะแสวงหาโอกาสทางการศึกษา
พื้นฐานครอบครัวของเธอเอง บิดาประกอบอาชีพเป็นภารโรง ขณะที่แม่ทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่ครอบครัวคนผิวขาว หน้าที่การงานและฐานะเช่นนี้ประกอบกับสภาวะการกีดกันทางสีผิวในยุคนั้นย่อมไม่ต้องสงสัยเลยว่าฮุคส์เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาวะความไม่เสมอภาคทางอำนาจและการถูกกีดกันดูถูกตลอดเวลา
ในปี ค.ศ. 1973 ฮุกส์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดเมื่ออายุ 19 ปี เธอได้เริ่มเขียนเค้าโครงงานประวัติศาสตร์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของลัทธิสตรีนิยมผิวสีและความเป็นผู้หญิง ในระหว่างทศวรรษที่ 1970 เธอก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน และจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ ในช่วงนี้เองที่เธอเริ่มเผยแพร่งานเขียนด้านบทกวีของเธอภายใต้นามปากกา “เบลล์ แบล์ ฮุกส์”
ในปี ค.ศ. 1981 เธอใช้นามปากกานี้ในการเผยแพร่งานเขียนเชิงวิชาการที่เธอได้เริ่มเอาไว้ตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยมีชื่อหนังสือว่า “ฉันไม่ใช่ผู้หญิงเหมือนกันหรือ? ข้อเขียนว่าด้วยลัทธิสตรีนิยมและสตรีผิวสี” (Ain’t I a Woman? Black Woman and Feminism) อันกลายมาเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของการค้าทาสและวัฒนธรรมทาส ซึ่งยังคงส่งอิทธิพลต่อเนื่องมาจนถึงการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และกดขี่สตรีผิวสี ตลอดจนข้อเขียนเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการเมืองของการปฏิวัติเพื่อตอบโต้กับการกดขี่
ฮุกส์เชื่อว่าการปลดแอกมนุษย์ออกจากการกดขี่จำเป็นจะต้องคิดคำนึงถึงแง่มุมของการกดขี่ด้านชนชั้น เชื้อชาติ และเพศซึ่งได้กระทำการกดขี่และกีดกันในระดับที่แตกต่างกันออกไปตามอัตลักษณ์ของเราซึ่งแง่มุมทั้งหลายนี้ทำงานโดยสอดคล้องเชื่อมโยงต่อกัน
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 – 19990 เบลล์ ฮุกส์ได้เข้าไปเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเยลล์ มหาวิทยาลัยโอเบอร์ลิน และวิทยาลัยประจำนครนิวยอร์ค ในห้วงเวลาสองทศวรรษนี้เองที่นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ฮุกส์ได้ผลิตสร้างผลงานและข้อคิดข้อเขียนมากมายออกสู่สาธารณะ เธอตีพิมพ์หนังสือราว 40 เล่มและข้อเขียนบทความทั้งในนิตยสาร วารสาร และหนังสือพิมพ์ อีกนับร้อยบทความ
ในบรรดาข้อความคิดของฮุกส์ มโนทัศน์หนึ่งของเธอที่ถือว่าทรงอิทธิพลทางความคิดมากอันหนึ่งคือมโนทัศน์เรื่อง “ภาษาสายตาของผู้ถูกกดขี่” ภายใต้มโนทัศน์นี้ฮุกส์เสนอว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างบุคคลนั้นสามารถถอดรหัสออกมาได้ผ่านภาษาทางสายตา หรือก็คือผ่านการพิจารณาว่าเราใช้สายตาแบบไหนในการมองบุคคลอื่น ทั้งนี้ก็เพราะในยุคหนึ่งที่ยังมีการค้าทาส ทาสผิวสีอาจถูกลงโทษอย่างหนักเพียงเพราะเขาบังอาจชำเลืองตาไปมองเจ้านายผิวขาวของตน
ข้อเสนอของฮุกส์คือการเรียกร้องให้เราลุกขึ้นมาเผชิญหน้า แสดงความไม่ยินยอมต่อวัฒนธรรมการกดขี่และการกระทำผ่านสายตาที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจซึ่งไม่เท่าเทียมกันและเบียดขับให้สตรีผิวสีกลายไปเป็น “คนอื่น” นอกจากนั้นเธอยังเรียกร้องและท้าทายให้เกิดการวิพากษ์รวมถึงการสร้างงานศิลปะจากมุมมองของคนผิวสี ที่ไม่ใช่มุมมองงานศิลปะแบบคนผิวขาวที่ครองอำนาจเหนือกว่า
ฉันเริ่มศึกษางานเขียนของเบลล์ ฮุกส์ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 อันเป็นห้วงเวลาที่สำนักวัฒนธรรมผิวสีศึกษากำลังเบ่งบานที่สุด ซึ่งคุณจะพบเลยว่าเนื้อหาของวารสารรายสัปดาห์หรือนิตยสารอิสระที่ตีพิมพ์ขายในช่วงเวลานั้นมีความเข้มงวดด้านเนื้อหาไม่ต่างจากเอกสารทางวิชาการเลย สำหรับฮุกส์ เธอมีมุมมองว่าหารเขียนงานเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ เผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะเป็นเสมือนเครื่องมือทางความคิดในการเปิดประเด็นทางสังคม ในฐานะผู้อ่านซึ่งมีเชื้อสายเอเชียอเมริกัน มีเรื่องหนึ่งที่ฉันสนใจมากในงานเขียนของฮุกส์ นั่นคือวิธีการนำเสนอของเธอที่วางรากฐานอยู่บนปูมหลังและความสัมพันธ์ของคน แต่ก็ไม่ได้ลดทอนชีวิตของกกลุ่มคนที่เธอเขียนถึงให้กลายไปเป็นอะไรบางอย่างที่แบนราบและเป็นสิ่งทั่วไปเหมือนๆกันหมด งานของเธอช่วยกระตุกเตือนให้เราตระหนักตัวได้ว่าเราเองล้วนถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถูกดขี่ แม้ว่าเราอาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในเชิงประสบการณ์ปลีกย่อย
งานเขียนของเบลล์ ฮุกส์หลายชิ้น เช่น “วงล้อไปสู่ความจริง” (Reel to Real) หรือ “ศิลปะในมุมมองของฉัน” (Art on My Mind) เป็นข้อเขียนชิ้นสำคัญที่ดำรงอยู่มาหลายทศวรรษทั้งผ่านการอ่านซ้ำ การตีความ รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ บรรดางานเหล่านี้หลายชิ้นกลายมาเป็นตัวแบบในการอธิบายว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไร เมื่อภาพยนตร์เรื่อง “Daughters of the Dust” ออกฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำมาอ้างอิงถึงหลายต่อหลายครั้งในงานเขียนของฮุกส์ ตามความเห็นของฮุกส์ เธอเชื่ออย่างยิ่งว่าการวิพากษ์คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากปริมณฑลแห่งความรัก และปริมณฑลแห่งความปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งคุ้มค่าที่เราจะมอบถวายชีวิตของเราให้แก่มัน
งานเขียนของเบลล์คือตัวอย่างของงานเขียนที่เข้าถึงผู้คนหลากหลายกลุ่มได้อย่างง่ายดาย นี่คือความสามารถพิเศษของเธอที่คนในยุคสมัยของฉันอยากจะทำตามให้ได้บ้างในการเปลี่ยนงานวิชาการให้กลายไปเป็นงานซึ่งสามารถเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางและง่ายต่อความเข้าใจ นอกจากนี้เธอยังเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่ถูกหยิบไปใช้เป็นหนังสือสำหรับการเรียนการสอนในวิทยาลัยอีกด้วย ตัวอย่างงานเขียนของเธอเรื่อง “วงล้อไปสู่ความจริง” ทำให้ฉันหวนนึกถึงรูปแบบของหนังสือที่ควรจะเป็น ในหนังสือเล่มนี้มันรวบรวมเอาบทความข้อเขียนของเบลล์เกี่ยวกับภาพยนตร์ต่างๆเอาไว้ ซึ่งบทความเหล่านี้นับเป็นการนำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์หลายเรื่องอย่างแหลมคม เช่นบทวิจารณ์หนังเรื่อง “Paris is Burning” และ “Leaving Las Vegas” นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ผู้สร้างหนังอีกหลายคน เช่น Wayne Wang และ Arthur Jafa
อีกข้อความคิดสำคัญของเบลล์ ฮุกส์ในห้วงเวลานั้นคือการตั้งคำถามและเปิดประเด็นเรื่อง “ความหลากหลายของผู้แทนทางการเมือง” ซึ่งในปัจจุบันเราคงรู้สึกกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติพื้นฐาน หากแต่สำหรับในยุคทศวรรษที่ 1980 – 1990 ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่แหลมคมและสำคัญอย่างยิ่ง เบลล์ ฮุกส์ เป็นผู้ที่เปิดประเด็นนี้ในห้วงเวลานั้นและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการวิพากษ์และต่อต้านการกดขี่และการเลือกปฏิบัติรวมถึงการกีดกันทางเพศ และสีผิว
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เบลล์ ฮุกส์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญได้เสียชีวิตลง นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ แต่พร้อมกันนั้นก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการจากไปของฮุกส์จะเป็นตัวจุดประกายให้สังคมหันกลับมาอ่านงานของเธออีกครั้งและทำให้ข้อเขียนความคิดสำคัญหลายเรื่องของฮุกส์กลับมาโลดแล่นเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ทั้งในงานชิ้นสำคัญๆ อย่าง ““ฉันไม่ใช่ผู้หญิงเหมือนกันหรือ?” (Ain’t I a Woman) “คนผิวสี” (Black Looks) หรือ “วัฒนธรรมนอกกฎหมาย” (Outlaw Culture) นอกจากนี้ยังรวมไปถึงงานเขียนด้านวรรณกรรมและบทกวีของเธอด้วย ในปี 1982 ฮุกส์ได้เผยแพร่บทกวีที่มีชื่อว่า “in the matter of the Egyptians” ผ่านวารสาร Hambone
ในปี ค.ศ. 2004 เบลล์ เดินทางกลับไปอาศัยที่รัฐเคนทักกี และทำงานหนังสือที่วิทยาลัย Berea อันเป็นพื้นที่ที่เธอได้ก่อตั้งสถาบันเบลล์ ฮุกส์ ไว้ ตลอดช่วงเวลาสองทศวรรษเบลล์ได้ผลิตข้อเขียนจำนวนมหาศาลซึ่งได้นำเสนอแง่มุมการวิพากษ์เนื้อหาจากภาพยนตร์และงานวรรณกรรมให้แสดงความเชื่อมโยงสะท้อนถึงความสัมพันธ์ ความรัก และประเด็นเรื่องเพศที่ดำรงอยู่รอบตัวของเรา
ตามทัศนะทางการเมืองของฮุกส์ เธอเห็นว่าระบบสังคมและระบบการเมืองที่ดำรงอยู่รอบตัวเรานั้นเป็นเสมือนเครื่องกีดขวางเราจากความเคารพนับถือในตัวเอง และมันคอยทำให้เรารู้สึกว่าตัวเรานั้นช่างเล็กกระจ้อยร่อยและไร้ซึ่งอำนาจ ดังนั้นเองฮุกส์จึงเชื่อว่าการปฏิวัติจะเริ่มต้นขึ้นจากปริมณฑลภายในตัวของเราเอง ในแง่ที่การปฏิวัตินั้นจะเริ่มต้นขึ้นทันทีที่เราลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านระบบที่ดำรงอยู่ และการลุกขึ้นสู้ในทุกๆ วันของชีวิตนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ
เบลล์ ฮุกส์เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ครั้งหนึ่ง และฉันคิดว่าข้อความนี้ควรจะยกมาใช้เพื่อปิดท้ายข้อเขียนรำลึกถึงการจากไปของเบลล์ ฮุกส์ได้ดีมาก
“หากว่าฉันถูกคนถามว่า คุณนิยามตัวเองอย่างไร ฉันจะไม่ตอบคำถามนี้ด้วยการเริ่มต้นที่การพูดถึงเชื้อชาติ ฉันจะไม่ตอบคำถามนี้ด้วยการเริ่มต้นที่การพูดถึงการที่ฉันเป็นคนผิวสี ฉันจะไม่ตอบคำถามนี้ด้วยการเริ่มต้นที่การพูดถึงเพศของฉัน ฉันจะไม่ตอบคำถามนี้ด้วยการเริ่มต้นที่การพูดถึงลัทธิสตรีนิยม ฉันจะเริ่มต้นการตอบคำถามนี้ด้วยการปลดเปลื้องให้เห็นก่อนว่าระบบสังคมนี้พยายามอธิบายหรือนิยามชีวิตของฉันอย่างไร ซึ่งในแง่นี้เองเราจะเห็นว่าตัวฉันเองเป็นเพียงผู้แสวงหาหนทางบางอย่าง ฉันมีความเชื่อและความคิดแบบลัทธิสตรีนิยม และฉันก็คิดและเชื่อในเรื่องการต่อต้านการกีดกันทางเชื้อชาติสีผิว และเห็นว่าทั้งสองเรื่องนี้เชื่อมโยงต่อกัน หากแต่จุดยืนและหนทางที่ฉันยึดถืออย่างมั่นคงที่สุด คือหนทางแห่งความรัก”